รางวัลนานาชาติด้านการรู้หนังสือ ในยุคที่โลกอยู่กับโควิด-19

533 views
5 mins
September 8, 2021

          เมื่อถึงวันที่ 8 กันยายนของทุกปี  ข่าวสั้นๆ ข่าวหนึ่งจะปรากฏขึ้นมาบนสื่อเสมอ คือการเตือนให้ผู้คนทั่วโลกจำได้ว่า วันที่ 8 กันยายน เป็น วันรู้หนังสือสากล ซึ่งมีองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ยูเนสโก เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานรำลึก

          ที่มาที่ไปของการจัดงานวันรู้หนังสือสากลนั้น เริ่มมาตั้งแต่ปี 2508 ในการประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจากประเทศทั่วโลกว่าด้วยการไม่รู้หนังสือ (World Conference of Ministers of Education on the Eradication of literacy)  ที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน มีการเสนอให้วันที่ 8 กันยายน ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการประชุมดังกล่าวเป็นวันระลึกปีสากลแห่งการรู้หนังสือ และมีการจัดงานทั่วโลกครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา

          เหตผุลที่องค์การยูเนสโกจัดงานวันรู้หนังสือสากลขึ้น ก็เพื่อให้ชาวโลกเห็นความสำคัญของการศึกษาเพื่อมวลชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนอกระบบที่ตกหล่น เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา เนื่องจากการรู้หนังสือเป็นการให้อิสรภาพแก่ผู้คนทุกเพศทุกวัย เป็นอิสรภาพจากความไม่รู้ อิสรภาพจากความยากจน อิสรภาพจากความเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของคนเหล่านั้น ด้วยเชื่อว่าความรู้จากการอ่านออกเขียนได้ คืออาวุธสำคัญที่ช่วยให้ทุกคนสามารถนำไปใช้เพื่อดำเนินชีวิตได้อย่างเสรีและมีคุณภาพ (ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานหลักของไทยที่ร่วมจัดงานรำลึกวันรู้หนังสือสากลของทุกปีจึงเป็นสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ของกระทรวงศึกษาธิการ)

          ก่อนถึงวันรู้หนังสือสากล ยูเนสโกจะประกาศรางวัลนานาชาติด้านการรู้หนังสือ (UNESCO International Literacy Prizes) ให้รู้ล่วงหน้า เพื่อเป็นการรณรงค์ให้รัฐบาลของทุกประเทศตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องระดมสรรพกำลังแก้ไขปัญหาความไม่รู้หนังสือของประชากรในประเทศ  

รู้ลึกกับรางวัลนานาชาติด้านการรู้หนังสือ

          รางวัลดังกล่าวประกอบด้วย UNESCO – King Sejong Literacy Prize ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสาธารณรัฐเกาหลี  มอบให้โครงการที่ส่งเสริมให้เกิดการรู้หนังสือและการพัฒนาภาษาแม่ (mother tongue)  และรางวัล UNESCO – Confucius Prizes for Literacy (รางวัลขงจื๊อ) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเป็นรางวัลสำหรับการสนับสนุนการรู้หนังสือให้แก่ผู้ใหญ่และเยาวชนโดยเฉพาะเด็กผู้หญิงและสตรี ที่ขาดโอกาสในการเรียนหนังสือในถิ่นทุรกันดาร

          รางวัลนานาชาติด้านการรู้หนังสือ จะมอบให้แก่ผู้ชนะเลิศจากทั่วโลกทั้งเป็นตัวบุคคล หน่วยงานของรัฐบาล หรือหน่วยงานที่ไม่ใช่ของรัฐบาลที่ทำกิจกรรมด้านการรู้หนังสือ ซึ่งแต่ละปีจะมีการประกาศรางวัลภายใต้หัวข้อที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์โลก โดยยูเนสโกจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตัดสินคัดเลือกผู้ที่ได้รับรางวัลที่มีการเสนอโครงการเข้ามาให้คัดเลือก และจะมอบรางวัลในวันที่ 8 หรือ 9 กันยายนทุกปี ผู้ที่ได้รับรางวัลจะได้เงินรางวัล เหรียญที่ระลึก และเกียรติบัตร

          ประเทศไทยเองก็เคยได้รับรางวัล UNESCO King Sejong Literacy Prize เมื่อปี พ.ศ. 2559 จากโครงการวิจัยปฏิบัติการเรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา (ภาษาไทย – มลายูถิ่น) พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

          สำหรับปีนี้ ยูเนสโกคัดเลือกโครงการที่โดดเด่นในด้านการเพิ่มหนทางเพื่อเข้าถึงการอ่านออกเขียนได้อันเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และมอบให้แก่ 6 โครงการใน 6 ประเทศได้แก่

          รางวัล UNESCO King Sejong Literacy Prize  ประจำปี 2021  ประเทศที่ได้รับคัดเลือกคือ กัวเตมาลา (โครงการส่งเสริมการรู้หนังสือในชนบทโดยใช้การเล่าเรื่องผ่านการออกอากาศสองภาษา) อินเดีย (โครงการทำให้คนพิการเข้าถึงการศึกษาผ่านสื่อการเรียนรู้โดยเน้นการใช้ภาษามือ)และ แอฟริกาใต้ (โครงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมวรรณกรรมเด็กด้วยภาษาพื้นเมือง)

          รางวัล UNESCO – Confucius Prizes for Literacy  ในปีนี้มีโครงการที่ได้รับคัดเลือกจาก 3 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก (ห้องเรียนสำหรับช่างก่อสร้าง ขององค์กร Construyendo y Creciendo) อียิปต์ (ประสบการณ์ในการจัดการบริการห้องเรียนออนไลน์สำหรับพื้นที่ชนบทของมหาวิทยาลัย Egypt of Ain-Shams) และ สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ (โครงการส่งเสริมให้แม่ค้าใน Abidjan รู้หนังสือ)

Photo : UNESCO

เปิดม่านฟ้า สร้างหนทางเข้าถึงการอ่าน อันเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19

          ชาวมายา ในกัวเตมาลา เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ครูในโรงเรียนที่อยู่ตามชนบทก็ขาดการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ รวมทั้งขาดทรัพยากร เช่น หนังสือและคอมพิวเตอร์ ซึ่งจำเป็นต่อการอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ในชนบทจึงรู้สึกเบื่อหน่ายโรงเรียน ล้มเหลวในการพัฒนาทักษะการเรียนที่เหมาะสม และลาออกกลางคัน ส่งผลให้อัตราการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่สูงถึง 40%

          โครงการ Broadcasting Bilingual Stories: Promoting interactive literacy programming in rural Guatemala ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รางวัล UNESCO King Sejong Literacy Prize ปี 2021 มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือผ่านการเรียนทางไกลสำหรับเยาวชนชาวมายาที่ใช้ภาษา Ixil ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการออกจากโรงเรียนกลางคันเนื่องจากการระบาดของ COVID-19  ดำเนินงานโดยองค์กรที่ชื่อว่า Limitless Horizons Ixil (LHI) จากประเทศกัวเตมาลา

          จุดเด่นของโครงการนี้คือ การช่วยให้เด็กและผู้คนในเมือง Chajul ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูง 7,000 ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล ได้สัมผัสกับหนังสือ จากที่เคยไม่รู้จักมาก่อน เมื่อ LHI เข้าไปตั้งห้องสมุดชุมชนขึ้นเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวให้กับเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ก็ทำให้ม่านฟ้าของความรู้เปิดขึ้น มีสมาชิกห้องสมุดกว่า 500 คน และมีหนังสือหมุนเวียนให้ยืมถึงหมื่นเล่ม

          แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ระบาดไปถึงชุมชน ห้องสมุดจำเป็นต้องปิดตัวลงเช่นเดียวกับโรงเรียน เด็กๆ จึงเหมือนถูกให้ออกจากโรงเรียนกลางคัน ม่านฟ้าที่เปิดไว้เพียงน้อยนิดก็ปิดลง กลายเป็นความท้าทายสำหรับ LHI ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆ และสมาชิกห้องสมุดได้เรียนรู้การอ่านอย่างต่อเนื่อง LHI จึงแก้ปัญหาด้วยการจัดทำรายการผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ท้องถิ่นเป็นสองภาษาคือ ภาษาสเปนและภาษา Ixil (ภาษาถิ่นของภาษามายา)

          สาเหตุที่ LHI เลือกใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์เป็นช่องทางการเรียนรู้สำหรับสมาชิกห้องสมุดและผู้คนในบริเวณที่อยู่โดยรอบเมือง Chajul เพราะคนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงคอมพิวเตอร์ มีเพียงโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น LHI จึงต้องปรับการบริการของห้องสมุดให้อยู่ในรูปแบบของชมรมหนังสือเสมือนจริง การเรียนทางไกล การยืมหนังสือผ่านออนไลน์ โดยสนับสนุนให้สมาชิกได้ชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือร่วมกันได้

“เราต้องการให้โลกและผู้นำรัฐบาลรู้ว่าเพียงแค่ให้เยาวชนในชุมชนที่เปราะบางมีโอกาสเข้าถึงการอ่านในรูปแบบที่ตอบโต้กันได้ การได้รับการศึกษาที่ควบคู่ไปกับการสนับสนุน การให้คำแนะนำ และการทำต้นแบบเพื่อให้เห็นว่าวิธีคิดที่เปลี่ยนแปลงโอกาสแค่เล็กๆ น้อยๆ นี้ ก็สามารถส่งผลต่อคนรุ่นต่อไปได้มากแล้ว”

เคธี มอร์โรว์ ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งมูลนิธิ LHI


ที่มา

วันการรู้หนังสือสากล [Online]

Explained: Why International Literacy Day is observed on September 8. [Online]

Programme from Guatemala promoting interactive learning wins UNESCO literacy prize. [Online]

Cover Photo : International Literacy Day 2021 communication materials /UNESCO

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก