โกเทนเบิร์ก เคยเป็นเมืองท่าสำคัญ แถมยังนับได้ว่ามีท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในแถบสแกนดิเนเวีย มีผู้คนจากต่างแดนอพยพมาทำงาน และมีผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเดินเรือมากถึง 15,000 คน แต่ความรุ่งโรจน์ในอดีตก็จางหายเมื่อการคมนาคมขนส่งทางบกหรือทางอากาศว่องไวกว่า ความเป็นเมืองท่าเลยเป็นแค่เรื่องเล่าตามประวัติศาสตร์
พิพิธภัณฑ์การเดินเรือ Sjöfartsmuseet เชื่อว่าความรุ่งเรืองแต่หนหลัง ควรค่าแก่การเก็บบันทึกและเล่าต่อให้คนรุ่นใหม่ จึงรวบรวมเอกสารต่างๆ เช่น แบบแปลนเรือ สมุดบันทึกของนักเดินเรือ ทำหน้าที่เสมือนเป็นหอจดหมายเหตุรวบรวมเรื่องราวการเดินเรือของเมือง ของประเทศสวีเดน รวมถึงชีวิตระหกระเหินของนักเดินเรือที่ออกผจญภัยไปยังดินแดนที่มั่งคั่งกว่าในมุมต่างๆ ของโลก
Sjöfartsmuseet ตั้งเป้าหมายว่าจะไม่จัดแสดงข้อมูลแห้งๆ เพียงอย่างเดียว แต่จะมุ่งเน้นให้คนรุ่นใหม่สามารถเชื่อมโยงกับเรื่องราวหนหลังผ่านเรื่องราวของปัจเจกบุคคล ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะทำให้ผู้มาเยือนซึมซับเรื่องราวต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
หลังใช้เวลาบูรณะปรับปรุงนานถึง 4 ปี เมื่อเดือนธันวาคม 2022 Sjöfartsmuseet ก็เปิดประตูต้อนรับชาวเมืองและผู้มาเยือนอีกครั้ง ภายในมีนิทรรศการถาวร Sea of Stories ซึ่งบอกเล่าเรื่องผ่านตัวบุคคลธรรมดา และข้าวของกว่า 400 ชิ้นที่ค้นพบจากทะเล เราเลยได้เห็นหนังสือเดินทางของคนเดินเรือ จดหมายของคนทำงานบนเรือทั้งชายและหญิงที่ส่งหาถึงคนที่บ้าน สมุดสเกตช์ แผนที่ ของสะสมที่ได้มาจากการแวะชอปปิงตามท่าเรือต่างๆ ทั่วโลก เปิดแง่มุมของคนทำอาชีพเดินเรือว่าไม่ได้สงวนไว้แค่สำหรับผู้ชาย
นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่าของแอนนา โดโรธีอา เพอร์สัน นักเดินเรือหญิงรุ่นบุกเบิก เรื่องของซินเญ เบอร์ลิน นักเดินทางหญิงผู้ออกเดินทางทางทะเล 33 ครั้ง และเดินทางรอบโลกมากถึง 11 รอบ รวมถึงบทสัมภาษณ์ของผู้หญิงรุ่นปัจจุบันที่ทำงานในอุตสาหกรรมการเดินเรือ หรือเรื่องราวของครอบครัวโบรสเตริมที่เป็นนักจัดการบัญชีสำหรับบริษัทเดินเรือ และเป็นผู้ก่อตั้ง Svenska Amerika Linien สายการเดินเรือเชิงพาณิชย์แห่งแรกของสวีเดนที่พาผู้โดยสารเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจากโกเทนเบิร์ก ไปยังนิวยอร์ก โดยบริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นในย่านมายอร์นา ซึ่งเป็นย่านที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นี้เอง
ไม่ใช่เฉพาะเรื่องราวของคนในประวัติศาสตร์เท่านั้น ยังมีห้องนิทรรศการ Shipyard memories ที่เป็นเรื่องเล่าจากลุงป้าน้าอา ยุคร่วมสมัย อดีตคนทำงานเกี่ยวกับเรือที่ทันได้เห็นท่าเรือโกเทนเบิร์ก ยุครุ่งโรจน์ในช่วงปี 1960 ซึ่งเลนา เออริสต์ลันด์ ช่างภาพของนิทรรศการนี้ได้เล่าว่า
เธอต้องการ “เน้นไปที่เรื่องราวส่วนตัวและความทรงจำ เพื่อนร่วมงาน อารมณ์ขันแบบชาวเรือ บรรยากาศการเดินเรืออันสาหัส รวมถึงตอนเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงต่างๆ… เราอยากนำเสนอเรื่องราวส่วนบุคคล เพราะมีคนวัยหนุ่มสาวมากมายที่ย้ายมาโกเทนเบิร์ก แต่ไม่รู้เรื่องราวส่วนนี้ เราเลยอยากเอามาเล่า” ซึ่งคำบอกเล่าเหล่านั้นก็สะท้อนคาแรกเตอร์ของชาวโกเทนเบิร์กเป็นอย่างดี
นอกจากผู้ใหญ่และคนรุ่นใหม่ ทางพิพิธภัณฑ์ยังเพิ่มพื้นที่สำหรับเด็กๆ ให้รู้จักทะเลและตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนผ่านนิทรรศการที่จัดทำเพื่อเด็กๆ โดยเฉพาะ ตั้งแต่อควาเรียมชั้นใต้ดินในชื่อ Ocean Planet ที่เด็กๆ จะได้ศึกษาสภาพแวดล้อมของท้องทะเลและมหาสมุทรแห่งต่างๆ ว่าถึงแม้จะอยู่ต่างที่ แต่ก็เหมือนเชื่อมโยงเป็นมหาสมุทรแผ่นเดียวกัน และส่งผลกระทบเชื่อมโยงถึงกัน ดังที่มาเรีย อูเนลล์ หนึ่งในผู้ออกแบบนิทรรศการกล่าวไว้
“เป็นเรื่องยากที่จะเล่าว่า ทะเลหรือมหาสมุทรสุขภาพไม่ดี… ควรทำให้เด็กๆ รู้สึกเหมือนกำลังทำความรู้จัก และกำลังสร้างความสัมพันธ์กับทะเล ถ้าเราอยากให้ใครสักคนดูแลท้องทะเล สิ่งนี้เป็นเรื่องจำเป็น เรารู้ว่าเด็กๆ รุ่นใหม่กังวลเรื่องทะเลและโลกร้อน เราหวังว่าที่นี่จะทำให้พวกเขาฮึด สู้ต่อ และมีความกล้าที่จะลงมือเปลี่ยนแปลง”
ที่แห่งนี้ยังมีนิทรรศการกึ่งสนามเด็กเล่นในห้อง Big Blue สำหรับเด็ก 4-10 ขวบที่จำลองสภาพห้องให้เหมือนอยู่ใต้การโอบอุ้มของมหาสมุทร เพื่อสื่อถึงความสัมพันธ์ว่าท้องทะเลก็ไม่ต่างจากแม่หรือญาติผู้ใหญ่ ดังที่หลุยส์ มิดการ์ด หนึ่งในทีมออกแบบนิทรรศการเคยบอกเล่าถึงที่มา
“เรานึกถึงสายสัมพันธ์ที่เด็กๆ รู้สึกต่อทะเล อยากให้พวกเขารู้สึกไม่ต่างจากความสัมพันธ์แบบเดียวกันกับแม่หรือปู่ย่าตายาย เพราะทะเลมีเรื่องราวหลายอย่าง มีประสบการณ์มากมาย เด็กๆ จะเคารพและยำเกรง แต่ก็จะรักแบบไม่มีข้อแม้ด้วย”
ดังนั้นภายในนิทรรศการส่วนนี้เด็กๆ จะได้ทำความรู้จัก ‘แตะต้องทะเล’ อย่างหนำใจผ่านประสาทสัมผัสหลากหลาย ได้ทั้งลองจำแนกชนิดหอยจากเปลือก นั่งสมาธิกลางเสียงคลื่น คลานใต้ตัวปลาหมึก นอนแผ่ตัวยาวเพื่อซึมซับความกว้างใหญ่ของท้องทะเล และการได้ลองเล่นที่กระตุ้นการเรียนรู้อีกหลายรูปแบบ
นอกจากนิทรรศการที่เต็มไปด้วยเรื่องราวชีวิตของชาวเรือ ย่านมายอร์นา (Majorna) ที่ตั้งของ Sjöfartsmuseet ก็มีเรื่องราวเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของเมืองและความเป็นชาวเรือเช่นกัน แต่เดิมมายอร์นาเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ เมื่อกลายเป็นท่าเรือ ก็เริ่มเป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงาน โดยเฉพาะกลาสี นักต่อเรือ ช่างไม้ ช่างตัดเย็บ ช่างสัก และอาชีพที่เชื่อมโยงกับการเดินเรือ ซึ่งส่งผลให้มีภาพลักษณ์ของแหล่งยากจนไปโดยปริยาย
ทว่า หลังจากรวมเข้ากับโกเทนเบิร์กอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1868 มายอร์นาได้พลิกภาพลักษณ์จากแหล่งอาศัยของชนชั้นแรงงานมาเป็นพื้นที่สุดฮิปร่วมสมัย ภาพลักษณ์ของคนย่านนี้คือแข็งขัน แต่ก็เต็มไปด้วยศิลปะ ร้านค้าของทำมือ ของวินเทจ ร้านค้าสไตล์ artisan ขนาดเล็กมากมาย คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งย้ายมาโกเทนเบิร์ก โดยเฉพาะนักเรียน กลุ่มคนทำงานศิลปะ ชาววีแกน อยากมีอพาร์ตเมนต์อยู่ในย่านนี้เป็นลำดับต้นๆ
หลังการบูรณะ Sjöfartsmuseet ที่ดินในย่านนี้ก็กลายเป็นแหล่งทำเลทอง มีการเปิดตัวของคาเฟ่ บาร์ ร้านอาหารใหม่เก๋ไก๋ มายอร์นาคึกคักขึ้นจนขึ้นทำเนียบเป็นแหล่งแฮงเอาต์อันดับต้นๆ ของเมือง
ที่มา
เว็บไซต์ Maritime Museum and Aquarium (Online)
บทความ “Majorna – bakom fasaden | ETC Göteborg – Lokaltidningen för och om Göteborg” จาก web.archive.org (Online)
บทความ “Majorna är en av Göteborgs äldsta stadsdelar och redan på 1600-talet började det växa fram en förstadsbebyggelse ovanför Gamla Varvet, vilket låg ungefär där Stigbergskajen ligger idag” จาก stadshem.se (Online)
บทความ “Nya Sjöfartsmuseet Akvariet i Göteborg öppnar i december” จาก gp.se (Online)
บทความ “nu oppnar sjofartsmuseet akvariet” จาก vartgoteborg.se (Online)