The Bentway พื้นที่เพาะฝันใต้แท่งคอนกรีตที่สาธารณชนร่วมสร้างสรรค์

533 views
9 mins
September 13, 2023

          เมื่อนึกถึงพื้นที่ใต้ทางด่วน คุณนึกถึงอะไร?

          ภาพจำของผม ใต้ทางด่วนคือพื้นที่เสื่อมโทรมชื้นแฉะที่ถูกทาบทับด้วยเงาทะมึนทึมของโครงสร้างคอนกรีตยักษ์ใหญ่ เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะขนานนามว่าเนื้อที่เสียเปล่าด้วยความยากที่จะพัฒนาต่อยอดเพราะข้อจำกัดทั้งแสงสว่าง การถ่ายเทของอากาศ ขนาดและลักษณะของพื้นที่ รวมทั้งการเดินทางมาใช้งาน

          แต่สำหรับเหล่าสถาปนิก พวกเขาเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า Terrain Vague พื้นที่ว่างที่พบกระจัดกระจายในเมืองใหญ่และการใช้งานไม่ชัดแจ้ง ส่วนใหญ่มักจะเสื่อมโทรมล้าสมัย ถูกทิ้งร้าง และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ กระนั้นก็ไม่ถึงกับ ‘เสียเปล่า’ เพราะยังมีโอกาสที่จะถูกนำมาพัฒนาให้ใช้การได้ภายใต้เงื่อนไขการออกแบบที่ดีเพียงพอ

          สายตาของสถาปนิกที่มองเห็นศักยภาพในพื้นที่ใต้ทางด่วน นำไปสู่การสนทนาทางโทรศัพท์ที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์พื้นที่ใต้ทางด่วนใจกลางเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา จากความรกร้างสู่พื้นที่เพาะฝันที่เปิดโอกาสให้ชุมชนโดยรอบมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และต่อยอด

ความเป็นไปได้ใต้แท่งคอนกรีต

          ทางด่วนการ์ดิเนอร์ (Gardiner Expressway) ก่อสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 1950s เลียบชายฝั่งทะเลสาบออนตาริโอ ใกล้กับป้อมปราการยอร์ก (Fort York) พื้นที่ทางประวัติศาสตร์สำคัญของแคนาดา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกรถยนต์นับแสนคันที่ขับเข้า-ออกเมืองโตรอนโตในแต่ละวัน

          ทางด่วนดังกล่าวเคยเป็นเพชรเม็ดงามที่สะท้อนความก้าวหน้าทางวิศวกรรมและความเจริญรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมของเมืองโตรอนโต แต่เมื่อย่างเท้าเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 บริเวณรอบทางด่วนการ์ดิเนอร์ก็แปลงสภาพจากพื้นที่อุตสาหกรรมสู่ย่านชุมชน โดยมีประชากรนับ 80,000 คนอาศัยอยู่ไม่ไกลจากทางยกระดับความยาว 18 กิโลเมตรแห่งนี้

          แท่งคอนกรีตความสูงเท่ากับตึกห้าชั้นที่คอยรองรับรถยนต์กลับกลายเป็นโครงสร้างที่ล้าสมัย ผู้อยู่อาศัยปัจจุบันถวิลหาพื้นที่สาธารณะแต่พบเพียงพื้นที่รกร้างว่างเปล่าใต้ทางด่วน พวกเขาอยากเห็นทิวทัศน์สวยงามริมทะเลสาบแต่กลับมีทางยกระดับที่เทาทะมึนขวางคลองตา ความชิงชังพุ่งสูงถึงขั้นมีการถกเถียงเพื่อรื้อทางด่วนการ์ดิเนอร์ในปี 2015 แต่สภาเมืองมีมติไม่อนุมัติโดยเลือกทางสายกลางคือการใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบผสมผสาน

          “การ์ดิเนอร์คือสิ่งแปลกปลอม มันไม่ควรจะตั้งอยู่ที่นี่” นี่คือวาทะของสตีเฟน ออตโต (Stephen Otto) นักกิจกรรมผู้ล่วงลับที่มองว่าทางยกระดับแห่งนี้ควรถูกรื้อถอนออกไปจากใจกลางเมือง

The Bentway พื้นที่เพาะฝันใต้แท่งคอนกรีตที่สาธารณชนร่วมสร้างสรรค์
ทางด่วนการ์ดิเนอร์
Photo: The Bentway
ภาพบริเวณใต้ทางด่วนการ์ดิเนอร์ ก่อนได้รับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะ
Photo: Jack Landau/ The Bentway

          ในปีเดียวกันนั้นเอง จูดี้ แมทธิวส์ (Judy Matthews) สถาปนิกผังเมืองในวัยเกษียณก็โทรศัพท์หาเพื่อนสนิทนักออกแบบภูมิทัศน์เมืองชื่อดัง เคน กรีนเบิร์ก (Ken Greenberg) เพื่อแจ้งความประสงค์ว่าตัวเธอและวิลมอนต์ แมทธิวส์ (Wilmont Matthews) สามีผู้เป็นวาณิชธนากรต้องการบริจาคเงินเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ในเมืองโตรอนโต

          กรีนเบิร์กให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ตัวเขาเองในเวลานั้นก็มองเห็นศักยภาพในการพัฒนาย่านป้อมปราการยอร์กและบริเวณใต้ทางด่วนการ์ดิเนอร์ให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ยอดเยี่ยม พื้นที่ตรงนั้นเปรียบเสมือนลานโล่งที่มีความกว้าง 24 เมตรใต้เพดานที่มีความสูงเท่ากับตึกห้าชั้น แถมยังโอบรอบป้อมปราการยอร์กเป็นเส้นโค้งรูปตัวเอสแปลกตา เขาจึงตัดสินใจพาคู่สามีภรรยาแมทธิวส์ไปชมพื้นที่ใต้ทางด่วนซึ่งทั้งสามคนต่างก็ได้ข้อสรุปตรงกัน

          “ฉันลืมหายใจไปเลยเมื่อได้เห็นทั้งความโอ่อ่า ความน่าเกรงขาม และความยิ่งใหญ่ เราทั้งสามคนมองเห็นความเป็นไปได้มากมายของพื้นที่ตรงนั้น” จูดี้ แมทธิวส์ เล่าขณะย้อนนึกถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ

          ด้วยความสนับสนุนของครอบครัวแมทธิวส์ที่บริจาคเงิน 25 ล้านดอลลาร์แคนาดา (ราว 660 ล้านบาท) กรีนเบิร์กร่วมมือกับ Public Work บริษัทผู้เชี่ยวชาญการออกแบบภูมิทัศน์เพื่อร่างแบบพื้นที่สาธารณะ ก่อนจะนำแผนทั้งหมดไปนำเสนอกับคณะกรรมการเมืองเพื่อขอปรับปรุงพื้นที่ใต้ทางด่วนซึ่งอยู่ในการดูแลของรัฐตามกฎหมาย แผนการดังกล่าวได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่จากรัฐบาลท้องถิ่น กระทั่งเปิดตัวโครงการปรับปรุงพื้นที่ใต้ทางด่วนการ์ดิเนอร์ต่อสาธารณชนในเดือนพฤศจิกายน

          อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาเจอกระแสตอบรับที่แตกต่างหลากหลาย คนจำนวนไม่น้อยยังต้องการผลักดันให้รื้อถอนทางด่วนการ์ดิเนอร์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขณะที่คนอีกจำนวนมากไม่ได้คาดหวังกับการปรับปรุงพื้นที่ใต้ทางด่วนซึ่งถูกทิ้งร้างมายาวนานหลายทศวรรษ

          ก้าวต่อไปของการสร้างพื้นที่สาธารณะคือการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม และชี้ชวนให้เห็น ‘ศักยภาพ’ ของพื้นที่ดังกล่าว เฉกเช่นเดียวกับครอบครัวแมทธิวส์และกรีนเบิร์ก

พื้นที่ใต้ทางด่วนการ์ดิเนอร์ หลังจากได้รับการพัฒนา
Photo: The Bentway

The Bentway พื้นที่เพาะฝันใต้แท่งคอนกรีตที่สาธารณชนร่วมสร้างสรรค์
Photo: Denise Militzer/ The Bentway

ปรับวิธีคิดปลุกชีวิตให้พื้นที่สาธารณะ

          แม้ว่าจะมี ‘พื้นที่’ แต่ก็ยังไม่ได้ใจ ‘สาธารณะ’ เพราะแทบไม่มีใครจินตนาการออกว่าพื้นที่แสนเสื่อมโทรมใต้ทางด่วนจะเนรมิตออกมาให้พวกเขาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

          ผู้บริหารโครงการพยายามสร้างความรู้สึกให้ทุกคนร่วมเป็นเจ้าของโดยการเชิญชวนให้เสนอและลงคะแนนเลือก ‘ชื่อใหม่’ ให้แก่โครงการปรับปรุงพื้นที่ใต้ทางด่วนการ์ดิเนอร์ ประชาชนชาวโตรอนโตก็ให้ความสนใจพอสมควรโดยส่งชื่อเข้าประกวดจำนวน 884 ชื่อ ก่อนจะถูกคัดโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยศิลปิน ภาครัฐ และผู้นำชุมชนให้เหลือ 4 ชื่อคือ ‘The Artery’ ‘The Bentway’ ‘The Canopy’ และ ‘Gathering Place’

          ผลลัพธ์ที่ได้คือ ‘The Bentway’ ครองอันดับหนึ่งตั้งแต่ต้นจนจบการแข่งขัน โดยผู้ลงคะแนนมองว่าชื่อนี้สะท้อนเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้น เพราะ Bent คือศัพท์ทางวิศวกรรมที่ใช้เรียกเสาโครงสร้างคอนกรีตใต้ทางยกระดับที่ทอดยาวไปตลอดแนว

          แต่คงไม่มีอะไรที่จะทำให้คนเห็นภาพ ‘พื้นที่’ ซึ่งไม่เคยมีที่ไหนมาก่อนได้ดีเท่ากับการได้มาสัมผัสสองมือ สองขา และสองตาของตัวเอง

          จูเลียน สลีท (Julian Sleath) ผู้บริหารโครงการ The Bentway ตระหนักดีถึงเงื่อนไขดังกล่าว เขาพยายามผลักดันอย่างเต็มที่ให้การก่อสร้างเสร็จให้เร็วที่สุดเพื่อเปิดให้สาธารณชนเข้าใช้งาน แม้ว่าจะเป็นพื้นที่เล็กๆ ซึ่งล้อมรอบโดยไซต์งานก่อสร้างก็ตาม แต่อย่างน้อยทุกคนที่มาสัมผัสก็จะได้เห็นภาพและเข้าใจตรงกันว่า The Bentway คืออะไร

          “เราพยายามแบบสุดกำลัง ฤดูหนาวปีนั้นหนาวมากๆ เราจึงเปิดโซนแรกเป็นลานสเกตน้ำแข็งในเดือนมกราคมปี 2018 ซึ่งได้รับการตอบรับดีเยี่ยม ตอนนั้นเองที่ชุมชนโดยรอบรู้แล้วว่าทำไมเราต้องใช้พื้นที่ใต้ทางด่วนการ์ดิเนอร์ เหมือนค้นเจอคำตอบที่คาใจมานาน นับตั้งแต่วันนั้นพวกเขาก็เริ่มตั้งคำถามว่า ‘จะมีอะไรตามมาอีก?’”

The Bentway พื้นที่เพาะฝันใต้แท่งคอนกรีตที่สาธารณชนร่วมสร้างสรรค์
Photo: The Bentway

          คำตอบปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาอาณาบริเวณสาธารณะใต้การ์ดิเนอร์ (The Under Gardiner Public Realm Plan) ที่ The Bentway จับมือพัฒนาขึ้นร่วมกับสภาเมืองโตรอนโตที่ระบุว่าก้าวแรกต้องเริ่มต้นจากการปรับ ‘มุมมอง’ ของสาธารณชนต่อพื้นที่ใต้ทางด่วนการ์ดิเนอร์ให้สอดคล้องกับ 4 แกนหลักดังนี้

          แกนแรกคือพื้นที่ใต้การ์ดิเนอร์จะต้องเป็นจุดเชื่อมต่อ (Connector) ที่เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสาธารณะทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและอนาคต จากย่านชุมชนไปยังใจกลางเมือง โดยต้องเป็นอาณาบริเวณสาธารณะที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการเข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน

          แกนที่สองคือพื้นที่ใต้การ์ดิเนอร์จะต้องเป็นประตู (Gateway) จากเดิมที่ทางด่วนเคยเปรียบเสมือนกำแพงขวางกั้นไม่ให้คนในชุมชนไปใช้งานพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะริมทะเลสาบ การปรับปรุงพื้นที่ตรงนี้จะต้องทลายกำแพงลงและสร้างประตูเปิดทางให้ประชาชนข้ามไปใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะเหล่านั้นได้

          แกนที่สามคือพื้นที่ใต้การ์ดิเนอร์จะต้องเป็นจุดหมายปลายทาง (Destination) ตอบโจทย์เป้าหมายของเมืองเรื่องการท่องเที่ยว ศิลปะสาธารณะ พื้นที่นันทนาการ และพื้นที่เชิงวัฒนธรรม พร้อมทั้งออกแบบภูมิทัศน์และโครงสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องสมดุลกับธรรมชาติ

          แกนที่สี่คือพื้นที่ใต้การ์ดิเนอร์ต้องเป็นต้นแบบของโครงสร้างพื้นฐานแบบผสมผสาน (Hybrid Infrastructure) สร้างมาตรฐานการออกแบบพื้นที่หรืออาณาบริเวณสาธารณะ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบำรุงรักษาพื้นที่ให้สอดคล้องกันระหว่างทางด่วนด้านบนและพื้นที่สาธารณะด้านล่าง พร้อมทั้งพัฒนากลยุทธ์ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

          ทั้งสี่แกนคือแนวคิดหลักที่ขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่ใต้การ์ดิเนอร์ที่ปลุกชีวิตให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่าสู่การเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีชีวิตชีวาในชื่อว่า The Bentway โครงการนี้จึงไม่ได้เป็นแค่การปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อสนองความต้องการของภาครัฐหรือครอบครัวมหาเศรษฐี แต่เป็นการเชื่อมโยงพื้นที่เมืองซึ่งครั้งหนึ่งถูกตัดขาดออกจากกันด้วยแท่งคอนกรีตมโหฬารให้กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้งโดยที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

แผนพัฒนาอาณาบริเวณสาธารณะใต้การ์ดิเนอร์

นวัตกรรมพื้นที่เพาะฝัน

          เฟสแรกของโปรเจกต์ตั้งอยู่ที่อุทยานทางประวัติศาสตร์แห่งชาติฟอร์ต ยอร์ก (Fort York National Historic Site) ซึ่งรัฐบาลของแคนาดาถือว่าเป็นสถานที่ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และพื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่ทางการค้าที่สำคัญ ทั้งยังเป็นแหล่งรวมตัวของชนพื้นเมือง

          พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ใต้ทางด่วนค่อยๆ ขยับขยายจากลานสเกตน้ำแข็งสู่พื้นที่รองรับกิจกรรมหลากหลาย กลายเป็นห้องเพดานสูงไร้กำแพงต่อเนื่องหลายสิบห้องที่เชื่อมโยงชุมชนโดยรอบเข้าด้วยกัน ตั้งแต่โรงละครครึ่งวงกลมขนาด 250 ที่นั่ง พื้นสบายๆ สำหรับดื่มความสงบ ลานกิจกรรมสร้างสรรค์ ลานเล่นกีฬา รวมไปถึงตลาดนัด นับเป็นการปฏิรูปพื้นที่ซึ่งทุกคนเบือนหน้าหนีให้เป็นลานกว้างที่เชื้อเชิญให้ผู้อาศัยใน 7 ย่านชุมชนโดยรอบมาปฏิสัมพันธ์กัน

          The Bentway ไม่ได้โดดเด่นในเชิงสังคมเท่านั้น แต่ยังนับเป็นนวัตกรรมในด้านการออกแบบพื้นที่ ทั้งทางเดิน ทางจักรยาน หรือกระทั่งสะพานแขวนที่ออกแบบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการเชื่อมต่อย่านชุมชนกับพื้นที่สาธารณะโดยรอบ นอกจากนี้ทั่วทั้งบริเวณจะมีระบบแสงสว่างและระบบไฟฟ้าที่สามารถรองรับทุกความต้องการ อีกทั้งยังโดดเด่นด้วยระบบจัดการน้ำฝนอย่างยั่งยืนที่สร้าง ‘ภูมิประเทศแบบลื่นไหล (Liquid Landscape)’ ซึ่งเกิดจากการส่งผ่านน้ำฝนจากถนนทางด่วนไปหล่อเลี้ยงพื้นที่ทางธรรมชาติ

          “ทุกครั้งที่คุณมาที่นี่ เราจะเตรียมสิ่งแปลกใหม่ไว้ให้คุณได้สำรวจ เรามีปฏิทินตารางกิจกรรมสามฤดูกาล ตั้งแต่งานทัศนศิลป์แบบจัดวาง คอนเสิร์ต ร้านค้าขนาดเล็ก นอกจากนี้เรายังจับมือกับหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นเหล่าศิลปิน องค์กรภาคสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงองค์กรด้านสุขภาพเพื่อมาร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมใน The Bentway” สลีทอธิบาย

          The Bentway ต้อนรับผู้มาเยือนในช่วงกรกฎาคมปีนี้ด้วยกิจกรรมรับฤดูร้อนคือ Beyond Concrete ที่เชิญชวนศิลปิน สถาปนิก นักพฤกษศาสตร์ และชาวย่านชุมชนมาสำรวจระบบนิเวศในเมืองอันโดดเด่นของพื้นที่ใต้ทางด่วนการ์ดิเนอร์ซึ่งเป็นจุดพบปะระหว่างโครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นกับพืชและสัตว์ที่ปรับตัวเข้ากับถิ่นอาศัยใหม่ กิจกรรมดังกล่าวแยกย่อยออกเป็นศิลปะจัดวาง เวิร์กชอปวาดรูป วงพูดคุยเรื่องหนังสือ รวมถึงการเดินสำรวจไลเคน

The Bentway พื้นที่เพาะฝันใต้แท่งคอนกรีตที่สาธารณชนร่วมสร้างสรรค์
การจัดงานแสดงคอนเสิร์ต
Photo: The Bentway
The Bentway พื้นที่เพาะฝันใต้แท่งคอนกรีตที่สาธารณชนร่วมสร้างสรรค์
บรรยากาศการขายสินค้าที่ The Bentway
Photo: The Bentway
The Bentway พื้นที่เพาะฝันใต้แท่งคอนกรีตที่สาธารณชนร่วมสร้างสรรค์
Balete BulateBituka ผลงานของ Leeroy New ตัวอย่างงานศิลปะที่ได้จัดแสดงใน The Bentway
Photo: The Bentway

The Bentway พื้นที่เพาะฝันใต้แท่งคอนกรีตที่สาธารณชนร่วมสร้างสรรค์
กิจกรรมเดินสำรวจสัตว์และพืชใต้ทางด่วนการ์ดิเนอร์
Photo: Shane Parent/ The Bentway

          อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าอร่อยคือโต๊ะอาหารย่านชุมชนที่ The Bentway ร่วมคัดสรรกับ The Depanneur ร้านอาหารดังของโตรอนโต โดยชาวเมืองสามารถจับจองที่นั่งมาร่วมรับประทานอาหารจากทั่วทุกมุมโลกร่วมกันในคืนวันพฤหัส โดยปีนี้นับเป็นปีพิเศษเพราะได้จับมือกับ Dashmaawaan Bemaadzinjin (พวกเขาผู้ช่วยให้ทุกคนอิ่มท้อง) โครงการสร้างอธิปไตยทางอาหารให้กับชาติพันธุ์ท้องถิ่นในโตรอนโตที่จะเชิญชวนผู้สนใจมาทานมื้อค่ำอาหารพื้นถิ่นที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

          นอกจากนั้น ยังมีการทำงานร่วมกับองค์กรที่สนับสนุนเรื่องสุขภาพจิตและบ่มเพาะการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เพราะที่นี่ให้ความสำคัญเรื่องศิลปะสาธารณะที่มีอิทธิพลกับสุขภาวะของคนในชุมชน หรือทำงานกับหน่วยงานด้านอื่นๆ เช่น ห้องสมุดประชาชนโตรอนโต (Toronto Public Library) จัดงาน Eco Library Pop-Up 

          การออกแบบกิจกรรมที่โดดเด่น หยิบจับโจทย์ที่ฟังดูยากและไกลตัวมาปรับให้จับต้องได้ผ่านการนำเสนอด้วยวิธีการที่หลากหลายเข้าถึงง่ายกลายเป็นลายเซ็นอันโดดเด่นที่คนเมืองไม่รู้เบื่อของพื้นที่สาธารณะ The Bentway ยังไม่นับปฏิสัมพันธ์ใต้ทางด่วนที่เปลี่ยนชุมชนตึกสูงที่เคยห่างเหินให้ขยับเข้ามาใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ The Bentway กลายเป็นต้นแบบพื้นที่สาธารณะที่ใครๆ ก็กล่าวขวัญถึง พร้อมทั้งตอบโจทย์ทั้งสี่แกนหลักตามแผนพัฒนาอาณาบริเวณสาธารณะใต้การ์ดิเนอร์


The Bentway พื้นที่เพาะฝันใต้แท่งคอนกรีตที่สาธารณชนร่วมสร้างสรรค์
กิจกรรมโต๊ะอาหารย่านชุมชน
Photo: The Bentway
The Bentway พื้นที่เพาะฝันใต้แท่งคอนกรีตที่สาธารณชนร่วมสร้างสรรค์
Eco Library Pop-Up โดยห้องสมุดประชาชนโตรอนโต
Photo: Jack Landau/ The Bentway

อนาคตของพื้นที่ใต้ทางด่วนที่ทุกคนร่วมออกแบบ

          ถึงแม้ The Bentway จะครอบคลุมพื้นที่ใต้ทางด่วนการ์ดิเนอร์เพียง 1.8 กิโลเมตร แต่โครงการดังกล่าวก็สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่จนเกิดเป็นกลยุทธ์ฟื้นฟูสภาพพื้นที่ทางด่วนการ์ดิเนอร์ (Gardiner Expressway Rehabilitation Strategy) โดยมีรัฐบาลเมืองโตรอนโตเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก และ The Bentway Conservancy องค์กรไม่แสวงหากำไรที่เป็นผู้จัดการโครงการ The Bentway เป็นดั่งที่ปรึกษา

          อย่างไรก็ตาม อนาคตของพื้นที่ทางด่วนทั้งสายย่อมไม่อยู่ในมือของสองหน่วยงาน แต่เกิดจากการร่วมออกแบบของประชาชนที่อยู่อาศัยโดยรอบ

          ในปีที่ผ่านมา ทีมงาน The Bentway ร่วมกับรัฐบาลเมืองโตรอนโตเริ่มสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของทางยกระดับการ์ดิเนอร์ ทั้งการสอบถามทางไปรษณีย์ การเปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ และที่ขาดไม่ได้คือ ‘The Street Summit’ งานประชุมที่จัดขึ้นใต้ทางด่วนต่อเนื่องสองวันที่เชิญชวนประชาชนมาร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อเปลี่ยนพื้นที่เมืองให้เป็นอาณาบริเวณสาธารณะที่สนุกสนาน เท่าเทียม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

The Bentway พื้นที่เพาะฝันใต้แท่งคอนกรีตที่สาธารณชนร่วมสร้างสรรค์
การประชุม Street Summit เพื่อระดมความคิดเห็นเรื่องพื้นที่สาธารณะ
Photo: Shane Parent/ The Bentway

          ดูเหมือนว่า The Bentway จะมีความโดดเด่นในเชิงนวัตกรรม ทั้งการออกแบบผังเมืองเพื่อภูมิทัศน์ที่ดีและการมีส่วนร่วมของชุมชน ชนพื้นเมือง และการออกแบบกิจกรรมทางศิลปะที่หวือหวาและหลากหลาย อีกหนึ่งจุดเด่นของที่นี่คือการทำตัวเป็นแหล่งข้อมูลและส่งต่อองค์ความรู้

          นี่จึงเป็นงานประชุมที่อยู่ในโครงการ Public Space Fellowship หรือโครงการวิจัยพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในการทำงานของ The Bentway ที่โฟกัสเรื่องการพัฒนาข้อมูล พื้นที่การเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนใหม่ๆ เปิดโอกาสให้นักพัฒนาเมืองที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่สาธารณะซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ให้ตอบโจทย์คนในชุมชนมากขึ้น นำมาซึ่งการจัดอบรมท่ามกลางโลกที่ถูกท้าทายด้วยสุขภาวะและความเป็นพื้นที่สาธารณะ

          แน่นอนว่ากิจกรรมที่จัดโดย The Bentway ย่อมไม่ใช่การนั่งประชุมธรรมดา แต่เป็นการผสมผสานระหว่างวงเสวนา งานแสดงศิลปะ เวิร์กชอปสำรวจเมือง และที่ขาดไม่ได้คืองานกินเลี้ยงเฉลิมฉลอง พร้อมด้วยบทสนทนาในหัวข้อแสนละเอียดอ่อนอย่างการใส่ใจและดูแลกันและกันในชุมชน หรือเพศทางเลือกกับการอาศัยในเมืองใหญ่

          กิจกรรมดังกล่าวมีคนให้ความสนใจนับหมื่นชีวิต เสียงสะท้อนสำคัญคือเหล่าคนเมืองหลงรักการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนแบบ The Bentway และต้องการขยายการปรับปรุงพื้นที่ลักษณะนี้ให้ครอบคลุมตลอดทั้งทางยกระดับการ์ดิเนอร์ เนื่องจากพื้นที่ส่วนอื่นยังให้ความรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่น่าพึงใจ อีกทั้งยังมีสภาพแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับรถยนต์ซึ่งเสียงดังและอันตราย พวกเขาจึงมองว่าอาจต้องจัดลำดับความสำคัญและสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้รถใช้ถนนกันเสียใหม่ อีกทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เอื้อต่อคนเดินถนนและนักปั่นจักรยานมากขึ้นกว่าเดิม

          ความคิดเห็นที่หลากหลายถูกกลั่นกรองออกมาเป็นหลักการเพื่อใช้ปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนในอนาคต เริ่มจากการแปลงอุปสรรคให้กลายเป็นฐานในการเชื่อมต่อด้วยการปรับปรุงพื้นที่ทั้งในทางกายภาพและรูปลักษณ์ เชื่อมโยงกับย่านชุมชน ทุนทางสังคม และเส้นทางการขนส่งสาธารณะเพื่อตอบโจทย์ความกังวลเรื่องความปลอดภัยและการเข้าถึงพื้นที่ใต้ทางด่วนการ์ดิเนอร์

          นอกจากนี้ การออกแบบพื้นที่สาธารณะหรือกึ่งสาธารณะยังต้องคำนึงถึงการใช้งานและการซ่อมบำรุงของทางด่วนการ์ดิเนอร์ด้านบน เช่นเดียวกับสะท้อนลักษณะอันโดดเด่นของพื้นที่ใต้ทางด่วน ทั้งในแง่โครงสร้าง ความเป็นเมือง ประวัติศาสตร์ และชุมชนอันโดดเด่น 

          สิ่งที่ขาดไม่ได้คือความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งในแง่เงินลงทุนที่จะต้องกันส่วนงบประมาณหรือจัดหาเงินเพื่อบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม และในแง่สิ่งแวดล้อมโดยโครงสร้างพื้นฐานแบบผสมผสานจะต้องสามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในอนาคต ทั้งนี้ พื้นที่ใต้ทางด่วนซึ่งถูกทิ้งร้างยังต้องตอบโจทย์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองใหญ่ จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ที่สามารถดึงดูดทั้งชาวเมืองและนักท่องเที่ยว

          The Bentway จึงเป็นมากกว่าโครงการพัฒนาใต้ทางด่วนการ์ดิเนอร์ แต่เปรียบเสมือนการจุดประกายส่องให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใน Terrain Vague พื้นที่ว่างที่พบทั่วไปเมืองใหญ่และการใช้งานไม่ชัดแจ้ง ตอบโจทย์ทั้งสี่แกนหลักที่ต้องการปรับเปลี่ยนมุมมองชาวเมือง พร้อมทั้งผลักดันจนเป็นหลักปฏิบัติที่เป็นเลิศสำหรับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะทั่วโลกโดยสาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วม

          แปลงเพาะฝันแห่งนี้จึงผลิตเมล็ดพันธุ์มากมาย กระจายไปปลูกในความคิดของคนเมืองทั่วโลกให้มองเห็นโอกาสใต้แท่งคอนกรีต

The Bentway พื้นที่เพาะฝันใต้แท่งคอนกรีตที่สาธารณชนร่วมสร้างสรรค์
Photo: Nicola Betts Photography/ The Bentway
The Bentway พื้นที่เพาะฝันใต้แท่งคอนกรีตที่สาธารณชนร่วมสร้างสรรค์
Photo: The Bentway
The Bentway พื้นที่เพาะฝันใต้แท่งคอนกรีตที่สาธารณชนร่วมสร้างสรรค์
Photo: The Bentway

บทความ “Online voters pick ‘Bentway’ as name for new zone under the Gardiner” จาก thestar.com (Online)

บทความ “the bentway” จาก thebentway.ca (Online)

บทความ “Under Gardiner public realm plan” จาก undergardinerprp.ca (Online)

บทความ “Scratching Beneath the Surface” จาก archpaper.com (Online)

บทความ “The Bentway, Toronto” จาก medium.com (Online)

บทความ “In Toronto, a Likable Space Arrives Underneath a Loathed Expressway” จาก bloomberg.com (Online)

บทความ “Why Toronto Should Tear Down Its Urban Expressway” จาก bloomberg.com (Online)

บทความ “The Bentway/ Public Work” จาก archdaily.com (Online)

Cover Photo: The Bentway

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก