กวีนิพนธ์ เป็นหนึ่งในรูปแบบวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ มีการประพันธ์และขับขานมานานกว่า 5,000 ปี แต่ดูเหมือนว่างานกวีนิพนธ์ไม่อาจเปล่งประกายได้เท่าที่ควร เพราะถูกจัดให้เป็นเพียงงานสร้างสรรค์แขนงหนึ่งของวรรณคดี จนกระทั่งไม่นานมานี้เอง บทบาทของกวีนิพนธ์ถูกนิยามใหม่ และได้รับการเชิดชูในฐานะศิลปะอิสระ เป็นสหวิทยาการศิลปะดังเช่นศิลปะแขนงอื่น อาทิ ดนตรี การเต้นรำ ทัศนศิลป์ และภาพยนตร์
โธมัส โวลฟาร์ท ประธานสถาบัน Haus fur Poesie หรือ ‘บ้านกวีนิพนธ์’ ซึ่งเป็นองค์กรทางวัฒนธรรมในประเทศเยอรมนีที่ก่อตั้งมานานกว่า 30 ปี มีบทบาทหน้าที่ในการศึกษา ส่งเสริม และเผยแพร่กวีนิพนธ์ ได้กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูวงการกวีนิพนธ์ เทคโนโลยีเอื้อให้บทกวี เสียง และภาพกราฟิก สามารถปรากฏพร้อมกันได้ ในคริสต์ทศวรรษ 2000 มีสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่เน้นตีพิมพ์กวีนิพนธ์เกิดขึ้นมากมาย เช่น kookbooks, poetenladen และ Edition Azur
Haus fur Poesie ได้จัดทำเว็บไซต์ Lyrikline ขึ้นมาในปี 1999 เป็นคลังกวีนิพนธ์ที่รวบรวมบทกวีมากกว่า 1,400 บท จาก 50 ประเทศ โดยผู้ใช้สามารถเข้าไปอ่านหรือฟังบทกวีเหล่านี้ซึ่งมีการแปลไว้เป็นภาษาต่างๆ นับร้อยภาษา (แต่ยังไม่มีภาษาไทย) เพื่อรองรับนักอ่านผู้หลงใหลรสกวีจากทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังมีการจัดเทศกาลประจำปี Poesiefestival Berlin ที่มีผู้เข้าร่วมงานนับหมื่นคน ถือเป็นเทศกาลกวีนิพนธ์ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป (เทศกาลกวีนิพนธ์นานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ โพเอเซีย เดอ เมเดลลิน ในประเทศโคลอมเบีย มียอดผู้เข้าร่วมงานกว่า 120,000 คน)
กิจกรรมอื่นๆ ของ Haus fur Poesie ได้แก่ การจัดเวิร์กชอปกวีนิพนธ์ตามสถานศึกษา การผลิตสื่อภาพยนตร์ซึ่งให้ผู้ประพันธ์มาอ่านบทกวีของตน ถ่ายทอดเรื่องราวและสื่อสารกับผู้อ่าน นอกจากนั้นยังมีส่วนร่วมในการจัดงานวันกวีนิพนธ์สากล (World Poetry Day) 21 มีนาคมของทุกปี ที่มีการระดมศิลปินจากนานาชาติ เช่น อิรัก อังกฤษ บราซิล และฟินแลนด์ มาร่วมขับขานบทกวี ถ่ายทอดเนื้อหาหลากหลายแง่มุม
โธมัส เชื่อมั่นว่ากวีนิพนธ์จะไม่สูญสลายไปตามกาลเวลา และสามารถยืนหยัดได้ในฐานะศิลปะอิสระ และทางสถาบัน Haus fur Poesie เองตั้งใจที่จะพัฒนาโครงการกิจกรรมต่างๆ ทั้งในแง่ของการสร้างสรรค์ การนำเสนอ และการเผยแพร่ เพื่อส่งเสริมวงการกวีนิพนธ์ โดยนำเทคโนโลยียุคดิจิทัลเข้ามาปรับใช้
ผู้สนใจเข้าชมเว็บไซต์ อ่านหรือฟังบทกวีภาษาต่างๆ ได้ที่ lyrikline.org

ที่มา
บทความ “Poetry, one of the oldest cultural forms” จาก dw.com (Online)