ปัจจุบัน การศึกษาและการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในห้องเรียนและบนโลกออนไลน์ แอปพลิเคชันวิดีโอแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงอย่าง TikTok จึงถูกนำมาประยุกต์เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้และเชื่อมสัมพันธ์กับผู้เรียน
ลักษณะเด่นของ TikTok คือเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่ผู้ใช้สามารถสร้างวิดีโอความยาวตั้งแต่ 15 วินาทีจนถึงสูงสุดไม่เกิน 3 นาที ได้อย่างง่ายๆ และยังสอดแทรกเพลงประกอบ ฟิลเตอร์ หรือเอฟเฟกต์ต่างๆ เข้าไปได้ เมื่อความบันเทิงมาผนวกกับการศึกษา จึงสร้างปรากฏการณ์ด้วยยอดวิวมหาศาล อาทิ #learnonTikTok มียอดวิว 7.72 หมื่นล้านวิว #TeachersOfTikTok มียอดวิว 7.6 พันล้านวิว ส่วน TikTok การศึกษาและการเรียนรู้สัญชาติไทยอย่าง #TikTokUni ก็มียอดวิวสูงถึงกว่า 2 หมื่นล้านวิว
จุดเด่นที่ทำให้ TikTok สามารถนำมาประยุกต์เป็นเครื่องมือหรือสื่อสารสอนทางด้านการศึกษาได้เป็นอย่างดี มีอย่างน้อย 3 ประการ
สร้างบทเรียนที่ย่อยง่าย สามารถตั้งคำถามกระตุ้นให้นักเรียนขบคิด นำไปต่อยอดหรือค้นคว้าต่อในแหล่งข้อมูลอื่น ในกรณีนี้ ผู้สอนอาจนำวิดีโอบทเรียนต่างๆ มาสร้างเป็นลิสต์รายการ แล้วแบ่งตามหมวดวิชาหรือหัวข้อ เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าถึงความรู้ที่ต้องการได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ผู้สอนควรกำหนดประเด็นให้ชัดเจน เล่าเนื้อหาอย่างกระชับ เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์การเรียนรู้แบบทีละเล็กละน้อย (Micro-Learning) ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้เรียนเจน Z ลงมาจนถึงเด็กประถม
ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น วินนี สโลน ครูสอนวิทยาศาสตร์ สร้างบทเรียนบน TikTok เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจแนวคิดหลัก ถ่ายทอดข้อมูลด้วยน้ำเสียงอย่างเป็นมิตรโดยไม่ต้องปรุงแต่ง และใช้แอป Google Docs ในการรวบรวมวิดีโอทุกตอน แล้วแบ่งเป็นหมวดหมู่ ทำให้นักเรียนเข้าถึงบทเรียนต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
กระตุ้นการมีส่วนร่วมและเพิ่มสีสันในการเรียนรู้ เช่น มอบโจทย์ให้นักเรียนทำรายงานเดี่ยวหรือกลุ่ม แต่เปลี่ยนจากการนำเสนอหน้าชั้นเรียนเป็นการนำเสนอผ่านวิดีโอสั้นบน TikTok ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ นำความรู้ที่ได้จากในชั้นเรียนมาตกผลึกและถ่ายทอดในแบบฉบับของตัวเอง ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันแบบเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer-to-Peer Learning) การมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์เนื้อหา การแบ่งหน้าที่ในการถ่ายทำ หรือการแสดงบทบาทสมมติ ทำให้นักเรียนสนุกกับการเรียนรู้และซึมซับเนื้อหาได้ดีขึ้น
กรณีตัวอย่าง เช่น แม็ต เฮด ครูประถมในรัฐโอเรกอน ประสบปัญหากับการสอนทางไกลในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เขาพบว่าเด็กนักเรียนเบื่อหน่ายและไม่ค่อยเข้าห้องเรียนออนไลน์ แม็ตจึงคิดหาวิธีกระตุ้นความสนใจของเด็กๆ โดยเริ่มใช้ TikTok โพสต์วิดีโอกิจกรรมบริหารสมอง มีการทำชาเลนจ์ชวนนักเรียนให้มาร่วมสนุก จนบัญชีของเขามียอดผู้ติดตามกว่า 2 แสนคน
เชื่อมความสัมพันธ์ครูกับนักเรียน การที่ผู้ใหญ่หรือครูพยายามใช้แพลตฟอร์มของวัยรุ่น คือการแสดงออกว่าพวกเขาพร้อมเปิดใจเรียนรู้ ปรับตัวให้เข้ากับผู้เรียน ดังตัวอย่างของ เจเรมี ริงเคล ครูมัธยมในรัฐอิลลินอยส์ เคยมีปัญหาความสัมพันธ์กับนักเรียน เขาพบว่าเด็กๆ ชอบพูดถึง TikTok จึงลองโพสต์วิดีโอเล่าเรื่องตัวเองเพื่อดูปฏิกิริยาของนักเรียน ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดี เด็กๆ กระตือรือร้นอยากรู้จักตัวตนของเขามากขึ้น จนเขาสามารถสื่อสารกับเด็กนักเรียนได้ดีขึ้นในที่สุด
ส่วน คลอดีน เจมส์ ครูมัธยมวัย 54 ปี ยอมเปิดบัญชี TikTok และขอให้เด็กๆ ช่วยสอนวิธีใช้ เพียงสัปดาห์แรกช่อง MsJames ที่เธอใช้สอนวิชาไวยากรณ์และการเขียน ก็มีผู้ติดตามถึง 1 หมื่นคน และก้าวสู่หลักล้านภายในเวลาไม่ถึงครึ่งปี เธอบอกว่าตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมด และเธอพยายามปรับตัว เข้าถึงเด็กนักเรียนด้วยการลองใช้แอปที่พวกเขาชื่นชอบ
การใช้ TikTok เป็นสื่อการสอน มีข้อควรระวังอยู่บ้างเช่นกัน อาทิ สมาธิของผู้เรียน ปัญหาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ รวมถึงภัยมืดที่แฝงมากับอินเทอร์เน็ต ผู้สอนที่จะนำ TikTok ไปปรับใช้ในการเรียนการสอน ควรคำนึงถึงผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นและเตรียมวิธีป้องกันปัญหาล่วงหน้า อาทิ
ให้คำปรึกษาแนะนำ รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต ปิดโหมด Duet เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ จำกัดการแชร์ หรือการนำคอนเทนต์ไปใช้แบบผิดวัตถุประสงค์ คอยกลั่นกรองความคิดเห็นที่ปรากฏในช่องของตัวเอง ไม่ให้มีความคิดเห็นเชิงลบ บล็อกผู้ก่อกวนทั้งหลายที่มีเจตนาปั่นป่วนหรือทำลายบรรยากาศ คำนึงถึงความสมัครใจของเด็กนักเรียน ไม่ควรบังคับให้ผู้เรียนใช้ TikTok แต่นำเสนอเป็นทางเลือก และคอยสังเกตด้วยว่า ในระหว่างการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มนี้ เด็กๆ มีสมาธิหรือไม่
คลิปวิดีโอ Winnie Sloan สอนเรื่อง DNA และ RNA
คลิปวิดีโอ Matt Head ชวนทำชาเลนจ์กิจกรรมบริหารสมอง
คลิปวิดีโอ Claudine James สอนไวยากรณ์อังกฤษเบื้องต้น
ที่มา
บทความ “TikTok: Powerful Teaching Tool or Classroom Management Nightmare?” จาก edweek.org (Online)
บทความ “9 TikTokers with Amazing Educational Content” จาก digitalinformationworld.com (Online)
บทความ “TikTok & Education: How TikTok Is Transforming Education For Gen Z” จาก fanbytes.co.uk (Online)
บทความ “How can TikTok Be Used in the Classroom?” จาก techlearning.com (Online)
บทความ “From Headache to Helpful—Teachers on Using TikTok in the Classroom” จาก edutopia.org (Online)