การเขียนโค้ดหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์กำลังจะเป็นทักษะพื้นฐานที่ใครๆ ต่างก็นำมาใช้เพื่อการริเริ่มและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เปรียบเป็น ‘การรู้หนังสือด้านที่ 4’ นอกเหนือไปจากทักษะการอ่าน การเขียน และการคิดคำนวณ เด็กที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในสิ่งแวดล้อมแบบดิจิทัล หรือ Digital Native จะมีศักยภาพเรียนรู้ทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ตั้งแต่อายุประมาณ 7 ขวบ โค้ดดิ้งจึงกลายเป็นความรู้สามัญที่โรงเรียนทั้งโลกต้องปรับตัวและเพิ่มการเรียนรู้ประเภทนี้เข้าไว้ในระบบการเรียนการสอน หลายประเทศตื่นตัวตอบรับความเปลี่ยนแปลงและบรรจุวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ไว้ในหลักสูตรตั้งแต่ระดับประถม ในขณะที่การเรียนรู้นอกระบบโรงเรียนต่อเรื่องการเขียนโค้ดก้าวไปไกลกว่าอย่างนึกไม่ถึง ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ รวมไปถึงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือโค้ดดิ้ง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องของการบ่มเพาะอาชีพในสายงานดิจิทัลเสมอไป เด็กบางคนอาจเติบโตไปค้นพบตนเองและประกอบอาชีพอื่นที่หลากหลาย แต่ในกระบวนการเรียนรู้เรื่องโค้ดดิ้งนั้น พวกเขาได้รับส่งเสริมปลูกฝังทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ไขปัญหา การแบ่งปันความรู้และทำงานร่วมกับผู้อื่น มีสำนึกทางสังคม มีความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม และมีวิจารณญาณในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม สิ่งนี้ต่างหากคือแก่นแท้ซึ่งซ่อนอยู่เบื้องหลัง การเขียนโค้ด