‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์

246 views
10 mins
November 22, 2023

          ทะเลทราย แหล่งน้ำมัน เมืองเมกกะ อาจเป็นสิ่งแรกๆ ที่เรานึกถึงหากเอ่ยถึงประเทศซาอุดีอาระเบีย

          แต่หลังอ่านบทความนี้จบแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เพิ่มเข้ามาอาจจะเป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงศิลปะและวัฒนธรรมสุดล้ำนำสมัยยืนหนึ่งในตะวันออกกลางที่ชื่อว่า ‘King Abdulaziz Center for World Culture’ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘Ithra (อิทรา)’ ก็เป็นได้

          ก่อนหน้าที่จะพบน้ำมันในปี 1938 ซาอุดีอาระเบียคือประเทศกันดาร แห้งแล้ง และยากจน แต่ปัจจุบันผลิตและส่งออกน้ำมันเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีบทบาทสำคัญในประเทศกลุ่ม OPEC มีบริษัทน้ำมันแห่งชาติอย่าง Saudi Arabian Oil Company หรือ Saudi Aramco ที่มีผลประกอบการมหาศาลในทุกปี โดยปี 2565 ที่ผ่านมากำไรของบริษัทอยู่ที่ 161,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตมากกว่าปี 2021 ถึง 46% ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงสุด

          แต่ทรัพยากรน้ำมันไม่ใช่สิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง ผลกระทบจากสงครามทำให้เกิดวิกฤตพลังงานและราคาน้ำมัน หลายประเทศเริ่มพึ่งพิงพลังงานทางเลือกมากขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ซาอุดีอาระเบียต้องปรับตัวให้ทันในวันที่โลกไม่ต้องการน้ำมันอีกต่อไป  

          สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือซาอุดีอาระเบียมีแนวคิดในการลงทุนกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างชัดเจนมาก และตัวอย่างสำคัญก็คือการสร้างศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมที่กล่าวไปข้างต้น 

          ‘อิทรา’ เป็นภาษาอารบิกแปลว่า ‘ทำให้เจริญงอกงาม (enrichment)’ สื่อถึงปรัชญาขององค์กรที่ต้องการพัฒนาประชากรและสังคมซาอุดีอาระเบียให้เติบโตงอกงามทางความคิด และก้าวล้ำหน้ายิ่งขึ้นเรื่อยไป 

          อิทราตั้งอยู่ที่เมืองดาห์ราน เป็นศูนย์การเรียนรู้ขนาดยักษ์ซึ่งประกอบไปด้วยห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ห้องประชุม ห้องนิทรรศการ ห้องแสดงศิลปะ สตูดิโอ ศูนย์การศึกษา โรงละคร โรงภาพยนตร์ แล็บนวัตกรรม ไปจนถึงร้านอาหารและศูนย์การค้าขนาดย่อม โดยองค์กรที่ปิ๊งไอเดียและก่อร่างสร้างที่นี่ขึ้นมาก็คือ Saudi Aramco บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของซาอุดีอาระเบียนั่นเอง

‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
Photo: Ithra

ใครบ้างที่ร่วมสร้าง ‘สังคมแห่งความรู้’

ฟัตมะห์ อัลราชิด (Fatmah Alrashid)

“ฉันจำได้ว่าตอนเด็กๆ เคยผ่านห้องสมุดสาธารณะของเมืองดัมมัม (Dammam) แต่ไม่เคยเข้าไปเลย มันเก่ามาก และปิดอยู่ตลอดเวลา วัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของคนในตอนนั้น (ทศวรรษ 1970-1980) ค่อนข้างต่ำ มีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ไม่กี่แห่ง ซึ่งเป็นของบรรดานักสะสมที่จัดแสดงสิ่งของส่วนตัวในบ้านของพวกเขาเอง นอกนั้นก็มีเพียงแค่นิทรรศการของ Saudi Aramco เท่านั้นที่จัดแสดง” ฟัตมะห์ อัลราชิด หัวหน้าฝ่ายวางแผนงานของอิทราเล่า

          Saudi Aramco ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 ที่เมืองดัมมัม เมืองที่เป็นแหล่งขุดเจาะน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย เพื่อจัดแสดงนิทรรศการพลังงาน ซึ่งเกี่ยวกับพัฒนาการของกระบวนการผลิตน้ำมัน ตั้งแต่การขุดเจาะ กระบวนการคัดแยก กลั่น จนถึงการขนส่ง หลังจากเริ่มค้นพบและค้าขายน้ำมันอย่างจริงจังในปี 1938 นิทรรศการนี้ถือเป็นพิพิธภัณฑ์เพียงแห่งเดียวทางภาคตะวันออกของซาอุดีอาระเบียมายาวนาน ทำให้กลายเป็นที่นิยม เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวของประชาชน มีผู้เข้าชมประมาณ 200,000 คนต่อปี 

          ซาอุดีอาระเบียก่อตั้งประเทศขึ้นในปี 1932 ซึ่งถือเป็นประเทศที่ค่อนข้างใหม่ และร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็วจากการค้นพบน้ำมัน จึงให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานแก่ประชาชนอย่างมาก แต่คำถามสำคัญสำหรับอัลราชิด ผู้บุกเบิกโครงการศูนย์การเรียนรู้อิทราคือ ‘สิ่งใดจะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต’

          “เราจึงได้แนวคิดที่ว่า เราอยากให้เยาวชนได้ค้นหาตัวเองว่าชอบสาขาที่เรียนหรือสนใจในงานที่ทำจริงไหม ก่อนจะเริ่มทำงานจริงๆ เราต้องหาคำตอบให้ได้ว่าเราควรจะจัดช่องทางการเรียนรู้แบบไหนเพื่อให้พวกเขาได้ค้นหาสิ่งที่อยากจะสร้างสรรค์แก่สังคม ก่อนจะตัดสินใจเลือกสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อเขาไปทั้งชีวิต” อัลราชิดกล่าว

          นี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการอิทรา จากมุมของอัลราชิด

Abdallah Jum’ah
อับดุลลาห์ จูมอาห์ (Abdallah Jum’ah)

“ผมคือผู้บริหารของ Saudi Aramco คนแรกที่ไม่ใช่วิศวกร” อับดุลลาห์ จูมอาห์ ซีอีโอของ Saudi Aramco ในปี 1995 เริ่มต้นเรื่องเล่าของเขา “ผมศึกษาทางด้านการเมือง ศิลปศาสตร์ และสนใจศาสตร์เกี่ยวกับโรงละครเป็นอย่างมาก”

          ช่วงที่เขาก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอ คือช่วงที่ Saudi Aramco ต้องการผันตัวเองจากการเป็นบริษัทค้าน้ำมันท้องถิ่นสู่การเป็นองค์กรด้านพลังงานแบบครบวงจรในระดับสากล

          “เราจะทำได้ก็ต่อเมื่อเราเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงความคิดและจิตใจของคนรุ่นถัดไป แต่ในขณะที่เราต้องการยกระดับประเทศไปสู่ความเป็นสากล ก็มีกระแสการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษนิยมในประเทศเช่นกัน”

          จูมอาห์เล่าว่าเคยกวาดหนังสือจำนวนมากขนขึ้นเครื่องมาลงที่ซาอุดีอาระเบีย ทั้งประวัติศาสตร์ กวีนิพนธ์ นวนิยาย ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้คนได้อ่านสิ่งแปลกใหม่ เพื่อปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความหลากหลายสู่ผู้คน

ฟัด อัล-เทอร์มาน (Fuad Al-Therman)

“คุณจูมอาห์บอกกับเราว่า สิ่งที่ต้องทำ คือการสร้างห้องสมุดชั้นนำระดับโลก” ฟัด อัล-เทอร์มาน ผู้จัดการอาวุโสของ Saudi Aramco กล่าว

          อัล-เทอร์มานคืออีกคนหนึ่งที่ปลุกปั้นและดูแลโครงการอิทรา เขาเล่าถึงความโหดร้ายของเหตุการณ์ 911 ที่เปลี่ยนการจัดลำดับความสำคัญของซาอุดีอาระเบียไปตลอดกาล สิ่งสำคัญและเร่งด่วนคือการสร้างแพลตฟอร์มที่จะช่วยส่งเสริมความหลากหลายและความอดทนอดกลั้นแก่ผู้คนในสังคม 

          Saudi Aramco เริ่มขยายขนาดโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม จากโครงการขนาดเล็กในอัล-โคห์บาร์และดัมมัม เช่น การทำความสะอาดถนน การทัศนศึกษาสำหรับผู้พิการ ไปสู่การวางแผนสร้างพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งใหม่รวมถึงห้องสมุดชั้นนำของโลก

          “เราคือบริษัทที่ขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองของโลก แต่เราต้องไปไกลกว่าแค่อำนวยความสะดวกด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน Saudi Aramco ต้องการสร้าง ‘สังคมแห่งความรู้’ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนามนุษย์ ไม่ใช่แค่คนที่ทำงานที่ Saudi Aramco แต่หมายถึงคนอื่นๆ ในชุมชนด้วย ว่าเราสามารถให้อะไรพวกเขาได้บ้าง” อัล-เทอร์มานกล่าว

          ความมุ่งมั่นดังกล่าวปรากฏออกมาเป็นหัวใจสำคัญของอิทรา นั่นคือ ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และความอดทนอดกลั้น และยอมรับความแตกต่าง

          หัวใจสำคัญเหล่านี้ถูกกำหนดออกมาเป็น 5 เสาหลักของอิทราเพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน ได้แก่ 

  1. ศิลปะ : อิทรามอบประสบการณ์ทางศิลปะแก่ผู้เยี่ยมชม ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เปิดโลกทัศน์ด้านวัฒนธรรมให้กว้างขึ้น และสนับสนุนการสร้างศิลปินผู้มีพรสวรรค์
  2. ความรู้ : อิทราจัดเตรียมแพลตฟอร์มสำหรับการสร้างและแบ่งปันความรู้ ทั้งสำหรับผู้สนใจและผู้เป็นมืออาชีพที่มุ่งมั่นพัฒนา เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงการพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่ออนาคต
  3. ความสร้างสรรค์ : อิทราสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ มอบทรัพยากร ความเชี่ยวชาญ และโอกาสในการปลดปล่อยศักยภาพ
  4. วัฒนธรรม : อิทรานำเสนอมรดกและวัฒนธรรมของประเทศและภูมิภาคตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันก็นำเสนอความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากทั่วโลก
  5. ความเป็นชุมชน : ทุกโครงการและกิจกรรมของอิทรามีเป้าหมายเพื่อดึงดูดความสนใจของคนในวงกว้าง ทั้งชาวซาอุดีอาระเบียและผู้คนจากทั่วโลก

          “อย่างแรกคือความรู้และความปรารถนาที่จะสร้างสังคมรักการอ่าน เพื่อเป็นประตูสู่การมีจิตใจที่โอบรับความหลากหลาย เมื่อยิ่งมีความรู้มาก ความคิดสร้างสรรค์ก็จะตามมา การจะสร้างสิ่งใหม่ได้เราต้องกล้าคิดนอกกรอบ แล้วเราจะสร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุนการลองผิดลองถูก ความล้มเหลว และความอุตสาหะแบบนั้นได้อย่างไร” นั่นคือคำถามของอัล-เทอร์มาน

          “ยังมีความเข้าใจผิดอย่างมากเกี่ยวกับซาอุดีอาระเบีย เราต้องการที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อทำความเข้าใจผู้อื่นและเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจเราด้วย” เขาเสริมอีกว่า “เราไม่ต้องการทำเพื่อเป็นการพีอาร์หรือเพื่อให้ประเทศดูดี แต่เป้าหมายของเราคือต้องการจะเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในประเทศ” 

          จากการเก็บรวบรวมและแลกเปลี่ยนไอเดียสำหรับสถานที่เรียนรู้แห่งใหม่นี้ ทุกฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่า มันไม่ควรเป็นเพียงพิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุด แต่มันควรเป็นศูนย์รวมของความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม ทั้งหมดในคราวเดียว 

          นั่นจึงเป็นที่มาของการรวมเอาห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ห้องประชุม ห้องนิทรรศการ ห้องแสดงศิลปะ สตูดิโอ ศูนย์การศึกษา โรงละคร โรงภาพยนตร์ แล็บนวัตกรรม ไปจนถึงร้านอาหารและศูนย์การค้าขนาดย่อมมาอยู่ด้วยกัน และโครงการนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองครบรอบ 75 ปีของ Saudi Aramco ในปี 2007 ด้วย

Behind the Scene อย่างละเอียดของอาคารล้ำสมัย ‘อดีตบรรจบปัจจุบันเพื่อนำไปสู่อนาคต’ 

          อิทรามีการออกแบบที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว กินพื้นที่ขนาด 80,000 ตารางเมตร ท่ามกลางทะเลทรายกว้างใหญ่ ตัวอาคารโผล่ขึ้นมาให้เห็นอย่างโดดเด่นสะดุดตา ด้วยรูปทรงอิสระที่มีลักษณะและการเรียงตัวคล้ายกับก้อนหิน ในสไตล์ฟิวเจอริสติก ดูล้ำสมัยและน่าค้นหาในเวลาเดียวกัน 

          “…คุณไม่มีทางได้แรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนนวัตกรรมจากอาคารแบบทั่วไป มันควรเป็นสถาปัตยกรรมที่ทำให้รู้สึกตื่นตะลึง กระตุ้นความรู้สึกสงสัยและอยากสำรวจ” นั่นคือคำอธิบายของอัล-เทอร์มาน

          ย้อนไปในปี 2007 ทีมงานจัดประกวดการออกแบบศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งนี้ โดยเปิดรับผลงานสถาปนิกจากทั่วโลก ผลงานที่ส่งเข้าประกวด 36 ชิ้น ถูกคัดให้เหลือ 6 ชิ้น และมีการประชุมคณะกรรมการนานาชาติเพื่อตัดสินโดยอิงตามเกณฑ์ ทั้งเรื่องงบประมาณ ประสิทธิภาพการใช้งาน ความยั่งยืน และสุนทรียศาสตร์ หลังจากนั้น ผลงาน 6 ชิ้น ถูกคัดเหลือเพียง 2 ชิ้น ได้แก่ บริษัทสถาปนิกสัญชาตินอร์เวย์ ‘Snøhetta’ ซึ่งเคยออกแบบห้องสมุดของประเทศอียิปต์อันโด่งดังที่ชื่อ ‘The Library of Alexandria’ และซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) สถาปนิกชาวอังกฤษ-อิรัก

          Snøhetta ถูกวิจารณ์ว่า ออกแบบได้ราวกับนำแนวคิดของชาวนอร์ดิกมาวางไว้ในประเทศซาอุดีอาระเบีย ดูจากดีไซน์ที่ออกแนวล้ำสมัยแต่มินิมอลลิสต์ คณะกรรมการดูจะชื่นชมแนวคิดที่โฉบเฉี่ยวเล่นใหญ่ของฮาดิดมากกว่า แต่หลังการพูดคุยกับสถาปนิกทั้งสองทีม คณะกรรมการกลับรู้สึกถึงความยืดหยุ่นในการออกแบบของ Snøhetta มากกว่า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบอาคารขนาดยักษ์ 

          เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2008 Aramco และ Snøhetta ตัดสินใจเซ็นสัญญากันอย่างเป็นทางการ

          ในกระบวนการออกแบบ 2 ปี แนวคิดของพวกเขามีทั้งส่วนที่คงไว้และส่วนที่ถูกปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับโลกตะวันออกกลางมากขึ้น ความสวยงามเรียบง่ายแบบสแกนดิเนเวียน จึงถูกเสริมเติมให้มีชีวิตชีวา มีสีสัน แต่ไอเดียบรรเจิดที่กลายเป็นสัญลักษณ์ คือ ‘หิน’ 5 ก้อนที่เชื่อมต่อกันเป็นอาคารหลังเดียว 

‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
Photo: Ithra

          ทำไมถึงต้องเป็นหิน?

          สำหรับ Snøhetta พวกเขามองว่ามันเริ่มมาจากการค้นหาแรงบันดาลใจในก้อนหินที่เกลื่อนกลาดบนพื้นทะเลทราย แต่ละก้อนยึดรับกันและกันเปรียบเสมือนความเป็นทีมเวิร์ก

          “นวนิยายเรื่อง Invisible Cities (1972) ของนักเขียนชาวอิตาลี อิตาโล คัลวีโน่ (Italo Calvino) จินตนาการถึงบทสนทนาระหว่างนักสำรวจ มาร์โค โปโล และกุบไลข่าน เกี่ยวกับโครงสร้างของซุ้มประตูโรมัน ซึ่งมีศิลาหลักที่ยึดทุกอย่างไว้ด้วยกัน ถ้าคุณเอาศิลาหลักนั้นออก ประตูโค้งจะพังทลายลง ในทำนองเดียวกัน เราออกแบบกลุ่มของ ‘ก้อนกรวด’ ที่ยึดกันและกันไว้ โดยมีก้อนหลักคือก้อนที่เล็กที่สุด มันแสดงให้เห็นว่าคุณสามารถแข็งแกร่งได้แม้ว่าคุณจะตัวเล็กมากก็ตาม”

          แต่สำหรับอัล-เทอร์มาน เรื่องเล่านี้เป็นนามธรรมเกินไป และเขาก็พบเรื่องเล่าที่น่าจะโดนใจชาวซาอุดีอาระเบียมากกว่า นั่นคือเรื่องเกี่ยวกับ ‘หินน้ำมัน’ คำว่า ‘petroleum’ ในภาษาอังกฤษ มีรากศัพท์ภาษาละตินจากคำว่า ‘petra’ หมายถึงก้อนหิน และ ‘oleum’ หมายถึงน้ำมัน ก้อนหินในประเทศซาอุดีอาระเบียกักเก็บพลังงานซึ่งก็คือน้ำมันเอาไว้ ดังนั้น ‘ก้อนหิน’ รูปทรงอิสระทั้งห้านี้ก็จะกักเก็บพลังงานของผู้คนที่มา และขับเคลื่อนชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนที่ได้มาที่นี่

          อาคารแห่งนี้จึงโดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ของหิน 5 ก้อนวางอิงกันโดยที่มีก้อนหลักตรงกลางตั้งตระหง่านอย่างโดดเด่น เป็น 5 ส่วนที่เชื่อมต่อกัน ตั้งแต่อาคารห้องสมุด อาคารไอเดียแล็บ โรงละคร โรงภาพยนตร์ ตลอดจนอาคารพิพิธภัณฑ์

          นอกจากรูปทรงโค้งมนและสีของพื้นผิวอาคารจะมีเฉดที่ทำให้ดูคล้ายก้อนหินแล้ว หากดูระยะใกล้จะพบว่ามีลวดลายที่เกิดจากการนำเส้นโลหะมาเรียงร้อยต่อกันอย่างเป็นระเบียบให้เกิดลายเส้นล้ำสมัย ซึ่งทำให้เกิดพื้นผิวแบบสะท้อนแสง สร้างความเคลื่อนไหวในระหว่างที่ดวงอาทิตย์เดินทางข้ามขอบฟ้าจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง วัสดุที่ใช้ห่อหุ้มพื้นผิวอาคารภายนอกทั้งหมดคือท่อเหล็กไร้สนิมสีเงินแกมเทาที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษเพื่องานนี้โดยเฉพาะ โดยทั้งอาคารใช้ท่อเหล็กถึง 93,403 เส้น รวมระยะทางกว่า 360 กิโลเมตร แต่ละเส้นถูกบิดงอเป็นรูปทรงโดยเฉพาะเพื่อให้สอดรับกับรูปทรงของอาคาร ซึ่งทำให้ต้องจัดวางให้ถูกต้องตามตำแหน่งของมันเท่านั้น 

          คุณลักษณะของท่อเหล่านี้นอกจากเพื่อความสวยงามและกันน้ำแล้ว ยังเพื่อสะท้อนความร้อน และทนต่อการขัดถูจากทรายที่มักถูกลมพัดมาด้วย เมื่อพื้นผิวโลหะสะท้อนแสงแวววาวก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตได้อย่างชัดเจน

‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
Photo: World Luxury Travel Awards/ Ithra
‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
Photo: World Luxury Travel Awards/ Ithra
‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
Photo: Snøhetta

          ด้านในอาคารมีงานศิลปะรูปแบบต่างๆ ตกแต่งโดยรอบ เช่น ทางเข้าร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ แผ่นเหล็กสีสนิมที่ตรึงไว้เป็นแนวเฉียงกับแนวกำแพง สร้างขึ้นโดย เบลินดา สมิธ (Belinda Smith) ศิลปินชาวออสเตรเลีย มีชื่อว่า ‘ประตูประวัติศาสตร์’ แผ่นเหล็กฉลุลวดลายทั้ง 7 แผ่น เล่าถึงช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรอาหรับ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคเกษตรกรรมและการค้า ไปจนถึงยุคสมัยใหม่

          ผนังขนาดใหญ่ฝั่งหนึ่งของอิทราได้รับการตกแต่งโดยศิลปะร่วมสมัยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกระเบื้องอิซนิก (Iznik) จากตุรกี ที่ห้องสมุด ตู้หนังสือทุกตู้ตกแต่งโดยศิลปะการเขียนตัวอักษรอาหรับ โดยประติมากรชาวอียิปต์ ฮานิ ไฟซัล (Hani Faisal)  ร้านกาแฟของอิทรามีจิตรกรรมฝาผนังสีสันสดใส เป็นผลงานของยูเซฟ อลาหมัด (Yusef Alahmad) ศิลปินรุ่นใหม่ชาวซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ

          ที่น่าสนใจคือการใช้เทคนิคโบราณที่เรียกว่า ‘ดินกระทุ้ง’ ในการสร้างอิฐบล็อก โดยไม่ใช้ปูนซีเมนต์ แต่ใช้ดินเปียกผสมกับกรวดหรือดินเหนียวบีบอัดเพื่อสร้างอิฐบล็อกแทน เทคนิคนี้พบได้ในงานยุคก่อนสมัยใหม่ (premodern) และกลับมาได้รับความนิยมเพราะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความแข็งแกร่งทนทาน

          การก่อสร้างด้วยเทคนิคเหล่านี้เสมือนเป็นการบรรจบกันระหว่างภูมิปัญญาในอดีตและความร่วมสมัยสากล ซึ่งในทางฟังก์ชันแล้วยังช่วยลดความร้อนจากภายนอก ควบคุมความชื้น ลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ ลดเสียงสะท้อน และเพิ่มประสิทธิภาพของการสัมผัสเสียงภายในอาคาร 

          “การก่อสร้างด้วยเทคนิคแบบโบราณผสมกลมกลืนกับการออกแบบท่อเหล็กภายนอกอาคาร แสดงให้เห็นว่าอดีตกับปัจจุบันสามารถทำงานร่วมกันได้ นี่เป็นการส่งสารถึงวิศวกรและสถาปนิกรุ่นใหม่ของพวกเรา” อัลราชิดกล่าว

          อิทราใช้เวลาตั้งแต่การออกแบบจนถึงก่อสร้างเสร็จรวมประมาณ 10 ปี โดยเริ่มออกแบบในปี 2008 ก่อสร้างในปี 2010 และเปิดให้เข้าใช้งานอย่างเป็นทางการในปี 2018 ด้วยการวางโครงสร้างของอาคาร วัสดุที่ใช้ เทคนิค องค์ประกอบทางศิลปะ และการออกแบบที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้อิทราถูกคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 ห้องสมุดที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายบนเวที Public Library of the Year Award 2022 และได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Time ให้เป็น 1 ใน 100 สถานที่ระดับโลกที่ควรไปเยี่ยมชม นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลระดับดีมาก (Gold Status) ​จาก LEED หรือ Leadership in Energy and Environmental Design ซึ่งเป็นเกณฑ์ประเมินอาคารสีเขียว หรืออาคารที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

          ถึงแม้จะได้รับคำชื่นชมและรางวัลระดับโลกอย่างไร อัล-เทอร์มานยืนยันว่า “มันไม่ควรเป็นแค่แลนด์มาร์กสำหรับการท่องเที่ยว ไม่ควรเป็นการสร้างเพียงเพื่อให้ได้การยอมรับ แต่ควรเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ยกระดับรสนิยมและความคิด”

‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
Photo: World Luxury Travel Awards/ Ithra
‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
Photo: World Luxury Travel Awards/ Ithra
‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
Photo: World Luxury Travel Awards/ Ithra
‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
Photo: World Luxury Travel Awards/ Ithra

สำรวจความต้องการ ทำโครงการนำร่อง และแตกแขนงแหล่งเรียนรู้

          ส่วนต่างๆ ภายในอาคารไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด ห้องไอเดียแล็บ โรงละคร โรงภาพยนตร์ หรือพิพิธภัณฑ์ ล้วนเป็นสิ่งที่มาจากงานวิจัยตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา อัล-เทอร์มานและทีมทำการสำรวจกว่า 10 เมืองทั่วซาอุดีอาระเบียเพื่อสอบถามเกี่ยวกับความคาดหวังของผู้คนที่มีต่อศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม

          “เราพบว่าสิ่งสำคัญคือ ผู้คนต้องการอยู่ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ให้ประสบการณ์หลากหลายไม่ตายตัว ไม่ใช่แค่เพียงแกลเลอรีกับภาพวาดติดผนัง” อัล-เทอร์มานกล่าว

          ความต้องการในรูปแบบนี้ไม่เพียงทำให้เกิดการออกแบบโรงละครและโรงภาพยนตร์ แต่ยังกำหนดทิศทางการประชาสัมพันธ์ของโครงการ ทำให้ 5 ปีก่อนที่อิทราจะเปิดตัวมีผู้คนให้ความสนใจเข้าชมมากถึง 2 ล้านคน

          ช่วงปี 2013-2014 อิทราได้ทดลองทำโครงการนำร่อง นำส่วนประกอบสำคัญของศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ทั้งโรงละคร โรงภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ โซนสำหรับเด็ก เช่น การจัดการแสดงศิลปะร่วมสมัยของซาอุดีอาระเบีย การแสดงสด และการฉายผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์ชาวซาอุดีอาระเบีย ไปทดลองจัดใน 4 เมืองใหญ่ เพื่อดูการตอบสนองของผู้คน ผลคือผู้คนกว่าครึ่งล้านให้ความสนใจ

          เมื่อผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ การดำเนินแผนงานเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้แบบต่างๆ อย่างถาวรก็ไม่มีอะไรน่ากังวลอีกต่อไป หลายโครงการเริ่มดำเนินการไปแล้วและมีผลลัพธ์อย่างชัดเจน บางโครงการยังอยู่ในระยะเริ่มต้น บางโครงการทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงโครงการนำร่องและมีพัฒนาการมาโดยตลอด ผู้เข้าร่วมมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นกันกับจำนวนชิ้นงานที่ปรากฏออกมา จนถึงการขยายตัวของโครงการ การแตกออกเป็นหน่วยย่อยอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมครบวงจร สอดรับกับ 5 เสาหลักของอิทรา และนี่คือตัวอย่างของโครงการที่น่าสนใจ

Ithra Academy

          Ithra Academy เปิดตัวในปี 2021 ตั้งเป้าเป็นพื้นที่ฝึกอบรมทางวิชาการที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าร่วมได้ เพื่อสร้างความสามารถและพัฒนาศักยภาพในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรม แบ่งเป็น 5 หมวด ได้แก่ ศิลปะและการออกแบบ ศิลปะในงานเขียน ภาพยนตร์และการแสดง การเป็นผู้นำอย่างสร้างสรรค์ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยแต่ละหมวดจะมีการจัดเวิร์กชอปในหัวข้อต่างๆ ตลอดทั้งปี 

          คอร์สของห้องสมุดนี้มีละลานตา แต่ที่น่าสนใจและดูร่วมสมัย เช่น การทำนายอนาคต อยู่ในหมวดศิลปะและการออกแบบ หลักสูตรนี้เน้นการทำความเข้าใจการคาดการณ์ในอนาคต ซึ่งเป็นทักษะสำคัญสำหรับนักออกแบบ นักนวัตกรรม หรือผู้ประกอบการในการพัฒนางาน เพื่อเรียนรู้วิธีสร้างสรรค์งานออกแบบ ผลิตภัณฑ์ และธุรกิจที่ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ผ่านทั้งการทำโจทย์และการแลกเปลี่ยนกันในห้อง โดยมีวิทยากรคอยให้คำแนะนำ ทั้งความรู้เรื่องเทรนด์ เครื่องมือในการทำนายอนาคต การวิเคราะห์เพื่อสำรวจคุณค่าและทักษะของตนเองเพื่อวางแผนการออกแบบ หรือแผนธุรกิจในอนาคต

          คอร์สการออกแบบแอปพลิเคชันแบบอินเทอร์แอคทีฟ ก็เป็นคอร์สในหมวดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบการโต้ตอบระหว่างผู้ใช้งานกับตัวแอปพลิเคชัน คอร์สนี้จะครอบคลุมกระบวนการออกแบบ UI (user interface) สำรวจความต้องการของผู้ใช้งาน รวมถึงมุมมองเชิงวัฒนธรรม แลกเปลี่ยนกรอบความคิดเกี่ยวกับแอปพลิเคชันแบบอินเทอร์แอคทีฟ  สร้างต้นแบบและทดสอบการใช้งานจริง แล้วจึงนำผลลัพธ์มาเป็นข้อสรุปในการพัฒนาต่อไป 

          ทุกคอร์สจะได้รับใบรับรองจากสถาบันอิทรา และบางคอร์สจะได้รับใบรับรองจากผู้จัดอบรมเพิ่มด้วย ความละเอียดของการจัดหลักสูตรเห็นได้จากการออกแบบให้มีระยะเวลาที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับระดับและประเภทของหลักสูตร เช่น ระดับพื้นฐานคือการเรียน 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ฝึกอบรม 1-5 วัน ระดับสูงคือเรียน 6 ชั่วโมงต่อวัน ฝึกทำจริง 12-20 วัน

‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
Photo: Ithra
‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
Photo: Ithra

โครงการ iRead

          iRead เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2013 ในขณะที่อิทรายังเป็นเพียงโครงการนำร่อง เป็นโครงการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ให้แก่นักอ่านทุกเพศทุกวัย เพื่อให้นักอ่านตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการอ่าน และเพื่อส่งเสริมวงการสิ่งพิมพ์และวรรณกรรมภาษาอาหรับ โดยตั้งเป้าสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนักอ่านหน้าใหม่ 1 ล้านคนภายในปี 2573 มีกิจกรรมหลักอยู่ 3 อย่างคือ

  1. กิจกรรมมอบรางวัล ‘นักอ่านแห่งปี’ โดยมีการจัดประกวดบทวิจารณ์หนังสือสำหรับนักเรียนทั่วประเทศ 
  2. กิจกรรม ‘ทูตการอ่าน’ คือการแข่งขันระหว่างครูเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของนักเรียน 
  3. รางวัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ยอดเยี่ยม เปิดให้ประชาชนที่สนใจสร้างสรรค์งานเขียนทั้งการวิจารณ์วรรณกรรมและงานวรรณกรรม ช่วยให้เกิดนักเขียนหน้าใหม่ในวงการวรรณกรรม

          การแข่งขันได้ขยายไปถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรมสาธารณะต่างๆ เช่น Kutubiya Book Exchange งานที่เปิดโอกาสให้นำหนังสือมาแลกเปลี่ยนกับหนังสือเล่มอื่นในงาน iRead Travels บริการช่วยนักเขียนในการโปรโมตหนังสือแต่ละเล่ม Reading Marathon งานอ่านหนังสือมาราธอน ให้คนมาร่วมกันอ่านหนังสือโดยตั้งเป้าไว้ที่ 200,000 หน้า ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสังคมแห่งการอ่านที่ครบวงจรมากยิ่งขึ้น และในปี 2022 iRead ได้ขยายการประกวดออกไปสำหรับทุกประเทศในโลกอาหรับ 

          อามีน อัล-นัสเซอร์ (Amin Al-Nasser) ซีอีโอของ Saudi Aramco ย้ำจุดยืนของโครงการว่า “ผมหวังว่าการประกวดของ iRead จะมีบทบาทต่อการสร้างนักเขียนที่มีคุณภาพ และจะมีโอกาสได้ร่วมฉลองรางวัลโนเบลที่นักเขียนจากประเทศเราจะได้รับในอนาคต”

          ฮุเซน ฮันบาซาซาห์ (Hussain Hanbazazah) ผู้อำนวยการอิทราก็กล่าวว่า iRead มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2013 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการเพียง 2,500 คน ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 75,000 คน  “ด้วยการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อิทราได้พัฒนาโปรแกรมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ขยายและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเพื่อให้คนรักหนังสือจำนวนมากขึ้นมีโอกาสเข้าร่วม การอ่านเป็นหนึ่งในเสาหลักของภาษาอาหรับ และเป็นสิ่งที่สามารถกลายเป็นเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์และนวัตกรรม” เขากล่าว

‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
ภาพกิจกรรม iRead
Photo: Ithra
‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
ภาพกิจกรรม Reading Marathon
Photo: Ithra

ห้องสมุด

          ห้องสมุดของอิทรา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 6,000 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 4 ชั้น เริ่มจากชั้นหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน รวมถึงมัลติมีเดียต่างๆ และจัดกิจกรรมเวิร์กชอปแบบอินเทอร์แอคทีฟ เน้นการเรียนรู้ผ่านความบันเทิงให้แก่เด็ก เช่น กิจกรรมเล่านิทาน เวิร์กชอปการจดบันทึกด้วยภาพ กิจกรรมเกมประจำเดือนสำหรับครอบครัว  

          ชั้น 2 คือชั้นสำหรับบทกวีและวรรณกรรม รวมถึงคาเฟ่สำหรับการพบปะแลกเปลี่ยนพูดคุย มีการจัดเสวนาพูดคุยถึงหนังสือที่น่าสนใจ ส่วนชั้น 3 เป็นหนังสือหมวด non-fiction เช่น ปรัชญา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ และชั้นสุดท้ายคือชั้นของงานวิจัย ซึ่งออกแบบมาเพื่อศึกษาค้นคว้าทำงานวิจัยโดยเฉพาะ

          “คุณจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ สัมผัสกับเทคโนโลยีล่าสุด และค้นพบหนังสือมากกว่าล้านเล่ม ทั้งแบบกระดาษและแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงหนังสือหายากชุดพิเศษจากทั่วทุกมุมโลก” ตาริก อัลควาจิ (Tariq Alkhawaji) หัวหน้างานห้องสมุดอิทรากล่าว

          รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับห้องสมุดสามารถเข้าถึงได้ทางออนไลน์ เช่น กิจกรรมและเวิร์กชอปในสัปดาห์ หรือหนังสือที่เจ้าหน้าที่ห้องสมุดแนะนำ นอกจากนี้ผู้เข้าชมยังสามารถสแกนหนังสือเล่มใดก็ได้ในห้องสมุดเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น 

          นอกจากนี้อิทรายังจัดทำนิตยสารวัฒนธรรมดิจิทัล ‘Ithraeyat’ รวบรวมข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมหลากหลายแขนงในประเทศซาอุดีอาระเบีย ในภูมิภาคตะวันออกกลาง และจากที่อื่นๆ ซึ่งกลายเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการอ้างอิงของเหล่าศิลปินและคนที่สนใจศิลปะของซาอุดีอาระเบีย

          อิทราพยายามขยายขอบเขต ทำงานร่วมกับองค์กรจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก เช่น เข้าร่วมงานแฟรงก์เฟิร์ตบุ๊กแฟร์ (Frankfurt Book Fair) ปี 2022 เพื่อแสดงผลงานและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทั้งทางวัฒนธรรม วิชาการ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม แฟรงก์เฟิร์ตบุ๊กแฟร์ เป็นเทศกาลหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับการเจรจาซื้อ-ขายลิขสิทธิ์หนังสือระหว่างประเทศ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมงานนี้นำไปสู่การขยายขอบเขตการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนที่ทำให้โลกรู้จักซาอุดีอาระเบียมากขึ้น ขณะเดียวกันซาอุดีอาระเบียก็มีสายตาที่เปิดกว้างต่อโลกมากขึ้นเช่นกัน

‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
กิจกรรมเล่านิทานสำหรับเด็กๆ
Photo: Ithra
‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
ตู้สแกนหนังสือเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น 
Photo: Ithra
‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
Photo: Ithra
Photo: Ithra
‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
Photo: World Luxury Travel Awards/ Ithra

โรงภาพยนตร์ และ Saudi Film Production

          โรงภาพยนตร์ของอิทรา เป็น​​สถานที่จัดฉายภาพยนตร์หาชมยากทั้งในและต่างประเทศ หากเปรียบเทียบคงคล้ายกับหอภาพยนตร์ของไทย และทางโรงภาพยนตร์ยังช่วยผลักดันให้เกิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ และการจัดเทศกาลภาพยนตร์ประจำปีของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของหลายฝ่าย ทั้งสมาคมวัฒนธรรมซาอุดีอาระเบีย Arts in Dammam และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของซาอุดีอาระเบีย 

          เมื่อเล็งเห็นถึงความต้องการสร้างรากฐานวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ ผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ จึงเกิดโครงการ Saudi Film Production ที่สนับสนุนผู้สร้างภาพยนตร์ชาวซาอุดีอาระเบียให้เปลี่ยนจากการถ่ายทำเป็นงานอดิเรก ซึ่งมักอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ไปสู่การผลิตระดับมืออาชีพ ด้วยการจัดเป็นรูปแบบการผลิตภาพยนตร์แบบครบวงจร ทั้งการหาทุน การฟอร์มทีมงานโปรดักชัน ไปจนถึงการจัดฉาย เพื่อผลักดันให้ผู้สร้างผลิตทั้งภาพยนตร์ขนาดสั้น ภาพยนตร์ขนาดยาว หรือภาพยนตร์สารคดี

          ยกตัวอย่างเช่นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Joud’ ซึ่งฉายรอบปฐมทัศน์ไปในเดือนกันยายน 2018 ก็เป็นการผลักดันของอิทรา ให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างทีมงานชาวซาอุดีอาระเบียและทีมงานชาวอังกฤษ และยังมีโปรเจกต์ภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่อยู่ในระหว่างการผลิต นอกจากนี้ยังมีการจัดเวิร์กชอปทุกเดือนเพื่อเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ ตั้งแต่การถ่ายทำ การตัดต่อ ไปจนถึงการออกแบบเสียงและการผลิต

Trailer ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง JOUD

นิทรรศการพลังงาน และไอเดียแล็บ

          นิทรรศการพลังงาน (Energy Exhibit) พัฒนาต่อยอดมาจากนิทรรศการพลังงานของ Saudi Aramco ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 กลายเป็นการจัดแสดงแบบอินเทอร์แอคทีฟที่ผู้ชมสามารถโต้ตอบปฏิสัมพันธ์กับตัวงานได้ โดยบอกเล่าเรื่องราวการเกิดน้ำมันเมื่อหลายล้านปีก่อน จนถึงการค้นพบน้ำมัน การก่อตั้งของ Saudi Aramco ที่มาพร้อมกับความเจริญเติบโตของซาอุดีอาระเบีย พัฒนาการของเทคโนโลยี เรียกได้ว่าเล่าถึงพลังงานน้ำมันทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์

          นอกจากนี้ยังมีการจัดเวิร์กชอปซึ่งผลัดเปลี่ยนหัวข้อไปในทุกเดือน โดยโฟกัสด้านความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม การออกแบบ และการอัปเดตเทรนด์ล่าสุด มีโรงภาพยนตร์ 3 มิติที่ฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับพลังงานทางวิทยาศาสตร์ แต่ละวันในสัปดาห์จะไฮไลต์ธีมขึ้นมาไม่ซ้ำกัน ซึ่งแต่ละธีมบ่งบอกถึงความพยายามผลักดันให้เกิดการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ในแบบต่างๆ เช่น

          ธีมของวันจันทร์ คือ ‘ทำให้ไอเดียมีชีวิตกันเถอะ’ วันนี้จะได้สำรวจความรู้ทางวิศวกรรมที่สนุกๆ มากมายผ่านการทดลองต่างๆ วันพุธคือธีม ‘ทั้งหมดก็แค่ต้องตั้งคำถามให้ถูก’ เป็นวันแห่งการตั้งคำถามบนพื้นฐานที่ว่า ไม่มีคำถามไหนผิดทั้งนั้น วันศุกร์กับธีม ‘มองสู่อนาคต’ ค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ และอภิปรายสมมติฐานใหม่ๆ ในวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ มองไปสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนโดยโครงการที่กำลังพัฒนา และวันเสาร์ในธีม ‘ความคิดสีเขียว’ สำหรับแนวคิดเพื่อความยั่งยืน สำรวจหลากหลายวิธีปกป้องสิ่งแวดล้อมผ่านการสร้างผลงานจากวัสดุรักษ์โลก ลดการสร้างขยะ และใช้ประโยชน์จากพลังงานสีเขียว

          เมื่อเต็มอิ่มกับนิทรรศการแล้ว หากใครได้แรงบันดาลใจแล้วอยากทดลอง ค้นคว้า หรือสร้างอะไรใหม่ๆ ไอเดียแล็บ คือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ได้ทดลอง ค้นคว้า ลงมือทำ

‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
Photo: World Luxury Travel Awards/ Ithra
‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
กิจกรรมสร้างไดโนเสาร์จากวัสดุรีไซเคิล
Photo: Ithra

          ไอเดียแล็ แบ่งออกเป็น 3 โซน โซนแรกคือ Think Tank เป็นพื้นที่สำหรับการคิดและออกแบบงาน โซนที่สอง Do Tank คือห้องสำหรับการลงมือออกแบบ มีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีคลังวัสดุที่สามารถค้นหาตัวอย่างสิ่งทอ พลาสติก ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์สังเคราะห์อื่นๆ หลายร้อยรายการ และสุดท้ายคือ Show Tank พื้นที่จัดแสดงงานสำหรับการนำเสนอและอภิปราย

          ทุกเดือน ไอเดียแล็บจะจัดงานชุมนุมกลุ่มนักสร้างสรรค์จากสาขาอาชีพต่างๆ ทั้งศิลปิน นักออกแบบ นักนวัตกรรม หรือคนที่สนใจ เพื่อแชร์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ หรือเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างบุคคลหรือองค์กร

          โรเบิร์ต ฟริธ (Robert Frith) ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ อธิบายว่าไอเดียแล็บได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายที่สร้างความร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ทั้งในซาอุดีอาระเบียและทั่วโลก

          “ก่อนศูนย์แห่งนี้จะเปิด เราในฐานะหน่วยงานฝ่ายสร้างสรรค์และนวัตกรรม ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น เพื่อให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบแนวคิดตั้งต้น และตอนนี้เรากำลังนำผู้คนไปสู่ขั้นต่อไป นั่นคือนำไอเดียไปสร้างแบบจำลอง หรือนำไปทดสอบ หรือนำไปเสนอในเชิงธุรกิจ” เขากล่าว

          อัล-เทอร์มานมองว่า อิทราคือสิ่งที่จะนำพาสังคมซาอุดีอาระเบียให้มุ่งไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ 

          “ถ้าคุณคิดว่าสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของคุณคือคน คุณต้องอุ้มชูสินทรัพย์นี้ไว้ ผู้มาเยือนอิทราอาจเป็นพนักงานของ Saudi Aramco ในอนาคต เราหวังว่าหนึ่งในเด็กที่เคยมาเยือนที่นี่จะเป็นซีอีโอของเราในอีก 50 ปีข้างหน้า” อัล-เทอร์มานกล่าว

‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
โซน Think Tank
Photo: Ithra
‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
โซน Do Tank
Photo: Ithra
‘Ithra’ ศูนย์การเรียนรู้ของซาอุฯ ขุมน้ำมันความรู้ กลั่นน้ำมันความคิด ติดเครื่องยนต์ความสร้างสรรค์
โซน Show Tank
Photo: Ithra

          ในช่วง 11 เดือนแรก อิทราดึงดูดผู้เข้าชมได้เกือบ 700,000 คน และในรายงาน The Ithra Story ปี 2021 ระบุว่า จนถึงขณะนี้อิทรามีผู้เข้าชมกว่า 2 ล้านคน มีผู้เข้าชมจากทั่วโลกอีกกว่า 5 แสนคน มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ออกมาแล้วกว่า 500 ชิ้น จัดโปรแกรมและเวิร์กชอปไปแล้วกว่า 20,000 รายการ มีการแสดงบนเวที 35 ครั้ง และมีภาพยนตร์ที่เป็นผู้จัดสร้างอีกกว่า 20 เรื่อง

          “อิทรา คือ สิ่งสำคัญที่ Saudi Aramco สามารถมอบคืนให้กับชาวซาอุดีอาระเบีย สิ่งนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของเราในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์” อามิน นัสเซอร์ ประธานและซีอีโอคนปัจจุบัน กล่าวไว้ 

          จะมีศูนย์วัฒนธรรมในโลกนี้สักกี่แห่งที่ออกแบบสถาปัตยกรรมแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประณีตในการผสมผสานความเป็นสมัยใหม่เข้ากับภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อขยายจินตนาการของผู้เข้าชม และกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม ออกแบบกิจกรรมที่คำนึงถึงความต้องการของผู้คน คิดการณ์ไกลถึงการต่อยอดและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต โอบอุ้มความแตกต่างหลากหลาย ผลักดันและเปลี่ยนแปลงขอบเขตความสามารถและความคิดของสิ่งที่มีค่าที่สุดในประเทศ นั่นคือประชาชนทุกคน

          “เราต้องการให้ Saudi Aramco เป็นพลเมืองโลกที่มีความรับผิดชอบ และวิธีเดียวที่เราจะทำแบบนั้นได้คือการสร้างคนที่เข้าอกเข้าใจคนอื่นๆ เราต้องการพื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่สำหรับซาอุดีอาระเบียเท่านั้น แต่ต้องการพื้นที่การเรียนรู้สำหรับโลกด้วย” อับดุลลาห์ จูมอาห์ กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา

บทความ “A House for the World” จาก aramcoworld.com (Online)

บทความ “Ithra expands ‘iRead’ competition to participants from all Arab countries” จาก saudigazette.com (Online)

บทความ “King Abdulaziz Centre for World Culture (อิทรา) An arena for culture and learning” จาก snohetta.com (Online)

บทความ “Library gives an experience like no other in Saudi Arabia” จาก arabnews.com (Online)

บทความ “The Ithra Story” จาก ithra.com (Online)

บทความ “ก่อนค้นพบน้ำมัน ซาอุดิอาระเบียเป็นเพียงชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทรายทุรกันดาร” จาก publicpostonline.net (Online)

เว็บไซต์ Ithra (Online)

Cover Photo: aramco

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก