Big Data Specialist และ Sustainability Specialist สองสายงานซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดโลก

257 views
8 mins
April 8, 2024

          รายงานและบทความขององค์กรและสื่อต่างๆ เช่น Future of Jobs ของ World Economic Frum (WEF) บทความของ Nexford University และ บทความของ Forbes ต่างกล่าวถึงแนวโน้มทักษะและอาชีพที่มีความสำคัญในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ อาชีพ ‘ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data’ และ ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน’ ถูกกล่าวถึงในฐานะสายงานที่มาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาด  

          ทั้ง 2 อาชีพ มีความสำคัญต่อองค์กรธุรกิจในปัจจุบัน ลองจินตนาการถึงการซื้อของออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ คุณหยิบสินค้าลงตะกร้า และในวินาทีที่กำลังจะกดจ่ายเงิน ก็มีสินค้าที่เกี่ยวข้องหลายรายการขึ้นมาให้เลือก คุณตัดสินใจเพิ่มสินค้านั้นลงในตะกร้า ก่อนจะกดจ่ายเงิน เบื้องหลังบริการที่ถูกออกแบบมาอย่างละเอียด มีอาชีพหนึ่งที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ Big Data Specialist หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data ซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในโลกของการทำงานในทุกวันนี้

          และในขณะที่เทคโนโลยีด้านข้อมูลพัฒนาไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด อีกประเด็นหนึ่งที่องค์กรต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ระดับโลก เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายอย่างรวดเร็ว บริษัทหลายแห่งจึงมีตำแหน่งงานที่เรียกว่า Sustainability Specialist หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับระบบนิเวศโดยรวมและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

          อาจจะดูเป็นสายงานที่ต้องการทักษะและองค์ความรู้ที่แตกต่าง แต่บทบาทการทำงานก็ไม่ได้แยกขาดจากกันเสียทีเดียว ในหลายองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data และผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน มีโอกาสได้มาทำงานร่วมโปรเจกต์กันเพื่อพิชิตเป้าหมายขององค์กร บทความนี้ชวนมาทำความรู้จัก 2 อาชีพนี้ให้มากขึ้น ว่ามีบทบาทหน้าที่อะไรในโลกธุรกิจ และต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง

ทำความรู้จัก Big Data Specialist และ Sustainability Specialist

          มนุษย์เราสร้างข้อมูลชุดใหม่ๆ ขึ้นตลอดเวลา และเมื่อมีสื่อสังคมออนไลน์ จำนวนข้อมูลก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวินาทีที่ผ่านไป บริษัทต่างๆ จึงต้องเก็บรวบรวม บริหารจัดการ และทำความเข้าใจข้อมูลเหล่านี้ เพื่อให้การตัดสินใจทางกลยุทธ์และทางธุรกิจดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลจำนวนมากนี้เรียกว่า Big Data หรือถ้าแปลตรงตัว คือ ข้อมูลขนาดใหญ่

          เมื่อมีการเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาล บริษัทจึงต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data มาออกแบบกระบวนการประมวลผลและกลยุทธ์ในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล  ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ต้องทำให้ข้อมูลเข้าถึงได้และเข้าใจง่ายขึ้น เพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจจากข้อมูลเหล่านั้น ในยุคที่บริษัทต่างๆ ลงทุนทำ Digital Transformation จึงถือได้ว่า ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนองค์กร 

          งานในสาย Big Data ในแต่ละองค์กรอาจมีหลายตำแหน่ง หลายบทบาท แต่ในภาพรวมหน้าที่ของ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data คือ จัดการข้อมูลตลอดวงจรชีวิตของข้อมูล (Data Lifecycle) ตั้งแต่ระบุแหล่งข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล ออกแบบและพัฒนาระบบ วางระบบรักษาความปลอดภัย วิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนนำเสนอข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นการรวมหน้าที่ของ Data Engineer และ Data Scientist ซึ่งบทบาทหลักเกี่ยวข้องกับการจัดการระบบและข้อมูล กับ Data Analyst และ Business Analyst ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลและนำผลมาถ่ายทอดในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร เพื่อสื่อสารกับแผนกอื่นๆ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ  

          ตำแหน่งงานด้าน Big Data มักต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หรือวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือหากย้ายมาจากสายงานอื่น วุฒิการศึกษาด้านที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ เช่น การเงิน สถิติ ก็จะช่วยให้เปลี่ยนสายงานได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่โดยรวมแล้วควรมีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์เป็นหลัก รวมถึงมีทักษะด้านการวิเคราะห์ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้วุฒิการศึกษา คือการเพิ่มพูนทักษะ และอัปเดตเทรนด์ทางเทคโนโลยีให้ทันโลกอยู่เสมอ โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากนี้ในบางองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data ยังควรมีความรู้ด้านธุรกิจและทักษะการสื่อสาร รวมถึง Soft Skill ต่างๆ เพื่อให้สามารถร่วมงานกับฝ่ายอื่นๆ ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำข้อมูลมานำเสนอในรูปแบบต่างๆ เพื่อวางแผนธุรกิจ

Big Data Specialist และ Sustainability Specialist สองสายงานซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดโลก
Photo: Campaign Creators on Unsplash

          นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data แล้ว สายงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ทวีความสำคัญขึ้นด้วยเช่นกัน ภาวะสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง (Climate Change) และผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ  องค์กรต่างๆ จึงต้องปรับตัวให้สอดรับกับกระแสของความยั่งยืน ด้วยการดำเนินธุรกิจบนฐานของการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นั่นทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability Specialist เข้ามามีบทบาทสำคัญ

          หน้าที่หลักของอาชีพนี้คือการวิเคราะห์พฤติกรรม และหาทางเลือกที่จะลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำธุรกิจ วิเคราะห์กระบวนการทำงานในบริษัทเพื่อหาจุดที่พัฒนาด้านความยั่งยืนได้ ตรวจสอบเส้นทางการรับทรัพยากรเข้ามาในบริษัท เพื่อหาทางที่มีประสิทธิภาพที่สุด แนะนำแนวทางเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนให้แก่องค์กร สร้างสื่อเพื่ออธิบาย รวมทั้งสื่อสารเป้าหมายและนโยบายด้านความยั่งยืนให้แก่พนักงานในบริษัท ทำงานร่วมกับฝ่ายการตลาดเพื่อสร้างภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนแก่บริษัท และตรวจสอบการทำตามนโยบายด้านความยั่งยืนของพนักงานทุกคนในบริษัท

          ความยั่งยืนของบริษัทไม่ได้หมายถึงผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่บริษัทเองก็ได้รับประโยชน์ด้วย เช่น ในบางภารกิจผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนมีหน้าที่หาวิธีประหยัดพลังงานและทรัพยากรให้แก่บริษัท โดยที่ยังรักษาคุณภาพสินค้าและบริการไว้ หรือออกแบบการทำงานให้ตอบโจทย์สภาวะอากาศแปรปรวนที่อาจเป็นอุปสรรคของธุรกิจ นอกจากนี้บริษัทที่มีนโยบายด้านความยั่งยืนยังดึงดูดใจนักลงทุนและพนักงานมากกว่าอีกด้วย

          สำหรับอาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน ความรู้ที่ต้องใช้ควรมีทั้งความรู้ด้านธุรกิจ และด้านนิเวศวิทยา แต่ผู้ที่เรียนจบจากสาขาอื่นๆ เช่น การบริหาร หรือแม้กระทั่งศิลปศาสตร์ ก็สามารถทำงานตำแหน่งนี้ได้เช่นกัน และถ้าเป็นไปได้ก็ควรหาโอกาสเรียนรู้เพิ่มเติม เพราะบริษัทต่างๆ มักมองว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งระดับกลาง หรือระดับสูง วิธีหนึ่งคือเลือกเรียนทักษะที่ช่วยเพิ่มความหลากหลายให้แก่ทักษะเดิม เช่น หากมีทักษะด้านธุรกิจอยู่แล้ว ควรเรียนด้านนิเวศวิทยา

          นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนยังต้องมี Soft Skill ที่สามารถปรับใช้ให้ยืดหยุ่นในแต่ละบริบท เพราะเป็นงานที่ต้องประสานงานกับคนจำนวนมาก จึงต้องสามารถสื่อสารอย่างชัดเจนกับผู้เกี่ยวข้องหลายระดับในบริษัทได้ เช่น เมื่อต้องประเมินสภาวะปัจจุบันด้านความยั่งยืนของบริษัท และประเมินความต้องการของพนักงาน หรือประกาศใช้ระเบียบวิธีใหม่ๆ การสื่อสารที่ดีจะช่วยให้ฝ่ายอื่นในองค์กรเข้าใจเจตนาและทิศทางของแผนงานด้านความยั่งยืนอย่างชัดเจน

Big Data Specialist และ Sustainability Specialist สองสายงานซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดโลก

สองสายงานที่ประสานความร่วมมือกันได้

          องค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งมีช่องทางเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาล ทั้งจากฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย และในส่วนของผู้บริโภค การวางแผนธุรกิจตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลเหล่านั้น ในขณะที่การดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน ใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็กลายมาเป็นแนวปฏิบัติที่จำเป็นต่อองค์กร ในหลายๆ โอกาสผู้เชี่ยวชาญสองสายงานจึงอาจต้องทำงานร่วมกัน

การจัดการความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของ Walmart

          Walmart คือ บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และขยายสาขาไปในหลายประเทศทั่วโลก มีบริการหลากหลายรูปแบบ เช่น Supercenters (ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เน้นขายของถูก), Discount Stores (ห้างสรรพสินค้าลดราคา), Neighborhood Markets (ร้านขายของชำ) และอีกมากมาย ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า นอกจากจะเป็นร้านค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่แล้ว Walmart ยังเชื่อมโยงร้านค้าออฟไลน์และออนไลน์ให้เป็นหนึ่งเดียว การขายสินค้าทั้งหน้าร้านและออนไลน์เชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด ผ่านเว็บไซต์ Walmart.com และแอปพลิเคชัน Walmart

          ห่วงโซ่อุปทานของ Walmart หรือ เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและคู่ค้าของบริษัท ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิตสินค้า การขนส่ง ไปจนถึงการส่งมอบสินค้าหรือบริการไปยังลูกค้า จึงมีขนาดใหญ่และเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน รวมถึงทรัพยากรเป็นจำนวนมาก มีโอกาสที่จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในแทบจะทุกขั้นตอน

          Walmart มีความร่วมมือกับบริษัท Big Data Analytics เพื่อวางระบบประมวลข้อมูล วิเคราะห์แนวโน้มของผู้บริโภค และเลือกวิธีการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงลดทอนปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น เช่น การลดภาวะโลกร้อน การกำจัดของเสียไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกรุกราน การจ้างงานที่เป็นธรรม ไปจนถึงความปลอดภัยของสินค้าและบริการ

          ในปี 2016 Walmart กำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนว่า คู่ค้าต้องมีมาตรการเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เช่น มีระบบการเกษตรที่ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้มีการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านความยั่งยืน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกลุ่มผู้ผลิต ในขณะเดียวกันก็สร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภค เพื่อให้แนวคิดเรื่องความยั่งยืนเป็นที่รับรู้ในวงกว้างยิ่งขึ้น เป้าหมายที่ท้าทายของ Walmart คือ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ทำลายสิ่งแวดล้อมจนเป็น 0 (Zero Emissions) ภายในปี 2040

          นอกจากข้อมูลที่ได้จากการซื้อขายแล้ว Walmart ยังใช้ข้อมูลจากกว่า 200 แหล่ง มาร่วมวิเคราะห์ ทั้งข้อมูลทางด้านอุตุนิยมวิทยา เศรษฐกิจ สังคม สื่อสังคมออนไลน์ และกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ Walmart ประมวลข้อมูลเพื่อพยากรณ์ปริมาณสินค้าที่น่าจะขายได้ ช่วงเวลาที่ลูกค้านิยมซื้อของ ระบุประเภทสินค้ายอดนิยม เพื่อกำหนดปริมาณและประเภทของสินค้าที่ควรผลิต ป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะสินค้าตกค้างในคลังสินค้า (Oversupply) เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเก็บสินค้า การใช้พลังงาน และการกำจัดของเสีย

          ข้อมูลอุณหภูมิและสภาพอากาศที่นำมาใช้วิเคราะห์ เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาในการเพาะปลูกของผู้ผลิตสินค้าการเกษตร ลดผลกระทบเชิงลบ และรุกรานสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ระบบ AI ยังทำหน้าที่ติดตามควบคุมปริมาณการใช้พลังงาน และปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดขึ้นโดยบริษัท อีกทั้งควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศด้วย

          ในส่วนของตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนนั้น มีหลากหลายตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายความยั่งยืน พลังงานหมุนเวียน และบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ที่ต้องทำงานร่วมกับแผนกอื่นๆ และองค์กรพันธมิตร เพื่อค้นหาแนวทางปฏิบัติที่นำไปสู่ความยั่งยืน

โปรแกรมเพื่อความยั่งยืนของ Walmart

Coca-Cola และโครงการส่งเสริมความยั่งยืน

          หากไม่นับบริษัทที่อยู่ในวงการเทคโนโลยี Coca-Cola เป็นองค์กรธุรกิจแรกๆ ที่ประยุกต์ใช้ Big Data ในการวางแผน หากพิจารณาจำนวนยี่ห้อเครื่องดื่มในสังกัดที่มีมากกว่า 500 แบรนด์ ในกว่า 200 ประเทศ ข้อมูลที่ได้จากห่วงโซ่อุปทานย่อมมีปริมาณมหาศาลพอที่จะพยากรณ์แนวโน้มต่างๆ ได้  เมื่อรวมกับข้อมูลที่ได้จากระบบ MIS (Management Information System) ที่ร่วมมือกับ Siemens พัฒนาขึ้นมาเพื่อควบคุมและเก็บข้อมูลการผลิตแบบเรียลไทม์ Coca-Cola จึงเป็นองค์กรที่มักจะได้รับการกล่าวถึงในฐานะองค์กรตัวอย่าง ที่วางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ จัดการห่วงโซ่อุปทาน บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดของเหลือ และเพื่อพิชิตเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร

          โครงการความยั่งยืนหลักๆ ของ Coca-Cola มีหลายโครงการ มีรายงานประจำปีที่กำหนดเป้าหมาย และรายงานผลของแต่ละโครงการอย่างชัดเจน ทั้งโครงการอนุรักษ์น้ำ (Water Stewardship) ซึ่งส่งเสริมให้ใช้น้ำในกระบวนการผลิตในปริมาณที่พอเหมาะ มีการเก็บข้อมูลจากโรงงานในภูมิภาคต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ปริมาณน้ำที่ต้องใช้ การจัดการการใช้น้ำในแต่ละภูมิภาค ฯลฯ อีกทั้งโครงการผลิตขวดบรรจุเครื่องดื่มจากวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ โครงการส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทุกโครงการมีการเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์และนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลเพื่อประกอบการตัดสินใจและวางแผนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนที่องค์กรกำหนดไว้ทั้งสิ้น

          บริษัท Coca-Cola หลายสาขาทั่วโลก มีตำแหน่งสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data และมีแผนก Public Affairs, Communications and Sustainability (PACS) ซึ่งดำเนินโครงการด้านกิจการเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน บางครั้งข้อมูลองค์กรในเว็บไซต์ที่เปิดรับตำแหน่งงาน Data Analytics ก็ระบุไว้ว่าขอบเขตของงานคือการจัดการข้อมูลเพื่อดำเนินการให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้าน ESG โดยเฉพาะ  (ESG มาจากคำว่า Environment, Social, Governance ซึ่งเป็นแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว)

โครงการ Water Stewardship ของ Coca-Cola

ศึกษาแนวโน้มโลกและนวัตกรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อพิชิตเป้าหมายด้านธุรกิจและความยั่งยืน

          นอกจากองค์กรที่กล่าวถึงไปแล้ว ยังมีอีกหลายองค์กรที่มีทั้งฝ่ายวิเคราะห์ Big Data และฝ่ายที่ดูแลเป้าหมายด้านความยั่งยืน เช่น Maersk บริษัทโลจิสติกส์เจ้าใหญ่ระดับโลกที่ติดอุปกรณ์ IoT ในเรือสินค้าเพื่อเก็บข้อมูล และนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ในการเลือกเส้นทางเดินเรือที่ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน หลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่เลวร้าย ลดพลังงานที่ใช้รวมถึงการปลดปล่อยของเสียจากการเผาผลาญพลังงานสู่สิ่งแวดล้อม และยังมี Ford, Siemens และอีกหลายๆ บริษัท ที่ใช้ข้อมูลเป็นฐานในการตัดสินใจและไม่ละทิ้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

การเก็บข้อมูลและนำผลมาวิเคราะห์เพื่อใช้ในการเลือกเส้นทางเดินเรือของบริษัท Maersk

          ตลาดแรงงานของทั้งสองสายงานในกลุ่มบริษัทใหญ่ระดับโลกกขยายตัวเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมาและในอนาคตอันใกล้ แต่ปัจจัยที่สำคัญต่อความมั่นคงในอาชีพ คือการพัฒนาทักษะ และความสามารถในการใช้เครื่องมือใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น เทคโนโลยี AI ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้ผู้ที่สามารถสั่งการและใช้งาน AI หรือเชี่ยวชาญด้าน Machine Learning มีความได้เปรียบในตลาดแรงงาน และยิ่งมนุษย์ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีมากขึ้นเท่าไร แหล่งที่มาของ Big Data และรูปแบบของข้อมูลก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น ทั้งอุปกรณ์ IoT แพลตฟอร์ม อุปกรณ์อัจฉริยะ และสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ที่สามารถจัดการข้อมูลหลากหลายรูปแบบ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็จะเป็นที่ต้องการตัวจากองค์กรธุรกิจต่างๆ มากขึ้น

          ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบอาชีพในสายงานด้านความยั่งยืนก็ต้องหมั่นติดตามแนวโน้ม ว่าปัจจุบันนี้มีข้อตกลงความร่วมมือ อนุสัญญา หรือมาตรฐานด้านความยั่งยืนใดๆ เป็นที่กล่าวถึงในสังคมโลก ไม่ว่าจะเป็น SDGs (Sustainable Development Goals), แนวคิด ESG (Environment, Social และ Governance) ซึ่งกำลังมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจ, SBTi (Science Based Targets Initiative) หรือการรวมตัวขององค์กรระดับโลกที่ตั้งเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และ The Green Transition การเปลี่ยนผ่านกรอบในการปฏิบัติขององค์กรสู่แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว

          ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data และผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน เรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะ และความยืดหยุ่นในการประยุกต์ทักษะต่างๆ เข้ามาผสานกันหลายอย่าง เพื่อทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ในโลกที่หมุนเร็วอย่างทุกวันนี้ บางครั้งเราอาจต้อง Upskill และ Reskill ตนเองให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ที่คนทำงานในโลกยุคใหม่ต้องปรับตัวให้ทัน เพื่อให้สามารถอยู่ในตลาดงาน และสร้างสายอาชีพที่มีความมั่นคงได้


ที่มา

The Future of Big Data Recruitment: Trends and Predictions for 2024 (Online)

บทความ “Jobs Are Changing in 2024: How Experts Predict Roles Will Fade, Shift, and Grow in the New Year” จาก inc.com (Online)

บทความ “The 8 Biggest Future Of Work Trends In 2024 Everyone Needs To Be Ready For Now” จาก forbes.com (Online)

บทความ 10 Companies that Uses Big Data (Online)

บทความ 10 sustainability trends impacting business in 2024 and beyond (Online)

บทความ How to Become a Sustainability Specialist (Online)

บทความ It’s a big world, After all: How to become big data specialist (Online)

บทความ Maersk Line: Using the Internet of Things, Data, and Analytics to Change Their Culture. จาก (Online)

บทความ Three good reasons to hire a sustainability expert (Online)

บทความ Top 10 Trends and Expert Insights that will Define Sustainability in 2024 (Online)

บทความ What Is a Sustainability Specialist? (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก