ต่อกิ่งแต่งก้านเติมใบ แต้มสีสันการเรียนรู้ในอุตรดิตถ์ ด้วยพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์

63 views
March 24, 2023

ห่างจากประตูเมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ประมาณ 15 กิโลเมตร คือที่ตั้งของ ‘กิ่งก้านใบ LearnScape’ พื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ ที่รายล้อมด้วยธรรมชาติ ต้นไม้ และทุ่งนา

กลุ่มกิ่งก้านใบขับเคลื่อนการเรียนรู้โดยมีกระบวนการด้านละครเป็นฐาน พร้อมด้วยกิจกรรมอีกหลายรูปแบบ เช่น การสร้างงานศิลปะจากสิ่งใกล้ตัว การสร้างสุขภาวะ ค่ายสานสัมพันธ์เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชน และการปลูกฝังการรู้เท่าทันประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีมุมหนังสือ โรงละครเล็ก ลานเล่น ฯลฯ ซึ่งรองรับการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของผู้เรียน

หลายปีที่ผ่านมา กิ่งก้านใบทำงานเชื่อมโยงกับภาคีนักกิจกรรมและหน่วยงานภาครัฐ โดยเปิดพื้นที่การเรียนรู้ จนปลุกให้เมืองเงียบๆ มีสีสันและชีวิตชีวาอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยชื่อ ‘อุตรดิตถ์ติดยิ้ม’ จนเป็นที่รู้จักไปทั่วจังหวัด

แต่กว่ากิ่งก้านใบจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับ ‘พิชาลล์ สร้อยสุวรรณ’ ผู้ก่อตั้ง ซึ่งต้องใช้ทั้งความมุ่งมั่นและเวลาอยู่นานหลายปี เพื่อให้สภาพแวดล้อมการเรียนรู้เกิดขึ้นแก่เมืองแห่งนี้ตามที่ตั้งใจไว้…อ่านที่มาและเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่

ต่อกิ่งแต่งก้านเติมใบ แต้มสีสันการเรียนรู้ในอุตรดิตถ์ ด้วยพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์
Photo : อุตรดิตถ์ติดยิ้ม “พื้นที่สร้างสรรค์” ของทุกคน

พากิ่งก้านใบ ไปอุตรดิตถ์ จุดเริ่มต้นการเรียนรู้

กิ่งก้านใบ เป็นกลุ่มนักกิจกรรม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 โดยพิชาลล์และกลุ่มเพื่อน ร่วมทำโปรเจกต์ระยะสั้นกับเยาวชนตามพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด จนถึงปี 2552 คณะผู้ดำเนินงานได้แยกย้ายกันไปทำตามความฝันของตัวเอง บวกกับช่วงเวลานั้นพิชาลล์เริ่มไม่สนุกกับการทำงานในกรุงเทพฯ และต้องการหาที่ตั้งเป็นหลักเป็นแหล่งให้กับกิ่งก้านใบ จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิด

นับตั้งแต่นั้น อุตรดิตถ์ได้กลายเป็นสถานที่ปักหลัก เริ่มต้นทำโครงการกับเด็กในหมู่บ้านและโรงเรียนระดับตำบล เช่น น้ำริด วังกะพี้ ทุ่งยั้ง และไผ่ล้อม โดยยังไม่ได้เข้าไปจัดกิจกรรมในสถานศึกษาเขตตัวเมือง เพราะต้องการให้โอกาสเด็กๆ รอบนอกเข้าถึงการเรียนรู้ก่อน แม้อุตรดิตถ์จะพอมีกลุ่มที่ทำกิจกรรมการเรียนรู้อยู่บ้าง แต่ช่วงเวลานั้นสถานที่เรียนรู้แบบกิ่งก้านใบ ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากๆ สำหรับผู้คนในพื้นที่

“มันเหมือนกับการเปิดโลกใหม่ให้กับคนที่นี่เลย คือตอนไปติดต่อโรงเรียนเพื่อทำกิจกรรม ครูบางคนเป็นห่วงเรา บอกให้เรากลับไปทำงานประจำ เขางงว่าจะอยู่ได้ยังไง วิชาชีพจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กคืออะไร เพราะในเวลานั้นเขายังไม่เข้าใจ”

ท้ายที่สุดกิ่งก้านใบก็ได้จัดกิจกรรมกับเด็กๆ ตามที่ตั้งใจไว้ พิชาลล์ซึ่งเป็นคนในพื้นที่รู้ว่า ในกระบวนการทำงานควรเลือกโรงเรียนแห่งไหน พูดคุยอย่างไร จึงจะได้ร่วมงานกัน จนถึงทุกวันนี้กิ่งก้านใบจัดกิจกรรมกับเด็กมากว่าหลายร้อยคนตามโรงเรียนต่างๆ กว่าสิบแห่ง

ต่อกิ่งแต่งก้านเติมใบ แต้มสีสันการเรียนรู้ในอุตรดิตถ์ ด้วยพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์
Photo : สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ

หลักสูตรกิ่งก้านใบ

กลุ่มกิ่งก้านใบ เปิดพื้นที่การเรียนรู้ในชื่อ ‘กิ่งก้านใบ LearnScape’ สถานที่ซึ่งแวดล้อมด้วยธรรมชาติและมีสิ่งอำนวยความรู้หลากหลาย เช่น มุมหนังสือ โรงละครขนาดเล็ก ลานเล่น แกลเลอรี ฯลฯ พร้อมกับ 3 หลักสูตร ดังต่อไปนี้

หลักสูตรแรก คือ ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานการแสดง การสำรวจ การวิเคราะห์ตัวละคร การพัฒนาโครงเรื่อง และการแสดงออก

ถัดมา คือ เยาวชนนักสร้างสรรค์ (วัยรุ่นหมุนโลก) หลักสูตรนี้เจาะกลุ่มไปที่นักเรียนมัธยมและนักศึกษา เป็นการอบรมที่ช่วยให้ผู้เรียนรู้จักและเห็นคุณค่าตัวเอง หน้าที่ของพลเมือง การมีส่วนร่วม และการออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์

สุดท้าย คือ หลักสูตรห้องเรียนคิดส์สร้างสรรค์ เหมาะกับกลุ่มเด็กเล็กและผู้ปกครอง เนื้อหาว่าด้วยการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การคิดอย่างสร้างสรรค์ และทักษะชีวิต เช่น การประกอบอาหาร

ต่อกิ่งแต่งก้านเติมใบ แต้มสีสันการเรียนรู้ในอุตรดิตถ์ ด้วยพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์
Photo : สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ

ออกจากเซฟโซน ขยายพื้นที่การเรียนรู้

หลังจากทำกิจกรรมกับเด็กรอบนอกอยู่สักพัก กิ่งก้านใบก็ได้เข้าร่วมโครงการพื้นที่นี้ดีจัง ทำให้ได้ขยับพื้นที่การเรียนรู้เข้าสู่เมือง ด้วยโปรเจกต์ชื่อ ยกพวกดีกัน กิจกรรมในตอนนั้นดูเหมือนเป็นงานที่จัดกันเองดูกันเอง เพราะข้อจำกัดเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และขาดความไม่เข้าใจเรื่องพื้นที่การเรียนรู้ของผู้คน แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ทำให้กิ่งก้านใบหมดหวัง

ด้วยระยะเวลาเพียงไม่นาน กิ่งก้านใบได้ผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ และหน่วยงานภาครัฐของจังหวัดที่มีนโยบายป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่น ทำให้เกิดเทศกาล ‘อุตรดิตถ์ติดยิ้ม’ ซึ่งพลิกอุตรดิตถ์ให้คึกคักด้วยกิจกรรมการเรียนรู้

“เราและเพื่อนๆ ภาคีเครือข่ายในอุตรดิตถ์ไปดูงานตามที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนอุตรดิตถ์ เราไม่ได้ทำเล่นๆ แต่อยากจะสร้างเมืองให้เกิดการเรียนรู้ไปด้วยกัน ให้เขาเห็นช่องทางหางบประมาณ หรือหนทางเพื่ออยู่รอดได้ในแบบของตัวเอง

“สองปีมานี้เราจับทางได้แล้ว คนมางานเยอะขึ้น เพื่อนแต่ละทีมจัดกิจกรรมคนละลานเอาอยู่เลย กิ่งก้านใบทำแค่โรงละครในสวน คนนู้นทำฟาร์ม คนนู้นทำแกลอรี แล้วเราก็พบคำตอบจากการไปดูงานว่า พื้นที่เรียนรู้ พื้นที่สร้างสรรค์มันต้องอยู่กับชุมชน

“เราขอปิดถนนจัดที่ตั้งหอนาฬิกา จนถึงลานอเนกประสงค์ริมแม่น้ำน่าน พื้นที่ตรงนั้นมีเรื่องราวหลายอย่าง เคยเป็นท่าขนส่งสินค้า เป็นพื้นที่ของชุมชน เป็นที่มั่วสุมของวัยรุ่น งานปีนี้มีอิมแพคมาก จากคนที่ไม่เข้าใจ เขาก็เซอร์ไพรส์กันว่า บ้านเรามีคนมาปิดถนนและทำให้กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ด้วยเหรอ

“ปีนั้นพิเศษตรงที่เราได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อให้นักศึกษามาร่วมจัดงาน มีการร่วมงานกับหน่วยงานรัฐ เทศบาล ตำรวจ เพราะต้องมีการปิดถนน ชาวบ้านเดือดร้อนตรงไหนเราจัดการให้ได้หมด จนเขามาร่วมมือกับเรา เอาน้ำมาแจกให้เด็กๆ ด้วย”

เรื่องเด็กและเยาวชนที่เคยเป็นเรื่องนอกสายตา ถูกพูดถึงมากขึ้น ทำให้งานอื่นๆ เริ่มนำโมเดลอุตรดิตถ์ติดยิ้มไปใช้ เช่น งานกาชาดประจำปี และงานถนนคนเดิน คนอุตรดิตถ์จะได้เห็นกิจกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น จากเมื่อก่อนเป็นบูธธรรมดาที่ได้แค่ดูและชื่นชม ทุกวันนี้อุตรดิตถ์ติดยิ้มมีชื่อเสียงมากขึ้น พร้อมกับกิจกรรมที่ภาคีต่างๆ ร่วมกันจัดอย่างต่อเนื่อง

ต่อกิ่งแต่งก้านเติมใบ แต้มสีสันการเรียนรู้ในอุตรดิตถ์ ด้วยพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์
Photo : อุตรดิตถ์ติดยิ้ม “พื้นที่สร้างสรรค์” ของทุกคน

สร้างคนเพื่อสร้างสังคม

จุดมุ่งหมายของพิชาลล์ในนามของกิ่งก้านใบ คือพัฒนาคนอุตรดิตถ์รุ่นใหม่ให้เป็นนักสร้างสรรค์สังคม อาจไม่ต้องเป็นเรื่องใหญ่โต ขอเพียงรู้จัดคิดรู้จักริเริ่มสิ่งใหม่

“กิ่งก้านใบทำเรื่องการเรียนรู้ เราอยากพาการเรียนรู้ไปสู่คน คนที่บอกว่าวัดไม่ได้ เพราะเราไม่เคยแจกกระดาษข้อสอบให้ใครช่วยกา เราอยากเห็นผลที่ตัวคนนี่แหละ เราอยากให้คนเป็นนักสร้างสรรค์ ไม่ต้องถึงขั้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ว่าเขาสามารถทำสิ่งสร้างสรรค์ในวิชาชีพของเขา หรือเป็นอาชีพใหม่ๆ ที่เขาจะลุกขึ้นมาทำและมีโยชน์กับคนในพื้นที่ คนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้จะทำให้ชุมชนหรือเมืองมีคุณภาพ

“การจะไปถึงจุดนั้นเราทำคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องจับมือร่วมกับพี่น้องเครือข่าย ซึ่งไม่ใช่ว่าจบคอร์สแล้วจะเปลี่ยนเป็นคนใหม่ได้ทันที เราอยากให้เมืองและบรรยากาศหล่อหลอมคนคนหนึ่งให้เติบโต มองออกว่าเขาจะเอาตัวรอดอย่างไร โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น รวมทั้งตัวเขาจะสร้างประโยชน์หรือเปลี่ยนเมืองได้อย่างไร

“ถ้าเรายังไม่ไปไหนซะก่อน วันหนึ่งเราก็จะเห็นว่า เด็กที่เราสร้างมาตั้งแต่อดีตลุกขึ้นมาดูแลเราแล้ว
ไม่ต้องเน้นเรื่องถนนหนทางก็ได้ แต่มีสวัสดิการที่จะมาคุ้มครองสวัสดิภาพต่างๆ เด็กที่มีจะไปมีอำนาจในช่วงเวลานั้นเขาพยายามรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ดีกว่าคนยุคเรา”

ต่อกิ่งแต่งก้านเติมใบ แต้มสีสันการเรียนรู้ในอุตรดิตถ์ ด้วยพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์
Photo : กิ่งก้านใบ LearnScape


ที่มา

บทความ “อุตรดิตถ์ติดยิ้ม จ.อุตรดิตถ์” จาก djung.org (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก