‘ป๊อป ยอดนักขาย’ ชายผู้ใช้เสียงสร้างสีสันให้งานหนังสือ

1,433 views
8 mins
April 5, 2023

          ทุกครั้งเวลามีงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ หรือสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ใครที่ผ่านไปยังบูธ ‘สำนักพิมพ์ยิปซี’ (GYPZY Publishing) ก็มักจะพบกับป้ายแบ็กดร็อปสุดอลังการ กองหนังสือแนวประวัติศาสตร์ที่ถูกจัดเรียงเป็นชั้นสวยงามราวกับงานศิลปะ รวมถึงของที่ระลึกเท่ๆ อวดโฉมล่อตายั่วใจให้หยิบฉวย

          แน่นอนที่สุดที่จะขาดไปไม่ได้คือ ‘ป๊อป ยอดนักขาย’ ชายในชุดเครื่องแบบทหารญี่ปุ่น (บางวันก็ชุดนักดาบซามูไร) ผู้ยืนเด่นเป็นสง่าบนเคาน์เตอร์ สายตาแน่วแน่กราดมองไปทั่วดุจแม่ทัพกำลังประเมินสถานการณ์ในสนามรบ หากแต่นี่คืองานหนังสือ และเขากำลังเตรียมตัว ‘โฟน’ เพื่อขายหนังสือของสำนักพิมพ์ยิปซีอีกในไม่ช้า 

          ‘ชิตพล จันสด’ หรือ ‘ป๊อป’ คือผู้จัดการฝ่ายขายของสำนักพิมพ์ยิปซี เจ้าของร่างเล็กกำยำ ปราดเปรียวและคึกเหมือนม้าหนุ่ม คาแรคเตอร์อารมณ์ดี ฮากลิ้ง เสียงดังฟังชัด เอกลักษณ์ของป๊อปที่แฟนคลับยิปซีและผู้คนในวงการหนังสือเห็นกันจนชินตาก็คือ การแต่งชุดคอสเพลย์ตะโกนขายหนังสือ ลีลาท่าทางเปี่ยมล้นด้วยเอเนอร์จี เสียงดังยิ่งกว่าลำโพง จังหวะจะโคนในการพูดสะกดให้คนหยุดนิ่งก่อนตัดสินใจควักเงินซื้อราวกับต้องมนต์สะกด พูดง่ายๆ ว่า ลองได้ขึ้นตะโกนขายเมื่อไร หนังสือกองใหญ่ก็หายวับไปเมื่อนั้น

          บ้างมองว่าเขาคือผู้สร้างสีสันให้งานหนังสือ แต่หลายคนก็อาจส่ายหัวด้วยความรำคาญใจ วันนี้เราจึงอยากชวนไปสนทนากับชิตพลถึงตัวตนที่แท้จริงว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน ร่ำเรียนวิชาการพูดการจามาอย่างไรถึงได้ฉายา ‘ป๊อป ยอดนักขาย’ คิดยังไงกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และในฐานะคนขายหนังสือมานานนับสิบปี เขามองงานหนังสือเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

‘ป๊อป ยอดนักขาย’ ชายผู้ใช้เสียงสร้างสีสันให้งานหนังสือ
Photo : อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

เล่าให้ฟังหน่อย ชีวิตวัยเด็กของคุณเป็นอย่างไร

          พื้นเพผมเป็นคนภูไท เกิดที่อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ครอบครัวทำอาชีพค้าขาย สมัยเด็กๆ ผมจะตื่นตั้งแต่ตีสาม อาบน้ำ เพื่อตามพ่อไปลงตลาดเช้า พ่อขายของสารพัด ทั้งผ้านวม ถังน้ำมัน กระเทียม เต็นท์ผ้าใบ พอขายเสร็จพ่อจะพามาส่งบ้าน เราก็แต่งตัวไปโรงเรียนต่อ บางทีวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือช่วงปิดเทอม พ่อจะพาขับรถกระบะติดลำโพงไปตระเวนขายตามหมู่บ้าน ตามตลาดนัด 

          ชีวิตวัยเด็กผมก็จะประมาณนี้ การขายมันอยู่ในสายเลือดมานานแล้ว

แล้วได้ทักษะการพูดมาจากไหน

          ผมเป็นเด็กที่ชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่ประถม เชิญธงชาติ นำสวดมนต์ ขึ้นไปกล่าวคำปฏิญาณ ได้รับเลือกให้เป็นประธานนักเรียนตั้งแต่ ป.6 พอขึ้นชั้นมัธยมก็ได้เป็นหัวหน้าห้องมาตลอด เรามีภาวะผู้นำมาตั้งแต่เด็กแล้ว เป็นหัวโจกของกลุ่ม ชอบชวนเพื่อนไปเที่ยวภูกระดึง ตั้งแคมป์ จัดค่ายอาสา ลงพื้นที่ชุมชน 

          ตอนนั้นแรงบันดาลใจคือ เราอยากจะช่วยเหลือสังคม อยากพัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น พอคิดอย่างนั้น ม.รามคำแหงมันก็โผล่ขึ้นมาในสมอง —  เฮ้ย เราต้องเรียนสายนี้ว่ะ มันตอบโจทย์เรา เรียนจบรัฐศาสตร์แล้วสอบเป็นปลัดอำเภอ ความฝันตอนนั้นนี่อยากเป็นนายกรัฐมนตรีเลยนะ (หัวเราะ) สุดท้ายเลยตัดสินใจเลือกคณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ พอเข้าปีหนึ่งก็ได้เป็นประธานซุ้มเรณูนคร ทำกิจกรรมมาตลอด รวมกลุ่มกันไปบริจาคเสื้อกันหนาว ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทำหนังสือขอเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ เปิดหมวกร้องเพลงเรี่ยไรเงินตามสะพานลอยก็ทำมาแล้ว

          ชีวิตที่รามฯ ผมเน้นทำกิจกรรมมากกว่าเข้าห้องเรียน เวลามีสอบก็ไปสอบปกติ อาศัยพึ่งชีทรามเอา (หัวเราะ) ชีทรามก็คือหนังสือเรียนนี่แหละแต่เป็นเอกสาร ขีดไฮไลท์กันจนเปื่อย เด็กรามจะรู้กันดี แต่ถึงอย่างนั้นงานการก็ไม่ได้ทิ้งนะ มาอยู่กรุงเทพฯ ก็ยังทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย

‘ป๊อป ยอดนักขาย’ ชายผู้ใช้เสียงสร้างสีสันให้งานหนังสือ
Photo : อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

ตอนนั้นทำงานอะไร

          น้าชายชวนไปทำงานพาร์ตไทม์ที่บริษัท VM Cosmetic ขายเครื่องสำอางแบรนด์ดังๆ ในสมัยนั้น เช่น Mistine, AVON, ARON, Cute Press, Lafrancais ครั้งแรกไปขายที่ห้างอิมพีเรียล สำโรง วันหยุดเสาร์อาทิตย์มักจะมีสาวโรงงาน สาวพม่ามาซื้อของไปแต่งสวยกัน เราเป็นเด็กบ้านนอกไง มาแบบใสกิ๊งเลย เคยขายของที่บ้านนอกก็จริง แต่มาเดินในห้างกรุงเทพฯ นี่กลัวคนจนขาสั่นไปหมด เขาเรียกเก่งจากบ้านนอกมาเป็นขี้ครอกในกรุง (หัวเราะ) 

          ร้านที่ไปขายเป็นร้านเล็กๆ ของอาเฮียคนหนึ่ง อยู่ในซอกหลืบ เงียบมาก ดูทรงแล้วถ้าไม่เรียกลูกค้าคงไม่มีใครเข้าร้านแน่ๆ เราก็ตะโกนเลย พูดง่ายๆ ว่าเสียงดังไว้ก่อน (หัวเราะ) เอ้า มาแล้วครับวันนี้ อะไรก็ว่าไป เสียงดังเข้าไว้แล้วค่อยเล่ารายละเอียดของสินค้า เราไม่ใช่เอ็มซี เอ็มซีเขาแนะนำสินค้า แต่นี่คือการเปล่งเสียงดังๆ ออกไปเพื่อให้คนได้ยินเรา เป็นเอกลักษณ์ของการขายเครื่องสำอางในยุคนั้นเลย 

          พอโฟนออกไปแล้วคนเล่นด้วย ความมั่นใจมันก็เกิด คนเริ่มเดินเข้ามามุงต่อแถวสั่งสินค้าที่เราพรีเซนต์ออกไป เราก็โฟนไม่หยุด เพราะเห็นชัดว่าเวลายืนขายเฉยๆ มักจะไม่มีคน แต่เวลาโฟนเรียกลูกค้า คนจะเดินมาจากไหนไม่รู้เต็มไปหมด จนเกิดปรากฏการณ์ที่สาวๆ มายืนต่อแถวรอว่า ไอ้หนุ่มขายเครื่องสำอางคนนี้มันจะออกมาตอนไหน (หัวเราะ)

ได้วิชา ‘โฟน’ ขายของมาจากไหน

          น้าชายผมเองครับ ผมนับถือเป็นอาจารย์คนที่สองรองจากพ่อเลย แกพูดเก่งมาก พูดฟ้าแลบไฟไหม้เลยแหละ ขายเก่งจนขึ้นทำเนียบนักขายดีเด่น ได้ไปเที่ยวยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น ประกาศนียบัตร โล่รางวัลนี่วางโชว์เต็มบ้าน

          แกชอบโฟนเรียกลูกค้า คนก็จะเข้ามารุมซื้อเครื่องสำอาง ผมเป็นมือขวาน้าไงก็อาศัยครูพักลักจำ เวลาน้าไม่อยู่เราก็ขึ้นโฟนแทน ครีมนี้ เครื่องสำอางนี้ดียังไง ปรับผิวขาว กันแดดนาน 8 ชั่วโมง ฉีดน้ำหอมตัวนี้แล้วสาวรักสาวหลง โม้ไปเรื่อย (หัวเราะ) 

          ประโยคที่ต้องมีในการขาย ห้ามลืมเด็ดขาดก็เช่น ‘โปรโมชันพิเศษ’ ‘ลดมากที่สุด’ ‘ขายถูกที่สุดในประเทศไทย’ ‘ขายดีอันดับหนึ่ง’ ‘ไม่มีอีกแล้ว’ ‘หมดแล้วหมดเลย’ คำพวกนี้มันมีมาตั้งแต่อดีต ทุกวันนี้ก็ยังใช้ได้ผล

‘ป๊อป ยอดนักขาย’ ชายผู้ใช้เสียงสร้างสีสันให้งานหนังสือ
Photo : อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

นอกจากขายเครื่องสำอาง เคยขายอะไรอีกบ้าง

          สมัยนั้นชีวิตวนๆ เวียนๆ อยู่แถวรามคำแหง หน้ารามบ้าง หลังรามบ้าง ก็ไปเอากางเกงยีนส์ เสื้อ รองเท้าจากตลาดโบ๊เบ๊ ใส่เป้สะพายหลังมาวางขายตามป้ายรถเมล์ ขายซีดีเถื่อนจนโดนตำรวจจับขังคุกคืนหนึ่งก็เคยมาแล้ว 

          ผมเป็นคนอยู่ว่างไม่ได้ พอเลิกขายก็ไปรับจ้างยืนแจกใบปลิวตามสะพานลอยได้เงินวันละ 200 บาท ช่วงเลือกตั้งส.ส. หนหนึ่งก็เคยเป็นหัวหน้าทีมแจกใบปลิว เดินสายหาเสียงตามที่ต่างๆ ลูกพี่เขาเห็นเราเป็นคนขี้โม้ พูดเก่ง เป็นจ่าฝูง ก็บอก เฮ้ย ไหนมึงลองจับไมโครโฟนดูดิ๊ ก็เลยกลายเป็นป๊อปที่จับไมโครโฟนแล้วสามารถโฟนในตลาดเช้าได้ โฟนในที่นี้หมายถึงปราศรัย ไฮด์ปาร์ก สมัยนั้นเราพูดทุกที่ที่ไปเลย

ตั้งแต่พนักงานขายเครื่องสำอาง พ่อค้าแบกะดิน คนแจกใบปลิว จนถึงทีมเดินหาเสียงพรรคการเมือง คุณได้บทเรียนอะไรจากการเป็นนักขายข้างถนนบ้าง

          เราสู้ชีวิตกับการแบกเป้ เอาเสื้อผ้า กางเกง รองเท้าไปขายแบกะดิน เป็นงานที่ท้าทายเรามาก สอนเราทุกวัน ข้อสำคัญคือมันให้ชีวิตกับเรา ทำให้มีรายได้ มีกินมีใช้ สอนให้เรารู้จักการพูดกับคนแปลกหน้า ทำให้เราไม่กลัวที่จะขาย และทุกครั้งเวลาโดนปฏิเสธ โดนไล่ โดนจับ มันก็ทำให้เราอึดขึ้น เข้มแข็งขึ้น ใจกล้าขึ้น

          ความโชกโชนสมัยที่ขายอยู่ข้างถนนมันหล่อหลอมให้เราเป็นนักต่อสู้

เข้ามาร่วมงานกับสำนักพิมพ์ยิปซีได้ยังไง

          ปี 2548-2549 ผมทำงานอยู่ร้านถ่ายเอกสารในม.รามฯ วันหนึ่งรุ่นพี่แนะนำให้รู้จักกับพี่ชารีฟ (คธาวุฒิ เกนุ้ย กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ยิปซี) แกชวนมาขายหนังสือ ตอนนั้นยังไม่เปิดสำนักพิมพ์ยิปซีเลย พี่ชารีฟเป็นเจ้าของร้านหนังสือเร่ชื่อ ‘บุ๊กเกอร์รี’ (Bookery) ออกบูธขายหนังสือทั่วไป หนังสือมือสอง ช่วงแรกผมยังเป็นมือปืนรับจ้างอยู่ ก็มาช่วยขายเป็นบางครั้ง แกก็จะไปหย่อนทิ้งไว้ตามตลาดนัด เราก็ไปจัดบูธ ยืนขายหนังสือ

          ช่วงแรกยังไม่กล้าโฟนเท่าไหร่ เพราะเรามีความเชื่อฝังหัวว่าการขายหนังสือมันต้องขายเงียบๆ เหมือนเวลาเข้าร้านหนังสือ ลองนึกดูสิ บรรยากาศมันเงียบมาก เสียงดังไม่ได้เลย เดี๋ยวคนเขารำคาญ จุดเปลี่ยนคือตอนไปออกบูธขายหนังสือที่ ม.นเรศวร พิษณุโลก เราก็ตะโกนออกไปว่า หนังสือดีๆ มาแล้ว อะไรก็ว่าไป ตอนนั้นตื่นคนมาก เขิน นักศึกษาสวยๆ เยอะ (หัวเราะ) พอเราโฟน เด็กมันมารุมซื้อเลย พอยอดขายมันพุ่ง เราก็มั่นใจแล้วว่าหนังสือมันโฟนได้นี่หว่า

          หลังจากจบงานหนังสือที่ม.นเรศวร พี่ชารีฟคงคิดว่าถ้าได้ไอ้หนุ่มน้อยคนนี้มาทำงานด้วยก็น่าจะดี แกเลยส่งผมไปขายตามต่างจังหวัด งานกาชาด งานวัด งานแข่งเรือ งานเกษตร การโฟนที่ต่างจังหวัดมันเป็นปรากฏการณ์ใหม่เลยนะ นึกออกไหม งานกาชาด งานวัดคนเยอะอยู่แล้วไง พอเราตะโกน คนก็มามุงดูเยอะ บูธเราคนเต็มไปหมด เขาคงคิดว่าไอ้ผู้ชายพวกนี้มายืนตะโกนขายหนังสือทำไมวะ (หัวเราะ)  

          นึกถึงสมัยก่อนแล้วก็รู้สึกว่าสู้ชีวิตเหมือนกันนะ ต้องกางเต็นท์นอนบนสนามหญ้า เพราะส่วนใหญ่เป็นงานกลางคืน แถมโรงแรมก็อยู่ไกล ตอนนั้นเราไปหลายจังหวัดเลย ขับรถกับเพื่อนสองสามคน ขนหนังสือไปเต็มกระบะ บางคืนขายดีมากๆ พี่ชารีฟต้องขับรถกลับกรุงเทพฯ ไปเอาหนังสือมาเติม

‘ป๊อป ยอดนักขาย’ ชายผู้ใช้เสียงสร้างสีสันให้งานหนังสือ
Photo : อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

ขายหนังสือมีความยาก ง่าย หรือท้าทายกว่าขายสินค้าอื่นๆ ยังไง

          สมัยวัยรุ่นเราก็เป็นคนอ่านหนังสือ แต่ไม่ได้อ่านจ๋าถึงขนาดเรียกตัวเองว่าเป็นหนอนหนังสือ พอเราเข้ามาอยู่ในวงการหนังสือ ทำหน้าที่ขายหนังสือ สถานการณ์มันก็บังคับว่า เฮ้ย เราต้องรู้เพื่อที่จะสื่อสารกับนักอ่าน โอเค เราอาจจะรู้ไม่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยเราต้องทำการบ้าน ทำการบ้านหมายความว่าต้องอ่าน อ่านเท่าที่เราพอจะจับใจความได้ แน่นอนว่าหนังสือมันดีอยู่แล้ว แต่หน้าที่เราคือการเล่าว่ามันมีอะไรน่าสนใจในหนังสือเล่มนี้ที่คุณจะต้องตัดสินใจซื้อ ดึงจุดเด่นหนังสือออกมาเล่าสตอรีคร่าวๆ เพื่อให้เขาได้รู้ว่าเล่มนี้มันดียังไง

          ยกตัวอย่างการขายหนังสือประวัติศาสตร์โลก ตั้งแต่สมัยยุคกำเนิดอารยธรรม ยุคหิน ยุคกำเนิดศาสนา สงครามครูเสด สงครามโลก เราก็พอจะจับประเด็นได้ เล่าใจความสำคัญได้ เพราะอ่านมาแล้ว คนก็ตัดสินใจซื้อแล้วเขาก็ไปอ่านกันต่อเอง เขาไม่ได้อยากจะฟังเราเล่าเรื่องหมดทั้งเล่มหรอก จริงไหม แค่อยากรู้ว่าเล่มนี้มันมีเนื้อหาประมาณไหน น่าสนใจยังไง เดี๋ยวเขาไปอ่านต่อเอาเอง

จำได้ไหมว่าวันแรกที่ตะโกนขายในงานหนังสือ บรรยากาศเป็นอย่างไร

          อย่างที่บอกคือเรามีความเข้มแข็ง อดทน กล้าหาญมาระดับหนึ่งแล้วจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พอมาอยู่ในสนามใหญ่ เราก็โฟนปกติ แน่นอนว่ามันต้องมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บ้าง เพราะงานหนังสือเขาจัดกันมาเป็นสิบปี มันไม่มีคนมายืนตะโกนขายหนังสือเลย ผมอาจจะเป็นคนแรกก็ได้ที่สร้างความรำคาญให้กับเพื่อนๆ สำนักพิมพ์ (หัวเราะ)

          จำได้ว่าตอนนั้นโดนมอง โดนรปภ.มาเตือน เจ้าหน้าที่สมาคมฯ ก็มาเตือน ก็ขอโทษไป แต่ด้วยความเป็นเราจะให้มานั่งขายเฉยๆ ไม่ได้แน่ เราก็โฟนเบาๆ ลงมาหน่อย ไม่ต้องใช้เอคโคเต็มที่ขนาดนั้น รปภ.มาเราก็หลบๆ บ้าง ครับพี่ ขอโทษครับ (หัวเราะ) บางคนอาจมองว่าเป็นการสร้างสีสัน แต่บางคนอาจจะเกลียดก็มี เราไม่รู้ว่าเขาเกลียดขนาดไหน เคยมีคนไปฟ้องสมาคมหลายครั้ง เราก็ขอโทษขอโพยไปตามมารยาท

‘ป๊อป ยอดนักขาย’ ชายผู้ใช้เสียงสร้างสีสันให้งานหนังสือ
Photo : อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

พอโดนร้องเรียนแล้วรู้สึกยังไง คิดจะเลิกไหม

          ช่วงแรกก็จ๋อยนะ (หัวเราะ) หนุ่มบ้านนอกมาอยู่ในเมือง มาอยู่ในสังคมของนักอ่าน สังคมของหนอนหนังสือ สังคมของผู้มีปัญญา เรามารบกวนเขาหรือเปล่าวะ แต่ด้วยความอยากเป็นนักขายเราก็พูดไปเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าอาจจะลดเสียงให้เบาลงหน่อยตามสถานการณ์ 

          สมัยก่อนสำนักพิมพ์ยิปซีเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ เช่าพื้นที่บูธแค่บล็อกเดียว ยอดขายก็ไม่กี่แสนบาท พอเราขึ้นโฟนขายหนังสือก็เริ่มมีคนมายืนเต็มบูธ มันเหมือนเป็นการแนะนำตัว เหมือนเป็นการแจกนามบัตร จากวันที่ไม่มีใครรู้จักเรา แต่ทุกวันนี้ขึ้นเวทีโฟนรอบหนึ่งสามารถขายหนังสือกองใหญ่กองละ 2,500 – 3,000 บาท ได้เป็น 10-20 ชุด มันก็ว้าวสิ (หัวเราะ) 

ทำไมถึงเปรียบการขึ้นไปยืนโฟนขายว่าเป็นการขึ้นเวที

          สำหรับผมถ้าอยู่ในบูธเรา เราก็คือดาราคนหนึ่งที่แต่ละรอบของงานหนังสือก็จะมีแฟนคลับยิปซีมารอฟังเราขึ้นไปพูด ผมก็เลยมองว่านี่คือเวทีของเรา คุณคิดดูว่าการที่มีคนมายืนฟังเราพูดแล้วเกิดการมีส่วนร่วมพร้อมๆ กันว่า ฉันต้องซื้อหนังสือเล่มนี้นะ มันจะสนุกขนาดไหน ผมคิดว่าเราเป็นนักเล่าเรื่องที่กำลังสื่อสารกับเขาว่า คุณต้องซื้อหนังสือเล่มนี้ไปอ่านนะ พอพูดจบปุ๊บ คนก็สั่งปั๊บเลย สนุกมาก 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาแต่งคอสเพลย์ขายหนังสือเกิดขึ้นได้ยังไง

          พื้นฐานของเราเป็นคนชอบญี่ปุ่น แต่ไม่ได้คลั่งไคล้มากเหมือนทุกวันนี้นะ (หัวเราะ) ผมชอบญี่ปุ่นมากเพราะเขามีขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่น่าสนใจ มีความรักชาติ ความสามัคคี มีจิตวิญญาณความเป็นนักรบ 

          ปี 2558 สำนักพิมพ์ยิปซีมีโปรเจกต์ใหญ่เป็นงานเปิดตัวหนังสือ ‘สารานุกรมภาพเครื่องแบบในสงครามโลกครั้งที่ 1’ (Uniforms of World War I) พี่ชารีฟบอกว่างานนี้ทำฉากสูง 5 เมตร และจะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ผมเลยไปร้านขายชุดเครื่องแบบทหาร มันก็จะมีเครื่องแบบทหารของชาติต่างๆ เยอรมัน อังกฤษ อเมริกา แต่ด้วยความที่เรามันคนไซส์มินิ ไซส์สมอล ไซส์เอส พอลองแล้วใส่ไม่ได้ไง (หัวเราะ)  สุดท้ายมาเจอชุดเครื่องแบบทหารญี่ปุ่น ใส่ดูแล้วมันพอดี บวกกับเราชอบด้วย ก็เลยเริ่มใส่ตั้งแต่วันนั้น

‘ป๊อป ยอดนักขาย’ ชายผู้ใช้เสียงสร้างสีสันให้งานหนังสือ
Photo : อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

หลังแต่งชุดเครื่องแบบทหารญี่ปุ่นขายหนังสือ ผลตอบรับดีไหม

          สมัยก่อนเอกลักษณ์ของผมคือโพกผ้าขาวม้าเพราะเราเป็นเด็กบ้านนอก แต่พอมาแต่งคอสเพลย์มันก็เป็นการดึงดูดให้นักอ่านเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น มารอถ่ายรูปกับเรา สมัยที่ยังไม่ได้แต่งคอสเพลย์มันดูธรรมดาไง พอแต่งเครื่องแบบทหารญี่ปุ่นลงเวทีมา คนขอถ่ายรูปกันเพียบ มันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างป๊อป ยอดนักขายกับนักอ่าน จากนั้นมาเราก็เก็บสะสมของพวกนี้มาเรื่อยๆ ทุกวันนี้แต่งตัวแล้วไม่ขึ้นเวทีไม่ได้ เพราะมีคนบอกว่านักอ่านที่มาบูธยิปซีเขามารอฟังพี่ป๊อป (หัวเราะ)

ทุกวันนี้คุณแต่งชุดอะไรบ้าง

          ตอนนี้ที่ใส่อยู่ก็มีชุดทหารญี่ปุ่น กลายเป็นชุดประจำตัวไปแล้ว อีกชุดหนึ่งที่เพิ่งได้มาจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีก่อนคือชุดเกราะซามูไร เป็นเกราะเหล็กด้วยนะ เคยใส่ที่งานหนังสือบางซื่อหนหนึ่งแตกตื่นกันใหญ่ (หัวเราะ)

ตอนขึ้นไปโฟนขายหนังสือ ชั่วขณะนั้นอารมณ์ความรู้สึกของคุณเป็นยังไงบ้าง

          เอาจริงๆ เรื่องนี้ไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลยนะ พูดแล้วยังขนลุกว่าทำไมป๊อปถึงต้องขึ้นไปยืนโฟนบนนั้น ทำไมป๊อปถึงบ้าพลังขนาดนั้น คือเวลาเราขึ้นไปยืนบนนั้นมันเหมือนจิตวิญญาณบอกเราว่า เฮ้ย มึงต้องจริงจัง มึงต้องเต็มที่กับการขึ้นมาโฟนในครั้งนี้ บางคนบอกว่าบ้าหรือเปล่า อยู่ดีๆ มึงขึ้นมายืนตะโกนแหกปากทำบ้าอะไร กูไม่ได้บ้านะ กูกำลังทำตามจิตวิญญาณที่บอกว่ากูคือคนขายหนังสือของยิปซี กูคือคนที่กำลังมาถ่ายทอดประวัติศาสตร์ให้นักอ่าน 

          เคยถามตัวเองว่ากูทำอย่างนี้ไปเพื่ออะไรวะ แต่จริงๆ มันก็ตอบโจทย์ตัวเราเองว่า เราทำเพราะอยากจะสื่อสารว่านี่คือหนังสือที่ยิปซีนำมาบรรณาการให้ท่านผู้อ่าน ถ้าให้พูดจริงๆ มันก็คือจิตวิญญาณของนักขาย

ทุกครั้งเวลามีงานหนังสือ คุณวางแผนการขายอย่างไร

          เราต้องทำการบ้านไง หนังสือใหม่มีกี่เล่ม โปรโมชันเป็นยังไง แขกคนไหนจะมาที่บูธ เราต้องขึ้นโฟนช่วงเวลาไหนบ้าง ทุกอย่างวางแผนไว้หมดซึ่งก่อนออกงานเราจะทำงานกันหนักมากๆ บางคนบอกว่าพี่ป๊อปแม่งดูชิลๆ ถ้าคุณมาดูหลังบ้านจะรู้ว่าทีมงานเรามีแผนที่วางไว้อย่างดี 

          ส่วนหน้างานก็คือการขึ้นโฟน ด้วยประสบการณ์เราก็ต้องไปประเมินว่าช่วงไหนควรขึ้นโฟน เราก็บอกไม่ได้ทั้งหมดหรอก แต่พอจะรู้ว่าช่วงไหนคนมากหรือคนน้อย แล้วก็ต้องแบ่งเวลาพักด้วยนะ ไม่ใช่ตะโกนทั้งวัน สมัยก่อนโฟน 8 ชั่วโมงเต็มไม่ได้ลงมาพักเลย เพราะเป็นช่วงแนะนำตัว ช่วงแจกนามบัตร โอ้โห คอแตกคอพังกันหมด แต่กินเบียร์เข้าไปก็ดีขึ้น (หัวเราะ) 

          ผมมีอุดมการณ์อย่างหนึ่งว่าการไปขายงานหนังสือแต่ละครั้งมันเหมือนการไปออกรบ เราจะอินมากว่าเวลาออกไปรบเราคือแม่ทัพ น้องๆ แคชเชียร์ เด็กขายหนังสือคือกองหนุน ฝ่ายเสบียง ฝ่ายขนส่งอาวุธ นี่จินตนาการอย่างนี้เลยนะ (หัวเราะ)

‘ป๊อป ยอดนักขาย’ ชายผู้ใช้เสียงสร้างสีสันให้งานหนังสือ
Photo : อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

มีเหตุการณ์อะไรที่ประทับใจบ้างไหม

          ความภาคภูมิใจมันต้องมีอยู่แล้ว เพราะเราไม่ใช่คนดัง ไม่ใช่เซเลบ ไม่ได้เป็นดารา หรือศิลปินอะไร แต่เราคือเด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่ขึ้นเวทีแล้วมีคนมารอฟัง เวลามีงานหนังสือในต่างจังหวัดก็จะมีแฟนคลับยิปซีมายืนรอฟังป๊อป ยอดนักขาย เวลาเรากล่าวขอบคุณจบ เสียงตบมือดังเป็นเสียงเดียวทั้งฮอลล์เลย 

          อีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจก็น่าจะเป็นคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สมัยก่อนยังไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ทุกครั้งที่มีงานหนังสือ คุณชัชชาติก็จะเดินมาแซวว่าคุณป๊อปซามูไร ผมมาตามเสียงคุณเลยนะเนี่ย ถ้าไม่ได้ยินเสียงคุณผมคงหาบูธยิปซีไม่เจอ ผมเลยป้ายยาคุณชัชชาติทุกรอบ ล่าสุดงานหนังสือที่สถานีกลางบางซื่อ คุณชัชชาติก็เดินมา ผมกำลังนอนพักอยู่ใต้บูธ น้องๆ ก็มาปลุกว่าพี่ป๊อป คุณชัชชาติมาหา 

          ความประทับใจต่อมาก็คือมีคนมาชื่นชอบเราในเรื่องของการขาย อยากเป็นเหมือนเรา อยากขายแบบเรา บางคนเดินมาพูดคุยขอคำปรึกษา แล้วสิ่งที่ภูมิใจที่สุดก็คือ คุณพ่อคุณแม่ที่อยู่บ้านนอกจะชอบดูเวลาผมไลฟ์สด เขาไม่อยากจะเชื่อว่าลูกชายของเขามาถึงวันนี้ได้ (หัวเราะ)

ในฐานะที่ออกบูธขายหนังสือมานาน มองงานหนังสือเปลี่ยนไปมากแค่ไหน

          7 ปีก่อน ผมยืนโฟนอยู่ที่บูธยิปซี คนก็มากันเยอะแบบนี้แหละ หลายคนบอกว่าโซเชียลมีเดียเข้ามากลืนกินทำลายวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย แต่งานหนังสือหลายครั้งที่ผ่านมา คนก็มากันเต็มนะ ปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียมันก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่ดึงลูกค้าที่ไม่ได้มางานให้สั่งซื้อทางออนไลน์ได้ แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็คือกลุ่มคนอ่านหนังสือมันเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ 

          วันที่คนน้อยเพราะฝนตก พายุเข้า เราอย่าไปนับสิ หรือวันพุธซึ่งเป็นวันที่คนไม่ค่อยออกจากบ้าน ก็อย่าไปนับ ลองดูภาพรวมจะพบว่างานหนังสือก็ประสบความสำเร็จทุกครั้ง คนเก่าก็ยังอยู่ คนใหม่ก็โผล่ขึ้นมา 

ถึงแม้จะเป็นยุคออนไลน์ แต่คนก็ยังคิดถึงงานหนังสืออยู่

          ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าคนยังคิดถึงงานหนังสืออยู่ ยังอยากหยิบหนังสือขึ้นมาเปิดแล้วสูดดมกลิ่นหอมของหนังสือ มันมีแบบนี้จริงๆ ผมเคยให้สัมภาษณ์ไปหลายสื่อแล้วว่าคนอ่านหนังสือน่ะมี แต่สำนักพิมพ์ไหนที่อยากขายดีหรืออยากอยู่ต่อให้ได้ในระยะยาว คุณก็ต้องทำหนังสือให้มันดี ดีในที่นี้หมายความว่าคุณต้องทำหนังสือที่ตลาดต้องการ นอกจากทำหนังสือดี คุณก็ต้องมีกลยุทธ์การขายที่ดี มีการตลาดที่ดีด้วย

‘ป๊อป ยอดนักขาย’ ชายผู้ใช้เสียงสร้างสีสันให้งานหนังสือ
Photo : อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

ถ้าวันหนึ่งเขาประกาศห้ามตะโกนขายในงานหนังสือ คุณจะทำยังไง

           (หัวเราะ) เคยคิดเหมือนกันนะ ถ้าเขาบอกว่าห้ามโฟนแล้วเราจะไปทำอะไรวะ จะไปเชียร์ขายอยู่ข้างล่าง พูดเสียงเบาๆ สวัสดีครับ นี่เซเปียนส์นะครับ (หัวเราะ) มันก็ไม่ใช่เราอ่ะ หลายสำนักพิมพ์ก็คงดีใจนะ (หัวเราะ) แต่หลายสำนักพิมพ์ก็อาจจะคิดถึงเราก็ได้มั้ง ถ้าถึงวันนั้นจริงๆ ก็คงใจแป้วอยู่เหมือนกัน

พูดถึงป๊อป ยอดนักขาย อยากให้แฟนคลับยิปซีจดจำคุณแบบไหน

          ก็ทั้งหมดทั้งปวงที่พูดมานะครับว่า การขายหนังสือมันจะมีอยู่คนหนึ่งในประเทศไทย มีเราอยู่คนเดียวในเมืองไทยที่ขายหนังสือแบบไฮด์ปาร์ก ขายแบบใช้เสียง ก็อยากจะให้คนจดจำว่านี่คือป๊อป ยอดนักขาย ผู้สร้างปรากฏการณ์การขายหนังสือแบบโฟน 

แล้วเป้าหมายล่ะ มีอะไรที่อยากเห็น อยากทำบ้าง

          ความฝันของผมก็คือ อยากให้สำนักพิมพ์ยิปซีอยู่ไปยาวๆ ผลิตหนังสือดีๆ ต่อไปเรื่อยๆ  ผมไม่ได้คิดถึงตัวเองนะ แต่คิดถึงสำนักพิมพ์ อยากให้ยิปซีอยู่กับวงการหนังสือประวัติศาสตร์นี้ไปนานๆ ชั่วลูกชั่วหลาน เอาจริงๆ สิ่งที่ผมทำอยู่มันตอบโจทย์ความฝันของตัวเองทุกวันอยู่แล้ว ผมก็เลยมีความสุขกับการได้ทำงานสำนักพิมพ์ยิปซีในทุกๆ วัน

คำถามสุดท้าย อยากเห็นอะไรในวงการหนังสือ อยากให้วงการหนังสือพัฒนาไปทางไหน

          อยากเห็นคนอ่านหนังสือเยอะๆ เราเป็นนักขายก็อยากจะขายหนังสือให้กับคนเยอะๆ การขายหนังสือได้ก็คือการส่งมอบความรู้ ให้คนไทยได้อ่านหนังสือมากที่สุด เพื่อจะได้เอาความรู้ไปต่อสู้กับนักการเมืองที่ทำไม่ได้ตามพูด สมมติว่ายิปซีขายหนังสือให้กับลูกค้าหนึ่งแสนคน หนึ่งแสนคนนั้นก็จะมีความรู้ที่ได้จากการอ่านไปต่อสู้กับพวกที่ทำนโยบายเพ้อฝัน การอ่านหนังสือเยอะๆ จะทำให้เรารู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมพวกนี้ได้

‘ป๊อป ยอดนักขาย’ ชายผู้ใช้เสียงสร้างสีสันให้งานหนังสือ
Photo : อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก