เปลี่ยนสนามโรงเรียน เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของคนทุกวัย

16 views
July 14, 2022

เมื่อพูดถึงสวน เรามักจะนึกถึงพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยต้นไม้บรรยากาศร่มรื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคสมัยปัจจุบันที่จะหาพื้นที่ที่สามารถเบียดแทรกการพัฒนาที่ดินในเมืองให้กลายเป็นสวนแทนที่จะเป็นพื้นที่ทางการค้าได้ แต่ยังมีที่ว่างอีกแบบที่ถูกมองข้าม คือสนามของโรงเรียนที่ทั้งใกล้ชุมชน และมีพื้นที่ใช้สอยเหลือเฟือ

เพราะจริงๆ แล้วพื้นที่สาธารณะอาจจะไม่จำเป็นต้องเกิดจากการถางที่ใหม่ หรือจัดสรรแต่พื้นที่โล่งกว้างเสมอไป พื้นที่ในลานโรงเรียน เพียง 2,000 ตารางเมตร (เล็กกว่าสวนลุมพินีเกือบ 300 เท่า) ก็สามารถกลายเป็นสวนใกล้บ้านถ้าได้รับการจัดการที่ดี ผ่านความร่วมมือจากทุกฝ่าย อย่างที่ The Trust for Public Land (TPL) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ทำสำเร็จในหลายๆ พื้นที่ในอเมริกา

โปรเจกต์ ‘Community Schoolyard’ เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นความเป็นไปได้ในการปรับปรุงลานโรงเรียนที่ไม่ได้รับการดูแลให้เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน ที่มีข้อดีชัดเจน ทั้งงบประมาณในการทำสวนลดลง เพราะการปรับปรุงจากพื้นที่ที่มีอยู่เดิมจะช่วยให้ประหยัดงบประมาณได้มากกว่าการจัดสรรพื้นที่เพื่อสร้างสวนขึ้นมาใหม่จากศูนย์ และความสะดวกในการเข้าถึง เพราะโรงเรียนเป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญของเมืองที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ชุมชนต่างๆ อยู่แล้ว การเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานและขยายเวลาเปิด-ปิดเพียงเล็กน้อย ก็ช่วยทำให้เกิดสวนใกล้บ้าน เดินทางสะดวก รองรับการทำกิจกรรมต่างๆ สำหรับทุกเพศทุกวัย เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

โมเดลนี้น่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อผลของความสำเร็จไม่ได้ตกอยู่กับชุมชนใดชุมชนหนึ่งเท่านั้น แต่ขยายวงกว้างในฐานะต้นแบบที่ช่วยร่นระยะห่างระหว่างพื้นที่สีเขียวกับผู้คนได้ราว 20 ล้านคนและเด็ก 5.2 ล้านคน ที่ยังไม่มีสวนใกล้บ้านในสหรัฐอเมริกา และยังไม่รวมประเทศอื่นๆ ที่สามารถนำแนวความคิดนี้ไปปรับใช้ได้อีกในอนาคต

เปลี่ยนสนามโรงเรียน เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของคนทุกวัย
Photo: Trust for Public Land

ถอดกระบวนการ เปลี่ยนสนามหน้าโรงเรียนให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ

แม้ผลลัพธ์สุดท้ายของกระบวนการเปลี่ยนลานโรงเรียนเป็นสวนจะออกมาในรูปแบบ Landscape ใหม่ที่มีสีสันสดใสกับต้นไม้น้อยใหญ่น่าใช้งาน ทว่าหัวใจของการเปลี่ยนลานโรงเรียนนี้กลับไม่ได้เริ่มที่การออกแบบ แต่เริ่มจากการมีส่วนร่วมของผู้คน

กระบวนการของโปรเจกต์นี้ ตั้งต้นจากการขออนุมัติทำโครงการกับเจ้าหน้าที่ประจำท้องถิ่น รวบรวมทีมงานที่มีทั้งคนจาก TPL ตัวแทนจากโรงเรียน ครู-นักเรียน ผู้ปกครอง คนในชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ อย่างเข้มข้น ในช่วง 10 ขั้นตอนแรกจาก 24 ขั้นตอนตามไกด์ไลน์ของ TPL เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและจัดทำ Proposal หาทุนสำหรับการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะจากทั้งรัฐบาลและเอกชน

เมื่อถึงขั้นตอนการออกแบบ ก็ไม่ได้เป็นแค่การส่งต่อบรีฟให้ภูมิสถาปนิกทำงานเพียงลำพังเท่านั้น แต่ยังมีเหล่านักเรียนตัวน้อยในโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความต้องการ ออกความคิดเห็นในการคัดเลือกองค์ประกอบต่างๆ ที่จะถูกนำมาวางในพื้นที่ใหม่ให้เหมาะสมกับงบประมาณที่ได้รับเสมอ

ในขณะที่ภูมิสถาปนิกจะทำหน้าที่วางผัง เพื่อเปลี่ยนลานโรงเรียนลาดยางมะตอยแห้งแล้ง เวิ้งว้าง ที่ถูกนิยามว่าเป็นเหมือน Heat Island แผ่นพื้นขนาดใหญ่ที่ดูดซับและกักความร้อนจากดวงอาทิตย์เอาไว้จนเกิดมลภาวะทั้งเรื่องอุณหภูมิ เสียง และการมองเห็น ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ให้กลายเป็นสวนเขียวด้วยการออกแบบจัดวางต้นไม้ โดยเน้นไม้โตเร็ว ทรงพุ่มแผ่เพื่อเพิ่มร่มเงาปกคลุมพื้นที่และลดอุณหภูมิ ทำให้เกิดความเย็นสบายมากขึ้น ร่วมกับพุ่มไม้ดอกช่วยสร้างเสริมความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก และระบบบริหารจัดการน้ำฝนที่ช่วยลดน้ำท่วมขังในช่วงที่มีพายุ

และเมื่อแบบเสร็จแล้วก็ไม่ได้จบเพียงแค่บนโต๊ะของภูมิสถาปนิกเท่านั้น แต่จะมีการนำเสนอให้ทุกคนในชุมชนได้ร่วมกันพิจารณาข้อดีข้อเสีย ปรับแก้กันในหลายขั้นตอนก่อนจะนำไปสู่การก่อสร้างจริง

เปลี่ยนสนามโรงเรียน เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของคนทุกวัย
Photo: Trust for Public Land

ตัวอย่างจริงที่โรงเรียน Sussex Avenue

โรงเรียน Sussex Avenue เมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์มีลานโรงเรียนสีเขียวขนาดครึ่งเอเคอร์หรือประมาณ 2,000 ตารางเมตรที่ออกแบบขึ้นใหม่ด้วยความร่วมมือระหว่างนักเรียนทุกระดับชั้นร่วมกับ Heidi Cohen, ASLA ภูมิสถาปนิกที่แท็กทีมทำงานกับ TPL โดยมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 4 ทำงานใกล้ชิดทีมนักออกแบบเป็นพิเศษ

ทั้งทีมได้ร่วมกันแปลงโฉมลานโรงเรียนที่ถูกลาดด้วยยางมะตอยและมีพื้นที่กิจกรรมเดียวคือ ห่วงบาสเบี้ยวๆ ไปสู่พื้นที่สวนแบบใหม่ที่มีสนามหญ้าสีเขียว ลู่วิ่ง ต้นไม้และพุ่มไม้ดอก น้ำพุดื่มได้ ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็จะมีฟังก์ชันที่แตกต่างกันไป บางที่ก็เติมที่นั่งหินแกรนิตที่กลายเป็นห้องเรียนกลางแจ้งเข้าไปด้วยเช่นกัน

ภายหลังจากการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ตอบโจทย์การใช้งานอย่างตรงตามวัตถุประสงค์และมีความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากผลลัพธ์ทางกายภาพที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของโรงเรียนอีกด้วย โดยรัฐได้พิจารณานำชื่อโรงเรียน Sussex Avenue ออกจากรายชื่อโรงเรียนที่มีความเสี่ยง เป็นอีกความสำเร็จในการการพัฒนา เปลี่ยนแปลงโรงเรียนในครั้งนี้

ดาร์ลีน เกียร์ฮาร์ต (Darleen Gearhart) อดีตครูใหญ่ที่อยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่แบบเดิมไปสู่พื้นที่ใหม่เสริมให้ฟังว่า การได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพที่เกิดขึ้นจริงนั้นเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก แต่สิ่งที่น่ายินดียิ่งกว่าคือ สิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาอย่างการสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับเด็ก เธอบอกว่า เมื่อเราสามารถสร้างสนามและสิ่งแวดล้อมที่เด็กสามารถล้มและเด้งกลับขึ้นมายืนได้ใหม่ มันจะเปลี่ยนชีวิตของเด็ก เพราะเด็กจะรู้สึกปลอดภัย มั่นใจมากขึ้น เหมือนได้รับการประคองสนับสนุนเสมอ

นอกจากนั้นยังเชื่อว่าสวนใหม่แห่งนี้จะสามารถช่วยเปลี่ยนคุณภาพชีวิตผู้คนอีกมากมายในหลายระดับด้วย ตัวอย่างเช่น

ปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ

Community Schoolyard เป็นอีกหนึ่งโครงการพื้นที่สีเขียวที่กระจายเป็นปอดในแต่ละชุมชนให้ผู้คนได้มีอากาศที่ดีและสะอาดมากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาสภาวะอากาศได้ดี นอกจากนั้นยังช่วยตั้งรับความแปรปรวนของสภาพอากาศ ที่ในปัจจุบันทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี จนกลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ละเลยไม่ได้ การปรับปรุง Schoolyard ในหลายๆ พื้นที่จึงมีการเพิ่มเติมพื้นที่รับน้ำฝน และกักเก็บน้ำไว้ใช้ โดยโรงเรียนหนึ่งในนิวยอร์กที่ร่วมโครงการ เคยเก็บน้ำฝนได้ถึง 19 ล้านแกลลอนเลยทีเดียว

มลภาวะทางเสียงก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่เมืองขยายตัวออกไปทุกที จนพื้นที่ที่ไม่ควรจะอยู่ใกล้กันอย่างทางซูเปอร์ไฮเวย์กับโรงเรียนก็ต้องมาอยู่ข้างกัน การปรับปรุงพื้นสวนด้วยการเติมต้นไม้เข้าไป ทั้งไม้ใหญ่และไม้พุ่มดอกนอกจากจะสร้างสภาพแวดล้อมที่สบายตาแล้วยังช่วยลดมลพิษทางเสียง โดยทำหน้าที่เป็นส่วนดูดซับเสียง และเป็นพื้นกั้นกลางระหว่างเสียงดังของการจราจรกับพื้นที่ภายในโรงเรียน ที่จะลดการรบกวนจากมลภาวะทางเสียงได้มากขึ้น

ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะและอากาศที่ดี

การมีพื้นที่สวนในแต่ละชุมชนไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของความสะดวกสบายในการเข้าถึงเท่านั้น แต่ในอีกมุมหนึ่งมันเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และเชื้อชาติ เพราะจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Climate เมื่อปี 2020 พบว่ารายได้ต่อครัวเรือนนั้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงจากการได้รับความร้อนในแต่ละพื้นที่ โดยในโรงเรียนของคนผิวสีหรือฮิสเแปนิกที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนราว 31,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ จะมีอุณหภูมิสูงกว่าโรงเรียนคนผิวขาวที่มีรายได้เฉลี่ย 59,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อครัวเรือน อยู่ประมาณ 4.6°F เพราะขาดแคลนต้นไม้ริมถนนและสวนสาธารณะ

และน่าตกใจเข้าไปอีกเมื่อพบว่าใน 100 เมือง ที่เป็นโซนละแวกบ้านของชุมชนคนผิวสี คนในชุมชนมีโอกาสเข้าถึงพื้นที่สาธารณะโดยเฉลี่ยน้อยกว่าค่าเฉลี่ยกลางถึง 44 เปอร์เซ็นต์ การมีพื้นที่สวนสาธารณะในรูปแบบ Community Schoolyard จึงจะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้ปัจจัยด้านรายได้และโซนอยู่อาศัยไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพื้นที่สีเขียว

ดีต่อสุขภาพของคนในชุมชน

นอกจากการพักผ่อนและนันทนาการแล้ว การมีสวนยังส่งผลโดยตรงกับสุขภาพของคนในชุมชนอีกด้วย จากการสังเกตและเก็บข้อมูลพบว่าชุมชนที่เข้าถึงสวนได้ง่ายจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และโรคอ้วนได้ เพราะสวนใกล้บ้านที่ร่นระยะการเดินทาง และประหยัดเวลาจะช่วยดึงดูดให้คนตัดสินใจไปออกกำลังกายง่ายมากขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพกาย และส่วนสุขภาพใจ พื้นที่สีเขียวเองก็ช่วยลดความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงานและการใช้ชีวิตในโลกที่เร่งรีบด้วยเช่นกัน

เปลี่ยนสนามโรงเรียน เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของคนทุกวัย
Photo: Trust for Public Land

เปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชน

จากการสำรวจของ TPL คุณครูในหลายๆ โรงเรียนให้สัมภาษณ์ตรงกันเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมของนักเรียนที่เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมว่าในช่วงที่ลานโรงเรียน ยังเป็นที่ว่างโล่งขนาดใหญ่ไร้ร่มเงาและพื้นที่ทำกิจกรรมที่หลากหลาย สภาพแวดล้อมเช่นนี้ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การบูลลี่ หรือการชกต่อยทะเลาะวิวาทของนักเรียนได้มากกว่า เพราะพื้นที่เอื้อให้เกิดการรวมกลุ่ม แต่ไม่มีกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ให้โฟกัส

ภายหลังจากการปรับปรุงพื้นที่ลานโรงเรียนพบว่า พฤติกรรมรุนแรงของนักเรียนลดลง ในบางโรงเรียนมีอัตราการลงโทษทางวินัยลดลงถึงศูนย์ เพราะนักเรียนได้พื้นที่เรียนรู้ใหม่ๆ ไปจนถึงพื้นที่สงบใจที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษในสวนให้ได้เบรกตอนที่เครียดหรือมีเรื่องกังวลใจ นอกจากนั้นการมีสวนยังช่วยให้เกิดการรวมกลุ่มเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น เช่น การตั้ง Green Team ที่สมาชิกรวมตัวกันเพื่อคอยดูแลและพัฒนาสวนของโรงเรียน โดยเริ่มจากสมาชิกไม่ถึง 10 ก่อนจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็น 40 คน ซึ่งเปิดโอกาสให้ครูได้พูดคุยกับนักเรียนอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มที่มีปัญหา นอกจากนั้นการดูแลสวนยังช่วยให้เด็กได้สัมผัสประสบการณ์และเข้าใจความหมายของการรับผิดชอบชีวิตอีกชีวิตหนึ่งด้วย

เรียนรู้ได้ดีขึ้น

นอกเหนือไปจากผลลัพธ์ที่เกิดในการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมแล้ว การปรับปรุงลานโรงเรียนให้เป็นสวนยังส่งผลโดยตรงต่อผลการเรียนและการเข้าถึงการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ

TPL พบว่า 36% ของนักเรียนในโรงเรียนรัฐ 50.8 ล้านคนต้องเจอภาวะ Heat Island ในโรงเรียนซึ่งมีอุณหภูมิมากกว่าค่าเฉลี่ยของเมืองที่ 1.25 องศา และอีก 1.1 ล้านคน ที่ต้องพบกับความต่างอุณหภูมิถึง 10-20 องศา ซึ่งอุณหภูมิที่แตกต่างกันนี้ มีผลทั้งในทางตรงต่อร่างกายของเด็กที่ทนความร้อนได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ และมีผลทางอ้อมเกี่ยวการเรียน อ้างอิงจากรายงานของ the Harvard Kennedy School, the College Board ปี 2018 หัวข้อ Evidence that cumulative heat hurts cognitive development. ที่สำรวจและเก็บข้อมูลปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการสอบ PSAT ของนักเรียนชั้นม.ปลาย พบว่าความต่างของอุณหภูมิสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียนที่เข้าสอบ โดยนักเรียนที่เรียนโรงเรียนรัฐในย่านชุมชนรายได้น้อยและมีอุณหภูมิสูงกว่าจะเสียเปรียบมากกว่า เพราะความร้อนรบกวนทั้งสมาธิ และส่งผลกับอารมณ์

ส่วนกรณีศึกษาโรงเรียน Sussex Avenue พบว่าหลังปรับปรุงทำพื้นที่สวนใหม่ อัตราการเข้าร่วมชั้นเรียนเพิ่มขึ้นจาก 90% เป็น 96% ในทันที และผลคะแนนสอบในหมู่นักเรียน 500 คนก็เพิ่มขึ้น 95% ของนักเรียนจำนวนนี้ที่คะแนนถึงเกณฑ์ ก็ได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มเติมเป็นอาหารกลางวันฟรี หรือส่วนลดค่าอาหารอีกด้วย

และสุดท้ายผลพลอยได้ที่เด็กได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโปรเจกต์นี้ คือการได้ใช้สิทธิ์ออกเสียงแสดงความคิดเห็นของตัวเองตั้งแต่ยังอายุน้อย ที่จะช่วยสร้างเสริมพื้นฐานความมั่นใจให้กับเด็ก สร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิหน้าที่ที่พลเมือง และเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้กระบวนการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตย ที่สามารถเรียกร้องให้เกิดสิ่งที่จำเป็นและเหมาะสมต่อชุมชน เพื่อนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่ดี โดยไม่ตกอยู่ในภาวะจำยอม รอนโยบายแบบ Top Down จากรัฐเพียงเท่านั้น

จากการสำรวจไอเดียตั้งต้น วิธีการที่นำไปสู่เป้าหมาย และผลลัพธ์ที่ได้จากบทเรียนของ Community Schoolyard โดย TPL เราเชื่อว่าโมเดลนี้จะสามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้เช่นกัน เพราะยังมีพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างอีกจำนวนมาก ทั้งที่ว่างของโรงเรียนนอกเหนือเวลาเรียน และพื้นที่ว่างในรูปแบบอื่นกระจายตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร รอการเข้าไปสำรวจและปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน

เปลี่ยนสนามโรงเรียน เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของคนทุกวัย
Photo: Trust for Public Land


ที่มา

บทความ “The Incredible Opportunity of Community Schoolyards” จาก archdaily.com (Online)

บทความ “The Incredible Opportunity of Community Schoolyards” จาก dirt.asla.org (Online)


Facebook Post Click

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก