จากใจกลางเมืองน่านข้ามแม่น้ำไปยังอีกฝั่งหนึ่งก็ถึงเขตอำเภอภูเพียง มีร้านกาแฟกลิ่นอายญี่ปุ่นและลานกางเต็นท์เปิดอยู่ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น ด้านหน้ามีสัญลักษณ์เป็นวงกลมสีฟ้า นอกจากเสิร์ฟกาแฟพร้อมขนมหอมกรุ่นแล้ว ที่นี่ยังตั้งใจเป็นพื้นที่แสดงออกด้านศิลปะและงานสร้างสรรค์อีกด้วย
‘ฮานิ ครีเอทีฟสเปซ’ (Hani.Creativespace) ริเริ่มโดย อะตอม – ณัฐชนน สมใจ ชายหนุ่มผู้หลงใหลศิลปะ เดิมทีเขาใฝ่ฝันอยากจะเปิดร้านงานไม้ จึงปักหลักอยู่ที่เมืองหลวงหาความรู้ต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เล่าเรียนมา ด้วยการเรียนผลิตกีตาร์แบบคัสตอม
“ผมใช้เวลากับตรงนั้นไปอีกสองปี เรียนตั้งแต่เก้าโมงถึงตีหนึ่งตีสอง แต่ก็ล้มเหลว ลูกค้าเขาไม่อยากซื้อ เพราะผมไม่มีโปรไฟล์ ผมกลับมานั่งเก้าอี้แล้วก็มองท้องฟ้า ‘เราทำอะไรอยู่วะเนี่ย’ ถ้าไปต่อจะเอาเงินที่ไหน งั้นกลับบ้านก่อนจะดีไหม”
“เพราะวงการกีตาร์มันเหมือนการเทรดของศิลปะ เราทำแค่ตัวสองตัวมันไม่ได้น่าเชื่อถือขนาดนั้น ต้องทำเป็นร้อยตัว บางคนยอมทำฟรีให้ศิลปินถือ เพื่อจะได้โปรไฟล์”
อะตอมจึงตัดสินใจพับโปรเจกต์ร้านงานไม้เก็บไว้ และเดินทางกลับบ้านเกิด เปิดร้านกาแฟแห่งนี้ในฐานะหมุดหมายแรกของเส้นทางสู่อนาคต “มันอาจจะเหมือนลงมือทำคนละเรื่อง แต่ผมแค่พักโปรเจกต์ไว้ หาเงินจากส่วนอื่นมาก่อน แล้วค่อยทำตามความฝัน”
แม้เป้าหมายจะเลื่อนไกลออกไปอีกหน่อย แต่ในเวลาว่างจากการทำร้านเขายังคงฝึกฝนออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น โต๊ะทำงานจากไม้ที่สามารถเก็บอุปกรณ์ได้ หมั่นเติมทักษะให้ตัวเองทีละนิด ทีละหน่อย โดยใช้ร้านกาแฟเป็นพื้นที่ทดลองไปในตัว
โลโก้ร้านที่แสนเรียบง่าย แต่ผ่านการคิดมาแล้วเป็นอย่างดี ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่อะตอมใช้วิชาความรู้ด้านการออกแบบที่เรียนมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน เขาเลือกใช้หยดน้ำมาเป็นแรงบันดาลใจ ดีไซน์โดยลดทอนความยืดยาวในการสื่อสาร เก็บเพียงใจความสำคัญไว้ กลายเป็น ‘ความธรรมดา’ ที่ทำให้สะดุดตา เพราะลูกค้าที่ขับรถผ่าน มองเห็นแล้วรู้ได้ทันทีว่าสัญลักษณ์ที่เห็นคือร้านอะไร
“ร้านที่มีโลโก้แค่จุดสีฟ้า ปกติเราจะไปเชียร์ให้ลูกค้าใช้โลโก้นี้ไม่ได้นะครับ เพราะเขาจะไม่เข้าใจ แต่พอมาเป็นร้านเราเองอ่ะ ทำได้”
ส่วนชื่อ ‘ฮานิ’ ในภาษาเหนือมีความหมายว่า ‘ฉันนี่แหละ’ โดยอะตอมอยากให้ฮานิเป็นมากกว่าที่ดื่มกาแฟ กินขนม แต่เป็นพื้นที่เปิดกว้างให้เป็นแหล่งรวมตัวของนักสร้างสรรค์ งานออกแบบ และศิลปะ ผู้คนอาจเข้ามานั่งทำงาน ซ้อมเต้น หรือสร้างสรรค์สิ่งใดก็ได้ตามความต้องการ ซึ่งมองว่าแม้น่านจะเป็นเมืองที่รุ่มรวยด้วยศิลปะและงานสร้างสรรค์ แต่ยังมีจำนวนผู้ชมหรือผู้ซื้องานเหล่านั้นไม่มากพอ ร้านของเขาจึงอยากช่วยสร้างความเข้าใจว่า ศิลปะไม่ใช่เรื่องไกลตัว
“ผู้สร้างอาจจะพอมี แต่ในเชิงของผู้เสพงานศิลปะ ไม่ได้เพียงพอขนาดนั้นครับ”
ที่ผ่านมา อะตอมเคยใช้ฮานิเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมคัปปิ้งกาแฟ (Coffee Cupping) ร่วมกับสมาคมกาแฟพิเศษ (SCA: Specialty Coffee Association) และในเร็วๆ นี้ จะมีการจัดเวิร์กชอปตัดกระดาษร่วมกับ Triple.PProject อีกด้วย
นอกจากอีเวนต์ต่างๆ แล้ว อะตอมคิดว่า ควรจะค่อยๆ ตีวงล้อมให้ชาวน่านเริ่มคุ้นชินกับงานศิลปะผ่านกิจกรรมที่สามารถทำได้ในช่วงเวลาพักผ่อน ครั้งหนึ่งเขาเคยนำสมุดวาดภาพไปวางไว้ให้ลูกค้าวาด แต่มีผู้เข้าร่วมน้อย เขาจึงทำการบ้านต่อไปว่า จะทำอย่างไรให้ทุกคนรู้สึกกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
“สำหรับผมถ้าทุกคนกล้าวาด กล้าเขียน มันจะเป็นการปลูกฝังว่า ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิต”
จากเรื่องราวทั้งหมดแม้ว่า อะตอม จะยังดูเป็นนักล่าฝันหน้าใหม่ แต่ความน่าสนใจคือเขาวางแผนการดำเนินชีวิตที่ชัดเจน และน่าติดตาม ในอนาคตอะตอมจะชักชวนเพื่อนๆ ที่เรียนศิลปะมาร่วมจัดนิทรรศการงานสร้างสรรค์ด้วยกันที่นี่ เขามีความหวังว่าผู้คนจะเห็นคุณค่าของมันมากขึ้น ในช่วงเวลานั้น เขาคงสั่งสมประสบการณ์ไว้มากพอ อาจเป็นจังหวะเหมาะสำหรับการเปิดชอปไม้และสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ใหม่ของตัวเอง