ด้วยรักและคิดถึง ความทรงจำ ชาติไทย และนิธิ เอียวศรีวงศ์

1,010 views
5 mins
August 24, 2023

          อาจอยู่ในฐานะปัญญาชนร่วมสมัย อาจอยู่ในฐานะอาจารย์ อาจอยู่ในฐานะนักเขียน อาจอยู่ในฐานะต้นธารความคิด อาจอยู่ในฐานะนักวิจารณ์สังคมไทยเชื้อสายเจ๊ก อาจอยู่ในฐานะชายชราท่าทางใจดีธรรมดาๆ คนหนึ่ง นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจเป็นใครสักคน อยู่ในสักฐานะหนึ่งในใจของนักอ่าน นักวิชาการ ไปจนถึงนักเรียนฝั่งสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ และคอประวัติศาสตร์ทั่วไป

          และเมื่อกล่าวถึงนิธิ สิ่งที่ย่อมจะพ่วงท้ายมาด้วยก็คือความทรงจำต่องานชิ้นสำคัญชิ้นใดชิ้นหนึ่งจากผลงานมากมายตลอดชีวิตที่ผ่านมาของเขา ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมสำคัญในแวดวงวิชาการประวัติศาสตร์ไทย ไม่ว่าจะเป็น การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปากไก่และใบเรือ: ว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์-วรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์

          ในห้วงเวลาของการรำลึกถึง หนังสือเล่มที่ฉันนึกถึงและเลือกหยิบขึ้นมาอ่านอีกครั้งก็คือ ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม รัฐ และรูปการณ์จิตสำนึก หนังสือเล่มบางๆ ที่มาจากการรวมบทความวิเคราะห์วิพากษ์ประวัติศาสตร์ สำนึกความเป็นชาติในรัฐไทย และวัฒนธรรมไทยหลากมิติของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเคยตีพิมพ์ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2520 ไปจนถึงกลางทศวรรษ 2530 

          ไม่ใช่แค่เพราะมันบางหรืออ่านง่าย หรือเพราะมันเพิ่งได้รับการพิมพ์ซ้ำครั้งใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา สาเหตุที่ทำให้ฉันเลือกหยิบมันขึ้นมาอ่านอีกครั้งมีอีกหลายประการด้วยกัน

          อย่างแรกคือจากความทรงจำของฉัน ‘ชาติ’ เป็นหัวข้อหนึ่งที่นิธิกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในงานเขียนและงานศึกษาตลอดชีวิตของเขา อย่างถัดมาคือสำหรับตัวฉันเองในฐานะคนอ่าน ชุดบทความในหนังสือเล่มนี้เป็นงานที่เสนอประเด็นสำคัญต่อประวัติศาสตร์-สังคมไทยได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง พร้อมกันกับที่มันทำหน้าที่สะท้อนตัวตนของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเป็นผู้เขียนได้ดีไม่แพ้กัน…

ชาติแบบไหนที่เราจะรัก

          “ไม่มีวัฒนธรรมใดที่เราหมายรู้ได้จริงเลยเพราะวัฒนธรรมย่อมอยู่ในสภาวะที่เป็นอนิจจังเสมอทันทีที่เราอธิบายลักษณะวัฒนธรรมไทยเสร็จวัฒนธรรมไทยก็เปลี่ยนไปจากลักษณะที่เราบรรยายเสียแล้ว”(น. 6)

          ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ฯ เริ่มต้นด้วยบทความขนาดสั้น ชื่อ ‘วัฒนธรรมคือระบบความสัมพันธ์’ ที่ปูพื้นฐานแนวคิดว่าด้วยวัฒนธรรมในฐานะความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันและมนุษย์กับสิ่งใดก็ตามที่รายล้อมอยู่ ซึ่งมีพลังอย่างยิ่งในการกำหนดชีวิตของเรา โดยที่ความสัมพันธ์นั้นย่อมผันแปร เปลี่ยนรูปไปเมื่อสิ่งใดก็ตามในความสัมพันธ์นั้นเปลี่ยนแปลงไป อาจพูดได้ว่าบทความนี้ทำหน้าที่เกริ่นนำและเขย่าเราเบาๆ เพื่อให้ได้เตรียมพร้อมที่จะมองเข้าไปในวัฒนธรรมไทยๆ หลากรูป โดยเฉพาะความเป็น ‘ชาติไทย’ ที่จะถูกกล่าวถึงในบทความอื่นๆ ตลอดเล่ม โดยไม่หลงลืมว่ามันเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสร้างอันเป็นอนิจจัง ไม่เคยเที่ยงแท้แม้แต่น้อย

          บทความ ‘คติที่เกี่ยวกับรัฐของประชาชนไทยจากวรรณกรรมปักษ์ใต้’ พาเราไปสำรวจความรับรู้ต่อความเป็น ‘รัฐ’ ที่ต่างกันสุดขั้ว ระหว่างรัฐใน ‘วัฒนธรรมหลวง’ อันเป็นชุดความคิดและวัฒนธรรมที่ส่งต่อจากส่วนกลาง กับรัฐใน ‘วัฒนธรรมราษฎร์’ หรือคติชาวบ้านที่แฝงฝังอยู่ในนิทาน ตำนาน เพลงร้องเล่นในชุมชน ซึ่งอยู่ในความสัมพันธ์แนวระนาบ ไม่ ‘แบ่งต่ำ-แบ่งสูง’ และไม่ลงรอยอย่างยิ่งกับความพยายามของรัฐที่ปรากฏในบทความ ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย’ 

          ส่วนบทความ ‘ชาติไทยและเมืองไทยในแบบเรียนประถมศึกษา’ ก็พาเราลัดเลาะเข้าไปสำรวจถ้อยความในแบบเรียนที่มีส่วนอย่างสำคัญในการปลูกฝังคอนเซปต์ความเป็น ‘ชาติ’ ไปจนถึงความดี ความงาม คุณลักษณะอันพึงมีในฐานะ ‘คนของชาติ’ ไปจนถึง ‘ศัตรูและปัญหาของชาติ’ ซึ่งทั้งบิดเบี้ยวย้อนแย้ง ปราศจากการตรวจสอบตนเอง และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ขณะที่บทความที่ฉันชอบที่สุดในเล่มนี้อย่าง ‘ชาตินิยมในขบวนการประชาธิปไตย’ นั้น นำเสนอนิยามอันแตกต่างซับซ้อนของ ‘ชาติ’ ในขบวนการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา ที่ล้วนเปล่งคำว่าชาติออกมาด้วยน้ำเสียงจากหัวใจ แต่ด้วยความหมายที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

          ชาติหลากมิติหลายนิยามที่ปรากฏขึ้นในหลากบริบทของหนังสือเล่มนี้ไม่เพียงตอกย้ำความซับซ้อนของความสัมพันธ์และวัฒนธรรม รวมไปถึงผู้คนซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมเหล่านั้น แต่ยังมอบคำถามสำคัญไว้ในใจฉัน นั่นคือสำหรับตัวเราเองแล้ว ชาติมีหน้าตาเป็นแบบไหน ชาติแบบใดที่ฉันวาดฝันไว้และอยากจะถนอมรักษา ชาติแบบที่ว่านั้นหลงลืมความซับซ้อนหรือรายละเอียดสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่ฉันไม่เห็นหน้าและไม่เคยรู้จักอยู่หรือไม่ และหากคำตอบคือใช่ เราจะสามารถทุบทำลายแล้วสร้างมันขึ้นมาใหม่อีกครั้งได้หรือเปล่า…

ด้วยรักและคิดถึง ความทรงจำ ชาติไทย และนิธิ เอียวศรีวงศ์

ประวัติศาสตร์ในเนื้อตัวร่างกาย

          ธงชัย วินิจจะกูล ได้กล่าวเอาไว้ในบทนำเสนอฉบับพิมพ์ครั้งแรกของหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า “นิธินั้นเป็นนักสังเกตการณ์และนักรบวัฒนธรรม” (น. [11]) ผู้พยายามอย่างยิ่งและมีส่วนอย่างมากในการปลุกใจให้เราตื่นตัวทางวัฒนธรรม สำหรับฉันแล้ว ความเป็น ‘นักสังเกตการณ์’ ผู้สมัครใจและสนุกสนานกับทุกสนามวัฒนธรรมของเขานั้นนำมาซึ่งหัวใจสำคัญของทุกบทความในหนังสือเล่มนี้ นั่นคือการกระโดดลงไปศึกษาและวิเคราะห์วิพากษ์ชาติไทย-วัฒนธรรมไทย ผ่านตัวกลางหลายแบบ-หลากรูป ทั้งแบบเรียน วรรณกรรม ตำนาน คำบอกเล่าถึงอารมณ์ความรู้สึก ตัวบทกฎหมาย ไปจนถึงอนุสาวรีย์ 

          “รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์และรัฐชาติเท่านั้นที่สร้างอดีตขึ้นเป็นประวัติศาสตร์แล้วพยายามให้ทุกคนในรัฐยึดถือประวัติศาสตร์อันนั้นว่าเป็นอดีตร่วมกันของทุกคนทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งนั้นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์และรัฐชาติเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ก็เพราะสร้างพล็อตของอดีตขึ้นเป็นประวัติศาสตร์

          วิธีการที่รัฐจะทำให้คนยึดถือประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นได้ก็อาศัยระบบการศึกษามวลชนการสื่อสารมวลชนและอนุสาวรีย์” (น. 79)

          ขณะที่ในชีวิตนักเรียนวรรณกรรมของฉัน ไม่ต่ำกว่า 4-5 ครั้งต้องเคยได้ยินคำพูดทำนองว่า งานวรรณกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์สร้างชั่วยุคหนึ่งสมัยหนึ่งนั้นไม่เป็นประวัติศาสตร์ ไม่ใช่หลักฐานชั้นต้นที่เชื่อถือได้ หรือไม่อาจเป็นอะไรมากกว่าการคิดจินตนาการเติมต่อจากเรื่องแต่ง งานศึกษาของนิธิแทบทุกชิ้น โดยเฉพาะบทความในหนังสือเล่มนี้กลับพยายามยืนยันซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าประวัติศาสตร์นั้นสร้างขึ้นและดำเนินไปในเนื้อตัวร่างกาย ในวิถีชีวิต ในวัฒนธรรม ในความบันเทิง และในทุกแง่มุมของชีวิตมนุษย์ ทั้งยังแสดงให้เห็นด้วยว่าสิ่งละอันพันละน้อยอย่างแบบเรียน นิทาน ตำนาน นั้นบอกเล่าความเป็นมาและความเป็นไปของสำนึกความเป็นชาติอันมั่นคงแข็งแรง ‘อย่างเป็นประวัติศาสตร์’ ได้อย่างไร รวมไปถึงเหตุใดอนุสาวรีย์ที่ไม่มีชีวิตจิตใจจึงกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วงชิงนิยามระหว่างมวลชนกับรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์อย่างในบทความ ‘สงครามอนุสาวรีย์กับรัฐไทย’ ได้ เช่นเดียวกันกับที่บทความ ‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย’ สร้างข้อเสนอสำคัญเรื่องใหม่ต่อวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆ ที่เป็นคำตอบว่าเหตุใด “รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์” จึงไม่อาจสามารถนำทางรัฐไทยสู่ประชาธิปไตยได้ตรงตามตัวอักษร ก่อนจะย้ำเตือนว่าเรื่องปกติชินตาที่พบเห็นกันตลอดมาเหล่านั้น แท้จริงแล้ว ‘ไม่ปกติ’ และน่าระแวดระวังอย่างไร

          ในยุคปัจจุบันที่ความรู้ข้ามศาสตร์ข้ามสายข้ามพรมแดนถึงกันได้อย่างไร้ขอบเขต พร้อมกันกับที่สังคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วัฒนธรรมแบบไทยๆ และมิติอันหลากหลายของความเป็นชาติอาจไม่ใช่ประเด็นแปลกใหม่แล้ว สำหรับฉัน หนังสือเล่มนี้ยังคงเป็นความทรงจำแรกและตัวอย่างอันแสนสำคัญของการไม่หลงลืมที่จะสังเกตสังกาลงไปในอณูเล็กๆ ของชีวิตและความเคยชินในชีวิตประจำวัน ความรู้-ความคิดหลากชุดของคนหลากกลุ่มก้อน สอดส่องปัจจุบันและ ‘ความปกติ’ ว่ามีอะไรซุกซ่อนอยู่หรือไม่ โดยไม่ละเลยคุณค่าความหมายของทุกสิ่งรอบตัวที่ล้วนเป็นจิกซอว์สำคัญของคำใหญ่ๆ อย่างวัฒนธรรม ไม่ดูหมิ่นถิ่นแคลนว่าเป็น ‘ของแค่นั้น’ ที่ไม่ต้องพยายามเข้าไปครุ่นคิดทำความเข้าใจหรือเปลี่ยนแปลงอะไร

ด้วยรักและคิดถึง ความทรงจำ ชาติไทย และนิธิ เอียวศรีวงศ์

จงระวังระไวและตั้งคำถาม

          นิธิ เอียวศรีวงศ์ มีภาพจำหลากหลายในใจของคนที่เคยได้รู้จัก ทั้งในฐานะนักคิดที่แหลมคม นักเขียนมือฉมัง นักประวัติศาสตร์ฝีมือดี นักวิจารณ์สังคมที่อยู่เคียงข้างประชาชน ส่วนในภาพจำของฉัน นิธิ เอียวศรีวงศ์ คืออาจารย์นิธิที่เดินร่วมทางไปกับผู้คนที่ต่อสู้เพื่อ ‘ชาติ’ แบบใหม่ผ่านทางตัวอักษรในงานเขียน และเดินจริงๆ ด้วยสองเท้าไปยืนอยู่ข้างถนนกับเยาวชนและคนอีกมากมายในกิจกรรมยืนหยุดขัง รวมถึงกิจกรรมแสดงออกมากมายเพื่อส่ง ‘เสียง’ ของผู้คนอย่างไม่ยี่หระต่อวันวัยและปลายทางที่ยาวไกลของการต่อสู้ และนั่นน่าจะเป็นภาพฉายตัวตนของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ชัดเจนที่สุดแล้ว เช่นเดียวกันกับที่สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนเอาไว้ในบทความ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักปราชญ์เจ๊กๆ’ ว่า

        “อาจารย์นิธิไม่ใช่ ‘อาจารย์แสวงหาศิษย์’ แต่มีผู้สมัครเป็นศิษย์ทุกรุ่นทุกเพศและทุกวัยปกติแล้วจะไม่ชอบปรากฏตัวถ้าปรากฏตัวก็หมายถึง ‘งาน’ เพื่อชุมชนคนเล็กๆที่ถูกรังแก

         “ผลงานของอาจารย์ในระยะหลังๆจึงเต็มไปด้วยพลังของการต่อสู้เพื่อชุมชนคนเล็กๆวิชาการของอาจารย์นิธิไม่ได้เป็นไปเพื่อสนองคนชั้นบนแต่เพื่อคนชั้นล่างของสังคม”

          และหากงานเขียนจะฉายแทนตัวตนของคนเขียนออกมาได้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากหนังสือเล่มนี้คงเป็นทั้งคนช่างสังเกตและคนที่รักจะตั้งคำถามไม่รู้เบื่อในสนามวัฒนธรรม เป็นเพื่อนผู้มักชี้ชวนให้เราตั้งคำถามและระวังระไวสงสัยไปด้วยกันเสมอในเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ใต้ร่มวัฒนธรรม โดยตัวนิธิเองก็เป็นหนึ่งในคำถามเหล่านั้นอย่างไม่มีข้อยกเว้นและด้วยความยินดี 

          ดังที่ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวเอาไว้ว่า “นิธิเองก็เป็นผู้ทำให้วาทกรรมและความรู้ต่อหลายสิ่งหลายอย่างจากมุมมองของอดีตและวัฒนธรรมของไทยเองเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา” (น. [24]) งานของนิธิเองจึงกลายเป็นจุดตั้งต้นของงานวิพากษ์วิจารณ์ และความคิด-ข้อเสนอใหม่ๆ ที่แตกกอต่อยอดจากทั้งความเห็นคล้ายและความเห็นต่างสุดขั้ว เช่นเดียวกับบทวิเคราะห์วิพากษ์อันแหลมคมของธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งทำหน้าที่เสมือนคำนำเสนอของหนังสือเล่มนี้ และตั้งคำถามต่อจุดอ่อน-จุดสังเกตต่อแนวคิดในบทความแต่ละชิ้นของนิธิไปด้วยในคราวเดียวกัน พ้นจากหนังสือเล่มนี้ไปก็จะพบงานวิชาการอันเยี่ยมยอดจากนักวิชาการคนอื่นๆ อีกมากมายที่ตั้งต้นจากเชื้อไฟของความสงสัยใคร่รู้และการหาคำตอบบนคำถามและพื้นที่ถกเถียงที่งานเขียนของนิธิ เอียวศรีวงศ์ สร้างเอาไว้

          วัฒนธรรมไทยเป็นแบบไหน เราจะจดจำประวัติศาสตร์และชาติของเราอย่างไร สิ่งนี้ยังคงเป็นคำถามไร้คำตอบที่จริงแท้ที่สุดและไม่ควรหยุดถาม

          เมื่อฉันอ่านหนังสือเล่มนี้จบอีกครั้ง ในความคำนึงถึงสิ่งที่นิธิเพียรย้ำในงานเขียนชิ้นแล้วชิ้นเล่าตลอดช่วงชีวิตของเขา เรื่องที่ฉันแน่ใจคือคำถามที่ว่าภาพจำของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ในใจเราเป็นแบบไหน ย่อมไม่สำคัญเท่ากับว่าภาพจำและการจดจำนั้นจะนำเราไปสู่สิ่งใด… 

          และสิ่งนั้นสำหรับฉันคือการไม่ลืมว่าการวิพากษ์วิจารณ์และการแสวงหาความรู้ใหม่ในความรู้เดิมนั้นเกิดได้เสมอ ไร้ที่สิ้นสุด และย่อมดำเนินต่อได้เรื่อยไปเมื่อเชื้อไฟนั้นถูกจุดขึ้นแล้วครั้งหนึ่งจากการอ่านหนังสือเล่มนี้แม้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ จะจากไปแล้ว สิ่งที่ยังดำรงอยู่เสมอคือข้อคิดที่ว่า มนุษย์สามารถขัดเกลาหัวจิตหัวใจและเห็นคุณค่าของการตั้งคำถามในประวัติศาสตร์ได้อย่างไม่มีวันจบสิ้น สิ่งละอันพันละน้อยในสังคมเรา อย่างแบบเรียน รูปเคารพ หรือสิ่งที่มองไม่เห็นแต่สำคัญเช่นวัฒนธรรม นี่ต่างหาก ที่จะนิยามและตัดแต่งความเป็นมนุษย์ในตัวเราให้ดีขึ้นได้ 

          อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากไปแล้ว แต่น้ำใจของมนุษย์คนหนึ่งที่ต่อสู้ผ่านงานเขียนและความรู้มหาศาลเพื่อคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมยังไม่จากไป ไม่มีวันจากไป เหนือความรู้ เหนือประวัติศาสตร์ เหนือข้อเสนอทางวิชาการ คือความรักที่ถูกถ่ายทอดผ่านหนังสือและผลงาน ช่วยดึงมือคนที่ถูกผลักให้ล้มขึ้นมาสู้ด้วยพลังของความรู้ที่จะรัก

ด้วยรักและคิดถึง ความทรงจำ ชาติไทย และนิธิ เอียวศรีวงศ์
Photo: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก