Library Café คาเฟอีนความรู้ แหล่งมั่วสุมทางปัญญา

85 views
August 3, 2021

ทำไมหนุ่มสาวออฟฟิศ ฟรีแลนซ์ นักศึกษา นักคิดนักเขียน ถึงชอบไปนั่งทำงานกันในบรรยากาศร้านกาแฟ?

บทความของ BBC ชื่อ Why you’ re more creative in coffee shops เผย 3 สาเหตุหลักที่ทำให้ร้านกาแฟกลายเป็นสถานที่ที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ในแบบที่ออฟฟิศหรือบ้านไม่สามารถทำได้

ข้อแรก ร้านกาแฟมีบรรยากาศที่ลงตัวระหว่าง ‘เสียง’ และ ‘ผู้คน’ บรรยากาศของเสียงที่มีความดังในระดับต่ำถึงปานกลางแบบที่พบในร้านกาแฟนั้น ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้ดี เพราะหากเราถูกรบกวนสมาธิด้วยเสียงในระดับพอเหมาะ สมองของเราจะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น และเอื้อต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น ดังนั้นเสียงดนตรีแจ๊ส การสนทนาเบาๆ และเสียงบาริสตาชงเครื่องดื่ม จึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับการทำงาน

ข้อสอง บรรยากาศในออฟฟิศแบบเดิมๆ ทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายจำเจ แต่ในร้านกาแฟ เราจะได้รับการกระตุ้นทางสายตา ซึ่งมีอิทธิพลต่อกระบวนการคิดสร้างสรรค์ เพราะมีสิ่งเร้าที่มากระตุ้นโสตสัมผัสเป็นระยะและเกิดขึ้นรอบตัว เช่น ผู้คนที่เดินเข้าออก แสงสว่างที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลา หรือกลิ่นกาแฟและอาหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง

ข้อสาม บรรยากาศแบบไม่เป็นทางการ เป็นองค์ประกอบที่เอื้อต่อการคิดงานคนเดียวหรือการทำงานเป็นกลุ่ม จุดต่างที่เด่นชัดคือ การคุยงานในออฟฟิศมักจะมีวาระการประชุมรวมไปถึงข้อจำกัดอื่นๆ ที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกตัดตอน แต่เวลาคุยงานในร้านกาแฟ เราจะรู้สึกผ่อนคลายและเป็นกันเองมากกว่า

ในประวัติศาสตร์ ร้านกาแฟเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ที่ทลายกำแพงทางชนชั้น จนนำมาสู่จุดเริ่มต้นของยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ร้านกาแฟในกรุงลอนดอนเป็นแหล่งชุมนุมข่าวสารที่สำคัญ บนโต๊ะจะมีหนังสือพิมพ์และจุลสารไว้ให้อ่าน ผู้คนจะมาพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล หรือเขียนข่าว ชาวเมืองออกซ์ฟอร์ดถึงกับขนานนามร้านกาแฟว่า ‘มหาวิทยาลัยราคาถูก’ เพราะเพียงจ่ายเงินซื้อกาแฟแค่ถ้วยเดียวก็สามารถเข้าถึงการสนทนาหรือโต้วาทีของปัญญาชนได้ ร้านกาแฟบางแห่งมีลูกค้าประจำเป็นนักฟิสิกส์ชื่อดังอย่างเซอร์ ไอแซก นิวตัน รวมไปถึงกวีและนักเขียนอย่าง จอห์น ดรายเดน อเล็กซานเดอร์ โป๊ป และโจนาธาน สวิฟต์

เคล็ดลับในการออกแบบร้านกาแฟที่ดี มักเป็นพื้นที่เปิดโล่ง วางผังแนวนอนเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์หรือเกิดการสังสรรค์ เฟอร์นิเจอร์ทรงเรขาคณิตน้ำหนักเบาเอื้อให้ลูกค้าสามารถปรับตำแหน่งที่นั่งได้ตามถนัด หรือจัดที่นั่งได้ทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่ม มีเสียงรบกวนในระดับพอเหมาะที่นำไปสู่ภาวะ cognitive disfluency ซึ่งจะทำให้บุคคลได้ใช้ความคิดอย่างลุ่มลึกตรึกตรอง

วงการห้องสมุดได้นำแนวคิดการออกแบบพื้นที่และบรรยากาศร้านกาแฟมาประยุกต์ใช้ในการปรับภูมิทัศน์และพื้นที่ใช้สอย รวมถึงจัดสรรพื้นที่ให้กับ ‘คาเฟ่ห้องสมุด’ (Library Café) หรือร้านกาแฟในห้องสมุด

ในช่วงทศวรรษ 1990 มหาวิทยาลัยทั้งยุโรปและอเมริกาเริ่มมีร้านกาแฟอยู่ในอาคารเดียวกันหรือใกล้ๆ กันกับห้องสมุด เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่ผู้คนเข้ามาเรียนรู้และพูดคุยแลกเปลี่ยน มีบรรยากาศเป็นกันเอง กระตุ้นการมีปฏิสัมพันธ์ เหมาะกับการนัดพบปะและทำงานกลุ่ม ขณะเดียวกันก็สามารถนั่งรับประทานอาหารและเครื่องดื่มไปด้วย

งานวิจัยเรื่อง Library Café as a Place for Collaborative Learning ศึกษาเปรียบเทียบคาเฟ่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย 3 แห่งในญี่ปุ่น ฮ่องกง และแคนาดา ซึ่งทุกแห่งต่างมีร้านกาแฟแบรนด์ดังตั้งอยู่ที่ชั้น 1 ของอาคารห้องสมุดเหมือนกัน พบว่านักศึกษาญี่ปุ่น 18% และนักศึกษาฮ่องกง 27% นิยมใช้คาเฟ่ห้องสมุดเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยังก่อให้เกิดทัศนคติเชิงบวกแก่นักศึกษาที่เป็นผู้ใช้งานอย่างน้อย 3 ประการคือ (1) รู้สึกเต็มใจเข้าห้องสมุดมากขึ้น (2) รู้สึกเป็นสถานที่พิเศษและขาดไม่ได้ (3) มีคุณค่าทางสังคม ใช้เป็นพื้นที่นัดพบหรือกินดื่ม เหมาะสำหรับการผ่อนคลาย

Library Café คาเฟอีนความรู้ แหล่งมั่วสุมทางปัญญา
Photography: Ossip Architectuurfotografie/ Mecanoo.nl


ที่มา

บทความ “Library Café as a Place for Collaborative Learning: A Comparative Study between the University of Tsukuba, University of Hong Kong, and the University of British Columbia” จาก slideshare.net (Online)

บทความ “Why you’re more creative in coffee shops” จาก bbc.com (Online)

บทความ “How Coffee Fueled Revolutions—and Revolutionary Ideas” จาก history.com (Online)

บทความ “Why Your Creative Mind Works The Best In The Cafe” จาก lifehack.org (Online)

บทความ “Not Spending Time at Coffee Shops Can Drain Our Collective Creativity” จาก dailycoffeenews.com (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก