คำเตือน: บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของหนังสือ
ฉันมีความเชื่อส่วนตัวว่า ท่ามกลางหนังสือนับหมื่นแสนเล่ม การที่เราเลือกหยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาอ่านน่าจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ถ้าไม่ใช่โชคชะตาของเราเอง ก็อาจเป็นใครสักคนบนนั้นคัดสรรมาให้
เพราะหนังสือที่ถูกเลือกมักมีใจความ มีบางบรรทัดที่ช่างเหมาะกับชีวิตเราตอนที่อ่าน บางครั้งถึงขั้นเหมือนคำบอกใบ้ชี้ทางในสิ่งที่เรากำลังสับสน
และ The Midnight Library ก็เป็นหนึ่งในนั้น
หนังสือที่ได้รางวัล Best Fiction จาก Goodreads Choice Awards 2020 เล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของนอรา ซีด หญิงสาววัย 35 ที่เลือกความตายเป็นคำตอบให้ชีวิตซึ่งมีโรคซึมเศร้าเป็นแขกไม่ได้รับเชิญมายาวนาน อีกทั้งเต็มไปด้วยเรื่องเจ็บปวดมากมาย แต่หลังเลือกเส้นทางนั้น นอรากลับได้ไปยืนอยู่ในห้องสมุดซึ่งให้โอกาสเธอเลือกทางชีวิตใหม่อีกครั้ง ซึ่งช่างบังเอิญจนดูเหมือนตั้งใจ เพราะฉัน ณ ตอนที่อ่านก็อยู่ในจุดไม่ต่างจากนอราเท่าไหร่นัก
ไม่ได้ถึงขั้นคิดจะตาย แต่รู้สึกว่าชีวิตล้มเหลวมากเหลือเกิน และเพราะอย่างนั้น ระหว่างนั่งอ่านชีวิตบัดซบและความรู้สึกสิ้นหวังของนอรา ฉันจึงรู้สึกเหมือนนั่งจิบไวน์อยู่ข้างๆ เพื่อนร่วมชะตากรรม เป็นการอ่านนิยายที่ไม่ได้เอาใจช่วยหรืออยากแนะนำอะไรสักอย่างกับตัวเอก แต่อยากตบไหล่อย่างเข้าอกเข้าใจแล้วนั่งอยู่ด้วยเงียบๆ
พูดอีกอย่างคือ ฉันอ่านโดยเริ่มตั้งต้นที่จุดเดียวกับนอรา แล้วค่อยๆ ก้าวไปพร้อมตัวละคร
บรรณารักษ์แห่งห้องสมุดเที่ยงคืนบอกนอราว่า ห้องสมุดนี้ตั้งอยู่ระหว่างชีวิตและความตาย หนังสือที่เรียงรายเต็มชั้นคือชีวิตแบบอื่นที่เป็นไปได้ของเธอ ให้นอราเลือกอ่าน หรือพูดอีกอย่างคือเลือกใช้ชีวิตแบบต่างๆ เพื่อหาชีวิตที่ใช่ที่สุด ถ้าหาเจอก่อนตัวเธอในชีวิตรากเหง้าจะตาย นอราก็จะได้ไปใช้ชีวิตที่เลือกนั้นจริงๆ
ตลอดทั้งเรื่อง นอราจึงได้ไปลองใช้ชีวิตซึ่งเธอเคยเสียดายที่ไม่ได้ลอง ได้ไปเดินในทางอื่นที่เคยเป็นความฝัน ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาธารน้ำแข็งอย่างที่เคยฝันตอนเด็ก ทำวงดนตรีต่อจนกลายเป็นไอดอลดังระเบิด ว่ายน้ำแบบไม่เลิกกลางคันจนได้คว้าแชมป์โอลิมปิกสมใจพ่อ ลองเป็นภรรยาของชายที่ในชีวิตรากเหง้านั้นเธอบอกเลิกไป ฯลฯ
เป็นการเดินทางที่หลากหลายยาวนาน และสำหรับฉัน ทริปนี้เป็นเหมือนการเดินทางของ Matt Haig ผู้เขียนด้วย เพราะคุณแมตต์บอกไว้ในหน้าแรกๆ ของหนังสือว่า ในแง่หนึ่ง การเขียนห้องสมุดเที่ยงคืนก็เหมือนการบำบัดตัวเขาเอง ซึ่งใครที่คุ้นกับเรื่องแต่งคงพอรู้ว่า การเขียนนิยายก็คือการเดินทางภายในสำหรับนักเขียนเช่นกัน
ฉันรู้สึกว่าคุณแมตต์เดินทางเพื่อค้นหาเหตุผลที่จะมีชีวิต ไม่ก็คลี่ขยายและย้ำเหตุผลนั้นที่เขาเชื่อ นอราจึงต้องเลือกใช้ชีวิตมากมายอย่างที่เห็น เพื่อให้นักเขียนได้กระจ่างว่าชีวิตคืออะไร และทำไมเราถึงควรรั้งอยู่ ไม่ตายไปเสียเมื่อรู้สึกว่าชีวิตช่างเต็มไปด้วยความเศร้าเสียใจ
การอ่าน The Midnight Library จึงเป็นเหมือนการเฝ้ามองคุณแมตต์เดินทาง
และแน่นอน นี่ก็เป็นการเดินทางของผู้อ่านอย่างฉันด้วยเช่นกัน

ชีวิตฉันแทบไม่ต่างกับนอรา เราสูญเสียแมวสุดที่รัก ทำให้คนอื่นผิดหวัง ยังไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง มองว่าชีวิตห่วยแตก และตัวเองก็ caught in the middle (นอราใช้คำว่า ‘ระยะห่างเท่ากัน’ คือเราเหมือนติดอยู่ตรงกลางระหว่างทางเลือก) อีกทั้งในโลกของฉัน เมื่อมองออกไปรอบตัว ก็เห็นเพื่อนโพสต์สเตตัสว่าอายุสามสิบนิดๆ แล้วยังไม่มีอะไรที่ควรมี และรุ่นของเราก็ถูกผู้ใหญ่บางคนเรียกว่า snowflake generation ซึ่งความหมายหนึ่งของมันคือเจ้าพวกเกล็ดหิมะที่เอะอะเจออะไรนิดหน่อยก็ละลาย ขณะที่พวกผู้ใหญ่เอง เมื่อถึงจุดหนึ่ง บางคนก็เกิดวิกฤติชีวิตขึ้นมาเช่นกัน
พวกเราควรมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไมกันนะ ทั้งที่มันดูไม่ได้อย่างใจ ไม่อาจเป็นตามที่ผู้คนคาดหวัง และชวนให้คิดถึงทางที่เราไม่ได้เลือกหรือไปไม่ถึงอยู่ตลอด
แม้ไม่ได้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ฉันก็คิดว่าคำถามนี้ช่างสากล
แล้วระหว่างที่ฉันคิดทบทวน นอราก็เปิดหนังสือของห้องสมุดเที่ยงคืน กระโดดเข้าไปลองใช้ชีวิตแบบแล้วแบบเล่า จนในที่สุด ทีละน้อย ฉันก็ค่อยๆ เห็นสิ่งที่เรียกว่าชีวิตคลี่ออกมาเต็มตา
เนื้อหาของแต่ละชีวิตที่นอราไปสัมผัสล้วนต่างกัน อาทิเช่น ชีวิตนักวิทยาธารน้ำแข็งนั้นอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ชีวิตการเป็นภรรยาของชายในฝันคือการไปร่วมเปิดผับกับเขาในชนบท ชีวิตนักร้องไอดอลเต็มไปด้วยชื่อเสียง และชีวิตพนักงานศูนย์พิทักษ์สัตว์ก็แสนจะเรียบง่ายอ่อนโยน
อย่างไรก็ตาม มีบางสิ่งที่คงเดิมเสมอในทุกชีวิตนั้น
นั่นคือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะเป็นใคร ชีวิตจะดูสมบูรณ์แบบหรือไม่ นอราจะได้สัมผัสความรัก มีเสียงหัวเราะ มีน้ำตา จะได้ตัดสินใจเลือกบางอย่าง และรับผลของการตัดสินใจนั้น ซึ่งจะแตกกิ่งก้านไปสู่ความเป็นไปได้ต่อไป ความเป็นไปได้ที่เป็นหนึ่งในอีกนับล้านความเป็นไปได้ซึ่งลอยล่องอยู่ในอากาศ
สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงในทุกชีวิตของนอรานี้ เป็นความจริงของชีวิตเราเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นชีวิตที่เรามีอยู่ตอนนี้ หรือชีวิตอื่นที่เราฝันอยากใช้ พวกมันล้วนทั้งหวานทั้งขม มีขึ้นมีลง และที่สำคัญคือพร้อมเสมอที่จะเปลี่ยนแปลง
ชีวิตของเรา ณ ตอนนี้ จึงมีธรรมชาติไม่ต่างกับชีวิตที่เราอยากมี ขณะที่ส่วนเนื้อหาของมัน ถ้าเราอยากให้เปลี่ยนจากเดิม ชีวิตที่เรามีอยู่ก็เต็มไปด้วยศักยภาพที่จะไปสู่ความเป็นไปได้อื่น
บางครั้งทางอาจง่าย หลายครั้งทางอาจยาก แต่มีความเป็นไปได้รอเราอยู่แน่ๆ ในวินาทีถัดจากนี้
ความเป็นไปได้ซึ่งจะกลายเป็นความจริงต่อเมื่อเราขยับก้าวต่อไปในวินาทีนี้เท่านั้น
“ชีวิตคือการลงมือทำเสมอ” บรรณารักษ์ของห้องสมุดเที่ยงคืนบอกนอราในตอนหนึ่ง และใครจะรู้ ความเป็นไปได้ที่ชีวิตนี้จะได้พบก็อาจหมายถึงการได้ใช้ชีวิตอย่างที่เราเคยฝันจนได้ ในแง่ใดแง่หนึ่ง
ท้ายที่สุด มันจึงขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองเห็นความจริงนี้ไหม หรือจะมองโลกผ่านเลนส์แห่งความเศร้าเสียใจตลอดไป
“ความย้อนแย้งของภูเขาไฟก็คือ พวกมันเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายล้าง แต่มันก็เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตด้วย เมื่อลาวาไหลช้าลงและเย็นลงแล้ว มันจะแข็งตัว เมื่อกาลเวลาผ่านไปมันก็ย่อยสลายกลายเป็นดิน และเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วย
นอราสรุปว่าเธอไม่ใช่หลุมดำ แต่เธอเป็นภูเขาไฟ และก็เช่นเดียวกับภูเขาไฟ เธอไม่สามารถวิ่งหนีตัวเองได้ เธอต้องอยู่ตรงนั้น และดูแลผืนดินที่รกร้างว่างเปล่า
เธอสามารถปลูกป่าภายในตัวเธอเองได้”
ฉันเชื่อว่านับจากนี้ อาจมีบางครั้งที่นอราและฉันในเวอร์ชันหลังพบห้องสมุดเที่ยงคืนจะสั่นคลอน เพราะชีวิตซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ย่อมหมายรวมถึงการที่เราอาจตื่นมาในบางวันแล้วตั้งคำถามกับชีวิตอีกครั้ง
แต่ฉันก็เชื่อเช่นกันว่าพวกเราจะเดินต่อไป เพราะความจริงของชีวิตจะคงอยู่ ขอเพียงแค่เราหันไปและมองให้เห็นมัน
สุดท้ายนี้ คุณที่อ่านอยู่ก็เช่นกันนะ ไม่ว่าอย่างไร ฉันหวังว่าคุณจะเดินต่อไป
แม้ชีวิตนี้มักดูไม่เหมือนสิ่งที่นอรา ฉัน และคุณอยากให้เป็น แม้มันอาจดูไม่น่าไปต่อเหลือเกิน แต่จากที่นี่ พวกเราจะได้เห็นฟ้าสวยในวันแดดดี กอดคนที่รัก จะได้เลือกและมีโอกาสงอกงามเสมอ