คิดได้ไง? โรงแรมร้านหนังสือ ฉีกลุคใหม่สุดเฟี้ยวให้เรียวกัง

16 views
September 16, 2022

โคะยะนะงิ (Koyanagi) เรียวกังเก่าแก่แห่งหนึ่งในเมือง มะสึโมะโตะ เกือบถูกทิ้งร้างหลังจากให้บริการมากว่า 300 ปี ด้วยเจ้าของกิจการเข้าสู่วัยชรา อีกทั้งยังไร้ทายาทผู้สืบทอด เรียวกังแห่งนี้ได้ปรับโฉมใหม่พร้อมกลับมาเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 ด้วยไอเดียการตลาดที่เพิ่มมิติในการให้บริการด้วยการเปิดร้านหนังสือ มะสึโมะโตะ ฮนบะโกะ (Matsumoto Honbako) ในเรียวกัง

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเรียวกังแห่งนี้ สะท้อนภาพของญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 1970 ได้เป็นอย่างดี เมื่อปี 2007 ญี่ปุ่นได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged Society) เมื่อผนวกกับโครงสร้างประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับปัจจัยอื่นที่ช่วยตอกย้ำอย่างเช่น ผู้คนในชนบทโยกย้ายเข้าสู่เมือง บ้านเรือนแถบนั้นจึงมีผู้อาศัยลดลง ส่งผลกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่ กลายเป็นพิษต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น แม้แต่เรียวกังเก่าแก่อย่าง โคะยะนะงิ (Koyanagi) ณ เมืองมะสึโมะโตะ ที่เปิดให้บริการมาอย่างยาวนานก็หนีไม่พ้นวิกฤตนี้ กระทั่ง ‘จิยุจิน (Jiyujin)’ บริษัทที่ดำเนินกิจการด้านโรงแรม เข้าไปปรับปรุงเรียวกังดังกล่าวใหม่ โดยยังคงโครงสร้างและเรื่องราวของพื้นที่เดิมไว้ แล้วเพิ่มความน่าสนใจด้วยการนำเสนอหนังสือแบบคัดเลือกพิเศษ

โทรุ อิวาสะ (Toru Iwasa) ผู้อำนวยการแห่ง จิยุจิน ได้กล่าวไว้ว่า มะสึโมะโตะ เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ โดดเด่นในเรื่องวัฒนธรรมกับศิลปะ เขามองเห็นว่า ‘ความรู้’ ‘ความสะดวกสบาย’ และ ‘ภูเขา’ คือคุณสมบัติเด่นของเมือง จึงหยิบมาพัฒนาเป็นแนวคิด ‘การเรียนรู้’ ก่อให้เกิดร้านหนังสือในเรียวกัง ที่คัดสรรหนังสือมาจัดวางให้สะท้อนแนวคิด ‘เผชิญหน้ากับความรู้ใหม่’

ชั้นหนังสือของร้าน มะสึโมะโตะ ฮนบะโกะ กระจายตัวไปตามส่วนต่างๆ ของโรงแรม ตั้งแต่ชั้นใต้ดินถึงชั้น 2 โดยมีบริษัท BACH ผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือ ร้านหนังสือ ห้องสมุด ซึ่งมีผลงานเลื่องชื่อจากการออกแบบวางแนวเนื้อหาหนังสือภายในห้องสมุดฮารุกิ มุราคามิ มาเป็นผู้ให้คำปรึกษาและคัดสรรหนังสือที่นำมาวางขายในเรียวกัง

ร้านหนังสือมะสึโมะโตะ ฮนบะโกะ ถูกแบ่งออกเป็น 5 ส่วน แต่ละส่วนจัดวางหนังสือที่สอดคล้องกับบรรยากาศภายในแต่ละห้อง

ส่วนแรกมีชื่อว่า หนทางแห่งหนังสือ (Michi Book)

ให้บริการตั้งแต่แผนกต้อนรับที่ชั้น 1 หนังสือและนิตยสารในบริเวณนี้ มีเนื้อหาที่ได้รับความนิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จุดประสงค์ก็เพื่อให้ผู้อ่านได้ท่องไปในเส้นทางของกาลเวลาราวกับว่าได้นั่งไทม์แมชชีน

365+2

ไม่ไกลกันนัก เป็นที่ตั้งของห้องอาหาร ชื่อ ‘365+2’ ตัวเลขนี้มีที่มาจากสภาพอากาศตลอด 365 วัน บวกกับ 2 ที่หมายถึง ‘วัฒนธรรม’ และ ‘ประวัติศาสตร์’ นอกจากนี้ ผลรวมของตัวเลขยังหมายถึง แม่น้ำชิคุมะและแม่น้ำชินาโนะซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองมีความยาวรวมกัน 367 กิโลเมตร ดังนั้นในส่วนนี้เนื้อหาหนังสือจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากเป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำอาหารและหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเมือง ถูกวางเรียงไว้ให้บริการภายในห้องอาหาร

หนังสือที่ได้รับการเลือกอย่างพิถีพิถัน (Gensen Book)

หนังสือในส่วนนี้ได้รับการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันโดย โยชิทะกะ ฮะบะ (Yoshitaka Haba) ผู้อำนวยการ และ Book Curator จาก BACH เขาเลือกหนังสือในธีม ‘วิถีชีวิตใหม่’ มาจัดวางไว้บริเวณบันไดระหว่างชั้น 1 และทางขึ้นชั้น 2

หนังสือสำหรับผู้ใหญ่ (Otona Book)

เดินต่อไปที่ชั้น 2 เนื่องจากพื้นที่ส่วนนี้ได้รับการปรับปรุงมาจากห้องอาบน้ำเก่า จึงถูกพัฒนาภายใต้แนวคิดที่ว่า “จมหายไปกับหนังสือ” ฟังจากชื่ออาจแลดูน่ากลัว แต่ชื่อนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากฟังก์ชันเดิมของห้องที่เป็นพื้นที่อาบน้ำ หนังสือส่วนใหญ่เป็นโฟโต้บุ๊กแบบผู้ใหญ่ๆ ที่ต้องใช้วิจารณญาณในการรับชม สามารถนั่งๆ นอนๆ อ่านหนังสือได้ตามความต้องการบนชั้น 2 ของโรงแรม

หนังสือสำหรับเด็ก (Kodomo Book)

เดิมเคยเป็นห้องอาบน้ำขนาดใหญ่ ทางโรงแรมได้ปรับปรุงพื้นที่ภายในส่วนซักล้างเป็นชั้นหนังสือเด็กที่วางตั้งเรียงรายแบบเขาวงกต และปรับปรุงอ่างอาบน้ำให้กลายมาเป็นสระบอลสำหรับเด็กๆ ส่วนนี้มีหนังสือภาพราวๆ 2,000 เล่ม ตั้งอยู่ชั้นใต้ดินของโรงแรม

แน่นอนว่าการมีร้านหนังสือในโรงแรมไม่ใช่แนวคิดที่ใหม่ แต่ มะสึโมะโตะ ฮนบะโกะ กำลังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการนำ ‘หนังสือ’ และ ‘การเรียนรู้’ มาเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นพิษ มองเห็นความสร้างสรรค์ในการวางรูปแบบการนำเสนอหนังสือให้กลมกลืนไปกับอัตลักษณ์ความเป็นเรียวกังและเมืองมะสึโมะโตะ นำเรื่องราวในอดีตมาเป็นวัตถุดิบผูกโยงกับเรื่องราวร่วมสมัยจากหนังสือ ด้วยความหวังที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้สะดุดใจแล้วเข้ามาร่วมสัมผัสและเรียนรู้

คิดได้ไง? โรงแรมร้านหนังสือ ฉีกลุคใหม่สุดเฟี้ยวให้เรียวกัง
Photo: Matsumoto Jujo


ที่มา

บทความ “สังคมสูงวัยในญี่ปุ่น บ้านร้างเพียบ รัฐสนับสนุนให้ขาย บางหลังเริ่มเพียง 14,000 บาทเท่านั้น” จาก brandinside.asia (Online)

บทความ “MATSUMOTO JUJO JOURNAL” จาก matsumotojujo.com (Online)

บทความ “[聞く/entre+voir #025]岩佐十良(自遊人代表取締役)” จาก naganoart-plus.net (Online)

บทความ “จากวิกฤตประชากร และภาษีแพง เหตุบ้านร้างนับล้านในญี่ปุ่น” จาก workpointtoday.com (Online)

บทความ “長野県松本市浅間温泉「松本十帖」が2022年7月23日にグランドオープン 株式会社自遊人が運営” จาก atpress.ne.jp (Online)

บทความ “คนญี่ปุ่นกังวลหรือไม่ เมื่อประชากรในประเทศลดลงตลอดเวลา” จาก krungsri.com (Online)

อินสตาแกรม matsumotojujo (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก