ปกรณ์ สิงห์สุริยา: การรู้เท่าทันศาสนา (Religious Literacy) ทักษะชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับความแตกต่าง

1,235 views
14 mins
February 27, 2024

          ศาสนามีอิทธิพลต่อมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย มันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผ่านรูปแบบพิธีกรรม แนวปฏิบัติ และความเชื่อต่างๆ อีกทั้ง ‘คุณค่า’ และ ‘ความดีงาม’ ของแต่ละศาสนาก็ไม่เหมือนกัน มันขีดเส้นแบ่งเขา แบ่งเราออกจากกัน และศาสนาของเราย่อมดีกว่าศาสนาอื่นซึ่งความเชื่อทำนองนี้แหละที่มักสร้างความขัดแย้ง

          ในสังคมที่เต็มไปด้วยข้อมูลและความหลากหลายการรู้เท่าทันหรือการฉลาดรู้ (Literacy) เป็นทักษะสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้เราฉุกคิดและยับยั้งความสุดโต่งไม่ให้แพร่กระจาย ศาสนาก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

          ปกรณ์ สิงห์สุริยา จากภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้หนึ่งที่สนใจประเด็นการรู้เท่าทันหรือการฉลาดรู้ทางศาสนา (Religious Literacy) และเห็นว่าเป็นหนึ่งทักษะสำคัญที่คนในสังคมควรมีเพื่อการอยู่ร่วมกับความหลากหลายทางศาสนา ซึ่งอาจกินความกว้างไกลไปถึงแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ขึ้นอยู่กับว่าผู้ศึกษาจะตีกรอบคำว่า ศาสนา ไว้อย่างไร เพราะถึงที่สุดแล้ว แนวคิดทางการเมืองก็เป็นหนึ่งในความเชื่อมากมายเช่นเดียวกับศาสนาที่แพร่หลายอยู่ในสังคมและก็มักจะปะทะกันอยู่เสมอ

          เขาเสนอว่าควรสอนศาสนาอย่างเป็นวิชาการมากกว่าการสอนเพื่อให้เป็นศาสนิกที่ดี เน้น ‘การเรียนรู้จากศาสนา’ มากกว่า ‘การเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนา’ ก่อรูปความเข้าใจว่าศาสนามิใช่สิ่งที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว ตรงกันข้าม ศาสนามีปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม ความเชื่อ การเมือง และอื่นๆ เสมอในที่ที่ศาสนาเข้าไป แม้แต่แนวคิด ‘อกาลิโก’ ที่อาจแปลคร่าวๆ ได้ว่าไม่ขึ้นกับกาลเวลา ถึงที่สุดแล้วแต่ละสำนักคิดหรือนิกายก็ใช่ว่าจะตีความคำนี้เหมือนกัน

          Religious literacy ยังรวมถึงการเท่าทันความดีงามแบบศาสนา เพราะ ‘คนดี’ ของแต่ละศาสนามีหน้าตาไม่เหมือนกันหรือบ้างก็ขัดแย้งกัน จำต้องมีพื้นที่ทางใจที่กว้างพอจะวิพากษ์ตนเองและวิพากษ์ผู้อื่นที่มิใช่มีการเอาชนะคะคานเป็นเป้าหมาย แต่เพื่อทำความเข้าใจคุณค่าที่แต่ละศาสนายึดถือ โดยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย พร้อมกับนำศักยภาพด้านบวกมาใช้และลดทอนศักยภาพด้านลบของมัน

          ทั้งหมดนี้เป็นการสรุปอย่างย่นย่อของบทสนทนาขนาดยาวเกี่ยวกับการรู้เท่าทันหรือการฉลาดรู้ทางศาสนา ซึ่งปกรณ์เห็นว่าเป็นเรื่องยากเย็นยิ่งที่จะสร้างการเรียนรู้ลักษณะนี้ในสังคมไทย

ปกรณ์ สิงห์สุริยา: การรู้เท่าทันศาสนา (Religious Literacy) ทักษะชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับความแตกต่าง

การรู้เท่าทันหรือการฉลาดรู้ทางศาสนาคืออะไร นับรวมไปถึงความเชื่อด้านจิตวิญญาณอื่นๆ เช่น เวทมนตร์ แม่มด ไสยศาสตร์ ฯลฯ ด้วยหรือเปล่า?

          อาจจะเริ่มจากอธิบายคร่าวๆ เกี่ยวกับคำว่า literacy นิดหนึ่ง ในวงการการศึกษาก็คิดกันมากกับคำว่า literacy เรียนจบไปก็ต้องมี health literacy มี digital literacy religious literacy ก็เป็นอันหนึ่งที่คนพูดถึง คำว่า literacy ผูกพันกับการศึกษาหรือการเรียนการสอนเพราะอย่างสมัยก่อนโน้นเวลาเด็กไปเรียนหนังสือ เราก็คิดว่าจบมาต้องมี literacy คืออ่านออกเขียนได้ แต่ตอนหลังก็บอกว่าน่าจะทำอย่างอื่นมากไปกว่านั้น ปัจจุบัน literacy ที่ใช้เป็นการขยายความออกจากความหมายเดิม สมัยนี้เด็กไปเรียนหนังสือต้องมี literacy ด้านต่างๆ

          ประเด็นต่อไปก็คือคำว่า literacy พอแปลเป็นภาษาไทยก็ดูฉลาดมากเลย ฉลาดรู้ บางคนแปลว่ารอบรู้ แต่ literacy ที่จริงความหมายก็ระดับเดียวกับ literate คืออ่านออกเขียนได้ เพราะฉะนั้น literacy เขาเปรียบเทียบเหมือนกับการเดินเรือคือรู้เหนือรู้ใต้ รู้ว่าจะหันไปทิศทางไหน สามารถหาข้อมูลต่อเองได้ literacy ทางศาสนาก็คือแบบนี้ พอคนพูดว่าละหมาด ถือศีลอด ไม้กางเขน หรืออริยสัจ 4 ก็พอจะรู้ว่าคืออะไร แต่ไม่ถึงขนาดจะไปอธิบายได้เหมือนพระ เหมือนคนเรียนศาสนามาโดยตรง เพราะฉะนั้น religious literacy เริ่มต้นจริงๆ มันแค่นี้ คือคุณก็รู้แค่ว่าศาสนาต่างๆ มีความคิดอะไรเป็นพื้นฐาน แต่ตอนหลังคำว่า religious literacy คนก็ใส่ความหวังบางอย่างเข้าไปมากขึ้น เพราะสังคมมีหลากหลายศาสนา คนก็หวังว่ามี religious literacy แล้วเข้าใจคนที่อยู่ต่างศาสนาด้วย

          พออย่างนี้มันก็เริ่มขยายออกไปกว่าเนื้อหาของศาสนา คราวนี้ที่ถามว่ามันเกี่ยวกับเรื่องเวทมนตร์ ไสยศาสตร์มั้ย ก็มีกลุ่มหนึ่งของ religious literacy บอกว่าถ้าคนมี religious literacy จะเข้าใจต่อไปอีกว่าอะไรคือศาสนา ศาสนานั้นผันแปรไปตามกลุ่มคน เพราะฉะนั้นนิยามของศาสนาก็จะยืดหยุ่น เช่นถ้าเราเป็นพุทธจ๋าเลย ไม่ใช่เชิงวิชาการ เราเห็นคนไปไหว้ศาลพระภูมิ ไปสะเดาะเคราะห์ ทำพิธีแก้กรรม เราก็จะบอกว่านี่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ แต่ถ้ามี religious literacy ในความหมายที่ขยายขึ้นก็จะบอกว่า ไม่ใช่ ต้องยอมรับ ถ้าคนบอกว่าแก้กรรม ปล่อยปลาสะเดาะเคราะห์เป็นเรื่องศาสนา มันก็เป็น แล้วมันก็ขยายไปเรื่อย ถ้าเขาคิดว่าไหว้จอมปลวกเป็นศาสนาก็ถือว่าเป็น คือจะทำให้ใจกว้างเรื่องศาสนามากขึ้น

          ที่สำคัญในต่างประเทศเคลื่อนไหวกันเยอะก็คือในที่สุดให้ยอมรับการไม่ยอมรับศาสนาด้วย มนุษยนิยมหรือการไม่เชื่อในศาสนาก็ถือว่าอยู่ใน category ของศาสนา เพราะศาสนาเป็นเรื่องของการเชื่อ เป็นความคิดเกี่ยวกับชีวิตในมวลรวม ฉะนั้นถ้าผมเชื่อว่าไม่มีพระเจ้าก็คือชีวิตผม ก็ต้องยอมรับ หรือผมเชื่อแบบมนุษยนิยมก็ต้องยอมรับว่าอันนี้ก็เป็นน้องๆ ศาสนา เพราะฉะนั้นกลุ่มที่ขยายความ religious literacy ไปถึงขนาดนี้ก็พูดถึงอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย มันน้องๆ ศาสนาเลย มันอธิบายทุกแง่มุมของชีวิต แล้วมันทำให้คนฆ่ากันได้เหมือนกับศาสนาทำให้คนฆ่ากัน

          นิยามศาสนาจะไม่จำกัดกับที่คำตอบมาตรฐานนิยามไว้ จะไหว้จอมปลวกก็ได้ แล้วถ้าต่างประเทศก็ขยายไปอีกเพราะมีคู่แข่งกับศาสนา เช่น โลกทัศน์แบบมนุษยนิยมหรือไปถึงอุดมการณ์ทางการเมือง ทีนี้ก็แล้วแต่ประเทศว่าจะไปถึงขนาดไหน จะให้ literacy ไปถึงขนาดไหน

แล้วในกรอบการศึกษาของคุณ religious literacy กว้างแค่ไหน

          ที่ผมศึกษาจะตีสเกลออกมาเลย ตั้งแต่พื้นฐานที่สุดไปจนถึงที่ซับซ้อนมากๆ คือไม่ดูที่เนื้อศาสนา แต่ไปดูที่คอนเซปต์ศาสนา แต่ละคนก็นิยามศาสนาไม่เหมือนกัน บางคนไหว้พระภูมิก็บอกว่าธรรมะธัมโม แต่ถ้าเป็นพุทธแบบเรียนนักธรรมก็บอกว่าไม่ใช่ แต่ถ้ามี religious literacy ก็จะใจกว้างบอกว่าถ้าเขาว่าเป็นศาสนาก็เป็น เราก็จะเคารพเขา ไม่ดูถูกเขาว่าเป็นพุทธเทียม

ทำไมเราจึงต้องรู้เท่าทันหรือมีความฉลาดรู้ทางศาสนา มันสำคัญอย่างไร

          ประมาณปลายทศวรรษ 60 มีความเคลื่อนไหวในสหรัฐฯ สมัยก่อนเวลาสอนศาสนาในโรงเรียนก็เหมือนกับประเทศไทยตอนนี้คือเอาศาสนาแบบศาสนิกมาสอน สอนให้มีศรัทธา แต่ในสหรัฐฯ ก็มีปัญหา ยกตัวอย่างเช่นลูกฉันอยู่คริสต์นิกายนี้ทำไมเอาคริสต์อีกนิกายมาสอน ทำไมฉันต้องไปปฏิบัติแบบคริสต์อีกนิกายหนึ่ง ก็ไปฟ้องศาล ในที่สุดศาลก็บอกว่าไม่ได้สิ ถ้าทำอย่างนี้มันละเมิดเสรีภาพทางศาสนา ตอนนั้นคนที่ไม่ชอบศาสนาก็ดีใจ งั้นเอาศาสนาออกไปจากโรงเรียนให้หมด

          ทีนี้ฝ่ายการศึกษาก็บอกว่าถ้ามาเรียนหนังสือแล้วไม่รู้จักศาสนา มันเหมือนที่ผมเปรียบเทียบว่ามาเรียนหนังสือแล้วไม่รู้แผนที่โลก ไม่รู้ว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหน จบออกไปแล้วไม่ใช่ลักษณะผู้มีการศึกษา จึงเป็นไปไม่ได้ว่ามาเรียนหนังสือแล้วจะไม่รู้จักศาสนา ก็เลยต้องบอกว่างั้นยังต้องสอนศาสนาในโรงเรียน แต่ไม่สอนแบบสอนศาสนิก คือต้องสอนศาสนาอย่างเป็นวิชาการนั่นก็คือแทนที่จะเอานักธรรมตรี โท เอก แทนที่จะเอาคำสอนของคาทอลิก หรือคำสอนของอิสลามมา ก็ให้เอาเนื้อหาความรู้จากสาขาวิชาที่เรียกว่าศาสนศึกษา religious study ซึ่งเป็นการศึกษาศาสนาอย่างเป็นวิชาการมาสอน

          พอเป็นแบบนี้ก็ไม่ได้เน้นศรัทธา ไม่ได้เน้นการสืบทอดศาสนา ก็เป็นจุดกึ่งกลางว่าหนึ่ง ไม่ละเมิดเสรีภาพทางศาสนาเพราะไม่บังคับให้มีศรัทธา แต่สองก็ยังรู้จักโลกนี้ มีความรู้เกี่ยวกับศาสนา แต่คุณจะมีศรัทธาส่วนตัวอะไรก็เรื่องของคุณ

          แต่พอมาตอนหลังก็มีปัญหาว่าสังคมหลากหลายศาสนาก็มีการขัดแย้งกัน โดยเฉพาะมีกระแส post-secular คือ secular เป็นโลกวิสัย แยกรัฐออกจากศาสนา แต่ไม่ได้ขจัดศาสนา เพียงแต่การบริหารกิจการรัฐไม่เอาศาสนาเข้ามา คือพวก secular จะมีอคติหน่อยทำเป็นไม่เห็นศาสนา แต่ post-secular บอกว่า ถึงคุณไม่เอาศาสนามายุ่งเกี่ยวกับกิจการรัฐ แต่คุณจะทำเป็นไม่เห็นศาสนาไม่ได้ ปฏิเสธอิทธิพลของศาสนาไม่ได้ ก็มีความตระหนักในความสำคัญของศาสนา ความหลากหลายของศาสนา มีความคิดเรื่องพหุวัฒนธรรมซึ่งวัฒนธรรมกับศาสนาก็สัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้นเป้าหมายของ religious literacy ก็เลยขยายขึ้นเพื่อให้อยู่กับคนอื่นที่มีความแตกต่างหลากหลายในสังคมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา ถ้าเราไม่มี religious literacy เราจะไปล้อคนต่างศาสนา เราจะไม่ทำอย่างนั้นเพราะเป็นการไม่เคารพศาสนาผู้อื่น ก็จะเข้าใจซึ่งกันและกัน เคารพซึ่งกันและกัน เป็นเป้าหมายสำคัญในสมัยนี้ของการสอน religious literacy

          แน่นอน มันมีนักคิด นักปรัชญาบางคนพูดถึง religious literacy ในด้านอื่นคือบอกว่าปรัชญามีหน้าที่หนึ่งคือการขบคิดเกี่ยวกับความหมายชีวิต การมีชีวิตที่ดี ทีนี้อะไรคือชีวิตที่ดี คนควรมีชีวิตอย่างไร ก็มีนักปรัชญาคิดว่าถ้าให้ไปเรียนปรัชญาบางทีคิดเป็นนามธรรมเกินไป ก็เรียนศาสนาจะได้คิดว่าชีวิตแบบไหนถึงจะดี อันนี้ก็จะเป็นประโยชน์ส่วนตัวกับผู้เรียน แต่ก็ไม่ใช่กระแสหลัก ที่เป็นตัวหลักคือมาเรียนเพื่อไปเป็นสมาชิกที่ดี อยู่กับคนที่แตกต่างได้ในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา อันนี้ก็เป็นเป้าหมายปัจจุบัน

ปกรณ์ สิงห์สุริยา: การรู้เท่าทันศาสนา (Religious Literacy) ทักษะชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับความแตกต่าง

การศึกษาศาสนาอย่างเป็นวิชาการเป็นอย่างไร

          อันนี้ก็เป็นเรื่องท้าทายเหมือนกัน ปกติเวลาเราสอนศาสนา เราก็คิดว่าคนที่เป็นศาสนิกถึงจะรู้ดีที่สุด เราก็นิมนต์พระมาสอนในโรงเรียน แต่ที่จริงนั่นเป็นการสอนศาสนาแบบศาสนิก บางทีก็เรียกว่าสอนแบบจารีต จริงๆ แล้วการสอนหรือการศึกษาศาสนาอย่างเป็นวิชาการไม่ได้เป็นแบบจารีต คือแต่ละจารีต พุทธ คริสต์ อิสลาม เขามีวิธีการในการพัฒนาเนื้อหาของเขา คือการตีความของเขาที่แตกต่างหลากหลายไป

          แต่การศึกษาศาสนแบบเป็นวิชาการ นิยามที่ง่ายที่สุด มันเป็นสหสาขา เช่นผมก็เอาปรัชญามาศึกษาศาสนาได้ ผมเอาเทคนิคทางวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยามาศึกษาศาสนา ปัจจุบันกำลังเกิดสาขาเศรษฐศาสตร์ศาสนาคือเอาเศรษฐศาสตร์มาศึกษาศาสนา แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็เอามาศึกษาศาสนาได้ ตัวอย่างที่ผมชอบยกคือยีนพระเจ้า ชีววิทยาศึกษาความคิด พฤติกรรมมนุษย์ แล้วบอกว่ามนุษย์มียีนอันหนึ่งที่ทำให้ต้องเชื่อในพระเจ้า ก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ แต่จะเห็นได้ว่าแม้แต่วิทยาศาสตร์ก็เอามาศึกษาศาสนาได้ ทำไมคนจึงมีศาสนาเพราะมียีนนี้อยู่ อันนี้คือหน้าตาของการศึกษาศาสนาอย่างเป็นวิชาการ

          แต่แน่นอนว่าคนที่ยึดหัวหาดมาก่อนในการศึกษาศาสนาอย่างเป็นวิชาการคือพวกมนุษยศาสตร์ ก็คือพวกปรัชญา ศาสนาเปรียบเทียบ ประวัติศาสตร์ศาสนา ปรากฏการณ์วิทยาทางศาสนา อันนี้เป็นหัวหาดที่ปูพื้นหรือกำหนดหน้าตา รูปแบบการศึกษาศาสนาอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นคนที่สร้างหลักสูตร religious literacy กลุ่มหนึ่งจะเห็นว่าให้ดึงเนื้อหามาจากวิชาเหล่านี้ไปสร้างเนื้อหาการเรียนการสอนสำหรับเด็ก แต่บางกลุ่มบอกให้ดึงจากสังคมวิทยาก็มีซึ่งจะซับซ้อนขึ้นมาหน่อยเพราะความคิดทางศาสนาในแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน เราจะสอนเด็กในสังคมไทยก็ต้องทำงานด้านสังคมวิทยาในสังคมไทยก่อนถึงจะมีเนื้อหาไปสอน

          อันนี้ก็คือการศึกษาศาสนาอย่างเป็นวิชาการซึ่งอาจจะบอกไว้นิดหนึ่งว่าก็มีอนาคตไม่ค่อยดีในสังคมเรา เพราะสังคมเราการสอนศาสนาเป็นเรื่องของนักบวช เป็นเรื่องของแต่ละศาสนา เช่นที่มีคนไปเอาคลิปของนักวิชาการต่างประเทศมาแล้วก็พูดว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตรัสภาษาบาลี แล้วชาวพุทธไทยกลุ่มหนึ่งก็ฮือขึ้นมา โกรธมาก ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลการศึกษาทางวิชาการ เราไม่ต้องสรุปว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่ผลการศึกษาทางวิชาการมักจะมาท้าทายความเชื่อของศาสนิก เพราะฉะนั้นถ้าเราให้พื้นที่ในสถานศึกษา ทุกอย่างจะไปท้าทายศรัทธาไม่ได้ การศึกษาแบบเป็นวิชาการก็จะลำบาก แล้วทุกวันนี้คนที่ศึกษาศาสนาแบบไม่ใช่วิชาการ ศึกษาแบบศาสนิกก็ได้ถึงปริญญาเอก ได้เป็นอาจารย์ ได้ตำแหน่งวิชาการ เพราะฉะนั้นการศึกษาแบบเป็นวิชาการอาจจะต้องทำโดยคนที่ไม่อยู่สายศาสนา เช่นไปทำในสายสังคมวิทยา มานุษยวิทยาเลย

          แต่อันนี้ไม่ใช่ปัญหาแค่ประเทศไทย ที่อื่นก็มี เพราะพอใช้วิธีการทางวิชาการไปศึกษา ผลจะไม่เหมือนกับที่ศาสนิกคิด เป็นเรื่องธรรมดา ทุกที่จะโดนศาสนิกออกมาวิจารณ์ เพราะแม้แต่ศาสนิกด้วยกันเองก็ยังทะเลาะกันเลยเพราะเชื่อว่าที่ตัวเองเชื่อมันถูก ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวถ้าเข้าใจผิดเดี๋ยวไปนรก มันเกี่ยวกับบาปบุญ ชาติหน้า หรือการบรรลุธรรม

พอพูดถึงศาสนาก็มักคิดถึงคำสอน แนวทางปฏิบัติ ศีลธรรม โดยเฉพาะความดีงามแบบศาสนา เวลาเราพูดถึงการฉลาดรู้และเท่าทันทางศาสนา มันหมายถึงการฉลาดรู้และเท่าทันความดีงามของแต่ละศาสนาด้วยหรือเปล่า

          อันนี้ก็ถูกต้องนะครับ ถ้าเข้าใจศาสนาเชิงวิชาการมันจะไม่ใช่เป็นก้อนกลมๆ แต่จะมีหลากมิติ หลายคนพอพูดถึงศาสนาก็คิดถึงคำสอน แต่ที่จริงคำสอนเป็นสิ่งที่เราเชื่อ เช่นถ้าเราเป็นพุทธเราก็เชื่อว่าที่เรียนนักธรรมตรี โท เอก เป็นคำสอนตั้งแต่พุทธกาล จริงๆ มันผ่านการตีความมาเยอะ ดังนั้น ศาสนาก็มีตั้งแต่คัมภีร์ พิธีกรรม ความเชื่อ ระบบคำสอน การปฏิบัติ ชุมชน คือมีหลากมิติมาก จริยธรรมก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ในศาสนา ถ้าเราเข้าใจศาสนาต่างๆ เราจะเห็นระบบจริยธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบความคิดเขาซึ่งแตกต่างหลากหลาย แต่ถ้าเราเรียนลึกซึ้งเข้าไปอีกก็จะเห็นว่าแม้แต่ศาสนาเดียวกันก็มีระบบคิดที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีตัดสินถูกผิดดีเลวก็ไม่เหมือนกัน คนที่มีความฉลาดรู้จะมีความตระหนักว่าเขามีวิธีตัดสินทางจริยธรรมไม่เหมือนกัน

          และแน่นอนอย่างที่ผมบอกว่ามีบางส่วนที่เห็นว่าการให้นักเรียนได้รู้จักศาสนาต่างๆ ก็ทำให้เห็นอีกมิติหนึ่งของจริยธรรมคือเราควรมีชีวิตอย่างไร ก็จะเห็นว่ามันเป็นทางเลือก ไม่ใช่ว่าเป็นคำตอบเดียว เช่น อยากจะเป็นแบบพุทธมั้ย หรือจะเป็นแบบคริสต์ จะเห็นความแตกต่างหลากหลายของจริยธรรม

“ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี” ถ้ามองด้วยกรอบ religious literacy ข้อความนี้ผิดหรือถูก

          ถูก แต่ถูกไม่หมด ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดีเพราะการสอนว่าชีวิตที่ดีเป็นยังไงเป็นส่วนหนึ่งของโลกทัศน์ทางศาสนา แต่ประเด็นคือคนดีของแต่ละศาสนาหน้าตาไม่เหมือนกัน อย่าว่าแต่คนดีของพุทธกับคริสต์ไม่เหมือนกันเลย คนดีของพุทธด้วยกันยังไม่เหมือนกัน แม้แต่หนึ่งศาสนาก็มีความหลากหลายภายใน พระที่ดีของชาวพุทธยังไม่เหมือนกันเลย พระที่ดีของบางคนต้องให้หวย พระที่ดีของบางคนต้องฉันมื้อเดียว ไม่จับเงิน สอนให้ทุกคนเป็นคนดีจริง แต่ดียังไง

          หรือถ้าเป็นคาทอลิกต้องแต่งงานคนเดียว แต่ถ้าเป็นมุสลิมยอมให้มีได้สี่ อย่างในสหรัฐฯ พวกฝั่งคริสต์ก็จะต่อต้านพวกมอรมอนเพราะมีภรรยาได้หลายคน แต่มันมีประเด็นที่ต้องระวังนิดหนึ่งว่าถ้าในทางวิชาการการสอนศาสนาไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสอนจริยธรรม การสอนจริยธรรมมีสาขาวิชาอื่นที่รับผิดชอบก็คือ moral education หรือจริยศึกษา ซึ่งเป็นสาขาที่ซับซ้อนมากเพราะว่าไม่ได้แค่สอนในห้อง แต่ต้องจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนหมดเลย ในต่างประเทศก็ทำไม่ได้ทุกโรงเรียนเพราะต้องเป็นโรงเรียนรวยๆ หน่อยถึงจะจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนได้

ข้อมูล The Religion and Armed Conflicts (RELAC) Data, 1975-2015 ของทีมวิจัยมหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดน ซึ่งรวบรวมข้อมูลความเกี่ยวพันกันระหว่างศาสนาและความขัดแย้งที่ขัดกันด้วยอาวุธในระหว่างปี 1975-2015 และมีข้อค้นพบว่า จำนวนความขัดแย้งในประเด็นทางศาสนาได้ขยายตัวและเพิ่มสัดส่วนอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่หลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา คุณคิดว่าปรากฏการณ์นี้เป็นเพราะขาดการฉลาดรู้ทางศาสนาด้วยหรือเปล่า

          ก็ส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะถ้าผมอยากสร้างความขัดแย้ง ผมก็ไปปั่นคนได้ การเมืองตอนนี้ผมก็เห็นหลายคนที่เรียนการใช้เหตุผลก็ใช้เหตุผลวิบัติทุกวัน เพราะเขาก็ถูกปั่นเข้าไปในกระแสการเมือง เวลาบอกว่าการมีความฉลาดรู้ทางศาสนาแล้วจะทำให้อยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายทางศาสนา มันก็มีเงื่อนไขเยอะแยะไปหมด เช่นสมมตินักการเมืองคนหนึ่งเกิดเล่นประเด็นการเมืองเชิงอัตลักษณ์ เอาศาสนามาเล่น แล้วก็ปั่นให้คนขัดแย้งกัน เป็นพวกเขา พวกเรา โดยจิตวิทยามนุษย์ก็จะถูกดูดเข้าไป ตอนนั้นอะไรก็ช่วยไม่ได้ มันก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด แต่แน่นอนว่าก็ดีกว่าไม่มี เรื่องนี้มันซับซ้อน

          คนที่อยากหาประโยชน์จากความขัดแย้ง แล้วศาสนาก็เป็นเครื่องมือที่ดีในการสร้างเพื่อปั่นคน บางทีก็ไม่รอด แต่เชื่อว่าถ้ามีความฉลาดรู้ทางศาสนาก็จะถูกปั่นยากขึ้นหน่อยหรือกลับมารู้ตัวเร็วหน่อยเมื่อมีกระบวนการ เช่น กระบวนการยุติความขัดแย้ง กระบวนการสร้างสันติภาพ แต่มันไม่ใช่คำตอบทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าพอมีความฉลาดรู้แล้วจะไม่เกิดความขัดแย้งเลย

ปกรณ์ สิงห์สุริยา: การรู้เท่าทันศาสนา (Religious Literacy) ทักษะชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับความแตกต่าง
ความขัดแย้งทางศาสนาในปี 1975-2015
Photo: Isak Svensson and Desirée Nilsson/ Sage Journals

จากที่คุณอธิบาย หลักคำสอน แนวทางปฏิบัติ ความดีงามของศาสนาต่างๆ ดูจะไม่เพียงพอให้ผู้คนอยู่กันอย่างสันติ และในประวัติศาสตร์คนก็รบกันเพราะศาสนามาตลอด

           (หัวเราะ) ก็ใช่ มันไม่พอ เพราะศาสนามีความแตกต่างหลากหลาย แม้แต่ในศาสนาเดียวกัน ถ้าข้างในนั้นมีกลุ่มหนึ่งตีความว่าการเป็นคนดีทางศาสนาของเราคือไปฆ่าอีกคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นการคิดว่าศาสนาดีทั้งหมดมันขัดกับข้อเท็จจริง ประการที่สอง ไม่รู้จักธรรมชาติของศาสนาที่ว่าแม้แต่ศาสนาก็มีการทบทวนและขัดเกลาตัวเองไปเรื่อยๆ ศาสนาก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ สมมติเราเป็นชาวพุทธสิ่งที่เราคิดทุกวันนี้ก็ไม่เหมือนสมัยพุทธกาล ต้องตระหนักว่าศาสนามีความแตกต่างหลากหลายในตัวเองและตัวมันเองก็เปลี่ยนไปเอง เพราะฉะนั้นจะเชื่อว่าศาสนานำมาซึ่งความดีงาม ถ้ามองจากมุมวิชาการ มองแบบภาพกว้าง มันก็ยาก แต่ถ้ามองจากมุมศาสนิกว่ามีความมุ่งมั่นว่าจะเอาศาสนามาสร้างสันติภาพก็มองได้ แต่ก็ต้องทำงานอีกเยอะ

          อีกประเด็นคือถ้าใครทำจริยศาสตร์ศาสนาก็จะเห็นว่าจริยธรรมของศาสนาต้องตามจริยธรรมของโลก เพราะมันจะมีช่องว่างซึ่งก็ไม่แปลก อันนี้เป็นประสบการณ์ตรง มันมีจริยธรรมทางวิชาการอยู่ข้อหนึ่งคือเรื่องการตีพิมพ์ผลงาน ถ้าใครไม่ได้ทำวิจัย ไม่ได้เขียน แล้วเอาชื่อไปใส่ถือว่าผิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งเราจะเห็นช่องว่างระหว่างจริยธรรมศาสนากับจริยธรรมการตีพิมพ์ซึ่งตัดสินไปคนละทิศเลย เคยเจอคนที่อยู่ฝ่ายศาสนาบอกว่าเวลาตีพิมพ์จะเอาชื่อพระอาจารย์มาใส่ ผมก็บอกว่ามันผิดจริยธรรมการตีพิมพ์นะ เขาก็บอกว่าไม่ผิดเพราะเป็นการแสดงความเคารพ ความกตัญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์ เป็นสิ่งที่ดีงามทางพุทธศาสนา นี่จะเห็นช่องว่างระหว่างจริยธรรมศาสนากับจริยธรรมชาวโลก เพราะฉะนั้นถ้าเราบอกว่าจะส่งเสริมจริยธรรมการตีพิมพ์ในหมู่นักวิชาการ หมู่นักศึกษา ป.เอก แล้วเราเอาศาสนามาสอนมันจะได้มั้ย มันก็เข้าป่าไปเลยเพราะไปคนละทิศ ดังนั้นการจะคาดหวังจริยธรรมจากศาสนามีข้อต้องระมัดระวังเยอะ

คุณบอกว่าในเชิงความเชื่อก็มีหลากหลาย religious literacy ก็คือการฉลาดรู้ความเชื่อต่างๆ ของคนและเคารพสิ่งที่ผู้อื่นเชื่อ ถ้าตามเหตุการณ์ที่คุณเล่าแสดงว่าเราเคารพความดีทางศาสนาแบบที่ว่ามาไม่ได้

          อันนี้ก็น่าสนใจนะ มันก็มีคนพยายามตอบ ถ้าเราต้องเคารพคนอื่นแปลว่าเขาคิดยังไงเราก็ต้องยอมรับที่เขาคิด อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่ง เป็น technical knockout ในทางเทคนิคแต่ก็มีการคิดในหมู่นักวิชาการว่าในที่สุดแล้ว การมีความฉลาดรู้ทางศาสนาต้องมีองค์ประกอบเรื่องการวิพากษ์อยู่ในนั้นด้วย

          การวิพากษ์ก็จะมีทั้ง หนึ่ง วิพากษ์ตนเอง ใจกว้าง และยอมรับการวิพากษ์ตนเอง สองคือการวิพากษ์ผู้อื่น แต่คำถามคือแล้ววิพากษ์นี่มันใช้อะไร มันก็กลับมาใช้จริยธรรมชาวโลก เช่นบางศาสนาอาจจะสอนให้ทำร้ายคนอื่นได้หรือหลายศาสนามีการตีความที่ไม่ค่อยดีกับผู้หญิง ก็มีฝั่งคนที่สอน religious literacy กลุ่มหนึ่งว่าเราต้องไปถึงจุดนั้นคือจุดที่กล้าจะพูดถึงอคติ ความรุนแรงจากศาสนา หรือการกดขี่จากศาสนา แต่มันต้องมีเกณฑ์ตัดสิน แล้วเกณฑ์นั้นมาจากไหน ก็มาจากจริยธรรมทางโลกหรือจริยศาสตร์นั่นเอง

          มันเลยเป็นความท้าทายของการสอนว่าถ้าในที่สุดมาถึงตรงนี้ คนสอนจะต้องสามารถใช้เหตุผลเชิงจริยศาสตร์ได้คือสามารถคุยในเรื่องคุณค่าได้ อาจจะไม่ตัดสินโดยทันที อย่างตัวอย่างที่ผมยก เรามาคิดกันซิ ถ้าพุทธบอกว่าใส่ชื่ออาจารย์ในงานช่างกตัญญูเหลือเกิน แต่ทางจริยธรรมการตีพิมพ์ไม่ให้ใส่ อันนี้เป็นการวิพากษ์แล้ว แต่ไม่ใช่ไปตราหน้ากัน คือเราลองมาคิดกันว่าถ้าไม่ได้เขียนทำไมเขาไม่ให้ใส่ล่ะ ลองคุยเหตุผลมา ในที่สุดก็อาจจะไม่ได้ปฏิเสธความกตัญญูทางศาสนาก็ได้ ที่มาเลเซียก็เป็นอย่างนั้น น่าสนใจมากว่าวิธีอธิบายที่จะทำให้ศาสนิกรู้เรื่องของพุทธกับของอิสลามคล้ายๆ กันก็คือถ้าคุณเอาชื่อไปใส่ว่าเป็นผู้เขียน แต่คุณไม่ได้ทำ แปลว่าคุณโกหก ทางพุทธยอมรับมั้ยถ้ากตัญญูต่ออาจารย์โดยให้อาจารย์เป็นคนโกหก

          พอเราคิดแบบนี้ จริยธรรมพุทธที่สนับสนุนการเอาชื่ออาจารย์มาใส่ มันไม่น่าจะใช่แล้ว มันจะเป็นการคุยกันแบบนี้ บางคนก็เลยบอกว่าต้องเป็นการสานเสวนาระหว่างความแตกต่าง บางคนก็ใช้คำว่าวิพากษ์คนอื่นและวิพากษ์ตนเองด้วย เปิดกว้างกับการท้าทายด้วย ซึ่งถ้าเราเป็นศาสนิกในโลกทุกวันนี้ ลึกๆ เราก็สงสัยศาสนาเราเองเหมือนกัน ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไปอะไรอย่างนี้

ศาสนาพุทธมีคำสอนว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็น ‘อกาลิโก’ คือไม่ขึ้นต่อกาลเวลา

          แม้แต่พุทธในปัจจุบันก็มีคำอธิบายไม่เหมือนกันเรื่องอกาลิโก สมมติเรามี religious literacy เราก็จะรู้ว่าในหนึ่งศาสนาเช่นศาสนาพุทธก็มีความแตกต่างหลากหลายในการตีความไม่เหมือนกัน แม้คำว่าอกาลิโกก็มีความเข้าใจไม่เหมือนกัน บางทีเราจะบอกว่าอันนี้ถูกอันเดียวก็ไม่ได้หรือวิจารณ์พุทธทั้งหมดโดยการตีความของกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ เพราะมีกลุ่มอื่นก็เข้าใจอีกอย่างหนึ่ง แต่อันนี้จะยากตรงที่ต้องรู้จักบ้านเราเอง ปัญหาปัจจุบันคือไม่มีคนวิจัยเพื่อทำความเข้าใจตัวเอง แล้วเราจะเอาแหล่งความรู้มาจากไหน แต่เป็นการศึกษาเพื่อปกป้องศาสนาตนเอง ศาสนาอื่นก็เป็น แม้แต่คนที่ศึกษาเพื่ออวยศาสนาตัวเองมากๆ ก็มีระดับอีก บางคนก็ทำได้ซับซ้อนมากหรือบางคนก็ทำง่ายเกินไป

เราจะสร้าง religious literacy ได้อย่างไร

          Literacy ผูกพันกับเรื่องโรงเรียนและการสอน ถ้าเราอยากจะสร้างความฉลาดรู้ แหล่งที่ควรมองหาคือการสร้างหลักสูตรในโรงเรียนหรืออาจจะสอดแทรกเข้าไปได้ในสาระการศึกษาเรียนรู้ แต่มันก็ยากเพราะเราต้องมีครูที่รู้ศาสนาอย่างเป็นวิชาการ แล้วก็ต้องดูว่าความฉลาดรู้ที่เราอยากให้เด็กมีมันระดับไหน อย่างที่ผมพูดหลายครั้งว่าถ้าไปถึงบางระดับประเทศไทยยังไม่ได้ศึกษา เราไม่รู้จักตัวเอง มันก็ไม่มีเนื้อหาให้สอน

          แต่ถ้าบอกว่ามันยากเหลือเกินที่จะสร้างหลักสูตร อันนี้ไม่ต้องตกใจ แม้แต่ประเทศที่เราเชื่อว่าเขาเป็นผู้นำมาก่อนก็มีปัญหานี้ ปัญหาการผลิตครูบาอาจารย์ที่จะสอน religious literacy ในโรงเรียน มีการเคลื่อนไหว ผลักดันในสหรัฐฯ อังกฤษ สแกนดิเนเวียเพราะเขาบอกว่าครูที่จะมาสอนให้มี religious literacy บางทีรัฐไม่ค่อยสนใจเพราะว่าเรียนไปก็ไม่ได้ตังค์ สองก็ไม่ค่อยมีหลักสูตรที่เป็นมาตรฐาน

          อีกอันหนึ่งก็มีว่าทาง Harvard Divinity School ก็คิดว่ามีสอนในโรงเรียนก็เป็นทางหลักเพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างพลเมือง แต่จะให้ภาคส่วนต่างๆ เช่นสื่อสารมวลชนเข้ามามีความฉลาดรู้จะได้ช่วยทำหน้าที่นี้ด้วย หรือคนที่ทำงานเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียมามีความฉลาดรู้เพื่อที่พวกเขาเองจะได้ไม่ไปกดขี่ชาวบ้านและช่วยสร้างความฉลาดรู้ให้แก่สาธารณชน อันนี้ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง แต่มันก็กลับมาที่ปัญหาเดิมคือจะผลิตหลักสูตรอย่างไร ของ Harvard Divinity School ก็เคยทำเป็นโครงการใหญ่เพราะกว่าจะได้เนื้อหาที่เหมาะสมกับสื่อหรือกับคนที่หลากหลายวิชาชีพ มันต้องทำอย่างไร แต่โดยกว้างๆ ก็มีสองอันนี้คือเข้าไปในโรงเรียนสอนเด็ก กับสอนคนที่แก่แล้ว สื่อต่างๆ หรือนักวิชาชีพ

ถ้าอย่างนั้นการสอนศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในไทยก็คงไม่ใช่ religious literacy

          เราสอนเน้นศาสนิก ที่จริงเวลาพูดถึงต้นแบบการสอนศาสนาในโรงเรียน อังกฤษมักจะขึ้นมาเรื่อย แต่อังกฤษก็มีปัญหา คือ Church of England หรือคริสตจักรแห่งอังกฤษก็มีอิทธิพลเยอะ ปัจจุบันมีปัญหาว่าคนไม่ค่อยเข้าโบสถ์ สมัยก่อนไม่ค่อยมีปัญหาเพราะถ้าคนเข้าโบสถ์ก็ไปเรียนศาสนาแบบศาสนิกในโบสถ์ แต่ตอนนี้คนไม่เข้าโบสถ์ แต่ศาสนิกก็ยังมีอยู่ ศาสนจักรก็บอกอยากให้ไปสอนในโรงเรียน

          ของเขาก็มีเหมือนเรา เรามีโรงเรียนวัดเยอะใช่มั้ย เขาก็มีโรงเรียนคริสต์ แล้วตามกฎหมายเขาก็มีสิทธิ์ที่จะสอนศาสนาแบบจารีต มันเลยมีวิธีการประนีประนอมผสมผสานกันไป สอนแบบจารีตด้วย สอนแบบวิชาการด้วย สมมติสอนพุทธก็สอนจารีตให้เป็นศาสนิกที่ดี แต่สอนแบบวิชาการด้วยจะได้รู้จักศาสนาอื่นๆ

          แต่ทางออกที่เป็นทางสายกลางที่ผมเล่า ฝั่งที่เชื่อในมนุษยนิยมก็ไม่สบายใจ ไม่อยากให้มีการสอนแบบจารีตและผลิตศาสนิกเลย มันเลยสู้กันอยู่ เพราะฉะนั้นการสอนแบบจารีตไม่ใช่ไม่มีที่อยู่เลย ก็อยู่ได้ แต่ต้องไปคุยกัน แล้วแต่ที่ แต่ของไทยเขาก็ชนะอยู่แล้วล่ะ

การเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนา กับ การเรียนรู้จากศาสนา เหมือนและต่างกันอย่างไร และทั้งสองสิ่งนี้สัมพันธ์กับการฉลาดรู้ทางศาสนาอย่างไร

          ในยุคแรกจะเน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนา อริยสัจ 4 คืออะไร กิเลสคืออะไร พระเยซู ตรีเอกานุภาพ การละหมาดหรือชื่อคัมภีร์อัลกุรอานคืออะไร แต่ตอนหลังบอกว่าเราต้องเรียนรู้จากศาสนาด้วย คือพอเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาแล้วจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้

          ประโยชน์ก็คือการพัฒนาตัวเอง เราเกิดมาทำไม เลือกเป้าหมายชีวิต อีกอย่างที่สำคัญและมีอิทธิพลกว่าก็คือเป็นพลเมืองที่ดี เราจะอยู่กับศาสนิกอื่นยังไง เราจะขจัดอคติออกไปอย่างไร เช่นไม่เข้าใจว่าทำไมผู้หญิงมุสลิมต้องคลุมผม บางคนไม่ชอบ แต่พอได้เรียนเกี่ยวกับศาสนาอิสลามก็เกิดเข้าใจขึ้นมาว่ามันเป็นหลักปฏิบัติของเขา เกิดความใจกว้าง เข้าอกเข้าใจเขามากขึ้น

ปกรณ์ สิงห์สุริยา: การรู้เท่าทันศาสนา (Religious Literacy) ทักษะชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับความแตกต่าง

แต่ถ้าเรียนแล้วเกิดความคิดว่าเป็นกดขี่ผู้หญิง

          นี่ไงก็ไปถึงอีกจุดหนึ่งว่ามาคุยกัน มาสานเสวนา หรือสามารถวิพากษ์ตนเองและผู้อื่นได้ แต่ตอนวิพากษ์ต้องดึงหลักคิดด้านจริยศาสตร์ หลักจริยธรรมสากลเข้ามาช่วยด้วย ยังไม่มีคำตอบชัดเจน แต่เชื่อว่าถ้าคุยกันอาจจะไม่ได้คำตอบที่เป็นสากล แต่ได้คำตอบตรงนี้สำหรับฉัน สำหรับกลุ่มนี้

ทำไมคนจำนวนมากจึงเชื่อว่าศาสนาดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ บริสุทธิ์ และไม่สัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ-การเมือง วัฒนธรรม จารีตในท้องถิ่น-บางคนกล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าก็เป็นการเมืองมาตั้งแต่ต้น

          มันมีสองอย่างคือ หนึ่ง มันเป็นข้อสังเกตว่าทุกศาสนาเป็นอย่างนี้ แต่อีกอันหนึ่งเราจะอธิบายว่าทำไมคนเป็นอย่างนี้ ก็ลำบากเหมือนกันที่ชอบคิดว่าศาสนาเป็นก้อนกลมๆ มีความสมบูรณ์แบบในตัวเอง ไม่มีความเปลี่ยนแปลง อย่างเช่นบางคนบอกว่าเพราะมันเป็นเรื่องของความชอบธรรมของการดำรงอยู่ของจารีตทางศาสนานั้น ถ้าผมสอนพุทธแล้วพอดีคำสอนของผมไม่เหมือนกับพระพุทธเจ้า หรือถ้าผมเป็นคริสต์แล้วบอกว่าวันนี้พระคริสต์ไม่มีแล้วนะ ผมก็จะไม่มีความชอบธรรมในการดำรงอยู่เลย เพราะฉะนั้นการบอกว่าของผมยังเหมือนเดิม สะอาด บริสุทธิ์ ข้างนอกอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ข้างในยังเหมือนเดิมเหมือนสมัยศาสดา และถ้าทำตามผมนี่ ชัวร์ ได้บรรลุนิพพานหรือได้ไปสวรรค์ ผมก็จะดำรงอยู่ได้ เพราะฉะนั้นคำตอบหนึ่งที่มักจะคิดถึงคือเรื่องความชอบธรรมในการดำรงอยู่

กรณีชาร์ลี เอ็บโด เวลาเราพูดถึง religious literacy ซึ่งจะนำไปสู่การเคารพและอยู่ร่วมกัน ในที่สุดแล้วบางครั้งมันจะขัดกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือเปล่า

          ที่จริงอันนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่ ในแง่หนึ่งเสรีนิยมก็คืออีกศาสนาหนึ่งถ้าเรามองแบบ religious literacy ในมุมหนึ่งชาร์ลี เอ็บโด[1] ถ้าเราไปสนับสนุนก็คือให้ศาสนานี้อยู่เหนือกว่าอีกศาสนาหนึ่ง เรื่องนี้จะซับซ้อนตรงที่ว่าต้องพิจารณาผ่านกรอบของพหุวัฒนธรรมนิยมซึ่งที่จริงเป็นกรอบคิดที่มาท้าทายเสรีนิยม ในปรัชญาของชาร์ลส์ เทย์เลอร์ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ทำให้คนหันมาสนใจ คือเวลาบอกว่านี่เป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของฉันเพราะฉะนั้นฉันจะพูดอะไรก็ได้ เธอเจ็บใจก็เรื่องของเธอ อันนี้เป็นความคิดที่เก่ามาก ตอนที่ชาร์ลี เอ็บโดโดนก็เป็นเรื่องของปรัชญาที่ไม่เหมือนกัน

          ฝั่งแองโกล-อเมริกันก็บอกว่าคุณไม่ไปเคารพเขา แต่ถ้าเป็นฝั่งสแกนดิเนเวียซึ่งเป็นพวก white supremacists หรือยกย่องคนขาว เขาก็บอกว่าทุกคนต้องมาอยู่ภายใต้เสรีนิยมสิ ฝั่งแองโกล-อเมริกันก็บอกว่าพวกนี้ไม่เคารพความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ได้มีคำตอบว่าอันนี้เป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็น คนอื่นต้องเคารพเสรีภาพนี้ แม้ว่าเสรีภาพนี้จะทำให้คนอื่นเจ็บใจก็ตาม แต่ถ้าคิดผ่านกรอบพหุวัฒนธรรมนิยม ในปรัชญาก็มี เช่นเป็นเสรีนิยมแบบพหุวัฒนธรรมนิยมเขาก็ไม่เห็นด้วยกับชาร์ลี เอ็บโด

          ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่เสรีนิยมจ๋าๆ ก็มีร่องรอยพหุวัฒนธรรมนิยม มีหลักของเขา คือพวกเสรีนิยมต้องเข้าใจคอนเซปต์เสรีภาพก่อน งานหลักของเสรีนิยมก็จะเกิดยุคสมัยของความหลากหลายทางวัฒนธรรมคือเมื่อไหร่จะละเมิดเสรีภาพได้อย่างชอบธรรม เพราะฉะนั้นพวกเสรีนิยมจะมีเกณฑ์ของการละเมิดเสรีภาพอย่างชอบธรรม เสรีนิยมไม่ได้ห้ามละเมิดเสรีภาพ แต่นักปรัชญาเสรีนิยมมาคิดว่าเมื่อไหร่ถึงจะละเมิดเสรีภาพได้อย่างชอบธรรม

          ตอนยุคปลายแล้วก่อนที่คนจะคุยเรื่องนี้เพราะเกิดพหุวัฒนธรรมนิยม ยุคปลายนี้ก็เกิดหลักการหนึ่งเรียกว่า offend principle คือคุณใช้เสรีภาพได้ แต่อย่าทำให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจ แต่มีเงื่อนไขของมันเอง เพราะฉะนั้นแม้แต่เสรีนิยมจ๋าๆ ก็ไม่ใช่ว่าทำอะไรแล้วคนอื่นเจ็บใจก็ทำได้ แต่อันนี้ไม่ใช่ประเด็นว่า offend principle เอาไปใช้ในกรณีชาร์ลี เอ็บโดได้นะ มันมีฐานคิดบางอย่างที่อาจทำให้ใช้ไม่ได้ แต่ประเด็นคือแม้แต่เสรีนิยมยุคหลังก็เริ่มมีหัวใจแล้ว คือเริ่มเอาความรู้สึกคนเข้ามาคิดด้วยได้

ปกรณ์ สิงห์สุริยา: การรู้เท่าทันศาสนา (Religious Literacy) ทักษะชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับความแตกต่าง
ชาร์ลส์ เทย์เลอร์
Photo: Lëa-Kim Châteauneuf, CC BY-SA 4.0, via Wikimedia Commons

แต่คนที่เชื่อในเรื่องรัฐโลกวิสัยหรือสายเสรีนิยมอาจจะมองว่าการกระทำทุกอย่างของเราก็มักทำให้คนอื่นไม่พอใจ หงุดหงิดได้เสมอๆ ถ้าอย่างนั้นก็ใช้เสรีภาพไม่ได้

          ถ้าโลกนี้เป็นเสรีนิยมการถกเถียงก็มีความหมาย เขาเลยต้องออกเกณฑ์มาว่าเมื่อไหร่จะจำกัดเสรีภาพได้อย่างชอบธรรมเพราะว่าในที่สุดทุกคนมีเสรีภาพเต็มร้อยไม่ได้ ก็ต้องมาคิดว่าจะจำกัดเสรีภาพอย่างชอบธรรมอย่างไร แต่พอในยุคหลังพหุวัฒนธรรมนิยมปรากฏว่าเสรีนิยมเป็นเพียงหนึ่งในระบบคิดหลายๆ ระบบคิดหรือบางคนก็พูดไปถึงขนาดว่าเสรีนิยมเป็นหนึ่งวัฒนธรรมในบรรดาวัฒนธรรมทั้งหลาย ถ้าเราบอกว่าอย่าทำแบบนี้ในวัฒนธรรมไทยเพราะมีหลักของเสรีนิยม มันจะกลายเป็นว่าเอาวัฒนธรรมหนึ่งมากดขี่อีกวัฒนธรรมหนึ่งไปเลย มันเลยเป็นหน้าที่ของนักปรัชญาที่พยายามคิดว่าจะทำยังไง ถ้าสมมติว่าเรายังเชื่อในเสรีนิยมและเราอยากจะเอาหลักเสรีนิยมไปใช้กับวัฒนธรรมอื่นที่ไม่ใช่เสรีนิยม จะเอาไปใช้ยังไงถึงจะไม่เป็นการกดขี่ มันก็มีการคิดเรื่องนี้ แต่โดยพื้นฐานแล้วการเอาความคิดจากวัฒนธรรมหนึ่งไปตัดสินอีกวัฒนธรรมหนึ่งทันที มันสุ่มเสี่ยงต่อการกดขี่มาก คนไทยที่ชอบบอกว่าอย่างนี้ไม่ดีเพราะฝรั่งไม่ทำ อันนี้เป็นท่าทีแบบอาณานิคมนิยม แต่พอดีเรากดขี่ตัวเอง

ยกตัวอย่างการทำแท้งทุกศาสนาจะต่อต้าน จะเรียกเสรีนิยมหรือไม่ก็ตาม แต่ยุคนี้เนื้อตัวร่างกายและการเลือกของผู้หญิงก็เป็นอีกอันหนึ่งที่ต้องใส่ใจ มองได้หรือไม่ว่าวัฒนธรรมศาสนากำลังกดขี่ผู้หญิงอยู่

          ถ้าเราพูดอย่างนี้คือเราใช้เกณฑ์จากข้างนอกไปตัดสินเขาว่ากำลังกดขี่ แต่ถ้าเรามองแบบปรัชญาสังคม มองจากภาพกว้าง เราจะเห็นกลุ่มคนที่หลากหลาย แต่ละกลุ่มก็มีวิธีตัดสินคุณค่าไม่เหมือนกัน ถ้าสมมติเราจะให้มีการทำแท้ง บางคนใช้เหตุผลว่าถ้าให้ทำแท้งมันก็ไม่ได้ละเมิดศาสนาต่างๆ เพราะศาสนาต่างๆ ยังตัดสินไม่ได้ว่าทำแท้งผิด แต่อีกอย่างหนึ่งถ้าใครอยากทำแท้งก็ทำได้ ถ้ามองจากข้างนอกไปว่ากดขี่หรือเปล่า ถ้าตัดสินเร็วๆ ลำบาก มันต้องไปคุยภายในศาสนาเองก่อน บางทีในบางแง่หนึ่งก็ใช่ กดขี่ เพราะมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมเข้าไปปรากฏในศาสนา แต่บางทีมันเป็นระบบคิดการตัดสินคุณค่าของเขา เช่น มนุษย์คืออย่างนี้ ชีวิตมนุษย์มีคุณค่าแบบนี้ มันเป็นเรื่องซับซ้อนไม่สามารถฟันธงได้ทันที

กระแสการแยกศาสนาออกจากรัฐเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เราคุยกันอยู่หรือเปล่า

          ถ้าเป็นในต่างประเทศเกี่ยวโดยตรงเลย แต่อย่าลืมว่าการแยกรัฐออกจากศาสนาหมายถึงว่าการบริหารกิจการรัฐซึ่งเป็นสาธารณะ สาธารณะคือมีทุกคนในรัฐอยู่ในนั้น จะไม่เอาเหตุผลทางศาสนาเข้ามาใช้ ดังนั้นจึงไม่ได้แปลว่าห้ามมีศาสนา มันก็เกิดโจทย์ว่าพอสอนศาสนาในโรงเรียนสาธารณะแล้วเอาศาสนาของบางศาสนิกบางกลุ่มไปสอน มันก็ไม่เป็นสาธารณะ มันก็เอาศาสนาหนึ่งไปอยู่ในกิจการของสาธารณะ คนอื่นที่ไม่ได้นับถือก็งงเลย ก็ได้รับผลกระทบ เขาเลยบอกว่างั้นห้ามสอนศาสนาแบบจารีตคือสอนแบบที่มุ่งพัฒนาศาสนิก เพราะคนอื่นที่อยู่ในโรงเรียนไม่ใช่ศาสนิกของศาสนานี้ ก็เลยให้เอาวิธีการสอนศาสนาแบบจารีตกลับไปที่เดิม เช่น ไปอยู่ในโบสถ์ แต่ถ้าอยู่ในที่สาธารณะต้องสอนด้วยสิ่งที่เป็นสาธารณะก็คือวิชาการ เลยกลายเป็นการสอนศาสนาอย่างเป็นวิชาการ และการสอนศาสนาอย่างเป็นวิชาการยุคแรกก็เพื่อให้มี religious literacy ในแบบพื้นฐานมากๆ แต่พอตอนหลังก็ซับซ้อนขึ้นมาเป็นเรียนรู้จากศาสนา เรียนรู้ที่จะอยู่กับคนที่แตกต่างได้ เป็นพลเมืองที่ดีในสังคมที่มีศาสนาแตกต่างหลากหลาย

หมายความได้หรือไม่ว่าการแยกศาสนาออกจากรัฐจะมีผลดีต่อ religious literacy

          มันจะเป็นบริบทที่ใหญ่มากเลย การสร้างความฉลาดรู้มันเป็นความรู้วิชาการ เราอาจฉลาดเองได้โดยไม่ต้องอาศัยกลไกของรัฐ แต่ว่าการแยกรัฐจากศาสนาเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นเรื่องการบริหารกิจการรัฐ แล้วบังเอิญมาเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะกิจการของโรงเรียนรัฐ โรงเรียนสาธารณะ มีเด็กสารพัดศาสนามาเรียนก็เลยต้องเอาศาสนาแบบศาสนิกออกไป เอาแบบศาสนาแบบความรู้เข้ามาใส่ แต่อย่างที่บอกว่าถ้าเป็นต่างประเทศ โรงเรียนเอกชนที่เป็นเจ้าของโดยวัดก็ยังสอนศาสนาแบบจารีตได้ เราอาจจะบอกว่าไม่ละเมิดเหรอ ก็ไม่ละเมิดเพราะถ้าเราส่งลูกไปเรียนโรงเรียนสาธารณะเราก็ต้องหวังในสิ่งที่เป็นสาธารณะ แต่ถ้าเราส่งลูกไปเรียนโรงเรียนคอนแวนต์ เราจะคาดหวังสิ่งที่เป็นสาธารณะ เราอาจจะเหลวไหลเองก็ได้ เราก็ต้องรู้ว่าไปเรียนคอนแวนต์ต้องเรียนคาทอลิก

          แต่ทีนี้ของอังกฤษที่เขาบอกมันก้าวหน้าเพราะอย่างนี้ สมมติว่าเราจำเป็นต้องส่งลูกไปเรียนโรงเรียนวัดเพราะว่าใกล้บ้าน เขาก็มีกฎหมายว่าถ้าผู้ปกครองหรือลูกไม่อยากเรียนแบบศาสนิกสามารถทำคำร้องให้ผู้อำนวยการจัดการเรียนการสอนแบบวิชาการได้ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยมีใครร้องขอ เพียงแต่ก้าวหน้าตรงที่ว่ากฎหมายก็ยอมขนาดนี้ เพื่อไม่ให้เสรีภาพทางศาสนา ปรากฏว่าเขาเอาเรื่องใกล้บ้าน ไกลบ้านมาคิดด้วย

แล้วแนวคิด post-secular คืออะไร และเกี่ยวข้องกับ religious literacy อย่างไร

          Post-secular ไม่ได้ปฏิเสธการแยกรัฐจากศาสนา ตอนนี้การแยกรัฐจากศาสนาก็เป็นแนวคิดหนึ่งที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุด ยังคิดวิธีอื่นไม่ออก ทุกคนมีศาสนาไม่เหมือนกันแล้วเราเอารัฐเราเป็นของศาสนาหนึ่งมันก็จะมีปัญหากับศาสนาอื่น เพราะฉะนั้นการแยกรัฐออกจากศาสนา post-secular ไม่ได้ปฏิเสธ

          แต่ที่ post-secular เกิดขึ้นมาเพราะเวลาคนมีความคิดแบบ secular สมัยก่อนก็จะมีอคติว่าจะกันศาสนาออกไปจากทุกเรื่อง บางทีกันเกินไป เช่นกรณีนี้ในทางวิชาการถ้าคุณจะอธิบายมันต้องดึงปัจจัยทางศาสนามาอธิบายด้วย แต่คนที่เป็น secular จ๋าๆ ก็ตัดออกไป ทำให้บางทีวิเคราะห์สถานการณ์โลกผิดเพราะไม่เอาปัจจัยทางศาสนามาคิดเลย

          Post-secular ก็บอกว่าเราจะมองข้ามเรื่องศาสนาไม่ได้ซึ่งมีสองอย่างคือมองข้ามด้านลบก็ไม่ได้และมองข้ามด้านบวกก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะทำกิจการอะไรเกี่ยวกับศาสนาเราก็ต้องเอาศักยภาพด้านบวกด้านลบของศาสนาเข้ามาพิจารณาด้วย ไม่ใช่ทำเหมือนกับศาสนาไม่มีอยู่ในโลกนี้

          อย่างด้านบวกน่าสนใจมากนะ ผมอยู่หลักสูตรศาสนากับการพัฒนา แม้แต่สหประชาชาติก็ตั้ง…เขาเรียกกองกำลังเลย เป็น task force ที่จะดึงพลังจากศาสนามาสนับสนุนการพัฒนาเพราะแม้แต่ในสหรัฐฯ ก็พบว่าศาสนาให้ทุนสนับสนุนไปนิดหนึ่งทำไมแจกข้าวคนจรจัดได้เยอะกว่างบประมาณก้อนเดียวกันที่ให้กับหน่วยงานรัฐที่ทำได้น้อยกว่า ทำไมองค์กรเอกชนทางศาสนาถึงมีประสิทธิภาพเหลือเกิน สหประชาชาติเลยบอกว่างั้นดึงมาช่วยผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนดีกว่า อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งว่าในที่สุดแล้วก็ไม่มองข้ามศาสนาและเอาพลังด้านดีของศาสนามาใช้ หรือต่อไปเวลาวิเคราะห์สถานการณ์โลกก็เอาปัจจัยทางศาสนาเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย ในส่วนหนึ่งก็น่าจะสนับสนุน religious literacy กันได้

การเรียนศาสนาอย่างเป็นวิชาการคุณมองว่ายังเป็นเรื่องยากมากในสังคมไทย?

          ครับ เพราะคนไทยยังไม่มี religious literacy คิดว่าถ้าศึกษาเกี่ยวกับศาสนาต้องเอาคนในศาสนามาซึ่งไม่จริง ผมไปศึกษาหมีแพนด้าผมต้องเป็นหมีแพนด้ามั้ย หรือในต่างประเทศ ที่ภาควิชาก็มี เก่งพุทธมาก อ่านบาลีได้ แต่เป็นคาทอลิก ถ้าเราเชื่อว่าคนที่จะศึกษาวิจัยด้านศาสนาต้องเป็นศาสนิก ต้องมีศรัทธา มันจะเสียวิชาการไปเลย ทุกวันนี้ก็เห็น แม้แต่ได้รับทุนของรัฐ เขาก็จะไปเลือกคนที่มีศรัทธา เลือกศาสนิก แล้วก็จะมีผลวิจัยออกมาก่อนดำเนินการวิจัย ผลวิจัยคือพุทธถูกต้อง พุทธดีมาก มันก็ไม่เกิดความก้าวหน้าอะไร

ปกรณ์ สิงห์สุริยา: การรู้เท่าทันศาสนา (Religious Literacy) ทักษะชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับความแตกต่าง


เชิงอรรถ

[1] ชาร์ลี เอ็บโด หรือ Charlie Hebdo คือ นิตยสารแนวเสียดสีของฝรั่งเศส ที่ตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด ของศาสนาอิสลามจนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการฟ้องร้องหลายครั้ง

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก