ทิวทัศน์พร่ามัวกึ่งฟุ้งฝันในภาพวาดของโมเนต์ ฤาจะเป็นม่านเขม่าฝุ่นควัน อากาศพิษในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

31 views
April 10, 2023

นอกจากจะเป็นมรดกวัฒนธรรมที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางศิลปะแล้ว ภาพวาดในพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรียังมีประโยชน์ในฐานะแหล่งข้อมูลด้านสภาพอากาศอีกด้วย ล่าสุดนักวิจัยพบว่าผลงานของโมเนต์ (Claude Monet) มีโอกาสสูงที่จะสะท้อนคุณภาพอากาศของกรุงลอนดอนและปารีสในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเต็มไปด้วยหมอกควันหนาแน่น ไม่ต่างอะไรกับในปัจจุบัน

โมเนต์คือศิลปินชื่อดังชาวฝรั่งเศสที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1840-1926 ผลงานของเขาโดดเด่นจนได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินระดับโลกด้านงานศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) ที่เน้นการถ่ายทอดความรู้สึกงดงามหรือประทับใจผ่านภาพวาดฟุ้งฝัน เน้นการใช้แสง สี และเงา ผ่านองค์ประกอบภาพอันเป็นเอกลักษณ์ ดูมีความเคลื่อนไหวแต่ยังสบายตาผ่านความพร่ามัวที่น่าหลงใหล

จดหมายของโมเนต์ที่เขียนถึงภรรยาเมื่อปี 1901 ได้นำไปสู่ข้อสันนิษฐานที่เปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับผลงานของเขา นั่นคือข้อความในจดหมายได้บรรยายสภาพอากาศอันเลวร้าย “ทุกอย่างเหมือนตายไปแล้ว ไม่มีรถไฟ ไม่มีควัน ไม่มีเรือ ไม่มีอะไรเลยที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำงาน”

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ในปี 1901 ที่จดหมายฉบับนี้ถูกเขียนขึ้น เป็นช่วงที่โมเนต์อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอนพอดี ช่วงเวลานี้เขาสร้างผลงานกว่า 100 ภาพ ที่คนในยุคปัจจุบันเคยเข้าใจว่าคือการชื่นชมธรรมชาติและถ่ายทอดความฟุ้งฝันตามแบบศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์อย่างที่เขาถนัด

หลักฐานชิ้นใหม่นี้สนับสนุนทฤษฎีที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคนเชื่อถือมาอย่างยาวนาน นั่นคือลักษณะเฉพาะในงานของโมเนต์อาจหมายถึง ‘สภาพอากาศอันเลวร้าย’ ที่เขาเห็นเสียมากกว่า

“ฉันทำงานเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศมานาน ตอนที่ฉันเห็นภาพวาดของโมเนต์ จึงสันนิษฐานได้ทันทีว่านี่อาจจะเป็นการสื่อถึงสภาพอากาศที่ย่ำแย่ เพราะแสง สี และเงาในภาพวาดของเขาดูมืดมนขึ้นตามช่วงเวลาที่เขาอยู่ที่นั่น” แอนนา ลี ออลไบรท์ (Anna Lea Albright) นักวิจัยของห้องปฏิบัติการอุตุนิยมวิทยาพลวัต (Laboratoire de Météorologie Dynamiqu) แสดงความเห็นไว้ถึงข้อสันนิษฐานนี้

อีกทั้งถ้าพิจารณาดูตามหน้าประวัติศาสตร์ของกรุงลอนดอน เราจะพบอีกหนึ่งหลักฐานที่สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว นั่นคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมส่งผลต่อสภาพอากาศอย่างใหญ่หลวงในช่วงปี 1796-1901 ซึ่งตรงกับช่วงที่โมเนต์อาศัยอยู่พอดี ดังนั้นจึงเป็นไปได้สูงมากที่ความพร่าเลือนในภาพวาดจะหมายถึงเขม่าจากถ่านหินที่สร้างหมอกหนาทึบ

เมื่อมีการศึกษาวิจัยภาพวาดของเทอร์เนอร์ (Joseph Mallord William Turner) ศิลปินชาวอังกฤษที่สร้างผลงานศิลปะในช่วงเวลาใกล้เคียงกันควบคู่ไปด้วย ก็จะพบว่าภาพวาดของทั้งสองมีลักษณะร่วม คือความหม่นมัวของอากาศ ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับหมอกควันจากอุตสาหกรรมและเครื่องจักรไอน้ำจึงมีน้ำหนักมากขึ้น

“โดยทั่วไปแล้ว มลพิษทางอากาศจะสร้างหมอกให้คนเห็นขอบของวัตถุได้ยาก อีกทั้งยังทำให้สิ่งที่เราเห็นมีความขาวมากขึ้นด้วย ดังนั้นนี่อาจเป็นเหตุผลให้ภาพของโมเนต์ออกมาฟุ้งฝันก็ได้” แอนนาเสริม

จริงอยู่ที่ถ้าดูตามหลักฐานและงานศิลปะของโมเนต์ที่เราสามารถเสพได้ในปัจจุบัน ชุดข้อมูลนี้มีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อย อีกทั้งเหล่านักวิจัยรวมถึงนักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายคนก็ต่างออกมาสนับสนุน แต่ถึงกระนั้นเสียงจากฝั่งตรงข้ามก็มีปรากฏขึ้นมาเช่นกัน

นักวิจารณ์ศิลปะอย่างเซบาสเตียน ซมี (Sebastian Smee) ได้ออกมาโต้แย้งข้อสันนิษฐานนี้ ว่าความคิดสร้างสรรค์ภายในไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับสิ่งเร้าภายนอกขนาดนั้น ดังนั้นการอนุมานตามหลักฐานแวดล้อมจึงไม่อาจสะท้อนความตั้งใจของศิลปิน ภาพวาดอาจจะไม่จำเป็นต้องสื่อถึงความเป็นจริงก็ได้

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการศึกษาที่คล้ายกัน นักประวัติศาสตร์ศึกษาภาพวาดยุคกลาง (Medieval) และค้นพบว่าช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 1300 – 1500 คือยุคน้ำแข็งน้อย (Little Ice Age) ของยุโรป ที่อากาศหนาวเย็นเป็นพิเศษ ภาพวาดหลายภาพบ่งบอกถึงสภาพอากาศที่แตกต่าง เช่น แม่น้ำในประเทศอังกฤษอย่างแม่น้ำเทมส์ กลายเป็นน้ำแข็งในฤดูหนาวจนชาวลอนดอนสามารถลงไปเล่นสเกตได้ หรือภาพกรุงโรมที่ถูกห่อหุ้มด้วยหิมะขาวโพลน

ผลการศึกษาทั้งหลายได้มาจากการศึกษาภาพวาดจำนวนร้อยๆ ชิ้น ความเป็นจริงในอดีตจะเป็นเช่นไร อาจต้องค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมจากแหล่งอื่น เพื่อเสริมความหนักแน่น แต่อย่างน้อยข้อคิดหนึ่งที่เราได้จากการศึกษาเหล่านี้ คือการได้ทราบว่าข้อมูลใหม่อาจได้มาจากการตั้งข้อสังเกต และผลที่ได้อาจนำมาสู่ข้อถกเถียงที่อาจเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต

ทิวทัศน์พร่ามัวกึ่งฟุ้งฝันในภาพวาดของโมเนต์ ฤาจะเป็นม่านเขม่าฝุ่นควัน อากาศพิษในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
The Thames below Westminster วาดโดย Claude Monet ในปี ค.ศ. 1871
Photo : Public Domain


ที่มา

บทความ “Air pollution made an impression on Monet and other 19th century painters” จาก sciencenews.or (Online)

บทความ “Scientists confirm long held theory about what inspired Monet” จาก edition.cnn.com (Online)

บทความ “The Dreamlike Haze of Monet’s Work Was Inspired by Air Pollution, New Study Claims” จาก artnews.com (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก