คุยกับ Eyedropper Fill : เปลี่ยนแปลงสังคมด้วยวิชาออกแบบไร้กระบวนท่า

2,115 views
8 mins
November 29, 2021

          หลายปีมานี้ ชื่อของ ‘Eyedropper Fill’ เริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงนักออกแบบสร้างสรรค์ ในฐานะสตูดิโอที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบประสบการณ์ ผ่านการใช้สื่อผสมผสานและเทคโนโลยีสมัยใหม่

          ในขาหนึ่ง งานของพวกเขาปรากฏอยู่ในการออกแบบอีเวนท์ต่างๆ นิทรรศการทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ จุดขายคือการตีโจทย์ลูกค้าด้วยวิธีคิดแหวก พร้อมมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ผู้รับชม

          อีกขาหนึ่ง คือการทำงานสื่อสารเรื่องราวที่ยึดโยงกับประเด็นสังคม ซึ่งตั้งต้นจากความสนใจส่วนตัวของพวกเขา ผลงานชิ้นโบแดงคือสารคดี ‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ (ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ประจำปี 2563) ที่นำเสนอชีวิตและความฝันของตัวละครวัยรุ่นในชุมชนคลองเตย ตีแผ่แก่นของปัญหาการศึกษาและความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกในสังคมไทย

          อีกผลงานที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง คือ ‘กล่องฟ้าสาง’ นิทรรศการที่เก็บรวบรวมความทรงจำจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในรูปแบบของกล่องปิดผนึก ที่ช่วยเปิดบทสนทนาว่าด้วยประวัติศาสตร์มืดดำที่ใครหลายคนจำไม่ได้-ลืมไม่ลง

          ในยุคสมัยที่พรมแดนการสื่อสารเปิดกว้าง ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหา งานของ Eyedropper Fill คือตัวอย่างชั้นดีที่พิสูจน์ให้เห็นว่า วิธีคิดเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลความรู้ให้เข้าถึงผู้คน ยังมีความเป็นไปได้อีกมากมาย และไม่มีกระบวนท่าที่ตายตัวอีกต่อไป

              The KOMMON ชวนสองผู้ร่วมก่อตั้ง คือ นัท – นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล และ เบสท์ – วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย มานั่งสนทนาว่ากระบวนการทำงานของพวกเขาเป็นอย่างไร ตั้งต้นจากมายด์เซ็ทและวิธีคิดแบบไหน ไปจนถึงประเด็นที่ว่า การออกแบบสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้หรือไม่-อย่างไร  

จุดเริ่มต้นของ Eyedropper Fill

          วรรจธนภูมิ : เริ่มมาจากตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมกับนัทเรียนสาขา communication design ที่คณะสถาปัตย์ฯ บางมด (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) เราเรียนเกี่ยวกับการออกแบบการสื่อสาร ซึ่งวิธีการสอน จะเน้นสอนให้เป็นคนทำ เน้นกระบวนการทดลองค่อนข้างเยอะ ใช้สื่อหลากหลาย ทั้งวิชวลต่างๆ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว พอเรียนไปสักพัก ก็เลยรวมกลุ่มกันทำบริษัทอายดรอปฯ ขึ้นมา เพื่อทดลองดูว่าสิ่งที่เราเรียน มันจะนำไปใช้หาเงินได้ยังไงบ้าง ซึ่งเราก็ได้ลองทำทุกอย่าง ทั้งมิวสิควิดีโอ สารคดี ภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด รวมถึงการออกแบบวิชวลในงานอีเวนต์ต่างๆ พูดง่ายๆ คือเราทำได้ทุกอย่าง เพราะพื้นฐานของมันคือการสื่อสาร

          ถึงตอนนี้ก็ครบ 10 ปีพอดี ถ้าแบ่งคร่าวๆ อาจแบ่งได้สามช่วง ช่วงแรกคือช่วงที่เน้นทำภาพเคลื่อนไหวแบบ on screen ช่วงสองเริ่มขยับมาทำอีเวนต์ เป็นงานแบบ on ground ช่วงสุดท้าย คือช่วง 3-4 ปีมานี้ เป็นช่วงที่เราเริ่มใส่ attitude ตัวเองของตัวเองเข้ามาในงานทั้งสองขา คือความสนใจในประเด็นสังคม   

          ถ้ามองย้อนไป ผมรู้สึกว่าสองช่วงแรก เหมือนเป็นช่วงที่เราเรียนรู้และทำความเข้าใจเครื่องมือต่างๆ ว่ามันเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ส่วนช่วงที่สาม คือการเอาเครื่องมือเหล่านั้นมาต่อยอด แล้วใส่ attitude ของตัวเองเข้าไป

          นันทวัฒน์ : ช่วงแรกๆ เราพยายามหาว่าเอกลักษณ์ของอายดรอปฯ คืออะไร พอคุยไปคุยมา เราเห็นว่ามันคือการที่แต่ละคนเอาสิ่งที่ชอบมารวมกัน เราเรียนออกแบบมา ซึ่งเพื่อนแต่ละคนก็ชอบทำงานคนละแนว บางคนชอบถ่ายสารคดี บางคนชอบทำเอ็มวี บางคนชอบทำอีเวนต์ ฉะนั้นความพิเศษหรือจุดเด่นของเราก็คือความหลากหลาย คือการเอาสิ่งที่แต่ละคนชอบผสมกัน งานที่เราทำมันคือการหาวิธีแปลกๆ วิธีใหม่ๆ เพื่อแก้โจทย์ในการสื่อสาร

คุยกับ Eyedropper Fill : เปลี่ยนสังคมด้วยวิชาออกแบบไร้กระบวนท่า

แล้วทำไมถึงพวกคุณถึงสนใจงานประเภท Experience Design หรือการออกแบบประสบการณ์

          วรรจธนภูมิ : จาก 10 ปีที่ทำงานมา เราพบว่าแก่นอย่างหนึ่งในงานของเรา ไม่ว่าเป็นงานประเภทไหน มันคือสื่อสารกับคน ทุกงานที่เราทำมันคือการย่อยเนื้อหาออกมาเป็นความรู้สึก แล้วหาวิธีสื่อสารออกมา ถ้ายึดตามหลักวิทยาศาสตร์ มนุษย์ทุกคนรับรู้โลกใบนี้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งประสบการณ์ต่างๆ ที่เรารับเข้ามา มันคือสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นเราทุกวันนี้ เราจึงมองว่า การจะสร้างหรือเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง การสร้าง ‘ความรู้สึกร่วม’ คือสิ่งสำคัญ แล้วเราอยากทำหน้าที่นั้น

          ถ้ามองเนื้อหาหรือความรู้เป็นก้อนๆ หนึ่ง สิ่งที่เราอยากทำ คือเอาก้อนเนื้อหาหรือความรู้นั้น มาสร้างเป็นก้อนความรู้สึกที่ส่งเสริมเนื้อหานั้น ซึ่งเป็นมิติที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะมันทำงานกับคนในแบบที่เราไม่รู้ตัว ในระดับจิตใต้สำนึก ลองนึกง่ายๆ ว่าเวลาคนเราจะทำอะไรบางอย่าง เรามักเริ่มต้นจากความรู้สึก เช่น ฉันอยากไปประท้วง อยากไปม็อบ เพราะฉันรู้สึกโกรธ หน้าที่ของความรู้สึกสำคัญตรงนี้ มันคือปัจจัยที่นำไปสู่การกระทำ เรามองว่ามนุษย์จะมี action ได้ มันต้องมีเจตจำนง มีความรู้สึกตั้งต้นบางอย่างก่อน

          นันทวัฒน์ : ถามว่าทำไมพวกเราถึงชอบทำงานที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับคน หรืองานที่สร้าง interact แบบเรียลไทม์ ก็เพราะเราชอบเคมีหรือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากคนที่ดูงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นรีแอ็คที่เกิดขึ้น ณ โมเมนต์นั้น หรือฟีดแบ็คที่เขาพรั่งพรูออกมาหลังจากดูงานเราจบ นี่คือของขวัญที่พิเศษมากสำหรับพวกเรา

สังเกตว่างานช่วงหลังของอายดรอปฯ เชื่อมโยงกับประเด็นสังคมค่อนข้างเยอะ อยากทราบว่าเป็นเพราะอะไร

          นันทวัฒน์ : พอทำงานไปได้สักระยะ เราก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่า ตกลงแล้ววิชาชีพของเรามันมีประโยชน์ยังไง ศิลปะและการออกแบบสามารถช่วยอะไรใครได้บ้าง นอกจากช่วยหาเงินให้ตัวเอง เราก็เลยเริ่มมองหาช่องทาง หาประเด็นที่เราอยากทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ 6-7 ปีที่แล้ว เพื่อจะพิสูจน์ให้เห็นว่ามันทำได้ เราอยาก empower คนในแวดวงศิลปะ แวดวงสร้างสรรค์ ว่าเราสามารถใช้งานที่ทำอยู่ ในการทำหน้าที่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้เหมือนกัน

          วรรจธนภูมิ : ช่วงหลังเราคุยกันบ่อยว่า ในสภาพสังคมแบบนี้ เราทำอะไรกันได้บ้างวะ อาชีพเราคือทำงานออกแบบก็จริง แต่เราก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยู่ในสังคมนี้ที่ต้องเจอปัญหาโควิด เจอการบริหารงานของรัฐบาลแย่ๆ เราเลยกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง จากสิ่งเราที่เราถนัด จากความรู้ที่เรามี

          พอคิดได้แบบนี้ ช่วงหลังอายดรอปฯ จึงเริ่มละมือจากงานคอมเมอร์เชียล มาทำงานที่พูดถึงประเด็นสังคมที่เราสนใจมากขึ้น ถ้าคนนอกมองเข้ามา อาจรู้สึกว่าอายดรอปชอบทำงานที่ใช้เทคโนโลยี มีแสงสีเสียงล้ำๆ แต่สำหรับพวกเราเอง เราสนใจเรื่องคน เรื่องความเป็นมนุษย์ เราถึงพยายามทำงานที่ต้องออกไปเจอไปคุยกับคนอยู่เสมอ

คุยกับ Eyedropper Fill : เปลี่ยนสังคมด้วยวิชาออกแบบไร้กระบวนท่า

การทำงานคนที่หลากหลาย มีข้อดียังไง แล้วมันทำให้ค้นพบอะไรบ้าง

          วรรจธนภูมิ : ถ้าดูจากสารคดีหลายๆ เรื่องที่เราทำออกมา นั่นเป็นเพียงเบื้องหน้า แต่การสิ่งที่ทำให้เราแฮปปี้คือทำงานเบื้องหลัง คือการได้ไปเจอผู้คนที่หลากหลาย โดยเฉพาะคนชายขอบของสังคม เราอยากรู้ว่าเขามีชีวิตยังไง มีความทุกข์ร้อนอะไร ก็เลยทำมาเรื่อยๆ จนถึงโปรเจกต์ School Town King ที่ถือเป็นหมุดหมายล่าสุด ยิ่งตอกย้ำว่า เราสนใจเรื่องคนนี่หว่า เราสนใจเรื่องความหลากหลาย

          เราจะอินมาก เวลาได้ทำงานที่ช่วยส่งเสียงให้คนบางกลุ่มที่ถูกมองข้าม หรือไม่ได้รับการเหลียวแล แล้วจะยิ่งฟินกว่านั้น ถ้าสามารถทำให้คนดูหรือผู้ชมเข้าใจหรืออินไปกับมันด้วย เหมือนเราเป็นสะพานที่สร้างประสบการณ์บางอย่าง เพื่อเชื่อมคนหลายๆ กลุ่มเข้าหากัน เข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น

          เป้าหมายต่อไปของอายดรอป เราวางไว้ว่าจะทำงานที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบต่างๆ อันที่จริงเรื่องพวกนี้มีคนทำเยอะ แต่เราอยากหาสำเนียงใหม่ๆ วิธีใหม่ๆ ในการพูดบ้าง ยกตัวอย่างโปรเจกต์ ‘กล่องฟ้าสาง’ มันคือการออกแบบนิทรรศการแบบใหม่ ที่ทำให้คนเข้าใจเรื่องบางเรื่องได้ เราคิดว่าโมเดลแบบนี้คือสิ่งที่เราสนใจและอยากทำต่อไป

ทำไมถึงสนใจเรื่องคนชายขอบ

          นันทวัฒน์ : เวลาพูดถึงคนชายขอบ คนจะนึกถึงเด็กที่โหยหาความรักความเมตตา หรือคนที่ยากไร้ แต่สำหรับเรา มันไม่ใช่แค่นั้น คนชายขอบคือเราเอง ทุกคนกลายเป็นคนชายขอบได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร หรืออยู่วงการไหน คุณอาจเจอโมเมนต์ที่ถูกกีดกันได้เสมอ แค่นี้ก็ถือเป็นชายขอบอย่างหนึ่งแล้ว แล้วพวกเราเอง พูดได้ว่าเจอกับสิ่งเหล่านี้มาตลอด ตั้งแต่สมัยเรียน จนถึงช่วงทำงาน

           วรรจธนภูมิ : เราไม่ใช่คนชายขอบที่ยากจน แต่เป็นคนชายขอบที่ถูกกีดกันขากความฝันส่วนตัว ความชอบส่วนตัว ซึ่งไม่เป็นไปตามกรอบที่สังคมกำหนดไว้ มันคือความรู้สึกว่าเราไม่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของบางกลุ่ม หรือบางสังคม เราถูกทรีตแบบนี้บ่อยมากจนเกิดคำถามว่า ทำไมประเทศนี้ สังคมนี้ ถึงได้เก่งในการผลักไสหรือกีดกันคนอื่นจัง พอเราได้มาทำงานแบบนี้ เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ทั้งเรื่องของเขา เรื่องของเรา ไปพร้อมๆ กัน จนถึงที่สุดเราก็พบว่า เฮ้ย กูกับมึงแม่งไม่ต่างกันเลยนี่หว่า

          อย่างตอนทำเรื่อง School Town King เราไม่เคยเจอประสบการณ์ชีวิตแบบเด็กในคลองเตยก็จริง แต่พอคุยไปคุยมา ได้เห็นชีวิตของน้องๆ ที่ถูกตีตรา กีดกัน โดนดูถูกความฝัน ไม่มีใครเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำอยู่คืออะไร กลายเป็นว่า เฮ้ย กูเข้าใจมึงว่ะ เพราะเราเคยเผชิญกับสภาวะแบบนั้นมาเหมือนกัน

          โปรเจกต์ถัดไปที่เรากำลังจะทำ เกี่ยวกับเรื่องของคนเป็นโรคซึมเศร้า นี่เป็นอีกกลุ่มที่คนทั่วไปยังไม่ค่อยเข้าใจ เราอยากเป็นสะพานที่ใช้งานออกแบบและสื่อที่เราทำออกมา เป็นตัวเชื่อมให้คนเกิดความเข้าใจกัน เป้าหมายสูงสุดที่เราอยากเห็น คือสังคมที่มี empathy เข้าใจกัน เห็นใจกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ยิ่งในประเทศเราทุกวันนี้ที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และไม่เป็นประชาธิปไตย มันยิ่งกีดกันคนออกไปเยอะมาก

คุยกับ Eyedropper Fill : เปลี่ยนสังคมด้วยวิชาออกแบบไร้กระบวนท่า

แล้วความยากหรือความท้าทาย ในการนำเสนอประเด็นสังคม ประเด็นคนชายขอบ ด้วยวิธีการแบบที่พวกคุณทำ คืออะไร

          วรรจธนภูมิ : ความยากแรกคือเราไม่ใช่คนทำงานด้านสังคม หมายความว่า กว่าที่เราจะเข้าใจสิ่งนี้ ประเด็นนี้ เราใช้เวลานานมาก ฉะนั้นเราเลยต้องหาความรู้เพิ่มเยอะมาก ซึ่งต้องใช้เวลาและพลังงานเยอะ อีกวิธีที่เราใช้ช่วงหลัง คือหาพาร์ทเนอร์ที่มีความรู้มาช่วยซัพพอร์ตเรา

           ส่วนหนึ่งอาจเป็นปัญหาจากระบบการศึกษาด้วย คือการที่เราต่างคนต่างเรียนกันมาเป็นโหนดๆ เรื่องของใครของมัน ถึงเวลาที่ต้องมาทำงานร่วมกัน เลยไม่ค่อยเข้าใจกัน สมมติเราเป็นดีไซนเนอร์ แต่ไม่เคยมีความเข้าใจหรือตระหนักรู้เรื่องสังคมเลย เวลาไปจับงานที่เกี่ยวกับประเด็นสังคม มันจะผิดฝาผิดตัวไปหมด

          ความยากที่สอง ด้วยวิธีการทำงานของเรา มันเหมือนเป็น custom-made ที่ไม่มีรูปแบบตายตัว เราจะตั้งต้นจากโจทย์ที่ได้รับมาก่อน แล้วค่อยหาวิธีการหรือรูปแบบที่เหมาะกับโจทย์นั้น ฉะนั้นในกระบวนการทำงาน จึงค่อนข้างยากพอสมควรเวลาจะสื่อสารให้คนอื่นฟัง ว่าเรากำลังทำอะไร แล้วมันจะเวิร์คได้ยังไง จะเป็นการทำงานที่ไร้กระบวนท่าประมาณนึง

          อย่างกล่องฟ้าสาง โจทย์ของมันคือการทำนิทรรศการที่พูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พอเราคิดคอนเซ็ปต์ออกมาว่า จะทำนิทรรศการที่อยู่ในกล่อง คนก็งง ไม่เข้าใจว่ามันจะเป็นนิทรรศการได้ยังไง พวก supplier หรือ stakeholder จะเกิดคำถามทันทีว่า แล้วมันจะออกมาเวิร์คได้ยังไง แต่เรารู้  เรานึกออก เรามีขั้นตอนที่ชัดเจนว่าจะทำยังไง ความยากคือการสื่อสารหรืออธิบายให้คนที่ทำงานกับเรา ที่อาจจะชินกับการทำงานแบบตามสูตรเป๊ะๆ ให้เขาเข้าใจ

           นั่นคือความท้าทายที่จากการทำงานที่ผ่านมา แต่ถ้ามองในมุมของคนดูหรือผู้รับสาร วัดจากฟีดแบ็กของงานแต่ละชิ้นที่เราทำออกไป เรากลับรู้สึกว่าคนสมัยนี้ ต้องการอะไรแบบนี้มากขึ้น หลายอย่างที่เราทำ ดูเป็นของใหม่ก็จริง แต่ความใหม่ไม่ได้แปลว่าคนจะไม่เก็ต ในมุมกลับกัน คนทำคอนเทนต์หรือนักออกแบบเองก็ต้องปรับตัวตามโลกด้วย

          นันทวัฒน์ : ความท้าทายสำหรับผม เวลาที่ต้องลงไปทำงานกับชุมชนหรือคนในพื้นที่ บางเรื่องเราก็ต้องระมัดระวังว่าสิ่งที่เราทำ มันคือการไปยัดเยียดอะไรใส่เขาหรือไม่ นี่คือสิ่งที่เรียนรู้จากตอนทำงาน เวลาลงพื้นที่เราจะพยายามถามพี่ๆ ในชุมชนเสมอ ถามว่าความสวยของเขาเป็นยังไง ไม่ใช่ว่าเอาความสวยของเราไปยัดให้เขา แล้วคิดว่าเขาต้องชอบ

          อีกสิ่งที่สังเกตเห็นในช่วงหลังๆ คือมีคนทำสื่อ คนทำคอนเทนต์จำนวนหนึ่งที่เข้าใจประเด็น แต่ไม่เข้าใจเรื่องอุปกรณ์ ไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีหรือเครื่องมือใหม่ๆ ผลคือไม่รู้จะพูดหรือนำเสนอประเด็นนั้นยังไงให้มันเวิร์ค เช่น สมมติคุณทำเรื่องสิทธิมนุษยชน คุณมี awareness เรื่องเมตาเวิร์สมั้ย หรือถ้าคุณจะทำเรื่องการศึกษา คุณมี awareness เรื่องชีวิตที่สองในโลกเสมือนมั้ย อย่างน้อยๆ ต้องรู้ไว้บ้าง เรื่องพวกนี้สำคัญ เพราะถึงที่สุดแล้วเราต้องใช้มัน โลกทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่ปากกากับกระดาษแล้ว

            ความโชคดีของพวกเราคือ เราใช้เวลาสิบปีในการเรียนรู้เครื่องมือต่างๆ ว่ามันใช้ทำอะไรได้บ้าง อะไรเหมาะกับเนื้อหาแบบไหน หรือเวลาเจอโจทย์บางแบบ มันควรใช้สื่อหรือเครื่องมืออะไรมานำเสนอ นั่นอาจเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้เราทำงานได้แบบทุกวันนี้

ในฐานะที่คุณทำงานออกแบบอีเวนต์ นิทรรศการ รวมถึงแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ๆ คุณมองเห็นความท้าทายหรือปัญหาอะไรบ้างในการทำสิ่งเหล่านี้ในประเทศไทย

          วรรจธนภูมิ : เรารู้สึกความสามารถในการ re-define หลายสิ่งหลายอย่างของคนไทย ยังค่อนข้างต่ำ ทำให้เวลาเราจะเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปอะไรบางอย่าง จึงเปลี่ยนค่อนข้างยาก เหมือนมันเป็นวิธีคิดที่ฝังอยู่ในรากวัฒนธรรมของเรา ที่มักจะสงวนบางสิ่งบางอย่างไว้ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง พูดง่ายๆ คือเป็นวิธีคิดแบบ fixed mindset ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาหรือสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่า

          ถ้าเทียบกับห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์ ก็ต้องตั้งคำถามเดียวกันว่า เราจะปรับตัวยังไงให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ จะ re-define ตัวเองยังไงให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนไป ในขณะที่เราหาอ่านทุกอย่างในโลกออนไลน์ได้ ห้องสมุดจะ re-define ตัวเองอย่างไร ถ้าเรานิยามว่าหนังสือคือความรู้ ห้องสมุดก็คือพื้นที่ของความรู้ ซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีแต่หนังสือ แบบนี้เป็นต้น

          นันทวัฒน์ : จริงๆ ถ้าพูดถึงการปรับตัว หรือการเอานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ ฝั่งเอกชนจะเห็นชัด เรามีแกลอรี มีงานหนังสือรูปแบบใหม่ๆ ที่คนสนใจกันเยอะ โดยไม่ต้องมานั่งปลูกฝังให้รักการอ่านกันแบบซ้ำซากแล้ว แต่ในองค์รวมของประเทศ ถ้าพูดถึงแวดวงคนทำงานสร้างสรรค์ เราว่าฝีมือคนไทยไม่น้อยหน้าใครนะ ยิ่งถ้าไม่มีระบบบางอย่างที่กดทับศักยภาพเราไว้ เราจะยิ่งไปไกลกว่านี้

           แต่ถ้าพูดถึงภาครัฐ เราคิดว่าภาครัฐหรือระบบราชการไทย ยังมีความยึดติดกับตัวชี้วัดและกรอบภาษามากเกินไป ซึ่งโคตรจะไม่ resilience เลย ถามว่า resilience คืออะไร มันคือการ reform มันคือการ deconstruct คือการทลายมันลงมา แล้วสร้างสิ่งใหม่บนฐานของสิ่งเก่า เพื่อให้สิ่งนั้นกลายเป็นเวอร์ชั่นใหม่ที่ดีขึ้น ตอบโจทย์ผู้ใช้หรือกลุ่มเป้าหมายของตัวเองได้ดีขึ้น อย่างกรณีสกาล่านี่ยิ่งชัด ที่กรมศิลปากรบอกว่าไม่สงวนไว้ เพราะอายุไม่ถึงร้อยปี หรือบอกว่ายังไม่มีคุณค่ามากพอ อันนี้ก็ไม่รู้จะพูดยังไง เหมือนเขาถูกบังคับให้เป็นหุ่นยนต์ที่ต้องทำตามพจนานุกรมที่เขียนไว้ไม่รู้กี่สิบปีมาแล้ว

           นี่คือตรรกะหรือวิธีคิดที่ฉุดรั้งให้เราไม่ไปไหน ถ้าอยากพัฒนา เราต้องไม่ติดอยู่กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ไม่ติดอยู่กับความเคยชินเดิมๆ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก