Auto-bio-graphy อำนาจ-ชีวิต-การเขียน

282 views
6 mins
January 31, 2024

          “ความทุกข์เบาบางลงเมื่อได้พบความหมาย”

          วิกเตอร์ อี แฟรงเกิล จิตแพทย์ชาวยิว-ออสเตรียน ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในค่ายเอาชวิตซ์เขียนไว้ในหนังสือเล่มสำคัญของเขา (และของเรา) ‘Man’s Search for Meaning’ บันทึกชีวิตในค่ายกักกัน บันทึกวันเวลาแห่งความกลัว โกรธ เกลียดจากการต้องเห็นทั้งคนรักและคนไม่รู้จักถูกทรมานถึงตาย โดยไม่รู้ว่าวันสุดท้ายของตนจะมาถึงเมื่อไร

          ในช่วงที่จิตและใจสลายเช่นนั้น แฟรงเกิลพบว่าไม่ใช่ความหวังหรือความสุขหรอกที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะหากเป็นเช่นนั้นชีวิตเขาคงจบสิ้นตั้งแต่วันที่ก้าวเข้าไปในค่าย แต่หากเป็น ‘ความหมาย’ ที่หมายถึงความเข้าใจในความสำคัญของทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะดีหรือร้าย เพื่อให้ยังพออยู่กับลมหายใจได้โดยเฉพาะในวันที่ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม

Auto-bio-graphy อำนาจ-ชีวิต-การเขียน
หนังสือ Man’s Search for Meaning หรือชื่อภาษาไทยว่า ชีวิตไม่ไร้ความหมาย
Auto-bio-graphy อำนาจ-ชีวิต-การเขียน
Photo : Prof. Dr. Franz Vesely, CC BY-SA 3.0 DE, via Wikimedia Commons

          ยากเหลือเกินที่จะจินตนาการถึงสถานการณ์ที่แฟรงเกิลเผชิญได้ นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติทั่วไป ครั้งเดียวก็ผิดปกติมากเกินไปในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ หากประสบการณ์เฉพาะบุคคลของแฟรงเกิลกลับบันทึกบทเรียนสำคัญ นั่นคือบทเรียนที่ว่า “ชีวิตไม่ไร้ความหมาย” ดังชื่อหนังสือของเขาในภาษาไทย บทเรียนสากลที่ประยุกต์ใช้ได้กับผู้คนทุกสมัย ทุกชนชั้น ทุกสัญชาติว่าความทุกข์แปรเปลี่ยนเป็นความหมายเมื่อเราถอยมาพิจารณาชีวิตจากมุมกว้าง เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยง เห็นแก่นแท้ใจความสำคัญซึ่งอยู่ตรงนั้นเสมอไม่ว่าสถานการณ์ชีวิตจะพยายามกระแทก เขย่าเรารุนแรงเพียงใด แก่นแท้ใจความ และความหมายของชีวิตที่แม้เราอาจกำหนดชะตาภายนอกไม่ได้ แต่เรากำกับท่าทีการตอบสนองของเราได้ และการถอยออกมามองภาพใหญ่ก็ทำให้เรากลับมาเป็นตัวละครหลักในเรื่องเล่าของเราเอง

          ‘Man’s Search for Meaning’ เป็นงานเขียนประเภทบันทึก (Memoir) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของ Auto/Biography อัต/ชีวประวัติ ที่ความหมายของงานเขียนประเภทนี้ดูจะซ่อนอยู่ในรากศัพท์แต่ละคำ – Auto/Bio/Graphy อำนาจ/ชีวิต/การเขียน กล่าวคือการเขียนที่ทำให้ชีวิตเปี่ยมอำนาจ อำนาจในความหมายถึงอิสรภาพในการลิขิตชีวิตของตนเอง

ความแตกต่างระหว่าง Memoir, Biography, Autobiograpy

• บันทึก (Memoir) เป็นการบันทึกเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนประสบในชีวิต มักเน้นที่อารมณ์ บทสนทนา ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้นๆ

• ชีวประวัติ (Biography) เรื่องราวชีวิตของบุคคล ผ่านมุมมอง และการเขียน เรียบเรียงโดยผู้อื่น โดยมากมักเป็นเรื่องราวของบุคคลสาธารณะหรือบุคคลในประวัติศาสตร์ (หากไม่จำเป็น) โดยไม่ต้องได้รับการอนุญาตโดยบุคคลต้นเรื่อง ด้วยความที่ชีวประวัติเขียนโดยบุคคลที่สาม เนื้อหาจึงมักเป็นข้อเท็จจริง การบรรยายรายละเอียดต่างๆ

• อัตชีวประวัติ (Autobiography) บันทึกเรื่องราวชีวิตที่เขียนโดยบุคคลนั้นเอง ผู้เขียนเป็นตัวละครหลักของเรื่องที่เผชิญเหตุการณ์ต่างๆ และคลี่คลายในท้ายที่สุด ไม่จำเป็นต้องเขียนตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง หากเป็นการเขียนที่เน้นประเด็น (theme) ของเรื่องที่มักเผยความเป็นสากลผ่านเรื่องราวบุคคล เป็นรูปแบบการเขียนบันทึกที่ผสมผสานทั้งข้อเท็จจริง รายละเอียด และความรู้สึก การใคร่ครวญเฉพาะบุคคลไปพร้อมกัน

          ทฤษฎีนัยบำบัด (Logotherapy) ที่แฟรงเกิลพัฒนาขึ้นมาเพื่อ ‘ค้นหาความหมายของจิตวิญญาณ’ คล้ายกับวิธีการเขียนของเขา วิธีการเขียนบันทึกเรื่องราวส่วนตัวที่ช่องว่างระหว่างการถ่ายทอดความคิดเป็นตัวอักษรเปิดพื้นที่ให้เกิดการประมวลผล ช่วยให้ผู้เขียนสามารถแยกสถานการณ์ออกจากตัวตน และค้นพบ ‘แก่นแท้ของจิตวิญญาณ’ ที่ไม่มีใครพรากไปได้ แม้ในชีวิตจริงทุกสิ่งดูจะถูกพรากไปหมดแล้วก็ตาม 

          แน่นอนว่าเรื่องราวของแฟรงเกิลเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่ยอดขายหลายสิบล้านเล่มทั่วโลก ถูกแปลไป 24 ภาษา ก็บอกเป็นนัยว่าความหมายของชีวิตที่แฟรงเกิลพูดถึงนั้นเป็นสากล และเราล้วนต่างเรียนรู้ผ่านชีวิตของผู้คนทั้งนั้น

Auto-bio-graphy อำนาจ-ชีวิต-การเขียน
Photo : Public Domain

          กอร์ดอน ออลพอร์ต เปรียบเทียบการเขียนประเภทบันทึกส่วนตัว (Memoir) กับเพชรน้ำดีว่าเป็นผลมาจากชีวิตที่ผ่านแรงกดดันอย่างหนักจนกลายเป็นผลึกงดงาม Memoir เป็นหนึ่งในประเภทการเขียนเชิงอัต/ชีวประวัติ (Auto/Biography) หรือบันทึกเรื่องราวชีวิตของบุคคล 

          เวอร์จิเนีย วูลฟ์ เขียนไว้ใน ‘The Art of Biography’ รูปแบบการเขียนประเภทนี้นับว่าเป็นศิลปะการประพันธ์ที่อายุไม่มากนักเมื่อเทียบกับกวีหรือนิยาย

          กล่าวได้ว่าความสนใจของคนเราต่อชีวิตตนเองและผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาไม่นานนี้ เราเพิ่งได้เห็นความสนใจในการเขียนถึงชีวิตตนเองและชีวิตส่วนตัวของผู้อื่นในศตวรรษที่สิบแปดนี่เอง และก็เป็นศตวรรษที่สิบเก้าที่เราเห็นการเขียนประเภทนี้เติบโต เริ่มได้รับความนิยม หากอาจกล่าวได้จากงานของนักเขียนประเภทนี้ที่เป็นที่รู้จักในช่วงเริ่มต้นนั้น เช่น จอห์นสัน,  บอสเวลล์ หรือล็อกฮาร์ต ที่วูลฟ์มองว่าวนเวียนอยู่กับชีวิตที่นั่งใคร่ครวญห้วงความคิดและอารมณ์เสียส่วนมาก

          “ชีวิตที่ไม่ค่อยขยับมากนักของกวีและศิลปินมีความยาวเท่ากับชีวิตของพ่อค้าหรือนักการทูต […] เพราะชีวิตที่ไม่ได้แสดงออกผ่านการกระทำเต็มเปี่ยมไปด้วยคำพูดเหลือคณา”

Auto-bio-graphy อำนาจ-ชีวิต-การเขียน
หนังสือ The Art of Biography
Photo : e-artnow ebooks
Auto-bio-graphy อำนาจ-ชีวิต-การเขียน
เวอร์จิเนีย วูลฟ์
Photo : Public Domain

          ถึงอย่างนั้น การเขียนเชิงอัต/ชีวประวัติในยุควิกตอเรียนก็ให้กำเนิดงานเขียนที่รุ่มรวย เปี่ยมด้วยอารมณ์ถาโถม พรั่งพรูด้วยถ้อยคำที่เราได้เห็นในงานประเภทนี้มากขึ้น และทำให้งานเขียนว่าด้วยชีวิตไม่เป็นเพียงการบันทึกประวัติศาสตร์แห้งเหือด หากมีชีวิตชีวา และไร้กาล

          หากศตวรรษที่สิบเก้าเป็นจุดเริ่มต้นเพาะเมล็ดพันธุ์ของอัต/ชีวประวัติ ศตวรรษที่ยี่สิบก็เป็นช่วงเวลาบ่มเพาะจนเราเห็นงานประเภทนี้เบ่งบานและแตกยอดเป็นรูปแบบ เรื่องราวต่างๆ มากขึ้น นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ขนาดความหนาเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด (จนทำให้ผู้คนสามารถพกพางานประเภทนี้ได้มากขึ้น และส่งผลให้ความนิยมเพิ่มมากขึ้น) เนื้อหาภายในก็เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ตัวละครหลักไม่ได้เป็นฮีโร่ กูรู นักปราชญ์อีกต่อไป หากเขานั้นอาจเป็นเพื่อน ศัตรู ทั้งน่าชื่นชม และน่าวิจารณ์ หรือกล่าวได้ว่าเขาเท่าเทียมกับผู้อ่านมากขึ้น ซึ่งเป็นทั้งการปลดปล่อยตัวละครหลัก (ผู้เขียน/ผู้ถูกเขียนถึง) และผู้อ่านไปพร้อมกันเมื่อเปิดกว้างต่อความเห็น

          วอลเตอร์ ไอแซกสัน ผู้เขียนชีวประวัติของบุคคลระดับโลกมาแล้วหลายคน เช่น Benjamin Franklin: An American Life (2003), Einstein: His Life and The Universe (2007), Leonardo da Vinci (2017) และ Steve Jobs (2011) เคยกล่าวว่า

          “เมื่อคุณเขียนชีวประวัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเบน แฟรงกลิน หรือไอน์สไตน์ คุณค้นพบความจริงบางอย่างว่าเราต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน”

          และประสบการณ์เฉพาะตัวใดๆ ที่พวกเขาได้พบเจอล้วนมีคุณสมบัติความเป็นสากลบางอย่างซ่อนอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับที่ มายา แอนเจลู กวี นักเขียนที่งานชีวประวัติของเธอได้รางวัลจากหลายสำนักเขียนไว้ใน ‘Where the Caged Bird Sings’ ว่า

          “ถ้อยคำเป็นมากกว่าตัวอักษรบนกระดาษ หากคือประสบการณ์ชีวิต และน้ำเสียงมนุษย์ที่เก็บงำไว้มานาน”การอ่านเรื่องราวของผู้อื่นจึงเป็นดั่งครู แม้นั่นจะไม่ใช่เรื่องราวของเราเอง แต่วงจรธรรมชาติชีวิตก็สอนบทเรียน ขยายมุมความคิด บ่มเพาะทัศนคติเราได้เช่นกัน

          ตั้งแต่ปลายปี 2022 เราได้เห็นงานชีวประวัติขึ้นหิ้ง ‘หนังสือขายดี’ มากขึ้น นำโดย ‘A Promised Land’ บันทึกของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา, ‘Beyond The Wand’ อัตชีวประวัติของทอม เฟลตัน นักแสดงบทมัลฟอยในแฮร์รี่ พอตเตอร์ และ ‘SPARE’ ชีวประวัติของเจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ ที่มาแรงแซงขึ้นอันดับเป็นหนังสือประเภท non-fiction ที่ทำลายสถิติ ‘กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์’ ว่าเป็นหนังสือที่ขายเร็วที่สุดนับจากวันที่ออกจำหน่าย 

          อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าชีวประวัติที่เราคุ้นเคย โดยเฉพาะชีวประวัติที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยก็ยังเป็นเรื่องราวของบุคคลสาธารณะ ราชวงศ์ ประธานาธิบดี ฮอลลีวูดสตาร์ หรือซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ ทั้งที่อัต/ชีวประวัติทั่วโลกนั้นหลากหลายไปด้วยเรื่องราวของผู้คน เช่น

          ‘In Order to Live: A North Korean Girl’s Journey to Freedom’ เรื่องราวการหนีตายของ ปาร์ค ยอนมี หญิงสาวชาวเกาหลี

          ‘Life on Delay’ โดย จอห์น เฮนดริคสัน นักข่าวติดอ่าง

          ‘H Is for Hawk’ บันทึกของนักธรรมชาติวิทยาที่การสูญเสียพ่อของเธอเปิดทางให้เธอเห็นความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตและธรรมชาติผ่านเหยี่ยวที่เธอฝึกสอน

Auto-bio-graphy อำนาจ-ชีวิต-การเขียน
หนังสือ In Order to Live: A North Korean Girl’s Journey to Freedom
Photo : Penguin Random House
Auto-bio-graphy อำนาจ-ชีวิต-การเขียน
หนังสือ Life on Delay
Photo : Penguin Random House
Auto-bio-graphy อำนาจ-ชีวิต-การเขียน
หนังสือ H Is for Hawk
Photo : Grove Atlantic

          บางเล่ม นอกจากจะให้บทเรียนในระดับปัจเจกแล้ว ยังฉายภาพความหลากหลายเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม และเปิดประสบการณ์โดยเฉพาะของกลุ่มคนชายขอบให้ผู้คนได้รับรู้ ทำความเข้าใจ และหาทางอยู่ร่วมกันอย่างเคารพต่อไป เช่น

          ‘Year of the Tiger: An Activist’s Life’ โดยอลิซ หว่อง นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวจีนอเมริกันและใช้วีลแชร์

          ‘Stay True’ โดยฮัว ซู บันทึกการเปลี่ยนผ่านระหว่างวัยของหนุ่มไต้หวันผู้เติบโตในอเมริกาและต้องค้นหา พร้อมสร้างอัตลักษณ์ของตนเองไปพร้อมกัน หนังสือทั้งสองเล่มได้รับการชื่นชมจากสื่อหลายสำนักของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะในมุมที่ต่อเติมภาพความหลากหลายของสังคมให้เต็ม และในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นว่าลึกลงไปในความต่างที่ปรากฏ ผู้คนล้วนต่างปรารถนาถึงคุณค่าสากลของการมีชีวิตอยู่ที่ไม่ต่างกัน – ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความฝัน การเติบโต โอกาสในการใช้ศักยภาพที่ทุกคนล้วนมี

          หากอัต/ชีวประวัติคือห้องสมุดรวบรวมบทเรียนชีวิต ห้องสมุดในประเทศเราก็คงขาดบทเรียนสำคัญของผู้คนอย่างน่าเสียดายเพียงเพราะเรามองว่าชีวิตของพวกเขานั้น ‘ธรรมดา’ ไม่ได้มีตำแหน่งนำหน้า ไม่ได้มียศถาบรรดาศักดิ์ใด

          และเมื่อมองในแง่นี้แล้ว อัต/ชีวประวัติก็เป็นมากกว่าห้องสมุดที่รวบรวมบทเรียน หากยังเป็นห้องสมุดที่สะท้อนด้วยว่าสังคมนั้นที่ห้องสมุดตั้งอยู่สนใจ และให้คุณค่าชีวิตของผู้คนแบบไหน เรื่องเล่าหลัก (Grand Narrative) ของสังคมเป็นเรื่องของใคร และขาดเรื่องของใครบ้าง ห้องสมุด บานกระจกสะท้อนสังคม มีที่ทางให้เสียงทุกเสียงได้บอกเล่าเรื่องราว ให้สังคมได้พบว่าท่ามกลางความแตกต่างของบทบาทหน้าที่และสิ่งที่เราเผชิญ เราต่างล้วนมีบางอย่าง – ตรงแก่นแท้ใจกลางความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกัน

Auto-bio-graphy อำนาจ-ชีวิต-การเขียน
หนังสือ Year of the Tiger: An Activist’s Life
Photo : Penguin Random House
Auto-bio-graphy อำนาจ-ชีวิต-การเขียน
หนังสือ Stay True
Photo : Penguin Random House

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก