วี-วิภาวี คุณาวิชยานนท์ อยากให้สังคมรู้ว่าภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องไกลตัว

361 views
7 mins
August 2, 2023

          มูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ หรือ Design for Disasters Foundation (D4D) ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 โดยการริเริ่มของ วี-วิภาวี คุณาวิชยานนท์ นักออกแบบที่ต้องการสร้างความตระหนักให้คนในสังคมเห็นว่าภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราทุกคนจึงควรช่วยกันหาวิธีรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้อย่างยั่งยืน โดยช่วงแรกทีมงานต่างมารวมตัวกันในรูปแบบเครือข่ายอาสาสมัครจากหลายสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ นักออกแบบ สถาปนิก นักธุรกิจ ก่อนจะจดทะเบียนเป็นมูลนิธิสำเร็จในปี 2563

          ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา Design for Disasters ทำโครงการเพื่อสังคมมาแล้วกว่า 40 โครงการ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติ รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน และก้าวสำคัญล่าสุดคือ การลงพื้นที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางในชุมชนใต้สะพานเขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร ด้วยความเชื่อว่าการพัฒนาประเทศต้องเริ่มจากการพัฒนาคน

          คุณ วี-วิภาวี คุณาวิชยานนท์ จะเล่าให้ฟังถึงการเดินทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ ว่า D4D สตาร์ตมาอย่างไร และมีเป้าหมายอะไรรออยู่เบื้องหน้า

จุดเริ่มต้นจากความกลัวสู่การทำกิจกรรมเพื่อสังคม

          จุดเริ่มต้นในการทำงานเกี่ยวกับภัยพิบัติ มาจากความกลัวของเราที่ชอบฝันเห็นตัวเองตายจากภัยพิบัติบ่อยมาก ฝันแบบนี้เรื่อยๆ น่าจะ 50-60 ครั้งแล้วค่ะ ช่วงสิบกว่าปีที่แล้วเรากลัวมากเลยไปเรียนด้าน Disaster Preparedness, Mitigation and Management หรือ การเตรียมพร้อมรับมือและจัดการภัยพิบัติ ที่ Asian Institute of Technology (AIT) พอเรียนแล้วก็รู้สึกอยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์จริงๆ เลยชวนเพื่อนๆ มาพูดคุยกันถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ

          ก่อนหน้าที่จะมาเรียนเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ วีเรียนปริญญาตรีคณะครุศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรมภายในและสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นปริญญาโทสองใบ เราเลยใช้องค์ความรู้ด้านศิลปะและการออกแบบมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติด้วย ศิลปะเป็นศาสตร์ที่สอนให้เราเปิดใจเพื่อทำความเข้าใจ ส่วนการเรียนสถาปัตย์ฯ ก็ทำให้เรามีสมดุลระหว่างตรรกะและสุนทรียศาสตร์ ซึ่งการทำงานเกี่ยวกับภัยพิบัติเราต้องมีข้อมูลอ้างอิงเชิงวิชาการ แต่ในอีกมุมหนึ่งเราก็ใช้การสื่อสารผ่านศิลปะเป็นเครื่องมือ เพื่อทำให้เรื่องยากๆ เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

‘ลมใต้ปีก’ โครงการใหม่ของมูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ

โครงการต่างๆ ที่ผ่านมาของมูลนิธิ

          กิจกรรมช่วงแรกจะเป็นการจัดนิทรรศการ จัดคอนเสิร์ต เพื่อสร้างการตระหนักรู้และเชิญศิลปินมาร่วมระดมทุน จากนั้นเราก็ทำกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างการทำสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นในประเทศไทย โครงการใหญ่ของเราโครงการหนึ่งมีชื่อว่า ‘รู้แล้วรอด’ Design for Disasters เป็นการทำงานร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก มีการจัดทำปฏิทินที่สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติในช่วงเวลาต่างๆ เช่น น้ำท่วมในฤดูฝน ภัยหนาวปลายปี

          นอกจากนี้ยังมีการออกแบบเกมกระดาน เกมการ์ด จิกซอว์ เพื่อนำไปใช้อบรมคุณครูและให้คุณครูนำความรู้ไปส่งต่อให้กับเด็กๆ อีกทอดหนึ่ง โดยสื่อการเรียนรู้จะเน้นการใช้ตัวการ์ตูน ภาพวาดสีสันสดใส มีการทำมาสคอตและรถนิทรรศการเคลื่อนที่ เพื่อเดินทางไปจัดกิจกรรมให้กับเด็กๆ ใน 6 จังหวัดที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ เช่น ภาคใต้ที่เคยเจอสึนามิ ภาคเหนือที่มีเหตุการณ์ดินถล่ม

‘ลมใต้ปีก’ โครงการใหม่ของมูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ
Photo : Design for Disasters
‘ลมใต้ปีก’ โครงการใหม่ของมูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ
Photo : Design for Disasters

          ถัดมาเป็นงานก่อสร้างในชื่อโครงการ ‘ห้องเรียนพอดี พอดี’ ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่เราลงพื้นที่เก็บข้อมูลหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว แล้วพบว่าห้องเรียนหลายแห่งได้รับความเสียหาย วีเลยชวนพี่ๆ สถาปนิกจาก 9 บริษัทมาช่วยกันออกแบบอาคารเรียน โดยมีเกณฑ์ที่ทุกคนใช้เป็นแนวทางเดียวกันคือต้องประหยัดงบประมาณ ก่อสร้างไว และเสียเศษวัสดุน้อยที่สุด หน้าที่ของวีคืออยู่ที่เชียงรายคอยเก็บข้อมูลส่งให้สถาปนิกที่กรุงเทพฯ เป็นโครงการที่เริ่มจากศูนย์จริงๆ เราเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีเงิน แต่มักเริ่มจากไอเดียก่อน ทีนี้พอโครงการเริ่มมีภาพชัดเจน แล้วทางสมาคมสถาปนิกฯ เห็นผลงาน เขาก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเต็มที่และมีอีกหลายๆ พาร์ตเนอร์ที่มาร่วมด้วยช่วยกัน จนเราเปิดบัญชีระดมทุนได้เงินมา 40 กว่าล้าน สร้างอาคารเรียนได้ 9 แห่ง โดยใช้ระยะเวลา 4-5 ปีในการดำเนินงาน

‘ลมใต้ปีก’ โครงการใหม่ของมูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ
Photo : Design for Disasters

‘ลมใต้ปีก’ ก้าวใหม่แห่งการขับเคลื่อนสังคม

          หลังจากทำสื่อการเรียนรู้และสร้างอาคารเรียนแล้ว เราก็ค้นพบว่าท้ายที่สุดแล้วการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนมันเกี่ยวกับคน วีเลยอยากทำโครงการที่ช่วยส่งเสริมทักษะและสร้างทัศนคติที่ดีให้กับเยาวชน จึงเป็นที่มาของโครงการ ‘ลมใต้ปีก’ เพราะเราเห็นว่ามีกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดเยอะมาก อย่างเด็กและเยาวชนในชุมชนแออัดฐานะยากจนก็มีหลายคนที่หลุดจากระบบการศึกษา และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาเสพติด

          สำนักงานมูลนิธิของเราจดทะเบียนอยู่ที่เขตทุ่งครุ เราเลยประสานงานกับสำนักงานเขตเพื่อลงพื้นที่ชุมชนใต้สะพานเขตทุ่งครุ เป็นชุมชนที่รวบรวมคนเร่ร่อนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ใต้สะพานทั่วกรุงเทพฯ เมื่อหลายสิบปีก่อนมาอยู่ด้วยกัน ปัจจุบันเขาทำอาชีพเก็บขยะ ขายของเก่า ชุมชนนี้มีเด็กและเยาวชนอยู่ประมาณ 60 คน ซึ่งมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงมาก บางคนอายุ 18 แล้วยังอ่านหนังสือไม่ออก

          แต่ด้วยความที่เราเป็นมูลนิธิเล็กๆ มีงบประมาณไม่เยอะ เราเลยเริ่มต้นทำโครงการกับเด็ก 4 คนก่อน ด้วยงบที่ได้มาจากผู้ใหญ่ใจดีจำนวนหนึ่ง เราพาเขาไปดูนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ พาไปชมแหล่งเรียนรู้ตามที่ต่างๆ พาไปปฏิบัติธรรม โดยให้เขาคิดโครงการเองว่าสนใจด้านไหน อยากออกไปเห็นอะไร วีอยากให้เขารู้ว่าคนเราสามารถเรียนรู้ได้จากทุกที่ไม่ใช่แค่เฉพาะในตำราหรือห้องเรียน เวลาพาไปทัศนศึกษานอกสถานที่ เด็กๆ ต้องออกแบบกำหนดการ วางแผนการเดินทาง และคำนวณงบประมาณเอง เพื่อให้เขาได้เรียนรู้จากชีวิตจริงด้วย และเขาจะต้องอัดคลิปวิดีโอแนะนำสถานที่สั้นๆ กลับมาด้วย เพื่อฝึกทักษะการนำเสนองานและการคิดวิเคราะห์

‘ลมใต้ปีก’ โครงการใหม่ของมูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ
Photo : Design for Disasters

          เราพยายามออกแบบกิจกรรมให้หลากหลายและสอดแทรกการสร้างแรงบันดาลใจเข้าไปด้วย อย่างตอนที่วีไปช่วยตรวจวิทยานิพนธ์ให้กับนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ขอทางอาจารย์ว่าให้น้องๆ 4 คนเข้าไปฟังพี่ๆ พรีเซนต์งานทาง Zoom ได้ไหม เพื่อให้น้องๆ เข้าไปเรียนรู้ว่าคนที่เรียนมหาวิทยาลัยคิดแบบนี้ นำเสนองานแบบนี้ การได้มาเห็นบรรยากาศการเรียนมหาวิทยาลัย อาจช่วยจุดประกายความฝันให้กับพวกเขามากขึ้น

          ตอนนี้ผ่านมาประมาณครึ่งปีแล้ว ถือว่ามีพัฒนาการที่ดีมาก เวลาเราจะจัดกิจกรรมกับชุมชนใต้สะพาน เด็กกลุ่มนี้สามารถช่วยประสานงานกับผู้นำชุมชน ช่วยรวมกลุ่มเด็กเล็กๆ เขาสามารถจัดโครงการได้เองเลย โดยเราทำหน้าที่แค่คอยซัพพอร์ต และตอนนี้เขาก็ได้เข้าเรียนกศน.แล้วด้วย อีกไม่กี่ปีก็น่าจะได้เข้ามหาวิทยาลัย เด็กบางคนบอกว่าเขาอยากเรียนสังคมสงเคราะห์ เพื่อที่ว่าจบมาจะได้ช่วยเหลือคนที่ลำบากเดือดร้อน น้องๆ เขามีศักยภาพนะคะ เพียงแต่ไม่ได้รับการสนับสนุน หลายคนไม่ได้เรียนต่อเพราะครอบครัวยากจนเลยต้องลาออกมาช่วยที่บ้านทำงาน เราเลยอยากเป็นพลังที่ผลักดันให้น้องๆ เติบโตและกลายเป็นกำลังสำคัญของชุมชนและประเทศ

‘ลมใต้ปีก’ โครงการใหม่ของมูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ
Photo : Design for Disasters
‘ลมใต้ปีก’ โครงการใหม่ของมูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ
กิจกรรมชุมชนจัดขึ้นที่ศูนย์เด็กเล็กกลางชุมชนใต้สะพาน เขตทุ่งครุ โดยมีน้องๆ ทั้ง 4 เป็นผู้คิดวางแผนโครงการและดำเนินงานด้วยตัวเองทุกขั้นตอน
Photo : Design for Disasters

แนวคิดในการสร้างพื้นที่เรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชน

          วีคิดว่าคนจากทุกสายงานทุกสายอาชีพสามารถร่วมกันสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้กับสังคมได้ อาจเริ่มจากการเปิดใจมองก่อนว่าเราอยากเข้าไปช่วยแก้ปัญหาอะไร และพยายามทำความเข้าใจปัญหานั้น เพื่อนำทักษะความรู้ที่เรามีเข้าไปช่วยเติมเต็มและแบ่งปันโอกาสให้กับผู้อื่นในสังคม 

          พื้นที่เรียนรู้มันหมายถึงทั้งพื้นที่จริงๆ ทางกายภาพและคอนเซปต์ของการเรียนรู้ ในทางกายภาพเราพยายามขอพื้นที่ที่เคยเป็นลานกีฬา แต่ปัจจุบันชุมชนเอาไว้จอดรถหรือเป็นที่ทิ้งขยะ เราก็เปลี่ยนพื้นที่ตรงนั้นกลับมาเป็นสถานที่สำหรับเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมร่วมกัน เราเชิญโค้ชจากโรงเรียนสอนฟุตบอล GFFA Academy ของโค้ชเต้ย-ภาณุพงศ์ ผิวอ่อน มาสอนเด็กๆ มีการประสานงานไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการส่งผู้เชี่ยวชาญมาสอนทักษะการรับมือภัยพิบัติให้กับเยาวชนในชุมชน เขาจะได้มีทักษะติดตัวสำหรับช่วยเหลือตัวเองและครอบครัว หรือถึงจุดหนึ่งเขาอาจจะอยากทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม เป็นการสร้างคุณค่าให้กับเด็กๆ อีกทางหนึ่ง

          หลักๆ ตอนนี้กิจกรรมของโครงการลมใต้ปีกจะแบ่งออกเป็นด้านกีฬาและศิลปวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรงและมีความสุข แต่ถ้าเขามีความพร้อมมากขึ้น เราก็อยากสอดแทรกความรู้เรื่องการรับมือภัยพิบัติเข้าไปผสมผสานด้วย ในอนาคตเมื่อโครงการนำร่องนี้สำเร็จและมีโครงสร้างชัดเจนขึ้น ทางมูลนิธิก็อยากขยายโครงการไปสู่เด็กและเยาวชนในชุมชนอื่นที่เป็นกลุ่มเปราะบางทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

          ชีวิตคนคือสิ่งสำคัญและมีคุณค่ามาก การลงทุนกับวัตถุสิ่งของหรือสิ่งปลูกสร้างมันอาจจะเป็นการพัฒนาชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อเวลาผ่านไปมันก็เสื่อมเสียสึกหรอได้ แต่ถ้าเราสามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีศักยภาพ ให้เขาเติบโตและเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองในสิ่งที่เขาสนใจจริงๆ มันจะเกิดผลดีทั้งกับตัวเขาเอง ชุมชน และประเทศชาติในระยะยาว

‘ลมใต้ปีก’ โครงการใหม่ของมูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ
Photo : Design for Disasters

สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมเพื่อสังคม

          การทำ Design for Disasters มา 14 ปี มีหลายอย่างที่วีได้เรียนรู้เยอะมาก สิ่งสำคัญที่สุดคือมันทำให้ตัวตนเราน้อยลง จากตอนเริ่มต้นใหม่ๆ เราเพิ่งเรียนจบมาก็รู้สึกอินมากและอยากปล่อยของ เราลุยทำไปโดยไม่ค่อยสนใจบางแง่มุม แต่พอเวลาผ่านไปวีก็ได้เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดในอดีตมาเรื่อยๆ ทำให้เราเข้าใจอะไรๆ มากขึ้นและตัวตนเราก็เล็กลง ระหว่างที่ทำงานเพื่อสังคมเราก็ได้พัฒนาตัวเองไปด้วย

          ตัววีเองมีโอกาสไปเรียนอะไรมาเยอะแยะเลย พ่อแม่วีบอกว่าเขามีเงินอยู่ก้อนหนึ่งนะ แทนที่จะเอาไปสร้างบ้านหลังใหญ่ๆ เขาเอามาลงทุนกับการเรียนให้ลูกดีกว่า สนใจอะไรอยากเรียนอะไรก็เรียนให้เต็มที่เลย เขาปล่อยให้เราลองผิดลองถูกเต็มที่ วีนับถือใจพ่อแม่เหมือนกันที่เขาไม่เคยต่อว่าที่เราหาเงินไม่เก่ง เพราะไม่เคยได้กำไรอะไรจากงานนี้เลย ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงเวลาที่เราต้องหาสมดุลให้กับชีวิตเหมือนกัน

คำแนะนำสำหรับคนที่อยากลองทำกิจกรรมเพื่อสังคมดูบ้าง

          วีชอบมากเลยเวลาเห็นคนตาเป็นประกายตอนเล่าไอเดียเกี่ยวกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพราะนั่นแปลว่าเขามีใจและอินกับสิ่งที่อยากทำมากๆ มันอาจไม่ประสบความสำเร็จก็ได้นะ มันไม่มีอะไรง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินไปหรอก อย่างน้อยต้องได้ลองลงมือทำก่อน ถ้าเกิดผิดพลาดก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ อยากให้กำลังใจว่าการทำงานตรงนี้หรือไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าเราทำด้วยความตั้งใจแล้วเราอยากทำมันให้ดี เวลาเจออุปสรรคก็พยายามให้มันจบภายในวันนั้น ถ้าไปเจอเรื่องแย่ๆ หรือสิ่งที่ทำให้รู้สึกท้อ ซึ่งต้องเจอแน่ๆ อยู่แล้วไม่ว่าทำอะไรก็ตาม ก็ท้อให้จบภายในคืนเดียว ตื่นขึ้นมาก็ทำต่อ

          ทำความรู้จักมูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ หรือ Design for Disasters Foundation (D4D) เพิ่มเติมได้ที่  www.facebook.com/DesignForDisasters

‘ลมใต้ปีก’ โครงการใหม่ของมูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก