เสียงปัง! และการปรากฏของวัตถุบางอย่างใน ‘Memoria’ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล นักทำหนังระดับโลก ทำให้เราสนใจความหมายของวัตถุหลายชิ้นจากงานของเขา และพบว่าคำตอบบางส่วนอาจอยู่ที่หอภาพยนตร์
‘ยานอวกาศแห่งบ้านนาบัว’ คือหนึ่งในนิทรรศการถาวรของหอภาพยนตร์ที่เก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของบางส่วนที่อยู่ในผลงานของอภิชาติพงศ์ ทั้งจากโครงการศิลปะ ‘Primitive Project’ หรือชื่อภาษาไทย ‘โครงการดึกดำบรรพ์’ รวมถึงภาพยนตร์อย่าง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ หรือ ‘รักที่ขอนแก่น’ มาจัดแสดงให้ชมอย่างใกล้ชิด พร้อมคำอธิบายประกอบเกี่ยวกับการสร้างยานอวกาศ และแนวคิดบางส่วนในการสร้างผลงาน
สำหรับคนที่เคยดูภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์แล้ว การได้ชมนิทรรศการนี้อาจทำให้เราซึมซับรายละเอียดและแง่มุมเบื้องลึกเบื้องหลังที่อาจไม่เคยรู้ ส่วนคนที่ยังไม่เคยดู ก็อาจเป็นการปรับจูนให้พอเข้าใจลักษณะงานของอภิชาติพงศ์มากยิ่งขึ้น
‘บ้านนาบัว’ คือหมู่บ้านในจังหวัดนครพนม เป็นที่รู้จักในฐานะจุดเกิดเหตุการณ์เสียงปืนแตก วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ซึ่งกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ปะทะกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยกำลังอาวุธปืนเป็นครั้งแรก
ช่วงที่อภิชาติพงศ์กำลังทำ Primitive Project เขาได้เดินทางไปที่บ้านนาบัวแห่งนี้ โดยเขาเล่าว่า
“ตอนหาข้อมูล ผมเดินทางเลียบแม่น้ำโขงไปยังบ้านเกิด (ขอนแก่น) แล้วหยุดที่ตำบลนาบัว ซึ่งผมรู้จักประวัติเพียงผิวเผิน พอตัดสินใจทำหนังที่นี่ ผมก็เริ่มคุยกับชาวบ้านละแวกนั้น ถ่ายวิดีโอและอัดเสียงเก็บไว้จนกลายเป็นข้อมูลก้อนยักษ์ งานของผมพูดถึงความทรงจำเสมอ แต่ผมไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับสถานที่นี้เลย นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ต่างจากเรื่องก่อนๆ ผมต้องใช้เวลาสร้างความทรงจำเกี่ยวกับสถานที่นี้และค้นหาอดีตที่คนในพื้นที่กับผมมีร่วมกัน”
บ้านนาบัว คือพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืมจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก
เมื่ออุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างปะทะกันอย่างรุนแรงจนสร้างบาดแผลและความสูญเสีย คนบ้านนาบัวถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ บางคนถูกฆ่า จนคนจำนวนหนึ่งต้องหนีเข้าป่าและเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จริง ๆ
อภิชาติพงศ์ เล่าถึงการสร้างยานอวกาศแห่งบ้านนาบัวเอาไว้ว่า “…ผมฝันอยากทำหนังที่มียานอวกาศมานานแล้ว และจะมีตอนไหนเหมาะเท่าเมืองไทยตอนนั้นอีกเล่า หมู่บ้านนาบัวเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นจุดจอดยานเพื่อการเดินทาง เพื่อการหลบหนี หรือเพื่อการหายตัว รูปแบบของยานอวกาศลำนี้ร่างขึ้นโดยวัยรุ่นคนหนึ่งในหมู่บ้าน ตัวโครงยานทำจากเหล็กเชื่อมอย่างดีฝีมือของพวกพ่อๆ”
ในนิทรรศการยานอวกาศแห่งบ้านนาบัว เราจะได้เจอยานอวกาศแบบเดียวกันเด๊ะกับที่เคยอยู่ใน Primitive Project ยานอวกาศที่ตั้งตระหง่านอยู่นี้ ทางหอภาพยนตร์ให้ช่างชุดเดิมกับที่เคยสร้างยานต้นแบบ สร้างมันขึ้นใหม่เพื่อนำมาใช้จัดแสดงโดยเฉพาะ
ภายในยานมีไฟสีแดงสาดทั่ว เราจะได้ยินเสียงคนเล่าเกี่ยวกับการระลึกชาติเป็นสำเนียงอีสาน และเราจะพบ ‘ลิงผี’ หรือ ‘บุญส่ง’ ตัวละครจากภาพยนตร์ลุงบุญมีระลึกชาติ นอนหลับอยู่ ซึ่งอันที่จริงแล้วภาพยนตร์เรื่องลุงบุญมีระลึกชาติก็เป็นส่วนหนึ่งของ Primitive Project ด้วย เราจึงได้เห็นการผสานวัตถุ เรื่องเล่า และความทรงจำ เข้ามาอยู่ในยานอวกาศลำนี้
ความรู้สึกพิเศษเมื่อลองยืนอยู่ในยาน คือความรู้สึกคล้ายกับเข้าไปอยู่ในบางฉากภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ เราพบความสงบบางประการคล้ายตัวยานได้ห่อหุ้มเราไว้ดุจทารกในครรภ์ แม้จะฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่เสียงเนิบช้าสำเนียงอีสานก็พาเราไหลไปสู่จินตนาการของเรื่องราว ปนเปไปกับความรู้สึกลี้ลับพิศวงจากฉากตรงหน้า ทั้งแสงสีแดง และลิงผีที่นอนให้เราเห็นอย่างใกล้ชิด
ไม่ต่างจากบรรยากาศในภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ ที่บ่อยครั้งทำให้เรารู้สึกสงบจนอาจแทบเคลิ้มหลับ แต่บางฉากก็กระตุ้นให้เราเกิดความพิศวงได้ในทันที บางฉากที่ดูธรรมดาเหลือเกินก็มีเรื่องราวเหนือธรรมดาปรากฏให้เห็นอย่างธรรมดาที่สุด เช่น ฉากบนโต๊ะกินข้าวของลุงบุญมี ป้าเจน และโต้ง ที่จู่ๆ ก็มีวิญญาณของเมียเก่าลุงบุญมี และลิงผีหรือบุญส่ง ลูกชายของลุงบุญมี มาร่วมโต๊ะกินข้าว พูดคุยอย่างปกติธรรมดา ไม่มีใครแสดงอาการตกใจหรือหวาดกลัว
ความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ปนเประหว่างความจริงและเหนือจริง ดูเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์เสมอ
ทำไมในยานอวกาศต้องเป็นแสงสีแดง ?
ด้วยวิดีโอชิ้นหนึ่งใน Primitive Project ได้ถ่ายทำในคืนที่วัยรุ่นบ้านนาบัวกำลังพูดคุยและนอนหลับบนยานอวกาศท่ามกลางแสงสีแดง สีแดงที่อภิชาติพงศ์เองพยายามสื่อสารบางอย่างกับผู้ชม
“…ก็พูดถึงเรื่องแสง แสงสีแดง ความจริงเวลาถ่ายก็ไม่เห็นแสงพวกนี้ แต่เป็นแสงลึกลับที่มาจากไหนไม่รู้ ซึ่งโครงการนี้เน้นสีแดง จริงๆ ไม่ได้เชื่อมโยงมากกับการเมืองปัจจุบัน แต่ที่มาก็คืออย่างนั้นแหละ คือเป็นสิ่งต้องห้ามสมัยก่อน ซึ่งผมคุยกับป้าเจน (หนึ่งในนักแสดง) ที่หนองคายยุคที่แกโตมานั้น ได้หนังสือปกแดงมาซึ่งเป็นสิ่งต้องห้าม บางทีทางอส. หรือทหารเข้ามาบุกบ้านและหยิบอะไรเป็นที่สีแดงไปเผาหมดเลย แม้แต่หนังสือเรียนที่หน้าปกบังเอิญเป็นสีแดงก็ถูกเอาไปเผาด้วย…”
“มันคล้ายกับปัจจุบันในแง่ที่ว่า คนเราเปลี่ยนความหมายของสี เพิ่มความหมายให้สีอย่างไร้สาระ แล้วที่มาของพวกเสื้อแดงในปัจจุบัน มันก็เกี่ยวกับเรื่องของคอมมิวนิสต์นี่แหละ เรื่องของอุดมการณ์ในเชิงอุดมคติและสัญลักษณ์…” อภิชาติพงศ์ อธิบายความหมายของแสงสีแดงบนผนังของนิทรรศการ
สีแดงนี้ยังปรากฎให้เห็นบนกระจกโมเสคที่ประดับผนังของอาคารที่จัดแสดงนิทรรศการ เมื่อแสงตกกระทบกระจก สีแดงก็อาบไล้บนงานนิทรรศการ ซึ่งทีมหอภาพยนตร์อธิบายว่า เจตนาตกแต่งอาคารด้วยสีแดงนั้นเพื่อให้ล้อไปกับนิทรรศการ
นอกจากยานอวกาศและลิงผี เราจะเห็นวิดีโอเกี่ยวกับการสร้างยานอวกาศบ้านนาบัว เห็นรูปขนาดใหญ่บนผนังที่มีชื่อว่า ‘Ghost Teen’ เห็นเกี้ยวของเจ้าหญิงและปลาดุกในเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ เห็นรูปปั้นโครงกระดูกกอดกันและรูปปั้นอื่นๆ จากเรื่อง รักที่ขอนแก่น อยู่ใกล้ๆ บ้างหลบซ่อนอยู่ใต้บันได ไปจนถึงใต้ยานอวกาศ
ถ้าพิจารณาวัตถุแต่ละชิ้น เราอาจพบเรื่องเล่าบางอย่างที่ติดมากับวัตถุ สำหรับคนที่เคยดูภาพยนตร์ก็อาจจำได้ว่าของแต่ละชิ้นปรากฏขึ้นในฉากไหน และเล่าเรื่องราวอะไรบ้าง แต่สำหรับคนที่ไม่เคยดู ก็ไม่ถือเป็นเรื่องผิดถูกที่จะเข้าใจในแบบอื่น แต่ภายในบรรยากาศที่โอบล้อมคุณไว้ คุณอาจได้ยินเสียงกระซิบของพื้นที่ที่ถูกหลงลืมบอกบางอย่างแก่คุณ
หากเป็นภาพยนตร์มาร์เวล คงเรียกการรวมตัวละครและสิ่งของในภาพยนตร์แต่ละเรื่องในที่เดียวนี้ว่าการ ‘ครอสจักรวาล’ แต่เมื่อเป็นนิทรรศการที่มีตัวละครและวัตถุสิ่งของในภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์จากหลายเรื่องมารวมกัน จึงเหมือนเป็นการจำลองบางเสี้ยวความทรงจำของภาพยนตร์แต่ละเรื่องให้ซ้อนทับ ขับเน้นความหมายและเรื่องราวบางอย่างให้กระจ่างขึ้น
เป็นพื้นที่พิเศษที่เรื่องเล่า ความฝัน และความทรงจำของคนตัวเล็กตัวน้อยได้มีโอกาสเปล่งเสียงเพื่อเชื่อมร้อยอดีตเข้ากับปัจจุบัน ขณะที่กาลเวลาบางส่วนในภาพยนตร์ถูกทำให้หยุดนิ่งอยู่ในวัตถุเหล่านั้น ราวกับมันจะคงอยู่ไปตลอดกาลพร้อมกับภาพยนตร์
นิทรรศการยานอวกาศแห่งบ้านนาบัว จัดแสดง ณ โถงชั้น 2 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ เปิดให้เข้าชมทุก วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fapot.or.th/
ที่มา
Cover Photo : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)