ใจกลางอำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ มีห้องสมุดตั้งอยู่ใกล้เคียงกันจำนวน 3 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ ‘ห้องสมุดผีเสื้อ’ ซึ่งเกิดจากความตั้งใจของ ‘ครูอ้อ – หทัยรัตน์ สุดา’ นักวิชาการอิสระ ที่อยากเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนของบ้านให้เป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างชาวชุมชน
เดิมที ครูอ้อ ทำงานในกรุงเทพฯ จนเมื่อถึงจุดอิ่มตัว จึงเลือกหันหลังให้เมืองหลวง แล้วมุ่งหน้ากลับบ้านเกิด ห้องสมุดผีเสื้อเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี 2558 โดยใช้งบประมาณส่วนตัวและไม่เก็บค่าใช้จ่ายในการบริการ ชื่อนี้มาจากสัญลักษณ์ของหลักสูตรบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่น 24 ที่เธอเรียนจบมา
นอกจากมีหนังสือให้นั่งอ่านแล้ว ที่นี่ยังมีกิจกรรมเพื่อสุขภาวะทางจิต และการพัฒนาอาสาสมัครในนามบ้านพอกธรรม กลุ่มผู้ใช้บริการ ได้แก่ ชาวบ้าน เด็กในชุมชน คุณครูตามอำเภอต่างๆ รวมถึงอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล
เมื่อเปิดให้บริการได้ระยะหนึ่ง ครูอ้อ ทราบว่าครูในศรีสะเกษหลายโรงเรียนขาดแคลนสื่อการสอนและความรู้ด้านการพัฒนาห้องเรียน จึงจัดหาหนังสือประเภทเสริมความรู้สำหรับเด็กเพิ่มเติม และจัดทำโครงการ ‘ผีเสื้อสัญจร’ ครูสามารถยืมหนังสือไปใช้ประกอบการสอนที่โรงเรียน 1 – 2 เดือนต่อครั้ง ครั้งละ 30 – 40 เล่ม ปัจจุบันมีโรงเรียนจากอำเภอต่างๆ ร่วมเป็นเครือข่ายของห้องสมุดผีเสื้อประมาณ 15 แห่ง นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมบุ๊กคลับ และการอบรมครู เช่น การสอนเรื่องเพศศึกษา และการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ฯลฯ
“เราคิดว่า เอาหนังสือไปให้คนที่เขาขาดหรือไม่มีดีกว่า บางโรงเรียนคือเขาไม่มีจริงๆ งบค่าอาหารกลางวันเด็กยังแทบไม่พอ จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อหนังสือนิทานดีๆ การไม่มีหนังสืออาจทำให้คนเข้าใจผิดว่า เด็กๆ ไม่ชอบอ่าน แต่พอคุณครูยืมหนังสือไปให้ ก็พบว่าจริงๆ แล้วเขาชอบอ่าน”
หนังสือ พื้นที่การอ่าน และกิจกรรมต่างๆ ของห้องสมุดผีเสื้อ สร้างโอกาสการเข้าถึงความรู้ให้แก่ทุกคน รวมถึงนักเรียนและครู ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตจิตใจและเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้คน และในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีชุมชนอีกมากในประเทศไทย ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการอ่านได้อย่างเพียงพอ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
ที่มา
บทความ “ห้องสมุดผีเสื้อ” จาก peacefuldeath.co (Online)