ในโลก ‘โฟนี่ๆ’ คงมีแต่คนดีที่ยังไม่บ้า

1,216 views
6 mins
July 5, 2023

          ขอสารภาพว่ากว่าบทความนี้จะเดินทางมาถึงพวกคุณ–ผู้อ่าน ฉันเสียน้ำตาไปแล้วมากกว่า 2 ยก…

          ไม่ใช่เลย นี่ไม่ใช่นวนิยายดรามาเรียกน้ำตา ถ้าคุณกำลังสงสัยอยู่ว่า ‘แม่ง โคตรโฟนี่เลย’ คือหนังสือประเภทไหน แล้วถ้าคุณจะสงสัยต่อว่า ชื่อหนังสือแสนแสบสันนี้ไม่ได้เป็นหนังสือที่น่าจะต้องมีเนื้อหาดุเด็ดเผ็ดมันจนต้องสูดปากตามมากกว่าเสียน้ำตาหรอกเหรอ หรือถ้าอ่านตามแล้วจะร้องไห้ไหม หรือฉันร้องไห้เพราะอะไรในหนังสือเล่มนี้ 

          ฉันก็จะขอสารภาพตามตรงอีกคำรบว่าถ้าต้องตอบตอนนี้ก็ไม่ยังไม่รู้คำตอบเหมือนกัน หาที่มาที่ไปไม่ได้ว่าทำไม

          แต่เพราะคิดเอาเองว่าถ้าคุณคืออีกคนหนึ่งที่ร่วมชะตากรรมผูกสัมพันธ์แบบ love-hate relationship กับโลกและสังคม ‘โฟนี่ๆ’ นี้ด้วยกัน 

          ฉันไม่อยากให้คุณพลาดหนังสือเล่มนี้เด็ดขาด


          โฟนี่ *pho·ney /ˈfōnē/

           [adj] ปลอม [n] คนหลอกลวง

          See also: เสแสร้ง, จอมปลอม, ระยำอัปรีย์


          “แม่ง โคตรโฟนี่เลย” การเมือง | วรรณกรรม ในยุคที่สุนัขไม่ใช่หมาเสมอไป แต่ประชาชนยังเป็นควายเหมือนเดิม คือรวมบทปาฐกถาว่าด้วยการเมืองและวรรณกรรมของไอดา อรุณวงศ์ แห่งสำนักพิมพ์อ่าน หญิงผู้เป็นทั้งนักเขียน นักแปล บรรณาธิการ เจ้าของสำนักพิมพ์ เสมียนและนายประกันของกองทุนราษฎรประสงค์ และประธานมูลนิธิสิทธิอิสรา 

          ไอดาออกตัวเสมอว่าเธอเป็นคนประหม่าในการพูดสดต่อสาธารณะ เธอจึงเขียนก่อนเมื่อจะต้องพูดอยู่เสมอ ปาฐกถาที่ถูกนำมารวมกันเป็นหนังสือเล่มนี้ จึงมาจากการเขียน (เพื่ออ่าน) ต่างกรรมต่างวาระ ไม่ว่าจะเป็นบทปาฐกถาเนื่องในวาระเกษียณอายุราชการของคนหนึ่ง บทอภิปรายในงานรำลึกถึงผู้ที่จากไปอีกคนหนึ่ง บทอภิปรายในวงเสวนาที่ร้านหนังสือ ที่มหาวิทยาลัย ไปจนถึงที่ทางเท้าหน้าศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวของคนคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง บ้างพาเรากระโจนเข้าไปในโลกวรรณกรรม บ้างพาเรากระโดดออกมายืนระหว่างความเป็นความตาย และความอยุติธรรมต่อหน้าศาลสถิต(อ)ยุติธรรม หลากเรื่องราวที่ดูเหมือนไม่เข้ากันแต่เข้ากันอย่างประหลาดนี้ถูกร้อยเข้าด้วยกันผ่านคำสำคัญคำหนึ่งซึ่งเป็นชื่อหนังสือและชื่อของปาฐกถาที่นำมาจัดวางไว้เป็นบทแรกของเล่ม นั่นก็คือ ‘แม่ง โคตรโฟนี่เลย’ 

          ‘แม่ง โคตรโฟนี่เลย’ อันเป็นบทปาฐกถาปิดงานประชุมในวาระเกษียณอายุของชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ นั้นพาผู้อ่านย้อนไปทำความรู้จักนวนิยายเรื่อง The Catcher in the Rye (จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น) นวนิยายชิ้นสำคัญของเจ.ดี. ซาลินเจอร์ และเป็นนวนิยายที่มีความหมายสำคัญกับชูศักดิ์

          แต่เปล่าหรอก เธอไม่ได้เอ่ยถึงมันเพียงเพื่อจะรีวิว ชื่นชม เชิดชูงานเขียนหรือความผูกพันระหว่างชูศักดิ์กับนวนิยายเรื่องนี้ แต่เริ่มด้วยการจู่โจมเราทันทีด้วยเรื่อง ‘โฟนี่’ ที่เธอในวัย 16 ปีได้พบเจอหลังอ่านนวนิยายว่าด้วยเด็กชายหัวขบถผู้ไม่อาจเชื่อมต่อกับโลก


 “…มันเป็นความตอแหลอย่างที่สุดที่จะต้องมานั่งเรียนนวนิยายที่ว่าด้วยการขบถ ไม่รอมชอมกับระบบ และบรรทัดฐานอย่างที่เป็นอยู่ ที่สอนโดยคนซึ่งประสบความสำเร็จสูงสุดในระบบและบรรทัดฐานอย่างที่เป็นอยู่

 มันเป็นความตอแหลอย่างวอดวาย ที่คุณครูซึ่งเรียนจบเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยที่อนุรักษนิยมที่สุดของไทย ที่อุตส่าห์ได้ทุนฟุลไบรท์ไปจบดอกเตอร์จากอเมริกา มาสอนเราอ่านนวนิยายที่ว่าด้วยมุมมองของนักเรียนไม่รักดีที่สอบตกรวดสี่ในห้าวิชา ถูกไล่ออกจากโรงเรียนมาแล้วสี่ห้าแห่ง แล้วคุณครูก็ต้องฝืนบรรยายไปตามมาตรฐานวิชาวรรณคดีอเมริกันศตวรรษที่ 20 ว่านวนิยายเรื่องนี้มันมีดีอย่างไร โดยที่คุณครูก็จะอดเผลอเทศนาแบบไทยๆ มาเป็นระยะไม่ได้ว่า ก็ในเมื่อเด็กมันไม่รักดี ก็สมควรแล้วนี่นาที่มันจะได้ F นิสิตอย่าได้เอาเป็นตัวอย่างเชียว…” (น. 30-31)


          และความโฟนี่นี้ก็ทำให้เธอปฏิเสธคำถามในข้อสอบด้วยการยืนยัน ‘คำไม่ตอบ’ ต่อคำถามและวิธีคิดที่ไม่เข้าท่าของครู ขณะที่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี เธอจึงเสมือนเจอเพื่อนที่เข้าใจ เมื่อได้อ่านบทความว่าด้วย The Catcher in the Rye ของชูศักดิ์ ผู้พยายามขยายห้องเรียนวรรณกรรมออกไปถึงโลกกว้างและทุ่งข้าวไรย์ที่มีความหมาย (ผู้ก็ไม่อาจหลีกพ้นความ ‘โฟนี่’ ของระบบการศึกษาและโลกวิชาการไทยไปได้) และคิดว่า “แม่ง โคตรโฟนี่เลย” นี้อาจเป็นคำด่าตัวเองของชูศักดิ์ที่ยืมปากตัวละครในนิยาย อย่างคนรู้ตัวว่าแม้จะพยายามเท่าทันความตอแหลจอมปลอมนั้นอย่างไร ตัวเองก็ยังไม่อาจสลัดข้อจำกัดทางสถานะหรืออะไรบางอย่างให้พ้นไปจากโลกโฟนี่นี้ได้อย่างสิ้นเชิงอยู่ดี (น. 52) ก่อนจะตัดสลับไปเล่าเรื่องราว ‘โฟนี่ๆ’ อีกมากสิ่งหลายสถานทั้งภาษาไทยโฟนี่ๆ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน สถาบันวิชาการที่ต้องไล่ตามเกณฑ์การให้คะแนน รวมไปถึงตัวเธอที่ยังคงร้องไห้อย่างไร้เหตุผล ยังคงสวมตัวเองเข้ากับตัวละครในนิยายและเรื่องราวมากมายด้วยอารมณ์ขมบ้าง ขันบ้าง

          เรื่องราวที่ล้วน “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

          ไม่ผิดนักหากจะบอกว่าข้อเขียนต่างกรรมต่างวาระ เรื่องต่อๆ มาในหนังสือเล่มนี้ล้วนชวนสนทนาผ่านเรื่องโฟนี่ๆ หรือความตอหลดตอแหลตลบตะแลงย้อนแย้งมากมาย 

          ทั้งในโลกหนังสือ ตำแหน่งแห่งที่ของคนทำหนังสือ หรือปัญญาชนเพศหญิงในประเทศประชาธิปไตย ที่ไม่แน่ใจนักว่าจะยังมีการเขียนและการอ่านต่อไปอีกทำไม ในเมื่อชนชั้นพริวิลเลจอีกมากมายมองคนเป็นควาย และไม่อาจมองใครให้เท่ากัน

          ทั้งเรื่องราวของนักเขียนหญิงในโลกผู้ชาย และนวนิยายที่เส้นทางของหญิงผู้เลือกลิขิตชีวิตตนเองไม่เคยง่าย และการเขียนใหม่ให้เรื่องราวของตนเองที่มักถูกฉายซ้ำๆ ด้วยสเตอริโอไทป์ของผู้หญิงอย่างน่าจดจำที่สุด

          ทั้งในวรรณกรรมของมนุษย์ และมนุษย์ของวรรณกรรม วรรณกรรมที่ไม่ได้สูงส่งอะไรแต่ทำให้อำนาจหวาดกลัวจนกระทั่งต้องหาโซ่มาล่ามไว้ใต้ฟ้าที่กว้างกว่ากว้างแต่คับแคบเกินจะขังใคร 

          ทั้งในความโกรธเกรี้ยวสะเทือนใจที่ถูกแทนค่าเป็นลบในโลกที่การนำเสนอความจริงมีค่าเท่ากับการลอยตัวอยู่กลางๆ ระหว่างทุกสิ่ง อย่างมีวุฒิภาวะและหลับตาข้างหนึ่งให้กับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจริง

          ทั้งในตัวตนของคนคนหนึ่งถูกลบหายไม่ได้รับการจดจำหรือกล่าวถึงในสถาบันการศึกษาอันสูงส่งเพียงเพราะไม่อาจแยกวรรณกรรมออกจากการเมือง ก่อนที่กระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงจะพัดพาตัวตนนั้นกลับมาอีกครั้งในวันที่โลกได้เปลี่ยนไปแล้วตลอดกาล

          ทั้งในคำอาลัยและเรื่องราวของความหวังท่ามกลางเงื่อนไขอันน่าสิ้นหวัง การต่อสู้กร้าวแกร่งที่รวดร้าว

          ทั้งในคำประกาศอันสิ้นหวังอ่อนแรงแต่หนักแน่นและกึกก้อง 


          “คืนสิทธิประกันตัวเดี๋ยวนี้ก่อนจะมีใครตาย”


          ระหว่างนั้น โดยที่ไม่ทันตั้งตัว ฉันจึงร้องไห้ ร้องไห้ และร้องไห้ อย่างไม่แน่ใจนักว่าควรจะดีใจหรือเสียใจที่ตัวเองยังร้องไห้ให้กับตัวอักษรได้มากมายขนาดนี้ ในแง่ที่ว่าถึงวันนี้หลายเรื่องจากปาฐกถาอายุหลายปี บางเรื่องก็ร่วมสิบปี สำหรับฉันตอนนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ตัวเองทำได้แค่ร้องไห้ เพราะไม่รู้จะสื่อสารมันออกมายังไง ทั้งไม่แน่ใจว่าจะแก้ไขมันอย่างไร ทั้งรู้ดีแก่ใจว่าการอ่านได้และการได้อ่านอยู่ ณ เวลานี้เป็นอภิสิทธิ์อย่างไร โฟนี่แค่ไหน การได้ซาบซึ้งและภาคภูมิใจในประโยคซับซ้อนซ่อนความไว้หลายชั้นที่ได้อ่านและได้เขียนเลียนสิ่งที่อ่านมาอีกต่อหนึ่งด้วยความภาคภูมิใจยิ่งกว่า กลับยิ่งตอกย้ำความจริงข้อหนึ่งก็คือ ความสามารถที่จะได้ทำสิ่งเหล่านี้ได้เป็นของมีราคาสูงเหลือเกินจนน่าหมั่นไส้ ทั้งเป็นสิ่งที่จะเบ่งบานขึ้นมาในอกได้ก็ในตอนที่ปิดประตูหน้าต่างกันตัวเองออกจากโลกโฟนี่ๆ ที่มีอยู่จริงทั้งใบแล้วจมลงไปในหน้ากระดาษ นอนซับน้ำตารู้สึกรู้สากับชีวิตของผู้คนในตัวอักษร ขณะที่ใครต่อใครอีกหลายคนบาดเจ็บล้มตายหรือพัดเพระเหหนไม่ได้หยุดพัก แล้วคิดไม่ตกว่าในเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วจะอ่านไปทำไม จะเขียนไปเพื่ออะไร จะยินดีกับหัวใจละเอียดอ่อนที่ว่านั้นไปได้อีกสักเท่าไรกัน


          แล้วจะให้พูดอะไร

          ต่างกันไหมระหว่างความเงียบกับความคลุ้มคลั่ง

           (ไม่)มีคนพูดก็ไม่(มี)คนฟัง

          เอวัง วจนวาจา

           (และไม่ต้องถามเลยว่า)แล้วจะเขียนอะไร

          ถ้อยคำอีกเท่าไหร่ก็ไร้ค่า

          ร้องไห้ ? ไม่แล้วไม่ มันไม่เคยมีราคา

          น้ำตาคนใต้ตีนก็น้ำล้างตีน

          ให้ทั้งหลั่งทั้งเร้นจนเหือดแล้ว

          ยังไม่พอล้างบาทแก้วผู้ทรงศีล/สิน

          ยังกระหายใช้เลือดล้างแผ่นดิน

          ระวังเถิด สว่างสิ้น อย่างล้างตา

          แหละประตูทุกบานจักปิดตาย

          ไม่อีกแล้ว ไม่อีกต่อไป ไม่ใช่ขี้ข้า

          ไม่เข้าใจ ก็(ไม่)ต้องเข้าใจ เมื่อถึงเวลา

          คำขาดสุดท้ายจากราษฎรละลังละล้า ก่อนลั่น-ดาล

          คำขาดสุดท้ายจากหญิงบ้า ก่อนลั่น-ดาล*


(จากบทกวี “ก่อนลั่นดาล” วารสารอ่าน ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2556), readjournal.org/contents/ida-17)

ในโลก ‘โฟนี่ๆ’ คงมีแต่คนดีที่ยังไม่บ้า

บ้าก็บ้าวะ

          ไอดามักเรียกตัวเองว่าหญิงบ้า ทั้งในบทสนทนาลำลองกับใครต่อใครและในบทกวีที่เธอเขียน เมื่อได้มีโอกาสพบกัน เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้มจางอีกครั้งว่าตัวเองเป็นคนบ้า แม้จะเถียงกลับไปครั้งสองครั้งว่าไม่บ้าหรอกค่ะ แต่อีกใจหนึ่งกลับแวบคิดขึ้นมา ว่าการเรียกตัวเองว่า “คนบ้า” นั่นอาจถูกแล้วก็ได้ ในโลกโฟนี่ตลบตะแลงย้อนแย้งน่าขื่นขันที่การทำเฉยหรือหลับตาข้างหนึ่งปล่อยให้คืนวันผ่านไปอย่างที่เป็นอาจง่ายดายกว่านี้หลายเท่า ในโลกที่เราเยาะหยันเกลียดชังความพิกลโฟนี่มากมายแต่สุดท้ายก็พบว่าในตัวตนที่ตัวเองเป็นอยู่ก็โฟนี่จนน่าหดหู่ไม่แพ้กัน ที่น่ากุมหัวทึ้งกว่านั้นก็เมื่อค้นพบว่าเรายังรักและหวังให้อะไรก็ตามที่ทำได้และได้ทำเปลี่ยนให้โลกโฟนี่ใบนี้โบยตีผู้คนที่ดื้อแพ่งไม่สยบยอมได้น้อยลงกว่านี้สักหน่อย ยังทู่ซี้กับสิ่งที่ท้ายที่สุดอาจตอบไม่ได้ว่าจะทำไปทำไม เจ็บปวดไปเพื่ออะไรสักอย่างที่ไม่รู้ชื่อเรียกที่ถูก (ฝันหวาน? โลกที่เท่าเทียม?) นี้ต่อไป เพราะมันรบกวนหัวใจน้อยกว่าการเชื่องเชื่อ

          คุณก็เคยเป็นเหมือนกันใช่ไหม ถ้าใช่ เราก็อาจเป็นพวกบ้าคล้ายๆ กัน–คล้ายๆ เธอ


          “เราจะพูด เราจะบอก เราจะเขียน อย่างคนธรรมดา

         

          เราจะทำให้พวกเขาเห็นว่า พลังของปลายปากกา อยู่ที่สัจจะของความเป็นคนสามัญ ไม่ใช่การแอบอยู่หลังหรือแอบอ้างลายเซ็นใคร

         

          ถ้าปากกาจะ ‘อยู่ที่มัน’ เพราะมันถือดีว่าเป็นผู้มีเกียรติเหนือใคร ก็ขอให้รู้ไว้เถิดว่า เกียรตินั้นพิสูจน์กันได้ที่ความโปร่งใส ไม่ใช่ที่การห้ามวิจารณ์ ห้ามทำให้เสื่อมเสีย

          และถ้ามันจะคิดว่าปากกา ‘อยู่ที่มัน’ เพราะมันมีอำนาจอันละเมิดมิได้ ก็ขอให้รู้ไว้เถิดว่า อำนาจเยี่ยงนั้นหาใช่อะไร นอกจากอำนาจอย่างลูกแหง่ อำนาจของคนแหย

          ปากกาอยู่ที่มัน แต่ปากกาก็อยู่ที่เรา

          บอกพวกเขา บอกพวกเรา ว่าความสามัญคือความสำคัญ

          ไม่ว่าจะเรียกมันว่า เศียรข้าพเจ้า ศีรษะดิฉัน หรือหัวกู

          พิเคราะห์แล้วจึงเห็นว่า พลังจากปลายปากกา คนธรรมดาก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้” (น. 258, 260)


          ข้อเขียน (เพื่ออ่าน) ของไอดาล้วนบรรจุแต่ถ้อยคำสั้นกระชับแต่หนักแน่น ในบทวิพากษ์ที่แสบสันบาดลึก ในความรู้สึกแปลกแยก ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับที่ไหนคือความแน่วแน่เด็ดเดี่ยวที่อาบอยู่ในทุกคำและหากเผลอมันอาจซัดคุณแรงๆ เข้าที่อก

          แต่อย่างที่บอกเอาไว้ เพราะคิดเอาเองว่าคุณที่กำลังอ่านอยู่อาจเป็นอีกคนหนึ่งที่ร่วมชะตากรรมผูกสัมพันธ์แบบ Love-hate Relationship กับโลก และสังคม ‘โฟนี่ๆ’ นี้ด้วยกัน 

          ฉันจึงไม่อยากให้คุณพลาดหนังสือเล่มนี้เด็ดขาด และถ้าเป็นไปได้ก็อยากตบเข่าเบาๆ แล้วบอกคุณว่า ในโลกโฟนี่ใบนี้ คงมีแต่พวก ‘คนดี’ เท่านั้นแหละที่ยังไม่บ้า…

          ในโลกที่ชีวิตอาจจะเลือกกระแทกวิญญาณของผู้คนได้ด้วยอะไรสักอย่าง ด้วยวิธีต่างๆ นานา ถ้าคุณได้เจออะไรสักอย่างที่ว่าที่ทำงานกับหัวใจได้อย่างทรงพลังที่สุด ร้าวรานที่สุด เรียบง่ายที่สุด ย้ำเตือนว่าคุณมีชีวิต มีหัวใจ มีสัจจะต่อสิ่งใด ปฏิเสธจะออมชอมกับสิ่งไหน และจะก้าวเดินไปยังไงเพื่อรักษาสัจจะนั้น มันก็ควรค่าแล้วที่จะเสียน้ำตา มันก็ควรค่าแล้วที่จะเป็นโลกทั้งใบ มันก็ไม่เป็นไรนักหรอกที่จะกลายเป็น ‘คนบ้า’ ที่เฝ้าฝันว่าตัวเองก็ควรค่าและควรต้องทำสิ่งนั้นต่อไปแม้จะยังทำได้ไม่ดีนัก เพื่อสร้างโลกใบใหม่ เพื่อส่งต่อสิ่งที่เชื่อว่าจะสั่นสะเทือนหัวใจใครสักคนได้ไปให้ถึงมือเขา มอบที่ว่างให้ใครสักคนได้สร้างบทสนทนาที่มีความหมายกับจิตวิญญาณ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เพื่อส่งเสียงเล่าอะไรสักอย่างไม่รู้สี่รู้แปดก็ได้ออกไป อย่างที่ใครคนหนึ่งควรจะทำได้อย่างเสรี

          เหมือนกับที่ข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้ของไอดาทำได้แล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง.

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก