READATHON แคมเปญอ่านมาราธอน สร้างเสริมหนอนหนังสือ

1,202 views
January 20, 2021

          เมื่อพูดถึงคำว่า ‘มาราธอน’ คนส่วนใหญ่คงนึกถึงกิจกรรมต่างๆ เช่น การวิ่งมาราธอน กินมาราธอน ดูหนังมาราธอน ขณะที่ในแวดวงหนังสือเองก็มี Readathon หรือ ‘การอ่านมาราธอน’ ด้วยเช่นกัน โดยมีแคมเปญใหญ่อย่าง 200 Million Minutes Reading Challenge ที่ตั้งเป้าสุดทะเยอทะยานด้วยการรณรงค์ให้เด็กๆ ทั่วโลกได้ทำสถิติอ่านหนังสือร่วมกันให้ถึง 200 ล้านนาที

นิยามของ Readathon

          อันที่จริง ความหมายตรงตัวของ Readathon นั้นคือ การจัดกิจกรรมอ่านหนังสือเพื่อระดมทุนสำหรับการกุศล เป็นการสมาสคำระหว่าง ‘read’ กับ ‘athon’ ซึ่งคำลงท้าย –athon นี้เมื่อถูกนำไปต่อท้ายคำใดก็จะสื่อถึงกิจกรรมที่มีการระดมทุนเพื่อการกุศล หรือมีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง

          ดังนั้น Readathon จึงเป็นการจัดกิจกรรมการอ่านที่มี “กรอบเวลาจำกัด” และมี “การตั้งเป้าหมาย” โดยกุศโลบายของ Readathon ก็คือการส่งเสริมการอ่าน ซึ่งช่วยให้บุคคลสามารถอ่านหนังสือในช่วงเวลาหนึ่งได้มากกว่าปกติ ทั้งนี้ระยะเวลาและเป้าหมายของนักอ่านแต่ละคน หรือแต่ละกิจกรรมอาจแตกต่างกันไป

          ตัวอย่างเช่น ในระดับปัจเจกบุคคล ผู้อ่านชื่อ ‘เจน’ ตั้งเป้าว่าใน 1 เดือนเธอจะอ่านหนังสือให้ได้ 5 เล่ม จำนวนหน้า 1,000 หน้า เทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งใน TBR (ลิสต์หนังสือน่าอ่าน) ของเธอ หรือในระดับโรงเรียน มีโครงการชื่อ One Year, 2 Million Minutes Spent Reading ของโรงเรียนประถม Grand Valley Elementary ในรัฐโอไฮโอ ซึ่งได้มีการตั้งเป้าไว้ว่าในหนึ่งปีการศึกษา นักเรียนจะต้องอ่านหนังสือให้ได้ครบ 2 ล้านนาที

คินจาล ปาเรค booktuber ชาวอินเดีย ใช้เวลา 1 เดือนในช่วงเก็บตัวโควิด ร่วมกิจกรรม Asian Readathon อ่านหนังสือที่แต่งโดยนักเขียนชาวเอเชียหลายเชื้อชาติจำนวน 14 เล่ม

องค์ประกอบของ Readathon

          เมื่อนำเทคนิควิเคราะห์ 5W1H1 (What, Who, Where, When, Why, How) มาใช้ในการศึกษาภาพรวมของ Readathon เราสามารถจำแนกองค์ประกอบหลักได้ดังนี้

      What (อะไร?)

          Readathon คือกิจกรรมการอ่านมาราธอนที่ “มีการระดมทุน” หรือ “ไม่มีการระดมทุน”

      Who (ใคร?)

          ตัวละครหลักของ Readathon ได้แก่ “ผู้จัดกิจกรรม” และ “ผู้เข้าร่วมกิจกรรม”

          ผู้จัดกิจกรรม Readathon มีหลายระดับ ได้แก่

          – ระดับองค์กร เช่น มูลนิธิ หน่วยงานด้านการศึกษา

          – ระดับสถาบัน เช่น โรงเรียน ห้องสมุด

          – ภาคเอกชน เช่น ร้านหนังสือ ผู้จัดจำหน่ายหนังสือ

          – ปัจเจกและกลุ่มบุคคล เช่น นักอ่าน ชมรมวรรณกรรม ชุมชนนักอ่านออนไลน์

          ในส่วนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้น โดยทั่วไปกิจกรรม Readathon มักจะมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายหลักที่ชัดเจน อาทิ เด็กนักเรียนชั้นประถม หรือชุมชนนักอ่านออนไลน์ที่มีความสนใจร่วมกัน และสำหรับโครงการขนาดใหญ่ จะมีการพยายามดึงหลายๆ ภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อสร้างชุมชนการอ่านเข้มแข็ง และสร้าง

          โครงการให้มีความยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ในโครงการ Read for Good ของประเทศอังกฤษมีตัวแสดงมากมายที่เกี่ยวข้อง เช่น นักเรียน ผู้ปกครอง ครู บรรณารักษ์ ผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาล มูลนิธิต่างๆ นักเขียน นักวาดภาพประกอบ อาสาสมัคร และผู้ให้การสนับสนุน 

ส่วนหนึ่งในโครงการ Read for Good  มีการส่งอาสาสมัครนักเล่าเรื่องไปอ่านนิทานให้กับผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาล

       Where (ที่ไหน?)

          พื้นที่ในการจัดกิจกรรม Readathon มีความเป็นไปได้หลากหลาย

          – มีการจัดกิจกรรมบนพื้นที่เรียนรู้ เช่น โรงเรียน ห้องสมุด บ้าน หรือในสถานที่อื่นๆ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า พื้นที่ที่ขาดแคลน

          – มีทั้งกิจกรรมที่เกิดขึ้นใน “วงแคบ” และ “วงกว้าง” เช่น กิจกรรม Readathon ที่เกิดขึ้นเฉพาะในโรงเรียนหนึ่ง หรือในเขตการศึกษา หรือเป็นกิจกรรมใหญ่ระดับประเทศ

          – กิจกรรมอาจเกิดขึ้น ณ สถานที่หนึ่งๆ แบบ “เฉพาะเจาะจง” หรือมีการเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่างๆ แบบ “สัญจร/จรยุทธ์” ตัวอย่างเช่น การจัด Readathon ในห้องสมุดแห่งหนึ่ง กับการจัด Readathon แบบหมุนเวียนไปตามห้างสรรพสินค้า

          – มีทั้งกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์” ซึ่งในปัจจุบันมักจะมีการใช้พื้นที่คู่ขนานนี้ไปพร้อมๆ กัน แต่บางกิจกรรมจะเน้นการใช้พื้นที่ออฟไลน์เป็นหลัก และใช้พื้นที่ออนไลน์เป็นส่วนเสริม (เช่น กิจกรรม Readathon ในโรงเรียนประถม) ขณะที่บางกิจกรรมจะเน้นการใช้พื้นที่ออนไลน์มากกว่า (เช่น กิจกรรม Readathon ที่จัดโดยชุมชนนักอ่านออนไลน์ หรือ Booktuber)

ห้องสมุดสัญจร Pop-up library  ที่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Readathon ในประเทศแอฟริกาใต้
Photo Website northcliffmelvilletimes.co.za

       When (เมื่อไร?)

          กิจกรรม Readathon มักมีเงื่อนไขของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง

          – ทั้งในแง่ของการจัดกิจกรรมแบบ “ระยะสั้น” หรือ “ระยะยาว” โดยกิจกรรมอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 1 วัน ยาวไปจนถึง 1 ปี

          – และมีการกำหนดเวลาในการอ่านแต่ละครั้ง เช่น ผู้อ่านจะต้องอ่านหนังสือให้ได้วันละกี่นาที

          – ในแง่ของการดำเนินโครงการ มีทั้งโครงการที่จัดขึ้นแบบ “ชั่วคราว” หรือเป็นโครงการแบบ “ยั่งยืน”

          – มีการวางจังหวะเวลา (Timing) โดยการจัดกิจกรรม Readathon มักจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น เทศกาลหนังสือ สัปดาห์วรรณกรรม เพื่อเสริมแรงให้กิจกรรมมีกระแส มีความคึกคักยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่จะทำให้เกิดอุปสรรค เช่น ไม่ควรจัดกิจกรรม Readathon ซ้ำซ้อนกับผู้จัดเจ้าอื่น หรือไม่จัดกิจกรรมในช่วงสอบปลายภาค ซึ่งจะทำให้การอ่านหนังสือนอกเวลากลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับเด็กนักเรียน

       Why (ทำไม?)

          จุดประสงค์หลักของกิจกรรม Readathon ได้แก่การส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ เป้าหมายในเชิงรูปธรรม ได้แก่ การระดมทุนเพื่อนำรายได้ไปจัดซื้อหนังสือและสื่อการเรียนรู้ หรือสร้างห้องสมุด เป้าหมายในเชิงนามธรรม ได้แก่ การสร้างวินัยการอ่าน หรือสร้างชุมชนการอ่านเข้มแข็ง

          – ในกิจกรรมแบบระดมทุน มักจะนำรายได้ไปจัดซื้อหนังสือและสื่อการเรียนรู้ให้กับโรงเรียน ห้องสมุด เยาวชนผู้ด้อยโอกาส แต่ก็มีบางโครงการที่ระดมทุนเพื่อสาธารณกุศลอื่น ๆ เช่น โครงการ MS Readathon ในประเทศออสเตรเลีย ที่นำรายได้ส่วนหนึ่งไปใช้ในการจัดค่าย MS Family Camps เปิดโอกาสให้เด็กๆ ที่มีผู้ปกครองป่วยเป็นโรค Multiple sclerosis (MS) หรือ ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน

          – ในกิจกรรมที่ไม่มีการระดมทุน นอกจากการบริจาคหนังสือที่ตัวเองอ่านเสร็จแล้ว เป้าหมายอื่นๆ ได้แก่ การกระตุ้นการเรียนรู้ หรือการสร้างปฏิสัมพันธ์ในชุมชนนักอ่าน

       How (อย่างไร?)

เพื่อให้กิจกรรม Readathon ประสบความสำเร็จ ผู้จัดมักจะใช้กลยุทธ์ต่างๆ ได้แก่

          สร้างความท้าทาย ด้วยการตั้งเป้าหมายเชิงปริมาณ เช่น มีการตั้งเป้ายอดบริจาค (เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่?) หรือปริมาณการอ่าน (นานกี่ชั่วโมง? หรืออ่านหนังสือให้ได้กี่หน้า? กี่เล่ม?) ตัวอย่างเช่น สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนประถม Hightower ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐฯ ตั้งเป้าว่ากิจกรรม Readathon ในปี ค.ศ.2019 จะระดมทุนให้ได้ 10,000 ดอลลาร์ เพื่อนำไปใช้ในการจัดทัศนศึกษาและอื่นๆ นอกจากนี้มีการเพิ่มสีสันด้วยการสร้างข้อตกลงว่า ถ้าระดมทุนได้ถึง 10,000 ดอลลาร์ รองครูใหญ่จะแต่งชุดแฟนซี 1 วัน และถ้าระดมทุนได้ถึง 15,000 ดอลลาร์ ครูใหญ่จะสวมหมวกเชฟและเสิร์ฟอาหารเที่ยงให้เด็กๆ ทุกคน

          ใช้เครื่องมือ / ตัวช่วย เพื่อให้ขั้นตอนการปฏิบัติงานดำเนินไปอย่างราบรื่น ได้แก่

          – เครื่องมือแนะแนว เช่น โครงการ Read for Good มีชุด Free Kit ให้ครูใช้ในการเริ่มต้นกิจกรรมในห้องเรียน มีอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ดีวีดี โปสเตอร์ บัตรสปอนเซอร์ และที่คั่นหนังสือ
          – เครื่องมือจับเวลา เช่น นาฬิกา
          – เครื่องมือบันทึกผล เช่น ตารางบันทึกการอ่าน

เครื่องมือแนะแนว ชุด Free Kit ของโครงการ Read For Good

          สร้างแรงจูงใจ เช่น มีการให้รางวัล มีการแข่งขัน หรือมีการกำหนดโจทย์หรือวาระในการอ่าน เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วม และทำให้กิจกรรมมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

          – มีการให้รางวัล เช่น เด็กที่อ่านหนังสือครบตามจำนวนชั่วโมงที่กำหนดจะได้นิทานเป็นรางวัล หรือโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับบัตรวอยเชอร์แลกซื้อหนังสือใหม่ๆ เข้าห้องสมุด

          – มีการแข่งขัน เช่น ในกิจกรรม A TOURNAMENT OF BOOKS ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐเคนทักกี ประเทศสหรัฐฯ มีการจัดทัวร์นาเมนต์เพื่อหาหนังสือเล่มที่นักเรียนชื่นชอบที่สุด ซึ่งเด็กๆ จะได้ร่วมสนุกในการโหวตหนังสือ นอกจากนี้ ครูผู้สอนยังได้เชื่อมโยงกิจกรรม Readathon เข้ากับกีฬาบาสเก็ตบอลที่เด็กๆ ชื่นชอบเพื่อเพิ่มสีสัน

          – มีการกำหนดโจทย์หรือวาระในการอ่าน เช่น ชมรมนักอ่านหญิงออนไลน์ในประเทศอังกฤษจัดกิจกรรม Gilmore Girls Readathon นำซีรี่ส์แนวดราม่าที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของแม่กับลูกสาว มาตั้งโจทย์ให้สมาชิกชมรมเลือกอ่านหนังสือที่มีความเชื่อมโยงในประเด็นบางอย่าง เช่น อ่านวรรณกรรมเล่มใดก็ได้ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ของแม่กับลูกสาว เป็นต้น 

Booktuber ชาวอเมริกา Darling Desi ในระหว่างเข้าร่วมกิจกรรม Gilmore Girls Readathon

การระดมทุนของ Readathon 2

          โดยหลักแล้วการระดมทุนที่เกิดขึ้นในกิจกรรม Readathon จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) ผู้จัดเป็นคนจัดการเอง หรือ 2) ตัวแทน/แพลตฟอร์มจัดการให้ และเพื่อความโปร่งใสผู้จัดจึงนิยมเปิดรับบริจาคผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันมีแพลตฟอร์มต่างๆ หรือเว็บคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง เช่น Read-A-Thon หรือเว็บคราวด์ฟันดิงอื่นๆ เช่น Justgiving และ เทใจดอทคอม

          ในการระดมทุนของมูลนิธิที่ดำเนินโครงการแบบยั่งยืน เช่น Read for Good ของประเทศอังกฤษ หรือ READ ของประเทศแอฟริกาใต้ มักจะมีการสร้างเครือข่ายการบริจาคกับมูลนิธิต่างๆ ในขณะที่โครงการขนาดเล็ก หรือโครงการในโรงเรียน3 มักจะมีการสร้างข้อผูกมัดหรือสัญญา (Pledges) ระหว่าง “เด็กนักเรียน” กับ “ญาติผู้ใหญ่” ว่าจะมีการจ่ายเงินอุดหนุนตามปริมาณการอ่าน เช่น ตามจำนวนหน้าหนังสือ / จำนวนบทที่ได้อ่าน / จำนวนเวลาที่ได้อ่าน (นาที, ชั่วโมง) 

          ในการระดมทุน Readathon จะมีการตั้งเป้าเป็นตัวเลขกลมๆ ทั้ง “เป้าหมายใหญ่” และ “เป้าหมายย่อย”

          เป้าหมายใหญ่ เช่น ตัวโครงการตั้งเป้าว่าจะระดมทุนให้ได้เท่าไหร่ (เช่น 100,000 บาท)

          เป้าหมายย่อย เช่น ในทุกการอ่านของเด็กนักเรียนที่เวลาเท่านี้ (นาที/ชั่วโมง) ญาติผู้ใหญ่จะต้องบริจาคเงินให้เท่านี้ (บาท)

          ผู้จัดจะต้องมีการออกแบบแพ็คเกจราคา หรือมีการกำหนดอัตราเงินบริจาคที่ชัดเจน เช่น

          – กรณีของโรงเรียนเบอโรห์ส (Burroughs) ในประเทศสหรัฐฯ4 มีการกำหนดตัวเลขว่าสปอนเซอร์จะจ่ายเงินให้เด็กนักเรียน 5 เซ็นต์ต่อการอ่าน 1 นาที และมีการตั้งเป้าว่าเด็กหนึ่งคนจะอ่านให้ได้วันละ 30 นาที ในระยะเวลา 28 วัน (840 นาที x 0.05 ดอลลาร์) เท่ากับว่า เมื่อจบแคมเปญนี้แล้วสปอนเซอร์จะบริจาคเงินเข้าโรงเรียนเบอโรห์ส รายละ 42.00 ดอลลาร์

          – กรณีของแพลตฟอร์ม Read-A-Thon5 มีการกำหนดอัตราการบริจาคที่ชัดเจน ได้แก่ $25, $50, $100, $250, $500 นอกจากนี้ผู้บริจาคสามารถระบุได้ว่าจะบริจาคให้กับใคร เช่น บริจาคให้นักอ่านเป็นรายบุคคล หรือบริจาคในนามองค์กรธุรกิจ (อัตรา $250 – $1,000) หรือบริจาคให้กับกลุ่มนักอ่าน (อัตรา $25 – $75)

         – กรณีของ Read for Good6 มีการออกแบบแพ็คเกจบริจาคแบบ “ยิ่งให้มาก ยิ่งได้มาก” เช่น ถ้าบริจาค 7 ปอนด์ จะซื้อหนังสือให้เด็กที่ต้องการได้ 1 เล่ม บริจาค 20 ปอนด์ จะมีการจัดอาสาไปอ่านนิทานให้แก่เด็กที่ป่วยหนักในโรงพยาบาล และบริจาค 50 ปอนด์ จะมีการจัดส่งชุดส่งเสริมการอ่านให้กับโรงเรียน 1 แห่ง

ประโยชน์ที่ได้รับจากกิจกรรม Readathon 7

          ผลกระทบ (Impact) จากกิจกรรม Readathon ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม ดังนี้

          การกระจายทรัพยากรการเรียนรู้ การระดมทุนของกิจกรรม Readathon นำไปสู่การมอบหนังสือและสื่อการเรียนรู้ให้แก่เด็กทั่วไปและเด็กด้อยโอกาส หรือการสร้างห้องสมุดในพื้นที่ขาดแคลน ทำให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงหนังสือมากขึ้น

          กระตุ้นการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจในการอ่าน มีผลวิจัยยืนยันว่าเด็กที่เข้าร่วมโครงการ Readathon ในต่างประเทศ มีความสุขกับการอ่าน และใช้เวลาว่างกับการอ่านหนังสือมากขึ้น อ่านหนังสือหลากหลายขึ้น ใช้บริการห้องสมุดบ่อยขึ้น

          ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น โรงเรียนหลายแห่งที่ทำโครงการนี้ มีระดับผลการเรียน และทักษะการอ่านออกเขียนได้ของเด็กๆ ดีขึ้น

          สร้างชุมชนการอ่านเข็มแข็ง มีการระดมคนจากหลายภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม Readathon เช่น แวดวงการศึกษา (นักเรียน ครู บรรณารักษ์) สถาบันครอบครัว (พ่อแม่ ผู้ปกครอง ญาติผู้ใหญ่ บุตรหลาน) ภาครัฐ-ภาคเอกชน (ผู้สนับสนุนโครงการ) แวดวงหนังสือ (นักเขียน นักวาดภาพประกอบ สำนักพิมพ์) เป็นต้น


ตัวอย่างโครงการกิจกรรม Readathon ที่น่าสนใจ

โครงการสร้างห้องสมุด Bookathon smiles ahead

          วิสัยทัศน์: สนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมแห่งการอ่านขึ้นในสังคมของอินเดีย เพราะการอ่านคือรากฐานของความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนา

          ภารกิจ: สร้างห้องสมุดให้กับพื้นที่ขาดแคลน เช่น สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ชุมชนแออัด เรือนจำ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการอ่านได้มากขึ้น

          การดำเนินงาน: รับบริจาคหนังสือ และอุปกรณ์การศึกษาต่างๆ จากผู้บริจาคทั้งรายย่อย และภาคธุรกิจ เช่น สำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ

          ผู้สนับสนุนหลัก: โครงการขับเคลื่อนโดยความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจและองค์กรไม่แสวงหากำไรในเขต Technopark ซึ่งเป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการและศูนย์วิจัยด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของอินเดีย


โครงการส่งเสริมการอ่าน Susanne Brunner’s Book-A-Thon: 10 Books 10 Week

          วิสัยทัศน์: สร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอ่าน และมีประสบการณ์การอ่านที่สนุกสนาน

          ภารกิจ: การเข้าถึงเด็กๆ เพื่อบอกถึงประโยชน์ของการอ่านให้มากที่สุด ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีเกี่ยวกับการอ่านหนังสือ ผ่านการเล่านิทาน

          การดำเนินงาน: ซูซาน บรันเนอร์ (ผู้ริเริ่มโครงการ เธอเป็นผู้ประกาศข่าวและนักแต่งนิทาน) จะเดินทางไปตามโรงเรียนประถมต่างๆ ในรัฐอาร์คันซอ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเล่านิทานที่เธอแต่งให้เด็กๆ ฟัง และมอบหมายภารกิจการผจญภัยในโลกแห่งการอ่าน ให้เด็กๆ อ่านหนังสือ 10 เล่ม ภายใน 10 สัปดาห์ เมื่อทำสำเร็จจะได้รับใบรับรอง

          ผู้สนับสนุนหลัก: ซูซาน บรันเนอร์ และสำนักข่าว KARK.com รวมทั้งโรงเรียนที่ให้ความร่วมมือในโครงการ

โครงการส่งเสริมการอ่าน Read for Good

          วิสัยทัศน์: ให้เด็กและเยาวชนในสหราชอาณาจักรได้รับโอกาสและแรงจูงใจในการพัฒนาความรักในการอ่านหนังสือ อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อชีวิต

          ภารกิจ: พัฒนาความรักในการอ่านหนังสือ และได้เรียนรู้การแบ่งปันผ่านการอ่าน ยิ่งอ่านมาก ยิ่งให้มาก ยิ่งได้มาก

          การดำเนินงาน: โครงการจะมอบชุดส่งเสริมการอ่านให้กับโรงเรียน โดยนักเรียนจะเลือกอ่านหนังสืออะไรก็ได้  เพื่อร่วมระดมทุน และเมื่อพวกเขาอ่านได้ตามเป้าหมาย โครงการจะส่งมอบหนังสือให้กับโรงพยาบาลเด็ก และโรงเรียนก็จะได้รับหนังสือฟรีเป็นรางวัล

          ผู้สนับสนุนหลัก: องค์กร Read for Good ภาคีเครือข่าย และภาคธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีการรับเงินสนับสนุนจากผู้บริจาครายย่อย เช่น ถ้าบริจาค 7 ปอนด์ จะซื้อหนังสือให้เด็กที่ต้องการได้ 1 เล่ม บริจาค 20 ปอนด์ จะมีการจัดอาสาไปอ่านนิทานให้แก่เด็กที่ป่วยหนักในโรงพยาบาล และบริจาค 50 ปอนด์ จะมีการจัดส่งชุดส่งเสริมการอ่านให้กับโรงเรียน 1 แห่ง

โครงการผลิตหนังสือเด็ก Flipleaves Bookathon

          วิสัยทัศน์: เพื่อให้เด็กๆ ที่ด้อยโอกาสในแอฟริกาได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่ดี ด้วยเนื้อหาที่เป็นเรื่องราวของพวกเขาเอง พร้อมทั้งให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์

          ภารกิจ: สรรค์สร้างหนังสือเพื่อสร้างอนาคต โดยความร่วมมือของคนรุ่นใหม่เพื่อเด็กๆ ชาวแอฟริกัน

          การดำเนินงาน: รวบรวมทีมงานอาสาสมัครชาวแอฟริกันประกอบด้วย นักเขียน นักออกแบบ นักวาดภาพประกอบ มารวมตัวกันเพื่อทำหนังสือสำหรับเด็กภายใน 6 ชั่วโมง เป็นกระบวนการที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยความคิดริเริ่มใหม่ๆ จากนั้นหนังสือเหล่านี้จะนำไปพิมพ์แจกจ่าย และสามารถดาวน์โหลดไฟล์หนังสือได้ฟรี

          ผู้สนับสนุนหลัก: องค์กรการกุศล Flipleaves และกลุ่มพันธมิตร โดยได้รับเงินสนับสนุนจากผู้บริจาค


เชิงอรรถ

[1] Humanperf. (2018). the 5W1H method. [Online]

[2] PTO Today (2018) สรุปแนวทางการจัดกิจกรรม Readathon ไว้ 4 ส่วน ได้แก่       

1) ผู้จัด กิจกรรมอาจดำเนินโดยบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการระดมทุนซึ่งจะช่วยเหลือในแง่ของเครื่องมือ การหาสปอนเซอร์ และการจัดการเงินบริจาคด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ดี หรือโรงเรียนอาจจะจัดการเอง ซึ่งต้องมีการจัดเตรียมเครื่องมือในการจับเวลาหรือติดตามเงินบริจาค

2) ช่วงเวลา หลายโรงเรียนเลือกจัดกิจกรรม Readathon ให้ตรงกับงานสัปดาห์หนังสือ เพื่อกระตุ้นการอ่านของเด็กๆ และระดมทุนไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่ผู้จัดพึงระวังคือไม่ให้กิจกรรมของตนไปชนกับงานระดมทุนของกลุ่มอื่น หรือชนกับช่วงเวลาสอบของเด็กๆ

3) การประชาสัมพันธ์ ควรมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า และเผื่อเวลาสัก 2-3 สัปดาห์สำหรับการหาสปอนเซอร์และการจัดเตรียมหนังสือ ส่งใบปลิวไปตามบ้าน ประชาสัมพันธ์กิจกรรมในจดหมายข่าว เผยแพร่รูปที่สามารถแชร์ได้บนสื่อสังคม รวมถึงสร้างการแจ้งเตือนกิจกรรม

4) การมีส่วนร่วมของอาสาสมัครและครู มีการรับสมัครอาสาเพื่อช่วยในการประชาสัมพันธ์กิจกรรม อ่านหนังสือให้เด็กฟัง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้า จัดการและแจกจ่ายรางวัลจูงใจ และเก็บรวบรวมข้อมูล ครูสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการประสานกิจกรรม Readathon โดยอาจจะเลือกหนังสือตามหลักสูตร หรือหนังสือนอกตำราที่ให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการคัดสรร ครูยังสามารถช่วยตรวจสอบบันทึกการอ่านและกระตุ้นให้นักเรียนทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ

[3] Elizabeth S. Leaver. (2018). How To Run a School Readathon. [Online].

[4] The Burroughs PTA. (2019). Reading is Always in Season. [Online].

[5] Read-A-Thon. (2020). BKEC. [Online].

[6] Read for Good. It’s easy to donate books and stories to children in hospital and schools. Here’s what your donation could do. [Online].

[7] ผู้สนใจประเด็นนี้ สามารถอ่านข้อมูลโดยละเอียดได้ที่

Read for Good. Our Impact. [Online].

National Literacy Trust. (2018). Readathon: How children and young people are engaged and the benefits to reading. [Online].

Whooo’s Reading. The Benefits of a Read-a-Thon. [Online]


เผยแพร่ครั้งแรก สิงหาคม 2563

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก