พร้อมหรือยัง? เปลี่ยนผ่านสู่การเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning)

19 views
October 22, 2021

Joint Information Systems Committee (Jisc) หน่วยงานด้านระบบสารสนเทศการศึกษาของสหราชอาณาจักร จัดทำโครงการวิจัยชื่อ Learning and teaching reimagined โดยเก็บข้อมูลการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างในมหาวิทยาลัยของอังกฤษกว่า 1,000 คน ทั้งอาจารย์ นักศึกษา และผู้บริหาร เพื่อศึกษาคาดการณ์รูปแบบการเรียนรู้ในอนาคต 10 ปีข้างหน้า โดยมีการแบ่งระยะเวลาออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 (ก่อนวันที่ 23 มีนาคม 2020) ปีการศึกษา 2020/2021 ปีการศึกษา 2021/2022 และในปี ค.ศ. 2030

ผลการวิจัยพบว่า ก่อนเดือนมีนาคม 2020 การเรียนในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่กว่า 75% ยังเป็นแบบ Face-to-Face หรือการเรียนแบบเผชิญหน้า แต่ในปีการศึกษา 2020/2021 หรือถัดมาเพียงปีเดียว สัดส่วนการเรียนออนไลน์กลับเพิ่มขึ้นเป็น 75%

ในปีการศึกษา 2021/2022 ผู้ตอบแบบสอบถาม 35% คาดว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยจะก้าวสู่รูปแบบ Blended Learning หรือการเรียนรู้แบบผสมผสาน ที่มีสัดส่วนเท่าๆ กันระหว่าง ‘การเรียนแบบเผชิญหน้า’และ ‘การเรียนออนไลน์’ แนวโน้มดังกล่าวนี้จะคงอยู่ไปจนถึงปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า

รายงานการวิจัยชี้ว่า ผู้สอนจำนวนมากเล็งเห็นถึงศักยภาพของการเรียนออนไลน์ และเชื่อว่านี่เป็นโอกาสสำคัญของวงการอุดมศึกษาที่จะคิดใหม่ทำใหม่ในเรื่องการจัดการศึกษา อาจารย์ผู้สอนกว่า 49% มั่นใจว่าตนสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสอนในช่วงแรกของการล็อกดาวน์ (มีนาคม 2020) และมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ โดยมีอาจารย์ประมาณ 3 ใน 4 (74%) รู้สึกมั่นใจกับการสอนออนไลน์ในช่วงเริ่มต้นปีการศึกษา 2020/2021 (เริ่มเปิดภาคเรียนในเดือนสิงหาคม 2020)

อย่างไรก็ดี ผู้สอนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอนแบบกะทันหัน ทำให้พวกเขาปรับตัวไม่ทัน โดยมีอาจารย์กว่า 37% รู้สึกไม่มั่นใจในแผนการสอนของตนในปีการศึกษา 2020/2021 และเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 71% ในปีการศึกษา 2021/2022 สาเหตุเพราะการสร้างความสัมพันธ์กับผู้เรียนทำได้ยากขึ้นในชั้นเรียนออนไลน์

ในมุมของผู้เรียน นักศึกษาส่วนใหญ่คุ้นเคยหรือมีประสบการณ์การเรียนออนไลน์อยู่แล้ว พวกเขายอมรับและเข้าใจสถานการณ์ดีว่าตราบใดที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย การเรียนออนไลน์ก็ต้องดำเนินต่อไป แต่เรียกร้องให้มีการรักษามาตรฐานของโครงสร้างพื้นฐานไอที ระบบสนับสนุนการศึกษา และปฏิสัมพันธ์ในการเรียนการสอน

ถึงแม้ว่านักศึกษาจะเห็นว่าการเรียนออนไลน์มีความสะดวก ประหยัดเวลา ยืดหยุ่น และสามารถทบทวนเนื้อหาได้ง่าย แต่ข้อกังวลของพวกเขาที่มีต่อการเรียนแบบออนไลน์ก็คือเรื่องคุณภาพการศึกษา และผลกระทบต่ออนาคตในการใช้ชีวิตและการทำงาน นักศึกษากว่า 77% ระบุว่า ปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนแบบกายภาพและการเข้าสังคม มีส่วนสำคัญต่อการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ด้วยเหตุผลนี้พวกเขาจึงชอบการเรียนแบบเผชิญหน้ามากกว่า

งานวิจัยชิ้นนี้ให้ข้อเสนอแนะในช่วงเปลี่ยนผ่านเอาไว้ 4 ประการคือ (1) ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ (2) เพิ่มพูนทักษะดิจิทัลและความเชื่อมั่นของนักศึกษาและบุคลากร (3) สื่อสารเรื่องคุณประโยชน์ของการเรียนรู้แบบผสมผสาน และ (4) ผนวกการเรียนรู้แบบผสมผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบหลักสูตรใหม่

พอล เฟลด์แมน ประธานบริหารของ Jisc ที่ดูแลงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวสรุปว่า “อาจารย์และนักศึกษาต่างก็เห็นตรงกันว่า พวกเขาคงไม่สามารถย้อนกลับไปสู่ห้องเรียนที่มีการเรียนแบบเผชิญหน้าเป็นรูปแบบหลักเพียงรูปแบบเดียวได้อีก และเชื่อว่าการเรียนแบบผสมผสานจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ดีกว่าเดิม”

แนวโน้มรูปแบบการเรียนการสอนดังที่ปรากฏในผลวิจัยดังกล่าว คงไม่ได้เกิดเฉพาะที่สหราชอาณาจักรเท่านั้น แต่น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 รวมถึงประเทศไทย ดังนั้นการปรับรูปแบบวิธีการเรียนการสอนจึงไม่น่าจะแตกต่างกันเท่าไรนัก เพียงแต่น้ำหนักหรือความเข้มข้นอาจแตกต่างกันไปตามความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานไอทีและทักษะดิจิทัลของทั้งผู้สอนและผู้เรียนในแต่ละประเทศ ความเหลื่อมล้ำเช่นนี้จึงกระทบต่อผลลัพธ์ของการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญ

ผู้สนใจอ่านรายงานผลการสำรวจวิจัยโดยละเอียดได้ที่ Learning and teaching reimagined

พร้อมหรือยัง? เปลี่ยนผ่านสู่การเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning)


ที่มา

บทความ “Blended is now the preferred learning & teaching model, survey finds” จาก thepienews.com (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก