‘ภารกิจอันมีเกียรติ’ เมื่อประเทศได้รับเลือกให้เป็น ‘Guest of Honour ’ ในงาน Frankfurt Book Fair

247 views
7 mins
November 16, 2023

          ชื่อของ Frankfurt Book Fair เป็นที่รู้จัก และเป็นจุดหมายปลายทางที่ผู้คนในวงการหนังสือหมายมั่นปั้นมืออยากไปฝากผลงานไว้สักครั้ง นี่ไม่ใช่งานจำหน่ายหนังสือทั่วไป หากเป็นพื้นที่ที่ผู้คนในแวดวงหนังสือทั่วโลกจะได้มาพบปะ รู้จัก พูดคุย และซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือกัน 

          ทุกๆ ปี ในช่วงเดือนตุลาคม งาน Frankfurt Book Fair จะจัดขึ้นเป็นเวลา 5 วัน โดย 3 วันแรกเป็นช่วงเวลาสำหรับบุคลากรในระบบนิเวศหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ บริษัทด้านสื่อและเทคโนโลยี ศิลปิน นักพูด และอื่นๆ อีกมากมาย นักอ่านทั่วไปจะสามารถร่วมงานได้ในช่วง 2 วันสุดท้าย ซึ่งจะจัดในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์

          นอกจากกิจกรรมในงาน สำนักพิมพ์ หนังสือออกใหม่ที่ผู้คนทั่วโลกล้วนตั้งตาคอยกันในแต่ละปีแล้ว อีกสิ่งที่คนจับตามองไม่แพ้กันคือ Guest of Honour แขกผู้มีเกียรติจากประเทศสมาชิกที่มีบทบาทมากกว่าแค่การจัดกิจกรรมในห้องโถงพาวิลเลียนในงาน แต่เรียกได้ว่าจะกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการซื้อขายลิขสิทธิ์งานแปลระดับโลกในปีนั้นเลยทีเดียว

          “การได้เป็น Guest of Honour ในงาน Frankfurt Book Fair ถือเป็นความสำเร็จของ สโลวีเนียอย่างไม่ต้องสงสัย” นาตาชา เปอร์ก มูซาร์ ประธานาธิบดีของประเทศสโลวีเนียได้กล่าวไว้ พร้อมทั้งย้ำว่าก่อนหน้านี้งานแปลของสโลวีเนียมีเพียงไม่กี่สิบเล่ม แต่หลังจากได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนในปี 2023 จำนวนหนังสือแปลก็เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 200 เล่ม

          ท่ามกลางความภาคภูมิใจและชื่นชมยินดีของวงการหนังสือสโลวีเนียน ผู้อำนวยการโครงการก็ได้ส่งไม้ต่อให้กับอิตาลี สำหรับหน้าที่อันทรงเกียรติในปี 2024 ซึ่งทีมงานชาวอิตาเลียนก็ได้กำหนดแนวคิดในการนำเสนอผลงานเอาไว้แล้วว่า ‘Rooted in the Future’ ซึ่งหมายถึงการผสมผสานรากวัฒนธรรมอันเก่าแก่ กับความสร้างสรรค์แบบใหม่ๆ และวิสัยทัศน์แห่งอนาคต

          หลายปีที่ผ่านมามี Guest of Honour จากประเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงประเทศเดียว คือ อินโดนีเซีย และในปี 2025 เรากำลังจะได้เห็นตัวแทนประเทศที่สองจากภูมิภาค นั่นคือฟิลิปปินส์

          กระบวนการเริ่มต้นอย่างไร ก่อให้เกิดผลดีต่อวงการหนังสือและการแปลมากน้อยแค่ไหน คุ้มค่าหรือไม่ที่จะลงทุน และคำถามที่สำคัญ เราอยากเห็นประเทศไทยในฐานะแขกผู้มีเกียรติในงานมหกรรมหนังสือระดับโลกนี้หรือไม่ ลองอ่านกรณีของประเทศอื่นๆ แล้วพิจารณาไปพร้อมกัน

‘ภารกิจอันมีเกียรติ’ เมื่อประเทศได้รับเลือกให้เป็น ‘แขกผู้มีเกียรติ’ ในงาน Frankfurt Book Fair
ตัวอย่างกิจกรรมในโถงพาวิลเลียนที่จัดโดยประเทศซึ่งถูกคัดเลือกให้เป็น Guest of Honour
Photo: Frankfurter Buchmesse/ Niklas Görke
‘ภารกิจอันมีเกียรติ’ เมื่อประเทศได้รับเลือกให้เป็น ‘แขกผู้มีเกียรติ’ ในงาน Frankfurt Book Fair
การส่งมอบบทบาท Guest of Honour จากสโลวีเนีย ให้กับอิตาลี
Photo: Frankfurter Buchmesse/ Marc Jacquemin

Guest of Honour: ทำไม? และ อย่างไร?

          วัตถุประสงค์หลักของ Frankfurt Book Fair คือ ช่วยให้ผู้คนในวงการสิ่งพิมพ์ทั่วโลกได้พบเจอกันมากขึ้นในเวทีนานาชาติ กระจายผลงานของตนไปยังนักอ่านทั่วโลก และกระตุ้นการขายลิขสิทธิ์งานแปลที่เป็นปัจจัยสำคัญทั้งต่อผู้คนในวงการ นักอ่าน และการสร้างความเข้าใจในความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมระดับสากล

          ตั้งแต่ปี 1976 Frankfurt Book Fair เปิดพื้นที่ให้ Guest of Honour นำเสนอผลงานและเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศของตนภายใต้ธีมที่แตกต่างกันไป ในช่วงแรกจัดแบบปีเว้นปี ต่อมาในปี 1988 จึงกลายเป็นธรรมเนียมสำคัญประจำปีแบบที่เรียกว่าไม่มีไม่ได้ แม้ว่าเป้าหมายหลักคือการสนับสนุนการแปลวรรณกรรมจากประเทศเหล่านั้นสู่ตลาดเยอรมัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานะแขกผู้มีเกียรติย่อมนำมาซึ่งผลประโยชน์ข้างเคียงในแง่ของการเผยแพร่วัฒนธรรม และโอกาสทางธุรกิจในเวทีโลก

          ตัวแทนประเทศที่สนใจจะสมัครเป็น Guest of Honour  สามารถแจ้งความจำนงต่อ Frankfurt Book Fair ได้ คณะกรรมการจะพิจารณาคัดเลือกจากความเข้มแข็งของระบบนิเวศหนังสือในประเทศนั้นๆ โดยใช้เกณฑ์ที่หลากหลาย เช่น การเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ การสนับสนุนของภาครัฐที่มีต่อการแปล งบประมาณของประเทศมีเพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ Guest of Honour หรือไม่ เมื่อผ่านการคัดกรองและพิจารณาอย่างเข้มข้นแล้ว ประเทศที่ได้รับการคัดเลือกจะลงนามในสัญญาร่วมงานกับ Frankfurt Book Fair ล่วงหน้าเป็นเวลา 3 ปี

          หลังจากนั้นประเทศ Guest of Honour มีหน้าที่กำหนดธีม ออกแบบ และจัดนิทรรศการสำหรับโถงกิจกรรมของตนเองให้สะท้อนวัฒนธรรม อัตลักษณ์ หรือเป้าหมายของประเทศนั้นๆ เช่น ในปี 2020/2021 ธีมของประเทศแคนาดา คือ ‘Singular Plurality’ ที่ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ถักทอเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศ หรือในปี 2019 ธีมของประเทศนอร์เวย์คือ ‘The Dream We Carry’ ที่นำเสนอความงดงามของธรรมชาติ วัฒนธรรม และโลกวรรณกรรมซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน

ประเทศแคนาดา กับการเป็น Guest of Honour เมื่อปี 2020/2021 ซึ่งมาในธีม ‘Singular Plurality’

การเป็น Guest of Honour ของประเทศนอร์เวย์ เมื่อปี 2019 ซึ่งมาพร้อมกับธีม ‘The Dream We Carry’

          โดยส่วนมากแล้วแต่ละประเทศใช้เวลาเตรียมการประมาณ 2 ปี ตั้งแต่จรดปากกาลงนามในสัญญา  ตัวแทนและผู้ประสานงานในการเตรียมความพร้อมมักจะเป็นหน่วยงานภาครัฐด้านวัฒนธรรมหรือด้านการศึกษา ร่วมกับองค์กรด้านสื่อ ผู้จัดพิมพ์ หรือหนังสือ ระดับประเทศ ช่วงเวลาหนึ่งปีก่อนหน้างานมหกรรมหนังสือเป็นขั้นตอนของการประชาสัมพันธ์ และนำเสนอเรื่องราวของ Guest of Honour ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมได้รับรู้ บางประเทศเริ่มมีอาคันตุกะจากเยอรมนีมาเยี่ยมเยือนตั้งแต่ประกาศผลการคัดเลือกแล้วด้วยซ้ำ

          Guest of Honour คือ แขกคนสำคัญของ Frankfurt Book Fair ตลอดทั้ง 5 วัน เริ่มจากการปรากฏตัวอย่างสง่างามในพิธีเปิด โถงนิทรรศการที่ได้รับการออกแบบตามธีมที่เลือกสรรมาอย่างดีตั้งอยู่โดดเด่นท่ามกลางบูธของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมงาน ตามมาด้วยกิจกรรมหลากหลายเพื่อเปิดโลกวรรณกรรมของประเทศตนเองให้ประเทศอื่นๆ ได้รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านการอ่าน การเสวนา การแสดง หรือแม้กระทั่งกิจกรรมเพื่อการประชาสัมพันธ์และการจัดโปรโมชันต่างๆ เป็นโอกาสอันดีที่นักเขียนและสำนักพิมพ์จากประเทศเหล่านั้นจะเดินขบวนมาแนะนำตัวให้สำนักพิมพ์นานาชาติทำความรู้จักในวันงาน

          บทบาทของ Guest of Honour ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในช่วงเวลา 5 วัน และในพื้นที่ของ Frankfurt Book Fair เท่านั้น ตลอดทั้งปี นักเขียน นักแปล สำนักพิมพ์ นักวาดภาพประกอบ ยังมีโอกาสที่จะได้ร่วมงานที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ วรรณกรรม และศิลปะ ในเยอรมนีอีกมากมาย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของนิทรรศการ การแสดง หรือแม้กระทั่งงานประชุมสัมมนา จากสถิติแล้วในแต่ละปีมีงานอีเวนต์ต่างๆ ถึงกว่า 500 รายการ ที่ตัวแทนจากประเทศนั้นๆ จะมีโอกาสเข้าร่วม จึงไม่น่าแปลกใจที่ใครๆ จะมองว่า การได้รับคัดเลือกให้เป็น Guest of Honour คือการก้าวขึ้นไปยืนอยู่บนเวทีโลกให้แสงสปอตไลท์สาดส่อง และเป็นโอกาสทองของผู้คนในวงการหนังสือและสิ่งพิมพ์ประเทศนั้นๆ อย่างแท้จริง

          ทันทีที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น Guest of Honour ของงาน Frankfurt Book Fair สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ คือมหกรรมส่งเสริมการแปลครั้งใหญ่ เพราะนั่นคือหน้าตาและศักดิ์ศรีของประเทศในเวทีหนังสือโลกด้วย  โดยเฉลี่ยแล้ววรรณกรรมในประเทศที่ถูกคัดเลือกให้เป็นแขกผู้มีเกียรติ จะถูกแปลเพิ่มเติมประมาณ 40-50 ชิ้น เพื่อนำเสนอให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ ใน Frankfurt Book Fair

          ว่ากันว่าประเทศที่ได้รับคัดเลือกนั้น แทบจะการันตีการซื้อขายลิขสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและต่อเนื่องเลยทีเดียว ดังเห็นได้จากตัวอย่างในหลายปีที่ผ่านมา

          แคนาดา (2020/21) มีผลงานแปลเป็นภาษาเยอรมัน 400 เล่ม จาก 165 สำนักพิมพ์ ร่วมงานอีเวนต์อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับงานมหกรรมหนังสือ ถึง 639 ครั้ง

          นอร์เวย์ (2019) มีผลงานเล่มใหม่ที่ถูกแปลเป็นภาษาเยอรมันถึง 510 เล่ม มีนักเขียน นักแปลมาร่วมงานถึง 100 คน และมีงานอีเวนต์ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์อีก 1,120 ครั้ง

          เนเธอร์แลนด์ (2016) มีผลงานภาษาดัตช์ถูกแปลเป็นภาษาเยอรมันถึง 306 เล่ม มีนักเขียนเข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือถึง 99 คน ร่วมงานอีเวนต์อื่นๆ ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต และในเยอรมนีอีก 400 งาน มีนักเขียนชาวดัตช์ และชาวเฟลมมิชถึง 171 คน เข้าร่วมงานเหล่านั้น

          อาร์เจนตินา (2010) มีรายงานว่าผลงานแปลจากอาร์เจนตินาถูกพูดถึงในสื่อทั่วโลกมากกว่า 5,000 ครั้งนับจากได้รับคัดเลือกในปีนั้น 

          นิโคล วิตต์ (Nicole Witt) เจ้าของตัวแทนหนังสือ Mertin เล่าว่า จำนวนงานแปลที่มีมากที่สุดในตลาดสากลคือภาษาอังกฤษ ซึ่งมีมากถึง 2 ใน 3 ของทั้งหมด ตามมาด้วยฝรั่งเศส อิตาเลียน และสเปน ผลงานภาษาโปรตุเกสห้อยรั้งท้ายตารางอยู่เสมอ แต่เมื่อประเทศโปรตุเกส ได้รับเชิญเป็น Guest of Honour ในปี 1997 และบราซิล ในปี 2013 จำนวนการแปลผลงานภาษาโปรตุเกสเข้าสู่ประเทศเยอรมนีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศบราซิลที่แทบจะไม่มีผลงานของนักเขียนคนไหนถูกแปลเป็นภาษาเยอรมันเลยในทศวรรษก่อนหน้า

          ในแง่นี้ Guest of Honour จึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการขยายผลงานแปลเพื่อกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ยกระดับมาตรฐานผลงานของตนเอง และทำให้ประเทศเล็กๆ ได้มีพื้นที่ในการแสดงผลงานไปยังวงกว้างได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้แสดงออกซึ่งวัฒนธรรม ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ประเด็นสำคัญทางเหตุบ้านการเมืองในประเทศของตน บ้างยังบอกว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในประเทศอีกด้วย 

ความในใจจาก Guest of Honour  ปี 2023

           “Visibility, visibility, visibility” (การมองเห็น)

          คำตอบต่อแทบทุกคำถามจาก มิฮา โควัก (Miha Kovač) ผู้แทนจากสโลวีเนีย ประเทศที่ได้รับเลือกเป็น ‘Guest of Honour’ หรือแขกผู้มีเกียรติประจำงาน Frankfurt Book Fair (Frankfurter Buchmesse) ปี 2023

          โควัก เป็นอาจารย์ด้านการตีพิมพ์จากมหาวิทยาลัยลูบลิยานา สาธารณรัฐสโลวีเนีย และเป็นผู้ออกแบบการจัดแสดง (Curator) โถงพาวิลเลียนที่ชื่อ ‘Honeycomb of Words’ (รวงผึ้งแห่งถ้อยคำ)

          โควักเล่าย้อนว่าเมื่อครั้งสโลวีเนียยังเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวีย (ตั้งแต่ปี 1945) นักอ่านทั่วโลกแทบไม่มีใครเคยได้อ่านผลงานจากนักเขียนสโลวีเนียน หากในวันนี้เมื่อประเทศได้รับการคุ้มครองจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มนาโตและสหภาพยุโรป นักอ่านทั่วโลกก็เริ่มได้ชิมลางผลงานของนักเขียนจากสโลวีเนียมากขึ้น และที่สำคัญ “กระทรวงวัฒนธรรมเริ่มกระจายงบประมาณเพื่อการอบรมพัฒนานักแปลมากขึ้น” โควักกล่าว

‘ภารกิจอันมีเกียรติ’ เมื่อประเทศได้รับเลือกให้เป็น ‘แขกผู้มีเกียรติ’ ในงาน Frankfurt Book Fair
มิฮา โควัก อาจารย์ด้านการตีพิมพ์จากมหาวิทยาลัยลูบลิยานา สาธารณรัฐสโลวีเนีย และผู้ออกแบบการจัดแสดงโถงพาวิลเลียน
Photo: Frankfurter Buchmesse/ Marc Jacquemin

          การสนับสนุนด้านงบประมาณและการพัฒนาบุคลากรจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 2008 ทำให้โลกได้เห็นผลงานจากสโลวีเนียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ถ้านับกันจริงๆ แล้วจะมีหนังสือที่ได้รับแปลทั้งหมด มีอยู่ประมาณ 25 เล่ม แต่จำนวนภาษาที่ได้รับการแปลก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘snowball effect’ หรือผลกระทบที่ส่งผลทวีคูณจากการออกแรงอย่างต่อเนื่อง เหมือนก้อนหิมะที่กลิ้งลงจากเขาและค่อยๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

          การที่สโลวีเนียได้รับคัดเลือกให้เป็น Guest of Honour ประจำงานแสดงหนังสือนานาชาติในปีนี้ ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นดอกผลจากความพยายามผลักดันร่วมกันระหว่างผู้คนในวงการหนังสือและรัฐบาล โควักย้ำว่า นี่ไม่ใช่เส้นชัย หากเป็นสัญญาณที่ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการต้องเตรียมพร้อมมากขึ้น เพราะโอกาสในครั้งนี้จะทำให้โลกหันมาสนใจซื้อผลงานจากสโลวีเนียเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน และชาวสโลวีเนียนต้องเตรียมความพร้อมทั้งในด้านผลงานต้นฉบับ นักเขียน นักแปล สำนักพิมพ์ เมื่อโลกเริ่มหันมามอง สปอตไลท์เริ่มส่องทาง

          ในงานพิธีเปิด Frankfurt Book Fair ครั้งที่ 75 นาตาชา เปอร์ก มูซาร์ ประธานาธิบดีของประเทศสโลวีเนียได้รับเชิญเป็น Keynote Speaker ก่อนที่จะเดินเยี่ยมชมโถงพาวิลเลียนของสโลวีเนียที่นำเสนอวัฒนธรรมอันรุ่มรวย วิถีการประพันธ์บทกวี ปรัชญาอันลุ่มลึก และวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็ง ผ่านกิจกรรมกว่า 250 รายการ และนักเขียนอีกกว่า 250 ที่มาร่วมนำเสนอผลงาน

          ประธานาธิบดี เปอร์ก มูซาร์ กล่าวไว้ว่าการได้เป็น Guest of Honour ในงานนี้ คือความสำเร็จครั้งสำคัญของสโลวีเนีย งานแปลที่เพิ่มขึ้นร้อยกว่าเล่ม แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่นานาประเทศมีต่องานเขียนสโลวีเนียน นอกจากจะถือว่าเป็นความสำเร็จของประเทศแล้ว ยังต้องกล่าวว่าเป็นผลงานอันน่าชื่นชมของนักเขียน และกวี ชาวสโลวีเนียนอีกด้วย

มอง Guest of Honour จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          แม้ธรรมเนียม Guest of Honour จะมีมานานแล้วกว่า 40 ปี ตั้งแต่ปี 1976 แต่เรากลับเคยมี โลกกลับเคยเห็นตัวแทนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในปี 2015 เมื่ออินโดนีเซีย ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับคัดเลือก

          และอีกสิบปีต่อมา ในอีกสองปีข้างหน้า (2025) เรากำลังจะได้เห็นตัวแทนประเทศที่สองจากภูมิภาคไปร่วมงานในฐานะ Guest of Honour นั่นคือฟิลิปปินส์

          วุฒิสมาชิก ลอเรน เลการ์ดา (Loren Legarda) เผยว่า “เส้นทางสู่การเป็น Guest of Honour นั้น เราต้องตระเตรียมการยาวนานหลายปี อินโดนีเซียเคยทำสำเร็จมาแล้วในปี 2015 ถือเป็นประเทศแรกจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านมา 10 ปี ควรจะมีประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ได้รับความสนใจได้แล้ว นานาประเทศควรจะได้อ่านและชื่นชมเรื่องราวของเรา ที่ถูกเขียนโดยคนของเรา ควรมีคนมองเห็นว่าวรรณกรรมฟิลิปปินส์มีคุณค่าควรแก่การอ่าน มีความลุ่มลึก และสะท้อนมุมมองทั้งยุคอาณานิคมและหลังอาณานิคมได้เป็นอย่างดี”

‘ภารกิจอันมีเกียรติ’ เมื่อประเทศได้รับเลือกให้เป็น ‘แขกผู้มีเกียรติ’ ในงาน Frankfurt Book Fair
การเป็น Guest of Honour ของอินโดนีเซียในงาน Frankfurt Book Fair ปี 2015
Photo: Muhammad Thamrin Architects
บรรยากาศภายที่อินโดนีเซียได้เป็น Guest of Honour ในงาน Frankfurt Book Fair ปี 2015

          การเตรียมการของฟิลิปปินส์ไม่ได้เริ่มต้นแค่ในแวดวงวรรณกรรมและสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการเตรียมความพร้อมในการนำเสนอเรื่องราวของประเทศที่เต็มไปด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อยกว่า 7,000 เกาะ สู่สายตานานาประเทศด้วย ชารีส เอควิโน-ตูเกด (Charisse Aquino-Tugade) ประธานคณะกรรมการการพัฒนาหนังสือแห่งชาติประจำประเทศฟิลิปปินส์ (NBDB) กล่าวว่า นี่จะเป็น “บทใหม่ของวรรณกรรมและวัฒนธรรมฟิลิปปินส์” และ “พวกเรารู้ดีว่างานครั้งนี้และผลกระทบที่จะตามมานั้นยิ่งใหญ่เพียงใด” นอกจากนี้ยังเสริมว่า

          “อุตสาหกรรมการตีพิมพ์ของฟิลิปปินส์ เติบโตอย่างสม่ำเสมอในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเราได้เป็น Guest of Honour ในปี 2025 เราจะนำเสนอเรื่องราวของชาวฟิลิปปินส์แบบครบถ้วน ตั้งแต่ประวัติศาสตร์อันลึกลับ วรรณกรรมแนวชาตินิยมของ โฮเซ่ รีซัล (José Rizal) วรรณกรรมร่วมสมัยเกี่ยวกับความเข้าใจสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ ไปจนถึงเรื่องราวของอำนาจอาณานิคมที่มีผลต่อทุนนิยม และชีวิตการพลัดถิ่นฐานของชาวฟิลิปปินส์ในต่างแดน”

          เจอร์เกน บูส์ (Juergen  Boos) ผู้อำนวยการ Frankfurt Book Fair ให้เหตุผลว่า แม้ประเทศฟิลิปปินส์จะเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่สุดลำดับที่ 13 ของโลกด้วยประชากรถึง 110 ล้านคนที่กระจายตัวอยู่บนเกาะน้อยใหญ่ 7,641 เกาะ และใช้ภาษาท้องถิ่นมากถึง 183 ภาษา แต่น้อยคนนักในโลกที่เคยได้อ่านงานจากฟิลิปปินส์ และเขาเชื่อว่าการเปิดประตูให้นักอ่านได้เข้าถึงงานจากฟิลิปปินส์จะสร้างบทสนทนาใหม่ๆ ให้กับทั้งวงการสิ่งพิมพ์ทั่วโลก และความเข้าใจในโลก ‘หลังอาณานิคม’ ด้วย 


ที่มา

เว็บไซต์ FRANKFURTER BUCHMESSE (Online)

บทความ “The Philippines will be Guest of Honour at Frankfurter Buchmesse 2025” จาก buchmesse.de (Online)

บทความ “Frankfurt Book Fair: FROM GUEST OF HONOUR TO LITERARY STAR” จาก goethe.de (Online)

Cover Photo: Frankfurter Buchmesse/ Marc Jacquemin

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก