เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล: เรียนรู้ ‘ผ่านสิทธิมนุษยชน’ ‘เพื่อสิทธิมนุษยชน’

385 views
10 mins
August 30, 2023

          ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นสิ่งแสลงต่อรัฐอำนาจนิยมไม่ว่าที่ใดในโลก

          อย่างที่ เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล บอก มันเป็นสิ่งที่ท้าทายอำนาจรัฐในระยะยาว เธอเป็นผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ขององค์การนิรโทษกรรมสากล ประจำประเทศไทย (Amnesty International Thailand) คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับชื่อ แอมเนสตี้ มากกว่า

          นอกจากบทบาทในการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านการฝึกอบรมก็เป็นอีกงานหนึ่งของแอมเนสตี้ ทำให้เธอมีมุมมองต่อสิทธิมนุษยชนศึกษาทั้งในรั้วและนอกรั้วสถาบันการศึกษาที่น่าสนทนาแลกเปลี่ยน

          เป็นเรื่องน่าทึ่งที่นักเรียนระดับมัธยมของไทยต้องท่องจำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 30 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติในวิชาหน้าที่พลเมืองให้ได้ เพราะถ้าท่องไม่ได้ก็จะลำบากตอนเข้าห้องสอบ มิพักต้องพูดถึงว่าวิชานีไม่ใช่สิ่งเดียวกับวิชาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพราะอันที่จริงมันต่างกันมาก

          อาจพอกล่าวได้ว่าการศึกษาไทยค่อนข้างแข็งแรงในการเรียน ‘เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน’ ทว่าอ่อนแรงอย่างยิ่งในการเรียน ‘ผ่านสิทธิมนุษยชน’ และ ‘เพื่อสิทธิมนุษยชน’ ไม่ว่าจะท่องจำคร่ำเคร่งอย่างไร สุดท้ายนักเรียนก็จะชนเพดานในโรงเรียนซึ่งถูกทับด้วยเพดานนอกรั้วโรงเรียนอีกชั้นหนึ่ง

          แต่ไม่ใช่เหตุให้สิ้นหวัง การสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนเป็นงานยากเย็นและยาวนาน ใช้เรี่ยวแรงและเวลา ถ้าไม่ยากสิแปลก ไปดูกันว่าสังคมไทยจะสร้างสิ่งนี้ขึ้นได้อย่างไร

การศึกษาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมีความเป็นมาอย่างไร

          สิทธิมนุษยชนศึกษาถูกสร้างจากแนวคิดว่า คนยังไม่รู้จัก UN Charter ดังนั้นเพื่อสร้างการตระหนักรู้และนำไปใช้ต่อได้ การศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงถูกออกแบบเพื่อเสริมกำลังของ UN ตั้งแต่เริ่มต้น มีความเป็นระบบพอสมควรในวิธีการคิด คนที่คิดสร้างงาน สร้างระบบ จะเป็นนักกฎหมายเสียส่วนใหญ่

          แต่ถ้าเราคิดว่าสิทธิมนุษยชนศึกษาคือการศึกษา ด้านความเท่าเทียมในสังคม ด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้านสังคมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างไรให้มีความสุข หลายครั้งที่เมย์พยายามอธิบายคือ การศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน เราต้องขอบคุณงานด้านปรัชญามากๆ เพราะเราจะไม่สามารถเข้าใจสิทธิมนุษยชนได้เลยถ้าไม่เข้าใจปรัชญา มันตั้งแต่การตั้งคำถามว่าคนคืออะไร มันอาจจะไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาที่จำกัดคำว่า สิทธิมนุษยชนศึกษา

          การศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับระบบ UN มีมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มันก็มีวิวัฒนาการของมัน ระบบ UN พยายามทำงานกับรัฐ ให้รัฐมี commitment หรือ มีพันธะผูกพันด้านการพัฒนาสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้นผ่านการฝึกอบรม การศึกษา ส่วนอีกมุมหนึ่ง ถ้าเรามองสิทธิมนุษยชนเป็นการเข้าใจมนุษย์ เข้าใจศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เมย์คิดว่ามันอยู่ในพื้นที่ทั้งมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ ปรัชญา กฎหมาย

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล: เรียนรู้ ‘ผ่านสิทธิมนุษยชน’ ‘เพื่อสิทธิมนุษยชน’

แล้วในประเทศประชาธิปไตย เขามีวิธีการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนกันอย่างไร

          ถ้าในตะวันตก สังคมเท่าเทียม และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว การศึกษาภาคบังคับอาจไม่ต้องขนาดนั้น เพราะสิทธิมนุษยชนอยู่ในทุกมุมของการศึกษาของมนุษย์ ดังนั้น ถ้าถามเด็กในยุโรปว่ารู้จัก UN มั้ย เขารู้จัก แต่ถ้าถามว่าท่อง 30 ข้อได้มั้ย ไม่ได้ ไม่เหมือนกับเด็กไทยที่ท่อง 30 ข้อของยูเอ็น (หมายถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน) ได้ มันอยู่ในวิชาหน้าที่พลเมืองที่ต้องเรียน ก็ต้องเข้าใจว่ามันต่างกัน

          ถ้าเราเชื่อว่านักเรียนเป็นบุคคลที่สามารถหาข้อมูล เติบโตในทางของเขาได้ วิธีการที่ครูปฏิบัติต่อนักเรียน เคารพกันและกันในทุกมุมมอง ไม่ตีกัน เคารพความคิดเห็นของนักเรียน ก็คือการเคารพสิทธิอย่างหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากระบบการศึกษาไทยที่สอนให้นักเรียนจำเรื่องสิทธิมนุษยชนของ UN แล้วก็ไปสอบ ดังนั้น การให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแบบ formal อาจจะไม่จำเป็นต้องมีในยุโรปด้วยซ้ำไป แต่สิ่งที่เขาเรียนมากๆ คือประเด็น งานผู้ลี้ภัย แรงงาน ผู้หญิง เด็ก LGBT เอาประเด็นพวกนี้มาเทียบว่าแล้วสังคมต้องการอะไร เอาเคสมาเทียบ นอกจากนั้นแล้วก็มีการใช้ระบบหรือกลไกสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เขาพยายามสร้างให้เด็กเป็นนักกิจกรรม ได้ ออกมาเรียกร้องในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ออกมาทำงานกับเจ้าหน้าที่ ส.ส. สว. เขาบอกว่าถึงฉันจะเลือกตั้งไม่ได้ แต่พ่อแม่ฉันเลือกได้ ฉันก็มีสิทธิที่จะพูดในฐานะคนคนหนึ่งในสังคม

          เมย์คิดว่ามันเป็นการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาที่ลึกกว่า ถ้าวันหนึ่งคนเคารพสิทธิแล้ว มันไม่จำเป็นต้องมีสิทธิมนุษยชนศึกษา แต่แน่นอนว่าถ้ามองวิชาเรียนของเด็กนานาชาติจะมีวิชาหนึ่งที่พูดถึง Theory of knowledge ซึ่งต้องเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ได้เรียนเพื่อให้จำแต่เพื่อเอาไปใช้ต่อได้ แปลว่าหลายครั้งมันไม่มีวิชาสิทธิมนุษยชน ไม่มีวิชาหน้าที่พลเมืองเท่ากับบ้านเรา

แสดงว่าการเรียนการสอนด้านสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยค่อนข้างแตกต่าง?

          มีวลีที่ใช้ในสิทธิมนุษยชนศึกษา ‘about, through and for human rights’ แปลว่า ‘เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน’ ‘ผ่านสิทธิมนุษยชน’ และ ‘เพื่อสิทธิมนุษยชน’ สิ่งที่เราทำอยู่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนคือ เราเรียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่แทบไม่เรียนผ่านสิทธิมนุษยชน การเรียนผ่านสิทธิมนุษยชนคือการที่ครู นักเรียน สภาพแวดล้อมต่างๆ เอื้อต่อสิทธิมนุษยชน ส่วนเพื่อสิทธิมนุษยชนก็คือการออกมาทำอะไรสักอย่างในประเด็นสิทธิมนุษยชนไม่เฉพาะในพื้นที่นั้น แต่เพื่อให้ทั่วโลกดีขึ้น ซึ่งเมย์คิดว่าประเทศไทยสองอย่างหลังยังไม่มี

          ถ้าจะกลับมาพูดถึงประเทศไทย เราจะคุยเรื่องสิทธิด้านการศึกษามีอาจารย์หรือครูที่พยายามทำให้สามอย่างนี้ไปด้วยกันได้ แต่ที่เห็นส่วนใหญ่อยู่เรื่องที่หนึ่งคือ การพูดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ในตะวันตกเขาทำอย่างที่สองและอย่างที่สามเสียส่วนใหญ่

          แน่นอนว่ามีครูหลายๆ ท่าน โรงเรียนหลายโรงเรียนที่พยายามหาวิธีการใส่ ผ่าน และ เพื่อ ลงไปด้วย มีครูที่สอนเด็กโรงเรียนอนุบาลมีการคุยกันเรื่องบูลลี่ เรื่องเพศสภาพ มันทำให้มุมนั้นกว้างขึ้น

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล: เรียนรู้ ‘ผ่านสิทธิมนุษยชน’ ‘เพื่อสิทธิมนุษยชน’

การให้การศึกษาผ่านสิทธิมนุษยชนและเพื่อสิทธิมนุษยชนทำยังไง

          ผ่านสิทธิมนุษยชนคือการสร้างสภาพสิ่งแวดล้อม โรงเรียนยังมีการละเมิดสิทธิหรือเปล่า การตัดผมนักเรียน ครูตีนักเรียน นโยบายไม่ได้ออกมาสำหรับนักเรียนแต่ออกมาโดย ผอ. หรือกลุ่มที่ไม่ใช่นักเรียนโดยตรง คุณครู พ่อแม่ คนในชุมชน วิธีการสอน มันมีการสอนที่ยังกดทับอยู่หรือเปล่า เราอาจจะเรียนวิชาภาษาไทยก็ได้ แต่เป็นการเรียนภาษาไทยที่ผ่านเลนส์สิทธิมนุษยชนโดยการให้นักเรียนไปหารากศัพท์สักคำหนึ่งว่าทำไมเป็นแบบนี้ โดยการเปิดพื้นที่ในการพูดคุยให้เข้าใจว่าเสียงของคนที่มากกว่าและน้อยกว่า มันไม่เท่ากัน แต่ถ้าเป็นเพื่อสิทธิมนุษยชน เราคุยเรื่องรากศัพท์แล้ว รู้ว่ารากศัพท์ยังมีการกดทับอยู่ในประวัติศาสตร การพูดถึงสีผิว gender คำถามคือแล้วเราจะแก้ยังไงได้บ้าง เราจะเลิกใช้ หาศัพท์ใหม่

ทั้งที่สิทธิมนุษยชนเกี่ยวข้องกับเราทุกคน แต่ดูเหมือนว่าคนไทยจะมองว่ามันไม่เกี่ยวกับตัวเอง ตราบใดที่ฉันยังไม่ถูกละเมิด

          ซึ่งแปลก เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเองมากๆ เลย เมย์มองว่าสิทธิมนุษยชนครึ่งๆ เลยเป็นเรื่องของการที่เราจะอยู่ในสังคมอย่างไรให้มันเท่าเทียมกัน และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่จำเป็นที่เราต้องโดนละเมิดเอง แต่การที่เรามีความเห็นอกเห็นใจกัน การรู้สึกว่ามีเรื่องไม่ดีที่เกิดขึ้นแล้วเราในฐานะมนุษย์สักหนึ่งคนจะทำอะไรสักอย่างได้ กับการที่เราสร้างพลังหรืออำนาจส่วนตัวว่าต่อให้คุณอยู่ที่ไหน คุณเป็นคนที่โดนกดทับเอง หรือว่าเป็นเพื่อนบ้านข้างๆ เราสามารถสร้างโลกให้มันดีขึ้นได้

มีความพยายามนำเรื่องสิทธิมนุษยชนใส่เข้าไปในหลักสูตรการศึกษาไทยตั้งแต่เมื่อไหร่

          ถ้าจะพูดถึงเรื่องการศึกษา มีความพยายามสร้าง กสม. (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) มันเหมือนเป็นกลไกหนึ่งที่มาจากต่างประเทศ เป็นตัวกลางที่สามารถตั้งคำถามกับรัฐและสร้างบรรทัดฐานที่สูงขึ้นคือการให้ความรู้ ความตระหนัก ตั้งแต่เริ่มมี กสม. ก็เริ่มมีการเทรนนิงมากขึ้น เมย์คิดว่าการเทรนนิงส่วนใหญ่เมื่อก่อนจะอยู่นอกห้องเรียน กับชาวบ้าน กับบุคคลที่โดนกดขี่ การเข้าไปห้องเรียนมากขึ้นก็น่าจะอยู่กับ กสม.

          แต่ถ้าเป็นหลักสูตรเลย ยูเนสโกเป็นองค์กร UN แรก ที่มี mandate เรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษา เมื่อก่อน UN ยังไม่ได้คุยเรื่อง ‘เกี่ยวกับ เพื่อ และผ่าน’ เขายังมองว่า Human Rights Education คือการเข้าถึงการศึกษาเฉยๆ รัฐไทยก็เลยไปเซ็นอนุสัญญาสิทธิเด็กอาจจะเป็นช่วงแรกๆ ที่พูดถึงการเข้าถึงการศึกษา นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์สิทธิมนุษยชนศึกษาที่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องประเด็น เริ่มมาคุยเรื่องประเด็นมากขึ้นเข้าใจว่าตั้งแต่รัฐไทยส่งรายงาน World Programme for Human Rights Education-Second Phase ช่วง 2010-2014

          อีกมุมหนึ่งคือส่วนงานวิชาการ นักวิชาการฝั่งมหิดลที่เริ่มเห็นว่างานของอาเซียน เริ่มเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนใส่เข้าไป ส่วนใหญ่จะเริ่มจากงานวิชาการมาก่อน ตอนนี้เด็กเรียนเรื่องสิทธิเด็กตั้งแต่ ป.1 แต่เป็นสิทธิเด็กในการศึกษา ต้องได้รับการศึกษา ต้องได้รับนู่นนี่นั่น แล้วก็จะโตจากสิทธิเด็กมาเป็นสิทธิในเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หลังจากนั้นก็เรียนรู้เรื่องการเลือกตั้ง หน้าที่พลเมือง ตอน ม.4 5 6 ก็ต้องเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาสากล มันจะเป็นการท่องจำในวิชาสังคมหรือวิชาหน้าที่พลเมือง ตอนที่ทำวิจัยมีประมาณสองคาบสำหรับเด็กมัธยมปลายที่ต้องเรียนเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเรียนว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร 30 ข้อจากใคร มีสิทธิอะไรบ้าง

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล: เรียนรู้ ‘ผ่านสิทธิมนุษยชน’ ‘เพื่อสิทธิมนุษยชน’
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 30 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ
Photo: Amnesty International Thailand

แต่สิทธิมนุษยชนกับหน้าที่พลเมืองก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันเสียทีเดียว

          สิทธิมนุษยชน เรามองระหว่างรัฐกับประชาชน มันคือหน้าที่ของรัฐที่ต้องปกป้อง คุ้มครอง ส่งเสริม จึงมองที่รัฐเสียเยอะ แน่นอนว่าบุคคลมีหน้าที่เคารพมันด้วยและมีหน้าที่ที่จะส่งเสริมมันเหมือนกัน แต่หน้าที่รับผิดชอบส่วนใหญ่คือรัฐ ส่วนหน้าที่ของประชาชนเป็นส่วนน้อยถ้าเทียบกับ commitment ที่รัฐต้องทำ คิดว่ารัฐส่วนใหญ่ก็จะโยนให้ประชาชนเป็นคนจัดการเองทุกอย่าง คุณก็เคารพกันสิ ถ้าคุณเคารพกันเราก็ไม่ต้องทำงาน

          องค์กรเราเลยพยายามบอกว่ามันคือหน้าที่ของคุณ เรามีหน้าที่ในฐานะประชาชน แต่เลเวลของความรับผิดชอบมันคนละเลเวลมากๆ การบอกว่าตอนนี้คุณยังไม่เคารพกันเลย เทียบกับเลเวลที่รัฐต้องไม่ทรมานคน รัฐต้องไม่ฆ่าคน ต้องยึดถือกฎหมาย มันต่างกันเยอะ แน่นอนว่าเราก็มีหน้าที่ รัฐก็มีหน้าที่ แต่การศึกษา ณ ตอนนี้มันทำให้เหมือนว่าหน้าที่เป็นของเรา แต่มันไม่ใช่เลเวลที่ว่าถ้าไม่มีตรงนี้แล้วสิทธิมนุษยชนจะหายไป

ฟังแล้วทำให้คิดได้ว่าการมีวิชาหน้าที่พลเมืองแทนวิชาสอนสิทธิมนุษยชนก็มีนัยทางการเมืองอยู่

          มาก แล้วคำว่าหน้าที่พลเมืองมันต้องคุยกันต่อว่าใครคือพลเมืองด้วย มันก็เอามาจากต่างประเทศเรียกว่า civic education คือการจะเป็น civil คือการเป็นประชาชนที่เติบโตทางสมอง แล้วคนที่ไม่ใช่ civic คือใคร คนที่หลุดจากระบบคือใคร การศึกษาหน้าที่พลเมืองก็มีปัญหาอยู่ว่าถ้าเราไม่ใช่พลเมืองรัฐไทย เราอยู่ตรงไหน การศึกษาแบบนี้มันถูกตั้งคำถามเยอะมากๆ ในต่างประเทศ สมัยก่อนอาจจะรู้สึกดี เราเป็นประชาชนไทย เราต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้จะได้ไปต่อได้ แต่ลืมคิดว่าถ้าเราไม่ใช่พลเมืองไทยเราจะทำยังไง

จุดอ่อนของรูปแบบการเรียนการสอนสิทธิมนุษยชนไทยอยู่ตรงไหน

           ก็ยังเชื่อว่าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ เราจะคุยเรื่องปัจจุบันไม่ได้ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ ไม่เข้าใจการกดขี่ การที่เราลบประวัติศาสตร์ด้านการกดขี่ มันทำให้คนไม่มีอดีตที่สามารถพูดถึงได้ การที่พูดไม่ได้ ก็หมายถึงว่าเราไม่มีบรรทัดฐานที่จะคุยว่าอันไหนดีหรือไม่ดี มันส่งต่อถึงระบบการศึกษา

          หลายครั้งเราไปช่วยเทรน ทำไมครูยังให้นักเรียนจำ 30 ข้ออยู่เพราะครูไม่กล้าเปิดประเด็นใหม่ เขากลัวว่าเขาจะพูดผิด เขากลัวว่าประเด็นนี้ไปไกลมากเลยไม่รู้ว่าตัวเองวางจุดยืนตรงไหน เรื่อง LGBT เองข้างในก็ยังรู้สึกกระอักกระอ่วนอยู่เลย แล้วจะไปสอนเรื่องนี้ก็กระไรอยู่ แอมเนสตี้เมื่อก่อนโดนด่าเรื่องโทษประหาร จะให้ครูสอนเรื่องนี้ ในใจก็ยังเอาโทษประหารอยู่ จะสอนยังไง มันก็ยากในเชิงคุณครูเองที่ไม่แน่ใจ position ยังไม่เคลียร์กับตัวเอง ครูคนไหนที่รู้สึกเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เขาจะมีเวลาอิสระได้ 45 นาทีในคาบวิชาที่สอนอยู่ แต่ถ้าออกไปจากตรงนั้นเมื่อไหร่ ระบบก็ยังกดขี่เด็กๆ เหมือนเดิมซึ่งทำให้เขารู้สึกว่ามันไปต่อยากมากๆ ถ้าเราจะเปลี่ยนในโรงเรียน ผู้อำนวยการก็ยังไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่เราจะทำยังไงจะไม่ตีเด็ก การที่ต่างจังหวัดมันหนาวมากๆ เด็กก็ต้องไม่ใส่เสื้อกันหนาว หรือการหักคะแนนเพราะเรื่องส่วนตัว เมย์ถึงคิดว่ามันยังไม่ไปข้างหน้า

          ถามว่ามาจากอะไรก็มาจากการที่รัฐพยายามปิดประวัติศาสตร์ มันมีประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่กระแสหลักมากมาย มีขบวนการการต่อสู้ของบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในประวัติศาสตร์เลย เราเข้าใจสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เราไม่รู้เลยว่าคนที่ผลักดันสิทธิแรงงานคือใคร เราไม่รู้เลยว่าคนที่ผลักดันเรื่องการลาคลอดคือใคร เรื่อง LGBT คือใครในประเทศไทย มันก็ทำให้ครูมีอ้างอิงยากมากๆ ที่จะพูดถึงในบริบทประเทศตัวเอง อันที่สอง ถ้ามองว่าทำไมยังเข้าไม่ถึง สุดท้ายแล้วมันก็คือการท้าทายรัฐในระยะยาว การที่เราสร้างเด็กให้ตั้งคำถาม ให้ออกมาแก้ไข เป็นอะไรที่น่ากลัวสำหรับคนที่มีอำนาจ…มั้ง การที่เด็กออกมาตั้งคำถามว่าอันนี้ไม่ดีก็ต้องแก้สิ มันควบคุมยาก แล้วในหลายประเทศก็ไม่อยากให้มีสิทธิมนุษยชนศึกษาเพราะมันเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการทำลายรัฐที่กดขี่

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล: เรียนรู้ ‘ผ่านสิทธิมนุษยชน’ ‘เพื่อสิทธิมนุษยชน’

คุณย้ำหลายครั้งว่าสภาพแวดล้อมในโรงเรียนและนอกรั้วโรงเรียนยังมีระเบียบ กติกาที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนจึงเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้เด็กหรือประชาชนทั่วไปไม่เข้าใจสิทธิมนุษยชนเพราะมันขัดแย้งกัน

          ใช่ มันมีรายงานหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องขบวนการขับเคลื่อนของเด็กและเยาวชน เคยคุยกับอาจารย์ที่ทำเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษา นี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากๆ ถ้าระบบที่ควรเป็นไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กสามารถพูดคุย แก้ปัญหา ถ้าในโรงเรียนไม่สามารถทำได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพากันลงถนน ออกมาหาพื้นที่ ที่เขาเองรู้สึกปลอดภัยมากกว่า เข้าไปอยู่ในพื้นที่ออนไลน์ มันส่งผลเหมือนโดมิโนเอฟเฟคต์์ ว่าเมื่อคุยที่โรงเรียนไม่ได้ ไม่ปลอดภัย ทั้งโดนหักคะแนน เรียกผู้ปกครอง แต่เราไม่สามารถปิดบังข้อมูลได้แล้ว มันก็จะสร้างการแบ่งขั้ว (Polarization) กันมากขึ้น ความเชื่อมั่นในระบบก็น้อยลงมากๆ

          เมย์คิดว่าตอนนี้สถานการณ์ในบ้านเมืองไทยเด็กๆ หลายคนที่ออกมาขับเคลื่อนตอนนี้ไม่ได้เชื่อในระบบการศึกษา ทั้งในฐานะการให้ความรู้ พื้นที่ปลอดภัย และการส่งเสริมให้เขาเป็นบุคคลที่มีอนาคตได้ มันเลยยาก สิ่งที่เห็นในอนาคตคือจะมีการแบ่งแยกกันมากขึ้น เกิดการตั้งคำถามกับสังคมด้านสิทธิ กฎต่างๆ สุดท้ายไม่เคยได้มาคุยกันจริงๆ มันก็จะกลายเป็นโลกคู่ขนาน

มีตัวอย่างประเทศที่จัดการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนได้ดีมั้ย

          ให้ทายว่าประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่ทำเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาได้ดีที่สุดอยู่ที่ไหน มองโกเลีย อีกที่หนึ่งที่ทำได้ดีคือ อินเดีย ยกตัวอย่างมองโกเลียซึ่งที่จริงก็มีปัญหาเยอะ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการทำงานของภาคประชาสังคม เขาทำงานหนักมากๆ กับทั้งโรงเรียนและรัฐ บอกว่าถ้าคุณไม่มีอะไรจะขายให้ประชาสังคมโลก สิทธิมนุษยชนศึกษาคือสิ่งที่คุณสามารถขายได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาเข้าถึงกระทรวงศึกษาว่าทุกคนต้องเรียนด้านสิทธิที่ไม่ใช่แค่ความรู้ แต่เอาไปใช้ต่อได้ เขาทำงานเรื่องนี้มา 25 ปี ถ้าจะให้เทียบเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาที่ไปข้างหน้าที่สุดในเอเชียต้องให้มองโกเลีย

          อีกที่หนึ่งคือ โครเอเชียที่มีภาคประชาสังคมที่แข็งแรง ฮังการีที่รัฐบาลก็ไม่เห็นด้วยกับภาคประชาสังคมแต่ภาคประชาสังคมก็สร้างคนที่เข้าไปสอนด้านสิทธิมนุษยชนมากพอสมควร ในอินเดียมีนักคิดด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาที่ก้าวกระโดดมากๆ ชื่อ อุพันดา บัคซี เขาพยายามทำให้เห็นว่าการปลดปล่อยด้านสิทธิมนุษยชนที่อินเดียนั้นง่ายมาก คนที่โดนกดขี่เวลาออกมาพูดถึงเรื่อง สิทธิ มันคลิกกันง่ายกว่าคนในโลกที่ 1 ด้วยซ้ำ ทำไมที่อเมริกาคนที่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้คือคนผิวสี นั่นก็เป็นเพราะการกดทับมันนำมาซึ่งการพูดถึงสิทธิมนุษยชน

          ในสิทธิมนุษยชนก็มีการถกเถียงกันอยู่พอสมควร มีบางคนที่มองว่าการศึกษาสิทธิมนุษยชนแบบ UN เรียกว่า Declarationist คือนักป่าวประกาศ ทำไม่ได้จริง แต่ก็มีอีกสายหนึ่งบอกว่าสิทธิมนุษยชนคือ cosmopolitanism (การเป็นพลเมืองโลก) ไม่มีประเทศต่อกัน ทุกคนเข้าถึงได้ และก็มีอีกสายหนึ่งที่บอกว่ามันเป็นการปลดปล่อยจากการกดขี่ การศึกษาเพื่อปลดปล่อยการกดขี่ที่อาจไม่ได้อยู่ในโรงเรียน หรือโฟกัสไปที่ผู้หญิง ผู้ถูกกดขี่ การฝึกอบรมเพื่อทำความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนก็จะง่ายขึ้น มันคือการสร้างปัจเจกบุคคลให้ตั้งคำถาม

ประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ มันมีอะไรที่เป็น ‘ลักษณะร่วม’ หรือเปล่า

          คำว่า สิทธิ ในประเทศไทยมีคำถามและข้อขัดแย้งมาก บางทีประเทศไทยก็เอา บางทีก็ไม่เอาคำว่าสิทธิ บ้างก็ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เวลาอยากผลักดันเรื่องเศรษฐกิจยั่งยืนก็จะบอกว่านี่คือสิทธิของทุกคน แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการเมืองปุ๊บ มันไม่ใช่ มันคือสิทธิแบบไทยๆ แบบเอเชีย ดังนั้น ถ้ามองจุดร่วมของประเทศเหล่านี้ ก็อาจเป็นนิยามเรื่องสิทธิมนุษยชน มันไม่จำเป็นต้องนิยามแค่อย่างเดียว สุดท้ายแล้วสิทธิมนุษยชนมีพื้นฐานที่ว่าด้วยเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

          สอง ถ้าเรากลับไปคุยตั้งแต่เริ่มแรก ก็คือการตั้งคำถามกับรัฐ ว่ารัฐทำงานดีหรือยัง เคารพสิทธิพอหรือยัง รัฐส่วนใหญ่ที่ไม่เปิดพื้นที่ให้มีการตั้งคำถาม หรือเป็นอำนาจนิยมมากๆ ก็จะไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่

          อีกอันหนึ่ง รัฐที่มีพื้นที่ทางสังคมน้อย พื้นที่ถกเถียง พูดคุย พื้นที่ที่จะสร้างการศึกษา ทำยังไงให้ดีขึ้นและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมันน้อย ยกตัวอย่างสิงคโปร์แทบไม่เอาเรื่องสิทธิเลย สิงคโปร์มีจำนวนผู้ที่ถูกประหารเยอะที่สุดในเอเชีย เป็นรัฐที่เป็น autocrat อาจจะเก่งในบางมุม อย่างเช่น การแพทย์ หรือการศึกษา แต่ในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก น้อยนิดมาก นักแสดงเวทีจะไปแสดงที่ร้านอาหารยังทำไม่ได้เลย บุคคลที่สามารถตัดสินใจเองได้ไม่มี มันก็ทำให้สิทธิมนุษยชนศึกษามันยาก แล้วภาคประชาสังคมในสิงคโปร์ก็ไม่มี เขาไม่ให้มี NGO ในสิงคโปร์ รัฐที่เป็น autocrat เป็นอำนาจนิยม ที่ไม่มีพื้นที่ civic space

ในรัฐที่เศรษฐกิจดี ความเป็นอยู่ดี ทำให้คนยินยอมพร้อมใจไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า

          อาจจะเป็นไปได้ แต่ต้องเชื่อว่าทุกคนมีความแตกต่าง เชื่อว่าไม่ว่าประเทศไหนก็มีคนถูกกดขี่จากระบบเหมือนกัน สุดท้ายแล้วเขามีสิทธิมีเสียงในสังคมแบบนั้นหรือเปล่า แรงงานข้ามชาติในสิงคโปร์ที่เป็นคนอินเดีย เขาสามารถพูดได้หรือเปล่า คนจีนที่เป็นคนอุยกูร์ก็อาจไม่ได้ตอบคำถามว่าท้องมันอิ่มแล้ว แต่ไม่รู้ว่าวันไหนจะโดนจับ ข้อแตกต่างระหว่างการศึกษาด้านประชาธิปไตยกับสิทธิมนุษยชนต่างกันนิดหน่อยสำหรับเมย์ การศึกษาด้านประชาธิปไตยคือการตัดสินใจของคนส่วนมาก ไม่ใช่หนึ่งคนตัดสินใจว่าประเทศจะเป็นยังไง แต่เป็นคนส่วนใหญ่ตัดสินใจด้วยกัน สิทธิมนุษยชนมองว่าแล้วคนที่ไม่ได้ตัดสินใจ คนตัวเล็กอยู่ตรงไหนของสังคม เขามีสิทธิ มีเสียงพอหรือยัง

          ข้อสำคัญของหลักการประชาธิปไตยคือ เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นั่นคือสิ่งที่สำคัญมาก เรายังเชื่อว่าคนที่ไม่มีสิทธิมีเสียง ไม่มีแม้กระทั่งสิทธิที่จะโหวต เขาก็เป็นคนในสังคมเหมือนกัน ประชาธิปไตยมองว่าทุกคนมี 1 โหวตเท่ากัน สิทธิมนุษยชนมองว่าบุคคลมีอำนาจมาก อำนาจน้อย การตัดสินใจหรืออำนาจในการต่อรองไม่เท่ากัน ถ้าจะทำก็ควรต้องทำด้วยกัน

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล: เรียนรู้ ‘ผ่านสิทธิมนุษยชน’ ‘เพื่อสิทธิมนุษยชน’

สิทธิมนุษยชนไม่ใช่สิ่งที่มีความหมายดีนักในสังคมไทย และถูกเข้าใจว่าเป็นการใช้เสรีภาพอย่างไร้ขอบเขต เป็นการเรียกร้องจะเอานั่นเอานี่ เป็นความไร้ระเบียบ เป็นการท้าทายอำนาจ ท้าทายผู้ใหญ่หรือแม้กระทั่งเป็นการให้ท้ายอาชญากร

          ปัญหาคือใครเป็นคนตั้งขอบเขต การไม่มีขอบเขต หรือขอบเขตถูกตัดสินใจโดยผู้มีอำนาจหนึ่งกลุ่ม มันควรตั้งคำถามมั้ย การที่บอกว่ากฎหมายบ้านเมืองมี สิทธิมนุษยชนไม่ใช่การบอกว่าต้องอนาธิปไตย ที่จริงมันสร้างกฎหรือบรรทัดฐานด้วยซ้ำ แต่ต้องเป็นบรรทัดฐานที่ยุติธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพยายามทำให้สังคมไปข้างหน้าโดยยึดถือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

          ที่ว่าไร้ระเบียบหรือเปล่า เมย์อาจจะตอบคำถามเดียวกันว่าระเบียบถูกตั้งโดยรัฐที่ยังกดขี่คนอยู่ ระเบียบที่ไม่ได้มองว่าสร้างขึ้นเพื่อให้คนในสังคมอยู่ด้วยกันได้ ระเบียบที่ว่าคุณจะเป็นคนไทยได้ คุณต้องสามารถทำแบบนี้ๆๆ คนไทยที่อยู่มาก่อนรัฐไทยอยู่ตรงไหน คุณอ้างระเบียบแต่คุณไม่ได้มองเห็นคุณค่าของความเป็นคนเลย

          ท้าทาย แน่นอนว่าไม่มีรัฐไหนที่เพอร์เฟกต์ สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาอยู่ทุกวัน สิทธิมนุษยชน 50 ปีที่แล้วกับสิทธิมนุษยชนในอนาคตก็อาจจะไม่เหมือนกัน อาจจะถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ การที่รัฐไม่พัฒนาก็ต้องถูกท้าทาย การที่เราได้เรียนแค่ 12 ปีพอหรือยัง เมื่อก่อนอินเทอร์เน็ตไม่เคยอยู่ในมาตรฐานสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ข้อมูลข่าวสาร ตอนนี้ก็เป็นสิทธิมนุษยชนแล้ว ในอนาคตก็อาจจะมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย มันคือหน้าที่ที่เราต้องมาคุยกันว่าอะไรคือมาตรฐานของการดำรงชีวิตในประเทศหรือว่าในโลกนี้

          ยกตัวอย่างสวีเดนที่ขายเรื่องสิทธิมนุษยชน แน่นอนว่าเขาก็มีปัญหาเหยียดผิว ก็ต้องแก้ไปเรื่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่มีรัฐไหนที่เพอร์เฟกต์ ไม่มีรัฐไหนที่แก้ไม่ได้ ส่วนในไทย คำถามคือว่าคนเท่ากันหรือเปล่า ไม่ว่าคุณมาจากไหน เป็นใคร เป็นผู้ลี้ภัยเราก็มีสิทธิเท่ากัน สังคมไทยยินดีที่จะเปิดตรงนั้นมั้ย การตีขอบเขต ระเบียบ ความท้าทายต่างๆ มันมาจากความกลัวของรัฐที่จะเปลี่ยนอะไรสักอย่าง ความกลัวว่าอำนาจของคุณจะลดลงหรือถูกท้าทาย เมย์คิดว่ามันมาจากความกลัว ถ้าเราเชื่อว่าการท้าทายเป็นสิ่งที่ดี มันก็อาจจะเกิดขึ้นได้

          เรื่องสิทธิมนุษยชนในประวัติศาสตร์ไทยต้องยอมรับว่า มันเกิดขึ้นมาจากการต่อสู้ ต่างประเทศก็เหมือนกัน ไม่มีใครให้สิทธิง่ายๆ หรอก ทั้งในอินโดฯ ฟิลิปปินส์ พม่า ลาว สิทธิมนุษยชนมาจากการต่อสู้ทั้งหมด รัฐที่ไหนจะ อ๊ะ เอาไปค่ะ ในไทยมีตั้งแต่การต่อสู้เพื่อความเชื่อว่าอำนาจเป็นของบุคคล เชื่อว่าเราสามารถตัดสินใจได้ เป็นการต่อสู้เพื่อเราจะไม่ถูกกดขี่แรงงาน เราจะมีที่ดินทำกินได้หรือเปล่า แล้วก็เป็นการต่อสู้ทางการเมืองเสียเยอะ ก็เสียดายว่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับสภาพสังคม วัฒนธรรม ESCR (Economic Social and Cultural Rights) มันถูกเขียนในประวัติศาสตร์น้อย เพราะมันถูกมองเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

ในสังคมอื่นๆ ก็คงมีความคิดแบบนี้เหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วยังมีกลไกบางอย่างที่รักษาแก่นแกนของสิทธิมนุษยชนให้คงอยู่ได้ในสังคม

          ยกตัวอย่าง เบรวิก (แอนเดอส์ เบห์ริง เบรวิก – Anders Behring Breivik) คนที่ยิงนักกิจกรรมของพรรคฝ่ายซ้ายเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นนาซีไรท์วิงเลย แบบนี้ก็ยังมีอยู่ในสวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ แต่เขาเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ แน่นอนว่ามันมีความขัดแย้งอยู่แล้ว เขาเชื่อว่าไม่ว่าคุณจะเป็นโจร ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก่อการร้าย ก็มีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส ไม่ถูกทรมานเหมือนกับเรา

          แน่นอนว่าไม่ใช่ให้ท้าย แต่เป็นการถือว่าทุกคนยังเป็นมนุษย์อยู่ การมีศาลตัดสินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา มันเป็นหนึ่งในวิธีการที่สร้าง redemption หรือกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ในประเทศนอร์เวย์ก็เหมือนกัน คิดว่าเด็กๆ รุ่นนี้เขาเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น การมีข่าวออกมา การมีคนพูดเรื่องนี้ วันที่มีการชุมนุมของคนขวาจัดในออสโล สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเจ้าหน้าที่รัฐก็ให้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แน่นอนว่ามีเส้น การใช้เฮทสปีช (Hate Speech) การเหยียดเชื้อชาติ เพศสภาพ ถ้ามันเกิดขึ้นก็ต้องเอาขึ้นศาล สื่อควรให้คุณค่ากับสิ่งนี้ขนาดไหน ไม่ให้คุณค่าเลยหรือให้คุณค่าเกินเบอร์ มันมีการคุยเรื่องนี้พอสมควร แล้วมันก็มีการคุยกันว่าสื่อจะให้สังคมรับรู้ว่ายังมีเรื่องนี้เกิดขึ้น เราจะไม่ปิดมัน แต่เราจะโชว์ความหลากหลายของมนุษยชาติให้เห็น

          กลุ่มคนขวาจัด เบรวิกที่อยู่ในคุกก็ยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เขายังสามารถโหวตได้ ทุกสามถึงห้าปีก็ยังมีการเอาคดีมาทบทวนใหม่ว่าเขาสามารถกลับไปอยู่ร่วมกับสังคมได้หรือเปล่า ถ้าเป็นคนไทยก็ขังลืมไปแล้ว เขาเชื่อว่าแต่ละคนควรอยู่ในสังคม คุกหรือกระบวนการยุติธรรมคือการช่วยให้เขากลับมาอยู่ในสังคมได้ เวลาทุกคนพูดถึงคุกก็พยายามพูดถึงของนอร์เวย์ มันก็ยากพอสมควรกับญาติ มันใช้ความกล้าหาญมากๆ ที่จะบอกว่าสังคมไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ มันมีทุกคนอยู่ในสังคม เราจะสร้างสังคมยังไงให้ทุกคนอยู่ด้วยกันได้ การที่รัฐและคนอดทนต่อความแตกต่าง เชื่อในความแตกต่าง เวลาเกิดปัญหาขึ้นช่วยกันแก้ ซึ่งมันอาจจะไม่เหมือนรัฐไทย ณ ตอนนี้ที่ไม่ได้เชื่อในความแตกต่างขนาดนั้น ทุกคนต้องเหมือนกัน ต้องเป็นแบบเดียว คุณต้องเป็นคนดีเท่านั้น

เวลาพูดถึงสิทธิมนุษยชนก็มักอิงกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล สุดท้ายแล้วสิทธิมนุษยชนสามารถปรับให้เข้ากับบริบทสังคมแต่ละที่ได้หรือเปล่า เช่น สิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ แบบอังกฤษ แบบจีน แบบพม่า แบบญี่ปุ่น

           มีคนเขียนหนังสือตั้งคำถามเรื่องนี้เยอะมาก พูดแม้กระทั่งสิทธิมนุษยชนกับศาสนาที่ต่างกันมันได้หรือเปล่า ถ้าเป็นในสายวิชาการก็จะบอกว่า ไม่ได้ ถ้าเรามองว่าทุกอย่างต้องสากล ต้องเหมือนกัน มีสายวิชาการที่มองว่ามันต้องไม่เหมือนกันเลย คำถามคือใครเป็นคนบอกว่าต้องไม่เหมือนกัน คนสุดท้ายที่เขียนเอกสารขึ้นมาก็คือรัฐบาลที่อยากถืออำนาจ ได้ถามคนจริงๆ หรือเปล่าว่าการที่แตกต่างกันเพราะว่าคุณไม่อยากทำเหมือนเขา คุณกลัวอะไร หรือว่าเป็นความแตกต่างจริงๆ หลายครั้งคำว่า แตกต่าง ถูกใช้ เป็นความ unique ไม่ใช่จากประชาชน แต่จากรัฐที่พยายามสงวนท่าทีอะไรสักอย่าง

          เมย์มองว่ามันสามารถทำทั้งสองอย่างรวมกันได้ เราเชื่อว่าสิทธิมนุษยชนคือมาตรฐานที่สุดท้ายแล้วเป็นการตกลงของสังคมด้วยกัน มันไม่ได้มาจากบนฟ้าที่บอกว่าเราต้องทำยังไง ดังนั้น เราก็ต้องไปด้วยกัน อันที่สอง ถ้าเรามองเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน วิธีการเคารพกัน ถ้าเราพูดถึงประวัติศาสตร์ เมื่อก่อนเขามองว่านี่คือการเคารพ สิบปีในอนาคตอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เป็นการละเมิด ก็มองว่าวัฒนธรรมมันปรับเปลี่ยนได้ตามวิวัฒนาการ ซึ่งเมย์คิดว่าสิทธิมนุษยชนก็เหมือนกัน มันมีวิวัฒนาการของมัน ไม่ใช่อยู่เป็นกล่องแล้วเราขยับไม่ได้เลย

          ความเป็นไทย สิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ คืออะไร ถ้าให้มอง ณ ตอนนี้ก็คือ การที่ไม่อยากเอา commitment มาทำให้สังคมมันดีขึ้น สิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ คือผักชีโรยหน้า คือการที่เด็กเคารพผู้ใหญ่เหรอ หรือสุดท้ายแล้ว mutual respect เป็นของมันอยู่แล้ว แต่การตั้งคำถามหรือเปล่าที่เขาไม่เห็นด้วย หรือการที่นับถือศาสนาพุทธก็อยู่ในสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ตรงนั้นต้องตั้งคำถามว่าสิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ คืออะไร

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล: เรียนรู้ ‘ผ่านสิทธิมนุษยชน’ ‘เพื่อสิทธิมนุษยชน’

เวลาแอมเนสตี้ไปฝึกอบรมกับเด็กๆ ถ้ามีเด็กประถมคนหนึ่งเกิดถามขึ้นมาว่า ทำไมคนถึงเท่ากัน ในเมื่อก็เห็นอยู่ว่าแต่ละคนไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน

           คนเท่ากันไม่ได้บอกว่าคนต้องเหมือนกัน เราเชื่อว่าสิทธิมนุษยชนกับความหลากหลายไปด้วยกันได้ พหุวัฒนธรรมกับสิทธิมนุษยชนควรไปด้วยกัน สุดท้ายแล้วเท่ากันไม่ได้หมายถึงสีผม ส่วนสูง แต่คือเท่ากันด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มันคือข้างใน ไม่ใช่ข้างนอก เราก็พยายามบอกเขาว่าสิทธิมนุษยชนพูดถึงความหลากหลาย นับถือความหลากหลาย และเชื่อว่าความหลากหลายทำให้สังคมไปข้างหน้าได้ การที่เราอยากให้บรรทัดฐานสูงขึ้นมันต้องมีความหลากหลาย นั่นคือสิ่งที่อยากจะบอกเด็กหรือนักเรียนที่อยู่ตรงนั้น

กระบวนการสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ในสิทธิมนุษยชน ทำอย่างไร เพราะแต่ละที่มีบริบทเฉพาะ การไปอบรมที่สามจังหวัดชายแดนใต้กับที่เชียงใหม่น่าจะแตกต่างกัน

          ถ้าเราเชื่อว่าสิทธิมนุษยชนศึกษาคือการปลดปล่อยการกดขี่ การกดขี่ในภาคใต้กับที่เชียงใหม่ต่างกันอยู่แล้ว ทั้งบริบทประวัติศาสตร์ สิ่งที่สำคัญมากๆ และพยายามบอกเจ้าหน้าที่ทุกคนคือ เราไม่ใช่เจ้าของประเด็น เราไม่มีทางรู้ความรู้สึกนั้นหรอก การที่ต้องโดนตรวจฉี่ทุกวันเพราะหน้าตาเหมือนมุสลิม การที่ต้องโดนตรวจดีเอ็นเอ การที่รู้ว่าญาติสักคนหนึ่งเคยเข้าคุกหรือเคยโดนฆ่า เราไม่มีทางรู้ความรู้สึกตรงนั้นหรอก แต่สิ่งที่เราให้ได้คือพื้นที่การถกเถียง การคุย และการดูแล อันนี้อาจจะเป็นอย่างเดียวที่ใช้เหมือนกัน

          สิ่งที่เราให้ได้ก็คือประสบการณ์ นำมาดัดแปลงใช้ ถ้าเรามองว่ามันคือพื้นที่การกดขี่ การออกแบบเซคชันหรือวิธีการมันต่างกันอยู่แล้ว การทำรูปแบบการเรียนการสอนแล้วใช้ได้หมดเลย คิดว่าทำไม่ได้จริง มันยากมากๆ มันอาจจะมีมาตรฐานอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่เราก็ต้องปรับให้ตรงกับพื้นที่ ภาษา เวลาสอนครูก็บอกกับครูหลายคนว่าภาษาเป็นหนึ่งอย่างที่เรายังใช้กดขี่อยู่ การที่เราทำงานกับกลุ่มมานิ (ซาไก) ที่อ่านภาษาไทยไม่ออก แล้วก็เอาบทความให้เขาอ่าน มันใช้ไม่ได้อยู่แล้ว เราก็ต้องออกแบบเปลี่ยนเป็นการปั้น การพูดถึง การใช้สัญลักษณ์ การแสดงละคร เพื่อทำให้เขาเข้าใจ เข้าถึง ประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

          สอง เรื่องประเด็น หลายครั้งเราเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนสากลมาพูดเยอะๆ มันทำให้เขารู้สึกจับต้องไม่ได้ สิ่งสำคัญมากๆ คือจะทำยังไงให้มีจุดเชื่อมโยงกับเหตุการณ์หรือพื้นที่ที่เขาเจอ คนที่ทำงานต้องทำงานเยอะหน่อยว่าในพื้นที่ตรงนั้นมีอะไรบ้าง แม้กระทั่งห้องเรียนเราก็เชื่อว่าก็มีการกดขี่อยู่ มีอะไรที่เขาเห็นในแต่ละวัน สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา สภาพอากาศ PM 2.5 น้ำดื่ม พวกนี้สามารถเอามาทำให้เขาเห็นว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ

          ถ้ามีเวลาเราก็จะพยายามออกแบบว่าเขาต้องการอะไรจากการอบรม แล้วพยายามกระตุ้นให้รู้สึกว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะคนที่โดนกดขี่หรือถูกละเมิด ความรู้สึกท้อแท้หรือจะไปต่อมันหนักสำหรับเขา เราไม่ได้บอกว่าคุณทำอย่างนี้ๆ สิ แต่เรามีหลายคนที่รับฟังถ้าเขาไม่สามารถไปต่อได้ เราพยายามสร้างพื้นที่แชร์ประสบการณ์ว่าเราเจอมาเหมือนกัน เราสามารถแชร์ได้ วันไหนคุณไม่ไหวก็คุยกับเพื่อนได้ หรือนี่คือกลไกที่มีอยู่นะ วันไหนคุณอยากใช้กลไกพวกนี้ก็มาหาเรา มันก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้เขาเห็นว่าเราสามารถถทำอะไรสักอย่างได้ หลังจากสอนเสร็จก็จะบอกว่าเรามี seed fund ถ้าเขากับเพื่อนอยากจะทำอะไรสักอย่าง มันเป็นพื้นที่ให้เขาทดลองทำ

          อย่างเช่นช่วงนี้ทำแคมเปญเรื่องผู้ลี้ภัย มันยากมากๆ สำหรับคนไทยที่จะเข้าใจเรื่องผู้ลี้ภัย สิ่งที่ทำคือเราเทรนผู้ลี้ภัยในเมืองสัญชาติกัมพูชา ชาวบังคลาเทศ พูดภาษาไทยได้ เพื่อให้เขาเป็นครูเอง มาสอนสิ่งทีเกิดขึ้น แล้วให้นักเรียนเรียนเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในข่าว โดยผู้ลี้ภัยมาสอนเอง เลเวลของ empathy หรือความเข้าอกเข้าใจก็ต่างกันแล้ว เราจึงพยายามทำงานในเชิงลึกว่าการเห็นคนต่อหน้ามันสร้างแรงผลักดันว่าเขาก็คนเหมือนกัน เขาก็พยายามทำดีที่สุดแล้ว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

           เราเคยทำเทรนนิงสามวัน นักกิจกรรมไทยครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งเป็นนักกิจกรรมที่เป็นผู้ลี้ภัยมาเจอกัน ไม่ได้ทำเรื่องประเด็นเพราะเราเชื่อว่าเรื่องประเด็นเขาหาได้ นักกิจกรรมไทยบอกว่าโดนกดขี่เยอะแยะมากมาย เจอนักกิจกรรมผู้ลี้ภัย คนละเลเวลเลย เพราะออกจากบ้านไปก็อาจโดนจับ บัตรสีชมพูก็ไม่มี ไม่รู้ว่าอนาคตจะอยู่ตรงไหน เรียนหนังสือก็ไม่ได้ ทำงานก็ไม่ได้ ฉันเรียนออนไลน์ แต่อยากได้หนังสือ เด็กโรงเรียนนานาชาติก็ทำ fund racing หนังสือให้ แล้วก็ขอบริจาคหนังสือที่โรงเรียนไม่ได้ใช้แล้วมาให้ผู้ลี้ภัย มันก็สร้าง connection มากขึ้น สิทธิมนุษยชนศึกษาของแอมเนสตี้ไม่ได้มองแค่ว่าสอนแล้วก็จบ แต่มองว่าเราจะเปลี่ยนแปลงยังไงได้บ้าง

คุณมีจินตนาการต่อสิทธิมนุษยชนในระบบการศึกษาไทยอย่างไร

          คนพูดว่าเด็กไม่รู้ เด็กไม่แคร์ ไม่สนใจเรื่องนี้ ก็ไม่อยากให้ตั้งความคาดหวังต่ำกับเด็กเกินไป เพราะเมย์เชื่อว่าถ้ามีพื้นที่ มีสิ่งแวดล้อมที่ช่วยเขา มีเด็กหลายคนที่ต้องการใช้พื้นที่ปลอดภัยตรงนั้นอยู่แล้ว และถ้าเราสร้างพื้นที่ให้มันมีความสุข สนุก และรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ที่เขาสามารถโตในสิ่งที่เขาอยากจะเป็นก็อาจเป็นพื้นที่ที่ทำให้สิทธิมนุษยชนศึกษาโตได้ง่ายขึ้น

          สอง ในภาพฝันเลย เราก็ไม่อยากมีแอมเนสตี้ในประเทศไทยเหมือนกัน ในวันหนึ่งถ้าเรื่องสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญแล้ว มันไม่ต้องมาคุยเรื่องนี้หรอก แต่ ณ วันนี้ยังไม่ถึง ยังมีปัญหา เรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษามันกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการต่อรอง ต่อสู้ สร้างความตระหนักรู้ และทำยังไงให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

          สิ่งที่อยากให้โรงเรียนทำ ก็ต้องคุยกับระบบโรงเรียน คุณครู สภาพแวดล้อมต่างๆ อันนี้เมย์คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญมากๆ สอง เรื่องประเด็น คิดว่าเราต้องช่วยกันอัปเดตประเด็นว่าอันไหนคือการละเมิดสิทธิหรือไม่ละเมิดสิทธิ เรื่องคอนเทนต์ในการเรียน นักเรียนหลายๆ คนจะบอกว่าไม่เคยเรียนเลย ทำไมไม่มีเลย เรื่องนี้มันธรรมดาสามัญมากเลยนะ ทำไมไม่เรียนกัน ครูหรือระบบการศึกษาก็ต้องเชื่อว่าเด็กสามารถตัดสินใจได้ เรียนรู้เรื่องพวกนี้ได้ เราต้องให้อิสระกับนักเรียนที่จะสามารถตัดสินใจและทำอะไรทุกอย่างได้

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล: เรียนรู้ ‘ผ่านสิทธิมนุษยชน’ ‘เพื่อสิทธิมนุษยชน’

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก