ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา การเรียนออนไลน์เริ่มแพร่หลายจนกลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้เกิดมุมมองใหม่ขึ้นมาว่าการศึกษาในหลาย ๆ วิชาไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนรู้ในระบบแบบดั้งเดิม จุดนี้เองที่ ‘Micro-school’ เริ่มเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับการเรียนการการสอนในระดับประถมและมัธยมศึกษา
EdChoice องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ประมาณการว่า มีเด็กๆ เข้าเรียนใน Micro-school แล้วกว่า 2 ล้านคนในปัจจุบัน
ตัวอย่างโรงเรียนซึ่งเป็นที่รู้จักอยู่เดิม เช่น Acton Academy school, Wildflower Schools, Prenda และ Khan Lab School โดยส่วนมากคือโรงเรียนทางเลือก แต่ Micro-school ที่เกิดขึ้นใหม่ตั้งแต่หลังช่วงการแพร่ระบาดของโควิดเป็นต้นมา มักจะเป็นโรงเรียนหรือแหล่งเรียนรู้ในชุมชน
ว่ากันตามนิยาม Micro-school เป็นเหมือนจุดกึ่งกลางระหว่างการเรียนรู้ในโรงเรียนและการเรียนแบบ Homeschool คือ ใช้การเรียนออนไลน์ร่วมกับการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็กๆ ในสถานที่ที่ไม่ได้มีข้อจำกัดและหลักสูตรที่เลือกเป็นอิสระต่อข้อกำหนดจากส่วนกลาง แต่เลือกตามความสนใจของกลุ่มผู้เรียนเป็นหลัก
โดยจะเป็นชั้นเรียนรวมกัน เช่น ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม และมัธยม เน้นให้เด็กได้พัฒนาทักษะต่างๆ ที่แตกต่างอยู่บ้างจากการเรียนรู้ในระบบ เช่น ทักษะการอยู่ร่วมกัน ทักษะการใช้ชีวิต กระตุ้นให้เด็กค้นพบเป้าหมาย และพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ควบคู่ไปกับการพัฒนาความฉลาดทางปัญญา เพราะทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโลกยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ในสหรัฐอเมริกายังปรากฏความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เช่น Doug Ducey เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแอริโซนา ได้บริจาคเงิน 3.5 ล้านดอลลาร์และออกนโยบายในการพัฒนา Micro-school 50 แห่งทั่วรัฐอย่างจริงจัง
ฝ่ายการศึกษาของรัฐนิวแฮมป์เชียร์ได้ออกมาประกาศความร่วมมือกับ Prenda ในการจัดสร้างโครงการ Recovering Bright Futures เพื่อจัดการกับปัญหาการหยุดชะงักทางการศึกษา เพราะเล็งเห็นความสำคัญที่สภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบเล็กๆ นี้จะเป็นประโยชน์และเหมาะสมในการจัดการกับผลกระทบในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ส่วนในประเทศไทยเอง ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ The Little Unicorn House – An Innovative Microschool สถานศึกษาในรูปแบบ Micro-school ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ไม่ได้เป็นโรงเรียนในระบบ แต่ได้รับการพูดถึงอย่างมาก เพราะเริ่มต้นจากพ่อแม่กลุ่มเล็กๆ ที่ลุกขึ้นมาจัดการเรื่องการเรียนรู้ให้เด็กๆ ด้วยตัวเองจนมีนักเรียนมาเข้าร่วมหลักสูตรจำนวนมาก
ดร.สุวิต ศรีไหม หรือพ่อโอ ผู้ก่อตั้ง The Little Unicorn House กล่าวว่าสำหรับเขา โรงเรียนขนาดเล็กคือทางออกของระบบการศึกษาในตอนนี้ เพราะใช้ทรัพยากรน้อยกว่า แต่สามารถผลิตบุคลากรคุณภาพได้ โดยในปัจจุบันขาดเพียงความเข้าใจและการนำเอาทรัพยากรการเรียนรู้ในประเทศมาปรับใช้อย่างเหมาะสม
ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง หน้าตาของการศึกษาและการเรียนรู้ทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน Micro-school จะเข้ามาสร้างสรรค์อะไรให้วงการการศึกษา ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจมี Micro-school อยู่ในทุกชุมชนก็ได้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันไป เกิดเป็นความเรียนรู้ที่เหมาะสมในทุกระดับนั่นเอง
ที่มา
บทความ “Micro-school combines public education, homeschooling, unique environment learning” จาก live5news.com (Online)
บทความ “What Is a Microschool?” จาก usnews.com (Online)
บทความ “Is 2023 the year of the microschool?” จาก christenseninstitute.org (Online)