จากเปียโนในห้องอนุบาลจนถึงไลฟ์เฮาส์ : ญี่ปุ่นสร้างอุตสาหกรรมดนตรีอันแข็งแกร่งได้อย่างไร?

251 views
7 mins
January 8, 2024

          ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมดนตรีใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก สถิติล่าสุดที่เผยแพร่โดยสมาคมอุตสาหกรรมแผ่นเสียงแห่งประเทศญี่ปุ่น (Recording Industry Association of Japan – RIAJ) เปิดเผยว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมดนตรีดิจิทัลของญี่ปุ่นมีมูลค่าถึง 307 พันล้านเยน (2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2021 ถึง 9% และคาดการณ์ว่าชาวญี่ปุ่นใช้จ่ายเงินไปกับดนตรีต่อหัวมากกว่าชาวอเมริกันถึง 2 เท่า 

          ในขณะที่อุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกย้ายพื้นที่หลักขึ้นไปอยู่บนโลกสตรีมมิงมานานนับทศวรรษแล้ว แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ยอดซื้อขายซีดีและแผ่นเสียงไวนิลในญี่ปุ่นยังคิดเป็น 66% ของการบริโภคสินค้าที่เกี่ยวกับดนตรีทั้งหมด เป็นหลักฐานหนึ่งว่า สำหรับชาวญี่ปุ่น ดนตรีเป็นมากกว่าการผ่อนคลายหรือการเปิดเพื่อสร้างบรรยากาศ แต่เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ควรค่าแก่การจับจ่ายใช้สอยและเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชีวิต

          แม้จะมองข้ามตัวเลขเหล่านั้นไปทั้งหมด เราทุกคนต่างก็รู้ดีว่าอุตสาหกรรมดนตรีของญี่ปุ่นนั้นก้าวหน้าและแข็งแกร่งอยู่ในระดับโลกมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นยุคของ J-rock อย่าง X Japan นักประพันธ์เพลงคลาสสิกผู้ล่วงลับอย่างริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto) หรือจะเป็นราชินีแห่งยุคซิตี้ป๊อป (City Pop) อย่าง มาริยะ ทาเคอูจิ (Mariya Takeuchi) เจ้าของบทเพลง Plastic Love ที่ยังโลดแล่นอยู่ในโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มแม้ว่าจะบันทึกเสียงครั้งแรกไว้ตั้งแต่ปี 1985 หรือจะเป็นวงไอดอลสาวข้างบ้านอย่าง AKB48 ก็มีพลังมากพอที่จะส่งวัฒนธรรมไอดอลออกไปหลายประเทศทั่วโลก เรียกได้ว่าในทุกซอกทุกมุมของวงการดนตรีทั่วโลกมีร่องรอยของดนตรีญี่ปุ่นอยู่เสมอ 

          เคล็ดลับสำคัญอย่างหนึ่งที่ชวนให้เข้าใจได้ว่าการเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแรงของอุตสาหกรรมดนตรีญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ก็คือระบบการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นการปลูกฝังว่าดนตรีเป็นเรื่องพื้นฐานใกล้ตัวมาตั้งแต่เยาว์วัย

จากเปียโนในห้องอนุบาลจนถึงไลฟ์เฮาส์ : ญี่ปุ่นสร้างอุตสาหกรรมดนตรีอันแข็งแกร่งได้อย่างไร?
ภาพตัวอย่างร้านขายแผ่นเสียงไวนิลในญี่ปุ่น
Photo: Yuki Kohara

เปียโนในห้องเรียนอนุบาลและเครื่องดนตรีราคาถูกในระดับประถม

          เด็กๆ ชาวญี่ปุ่นได้เรียนดนตรีมาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล เริ่มต้นตั้งแต่ 3-4 ขวบ การเรียนดนตรีในที่นี้ไม่ใช่การร้องเพลง A-Z แล้วปรบมือให้เข้าจังหวะ แต่เป็นการเรียนรู้ผ่านเสียงเปียโนของคุณครูในทุกๆ เช้า นักศึกษาครูในประเทศญี่ปุ่นจะต้องเรียนเปียโนขั้นต้น และต้องสอบผ่านในระดับพื้นฐานให้ได้ก่อนจึงจะสามารถขอใบประกอบวิชาชีพตามกฎหมายได้ ทำให้ครูอนุบาลชาวญี่ปุ่นทุกคนสามารถเล่นเปียโนได้ ในห้องเรียนอนุบาลของทุกโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเอกชนราคาแพงหรือโรงเรียนรัฐบาลใกล้บ้านจึงจะมีเสียงดนตรีอยู่เสมอทุกๆ วัน

         ความใกล้ชิดกับเสียงเพลงซึ่งบรรเลงสดๆ กันตั้งแต่อนุบาล และเพลงทั้งหมดจะเป็นเพลงที่มีทำนองง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เพราะบรรเลงจากเปียโนหรือออร์แกนของคุณครู เด็กๆ จึงได้ทำความรู้จักกับโน้ตแต่ละเสียงผ่านการฟังและร้องเพลงง่ายๆ เหล่านั้น แทนที่จะฟังเสียงเพลงหวือหวาซับซ้อนแต่ไร้มิติจากลำโพงของคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว

จากเปียโนในห้องอนุบาลจนถึงไลฟ์เฮาส์ : ญี่ปุ่นสร้างอุตสาหกรรมดนตรีอันแข็งแกร่งได้อย่างไร?
เด็กๆ กำลังร้องเพลงพร้อมกับครูที่กำลังเล่นเปียโน
Photo: Yamaha Music Foundation

          สำหรับการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา นักเรียนญี่ปุ่นทุกคนจะได้เรียนดนตรีสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย โดยใช้เครื่องดนตรีราคาย่อมเยาเช่น ขลุ่ยรีคอร์เดอร์ (Recorder) เมโลดิกา (Melodica) ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่น้ำหนักเบา หาซื้อและดูแลรักษาง่าย ที่สำคัญคือไม่ต้องปรับจูนเสียง จึงเป็นเครื่องดนตรีที่ช่วยให้เด็กประถมชาวญี่ปุ่นทุกคนได้ทำความรู้จักกับดนตรีทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติได้เป็นอย่างดีเหมือนกันทั่วประเทศ

          ทักษะดนตรีพื้นฐานจากเครื่องดนตรีราคาถูกที่หาซื้อได้ง่ายทำให้นักเรียนทุกคนสามารถอ่านโน้ตดนตรีได้ รวมถึงมีทักษะในการร้องเพลงและประสานเสียงเบื้องต้นได้ไม่ต่างกับการเรียนเปียโน เมื่อรวมเข้ากับการเข้าคอร์สขับร้องจากชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษา จึงนับว่าเป็น 9 ปีที่เปิดโอกาสให้ชาวญี่ปุ่นได้ซึมซับวัฒนธรรมดนตรีมาเป็นอย่างดี 

          เด็กๆ ในระดับชั้นที่สูงกว่า เช่นมัธยมต้นไปจนถึงมัธยมปลาย จะสามารถเลือกเครื่องดนตรีหรือรูปแบบดนตรีที่ชอบได้ด้วยตนเอง โรงเรียนในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมีชมรมดนตรีที่หลากหลาย นำไปสู่การสร้างสรรค์ที่มาจากความสนใจหรือความถนัดของแต่ละคนได้จริงๆ จึงไม่แปลกใจเลยว่าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีความสามารถในการร้องเพลง ประสานเสียง หรือเล่นเครื่องดนตรีอย่างใดอย่างหนึ่งได้กันแทบทั้งสิ้น

จากเปียโนในห้องอนุบาลจนถึงไลฟ์เฮาส์ : ญี่ปุ่นสร้างอุตสาหกรรมดนตรีอันแข็งแกร่งได้อย่างไร?
เมื่อเข้าสู่ระดับประถมศึกษาเด็กๆ จะได้ฝึกใช้ขลุ่ยรีคอร์เดอร์
Photo: Lasni Buddhibhashika Jayasooriya

Suzuki Method

          เมื่อพูดถึงการเรียนการสอนดนตรีในประเทศญี่ปุ่น เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงชินอิจิ ซูซูกิ (Shinichi Suzuki) นักไวโอลินผู้คิดค้นวิธีการเรียนการสอนดนตรีแบบ Suzuki Method

          ชินอิจิ ซูซูกิ เชื่อว่าคนเราเริ่มเรียนภาษาแม่สั่งสมมาตั้งแต่ยังเป็นทารก เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราเรียนรู้การออกเสียงและสะสมคำศัพท์ได้มากพอ เราก็จะสามารถพูดภาษาแม่ได้โดยธรรมชาติแบบแทบจะไม่ต้องพึ่งการเรียนการสอนในระบบเลย ในปี 1933 เขาจึงได้นำเสนอสิ่งที่เรียกว่า วิธีการสอนแบบภาษาแม่ (Mother-Tongue Approach) ขึ้นเพื่อประยุกต์ใช้กับการสอนดนตรีให้กับเด็กๆ

          วิธีการสอนแบบภาษาแม่ถูกปรับใช้กับการสอนดนตรีและพัฒนามาเป็น Suzuki Method ซึ่งมีหลักการสำคัญอยู่ที่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เด็กๆ เรียนดนตรีได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยเริ่มจากการให้เด็กๆ ได้ฟังดนตรีในบรรยากาศจริง ไม่ว่าจะเป็นดนตรีท้องถิ่นหรือดนตรีคลาสสิก แนวคิดของซูซูกิเน้นย้ำว่ายิ่งเริ่มต้นกับเด็กอายุน้อยเท่าใดก็จะยิ่งได้ผลดีมากขึ้นเท่านั้น โดยเด็กจะเรียนรู้เรื่องดนตรีได้ดีที่สุดเมื่อเริ่มต้นที่อายุ 3-5 ขวบ บางตำราถึงกับอ้างว่าการเพิ่มดนตรีเข้ามาในสิ่งแวดล้อมของเด็กๆ ควรเริ่มเสียตั้งแต่ที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาเลยทีเดียว

          ในช่วงปีที่ซูซูกิเริ่มเสนอวิธีการสอนดนตรีแบบ Suzuki Method เป็นช่วงเวลาที่นักเรียนชั้นประถมในระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนมีการฝึกอ่านโน้ตดนตรีแล้ว แต่เขากลับเสนอว่า โน้ตดนตรีและทฤษฎีดนตรีควรเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนมากกว่าจะเป็นหน้าที่ของเด็กๆ ดังนั้นหากจะต้องมีการฝึกฝนเพิ่มเติม ควรให้ความสำคัญกับการอ่านโน้ตไว้เป็นอันดับท้ายสุด รูปแบบการซ้อมดนตรีสำหรับเด็กที่ซูซูกิแนะนำคือ 10 นาทีแรกเป็นการซ้อมคุณภาพเสียง เช่น การแปลงเสียงร้อง การเล่นไวโอลินสายเปล่าเพื่อฝึกควบคุมน้ำหนักมือ 10 นาทีถัดไปสำหรับทบทวนเพลงเก่า และ 10 นาทีสุดท้ายสำหรับการอ่านโน้ตหรือฝึกเพลงใหม่ รูปแบบการสอนเช่นนี้เทียบเคียงมาจากการเรียนภาษาแม่ซึ่งเริ่มต้นจากการฟัง เชื่อมโยงไปถึงการพูดซึ่งเทียบได้กับเล่นดนตรีเลียนแบบจากการฟัง แล้วจึงพัฒนาไปเป็นทักษะการอ่านซึ่งเทียบได้กับการอ่านโน้ตเพลงนั่นเอง

จากเปียโนในห้องอนุบาลจนถึงไลฟ์เฮาส์ : ญี่ปุ่นสร้างอุตสาหกรรมดนตรีอันแข็งแกร่งได้อย่างไร?
ชินอิจิ ซูซูกิ
Photo: Suzuki Association of the Americas

          Suzuki Method ให้ความสำคัญกับการฟัง ปฏิบัติ และอ่านโน้ต เพื่อให้นักเรียนสามารถต่อยอดไปถึงการสร้างสรรค์ได้ด้วยตนเอง ซึ่งหากเทียบกับทฤษฎีการเรียนภาษาแม่ การสร้างสรรค์ดนตรี เช่นการเขียนเพลงเองก็เทียบได้กับการลงมือเขียนซึ่งเป็นทักษะที่สูงที่สุดในการเรียนภาษา เพื่อเป็นการจำลองระบบการเรียนรู้ตามธรรมชาติของมนุษย์

          นอกจากในชั่วโมงเรียนแล้ว ‘สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้’ ของซูซูกิยังหมายถึงครอบครัวด้วย พ่อแม่และผู้ปกครองจึงมีบทบาทไม่น้อย เช่น การเปิดเพลงให้เด็กฟัง สร้างบรรยากาศของดนตรีขึ้นในครอบครัว การเล่นเกมทางดนตรีกับลูก สนับสนุนลูกด้วยเครื่องดนตรีพื้นฐานที่หลากหลาย ไปจนถึงการเปิดประสบการณ์ทางดนตรีด้วยการพาลูกไปดูการแสดงจริง ส่วนครูก็ต้องมีแนวคิดที่เปิดกว้างว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางดนตรีได้ เพราะซูซูกิเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถเป็นนักดนตรีได้โดยธรรมชาติไม่ต่างกันกับที่ทุกคนเรียนรู้ภาษาแม่ได้โดยธรรมชาติ

          อีกขั้นตอนหนึ่งของการเรียนดนตรีที่หลายคนนึกไม่ถึง แต่ซูซูกิให้ความสำคัญมาก ก็คือการแสดงจริง ทั้งการแสดงเดี่ยว การแสดงกับเพื่อนร่วมชั้น ไปจนถึงการตั้งวงดนตรีเป็นของตัวเอง เพราะการได้มีประสบการณ์เป็นทั้งผู้เล่นและผู้ฟังจะทำให้เด็กๆ เห็นคุณค่าของดนตรี เคารพสถานที่แสดงดนตรี และให้เกียรติศิลปินที่แสดงดนตรีได้โดยไม่ต้องให้ใครมาคอยบอกคอยสอนแต่อย่างใด

          ลูกศิษย์คนแรกที่ได้เรียนดนตรีผ่านกระบวนการแบบ Suzuki Method มีชื่อว่า โทชิยะ เอโตะ (Toshiya Eto) ผู้เริ่มเรียนไวโอลินกับซูซูกิมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายดนตรีจนกลายเป็นนักไวโอลินระดับต้นๆ จากแดนอาทิตย์อุทัยอีกคนหนึ่ง

          ราว 30 ปีหลังจากที่ได้เสนอแนวคิดแบบ Suzuki Method ชินอิจิ ซูซูกิ ได้พิสูจน์ประสิทธิภาพของการเรียนการสอนในรูปแบบที่เขาคิดโดยการจัดการแสดงให้นักดนตรีรุ่นเยาว์กว่าพันคนมาบรรเลงเพลงคลาสสิกชั้นสูงหลายต่อหลายเพลง และนักเรียนดนตรีเหล่านั้นก็สามารถเล่นเพลงคลาสสิกที่มีความซับซ้อนได้อย่างแม่นยำและไพเราะไม่ต่างจากวงดนตรีคลาสสิกมืออาชีพ ทำให้การเรียนดนตรีแบบ Suzuki Method ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ดีที่สุดอีกรูปแบบหนึ่งในโลกดนตรีนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

วิดีโอเปรียบเทียบการสอนดนตรีด้วยวิธี Suzuki Method กับวิธีการแบบเดิม

ไลฟ์เฮาส์ทั่วเมือง เกม แอนิเมชัน และสุดยอดวงดนตรีตลอดกาล

          ประเทศญี่ปุ่นเพิ่งจะได้รับวัฒนธรรมดนตรีคลาสสิกมาในยุคเมจิ (ค.ศ.1868-1912) ชาวญี่ปุ่นจึงเพิ่งจะรู้จักโมสาร์ทหรือบีโธเฟนได้ราว 200 ปีเท่านั้น แต่ดนตรีคลาสสิกกลับฝังรากลึกอยู่ในใจและในรสนิยมของชาวญี่ปุ่นขนาดที่ว่า เฉพาะเมืองโตเกียวเพียงเมืองเดียวก็มีนักดนตรีคลาสสิกมืออาชีพอยู่มากถึง 4,000 คน ตลาดดนตรีคลาสสิกของโลกลงหลักปักฐานอยู่ที่ญี่ปุ่นมากถึง 20% ดังนั้นญี่ปุ่นจึงมีไลฟ์เฮาส์ที่รองรับการแสดงดนตรีสดอยู่ทั่วประเทศ

จากเปียโนในห้องอนุบาลจนถึงไลฟ์เฮาส์ : ญี่ปุ่นสร้างอุตสาหกรรมดนตรีอันแข็งแกร่งได้อย่างไร?
Coffee House Jittoku ไลฟ์เฮาส์เก่าแก่ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1973
Photo: ⒸK.G.G.project/ Tsunagu Japan

          วัฒนธรรมไลฟ์เฮาส์ขยายจากดนตรีคลาสสิกมาสู่ไลฟ์เฮาส์ขนาดกลางและขนาดเล็ก นอกจากจะทำหน้าที่รองรับวงดนตรีขนาดใหญ่แล้ว ไลฟ์เฮาส์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศจึงมีส่วนในการสนับสนุนวงดนตรีหน้าใหม่ วงดนตรีนอกกระแส วงดนตรีที่เล่นเพลงประกอบแอนิเมชัน หรือแม้กระทั่งวงไอดอลใต้ดินอยู่ด้วย 

          เมื่อมีพื้นฐานที่ดี มีเครื่องดนตรีราคาจับต้องได้ และมีพื้นที่ที่โอบรับเสียงดนตรีมากพอ ความละเมียดละไมทางดนตรีที่อยู่ในสายเลือดของชาวญี่ปุ่นจึงไม่ได้ปรากฏอยู่แค่ในอุตสาหกรรมดนตรี ซีดี แผ่นเสียง หรือคอนเสิร์ตเท่านั้น แต่ยังปรากฏอยู่ใน Soft Power อื่นๆ อย่างเช่นการ์ตูนแอนิเมชัน และวิดีโอเกมทั้งหลาย ใครก็ตามที่มีวัยเด็กอยู่ในยุค 90’s ย่อมรู้ดีว่า เพลงประกอบการ์ตูนเรื่องยอดนักสืบโคนัน ดรากอนบอล แซด หรือแม้กระทั่งซาวนด์เอฟเฟกต์จากเกมมาริโอนั้นติดหูเพียงใด

          ยิ่งมีวงดนตรีมากเท่าไร ประเทศญี่ปุ่นก็สามารถคัดสรรวงดนตรีระดับหัวกะทิมาเป็น Soft Power ส่งออกสู่ตลาดโลกได้มากเท่านั้น ปัจจัยทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเต็มไปด้วยศิลปินระดับโลกมาเสมอไม่ว่าจะเป็นยุคไหน

จากเปียโนในห้องอนุบาลจนถึงไลฟ์เฮาส์ : ญี่ปุ่นสร้างอุตสาหกรรมดนตรีอันแข็งแกร่งได้อย่างไร?
ภาพการแสดงดนตรีของวง You Got A Radio!  ในไลฟ์เฮาส์ที่ชื่อว่า UFO Club
Photo: Miles Wood/ The Real Japan


ที่มา

บทความ “From Court to Concert Hall: The Origins of Classical Music in Japan” จาก asia.si.edu (Online)

บทความ “Japan’s Music Industry Rises Again in New ‘Age of Discovery'” จาก asia.nikkei.com (Online)

บทความ “Japan Music Market” จาก trade.gov (Online)

บทความ “How the Suzuki Method Works: Inside the Suzuki Philosophy” จาก masterclass.com (Online)

บทความ “Shinichi Suzuki ; A Living Legacy” จาก suzukiassociation.org (Online)

บทความ “The Popularity of Classical Music in Japan” จาก skdesu.com (Online)

บทความ “TOSHIYA ETO” จาก naxos.com (Online)

บทความ “What is it like sending your child to a Japanese kindergarten?” จาก toranomon-ls.com (Online)

บทความ “Why Does Japanese Music Sound so Different?” จาก chromaticdreamers.com (Online)

Cover Photo: May S. Young, CC BY-SA 2.0, via Flickr

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก