ชโลมใจ ชยพันธนาการ เปิดตำราวิชาห้องสมุดแบบ ‘บ้านๆ น่านๆ’

3,049 views
10 mins
April 30, 2021

          คุณเคยเจอประสบการณ์แบบนี้ไหม เดินเข้าไปในสถานที่แปลกตา ต่างถิ่น ไม่คุ้นชินกับผู้คน แต่มวลบรรยากาศที่ลอยวนอยู่ในนั้นกลับให้ความรู้สึกอุ่นใจ เอนหลังพิงกายได้โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นตัวของตัวเองมากเกินไป    

          สำหรับผม ‘บ้านๆ น่านๆ’ คือหนึ่งในสถานที่ที่ให้ประสบการณ์แบบนั้น

          ความพิเศษคือมันไม่ใช่ที่พักวิวหลักล้าน ไม่ใช่ร้านอาหารในโรงแรมหรู แต่เป็น ‘ห้องสมุด’ เล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดน่าน

          บ้านไม้สองชั้นหลังงามซ่อนตัวอยู่ในย่านชุมชนเก่าแก่ มองจากภายนอกเห็นแต่พุ่มเขียวๆ กับไม้ดอกหลากสีที่อำพรางตัวบ้านไว้ หากไม่สังเกตตัวอักษรบนกำแพงให้ดี คงยากที่จะระบุว่าสถานที่นี้คืออะไร รู้แต่ว่าบรรยากาศช่างเชื้อเชิญให้เข้าไปค้นหา

          ผมมาที่นี่ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ช่วงเวลานั้นจังหวัดน่านเริ่มคึกคักจากการถูกโปรโมตให้เป็นเมืองท่องเที่ยว นอกจากบรรยากาศและอาหารการกินแบบเนิบๆ แล้ว ความประทับใจอีกอย่างคือการได้ปักหลักพักแรมที่ ‘บ้านๆ น่าน’ แห่งนี้

          ในฐานะคนทำงานขีดๆ เขียนๆ การได้รับรู้ว่ามีคนที่ฝักใฝ่ศิลปะวรรณกรรม ลงทุนลงแรงทำห้องสมุดเล็กๆ ด้วยตัวเองในพื้นที่แบบนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนได้เจอเพื่อนที่มีรสนิยมเดียวกัน ยิ่งได้มาสัมผัสสถานที่จริงยิ่งตื่นเต้น เพราะมันเปลี่ยนภาพจำที่เคยมีต่อคำว่า ‘ห้องสมุด’ อย่างสิ้นเชิง

          บนพื้นที่ประมาณ 200 ตารางวา ถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนย่อย ด้านในสุดคือบ้านเก่าที่ดัดแปลงเป็นเกสต์เฮาส์ ตรงกลางเป็นสนามหญ้าขนาดย่อม มีทางเดินเชื่อมมายังบ้านไม้สองชั้นด้านหน้าซึ่งเป็นทั้งห้องสมุด ร้านหนังสือ และคาเฟ่

          “เราทำแบบเล็กๆ ง่ายๆ สบายๆ นั่งได้ นอนได้ อ่านหนังสือไป กินไป ทำงานไป ไม่มีพิธีรีตอง” คือคำนิยามสั้นๆ จากปากของ ครูต้อม-ชโลมใจ ชยพันธนาการ อดีตครูภาษาไทยผู้ผันตัวมาเป็น ‘บรรณาริสตา’ อาชีพสุดเซ็กซี่ที่เธอสถาปนาให้ตัวเอง

บ้านๆ น่านๆ

          อย่างที่ครูต้อมอธิบาย จุดเด่นของที่นี่คือบรรยากาศและความเป็นกันเอง มีมุมให้นั่งเล่นนอนเล่นได้อย่างไม่เคอะเขิน มีเครื่องดื่มและขนมหวานให้ทานเพลินๆ ระหว่างนั่งทำงานหรืออ่านหนังสือ แต่ขึ้นชื่อว่าห้องสมุด ย่อมต้องมีหนังสือให้เลือกอ่านหลากหลาย แม้ปริมาณจะไม่มากมายเมื่อเทียบกับห้องสมุดทั่วไป แต่ทุกเล่มได้รับการเลือกสรรมาอย่างดี เน้นไปที่หมวดหมู่วรรณกรรมร่วมสมัย ความเรียง บทกวี สอดแทรกด้วยหนังสือเด็กและนิตยสารเก่าเก็บอีกจำนวนหนึ่ง

          บรรยากาศที่นี่ทำให้ผมนึกถึงคำว่า ‘ห้องสมุดมีชิวิต’ วลีฮิตที่คนในแวดวงห้องสมุดพูดถึงกันบ่อยๆ เพราะหากเทียบกับห้องสมุดหลายแห่งที่เคยสัมผัสมาก่อนหน้านี้ จะบอกว่าที่นี่ดูมีชีวิตชีวาที่สุดก็ว่าได้ ด้วยปัจจัยทั้งหลายที่ไล่เรียงมา

          ทว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้บ้านๆ น่านๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้ คือการจัดกิจกรรมเสวนาว่าด้วยศิลปะและการอ่านการเขียน หมุดหมายสำคัญคือการจัดงาน ‘Nan Poesie เทศกาลบทกวีแห่งเมืองน่าน’ ในปี 2562 และ 2563 ที่มีนักเขียนและศิลปินจากทั่วประเทศมาร่วมงานกันคับคั่ง ยังไม่นับงานเสวนาวงเล็กๆ ที่จัดขึ้นทุก 3-4 เดือน เปิดโอกาสให้นักอ่านได้พบปะนักเขียนคนโปรดในระยะประชิด พร้อมเปิดพื้นที่ให้ศิลปินหน้าใหม่ๆ ได้มีโอกาสฉายแสงและเป็นที่รู้จัก   

          ศุ บุญเลี้ยง, วรพจน์ พันธุ์พงศ์, ซะการีย์ยา อมตยา, อุรุดา โควินท์, บินหลา สันกาลาคีรี, เรืองรอง รุ่งรัศมี, วาด รวี, Jirabell คือเสี้ยวหนึ่งของนักเขียนและศิลปินที่เคยมาร่วมวงจัดกิจกรรมที่นี่ แต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 40-50 คน ปะปนกันทั้งคนน่านและคนจากต่างจังหวัด

          ผมในฐานะคนอยู่ไกล เคยไปร่วมเป็นประจักษ์พยานไม่ต่ำกว่า 5-6 ครั้ง สัมผัสได้ว่าพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้มีพลังและศักยภาพที่ยิ่งใหญ่เกินตัว คล้ายเปลวเทียนไสวท่ามกลางสภาวะสังคมอันมืดมัว

          ตัวตนของบ้านๆ น่านๆ คืออะไร เกิดขึ้นด้วยวิธีคิดแบบไหน ดำเนินกิจการด้วยหลักการหรืออุดมการณ์แบบใด คำตอบทั้งหมดอยู่ในบทสนทนาถัดจากนี้

นิยามคำว่า ‘ห้องสมุด’ แบบบ้านๆ น่านๆ คืออะไร

          ตามชื่อเลย เปิดแบบบ้านๆ ทำแบบเล็กๆ ง่ายๆ สบายๆ นั่งได้ นอนได้ อ่านหนังสือไป กินไป ทำงานไป ไม่มีพิธีรีตอง

          เราชอบให้คนมาอ่านหนังสือในพื้นที่ที่เราชอบ คิดว่าต้องมีคนที่ชอบเหมือนเรา คนที่รู้สึกว่าการอ่านหนังสือต้องมีบรรยากาศ หนังสือบางประเภทอาจไม่ต้องการบรรยากาศมากมาย อย่างพวกนิยายทั้งหลาย ไม่จำเป็นต้องมีบรรยากาศก็ตะลุยอ่านได้ทั้งวัน แต่งานความเรียง งานบทกวี งานวรรณกรรมบางประเภท มันต้องการบรรยากาศที่ส่งเสริม บรรยากาศที่ผ่อนคลาย

Banban Nannan library and guest home

พื้นที่แบบนี้ ช่วยส่งเสริมการอ่านยังไง

          มันผ่อนคลาย มันไม่แข็ง พื้นที่แบบนี้ไม่ทำให้เรารู้สึกว่าถูกกด ถูกบีบ อยากเอนตัว อยากนอน อยากฟุบโต๊ะ ทำได้หมด เราไม่ได้แบ่งโซนแบ่งจริงจัง แต่จะใช้ตู้หนังสือเป็นตัวคั่น มีที่นั่งหลายแบบ ถ้านั่งตรงนี้ไม่สบาย อยากย้ายไปอีกมุมก็ไม่มีปัญหา วันนี้ใส่กางเกงยีนส์มา นั่งตรงนี้แล้วไม่สบายตัว ย้ายได้ อยากนอนเปลก็ไปนอน อยากเปลี่ยนอิริยาบถยังไง ทำได้หมด

          ยิ่งเรารู้สึกสบายหรือผ่อนคลายเท่าไหร่ การอ่านก็ยิ่งเพลิดเพลิน ถ้าอ่านๆ ไปแล้วง่วง อยากงีบ มีที่ให้งีบ งีบเสร็จค่อยอ่านต่อ เราชอบอยู่ในที่ที่ผ่อนคลาย

หนังสือส่วนใหญ่มาจากไหน

          มาจากเพื่อนฝูง เพื่อนนักเขียนที่รู้จักกัน ย้อนไปตอนที่ยังสอนหนังสืออยู่ เราทำชมรมคนรักตัวอักษร ชวนเด็กๆ ทำวารสาร หนังสือทำมือ มีการเชิญนักเขียนตัวจริงมาสอนเด็กๆ ทำให้เรารู้จักนักเขียนหลายคน เช่น วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เรืองรอง รุ่งรัศมี ศุ บุญเลี้ยง พอเขารู้ว่าเราทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านแบบนี้ เขาก็บริจาคหนังสือที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับเด็กๆ มาให้เรา ทำให้เรามีหนังสือเก็บไว้ในคลังมาเรื่อยๆ

          พอเราเริ่มทำห้องสมุดจริงจัง ก็ได้มาเพิ่มอีกจำนวนหนึ่งจากคอนเนคชั่นของนักเขียนเหล่านี้ แต่ด้วยความที่พื้นที่เราน้อย เรารับบริจาคทุกเล่มไม่ได้ ต้องคัดเฉพาะแนวที่เราสนใจ คิดว่าเป็นประโยชน์

          เราอยากมีหนังสือที่ห้องสมุดประชาชนและห้องสมุดอื่นๆ เขาไม่มี จะเน้นงานวรรณกรรมร่วมสมัย ความเรียง บทกวี งานเก่ามากๆ จะไม่เอา ฮาวทูไม่เอา ธรรมะไม่เอา

การมาใช้บริการที่นี่ มีเงื่อนไขอะไรไหม เช่น ต้องอุดหนุนเครื่องดื่ม-อาหาร ต้องอ่านหนังสือ หรือห้ามนั่งแช่เป็นเวลานานๆ

          ตอนเปิดแรกๆ ก็รู้สึกกับสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน เวลาเห็นคนเข้ามาแต่ไม่อ่านหนังสือ เช่น มานั่งเล่น นั่งคุยกัน ตอนนั้นใจเราคิดแต่ว่าอยากให้คนมาอ่านหนังสือ

          แต่พอเวลาผ่านไป ก็เปิดกว้างขึ้น มองว่านี่คือพื้นที่หนึ่งที่คนได้เข้ามาใช้สอย ใช้พบปะ พูดคุย ทำงาน แล้วพื้นที่เราก็มีเยอะแยะ ไม่รู้จะหวงไปทำไม เพียงแต่อย่าเสียงดัง ทำอะไรขอให้อยู่ในขอบเขต ไม่ใช่พอบอกว่านอนได้ ก็นอนกันอ้าซ่า หรือคุยกันเสียงดังโหวกเหวก ให้มันอยู่ในมิติของความงาม ความพอดี ไม่ขัดหูขัดตา

          ช่วงแรกอาจมีขัดหูขัดตาบ้าง แต่ตอนหลังดีขึ้นเรื่อยๆ จะมีช่วงหนึ่งที่ร้านเราออกสื่อ มีคนมาเช็คอิน ถ่ายรูปกันเยอะ บางทีมากันเป็นกลุ่มใหญ่ เสียงดัง แต่หลังๆ แขกที่มาก็เริ่มเรียนรู้ว่าควรวางตัวอย่างไรในพื้นที่นี้ เหมือนสถานที่กับบรรยากาศมันบอกคุณโดยอัตโนมัติว่าต้องปฏิบัติตัวยังไง

เวลานึกถึงห้องสมุด คนส่วนใหญ่จะนึกถึงสถานที่ที่ต้องสงบ ต้องใช้ความเงียบ แต่ที่นี่ดูไม่ได้เคร่งครัดกับหลักการนี้เท่าไหร่

          ใช่ ไม่เคร่งขนาดนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ มีบางครอบครัวที่มากันแบบพ่อแม่ลูก พาลูกมานั่งเล่นนอนเล่นกันอยู่ที่นี่ ถ้าจะมีเสียงเด็กเล่นของเล่น มีเสียงงอแงนิดหน่อย เราไม่ว่าอะไรเลย เข้าใจได้ แต่ถ้าเราไปบังคับว่าต้องเงียบ แล้วพ่อแม่ต้องคอยขึ้นเสียงขู่เด็กให้เงียบ กลายเป็นว่าเสียงพ่อแม่รบกวนคนอื่น แบบนี้เราไม่เอา (หัวเราะ)

          อีกกรณีที่เจอคือมีเด็กหลายๆ คนมาพร้อมกัน เล่นซนกัน ขึ้นไปปีนอยู่บนเปลกันสามสี่คน แบบนี้เราก็ต้องปราม แต่ในภาวะปกติ เราไม่ได้เข้มงวดกับความเงียบขนาดนั้น ในมุมกลับกัน คนที่ต้องการสมาธิสูงๆ ต้องการความเงียบมากๆ ก็จะไม่มาที่นี่ตั้งแต่แรก

บ้านๆ น่านๆ

ที่นี่เป็นทั้งห้องสมุด เป็นทั้งร้านกาแฟ อยากทราบว่าคนเข้ามาใช้บริการส่วนไหนมากกว่ากัน

          ถ้าแยกว่าเป็นคนละกลุ่ม คนที่ตั้งใจมาอ่านหนังสือจะน้อยกว่าคนที่มาซื้อกาแฟ แต่ถ้ามองว่า ทั้งสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวกัน ก็มองได้ เพราะมีหลายคนที่มานั่งจิบกาแฟ แล้วก็หยิบจับหนังสือด้วย คนแบบนี้มีเยอะ

          ส่วนคนที่มาใช้บริการห้องสมุด ยืมหนังสือ ก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ ถ้าดูจากสมุดบันทึกการยืม-คืน นับตั้งแต่เปิดบริการปลายปี 2554 จนถึงตอนนี้ ลำดับล่าสุดคือลำดับที่ 2,884 นี่คือจำนวนครั้งที่มีคนมายืมหนังสือ ครั้งหนึ่งจะยืมกี่เล่มก็ได้ กำหนดระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์

มีค่าใช้จ่ายไหม

          ถ้าเป็นผู้ใหญ่ เราจะให้สมัครสมาชิก 100 บาทตลอดชีพ จะเป็นชีพใครก็ได้ ชีพของผู้ยืม หรือชีพของห้องสมุด ขึ้นอยู่กับว่าใครอายุยืนกว่า (หัวเราะ) ตอนนี้มีสมาชิกทั้งหมด 914 คน

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยมาที่นี่หลายครั้ง และที่เคยสังเกตจากในเพจเฟซบุ๊ก เห็นว่ามีการต่อเติมมุมนั้นมุมนี้อยู่บ่อยๆ เป็นเพราะยังไม่ได้ดั่งใจ หรือเพราะอะไร

          อาจเพราะตัวเราไม่ชอบความจำเจ แต่ตัวเองกลับเป็นคนจำเจ ฟังดูแล้วย้อนแย้งนิดนึง สมมติเราต้องเดินทางไกลๆ แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว ไม่อยากไปแล้ว เราไม่ชอบเดินทาง ชอบอยู่กับที่ นี่คือการเป็นคนจำเจ

          ทีนี้เวลาอยู่กับที่ ก็ดันขี้เบื่อ ต้องหาอะไรทำเพื่อให้ไม่จำเจ ย้ายมุมโน้น ต่อเติมมุมนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องห้องสมุด แม้แต่ห้องนอนของเรา ก็ย้ายนั่นย้ายนี่อยู่เรื่อย เพราะไม่ชอบความจำเจ ห้องสมุดก็เหมือนกัน เวลามองไปมุมนั้นมุมนี้ บางทีมันงามแล้ว แต่เรารู้สึกว่างามได้อีก ก็ทำเพิ่ม เป็นคนที่ชอบทำ ชอบเปลี่ยน ไม่ชอบอะไรเดิมๆ

เวลาเปลี่ยนหรือต่อเติม คิดในมุมลูกค้าด้วยไหมว่าเขาน่าจะชอบ น่าจะถูกใจ หรือยึดจากตัวเองล้วนๆ

          (ตอบทันที) ยึดจากตัวเราเองล้วนๆ ไม่ได้คิดถึงลูกค้าเลย

          ความหมายคือว่า ถ้าเราเลือกจากความชอบของเรา ทุกอย่างมันจะง่าย ออกแบบพื้นที่ยังไง ตกแต่งห้องพักสไตล์ไหน ใช้ผ้าปูแบบไหน กระทั่งของที่เราทำขาย หรือซื้อมาขาย ทุกอย่างมาจากความชอบของเรา

          เวลาคนเข้ามาใช้บริการ เห็นสิ่งต่างๆ ที่เราทำ แล้วเขาชอบ แปลว่าเขารสนิยมตรงกับเรา ยิ่งเป็นคนที่ตั้งใจมา พูดได้เลยว่าเสร็จเราหมด ยังไงก็ชอบ ตรงกันข้าม ถ้าเราตั้งต้นจากการคิดถึงคนอื่น เดาว่าเขาจะชอบแบบไหน มันจะเหนื่อย ทำให้เราหลงทางไปเรื่อย ฉะนั้นยึดจากที่ตัวเองชอบดีกว่า

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่นี่มีการจัดกิจกรรมเสวนาต่างๆ ค่อนข้างบ่อย เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกเลยไหมในการสร้างพื้นที่พบปะสนทนาแบบนี้

          เรามีภาพนี้ในหัวอยู่แล้ว ถ้าย้อนไปตอนเป็นครู เราชอบพาเด็กทำกิจกรรม ชอบสร้างสรรค์พื้นที่ของตัวเองขึ้นมา ที่โรงเรียนจะมีเรือนไม้อยู่หลังหนึ่ง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เราเห็นว่าน่าจะใช้ทำกิจกรรมได้ ให้เด็กขึ้นไปเอกเขนก อ่านหนังสือ นั่งเรียนนอนเรียนได้ ก็ทำเรื่องขอฝ่ายบริหาร เขาก็ให้เราทำ เราชอบบรรยากาศแบบนั้น รู้สึกว่ามันผ่อนคลาย รู้สึกว่าเป็นพื้นที่ของเรา

          หน้าที่หลักของเราคือสอนหนังสือ แต่สิ่งที่เราพยายามทำควบคู่ไปด้วยคือกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ตั้งชมรมคนรักตัวอักษร ชวนเด็กทำหนังสือ เขียนหนังสือ เวลามีงานหนังสือ เราจะพาเด็กๆ ไปเดินดูงาน ในงานจะมีเวทีเสวนา มีนักเขียนมาพูดคุย เปิดตัวหนังสือ เราชอบกิจกรรมแบบนี้

          ที่สำคัญคือเวลาไปงานที่ไหน เราจะพกหนังสือที่เด็กๆ ทำติดมือไปด้วย เวลาเจอนักเขียนก็เอาให้เขา แนะนำตัวว่าเรามาจากไหน ทำกิจกรรมอะไร ทำให้ได้เจอกับนักเขียนหลายๆ คน เช่น ศุ บุญเลี้ยง วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ชาติ ภิรมย์กุล หนุ่มเมืองจันท์ หลายคนยังติดต่อกันจนถึงทุกวันนี้ เวลามีกิจกรรมอะไรก็ยังมาช่วยเหลือกันอยู่

          พูดง่ายๆ คือเราชอบกิจกรรมแบบนี้มาตั้งแต่ตอนเป็นครู เมื่อถึงเวลาได้มาทำห้องสมุด มีพื้นที่ของตัวเอง ก็ยังอยากจัดกิจกรรมทำนองนี้อยู่ เราอยากเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้คนทำงานสร้างสรรค์อิสระ เมื่อมีพื้นที่ใหม่ๆ ให้คนเหล่านี้มาทำงาน จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อันหลากหลาย แล้วเราเชื่อว่ามันจะงดงามด้วย

สังเกตว่าคุณให้ความสำคัญกับการอ่านการเขียน ชอบพาเด็กทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ในฐานะของคนเป็นครู อยากรู้ว่ามันมีความสำคัญยังไง

          มันเริ่มมาจากช่วงที่เป็นครูใหม่ๆ แล้วเรามีโอกาสไปเข้าค่ายด้านการเขียน ทำให้ได้ฝึกเขียนมากขึ้น ได้ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขกับการเขียน ฝึกฝนจนมีงานเขียนลงตามหน้านิตยสาร มีบรรณาธิการที่คอยแนะนำเราว่าจะพัฒนางานเขียนได้อย่างไร รู้สึกว่ากระบวนการแบบนี้มีประโยชน์มาก ทำให้เรากลับมาคิดว่า กว่าเราจะรู้ว่าเราเขียนได้ แล้วเรามีความสุขกับมัน ก็อายุสามสิบกว่าแล้ว ถือว่าค่อนข้างช้า แต่ถ้าเด็กๆ เขาได้รู้ตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อยล่ะ จะดีขนาดไหน

          จากนั้นเราก็เริ่มชวนเด็กทำกิจกรรมง่ายๆ อย่างการเขียนไดอารี จากปกติที่เขียนกันแบบเดิม ตื่นเช้ามาเวลากี่โมง ไปโรงเรียนกี่โมง เสร็จแล้วทำอะไรต่อ เหมือนบันทึกประจำวัน เราไม่ให้เด็กเขียนแบบนั้น เราบอกเด็กว่าเขียนอะไรก็ได้ เขียนมาเลย ตามความรู้สึก ปวดแสบปวดร้อนก็เขียนมา จะวาดรูปก็ได้ เอาดอกไม้มาแปะก็ได้ เด็กก็ตื่นเต้นกันใหญ่ เพราะเขาไม่เคยทำอะไรแบบนี้ ปรากฏว่าแต่ละคนก็เขียนมาเต็มที่ สร้างสรรค์มาก หลากหลายมาก เรานั่งอ่านตาแฉะเลย อ่านเสร็จก็เขียนคอมเมนต์กลับไปให้สั้นๆ กลายเป็นว่าเด็กชอบ ติดใจ อยากเขียนอีก

แล้วตัวคุณเอง ทุกวันนี้ยังได้เขียนอยู่บ้างไหม ความสุขในชีวิตทุกวันนี้คืออะไร

          พอลาออกจากการเป็นครูมาทำห้องสมุดเต็มตัว ก็แทบไม่ได้เขียนแล้ว แต่มันกลายเป็นว่า ความสุขที่เคยมีจากการเขียน การสอนหนังสือ มาถ่ายเทมาสู่การทำห้องสมุดไปโดยปริยาย เป็นความสุขที่คล้ายๆ กัน

เป้าหมายที่ตั้งไว้ถัดจากนี้คืออะไร อยากเพิ่มเติมอะไรอีกไหม

          เราอยากทำร้านหนังสือแบบจริงจัง เป็นร้านหนังสือที่ตั้งอยู่ในห้องสมุด แบบที่ขายได้และเลี้ยงชีพได้ ตอนนี้ก็ขายอยู่บ้าง แต่หนังสือยังน้อย ลึกๆ เราคิดว่าทำได้ เพียงแต่เรายังไม่ทุ่ม ยังไม่จัดการ เพราะมันใช้พลังเยอะเหมือนกัน

ทำไมถึงอยากขายหนังสือ

          (นิ่งคิด) เพราะเราชอบหนังสือ แม้จะไม่ได้อ่าน แค่เห็นมันวางเรียงบนชั้นเฉยๆ ก็ชอบแล้ว ชอบความงามของหนังสือที่เรียงเป็นตั้งๆ ชอบให้ผู้คนมายืนเลือกหนังสือ ชอบบรรยากาศของมัน คิดว่าถ้าเอาจริง เราทำได้ ถ้ามีหนังสือที่หลากหลายและปริมาณมากพอ มันจะดึงคนเข้ามาได้

ครูต้อม-ชโลมใจ ชยพันธนาการ

ถ้าคุณบอกว่าชอบหนังสือ รวมถึงบรรยากาศที่รายล้อมด้วยหนังสือ การทำห้องสมุดอย่างเดียวไม่พอหรือ

          หนังสือห้องสมุดมันยืมได้ แต่เป็นเจ้าของไม่ได้ มีหลายคนนะที่อยากซื้อ อยากเป็นเจ้าของหนังสือ

          ข้อต่อมาคือ ถ้าเราทำห้องสมุดอย่างเดียว ในแง่ค่าใช้จ่ายมันอยู่ไม่ได้ คำถามคืออะไรที่จะทำให้อยู่ได้แบบยั่งยืน มันจะต้องไม่ใช่การให้ฟรี แต่ต้องเป็นการแลกเปลี่ยนกัน มันต้องวิน-วิน ร้านก๋วยเตี๋ยวจะอยู่ได้เพราะคุณทำก๋วยเตี๋ยวอร่อย สมราคาที่จ่ายไป ไม่ใช่เรื่องของการมีบุญคุณ การที่เราทำพื้นที่ตรงนี้เช่นกัน เราทำเพราะเห็นว่ามันมีประโยชน์ มีความหมาย แต่มันก็ต้องเลี้ยงชีพเราได้ด้วย

ในมุมของคุณ ทำไมเรายังต้องอ่านหนังสือเล่มอยู่ 

          ถ้าพูดถึงยุคนี้ การอ่านมันไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือเล่มเสมอไป แน่นอนว่าหนังสือเล่มก็มีความเหมาะ ความงาม ตามจังหวะ โอกาส และเวลา จะให้เอางานประเภทนี้ไปอยู่ในจอโทรศัพท์ ก็ไม่ได้ เหมือนภาชนะแต่ละประเภท มันใช้แทนกันไม่ได้ ถ้าเป็นแกงต้องใส่ถ้วย พวกผัดต้องใส่จาน หนังสือเล่มก็เหมือนภาชนะแบบหนึ่ง วางทิ้งไว้ จะหยิบมาอ่านตอนไหนก็ได้ อ่านไม่จบก็คั่นไว้ได้ ไม่หายไปไหน เช่นเดียวกับการใช้สัมผัส สายตา ก็ต่างจากการอ่านผ่านหน้าจอ

          ถามว่าเราชอบแบบไหน โดยส่วนตัวเรารู้สึกว่าการอ่านผ่านจอนานๆ เป็นเรื่องทรมานสายตามาก ถ้าเป็นโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตจอใหญ่ๆ ก็หนักอีก ยกอ่านไม่สะดวก หรือถ้าเป็นคอมฯ ก็ต้องหาที่นั่ง แต่หนังสือมันได้หมดทุกอิริยาบถ แล้วโดยส่วนตัว เราชอบดูปก ชอบดูการจัดหน้า ชอบพิจารณาแต่ละองค์ประกอบของหนังสือเล่มนั้นๆ ด้วย

          เราจะได้ยินบ่อยว่า เด็กสมัยนี้ หรือคนสมัยนี้ไม่อ่านหนังสือ ซึ่งเราว่าไม่จริง เท่าที่เราเห็น ทั้งเด็ก ทั้งคนหนุ่มสาว จนถึงวัยทำงานที่เข้ามาใช้บริการที่นี่ ส่วนใหญ่หยิบหนังสือมาอ่านกันทั้งนั้น คนที่ไม่อ่านคือคนรุ่นใหญ่ คนที่มีอายุหน่อย เข้ามาเดินดูนั่นดูนี่แบบผ่านๆ แล้วก็ถ่ายรูป แต่หนังสือแทบไม่จับ ไม่ซื้อ คนที่อ่านคนที่ซื้อคือคนหนุ่มสาว

แล้วห้องสมุดล่ะ ยังมีความสำคัญในแง่ไหนในยุคปัจจุบัน

          ทุกวันนี้มันอาจไม่ใช่แหล่งค้นคว้าหาข้อมูลเหมือนแต่ก่อนแล้ว สำหรับเรา เรามองว่ามันเป็นสถานที่ที่ผ่อนคลาย เป็นความรื่นรมย์ของคนที่มีรสนิยมในหนังสือหนังหา เอาหนังสือเป็นตัวตั้ง แล้วเข้ามาผ่อนคลาย ถ้าตั้งใจเข้ามาค้นคว้า ที่นี่อาจไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ เพราะหนังสือเราไม่ได้เยอะขนาดนั้น

          มีคนที่เคยทำงานห้องสมุด เขามาที่นี่แล้วชอบมาก บอกว่าเหมือน ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ เลย นี่คือวลีที่หน่วยราชการพยายามโปรโมตกันเมื่อหลายปีก่อน มันสะท้อนว่าคนทำงานเองก็รู้ตัวว่าห้องสมุดแบบที่เป็นอยู่ มันไม่ค่อยมีชีวิต เหมือนห้องสมุดผีดิบ ก็เลยต้องทำให้มันมีชีวิตขึ้นมา แล้วห้องสมุดของเราบังเอิญไปสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ที่ว่านี้พอดี

           เราใช้คำว่าห้องสมุดก็จริง แต่เราก็มีคำว่า ‘บ้านๆ’ เป็นคำขยาย อยากให้เป็นที่อ่านหนังสือในบรรยากาศผ่อนคลาย มีเสียงนกเสียงกา นั่งดื่มกินได้ พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก