‘TRIZ’ ทฤษฎีพิชิตสารพัดปัญหา จากภูมิปัญญาของนักประดิษฐ์

23,579 views
7 mins
June 11, 2021

          หลายคนคงคุ้นเคยกับคำกล่าวที่ว่า “ทุกปัญหามีทางออก” แต่เราจะหาทางออกนั้นด้วยวิธีไหน? บ้างพึ่งหลักธรรมะ บ้างพึ่งหลักปรัชญา บ้างใช้การระดมสมอง ที่แน่ๆ คือต้องเสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูก ซึ่งอาจได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง

          แต่จะดีแค่ไหน หากเราสามารถรู้วิธีแก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องคลำหาทางเอง

          ยอดนักคิดชาวรัสเซียนามว่า ‘เกนริค’ ใช้เวลาตกผลึกความคิดนานนับสิบๆ ปี จากการศึกษาค้นคว้าสิทธิบัตรนับล้านฉบับ เขาค้นพบว่าสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ มีแบบแผนบางอย่างที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จนเป็นที่มาของการพัฒนาหลักการแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรมที่เรียกว่า ‘TRIZ’

‘เกนริค’ บิดาแห่ง TRIZ ผู้อุทิศทั้งชีวิตให้กับการคิดค้น

Genrikh Altshuller
เกนริค อัลทชูลเลอร์ (Genrikh Altshuller)
Photo: https://matriz.org/

          TRIZ ย่อมาจากคำภาษารัสเซีย (Teoriya Resheniya Izobretatelskikh Zadach) แปลว่า ทฤษฎีการแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรม คิดค้นขึ้นโดยนักประดิษฐ์ชาวรัสเซีย เกนริค อัลทชูลเลอร์ (Genrikh Altshuller) และพรรคพวก ในระหว่างปี 1946 – 1985

          เกนริคเป็นคนที่ชอบประดิษฐ์คิดค้นมาตั้งแต่เด็กๆ เขายื่นจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ครั้งแรกเมื่ออายุได้เพียง 14 ปี และเข้าทำงานในกองทัพเรือโซเวียตตอนอายุ 20 ปี ในตำแหน่งผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์

          การได้คลุกคลีกับงานคัดกรองสิทธิบัตรวันแล้ววันเล่า นำไปสู่การค้นพบรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในกระบวนการพัฒนานวัตกรรม เกนริคเริ่มสังเกตเห็นว่านักเคมี นักชีววิทยา นักฟิสิกส์ และวิศวกรหลายคนกำลังทำซ้ำผลงานกันเองโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ตรวจทานเลยว่ามีนักประดิษฐ์ในสาขาอื่นๆ ที่เคยตั้งโจทย์เดียวกันและแก้ปัญหาเหล่านั้นไปแล้ว

          ในปี 1950 เคราะห์ร้ายมาเยือนเกนริคในวัยเบญจเพส พิษภัยการเมืองทำให้เขาถูกส่งตัวไปจองจำในค่ายแรงงานกูลัก (Gulag) ที่นั่นเกนริคมิได้หยุดคิดค้นพัฒนาทฤษฎี TRIZ สถานกักกันที่เต็มไปด้วยกลุ่มชนชั้นนำและนักวิชาการได้กลายเป็นพื้นที่สุมหัวทางปัญญา พวกเขาได้แลกเปลี่ยนแนวคิดแบบข้ามศาสตร์ ซึ่งมีส่วนช่วยเกนริคในการทำความเข้าใจระบบต่างๆ ในภาพรวมมากขึ้น หลังการสิ้นชีพของผู้นำเผด็จการ โจเซฟ สตาลิน เขาได้รับการปล่อยตัวในปี 1954 และได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ TRIZ เป็นครั้งแรกในปี 1956

          ช่วงทศวรรษ 1970 ทฤษฎีของเกนริคเริ่มเป็นที่แพร่หลายในหมู่วิศวกรและนักวิจัยชาวโซเวียต จนก่อตัวเป็นสำนักคิด TRIZ ซึ่งบรรดาลูกศิษย์ของเกนริคได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาต่อยอด และเผยแพร่แนวทฤษฎี TRIZ ไปทั่วโลก ตลอดเวลา 4 ทศวรรษพวกเขาได้ศึกษาค้นคว้าสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์กว่า 2 ล้านฉบับ และสกัดองค์ความรู้ต่างๆ จนได้เครื่องมือและฐานความรู้ในการแก้ปัญหาทางเทคนิค

หลักการพื้นฐานของ TRIZ

          ทฤษฎี TRIZ เกิดขึ้นจากสมมติฐานที่ว่า “เคยมีบุคคลอื่นๆ จากต่างเวลา ต่างมุมโลก ที่ได้แก้ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่มาก่อนแล้ว ซึ่งเราสามารถนำเอาคำอธิบาย หรือวิธีการเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า”

          ในแง่นี้ TRIZ จึงเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่อาศัยประสบการณ์ ตรรกะ หรือการวิจัยที่เคยมีมาก่อน เป็นการเดินตามรอยปราชญ์ สกัดองค์ความรู้จากการลองผิดลองถูกนับหมื่นนับแสนครั้งของนักวิจัย ประสบการณ์อันล้ำค่าที่ถูกนำมาพัฒนาเป็นทฤษฎี TRIZ จะช่วยให้เราสามารถประหยัดเวลา แรงงาน และต้นทุนในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

          หลักการพื้นฐานของทฤษฎี TRIZ มีอยู่ 2 ประการได้แก่

          1. การวิเคราะห์ภาพรวมของปัญหาและแนวทางแก้ปัญหา

          การใช้กลวิธี TRIZ ประกอบด้วย การเรียนรู้แบบแผน หรือรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ของปัญหาและแนวทางแก้ปัญหา ทำความเข้าใจความขัดแย้งที่ปรากฏอยู่ในสถานการณ์นั้น และพัฒนาวิธีการใหม่ๆ โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์

          จากนั้นให้เรานำแบบแผนของ TRIZ มาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์เฉพาะหน้า และระบุปัญหาเชิงรูปธรรมที่เรากำลังเผชิญอยู่

          ต่อมา ให้นำปัญหาเฉพาะหน้ามาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับปัญหาเชิงนามธรรมข้อใดข้อหนึ่งในคู่มือ TRIZ ต่อด้วยการระบุแนวทางแก้ปัญหาแบบ TRIZ ที่เราต้องการ แล้วให้พิจารณาว่าจะนำแนวทางดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร

กลวิธีแก้ปัญหา ด้วยการประยุกต์ใช้ แนวทฤษฎี TRIZ
ภาพต้นฉบับ MindTools

          2. การขจัดความขัดแย้ง

          แนวคิดพื้นฐานอีกข้อหนึ่งของ TRIZ คือความเชื่อที่ว่า มีความขัดแย้งเชิงหลักการที่เป็นปมเหตุของปัญหาทั้งมวล และการขจัดความขัดแย้งเหล่านี้จะช่วยให้เราค้นพบแนวทางแก้ปัญหา โดยทฤษฎี TRIZ ได้แบ่งหมวดหมู่ความขัดแย้งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

          2.1 ความขัดแย้งเชิงเทคนิค (Technical contradictions)

          ปัญหาคลาสสิกในแวดวงววิศวกรรมคือภาวะได้อย่าง-เสียอย่าง (trade-offs) เมื่องานวิจัยของคุณไม่สามารถไปต่อได้เพราะมีอุปสรรคบางอย่างที่ทำให้ระบบติดขัด หรือกระบวนการสะดุด พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อมีสิ่งหนึ่งที่ดีขึ้นมา จะต้องมีอีกสิ่งหนึ่งที่ด้อยลงไปโดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น

          – ผลิตภัณฑ์ทนทานขึ้น (แง่บวก) แต่น้ำหนักก็เพิ่มขึ้นตาม (แง่ลบ)

          – มีโปรเจกต์ที่มีแววจะทำกำไร (แง่บวก) แต่บริษัทขาดเงินทุนที่จะมาสนับสนุน (แง่ลบ)

          – การฝึกอบรมมีเนื้อหาครอบคลุมครบถ้วน (แง่บวก) แต่ก็ทำให้พนักงานมีเวลาทำงานน้อยลง (แง่ลบ)

          2.2 ความขัดแย้งเชิงกายภาพ (Physical contradictions)

          ความขัดแย้งเชิงกายภาพเกิดขึ้นเมื่อวัตถุหรือระบบเผชิญกับความขัดแย้ง มีข้อเรียกร้อง 2 อย่างที่ไม่ลงรอยกัน ตัวอย่างเช่น

          – ซอฟต์แวร์ควรจะมีความซับซ้อน มีฟีเจอร์เยอะๆ แต่ขณะเดียวกันก็ควรจะใช้งานง่าย

          – กาแฟควรจะเสิร์ฟขณะร้อนๆ เพื่อให้ได้รสชาติกลมกล่อม แต่ก็ควรจะทำให้เย็นลงหน่อยเพื่อจะได้ไม่ลวกปากลูกค้า

          – ทีมงานครีเอทีฟต้องใช้เวลาในการคิดงาน แต่เวลาในการระดมสมองกลับมีอยู่อย่างจำกัด

การประยุกต์ใช้ ‘40 หลักการ’ ของ TRIZ

          ฐานข้อมูล TRIZ เป็นคลังความรู้แบบเปิดกว้าง (open source) ที่มีผู้ใช้งานและผู้ที่ชื่นชอบในระบบมาร่วมกันพัฒนา จนทำให้เกิดหลักการแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรมหลายหลักการด้วยกัน อย่างเช่น ‘40 หลักการ’ (40 Principles) หรือ ’76 คำตอบมาตรฐาน’ (76 Standard Solutions)

          ‘40 หลักการ’ เป็นหนึ่งในแนวทางที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการต่างๆ โดยเราสามารถนำหลักการข้อใดข้อหนึ่งใน ฐานข้อมูล TRIZ ที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ตัวอย่างเช่น

          – ในร้านเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็ก จะต้องนำสินค้ามาตั้งโชว์เพื่อดึงดูดลูกค้า ขณะเดียวกันก็ต้องมีพื้นที่จัดเก็บสินค้าชนิดต่างๆ เพื่อเตรียมจำหน่าย ตามหลัก TRIZ ร้านนี้มีความขัดแย้งเชิงกายภาพเกิดขึ้น เฟอร์นิเจอร์จะต้องมีทั้งความใหญ่ (เพื่อการใช้งานและดึงดูดตา) และความเล็ก (เพื่อการจัดเก็บในพื้นที่จำกัด) แนวทางที่สอดคล้องจาก 40 หลักการ ได้แก่ ข้อ 1 Segmentation (การแบ่งออกเป็นส่วนๆ) โดยการแยกชิ้นส่วนวัตถุ ทำให้เจ้าของร้านสามารถนำเฟอร์นิเจอร์มาประกอบเพื่อตั้งโชว์ หรือพับเก็บในคลังสินค้าได้ 

          – ร้านกาแฟแห่งหนึ่งมีลูกค้าแน่นในตอนกลางวัน แต่พอช่วงบ่ายๆ ร้านจะเริ่มเงียบ มีลูกค้าน้อย นอกจากนี้ ร้านนี้มีทำเลรายล้อมด้วยบริษัทสตาร์ทอัปที่แวะมาใช้ free wi-fi และใช้พื้นที่คุยงาน ปัญหาของร้านกาแฟร้านนี้คือลูกค้าขาดช่วง มีคนเข้าออกไม่สม่ำเสมอ แนวทางที่สอดคล้องจาก 40 หลักการ ได้แก่ ข้อ 19 Periodic action (การกระทำเป็นจังหวะ) วิธีคือแบ่งซอยกระบวนการที่ไม่ต่อเนื่อง ให้เป็นการกระทำแบบมีจังหวะแทน หรือเพิ่มความถี่ของการกระทำนั้นๆ ในกรณีนี้เจ้าของร้านอาจจะทำโปรโมชันในช่วงเวลา 14.00 – 18.00 น. ให้ลูกค้าเติมกาแฟแก้วต่อไปฟรี เพื่อเพิ่มปริมาณลูกค้าในช่วงที่ร้านเงียบ และลูกค้าสตาร์ทอัปที่แวะมาอาจจะซื้อเค้กและขนม เพิ่มรายได้ให้ร้านกาแฟอีกทาง

ตาราง 40 หลักการ (40 Principles)

1. Segmentation
(การแบ่งออกเป็นส่วนๆ)
2. Taking Out (การสกัดออก)3. Local Quality (คุณสมบัติประจำตัว)4. Asymmetry (ความไม่สมมาตร)
5. Merging (การรวมเข้าด้วยกัน)6. Universality (การใช้งานอเนกประสงค์)7. Nested doll (การซ้อนทับกัน)8. Anti-weight (การคานน้ำหนัก)
9. Preliminary anti-action (การต้านทานไว้ก่อน)10. Preliminary action (การกระทำก่อน)11. Beforehand cushioning (ป้องกันไว้ก่อน)12. Equipotentiality (ศักยภาพเท่ากัน)
13. The other way around (กลับทิศทาง)14. Spheroidality (ส่วนโค้งทรงกลม)15. Dynamics (ความเป็นพลวัต)16. Partial or excessive actions (ทำบางส่วนหรือทำเกิน)
17. Another dimension (เปลี่ยนสู่มิติอื่น)18. Mechanical vibration (การสั่นสะเทือนเชิงกล)19. Periodic action (การกระทำเป็นจังหวะ)20. Continuity of useful action (ทำประโยชน์อย่างต่อเนื่อง)
21. Skipping (เร่งรัด)22. Blessing in disguise (พลิกวิกฤตเป็นโอกาส)23. Feedback (การป้อนกลับ)24. Intermediary (ตัวกลาง)
25. Self-service (บริการตัวเอง)26. Copying (การเลียนแบบ)27. Cheap short-living (ใช้แล้วทิ้ง)28. Mechanics substitution (การแทนระบบเชิงกล)
29. Pneumatics and hydraulics (โครงสร้างที่ควบคุมด้วยลมหรือของไหล)30. Flexible shells and thin films (เยื่อยืดหยุ่นหรือฟิล์มบาง)31. Porous materials (วัสดุที่มีรูพรุน)32. Color changes (การเปลี่ยนสี)
33. Homogeneity (ความเป็นเนื้อเดียวกัน)34. Discarding and recovering (ใช้ชิ้นส่วนที่สลายและคืนสภาพ)35. Parameter changes (เปลี่ยนคุณลักษณะ)36. Phase transitions (เปลี่ยนสถานะ)
37. Thermal expansion (ขยายตัวด้วยความร้อน)38. Strong oxidants (การเร่งออกซิเดชัน)39. Inert atmosphere (บรรยากาศเฉื่อย)40. Composite material films (วัสดุผสม)

          ทฤษฎี TRIZ สามารถให้แนวทางแก้ปัญหาที่คาดการณ์ได้โดยอิงจากความรู้และหลักการในอดีต และเป็นกลวิธีที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในยามคับขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยขั้นตอนพื้นฐาน 4 ข้อ ได้แก่ 1) การตั้งโจทย์ ระบุปัญหา 2) การหาความขัดแย้ง 3) การใช้เครื่องมือ TRIZ กระตุ้นการคิดคำตอบ 4) การต่อยอดสร้างไอเดียใหม่เพื่อตอบโจทย์ความขัดแย้ง

          ในปัจจุบัน องค์กรหรือสถานศึกษาบางแห่งในประเทศไทยได้นำทฤษฎี TRIZ มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะบุคลากร เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือการพัฒนานวัตกรรม ขณะที่ในต่างประเทศนั้น ในอังกฤษได้มีการผลิตการ์ดเกม Triz Cards เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของบุคลากรในสายงานบริการ หรือในบางประเทศ เช่น รัสเซีย และอิหร่าน ได้มีการนำเนื้อหาของทฤษฎี TRIZ ไปดัดแปลงให้ย่อยง่ายขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะการคิดของเด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัย


ที่มา

Diana Starovoytova. Theory of inventive problem solving (TRIZ): his-story. 2015. [Online]

MindTools. TRIZ: A Powerful Methodology for Creative Problem Solving. [Online]

Rafiq Elmansy. Using the TRIZ Method for Creative Problem Solving. [Online]

Umakant Mishra. The father of TRIZ – As we know him A short biography of Genrich Altshuller. 2014. [Online]

บัญชา ธนบุญสมบัติ. แนะนำ “ทรีซ” (TRIZ) หลักการสร้างสรรค์นวัตกรรม. 2545. [ออนไลน์]

โพสต์ทูเดย์. ปูนใหญ่-ซีพีเอฟซุ่มใช้ ระบบ ‘ทริซ’ คิดนวัตกรรม. 2561. [ออนไลน์]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก