จนถึงวันนี้ ใครที่มีภาพจำหน่วยงานอย่าง กศน. ว่าเป็นองค์กรรัฐที่ทำเรื่องการศึกษานอกโรงเรียน ควรต้องคิดใหม่ เพราะภารกิจของ กศน. ไม่ได้มีเพียงแค่การส่งเสริมสนับสนุนให้คนรักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้มีโอกาสทางการศึกษาทัดเทียมกับคนอื่นเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน การส่งเสริมอาชีพ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทั้งประเทศ อีกด้วย
ภารกิจอันใหญ่โตกว้างขวางเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่หน่วยงานเพียงแห่งเดียวจะสามารถดำเนินการได้เองทั้งหมด มีเพียงหนทางเดียวคือจะต้องทำงานแบบเครือข่ายและสร้างการมีส่วนร่วม บวกกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้มากที่สุด เพื่อทลายข้อจำกัดและอุปสรรคทุกประเภท
จึงกล่าวได้ว่า การทำงานแบบเครือข่าย เน้นสร้างการมีส่วนร่วม และตระหนักในพลังของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้กลายเป็นดีเอ็นเอของคน กศน. ไปโดยปริยาย
ทิพวรรณ เตียงธวัช ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน. จังหวัดเชียงใหม่ บอกเล่าเรื่องราวการทำงานของ กศน. ในระดับจังหวัด ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะการทำงานของหน่วยงานนี้ในภาพใหญ่ระดับประเทศ แม้ว่าแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่จะมีประเด็นปัญหาปลีกย่อยแตกต่างกัน และจำเป็นต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน
แต่ใช่หรือไม่ว่า ถ้ายึดกุมแนวทางที่สำคัญ 3 ข้อ คือ ทำงานแบบเครือข่าย สร้างการมีส่วนร่วม และใช้ความคิดสร้างสรรค์ ต่อให้มีปัญหาใหญ่โตและหลากหลายเพียงใด ก็ย่อมทุเลาคลี่คลายลงไปได้ และสามารถบรรลุผลลัพธ์ที่คาดหวังได้ไม่มากก็น้อย