เราอาจเคยได้ยินเรื่องงานวิจัยมหากาพย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ใช้เวลากว่า 80 ปีในการศึกษาหาคำตอบว่า อะไรทำให้คนเรามีความสุข? โดยติดตามศึกษากลุ่มตัวอย่างแบบต่อเนื่องตลอดชีวิต สิ่งที่ค้นพบคือ ความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนรอบตัว การได้ทบทวนว่าเราเข้าใจคนที่เรารัก และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมากน้อยแค่ไหน จึงอาจเป็นสิ่งสำคัญ
นั่นคือเหตุผลที่พิพิธภัณฑ์แห่งความรัก (Museum of Love) กำเนิดขึ้นมา เมื่อรวมเข้ากับความหลงใหลที่มีต่อการทำพิพิธภัณฑ์แล้ว ศาสตราจารย์เอมี สวีทแมน (Amy Sweetman) ผู้มีประสบการณ์กว่า 25 ปีในการสอนจิตวิทยา ประสาทวิทยา และจิตวิทยาแห่งเพศ ตัดสินใจเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นในเมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมกราคม ปี 2020
“ทุกวันนี้การสื่อสารและโต้ตอบแบบเห็นหน้า กำลังถูกทำลายด้วยการพึ่งพาข้อความและโซเชียลมีเดียมากเกินไป เราไม่สามารถทำให้ความสัมพันธ์ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้ เพียงแค่ส่งข้อความย่อหรืออิโมจิหัวใจเต้นสองดวง” สวีทแมนกล่าว
ด้วยปรัชญาตั้งต้นของพิพิธภัณฑ์คือ การเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ พิพิธภัณฑ์นี้จึงไม่ได้จัดแสดงเพียงวัตถุทึมทื่อไร้ชีวิต แต่ออกแบบกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างคู่รัก ในนิยามที่เปิดกว้าง ไม่ว่าจะเป็นความรักแบบ LGBTQ+ ความสัมพันธ์แบบมีคนรักหลายคน (Polygamous) ไปจนถึงความสัมพันธ์แบบครอบครัวพ่อแม่ลูก
กิจกรรมต่างๆ ถูกออกแบบมาเพื่อให้คู่รักเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีส่วนร่วมในการเล่นเกมอินเทอร์แอคทีฟด้วยกัน ผ่านแต่ละขั้นตอนของความสัมพันธ์ พวกเขาจะได้เผชิญกับทั้งความเหงา ความโรแมนติก ความใกล้ชิด หรือแม้กระทั่งความอึดอัดขุ่นมัว
ตัวอย่างเช่น นิทรรศการ ‘Connection Adventure’ ในห้องแรกจะมีภารกิจให้คู่รักเลือกทายบ้านจาก 1 ใน 8 หลังที่คิดว่าคู่ของตนน่าจะชอบ หลังจากที่เฉลยสิ่งที่เลือกให้กันฟังแล้ว คู่รักจะสามารถเดินดูรอบๆ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับบ้านที่แต่ละฝ่ายเลือกได้
อีกหนึ่งกิจกรรมคือ ห้องที่กว้างและมืดซึ่งถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งมีแบบทดสอบเกี่ยวกับความเป็นจริง ณ ขณะนั้นส่วนอีกฝั่งจะมีข้อมูลและแบบทดสอบเกี่ยวกับสิ่งที่อาจจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมหรือการสิ้นสุดความสัมพันธ์
กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้คู่รักได้ทำความรู้จักกันอย่างลึกซึ้ง และอาจพบกับอีกด้านของคนรักที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งท้ายสุดแล้วทางพิพิธภัณฑ์หวังให้คู่รักเดินกลับออกไปพร้อมการเปลี่ยนแปลง และรู้สึกซาบซึ้งในความสัมพันธ์ยิ่งขึ้น
ผู้เข้าชมนิทรรศการหลายคนเอ่ยตรงกันว่า Museum of Love ทำให้เขาและคู่ของเขาได้ทำความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้งเพิ่มขึ้นในหลายแง่มุม เช่น
“ฉันชอบที่นี่มาก เราใช้เวลา 3 ชั่วโมงที่นั่นโดยไม่รู้ตัวเลย สามีและฉันได้แชร์หลายสิ่งที่เรายังไม่เคยรู้เกี่ยวกับกันและกัน และรู้สึกใกล้ชิดยิ่งขึ้นหลังจากที่เรากลับออกมา”
“พิพิธภัณฑ์นี้น่าทึ่งมาก คุณควรให้เวลาตัวเองอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงหากต้องการทำกิจกรรมทั้งหมดและเพลิดเพลินกับการจัดแสดงโดยละเอียด แม้จะมีชีวิตคู่มาถึง 10 ปีแล้ว ฉันและคู่ของฉันยังค้นพบสิ่งที่น่าสนใจ มองเห็นมุมมองใหม่ และประเด็นที่เปราะบางอ่อนไหวสำหรับพวกเราด้วย”
แต่ที่ใดมีรัก ที่นั่นก็ย่อมมีทุกข์
พิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งซึ่งหมุนรอบประเด็น ‘ความสัมพันธ์’ แต่เป็นมุมกลับของความรัก คือพิพิธภัณฑ์แห่งความสัมพันธ์ที่แตกสลาย (Museum of Broken Relationships) แค่ชื่อก็สัมผัสได้ถึงความร้าวราน พาคลื่นความเศร้าพัดเอาความทรงจำสีจางของใครบางคนขึ้นมา
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นจากบทสนทนากลางดึกคืนหนึ่งในปี 2003 ของ ดราเซน กรูบิซิก (Dražen Grubišić) กับ โอลินกะ ฟิสติกา (Olinka Vištica) ศิลปิน และโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชาวโครเอเชีย เมื่อจบความสัมพันธ์ 4 ปีในฐานะคู่รัก
นั่นคือจุดเริ่มต้นของไอเดียในการรวบรวมวัตถุแห่งความทรงจำที่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดเกินกว่าจะเก็บไว้ แต่ก็ไม่อาจทำใจทิ้งของที่ครั้งหนึ่งเคยมีความหมายกับตัวเองเป็นอย่างยิ่ง
อดีตคู่รักใช้เวลากว่าสองปีพัฒนาแนวคิดในการเก็บสะสมและแบ่งปันเรื่องราวความเสียใจผ่านข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ ให้มี ‘ความเป็นสากล’ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวยามที่พวกเขาได้รัก และสูญเสียมันไป สิ่งของต่างๆ ที่ไม่ระบุชื่อเจ้าของ ถูกจัดวางไว้ในตู้คอนเทนเนอร์
นิทรรศการที่จัดแสดงครั้งแรกในปี 2006 โดนใจผู้คนจากทั่วโลกทันทีโดยที่ทั้งคู่ไม่ได้คาดคิด ต่อมาในปี 2010 ก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาจริงๆ วัตถุที่จัดแสดงมาจากผู้คนทั่วโลกที่ทยอยส่งของมาให้ พร้อมเขียนอธิบายเรื่องราวของพวกเขาที่มีต่อสิ่งของเหล่านั้น จนถึงตอนนี้คาดว่ามีวัตถุจัดแสดงทั้งหมดกว่า 3,000 ชิ้น
ปัจจุบันตัวนิทรรศการได้ตระเวนแสดงไปแล้วกว่า 59 ครั้งใน 32 ประเทศ และด้วยการระดมทุนจากคนทั่วโลก จึงทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์แห่งความสัมพันธ์ที่แตกสลายแบบถาวรอยู่ที่เมืองซาเกร็บ ในโครเอเชีย และเมืองลอสแอนเจลิส ในสหรัฐอเมริกา
วัตถุจัดแสดงทุกชิ้นถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย ทั้งความสุข ความโกรธ ความเศร้า ความอาวรณ์ วัตถุบางอันดูธรรมดา บางอันน่าสนเท่ห์ หรือบางอันก็แปลกพิสดาร แต่ต่างก็มีเรื่องราวลึกซึ้งซ่อนอยู่ในนั้น
ตัวอย่างเช่น ‘ตั๋วเข้าชมกีฬาโอลิมปิกที่เม็กซิโกปี 1968’ ซึ่งเจ้าของตั๋วได้จบความสัมพันธ์ด้วยการหย่าร้างในปี 1993 โดยมีข้อความอธิบายไว้ว่า “ตั๋วเหล่านี้นำความทรงจำที่น่าตื่นเต้นกลับมาเสมอ ฉันจึงไม่มีวันทำลายมันได้”
หรือ ‘ขวานจากเบอร์ลิน’ ที่เล่าเรื่องของชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งถูกแฟนสาวบอกเลิก เพราะเธอตกหลุมรักครั้งใหม่กับเพื่อนสาวของเธอ แม้เขาจะไล่อดีตคนรักออกจากบ้าน แต่ความโกรธในใจทำให้เขาตัดสินใจซื้อขวานมาจามเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้น ในช่วงเวลา 14 วันที่เธอไปเที่ยวกับแฟนสาวคนใหม่
“ผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับความโกรธ จนในที่สุดก็ตัดสินใจซื้อขวานเพื่อเอามาระบายอารมณ์ อย่างน้อยก็อาจทำให้เธอรู้สึกสูญเสียขึ้นมาบ้าง เพราะเห็นได้ชัดว่าเธอไม่มีความรู้สึกนั้นเลยหลังจากเราเลิกกัน”
วัตถุที่ดูแปลกประหลาดชิ้นหนึ่งคือ ‘สะเก็ดแผลอายุ 27 ปีจากอดีตคนรักแรก’ เรื่องราวเบื้องหลังของมันเกี่ยวกับอดีตคู่รักคู่หนึ่ง ที่ฝ่ายชายได้รับบาดเจ็บจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ ทำให้ฝ่ายหญิงเกิดความกลัวว่าจะสูญเสียคู่รักไป เธอจึงเก็บสะเก็ดแผลของเขาไว้ด้วยความคิดทีเล่นทีจริงว่าหากถึงคราวจำเป็น เธอจะสามารถโคลนนิงเขาได้
วัตถุจัดแสดงนั้นยังรวมถึงสิ่งของที่มีความหมายเฉพาะบุคคลด้วย เช่น เสื้อชั้นในสองตัวที่ได้รับบริจาคจากสุภาพสตรีที่ตรวจพบว่าเธอเป็นมะเร็งเต้านม หรือแม่ผู้สูญเสียลูกชายได้บริจาคประตูที่เต็มไปด้วยข้อความที่เขียนโดยเพื่อนๆ ของลูกชายเธอ หรือใครสักคนในสหรัฐอเมริกาที่ไม่สามารถกินพิซซาได้อีกต่อไปเนื่องจากปัญหาทางสุขภาพ ก็ได้บริจาคกล่องพิซซากึ่งสำเร็จรูปให้กับพิพิธภัณฑ์
ผู้มาเยือนมักจะฝากความคิดเห็น และความประทับใจเอาไว้ เกี่ยวกับความหลากหลายของเรื่องราว ที่มาจากต่างวัฒนธรรม ต่างพื้นที่ ต่างบริบท แต่ในความแตกต่างของวัตถุจัดแสดงนั้น สารที่พิพิธภัณฑ์ต้องการจะสื่อกลับชัดเจน
“ความรักทุกรูปแบบไม่จำเป็นต้องมีใครมาตีความให้ ดังนั้นทุกคนจึงสามารถพบกับเรื่องราวที่สื่อสารกับพวกเขาได้”
“ผู้ชมมักรับรู้ได้ว่าเราต่างเหมือนกันในเรื่องของความรักและการสูญเสีย พวกเขาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เหล่านั้นเมื่อได้ชมพิพิธภัณฑ์ จึงไม่รู้สึกว่ามีความทุกข์หรือมีความสุขอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป”
ชาร์ลอตต์ ฟอนเตส์ (Charlotte Fuentes) ผู้จัดการของพิพิธภัณฑ์กล่าว
ที่มา
เว็บไซต์ Love Museum (Online)
เว็บไซต์ Museum of Broken Relationships (Online)
บทความ “Welcome to the Los Angeles Museum of Love” จาก discoverlosangeles.com (Online)
บทความ “Los Angeles Museum of Love Improves the Quality of Your Life- A one of a kind “couple’s adventure.”” จาก einnews.com (Online)
บทความ “A Connective Odyssey: The Los Angeles Museum of Love” จาก dtlaweekly.com (Online)
บทความ “The Los Angeles Museum of Love – Museum in Los Angeles, United States” จาก top-rated.online (Online)
บทความ “Zagreb museum brings together ‘broken’ hearts from around the world” จาก aa.com.tr (Online)
บทความ “Inside the museum filled with stories from the broken-hearted” จาก dailymail.co.uk (Online)
บทความ “Museum of Broken Relationships – All You Need to Know BEFORE You Go” จาก tripadvisor.com (Online)