จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของโครงการ ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย’ หนังสือนิทานเล่มน้อยที่เกิดจากการระดมสมองของทีมงานตั้งต้นหลักสิบ ค่อยๆ ต่อยอดไปสู่การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่มีครูและผู้เกี่ยวข้องร่วมร้อยคน จนถึงเป้าหมายใหญ่ในการผลักดันกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้แก่เด็กปฐมวัยนับพันนับหมื่น
โครงการอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (ทีเคพาร์ค) ได้รับแรงบันดาลใจมาจากกิจกรรมรณรงค์ One Book One City ที่ถือกำเนิดขึ้น ณ ห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิล เมื่อปี ค.ศ.1998 ซึ่งจะมีการคัดเลือกหนังสือ 1 เรื่องมาชักชวนให้ชาวเมืองอ่านและพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น ผลตอบรับที่ดีทำให้ห้องสมุดเมืองต่างๆ ทั่วประเทศสหรัฐฯ ได้นำโครงการนี้ไปต่อยอดพร้อมกับเติมชื่อเมืองห้อยท้าย มีการประยุกต์รูปแบบให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่น และจัดกิจกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ เพื่อสร้างสีสัน
โดยผู้ริเริ่มโครงการ วัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้ จากทีเคพาร์ค เผยว่า
“เราต้องการให้ ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย’ เป็นโครงการส่งเสริมการอ่านของคนเชียงราย ทำโดยคนเชียงราย และเพื่อคนเชียงราย กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการนี้คือกลุ่มเด็กปฐมวัย เพราะเราเชื่อว่าการปลูกฝังการอ่านในเด็กวัยนี้ เป็นการลงทุนที่ก่อเกิดผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ดีที่สุด”
จาก ‘เชียงใหม่อ่าน’ สู่ ‘อ่านเชียงราย’
หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของโครงการนี้ ได้แก่ ทัทยา อนุสสรราชกิจ ที่มีประสบการณ์ตรงจากการทำโครงการเชียงใหม่อ่าน เธอได้ถูกชักชวนให้มาเป็นพี่เลี้ยง คอยทำหน้าที่ติดต่อประสานงาน และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคณะทำงาน โดยเธอกล่าวว่า
“ทั้งหมดที่อยู่ในโครงการอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย เป็นประสบการณ์มาจากการทำงานที่เชียงใหม่ หนึ่งปีเต็มๆ ที่เราทำงาน ‘อ่านดอยสุเทพ’ แบบลงมือจริงๆ ทบทวนและสรุปกระบวนการเรียนรู้ตลอดเวลา แต่เมื่อเอาไปต่อยอดที่เชียงราย ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำแบบเดียวกันทั้งหมด เพียงกำหนดกรอบการทำงานไว้เท่านั้น
ประสบการณ์จากที่เชียงใหม่ เราพบว่าเราทำนิทาน 2 เล่มแล้วได้ผล แล้วสองเล่มนั้นต้องนำมาออกแบบการใช้ให้แตกต่าง ซึ่งเราก็เอาบทเรียนนี้มาทำกับเชียงราย ตั้งใจทำนิทาน 2 เล่มให้มีความแตกต่างกัน”
นิทานคู่เมืองเชียงราย จากการมีส่วนร่วมของคนเชียงราย
และเพื่อให้ อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย เป็นโครงการของคนเชียงรายอย่างแท้จริง ทัทยาได้ใช้เวลานับเดือนในการลงพื้นที่เทศบาลนครเชียงราย พบปะพูดคุย และจัดตั้งคณะทำงาน โดยเริ่มจากการ เปิดเวทีระดมความคิดเห็น ในวันที่ 14 ก.ค. 63 ที่มีบุคลากรในจังหวัดกว่า 50 คนจากแวดวงต่างๆ เช่น นักวิชาการ ข้าราชการ นักพัฒนา และภาคประชาสังคม มาร่วมกันคิดค้นประเด็นเนื้อหาที่เด็กเชียงรายควรอ่าน เพื่อนำไปใช้ผลิตสื่อนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย
คณะทำงานอ่านทั้งเมืองเรืองเดียวกันเชียงราย ได้ข้อสรุปว่า จะผลิตหนังสือนิทาน 2 เล่ม ได้แก่ ‘มาลีแอ่วดอย’ นิทานภาพที่สะท้อนความหลากหลาย และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ผ่านการละเล่น และเครื่องแต่งกายของพี่น้องชาติพันธุ์ และ ‘ทรายน้ำกก’ ที่นำเสนอให้เห็นความหลากหลายทางกายภาพ สะท้อนผ่านเด็กคนหนึ่ง ผ่านทางประเพณีวัฒนธรรม และวัดอารามช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมือง ซึ่งวัฒนชัยเสริมว่า
“เราเริ่มต้นด้วยคำถามว่า เด็กๆ จะเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเชียงราย และคณะทำงานก็ระดมความคิดจนออกมาเป็นเนื้อหาหลัก ว่าด้วยเรื่องความหลากหลาย เพราะเชียงรายมีความหลากหลายทั้งในด้านกายภาพและผู้คน เมื่อเด็กเรียนรู้การอยู่ร่วมกับความหลากหลาย ด้วยความเข้าใจ สิ่งที่ตามมาคือความภูมิใจ ความสุข และ ความรักในท้องถิ่น”
ในกระบวนการสร้างสรรค์นิทานทั้ง 2 เล่มนี้ ก็ได้ศิลปินท้องถิ่นชื่อดังที่ผ่านการคัดเลือกมาร่วมงาน ได้แก่ นัน ภู่โพธิ์เกตุ และผูกพันธ์ ไชยรัตน์ ผู้เขียนและผู้วาดนิทาน ‘มาลีแอ่วดอย’ และ พจวรรณ พันธ์จินดา ผู้เขียนและผู้วาดนิทาน ‘ทรายน้ำกก’ ซึ่งศิลปินทั้งสามได้ตีโจทย์อย่างพิถีพิถัน และถ่ายทอดผลงานออกมาอย่างสุดฝีมือ
อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การใช้หนังสือนิทานเพื่อสร้างการเรียนรู้ ที่จัดขึ้นในอำเภอเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 63 โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน ประกอบด้วยครูอนุบาล ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กลุ่มแม่บ้านเรียน บรรณารักษ์ และข้าราชการ ในเขตเทศบาลนครเชียงรายและอำเภออื่นๆ ในจังหวัดเชียงราย ในการอบรมหนึ่งวันเต็มนี้ ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์เนื้อหาของนิทาน ได้พบปะศิลปินผู้สร้างสรรค์ ที่มาถ่ายทอดขั้นตอนการดำเนินงาน และเกร็ดความรู้หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สอดแทรกอยู่ในนิทาน และปิดท้ายด้วยการฝึกภาคปฏิบัติเพื่อนำนิทานไปใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ตาม 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1. อ่าน 2. เล่า 3. เล่น 4. เรียน
การอบรมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายการเรียนรู้ขนาดย่อม นอกจากผู้เข้าร่วมจะได้มาทำความรู้จักกัน ได้เรียนรู้แนวทางการประยุกต์ใช้นิทานเป็นสื่อการสอน และได้เทคนิคใหม่ๆ ในการเล่านิทานแล้ว พวกเขายังได้สร้างกลุ่มไลน์ ชื่อ ‘นิทานเชียงราย’ ไว้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งหลังจากผ่านการอบรมไปแล้ว คุณครูหลายท่านได้นำเอานิทานทั้ง 2 เล่มไปเล่าให้เด็กๆ ฟัง มีการนำภาพและวิดีโอคลิปมาแชร์กันในกลุ่ม เมื่อสมาชิกได้เห็นภาพการเล่านิทานจากครูโรงเรียนอื่นๆ แล้วก็เกิดแรงบันดาลใจ มีการนำไปทำตาม หรือพลิกแพลงต่อยอด ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตร นอกจากนี้ คุณครูยังได้ใช้นิทานเป็นสื่อกลางในการชักชวนผู้ปกครองและนักเรียนมาทำกิจกรรมร่วมกัน
เมล็ดพันธุ์แตกหน่อ ต่อยอดสู่เครือข่ายการเรียนรู้
เครือข่ายอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย และเทศบาลนครเชียงราย ได้นำหนังสือนิทาน ‘มาลีแอ่วดอย’ และ ‘ทรายน้ำกก’ ที่ตีพิมพ์จำนวนเรื่องละ 1,000 เล่มไปแจกจ่ายตามสถานที่ต่างๆ ได้แก่ โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ห้องสมุดประชาชน โรงพยาบาล ร้านกาแฟ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแจกนิทานในรูปแบบอีบุ๊คให้ประชาชนสามารถโหลดไปอ่านได้ จากเดิมที่ตั้งเป้าว่านิทานเชียงราย 2 เล่มนี้จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเด็กปฐมวัยจำนวน 4,000 คนในพื้นที่เทศบาลเมืองเชียงราย ต่อมาเครือข่ายอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงรายได้มีการขยายผล กระจายหนังสือนิทานไปทั่วทุกอำเภอในจังหวัดเชียงราย ซึ่งหนังสือนิทานแต่ละเล่มที่อยู่ในมือคุณครู หรือพ่อแม่ผู้ปกครอง จะถูกถ่ายทอดไปสู่เด็กๆ ชาวเชียงรายนับพันนับหมื่น
แนวทางการใช้นิทาน 4 ประการที่ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้จากการอบรมเชิงปฏิบัติการ ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในชั้นเรียนอย่างหลากหลาย โดยมีข้อมูลจากสมาชิกส่วนหนึ่งของเครือข่ายอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย ดังนี้
1. อ่าน
ครูอรนงค์ จากโรงเรียนเทศบาล 2 หนองบัว อ่านเนื้อหาตามเรื่องในนิทานทีละวรรค โดยครูอ่านนำแล้วให้เด็กๆ อ่านตาม เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์หรือประโยคของคำในนิทาน
2. เล่า
ครูศุภชัย จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบ้านด้าย อำเภอแม่สาย เล่านิทานเรื่องทรายน้ำกก ที่ตัวละครเดินทางบนรถกระบะไปรอบเวียงเชียงราย ด้วยการจำลองท่าทางขับรถ หมุนพวงมาลัยซ้ายขวา และเลียนเสียงรถต่างๆ เช่น เสียงรถอีแต๋น เด็กๆ ก็ส่งเสียงรถในจินตนาการตามครู เสียงทุ้มบ้างแหลมบ้าง
3. เล่น
ครูวรนุช จากโรงเรียนเทศบาล 8 บ้านใหม่ เซอร์ไพรส์เด็กๆ ด้วยการแต่งชุดชาวเผ่าอาข่า เล่านิทานไปพร้อมๆ กับหยิบกลองมาตีเข้าจังหวะ และชวนเด็กๆ เต้นจะคึของชนเผ่าลาหู่ ล้อไปกับเนื้อหาในนิทาน
4. เรียน
ครูอรุโณทัย จากโรงเรียนอนุบาลเมืองเชียงราย ได้นำเอาฉากต่างๆ ในนิทานมาลีแอ่วดอยมาเชื่อมโยงกับการสอนสะเต็มศึกษา อย่างเช่น นำเอาการเล่นลูกข่างของชนเผ่าลีซูในหนังสือมาโยงกับกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เรื่องลูกข่างหลากสี ที่ให้ความรู้เรื่องแรงเหวี่ยง
สำหรับผลลัพธ์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงรายนั้น ครูวรนุช กล่าวว่า
“กิจกรรมเล่านิทานเรื่องมาลีแอ่วดอยประสบความสำเร็จมากกว่าทุกครั้งที่เป็นการเล่าแบบธรรมดาทั่วไป ในครั้งนี้เด็กๆ สนใจ ตั้งใจ มีความสุขกับนิทาน และการใช้สื่อประกอบการเล่านิทานมาก ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเล่าประสบการณ์ และออกมาเต้นประกอบจังหวะ
ภาพในหนังสือก็สวยงาม เป็นภาพเด็กชนเผ่าซึ่งสื่อถึงวัยที่ใกล้เคียงกับเด็กๆ ครูและนักเรียนก็ได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมของชาวชนเผ่าต่างๆ จากการพูดคุย ขอข้อมูลกับผู้ปกครอง และจากการเรียนรู้ในการอบรมเล่านิทาน เด็กๆ ประทับใจมาก อยากให้เล่าซ้ำๆ อีก”
ขณะที่คุณครูอรุโณทัย แบ่งปันว่า
“การเล่านิทานนอกจากจะส่งเสริมการอ่านแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และทักษะชีวิตให้กับเด็ก อย่างในนิทานมาลีแอ่วดอยนี้ เด็กๆ จะได้เรียนรู้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาปฐมวัยของ สพฐ. ครบทั้ง 12 มาตรฐาน
ปกติแล้วครูไม่ค่อยได้ร่วมกิจกรรมเครือข่ายพวกนี้หรอก แต่พอมาเข้าร่วมโครงการอ่านเชียงราย ก็ได้รู้จักเพื่อนใหม่ แล้วในกลุ่มไลน์มีความเคลื่อนไหวตลอด พอเห็นครูโรงเรียนหนึ่งเล่านิทานแบบนี้ เราก็นำไอเดียบางอย่างมาทำตาม หรือบางทีครูเองก็ริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเองเลย มันทำให้เรามีความกระตือรือร้นในการสอน และอยากจะเข้าร่วมกิจกรรมเครือข่ายในครั้งต่อๆ ไป”
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าโครงการอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย ซึ่งเริ่มต้นการทำงานโดยเน้นพื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย จะถูกต่อยอดขยายผลไปสู่ระดับจังหวัด
“เครือข่ายการเรียนรู้นี้มีสำนักการศึกษาเทศบาลนครเชียงรายเป็นแกนหลัก เขาก็พยายามที่จะทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายต่อไป ทำให้ค่อนข้างมีหวังว่าจะมีการทำงานต่อเนื่อง และได้ยินมาว่าทางศึกษานิเทศก์จะเสนอให้มีการทำนิทานทุกอำเภอของเชียงรายผ่านทางท้องถิ่นจังหวัด เพราะเขาเห็นประโยชน์จากกระบวนการทำงานของโครงการแล้วอยากต่อยอด ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้จริงๆ ก็ต้องถือว่าการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เมืองเชียงรายเกินกว่าเป้าที่เราตั้งไว้ด้วยซ้ำ เพราะมันกำลังจะขยายไปเป็นระดับจังหวัด” ทัทยากล่าว
ผลผลิตที่ได้จากโครงการอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเชียงราย ไม่ใช่แค่นิทานที่อ่านแล้วก็จบไป แต่มันเป็นนิทานที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชาวเชียงรายในทุกขั้นตอน สะท้อนอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่น ผลลัพธ์ที่ได้ นอกจากความรู้ ความอิ่มเอมใจ และความภาคภูมิใจแล้ว คือการก่อเกิดเครือข่ายการเรียนรู้ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ทางปัญญาให้แก่ต้นกล้าแห่งอนาคต และเสริมสร้างบรรยากาศเมืองแห่งการเรียนรู้