‘Rhythm and Books’ ร้านหนังสือในเมืองเล็กกับจังหวะชีวิตของ ภาณุ มณีวัฒนกุล

1,298 views
9 mins
January 23, 2024

          แม้ใครๆ จะมองว่าวัฒนธรรมร้านหนังสืออิสระในไทยจะไม่เคยแข็งแรงและไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐเท่าที่ควร ยังไม่นับว่าในความไม่แข็งแรงและในจำนวนอันน้อยแสนน้อยของร้านหนังสืออิสระเหล่านั้นก็กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง เมืองใหญ่ๆ หรือเมืองท่องเที่ยวเพียงไม่กี่เมือง แต่ ‘บาฟ’ ภาณุ มณีวัฒนกุล นักเขียนสารคดี และช่างภาพที่เคยมีผลงานหนังสือรวมเล่มขายดีและภาพถ่ายสารคดีชีวิตต่างแดนไว้มากมายกลับท้าทายความเชื่อนั้น

          หลังจากตัดสินใจหยุดพักจากการเดินทางเพื่อเขียนหนังสือด้วยเงื่อนไขบางประการ ภาณุ ตัดสินใจเปิดร้านหนังสือเล็กๆ และแกลเลอรีในเมืองที่เล็กกว่าอย่างหัวหินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในชื่อร้าน Rhythm and Books ก่อนจะย้ายมาเปิดที่ปราณบุรี ร้านหนังสือ Rhythm and Books ของภาณุมีหนังสือเฉพาะทางที่ขายยากอย่างบทกวี หนังสือมือสองเก่าๆ ที่หายาก รวมทั้งหนังสือรวมภาพผลงานศิลปะต่างๆ ซึ่งขายยาก

          ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่า ร้านหนังสือในเมืองเล็กๆ เป็นโมเดลที่ยากจะประสบความสำเร็จ เพราะแม้แต่ร้านใหญ่ในเมืองใหญ่บางแห่งยังเอาตัวแทบไม่รอด แต่ภาณุก็ยังยืนยันที่จะทำร้านหนังสือในเมืองที่ไม่ได้เป็นศูนย์กลางการอ่านต่อไป เพราะเขาเชื่อว่าเมืองหัวหินและปราณบุรี ที่เขาเลือกเป็นบ้านในยามใกล้เกษียณอายุ นั้นสามารถสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้ค่อยเติบโตทีละนิดได้ แม้มันจะใช้เวลายาวนานสักเท่าไหร่ และไม่ว่ามันจะแลกมาด้วยอะไรก็ตาม

‘Rhythm and Books’ ร้านหนังสือในเมืองเล็กกับจังหวะชีวิตของ ภาณุ มณีวัฒนกุล
Photo : ชลธิบ รังสิพราหมณกุล

นับจนถึงวันนี้ร้านของคุณมีอายุ 11 ปี ขอย้อนถามว่าตอนนั้นคุณคิดยังไงถึงเริ่มทำร้านหนังสือในหัวหิน

          มันเริ่มจากไม่ได้เดินทางแล้วไงครับ ทีนี้ตัวผมเองเป็นคนเขียนเรื่องเดินทาง แล้วมันก็มีช่วงหนึ่งที่เราไม่ได้เดินทาง สาเหตุก็เป็นเรื่องส่วนตัว เพราะว่าต้องดูแลคนป่วยกันยาวๆ เราห่างการเขียนหนังสือ ทีนี้ก็มาดูว่าแล้วเราจะทำมาหากินอะไรผมก็พบว่าหนังสือที่เราเก็บไว้มันเยอะมากยังไม่นับของอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมดเลย 

ตั้งแต่สมัยที่เราตระเวนท่องเที่ยว เขียนหนังสือ แลกเปลี่ยนกับคนนั้นคนนี้ ซื้อมาอะไรอย่างนี้ใช่ไหม

          ใช่ครับ มีทั้งหนังสือที่ซื้อไว้เยอะมากเวลาไปต่างประเทศ โดยเฉพาะหนังสือภาพ หนังสือศิลปะ นิยาย หนังสือภาษาอังกฤษ 

          พอถึงวันที่ของที่เป็นสัมภาระมันกลายเป็นภาระ ก็เลยคิดว่า เอาล่ะวะ ลองขายหนังสือดูดีกว่า ก็เริ่มทำร้านหนังสือ อันที่จริงมันไม่ได้มีแค่หนังสือครับ มันมีแผ่นเสียง มีอะไรต่อมิอะไรที่เราเก็บๆ ไว้ แล้วก็มีความรู้สึกว่าบางทีมันก็ถึงเวลาที่จะเอาของรักของหวงมาปล่อยให้คนอื่นเขาได้เป็นเจ้าของบ้าง ก็โอเคนะ ใช้คอนเซปต์อันนั้นในการเปิดร้านครับ 

การเป็นนักเขียนมาเปิดร้านหนังสือ มันช่วยให้อะไรง่ายขึ้นไหม

          ก็ไม่ค่อยช่วยมาก (หัวเราะ) คนที่มาช่วยก็มีแต่เพื่อนทั้งนั้นน่ะครับ คือคนรู้จักเราในฐานะคนเขียนหนังสือ เขาไม่สนว่าเราจะเปิดร้านหนังสืออะไรหรอก เพื่อนที่มาช่วยส่วนใหญ่ก็มาช่วยเรื่องบัญชี เพราะเราไม่ถนัด  สำนักพิมพ์หลายๆ ที่ก็พยายามช่วยเหลือนะ ส่งหนังสือมาก็ขายได้บ้าง แรกๆ เราไม่รู้อะไรเลย ก็ศึกษากันไป จำได้ว่าวันแรกที่เปิดร้านมีลูกค้าเป็นคนฝรั่งเศสมาซื้อหนังสือเรา 150 บาทเราโคตรดีใจเลย (หัวเราะ) ช่วงแรกๆ การเป็นนักเขียนอะไรนี่ไม่ค่อยช่วยอะไร แต่สักพักหนึ่งพอมีคนเริ่มรู้เขาก็บอกต่อ อาจมีสื่อมาสัมภาษณ์บ้าง แล้วลูกค้าเริ่มเข้ามาเอง ลูกค้าที่มามีทั้งที่รู้จักเราและไม่รู้จักนะครับ กับคนที่รู้จักเรา เราบอกเสมอว่าไม่จำเป็นต้องมาซื้อหนังสือเราก็ได้ ทีนี้สิ่งที่มันได้มากไปกว่านั้นคือเราได้เจอผู้คนใหม่ๆ ก็ไม่ได้น้อยกว่าการออกเดินทางนะ เวลาเราเดินทางเราไปเจอเขาใช่ไหม แต่เวลาอยู่ที่ร้านหนังสือเขาก็มาหาเรา เขาไม่ได้มาหาเราในฐานะที่เราเป็นใคร เขามาหาเพราะหนังสือนี่แหละ

‘Rhythm and Books’ ร้านหนังสือในเมืองเล็กกับจังหวะชีวิตของ ภาณุ มณีวัฒนกุล
Photo : ชลธิบ รังสิพราหมณกุล

หัวหินมันมีเสน่ห์อะไรในสายตาคุณ ถึงมาเปิดที่นี่แทนที่จะเป็นกรุงเทพ

          เราชอบทะเลไง แต่เราไม่ไปพัทยาเพราะว่ามันเยอะไปทุกอย่าง มันแออัดไป แล้วพอไปแล้วมันไม่ถูกจริต อย่างหัวหินมันอยู่ใกล้กรุงเทพ แล้วช่วงนั้นเนี่ยคุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ เวลาแม่ป่วยเราเดินทางมาจากหัวหินมันใกล้ ขับรถสองสามชั่วโมงถึงเลย ให้เปิดที่เชียงใหม่ก็ไกลไป ในกรุงเทพเราก็ไม่ชอบ เราชอบเมืองที่มีทะเลภูเขาอะไรแบบนั้น

ในบรรดาธุรกิจต่างๆ ร้านหนังสือดูเป็นธุรกิจที่จะคืนทุนช้ามากๆ คุณรู้เรื่องนี้ใช่ไหม

          รู้ดีครับ แต่เราก็ไม่รู้จะทำอะไร เพราะทำอะไรไม่เป็น เรารู้จักหนังสืออย่างเดียวเลย คือจริงๆ เราเนี่ยมีความสามารถอื่นอยู่ ก็ถ่ายรูปได้ดีนะ แต่มีความรู้สึกว่าไม่เอา อยากอยู่นิ่งๆ ก่อน เพราะว่าที่ผ่านมามันเหนื่อย เรารู้ดีว่าขายหนังสือมันไม่ตอบโจทย์ในแง่ธุรกิจ แต่ตัดสินใจแล้ว คิดว่าเอาวะ เป็นไงเป็นกัน ใครก็เตือนว่ามันไม่รวยนะ แต่เราไม่ได้ทำเอาร่ำรวยแต่ทำเอามัน (หัวเราะ) มีความสุขที่จะทำ แล้วที่สำคัญคือว่ามันไม่ใช่แค่ความสุขอย่างเดียว มันเป็นสิ่งที่เรารู้จัก แล้วก็อยากทำด้วย หนังสือเนี่ยเรารู้จักมันมากที่สุด เป็นสิ่งที่เราเข้าใจธรรมชาติของมันมากที่สุด ทีนี้ถามว่าเหมือนอะไร เหมือนกับคนที่ขายก๋วยเตี๋ยวมา 20 ปี เขารู้ว่าจะต้องลวกเส้นนี้ลวกยังไง รู้ว่าจะต้องเอาน้ำร้อนใส่ลงไปในจานเพื่ออุ่นจานก่อน ก่อนที่จะใส่เส้นอะไรอย่างนี้

เป็นเทคนิคที่เราเรียนรู้มาจากการทำงานของเรา

          ใช่ครับ ลูกค้าที่เข้ามาที่ร้านเราเนี่ย เขาสามารถคุยกับเราได้ในหนังสือทุกเล่มเลยนะ แล้วมันไม่ใช่แค่นั้นนะ มันก็มีความรู้สึกว่าหนังสือมันหลากหลาย เขามาคุยกับเราเรื่องหนังสือดนตรี เราก็คุยเรื่องดนตรีไป มาคุยกับเราเรื่องถ่ายภาพ เราก็คุยเรื่องถ่ายภาพ คุยเรื่องวรรณกรรม เราก็คุยเพราะเราอ่านหนังสือวรรณกรรมอยู่แล้วทีนี้ถ้าคุณจะไปขายหรือทำประกอบอาชีพอะไรที่คุณไม่มีความรู้เนี่ย มันก็ไม่เวิร์ก จะให้ผมไปเป็นคนสวน ผมก็ทำได้นะ แต่มันไม่มีความสุขไง ผมเลือกที่จะเอากำไรไม่เยอะ แต่มีความสุขด้วยในการทำ  

11 ปีที่แล้วแถวนั้นมีร้านหนังสือไหม คนแถวนั้นมีมุมมองต่อร้านหนังสือยังไง คุณพอจะทราบไหม

          ผมไม่ได้คุยกับคนขายหนังสือ เวลาผมบอกว่าขายหนังสือคนยังนึกว่าผมขายของเก่า ขายลังเก่า กระดาษเก่าด้วยซ้ำ (หัวเราะ)  ในวันที่ผมเปิดร้านหนังสือมันเป็นยุคที่ร้านหนังสือกำลังล่มสลาย ร้านหนังสือไม่มีคนเข้า ร้านไม่มีลูกค้า ที่หัวหินมีร้านหนังสือแค่ 3-4 ร้าน ขายแมกกาซีนเป็นส่วนใหญ่ แล้วหนังสือเยอะที่สุดเนี่ยมันไม่ใช่หนังสืออ่านแต่เป็นตำราเรียน ซึ่งขายให้นักเรียน ขายให้โรงเรียน ทุกวันนี้ร้านหนังสือต่างจังหวัดเป็นแบบนั้นไปหมดแล้ว 

ไม่ใช่ร้านหนังสือสำหรับคนทั่วไปที่นึกจะซื้อหนังสือ ก็ เออ เข้าไปซื้อหนังสือหน่อย เหมือนซื้อกับข้าวอะไรอย่างนี้

          ร้านหนังสือถูกย้ายเข้ามาในห้างต่างๆ หมดแล้ว สายส่งเขาเป็นเจ้าเดียวกับร้านหนังสือใหญ่ ตอนผมอยู่ปีที่ 2 ที่ 3 เนี่ย เขาส่งเซลล์มาถามผมว่าทำไมถึงตัดสินใจมาทำ เขาก็ถามข้อมูลต่างๆ  ผมก็บอกไปหมดแหละ ไม่ได้มองเขาว่าเป็นคู่แข่ง หรือต่อให้แข่งกันขายหนังสือ ในธุรกิจนี้คุณก็ไม่ใช่ศัตรูที่จะมาฆ่าฟันกันได้หรอก (หัวเราะ) ผมก็บอกเขาไปว่าขายไม่ได้หรอก ขายหนังสืออย่างเดียวน่ะ มันต้องมีอย่างอื่นขายด้วย เป็นตัวล่อเช่นแผ่นเสียง ซีดี เทป หรือว่างานศิลปะด้วยอะไรอย่างนี้ เพราะว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันสามารถนำไปสู่การขายหนังสือได้ เช่นเป็นต้นว่าคนฟังเพลงของ Bob Dylan พอฟังเสร็จคุณรู้ไหมว่าไอ้หมอนี่เขียนหนังสือดีฉิบหาย เราก็คุยให้ฟัง เขาก็ถามว่าอ้าว เขาเขียนหนังสือเหรอพี่ เราก็แนะนำหนังสือที่ Bob Dylan เขียน หรือคุณลองฟังเนื้อหาดนตรีของ Nick Cave ดูสิ นักร้องที่คนเชื่อว่ามันไม่นับถือศาสนา

          บทสนทนาแบบนี้มันนำไปสู่การขายหนังสือได้หมดเลย อย่างคุณดูหนังเนี่ย คุณรู้ไหมว่าหนังเรื่องนี้สร้างจากหนังสือเล่มนี้ หรือบางคนชอบถ่ายภาพ มาซื้อหนังสือภาพ ร้านผมเนี่ยขายของพวกนี้ไง มันจะไม่เหมือนกับร้านหนังสือในห้าง หรือว่าร้านหนังสือทั่วไป มันเป็นร้านที่เป็นคอลเลกชันส่วนตัวของคนตัวเล็กๆ มันก็ทำให้ร้านมีบุคลิกเฉพาะของมัน แล้วที่สำคัญคือเราทำคนเดียว เราไม่ได้จ้างใคร คนมาก็คือคุยกับเรา ซึ่งหลังๆ ก็คุยอย่างเดียว เราก็เลยบอกอย่าคุยมาก ซื้อของบ้าง (หัวเราะ) มันก็ต้องบอกนะ คนเขาก็เข้าใจ แต่ก็ถามว่าผมมีความสุขไหม มันสุขมากๆ เลย แลกกับที่มันไม่ได้ขายดีมาก ถึงขั้นไม่มีคนเลย

‘Rhythm and Books’ ร้านหนังสือในเมืองเล็กกับจังหวะชีวิตของ ภาณุ มณีวัฒนกุล
Photo : Bhanu Maneevathanakul

ช่วงไหน ช่วงนั้นเกิดอะไรขึ้น

          คือมาอยู่หัวหินปีแรกๆ ประมาณเดือนกันยายน เดือนกันยาที่หัวหินเนี่ยจะไม่มีคนเลย เป็นเดือนที่ปราบเซียน ช่วงนั้นเนี่ยผมไม่มีเงิน ผมเดินข้ามถนนไปของานเขาทำนะ

โอ้!

          เออ เมื่อก่อนมีร้านก๋วยเตี๋ยวของอดีตนายทหารมาเปิด ก่อนหน้าผมก็เคยกินก๋วยเตี๋ยวแกอยู่นะ แต่วันนั้นผมเดินเข้าไปของานแกทำ เขามองหน้าผมแล้วบอก “พี่ พี่จะมากินก๋วยเตี๋ยว กินเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องมาของานทำหรอก” นั่นคือช่วงที่ไม่มีคนเข้าร้านเลย มันยากขนาดนั้น แต่มันผ่านมาแล้ว ร้านนั้นก็ปิดไปแล้ว ผมเป็นคนง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ถ้าเงินไม่มีก็หางานทำสิ นั่นแหละ ชีวิต ก็สนุกดี

สรุปอย่างนี้ได้ไหมว่าร้านหนังสือของคุณแตกต่างจากร้านอื่นเพราะว่าคุณดูแลมันเอง เรารู้จักหนังสือทุกเล่มในร้าน มันช่วยให้เราสร้างบทสนทนากับลูกค้า ขณะที่ร้านอื่นๆ เป็นพนักงานขาย เขาคงจะไม่สามารถสร้างบทสนทนาแบบเราที่เป็นเจ้าของร้านหนังสือทำเองได้ มันอาจจะทำให้ร้านหนังสือเรามีคาแรกเตอร์อะไรบางอย่าง

          ถูกต้องครับ ผมอยากจะพูดอย่างนี้นะ ร้านหนังสือต่างประเทศ ร้านหนังสืออิสระในเมืองนอกเป็นแบบนี้ทั้งนั้น เป็นเรื่องธรรมดา คนขายหรือพนักงานเนี่ยรู้เรื่องหนังสือ รู้เรื่องศิลปะ รู้เรื่องพวกนี้ รู้เรื่องสินค้าที่ขายเป็นสิ่งปกติ ไม่ใช่มีหน้าที่ต้องขาย เราต้องสามารถคุยกับพวกเขาได้ อย่างผมไปแคนาดาเนี่ย ไปร้านหนังสือเก่า นั่งคุย กลายเป็นว่าสนิทกันเลย ไปหาเขาเนี่ยต้องกินกาแฟทุกเช้า แล้วคุยกันเรื่องหนังสือ ซึ่งเป็นเรื่องที่มันเหนือกว่าเรื่องธุรกิจไปแล้ว แต่มันเป็นเรื่องของการมองหาโลกทัศน์ใหม่ อย่างเขาขายหนังสือเนี่ยเขาเป็นพนักงานนะ ไม่ใช่เจ้าของ เราคุยกันเรื่องกาแฟ เรื่องหนังสือ ศิลปะต่างๆ แล้วมันก็ต่อยอดความคิดเราได้

หมายความว่าร้านหนังสือมันต้องการพื้นที่ในการพูดคุยระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ แม้ว่าผู้ขายจะเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตามแต่ถ้ามันได้พูดคุยกัน ได้เรียนรู้ร่วมกันมันจะทำให้ร้านหนังสือจะทำงานตามหน้าที่ของมันจริงๆ อย่างนั้นหรือเปล่า

          ผมว่ามันเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงมันเป็นแบบนั้นได้ไหมล่ะ โลกทุกวันนี้เวลามันกลายเป็นสิ่งที่คุณจะไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือยแล้วไง เวลาที่ฉันมีให้คุณสิบนาที ฉันมีเวลาให้คุณเท่านี้แล้วนะ เพราะฉันมีเวลาที่ต้องทำเงินไง โลกทุกวันนี้มันเป็นแบบนี้แล้วไง การอ่านหนังสือสำหรับผมเนี่ยนะ เชื่อไม่เชื่อไม่รู้ ผมมองว่าคนที่อ่านหนังสือเยอะคือคนที่มีชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย

‘Rhythm and Books’ ร้านหนังสือในเมืองเล็กกับจังหวะชีวิตของ ภาณุ มณีวัฒนกุล
Photo : Bhanu Maneevathanakul

ต้องมีเวลามากพอ

          ใช่ คุณต้องเป็นคนมีเวลามากที่จะอ่าน James Joyce คุณต้องเป็นคนมีเวลามากที่จะอ่าน ภควัทคีตา เพราะหนังสือเล่มใหญ่ๆ มันเอาเวลาคุณไปเยอะ แม้ว่าเวลาคุณอ่านจบคุณจะรู้เยอะฉิบหาย แต่มันแปลว่าคุณมีเวลาเยอะกว่าคนอื่น  ในขณะที่ชาวบ้านเนี่ย อ่านหนังสือเล่มหนึ่งใช้เวลาสองเดือน ทั้งที่หนังสือมันคือแหล่งความรู้ คุณนึกออกไหม อันนี้ผมว่าน่าคิดน่าสนใจ แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือมันก็ต่างไปจากสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ เพราะมันก่อให้เกิดสติปัญญา ก่อให้เกิดความรู้ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจในโลก คนที่อ่านหนังสือเยอะกว่าก็จะมีความหลากหลายกว่า ความรู้มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์นะ 

คุณกำลังบอกว่า หนังสือกำลังจะกลายเป็นสินค้าของคนที่มีทั้งเวลาและมีทั้งกำลังซื้อ ราคาอาจจะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับซื้อรถ ซื้อเพชร ซื้อพลอย แต่ว่า…

          No No No! อันนี้ผมไม่เห็นด้วยนะ ผมกลับมีความรู้สึกว่าทุกวันนี้ราคาหนังสือแพงมาก วิธีดูว่ามันแพงคือให้ดูว่าราคาหนังสือมันสูงกว่าค่าครองชีพของคนทั่วไปแค่ไหน ความสามารถในการจ่ายเงินซื้อได้มันกระทบปากท้องเขาไหม ราคาหนังสือที่มันแพง คนที่ซื้อมันได้คือคนที่มีกำลังซื้อ แล้วต้องมีเวลาอ่าน หนังสือเล่มหนึ่งคุณอย่าลืมนะ เท่ากับค่าครองชีพแรงงานของคนหนึ่งวัน อันนี้ผมว่าแพงนะ

หนังสือร้านคุณแพงไหม

          แพงไปหรือเปล่าไม่รู้ แต่คุณถ้าอยากจะอ่านจริงๆ อันนี้ไม่แพง เคยมีเด็กเข้ามาแล้วก็บอกว่า “อยากจะแลกหนังสือ ลุงแลกได้ไหม?” ผมถาม “ทำไมล่ะ?” “ผมยังขอตังค์พ่อแม่อยู่เลย” ผมดูปกหนังสือ 320 เด็กมีตังค์อยู่ 180 แบบนี้คุณอาจสรุปว่าแพงไป อีกลูกค้าอีกคนหนึ่งเข้ามา เป็นเชฟคนไทยกลับมาจากเบลเยียม มาซื้อหนังสือผม คนเดียวเนี่ยนะครับ เก้าพันกว่าบาท คุณลองนึกภาพดูสิ เนี่ยเด็กคนนี้มีตังค์ 180 อยากได้หนังสือ 320 “ลุงครับ เดี๋ยวติดไว้ก่อนได้ไหม?” คุณจะตอบว่ายังไง มันก็เหมือนกับวันหนึ่งผมอยากขับรถเบนซ์ แต่ผมมีเงินอยู่เท่านี้ ไอ้ตรงนี้มันทำให้ผมคิดมากเลย ว่าจะทำยังไงให้ราคาหนังสือมันถูก

แล้วตอบเด็กคนนั้นว่ายังไง

          ตอบเด็กคนนั้นเหรอ “อ่อ ได้เลย” แต่เขาก็ไม่ได้กลับมานะ ก็เข้าใจได้ (หัวเราะ) ผมยังชอบที่ คุณชาติ กอบจิตติ เนี่ย แกทำราคาหนังสือที่ตัวเองพิมพ์ให้ถูกนะ ใช้กระดาษปรูฟไม่ใช้กระดาษปอนด์ ผมเห็นด้วยเลย ผมนับถือมากเลย 

เปิดร้านที่หัวหินอยู่นานแค่ไหนถึงย้ายมาปราณบุรี

          คือชีวิตมันก็เหมือนถูกส้นตีนถีบอีกรอบหนึ่ง (หัวเราะ) คนใกล้ตัวผมกลับมาเป็นโรคมะเร็งอีกรอบ ก็เลยต้องดูแลกันอีกรอบ (หัวเราะ) แล้วต้องปิดร้านที่หัวหิน เพราะว่าเขาเองก็ตัวคนเดียว ผมเองก็ตัวคนเดียว คืออายุก็เยอะแล้วไง แล้วรับปากแล้วว่าจะดูแลกันไป ผมก็ปิดร้านแล้วก็ฝากเจ้าของร้านไว้ ก็หายหัวไปสองปีก็กลับมาอีก ทีนี้กลับมาก็มาเช่าทาวน์เฮาส์เปิดร้านที่ปราณฯ​ นี่แหละ

Photo : Bhanu Maneevathanakul
‘Rhythm and Books’ ร้านหนังสือในเมืองเล็กกับจังหวะชีวิตของ ภาณุ มณีวัฒนกุล
Photo : Bhanu Maneevathanakul

‘Rhythm and Books’ ร้านหนังสือในเมืองเล็กกับจังหวะชีวิตของ ภาณุ มณีวัฒนกุล
Photo : Bhanu Maneevathanakul

คิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมการอ่านเล็กๆ ให้กับเมืองเล็กๆ มากน้อยแค่ไหน

          ไม่ๆ ไม่ได้คิดขนาดนั้นน่ะนะครับ แต่ว่ามีความอยากที่จะให้คนอ่านหนังสือที่หัวหินหรือที่ผมอยู่เนี่ย มาพบปะกัน มาเจอกัน แล้วก็มาแบ่งปัน มาได้รู้จักกัน เราพยายามจัดกิจกรรม Book Club ให้เกิดขึ้นมาตลอดแต่มันยากนะครับ ปัญหาที่ผมเจอคือพอถึงเวลาให้มาจริงๆ เขาก็ไม่มา ตอนชวนเขาแฮปปี้นะ “เนี่ยๆ หนูชอบอ่าน” แต่พอถึงจุดที่จะมา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเขามีความรู้สึกว่าเขาเกรงว่าจะอ่านหนังสือไม่ถึงระดับที่จะมาพูดหรือมาแชร์อะไรได้ “ไม่รู้จะพูดอะไรพี่” คือตรงนี้มันสะท้อนให้เห็นถึงความไม่กล้าแสดงออก แล้วก็อีกอันหนึ่งคือมีความกังวลวิตกว่าตัวเองด้อยกว่า เพราะว่าอ่านทมยันตีหรืออ่านนิยายอะไรก็ตามที่มันไม่ใช่นิยายชื่อภาษาอังกฤษ 

ฉันอ่านหนังสือละคง-ละครของฉัน ฉันก็เขิน มันไม่ค่อยฉลาด

          มันไม่สำคัญเลย สำหรับผมแล้วการอ่านมันไม่ได้หยุดแค่หนังสือไง การอ่านมันเป็นสิ่งที่ไม่มีขอบเขต คุณอ่านท้องฟ้าก็ได้ คุณอ่านดาวก็ได้ คุณอ่านกระแสลมก็ได้ คุณอ่านคนก็ได้ คุณอ่านชีวิตสัตว์ก็ได้ คุณอ่านแท็บเลตก็ได้ คุณอ่านมือถือก็ได้ สำหรับผมเรื่องของการอ่านไม่ได้หมายถึงหนังสือไง เราไม่ได้สถาปนาว่าสำหรับคนที่ชอบอ่านหนังสือหรือรักการอ่านเนี่ย ต้องอ่านหนังสือสิ หรือถึงขั้นประณามคนที่อ่านในมือถือว่าเป็นสังคมก้มหน้า บางทีเขาอาจจะอ่าน E-book นึกออกไหม การมีมือถือไม่ใช่อุปกรณ์ของคนบาป แล้วหนังสือที่คุณอ่านบางเล่มแม่งแย่กว่ายาพิษอีก ตกลงการอ่านมันถูกสร้างให้เป็นอะไรในสังคมเรา ผมว่ามันถูกทำให้เกินกว่าสิ่งที่มันควรจะเป็น โอ้โห อ่านหนังสือ มันดูดี มันดูอบอุ่นดู intellectual ใช่ ที่เป็นแบบนั้นก็มี แต่ในขณะเดียวกัน อย่าไปให้คุณค่ากับมันเยอะไป อย่างอื่นมันมีคุณค่าพอๆ กันนั่นแหละ

แล้วทำไมเราถึงให้ความสำคัญมากกับการอ่าน

          หนังสือมันมีประวัติศาสตร์มากกว่าสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเท่านั้นเอง ต่อไปในอนาคตเนี่ย อีก 50 ปี หรืออีก 100 ปี 200 ปีจากนี้ต่อไป หนังสือที่ถูกทำขึ้นมาตอนนั้น มันก็ไม่ได้ต่างกัน ทุกวันนี้คุณอ่านหนังสือ คุณแบกหนังสือแม่งเท่มาก อุ๊ย ไปร้านหนังสือทั่วโลกเลย ก็ดีไง ผมก็ทำมา ไม่ดีได้ไง แต่ไม่ได้แปลว่าบ้านของคนที่เขาไม่มีหนังสือเขาจะเป็นคนโง่ มันต้องเข้าใจว่าคนที่ไม่ได้อ่านหนังสือ ก็มีมากมาย ไม่ใช่ว่าเขาไม่อ่านเพราะมัวแต่ไปทำอย่างอื่น ไม่ใช่ คนที่ไม่อ่านหนังสือเพราะอ่านหนังสือไม่ออกก็เยอะนะ ไม่มีเวลาอ่านก็เยอะนะ เพราะฉะนั้นเนี่ยต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย คุณดูเด็กรุ่นใหม่ ผมคุยกับพวกเขา เขารู้เยอะฉิบหาย 

ทั้งๆ ที่อาจจะไม่อ่านจากหนังสือก็ได้

          เออ ถามอ่านหนังสืออะไรไหม บอกไม่ค่อยได้อ่าน อ่านแต่ในนี้ (ชี้โทรศัพท์) แล้วที่บอกว่าเนี่ยเสพสื่อโซเชียลมันอันตรายนะ จากที่คุยผมก็ยังไม่เจอว่ามันอันตรายตรงไหนเลย คุณต้องเข้าใจว่าความอันตรายเนี่ย มันควบคุมได้หรือเปล่า มันควบคุมได้ คุณดูกระทรวงดิจิทัล กระทรวงอะไรของประเทศไทย แม่งมาปิดเว็บโป๊ ปิดทำเหี้ยอะไร มึงบ้าหรือเปล่า อะไรที่มันเสรีภาพในการที่จะเข้าถึง ในการที่จะอ่าน ผมว่ามันเป็นเรื่องที่คนมนุษย์มันสามารถที่จะเรียนรู้ได้ มันสามารถที่จะเลือกได้ คุณอย่าไปห้าม หนังสือโป๊เนี่ย เมื่อก่อนต้องแอบอ่าน แต่มาทุกวันนี้การพูดเรื่องโป๊ก็ไม่ได้ผิดบาปอะไร 

มันมีงานวิจัย เขาพบว่าเด็กเจน Z กลับชอบอ่านหนังสือเล่มมากกว่า E-book เพราะเขารู้สึกว่าเขาได้จับกระดาษ

          ใช่ ผมก็อ่านเจอ

คุณคิดยังไงกับเรื่องนี้

          ผมว่าเป็นเรื่องปกติของการที่ทุกอย่างมันวนกลับมา วนลูปอะ ลูกค้าผมเนี่ยเด็กรุ่นใหม่ซื้อหนังสือเยอะมาก แล้วเด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับเทปรีล (Real) ไม่ใช่เทปคาสเซ็ตนะ เป็นแถบบันทึกเสียงสมัยก่อน แล้วก็แผ่นเสียง เด็กรุ่นใหม่สนใจมากกว่า ถามว่าทำไม เพราะว่าเขาตื่นตาตื่นใจกับสิ่งเหล่านี้ไง ในขณะที่ผู้ใหญ่บอก “ก็มีอยู่แค่นี้” การที่ผู้ใหญ่เข้ามาร้านผมแล้วมาพูด “เล่มนี้ผมอ่านแล้ว” มันสะท้อนอะไร คุณไปคิดเอาเอง ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่บอกว่า “โอ้โห ทำยังไงครับ?” เขาศึกษา ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่บอกว่าเคยมีแล้ว มันสะท้อนให้เห็นถึงอะไรล่ะ คุณอยากรู้อะไรใหม่ๆ หรือเปล่า คุณกำลังเบื่อหน่ายอะไรหรือเปล่า

          นี่ไง ผมว่าไอ้ความใหม่เนี่ยนะ สำหรับผมก็คือความเก่าก็ได้ แต่เขาเพิ่งรู้ การที่เขามาศึกษาสิ่งเก่าๆ ก็คือเขาได้ความรู้ใหม่ ในขณะที่คนรุ่นเก่าศึกษาสิ่งใหม่ๆ กันบ้างไหม ผมยังจำได้ติดหูติตตา สมัยผมใช้คอมพิวเตอร์ใหม่ๆ พิมพ์ต้นฉบับ นักเขียนบางคนบอกมันไม่ได้ฟีลลิงเท่าพิมพ์ดีด มันต้องได้ยินเสียงใส่กระดาษ ปัดแคร่ มันต้องได้กลิ่นหมึก ตอนนั้นเรากลับไม่ยอมรับ แต่พอเด็กรุ่นนี้มาสนใจอะไรแบบนี้ “กูรู้หมดแล้ว” “ยุ่งฉิบหาย เด็กรุ่นใหม่ทุกยุคทุกสมัยแม่งยุ่งฉิบหาย” มันเจ็บปวดนะเว้ย จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้เนี่ย (หัวเราะ)

ถามเรื่อง book club ต่อนิดหนึ่ง คุณบอกว่าอาจจะติดเรื่องเขารู้สึกว่าพอถึงเวลาจะมาจริงๆ ไม่ค่อยอยากแสดงความคิดเห็น ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น  แล้วมันมีประเด็นอื่นอีกไหม  ทำไมมันถึงไม่ประสบความสำเร็จเสียที

          ประเด็นอื่นเนี่ยก็คือตัวตนของเขาด้วยมั้ง ตัวตนของคนที่อ่านหนังสือคงไม่อยากจะรู้จักใครมากมั้ง ประมาณนั้น มันมีเรื่องที่ผมเคยเล่าไปแล้ว แล้วมันก็สร้างความสั่นสะเทือนแม้กระทั่งให้กับผมเอง ก็คือมีลูกค้ารายหนึ่งซึ่งแกก็ขายบริการนั่นแหละ พูดง่ายๆ แกมีตังค์แกก็เปิดร้านนวด แกมาที่ร้านผม ในระหว่างนั้นเนี่ย ผมก็คุยกับนักเรียนนอกอยู่สองคน กำลังคุยกันอยู่เรื่องหนังสือ ผมบอกน้อง “พี่ขอต้อนรับแขกก่อน” น้องบอก “เชิญเลยพี่” ลูกค้าคนนั้นก็บอกขอดูหนังสือ “หนังสือนี้ขายใช่ไหม?” ผมบอกใช่ เขาก็เข้ามาใช้เวลาดูหนังสือ หยิบหนังสือ เรามีความรู้สึกว่าเราทึ่งนะ กับการใช้เวลาดูหนังสือ หยิบหนังสือของแก แล้วออกไปจากร้านหนังสือผมเนี่ย แกซื้อหนังสือของ Leo Tolstoy, Fyodor Dostoyevsky, Vladimir Nabokov, Maxim Gorky หยิบขึ้นมาแล้วเอามาวาง บอก “พี่ หนูเอาเท่านี้” แล้วหน้าเราเหมือนเจอผี จริงๆ ผีที่เราบอกว่าเจอนี่คือนางฟ้านะ 

แต่ละเล่มไม่ธรรมดานะ 

          ไอ้น้องสองคนแทบตกเก้าอี้ ทึ่งเลย แล้วก็นั่งคุยกัน สรุปก็คืออ่านแล้วดีไหม ชอบเล่มไหน โอ้โห เอ่ยชื่อแต่ละเล่มคืออ่านหมดแล้ว แล้วผมถามว่าอ่านแล้วรู้สึกยังไงบ้าง รู้ไหมเขาตอบว่าไง “เหมือนมันเอาชีวิตพวกหนูไปเขียน”

โอ้

          เราจะไปหาคนวิจารณ์ขนาดนี้ได้ยังไง มึงไม่ต้องอ้างว่าสำนักไหน อ่านของใคร ตอบแค่นี้จบเลย แต่เขาพูดมาคำหนึ่ง เขาบอกว่า “เสียอย่างเดียวพี่ ตัวละครมันเยอะ ชื่อมันจำยากว่ะ” คุณเข้าใจไหมว่าถ้าคนแม่งไม่ได้อ่าน แล้วคนแม่งไม่ได้มีชีวิต ไม่ได้ใช้ชีวิต เข้าใจชีวิตได้ในระดับนี้ ไม่มีทางพูดได้ขนาดนี้ แล้วผมเจอเธออีกครั้งสองครั้ง ก็ยังซื้อเหมือนเดิม แต่ว่าตอนหลังก็หายไปเลย ผมก็ไม่ทราบว่ายังไง ในขณะเดียวกันสิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือว่า โอ้โห ชีวิตของเราเนี่ย เราดูถูกคนไม่ได้เลยว่าเขาไม่เคยอ่านพวกนี้ เขาอ่านแต่น้ำเน่า ไม่ใช่แล้ว

          ตั้งแต่นั้นมา สำหรับผม หนังสือก็คือหนังสือ อย่าไปเรียกร้องให้คนอ่านเหมือนเรา การที่เราจะพูดถึงหนังสืออะไรสักเล่ม มันสำคัญมาก แค่นี้มันคือชีวิตของผมที่ผมเจอมา ถ้าหลังจากนี้ที่ผมคุยกับคุณแล้วผมไม่ได้ทำร้านหนังสืออีกแล้วเนี่ยนะ นี่คือสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตผม ได้เจอคนอ่านหนังสือแบบนี้ เข้าใจแค่นี้ สำหรับผมผมถือว่าที่สุดแล้ว

ความสุขของคุณในตอนนี้คืออะไร

          คือได้ทำสิ่งที่อยู่ตรงนี้ คือได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับการอ่านหนังสือ ได้เจอผู้คน ได้จัดร้าน ได้ฟังเพลง คือมันจะต่างจากตอนที่ผมช่วงอื่นในชีวิตไง การฟังเพลงช่วงอื่นในชีวิตมันไม่ได้ฟังเข้มข้นขนาดนี้พูดง่ายๆ คืออ่านหนังสือไม่ได้อ่านเข้มข้นเหมือนกับตอนที่เป็นเจ้าของร้านหนังสือ นี่คือความสุข มันเกิดจากการที่มีลูกค้า มีคนเข้ามาร้านผม แล้วเขาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผม เขาบอกผมในสิ่งที่ผมไม่เคยรู้ ก็คุยกันไป สาขานู้นสาขานี้ เราได้คุยกับเด็ก ลูกค้าผมเนี่ย มีตั้งแต่มาที่ร้านตั้งแต่อยู่ร้านแรก หัวหินน่ะ ทุกวันนี้เพิ่งทำงานเป็นปีแรก ก็ยังมาเป็นประจำ ซึ่งเราเห็นความเติบโตของเขา ซึ่ง โอ้โห แม่ง ชีวิต จากนักเรียนทุกวันนี้เป็นสัตวแพทย์ มาคุยกับเราเรื่องสอนเราเรื่องนี้ “ระวังนะลุงนะ” เขาก็เรียกว่าลุงนั่นแหละ เนี่ยคือสิ่งที่ผมว่าเป็นความสุข ความสุขมันไม่เหมือนกันน่ะ คุณก็รู้ 

ถ้าอย่างนั้นสิ่งนี้ก็นับเป็นความสำเร็จของการทำร้านหนังสือสำหรับคุณ พอจะพูดได้ไหม เพราะว่าในแง่ของธุรกิจมันก็ไม่ได้จะขนาดนั้น

          ถูกต้องครับ ใช่เลย ก็นี่แหละครับ แล้วสิ่งสำคัญก็คือผมได้ใช้ชีวิตของผมด้วย เช้าผมปั่นจักรยาน เย็นผมเดินทะเล

‘Rhythm and Books’ ร้านหนังสือในเมืองเล็กกับจังหวะชีวิตของ ภาณุ มณีวัฒนกุล
Photo : ชลธิบ รังสิพราหมณกุล

พอเหมาะพอดีกับจังหวะชีวิตของตัวเองในตอนนี้ไหม

          ผมคิดว่าเหมาะว่ะ เหมือนกับที่หลายๆ คนบอกว่าถ้าไม่เกิดสิ่งนี้ก็ไม่มีสิ่งนี้อะไรแบบนี้ มันอาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้นะ หรือที่บางคนบอกว่าพระเจ้าทดลอง ก็เป็นได้อีก

เพื่อให้เรามาเจอสิ่งเหล่านี้ เพื่อทดสอบเรา

          ใช่ (หัวเราะ) เราผ่านไปได้ไหม ก็ได้หมด สำหรับผมแล้วตอนนี้ผมว่ามันโอเค แต่ว่าในขณะเดียวกันเนี่ย อย่ามีคนแบบผมเยอะ ประเทศจะไม่ก้าวหน้า (หัวเราะ) ประเทศจะก้าวหน้าต้องมีคนที่หลากหลาย 

คิดว่าอนาคตของ Rhythm and Booksจะเป็นยังไง  มองวางแผนระยะยาวสำหรับกิจการของตัวเองไว้แค่ไหน

          คือไม่ได้มากมาย แต่ที่น่าปลื้มใจตอนนี้คือมีคนให้ความสนใจ “อยากจะทำร้านแบบนี้ พี่ไปทำกับผมไหม พี่ไปทำกับหนูไหม?” ที่เกาะบางเกาะก็มี ชวนไป เป็นไปได้ที่สุดเร็วๆ นี้ก็คืออำเภอปากน้ำปราณ ที่ผมอยู่นี่เลย แต่ว่าในตัวอำเภอเลย ของผมอยู่นอกอำเภอมานิดนึง เขาก็เป็นคนพื้นที่ เด็กรุ่นใหม่ ชอบถ่ายรูป ชอบอ่านหนังสือ ที่บ้านพอจะมีทุนทำ เขาก็อยากให้เราเอาร้านนี้ไปทำที่ของเขาที่จะก่อสร้างใหม่ เป็นสาขาที่สอง ฟังดูแล้วก็สนุกดี เน้นเรื่องหนังสือกับงานศิลปะอะไรพวกนี้

ถามในรายละเอียดนิดหนึ่ง ร้านหนังสือเนี่ย มันจะมีร้านหนังสือประเภทที่อะไรออกใหม่ก็ขาย เป็นหนังสือทั่วๆ ไป ที่เหมือนกันทั่วประเทศ กับร้านหนังสือที่เลือกหนังสือบางอย่างอะไรอย่างนี้เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่นอะไรแบบนี้…

          คือผมว่าอย่างนี้ สำหรับผมเนี่ย คนท้องถิ่นเนี่ยมาร้านผมน้อยมากนะ แต่เป็นคนจากข้างนอก คนท้องถิ่นนี่แทบจะไม่มีเลยล่ะ แต่ว่าคนจากข้างนอกมา ทีนี้ผมไม่ได้มองไกลขนาดถึงคนท้องถิ่น แต่ผมมองว่ามันอยู่ที่ตัวผมมากกว่า เราชอบอ่านหนังสือแบบไหน เราเป็นคนแบบไหน ร้านก็จะมีแบบนั้น ประมาณนั้น ผมสนใจเรื่องอาหารการกินก็มีหนังสือประเภทอาหารการกิน แต่อาหารการกินของผมไม่ได้จำกัดอยู่แค่วิธีการปรุง มันอยู่ที่คู่มือการใช้มีด เรื่องวัตถุดิบ เรื่องประวัติ แม้กระทั่งเรื่องนิยายเกี่ยวกับอาหารเราก็มีในส่วนตรงนี้ คือมันอยู่ที่ตัวเรา 

ร้านหนังสือร้านเล็กๆ แบบนี้ สะท้อนอัตลักษณ์ของตัวเรามากกว่า ใช่ไหม

          ถูกต้องครับ เราเป็นคนแบบไหน ร้านหนังสือก็จะเป็นแบบนั้น เช่นเดียวกับเวลาที่เราทำหนังสือ แต่มันไม่ได้สะท้อนทั้งหมดนะ มันสะท้อนให้เห็นถึงว่าเราชอบแบบไหนเท่านั้นเอง ส่วนเราจะเป็นคนดีหรือไม่ดีไม่มีอะไรสะท้อนได้ (หัวเราะ) 

อยากพูดอะไรกับองค์กรทางภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องร้านหนังสืออิสระไหม 

          ไม่รู้สิ ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องการช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่แล้ว เพราะว่าเราอยู่กับรัฐบาลที่ไม่เคยมองเห็นคุณค่าของหนังสือมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นผมเนี่ยนะ มันก็เลยไม่ได้ไปฝากความหวังอะไร เท่าไหร่ นอกจากเราสร้างตัวของเราเอง ถ้าเราสร้างของเราเองเสร็จแล้ว เราอยู่ได้มันก็โอเคไง จริงๆ แล้วถ้าจะให้มันเจริญก้าวหน้าจะเป็นเรื่องที่ดีมากถ้ารัฐบาลให้ความสนใจ แต่ผมมีความรู้สึกว่าไม่ใช่เฉพาะร้านหนังสืออิสระ หรือร้านหนังสือเล็กๆ ต้องสนใจในเรื่องของการที่ให้ประชาชนได้อ่านหนังสือ คุณมีร้านหนังสือแต่คนไม่อ่านหนังสือมันก็ลำบากเนอะ มันต้องให้คนรักการอ่านด้วย ให้สนใจร้านหนังสือเนี่ยมันก็ได้ แต่ถ้าสมมติว่ารัฐบาลจะช่วยตรงนี้ ก็จะมีร้านเต็มไปหมดเลย เพราะรัฐบาลจะช่วยไง ก็คือมีเงินมาไง ผมว่าไอ้ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากมากๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือที่ไหน เพราะฉะนั้นเนี่ยรัฐบาลคงช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ว่าการที่รัฐบาลจะช่วยยังไงก็อีกเรื่องหนึ่งนะ มันไม่ใช่เรื่องง่าย มันซับซ้อนมาก

คำถามสุดท้ายสมมติว่าคนหนุ่มสาวอยากจะปรึกษาว่าเขาอยากจะทำโมเดลของร้านนี้หรืออาจจะร้านหนังสือชุมชนอยู่ในจังหวัดอื่น ไม่ใช่เมืองทะเล อาจจะเป็นเมืองภูเขา เมืองอะไรก็แล้วแต่ คุณคิดว่าสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้มา มันสามารถที่จะแบ่งปันในฐานะ know-how องค์ความรู้บางอย่างเหล่านั้นได้ไหม แล้วจะแบ่งปันว่าอะไร

          คือผมว่าทุกวันนี้เขาก็มีการเลียนแบบกันอยู่แล้วนะ คุณใช้คำว่าแบ่งปันองค์ความรู้ เขาก็เลียนแบบมันอยู่แล้ว แต่ปัญหาสำคัญคือเขาทำจริงกันไหม สำหรับผม ผมว่าการทำให้จริงจังเนี่ยเป็นเรื่องที่สำคัญ 

คำแนะนำแรกคือจริงจัง

          ใช่ครับ ต้องทำจริงจังนะ แล้วคุณอยู่ได้ไหม สำคัญตรงนี้ ต้องลงมือทำเลย คุณต้องอยู่ให้ได้กับมัน ไม่ใช่แบบว่าอยากทำเพราะเห็นเขาทำตรงนี้แล้วได้เงิน มันต้องถามอะไรเยอะมากนะ เพราะฉะนั้นเนี่ย ถ้าเขาทำอยู่สองสามปีแล้วเขาไม่ประสบผลสำเร็จ จะไปว่าเขาไม่ได้ หรือเห็นเขาทำแล้วไปทำตามจะบอกว่าเขาเห่อตามไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าเขาต้องการจะทำเอง

          บางทีมันยากมากกว่าจะผ่านไปได้เนี่ย โอ้โห ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อยู่มากี่ครั้งแล้วผมอะ ยิ่งผมเนี่ย คนก็บอกว่าอารมณ์ศิลปิน แล้วผมก็มีความรู้สึกว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปโพนทะนาหรือไปแก้ตัวหรือไปบอก มันต้องจริงจังไง มันเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจสำหรับคนที่ทำหนังสือ สิ่งแรกที่ต้องตั้งใจคือ ไม่รวยนะ แต่อยู่ได้ และมีความสุข ถ้าคิดจะรวยเนี่ย ไม่รวยนะ

ถ้าคิดจะรวยไปทำอย่างอื่นเถอะ

          ทำงานอย่างอื่น หรือรู้จักที่จะเอาหนังสือเป็นสินค้าในร้านด้วยที่จะทำ เช่น ขายกาแฟขายเบเกอรี่ แล้วมีหนังสือ อันนี้โอเค เพราะร้านหนังสือเมืองนอกทุกวันนี้เปลี่ยนสภาพหมดแล้ว มันต้องมีเบเกอรี่อยู่ด้วย ต้องมีกาแฟอยู่ด้วย มันต้องขายอย่างอื่นด้วย เราต้องยอมรับว่าหนังสือมันเป็นสินค้าที่ทุกวันนี้มันไม่ได้ทำกำไรมหาศาลแล้ว ถ้าเรามีใจรักจริงๆ เราจะต้องจัดการได้ ก็เท่านั้นเอง

จังหวะและชีวิตของ ภาณุ มณีวัฒนกุล กับความพยายามสร้างวัฒนธรรม ‘การอ่านหนังสือในเมืองเล็ก’ ผ่านร้านหนังสือ Rhythm and Books
Photo : ชลธิบ รังสิพราหมณกุล


Cover Photo : ชลธิบ รังสิพราหมณกุล

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก