‘WALKABLE CITY’ เมืองเดินได้เดินดี

1,436 views
5 mins
September 14, 2023

          “เมืองที่ดีไม่ใช่เมืองที่ผู้คนมีรถยนต์ส่วนตัวใช้ แต่เป็นเมืองที่คนรวยก็ยังใช้ขนส่งสาธารณะ” คำกล่าวของกุสตาฟ เพโตร เทศมนตรีเมืองโบโกตา ที่แทบจะกลายเป็นตัวชี้วัดความเป็นเมืองที่ดี 

          เมืองที่ดีที่ไม่ใช่แค่ ‘เมืองเดินได้’ (Walkable City) นิยามที่เจฟฟ์ สเปก (Jeff Speck) ผู้เขียน Walkable City: How Downtown Can Save America, One Step at a Time วาดไว้ เป็นวิสัยทัศน์ของเมืองที่เป็นมิตรต่อคนเดินเท้าที่ไม่เพียงจะทำให้เมืองเยี่ยมขึ้นอีกครั้ง แต่ชีวิตของผู้อยู่อาศัยก็จะดีเยี่ยมขึ้นด้วยเช่นกัน (not only to make [the] cities great again, but also the lives of people.) 

          การเดินได้ (Walkability) เป็นแนวคิดสำคัญที่สเปกนำเสนอไว้และกลายเป็นหลักคิดสำคัญสำหรับการพัฒนาเมือง แนวคิดเมืองเดินได้ถูกนำมาศึกษา ขยายผลอีกครั้งในบริบทเมืองหลวงของประเทศไทยกับหนังสือ Walkable City เมื่อกรุงเทพฯ ออกเดิน ผลงานวิจัยแปดปีของสองผู้เขียน ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล และคุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center – UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงนำเสนอแนวคิดเมืองเดินได้ หากให้ความสำคัญและพยายามผลักดันทำให้เมือง ‘เดินได้ดี’ ที่จะส่งผลดีในทุกมิติทั้งสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ รวมทั้งสังคม เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว 

          คำว่า ‘เมืองเดินได้’ ตาม ‘ทฤษฎีหนึ่งชั่วโมง’ นั้นหมายถึงเมืองที่ทำให้ผู้คนสามารถสัญจรได้ด้วยการเดินเท้าผสมกับระบบขนส่งมวลชนจากจุดเริ่มต้นไปถึงจุดหมายภายในหนึ่งชั่วโมง ซึ่งถ้าจะวัดผลกันตามนิยามจริงๆ กรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ในประเทศไทยนั้นก็เดินได้

          แต่คนจะเดินไหม? เดินแล้วปลอดภัยหรือเปล่า? หรือเดินแล้วรู้สึกดีหรือไม่? นั้นเป็นอีกเรื่อง

‘WALKABLE CITY’ เมืองเดินได้เดินดี
Photo: Li-Zenn Publishing

ราคาที่ต้องจ่ายของการที่เมืองเดินไม่ได้ (ดี) 

          การเดินได้จึงไม่ใช่ตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียว เพราะการที่ผู้คนจะออกเดินนั้นมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความปลอดภัยไม่ว่าจะทางกาย ทรัพย์สิน หรือสุขภาพ ถ้าพิจารณาระยะทางความห่างของรถไฟฟ้าแต่ละสถานีที่มักไม่เกินหนึ่งกิโลเมตรก็ไม่ยากที่จะเดิน แต่ถ้าดูสภาพความเป็นจริงจากทางเท้า ค่า PM 2.5 ความร้อนจากท่อไอเสีย และอีกสารพัด ‘กับระเบิด’ ก็ทำให้หลายคนยอมเสียเงินให้ขนส่งสาธารณะ หรือใช้รถยนต์ส่วนตัวที่ตามมาด้วยค่าใช้จ่าย หรือหากใครต้องกลับดึก อยู่ก็ลึกในซอยเปลี่ยว กลับบ้านคนเดียว ต่อให้ระยะทางจากบ้านไปท้ายซอยแค่ห้าร้อยเมตร แน่นอนว่าต้องยอมเสียค่าเดินทางเป็นแน่

          ค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น (Unnecessary Cost) ที่เกิดจากการที่เมืองเดินได้ แต่เดินไม่ดีนั้นสูงกว่าแค่ค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน หาก ‘ราคา’ ที่แท้จริงของเมืองที่เดินไม่ได้ดีคือผลเสียต่อชีวิตระยะยาว ดังเช่นที่ผู้เขียนสรุปเรียบง่ายไว้ในหนังสือว่าเมืองที่ไม่เอื้อให้คนเดินได้ดีทำให้คนอ้วน (สุขภาพ) จน (เศรษฐกิจ) โสด (สังคม) หรืออาจสรุปโดยรวมว่าทำให้คนเศร้า และทำให้การพัฒนาเมืองซบเซาในระยะยาว

เมืองเดินไม่ได้ทำให้คนอ้วน

          องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าคนเราควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรงดีกว่าต้องมารักษาเยียวยาโรคในภายหลัง (Preventive)  โดยโรคที่พบมากในคนยุคปัจจุบันคือโรคที่ไม่ติดต่อหรือ NCD (Non Communicable Disease) ซึ่งอันที่จริงอาจเรียกว่าเป็น ‘non commutable disease’ โรคจากการไม่เคลื่อนไหวด้วยก็ได้ ความย้อนแย้งน่าเศร้าคือยิ่งโลกพัฒนาไปมากเท่าไร โรคประเภทนี้ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เพราะเทคโนโลยีที่ทำให้คนสะดวกสบาย ทุกอย่างสั่งได้ด้วยปลายนิ้วโดยไม่ต้องขยับเขยื้อนใด

          เรื่องสุขภาพดูเป็นเรื่องปัจเจก แต่แท้จริงแล้วส่งผลกระทบยิ่งยวดต่อสังคมเช่นกัน เมื่อคนมีอายุขัยยาวขึ้น จากเมื่อก่อนที่สมองยังไม่ทันเสื่อมก็สิ้นอายุขัยเสียก่อน หากในปัจจุบันสมองคนเรามักเสื่อมก่อนที่เราจะสิ้นใจ เมื่อสมองใช้การไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ย่อมต้องอาศัยคนดูแล ไม่ว่าจะเป็นลูก หลาน หรือรัฐที่ต้องช่วยกันแก้ แต่จะดีกว่าไหมหากทุกคนมีหนทางป้องกันโรคไม่ติดต่อจากการไม่เคลื่อนไหวนี้จากการอยู่ในเมืองที่เดินได้ดี

เมืองเดินไม่ได้ทำให้คนจน

          นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายต่อสุขภาพในระยะยาวแล้ว ในระยะสั้นที่เห็นได้ชัดก็คือค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง แม้กรุงเทพฯ จะมีรูปแบบขนส่งสาธารณะหลากหลาย แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถ ‘เลือก’ รูปแบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกสบายได้ ทางเลือกที่ถูกที่สุดย่อมตามมาด้วยเวลาที่ต้องใช้กับการเดินทางมากที่สุด ซึ่งแม้ดูเหมือนจะ ‘ประหยัด’ ค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย แต่เวลาที่เสียไปย่อมเป็น ‘ราคาแพง’ ที่ต้องจ่ายที่กระทบต่อการทำมาหากิน สุขภาพจิต ไปจนถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว 

          ในขณะที่เมืองที่ผู้คนเดินได้นั้นไม่ใช่แค่ช่วยประหยัดเงินของปัจเจกเท่านั้น หากยังส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนด้วยเช่นกัน เพราะทำให้ผู้คนได้เห็น ได้ผ่าน ได้สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยที่ประกอบกันเป็นระบบเส้นเลือดฝอยส่งเสริมเศรษฐกิจระดับประเทศให้แข็งแรง 

เมืองเดินไม่ได้ทำให้คนเศร้า

          ผลกระทบทางสุขภาพ และเศรษกิจส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพจิตทั้งในระดับปัจเจกชน รวมทั้งในระดับสังคมเช่นกัน เพราะเมืองที่ ‘ต่างคนต่างอยู่’ นั้นย่อมทำให้ผู้คนขาดปฏิสัมพันธ์ ไม่เห็นใจกันและกันไปโดยปริยาย

          แม้หนังสือจะวาดภาพให้เห็นผลกระทบของเมืองเดินไม่ได้ที่ส่งผลต่อผู้คน ใจความสำคัญของหนังสืออยู่ที่การเสนอทางแก้ไข พร้อมทั้งแสดงให้เห็นความหวังว่าเราสามารถสร้างเมืองที่เดินได้และเดินได้ดี ปัจจัยสำคัญคือการจะแก้ปัญหาเมืองได้ต้องมีข้อมูล

          ข้อมูลที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้มีแค่เพียงตัวเลขจากงานวิจัย แต่เล่าผ่านเรื่องราวจากการสำรวจพื้นที่จริงที่หลายครั้งเป็นข้อมูลที่เราไม่คาดคิดด้วยมายาคติต่างๆ ที่อาจมี เช่น ถ้าจำเป็นต้องเดิน คนมักเดินฝั่งที่มีร้านค้ามากกว่า แสดงให้เห็นว่าคนให้ความสำคัญกับ ‘ความรื่นรมย์’ มากกว่าระยะทางหรือเวลา ด้วยอารมณ์ในการเดินส่งผลต่อ ‘ความรู้สึกทางเวลา’ (กล่าวคือ ความช้าหรือเร็วนั้นสัมพันธ์กับความรู้สึก หาใช่ระยะทางจริง) หรืออันที่จริงคนกรุงเทพฯ ไม่ได้เดินน้อยกว่าคนในประเทศอื่น เพียงแค่ไม่รู้สึกดีในการเดิน (ซึ่งอาจไปสู่ปัญหาอื่นๆ) และไม่รู้สึกว่าการเดินนั้นเป็นทางที่เราเลือกเอง (แต่จำเป็น)

          แน่นอนว่าประเด็นเรื่องเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ดังที่ผู้เขียนกล่าวไว้ว่าเรื่องเมืองมีความซับซ้อน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นภาพสะท้อนเรื่องใหญ่ (ที่มองไม่เห็น) อย่างเรื่องโครงสร้างอำนาจได้เช่นกัน เพราะเมืองคือผลของแนวคิดและนโยบายสาธารณะที่ปรากฏเป็นประจักษ์ เราดูได้เลยว่า ‘เมือง’ หรือ ‘ผู้มีอำนาจ’ ในเมืองนั้น ให้ความสำคัญกับอะไร กีดกันใครออกจากเมืองผ่านทางเท้าของเมืองนั้น 

          การฉายให้เห็นภาพใหญ่ซับซ้อนของเมืองนี้ไม่ใช่เพื่อดับฝันผู้อ่าน ตรงกันข้ามอย่างถึงที่สุด หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นว่าเมืองเป็นเรื่องสำคัญและเกี่ยวข้องกับชีวิตเราโดยตรงอย่างไร และสิ่งใดที่เราเห็นว่าสำคัญ เรายิ่งต้องแสดงออก ส่งเสียงเรียกร้องในประเด็นนั้น และเมื่อมีโอกาสในการเลือกผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายเมืองก็เลือกผู้ที่ใส่ใจ เข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้คนในเมืองอย่างแท้จริง เพื่อให้เมืองเดินได้เดินดี ให้เป็นเมืองที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตเรา ไม่ใช่บั่นทอน

‘WALKABLE CITY’ เมืองเดินได้เดินดี
Photo: GoodWalk

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก