“ยังหาวิธีเก็บที่ดีกว่านี้ไม่ได้ แต่มันก็เป็นหลักฐานว่ายุคหนึ่งเราเคยทำหนังสือแบบนี้”
อธิคม คุณาวุฒิ พูดถึงกองนิตยสาร WAY Magazine ที่วางซ้อนกันเป็นกำแพงสูงท่วมเอวภายในบริษัทที่เขารับบทเป็น ‘บ.ก.อำมาตย์’ หรือตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร คอยเป็นแรงหนุนให้บรรณาธิการหลักที่เล่นอยู่ในสนามข่าว คือ ‘โกวิท โพธิสาร’ นอกจากนี้ อธิคมยังสวมปลอกแขนกัปตันทีมเป็นผู้บริหารปรับเปลี่ยน ทดลอง หาทางรอดให้องค์กรขนาดกะทัดรัด (ตามที่เขานิยาม) เดินหน้าต่อไปได้
ตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมา อธิคมทำงานอยู่อาชีพเดียว โดยเริ่มต้นเป็นคนทำงานหนังสือหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารในเครืออมรินทร์พริ้นติ้ง ต่อมาปี 2543 ก้าวขึ้นรับตำแหน่งบรรณาธิการครั้งแรกในเซคชัน ‘เสาร์สวัสดี’ ของหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ และย้ายมาเป็นบรรณาธิการต่อที่ a day weekly กระทั่งปี 2549 อธิคมก่อตั้งนิตยสาร WAY Magazine พ่วงด้วยสำนักพิมพ์ WAY of BOOK รวมถึงวางแผนการทำสื่อให้หลากหลายองค์กร เพื่อนำเสนอประเด็นที่บอกเล่าข้อมูลข้อเท็จจริงอันนำไปสู่ประโยชน์ต่อสังคม เช่น The Potential, Seedtizen ฯลฯ
อธิคมได้รับรางวัล บรรณาธิการดีเด่น ‘รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง’ ประจำปี 2562 ในบางคำประกาศเกียรติคุณระบุไว้ว่า
“อธิคม คุณาวุฒิ เป็นบรรณาธิการผู้มีวิสัยทัศน์ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบและเนื้อหาของสื่อให้เท่าทันยุคสมัยด้วยการเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์สู่สื่อดิจิทัล โดยยังคงจิตวิญญาณของสื่อสารมวลชนที่มีความซื่อตรงต่อสารที่นำเสนอ
“อีกทั้งยังผลักดันและให้โอกาสคนรุ่นใหม่ในการร่วมสร้างสรรค์ผลงานเขียนเพื่อสื่อสารเนื้อหาสาระที่มีคุณภาพสู่วงกว้าง บทบาทของอธิคมจึงเปรียบเหมือนสะพานเชื่อมยุคสมัย อธิคมมีความกล้าหาญในการวิพากษ์ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง แม้ว่าจะเป็นเนื้อหาทวนกระแสหลัก แต่มีความแน่วแน่ในการนำเสนอความคิดทางเลือกที่หนักแน่นจริงจังเพื่อกระตุ้นเตือนสังคม…”
จากปี 2535 ถึงปี 2565 อธิคมยังคงทำงานเดิม สร้างงานด้วยความประณีต ซื่อตรงองอาจ ตั้งตัวยืนตรงอย่างสง่างาม บนหัวใจสำคัญคือข้อมูลข้อเท็จจริงที่ทุกอย่างพิสูจน์ได้และมีความน่าเชื่อถือ ภายใต้ความเชื่อว่าวิถีของสื่อกระแสรองเหมือนมวยหมัดสองที่ช้าแต่ชัวร์ และเข้าเป้าตรงประเด็น
วันเวลาผ่านมาอาชีพคนทำหนังสือของ อธิคม คุณาวุฒิ เปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ชวนไปฟังบางความคิดเห็นของบรรณาธิการผู้นี้กัน
จากหน้ากระดาษสู่ดิจิทัล คุณคิดว่าพฤติกรรมการอ่านของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
การอ่านสิ่งที่อยู่บนกระดาษแทบไม่ได้เป็นวิถีชีวิตปกติของผู้คนแล้ว เราต้องไถมือถืออยู่กับโลกออนไลน์ ซึ่งมันสอดคล้องและตอบสนองกับวิถีชีวิตจริงๆ
พวกสิ่งพิมพ์รายวาระ เช่น หนังสือพิมพ์รายวัน จนถึงแมกกาซีนรายอะไรก็ตามแต่ มันไม่มีฟังก์ชันแล้วสำหรับชีวิตจริงของคน แต่หนังสือเล่มประเภท Textbook งานวรรณกรรม หรืองาน Photo Book ก็ยังพอมีพื้นที่อยู่บ้าง
เคยมียุคที่วงการนิตยสารเฟื่องฟูไหม
เฟื่องฟูในที่นี้แปลว่าคนทำสนุก คนเขียนสนุก คนถ่ายรูปสนุก หรือว่าผู้ลงทุนสนุกได้กำไร ถ้าถามแบบหนังสือกลุ่มที่เราทำมา มองว่าแทบจะไม่มีเล่มไหนประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจหรอก หนังสือแบบนี้นะ (ชี้ไปที่กองนิตยสาร WAY Magazine) เพียงแต่ว่าเราก็มีวิธีการทดลอง มีวิธีการเอาชีวิตรอดของแต่ละหัว
แต่ในยุคหนึ่งที่นิตยสารเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของคน นิตยสารเป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์ด้านต่างๆ กลุ่มแบบนั้นก็มี แล้วก็ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจจริงก็มี เพียงแต่ว่า ถ้าถามเรา เราอาจจะรู้แค่อ่าวนี้ เพราะไม่ได้อยู่ในน่านน้ำแบบนั้นสักเท่าไหร่
จนถึงวันนี้คนทำงานสื่อสารมวลชนต้องปรับตัวอย่างไร
อาชีพสื่อสารมวลชนทำงานอยู่กับผู้คน อยู่กับพฤติกรรมความสนใจของคน แน่นอนเราไม่ใช่สื่อที่ตอบสนองเฉพาะความสนใจคนอยู่แล้ว เรามีสิ่งที่อยากจะพูด อยากจะเข้าถึง เรื่องตัวแปรพื้นฐานพวกนี้ต้องอ่านให้แม่นยำว่าสมรภูมิที่เรายืนอยู่เป็นยังไง ภูมิประเทศที่เราอยู่เป็นยังไง
เราเข้ามาทำงานอาชีพนี้ในช่วงปลายของการใช้พิมพ์ดีด ยังใช้โปรแกรมเวิร์ดจุฬาฯ ในช่วงที่ฝ่ายศิลป์ยังเอาเบนซินขาวมาผสมยางพาราเพื่อแปะอาร์ตเวิร์ก เรายังทันตรงนั้น ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มันสำคัญมาก ได้เห็นการทำงานของทั้งกอง บ.ก. และที่ค่อนข้างซับซ้อนกว่านั้นก็คือเรื่องของ โปรดักชัน ฝ่ายศิลป์ คนเคาะคอมพิวต์ อาร์ตไดเรกเตอร์ การวางเลย์เอาต์ เราก็ได้เห็น
พูดแบบไม่โรแมนติก เราว่าวิธีทำงานแบบปัจจุบันสนุกกว่า ง่ายกว่า เร็วกว่า สะดวกกว่า
ขยับมาทำออนไลน์ ทำให้คนอ่านมากกว่าสมัยทำนิตยสารด้วยใช่ไหม
มากกว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Engagements ของ WAY Magazine อยู่ที่สองล้านแปดภายในเดือนเดียว คิดดูว่านิตยสารต้องพิมพ์กี่พันเล่ม นี่คือโอกาส ถ้าปรับตัวเราก็จะมองเห็นและใช้งานเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ให้มันสอดคล้องไปกับพฤติกรรมของคนที่มีจุดร่วมในสังคมเดียวกับเรา
ยกตัวอย่างเช่นล่าสุดเราปล่อยคลิปสั้นๆ พระพยอม ที่ไปสัมภาษณ์เผื่อไว้ (สนทนาธรรมในหัวข้อร่วมสมัย เพื่อค้นหาคำตอบว่า ธรรมะและหลักธรรมทางศาสนาพุทธมีที่ทางหรือบทบาทสำคัญอย่างไรในสังคมไทย) เพราะคิดว่าเดี๋ยวจะมีดราม่าเรื่องศาสนาเกิดขึ้นแน่ๆ สังคมจะวนลูปอยู่เรื่อยๆ สักพักก็เกิดขึ้นจริง พอปล่อยออกไปก็กลายเป็นไวรัล คนเข้าถึงตอนนี้ก็น่าจะประมาณล้านหก (เผยแพร่เมื่อ 30 ส.ค. 65) แชร์ไปหลายพัน โลกออนไลน์มันเป็นวิทยาศาสตร์ คุณเข้ามาดูตัวเลขสถิติได้
ในขณะที่งานยุคสิ่งพิมพ์ เราเคยอยู่ในบางสำนักที่ฝ่าย Sales หรือ AE พูดกับลูกค้าว่าสามารถพิมพ์สองแสนเล่มได้ ซึ่งมันเป็นไสยศาสตร์ เราไม่กล้าพูดแบบนั้น แต่ในวันนี้ถ้าอยากดูตัวเลข เรากล้าให้ดู เพราะยอด Engagements ยอด Reached มันเปิดเผยอยู่แล้ว
ยอด Engagements ยอด Reached ใน Facebook หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ แปรผันไม่แน่นอน ทุกวันนี้มีปัญหามากน้อยแค่ไหน
เราต้องปรับตลอด แล้วก็หมั่นดูที่ทางอื่นๆ เผื่อไว้เสมอ คืออย่าไปยึดว่ามันจะเป็นเรือนตายของเรา เพราะมันเป็นที่ของเขา อยากจะทำอะไรเขาก็ทำ ไม่ว่ามันจะชอบธรรมหรือไม่ บางทีเรานั่งขำตัวเองเหมือนกัน ทำคอนเทนต์ไปลงในแพลตฟอร์มของเขา บางครั้งยังต้องจ่ายเงินให้เขาอีกเพื่อที่จะส่งสารไปให้ถึงผู้คน
แต่ว่าอย่างไรก็ตาม คิดว่าเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือคงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เรามีหน้าที่ต้องปรับตัว เพราะมันใหญ่เกินกว่าเราจะไปปรับมันหรือทำให้มันเป็นไปตามที่เราต้องการ ถ้าเงื่อนไขเป็นแบบนี้ก็ปรับตัวตามไป ดูเอาว่าอันไหนทำได้ ทำไม่ได้
เวลาเห็นโจทย์บางอย่าง เห็นเงื่อนไข หรือจะเรียกว่าปัญหาที่ต้องแก้ก็ได้ เราจะบอกน้องๆ ว่า พี่ก็ไม่รู้คำตอบ ไม่รู้หรอกว่าจะถูกผิด จะเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ต้องทดลองดู
ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คุณติดตามโซเชียลต่างๆ ทันไหม
โดยอาชีพมันต้องตามให้ทัน อย่างน้อยสัก 70-80 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนมีบางเรื่องที่เราไม่รู้ ต้องถามว่ามันคืออะไร แบบนี้มาจากไหน ถามคนรุ่นอายุยี่สิบกลางๆ หรือถามลูกสาว
เราเคยอ่านโพสต์ หมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ แล้วก็ขำ วันดีคืนดีแกก็เขียนว่า ปัจจุบันอย่าไปถามลูกว่าเรียนเป็นยังไงหรือโรงเรียนเป็นยังไง มันเชย ต้องถามว่าวันนี้โลกออนไลน์มีเรื่องอะไร มีประเด็นอะไร คือมันสอดคล้องกับสิ่งที่พวกเขาสนใจ เราก็คิดเหมือนกันกับโพสต์หมอประเสริฐ เพราะเราก็ทำแบบนี้กับลูก ยุคนี้พวกเขาจะคุยกับเพื่อนหรือจะอ่านอะไรก็ต้องใช้เครื่องมือแบบนี้ ตัวเราเองก็สนุกในการที่จะมอนิเตอร์ทุกสิ่งอยู่แล้ว
ทุกวันนี้สามารถแบ่งสื่อในประเทศไทยได้กี่แบบ
ไม่กล้าไปแบ่งว่าอะไรเป็นแบบไหน อาจจะพูดกว้างๆ ได้ว่า เป็น ‘สื่อดั้งเดิม’ กับ ‘สื่อออนไลน์’ หรือที่เรียกว่า ‘สื่อใหม่’
สื่อดั้งเดิมก็เช่นบรรดาหนังสือพิมพ์รายวันที่เริ่มปรับตัวมาใช้พื้นที่ออนไลน์มากขึ้น มีสรรพกำลังนักข่าว สามารถทำข่าวรวดเร็วฉับไว เล่าเรื่อง 5W1H ทำข่าวปฐมภูมิ ซึ่งเขาก็มีฟังก์ชันในแบบของเขา หลายสื่อก็ทำได้ดี และเราเองก็ต้องตามเขาด้วยในบางเรื่อง
ส่วนสื่อใหม่ๆ ก็เป็นความสนุกของโลกอีกวงหนึ่ง สิ่งที่น่าจะพูดได้ชัดก็คือว่า สื่อออนไลน์หรือสื่อใหม่ค่อนข้างกลมกลืนกับวิถีชีวิตจริงของคนในยุคสมัยนี้
วงการสื่อวันนี้เปลี่ยนแปลงมาเป็นอย่างที่เคยคิดไว้หรือเปล่า
โดยภาพหลักก็ประมาณนั้น คือเราไม่ได้มองแล้วคิดได้เองหมด ก็ฟังคนอื่น ฟังวงการ ช่วงทีวีดิจิทัลบูม เราคิดว่าผู้บริหารที่ไปลงทุนกับทีวีดิจิทัลเป็นความผิดพลาดที่สูญเสียรายจ่ายสูงมาก กระทั่งทำให้องค์กรได้รับผลกระทบสูงมากในยุคนั้น เพราะว่าไม่กี่ปีถัดมา มันไม่ต้องเป็นทีวีดิจิทัลแล้ว มันคือออนไลน์ มีอินเทอร์เน็ต ทำไมต้องไปเสียเงินกับเรื่องค่าสัมปทานแบบนั้นด้วย แต่เราไม่กล้าพูด เพราะไม่คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าผู้บริหารเหล่านั้น
ปัจจุบันเพดานสื่อไทยขยับไปมากน้อยกว่าเดิมแค่ไหน
โดยกฎหมายมันยังมีเงื่อนไขที่เราไม่สามารถพูดได้ชัดแจ้งขนาดนั้น เช่น ตอนที่มีการชุมนุม มีตัวแทนนักศึกษาขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ มีทนายอานนท์ขึ้นไปพูดปราศรัย สื่อมองหน้ากันเลิ่กลั่ก สื่อจำนวนมากละอายต่ออาชีพตัวเองแน่ๆ ถ้าจะไม่ลงหรือไม่ทำข่าว แต่เขาก็รู้กันว่าเพดานอยู่ตรงไหน สิ่งที่ตลกก็คือสื่อที่ลงอย่างครบถ้วนเต็มฉบับกลับเป็นสื่อแนวจารีตด้วยซ้ำไป ลงเพื่อหวังจะเอาผิด
การขยับของสังคม เครื่องมือเทคโนโลยี ภูมิทัศน์ หรือมวลชน เมื่อทุกอย่างเปลี่ยน สื่อก็ต้องปรับ แน่นอนว่ามันไกลกว่าเมื่อ 5-10 ปีที่แล้วอย่างมหาศาล
หลักการบรรณาธิการที่คุณเคยพูดตอนรับรางวัลบรรณาธิการดีเด่น ยังใช้ได้อยู่ไหมในการทำงานยุคนี้
เราถือโอกาสนั้นพูด โดยใช้เครื่องมือของบรรณาธิการ พูดถึงคำ 3 คำ เพราะเป็นรางวัลที่เกี่ยวข้องกับสมาคมภาษาและหนังสือ เราอยากสื่อสารไปให้ถึงภาพใหญ่ที่ว่าอาชีพบรรณาธิการมันไม่ได้อยู่แบบลอยๆ เพราะมันต้องสัมพันธ์กับสังคมแน่ๆ อยู่แล้ว
อาชีพนี้ต้องมีความรับผิดรับชอบเป็นพื้นฐาน เรียกว่า Accountability เวลามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ถ้าหากตรวจสอบแล้วพบว่าเราผิดจริง บ.ก. จะต้องแอ่นอกรับมัน โดยทางหลักการแล้ว บ.ก. คือคนแรกที่ถูกด่า ก็เดินออกไปรับมันแล้วก็ขอโทษซะ อย่าไปใช้ทักษะภาษาโยกโย้ให้มันเป็นอย่างอื่น ผิดก็บอกว่าผิด ขอโทษแล้วแก้ไข และต่อไปก็ทำงานให้ข้อผิดพลาดมันเกิดขึ้นน้อยที่สุด
อีกคำคือ Integrity ไม่มีคำแปลตรงตัวเป็นภาษาไทย เพราะมันไม่มีในวัฒนธรรมการทำงานของผู้คนในสังคมไทย ประกอบไปด้วยสิ่งที่เรียกว่าความประณีต ความซื่อตรง ความสง่างามองอาจ
อีกคำที่เราพูดในวันนั้นคือเรื่องของความเข้าใจวัฒนธรรมใหม่ๆ ข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันของคนในปัจจุบัน เราโตมาในยุคที่คนข้ามเพศจะต้องตลก โตมากับการได้จับก้นกะเทย แต่วันนี้คุณทำแบบนั้นไม่ได้ในยุคปัจจุบัน นี่คือข้อตกลง นี่คือวัฒนธรรมใหม่ที่เราต้องเรียนรู้กันไป และคิดว่าทุกอาชีพก็ต้องประกอบใช้สิ่งเหล่านี้ในการทำงาน
จริยธรรม คุณธรรม จรรยาบรรณ พูดแล้วมันก็จั๊กจี้ เอาเป็นว่ามีความเป็นมืออาชีพ จะอยู่ในจุดยืนแบบไหนมันก็ทำให้เราไม่หลุดไปจากหลักวิชาของอาชีพ ต่อให้เป็นสื่อที่มีฐานคิดแบบอนุรักษนิยมก็ตาม แต่เวลาจะตอบโต้คัดง้างก็ต้องทำงานอยู่บนหลักฐานข้อมูลที่เป็นจริง เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นทุกที่ในโลก
มีสำนักข่าวที่เป็นซ้าย แล้วก็มีหนังสือพิมพ์ที่เป็นขวาเยอะแยะ แต่เขาทำงานกันบนความเป็นมืออาชีพ โต้เถียงกันด้วยข้อมูล ทำงานบนหลักฐาน ข้อเท็จจริง อย่างน้อยไปหามาว่าเพราะอะไรถึงพูดเรื่องนี้ เอกสารชั้นต้นว่ายังไง ใครเป็นคนพูดคำนี้ นั่นคือหน้าที่พื้นฐานของสื่อ
คุณสมบัติของการเป็นบรรณาธิการที่ดี คุณได้บ่มเพาะฝึกฝนน้องๆ ที่ทำงานร่วมกันอย่างไรบ้าง
เราต้องระมัดระวังตัวมากเวลาพูดถึงเรื่องแบบนี้ ในบรรดาบรรณาธิการหลายๆ แบบในแวดวงสื่อหรือแวดวงหนังสือ เราเป็นเพียงบรรณาธิการแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราคิดว่าไม่มีสิทธิ์จะไปบอกว่าแบบไหนดีที่สุด สำคัญที่สุด หรือจำเป็นต่อโลกมากที่สุด เราไม่สามารถพูดเช่นนั้นได้
บางองค์กร บรรณาธิการคือคนที่สามารถทำหน้าที่ออกไปหารายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงองค์กร แล้วก็สามารถบอกกล่าวคนทำงานให้ทำตามโจทย์ของลูกค้า เราจะไปบอกว่าคนนั้นเป็นบรรณาธิการที่แย่สำหรับองค์กรนั้นได้เหรอ ก็เขาเหมาะกับองค์กรแบบนั้น
ถ้าถามว่าสอนกันแบบไหน ฝึกกันแบบไหน ก็ต้องบอกว่ามาจากลักษณะการทำงาน ยกตัวอย่างให้ฟัง มีเพื่อนร่วมงานเราคนหนึ่งมาใหม่ เราเห็นความแพรวพราวในภาษาเขียนของเขา ทำงานได้ประมาณสองเดือน เขาก็เดินมาบอกว่า ผมรู้แล้วว่าผมขาดอะไร-ผมขาดประเด็น เขารู้จากที่ได้ฝึกจากการประชุมกองฯ รู้ว่าจะทำเรื่องนี้ ต้องเอามุมไหน เอาประเด็นอะไร ไม่ใช่ว่าเราสอนคนเดียวมันเป็นวัฒนธรรมของการประชุม ทุกคนเตรียมของ เตรียมไอเดียมาขายว่าจะทำเรื่องอะไร จะมีซักถามกันในที่ประชุมว่าทำไมถึงทำเรื่องนี้ ทำไมถึงอยากสัมภาษณ์คนนี้ สัมภาษณ์เขาเรื่องอะไร เวลาจะออกไปสัมภาษณ์ใคร จะเอาคำถามมาวางไว้ในไฟล์ให้ บ.ก. ช่วยกันดูว่าคำถามนี้มันครอบคลุมเพียงพอไหม อันไหนยังขาด อันไหนเวิ่นเว้อ
เราทำงานกันแบบนี้ กระบวนการทำงานมันจะเทรนคนให้เป็นแบบนี้ เวลาทำงานทำอย่างประณีต ทำอย่างซื่อตรงองอาจ มันจะมีบางเรื่องที่เราดูแล้วจะรู้ว่า ถ้าเป็นพฤติกรรมแบบนี้ พวกเราไม่ทำ (หัวเราะ)
ต้นทุนที่ทำให้การทำงานสื่ออย่าง WAY มันพอจะพูดกับคนอื่นได้บ้าง ต้นทุนนั้นคือความน่าเชื่อถือ ต่อให้เราเป็นองค์กรที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก แต่ว่าเวลาเราทำคอนเทนต์อะไรออกไป มันสามารถตรวจสอบได้
ทุกวันนี้ WAY Magazine ถูกจดจำในภาพแบบไหน
อันดับแรกเราเป็นสำนักที่สนใจประเด็นทางสังคมชัดๆ อยู่แล้ว และค่อนข้างที่จะจับประเด็นได้เข้าใจและแม่นยำ เราจะไม่ค่อยหลุดเรื่องสำคัญ ทีนี้พอเรามีกระดูกที่แข็งแรง มีฐานที่มั่นคง เวลาทำเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรม ความหลากหลายทางเพศ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ หรือแม้แต่เรื่องความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ มันจึงทำให้เราไม่ค่อยหลุดไปจากหลักการสำคัญ ซึ่งสิ่งนี้จะสะท้อนผ่านตัวเนื้อหาออกไปอย่างสม่ำเสมอ ภาพจำมันคงเป็นแบบนั้น
งานแบบที่ WAY Magazine ทำ คุณคิดว่ามีผลต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน
ไม่รู้ ต้องไปถามคนอื่น แต่เรารู้สึกเป็นเกียรติที่เวลามีใครเอา WAY ไปทาบกับสำนักอื่นๆ หรือนับว่าเราเป็นสื่อในโลกออนไลน์ยุคปัจจุบัน แต่หลายครั้งก็ต้องยอมรับว่าเรามีข้อจำกัด ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ข้อจำกัดดังกล่าวชัดเจนตรงไปตรงมาคือเรื่องขนาดของทุน ที่มันตามมาด้วยอะไรตั้งหลายอย่าง ทั้งจำนวนคน ความถี่ การบริหารจัดการอีกรูปแบบหนึ่ง พอรู้ว่าเราเป็นทุนขนาดเล็ก รู้ข้อจำกัดบางอย่างหรือข้อไม่จำกัดบางอย่าง รู้ข้อดีข้อเสียของเรา เราก็จะไม่ทะเยอทะยานแข่งในสิ่งที่เราแข่งไม่ได้ เช่น ความถี่ ความเร็ว แต่เรามีอย่างอื่นที่ออกอาวุธได้ดี ก็ทำตรงนั้นเสริมเข้าไป
มองในภาพรวมของแวดวงทั้งหมด การทำหน้าที่ของสื่อแต่ละที่ สุดท้ายมันก็จะเสริมประเด็นบางเรื่อง ผลักสังคมบางอย่าง ไม่จำเป็นต้องไปห้ำหั่นเป็นศัตรูเอาเป็นเอาตายกัน ต่างคนต่างมีหน้าที่ มีความถนัดในน่านน้ำของตัวเอง
บทเรียนที่ได้รู้จากการเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อคืออะไร
การปรับตัว คนจะปรับตัวได้หรือองค์กรจะปรับตัวได้ หนึ่ง ต้องประเมินสถานการณ์ให้ถูกต้อง ต้องไม่เข้าข้างตัวเอง ต้องไม่ถือดีว่าสิ่งที่ทำมามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่เสมอหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้
ขณะเดียวกันก็ต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ด้วยว่า จะปรับได้แค่ไหนจึงจะยังรักษาความนับถือตัวเองไว้ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องรายละเอียดของแต่ละบุคคล เพราะบางคนมีเพดานไม่เท่ากัน
แล้วสื่อแบบไหนที่คิดว่าควรมีอยู่หรือที่ควรจะมีเพิ่มในประเทศไทย
ตอบยาก ช่วงหลังพอบรรยากาศของงานออนไลน์มันอุดมไปด้วยความคิดเห็น อุดมไปด้วยความร้อนแรงของคอมเมนต์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องไม่ดี ก็เป็นสิ่งที่ควรเกิดเพราะมันทำให้เรากลับไปหาสิ่งที่เรียกว่า ข้อมูลข้อเท็จจริง มันไม่ใช่แค่การวิเคราะห์หรือแสดงความคิดเห็นของตัวเอง สื่อไหนสามารถทำหน้าที่เอาข้อมูลมาวางให้คนเห็นได้ เราคิดว่าสื่อนั้นจะมีฟังก์ชัน
ศิลปะการวางข้อมูลก็คือการเลือก เราไม่สามารถหยิบทุกอย่างไปวางได้ แต่มันคือการเลือกเอามาวาง ยังไงก็ตามก็ต้องมีคนเลือกข้อมูล การจะบอกว่าเป็นกลางหรือไม่เป็นกลางมันไม่มีหรอก แค่คุณหยิบเรื่องไหนมาเล่า คุณก็ไม่เป็นกลางแล้ว
ทิศทางของสื่อมักจะเป็นไปตามสไตล์ของ บ.ก. คุณว่าจริงไหม
อาจจะจริง แต่เวลาเล่าเรื่องพวกนี้ เราชอบเล่าอีกแบบหนึ่งว่า ความพยายามของเราตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา คือไม่อยากให้ WAY เป็นเราคนเดียว ทำสิ่งนี้มาตลอดเลย พยายามที่จะให้คนรุ่นถัดไปขึ้นมาทำงาน แล้วก็ก้าวข้ามอุปสรรคบางอย่างที่เราเคลียร์ทางไว้ให้น้องๆ เดินได้สะดวก
ในความฝันเรา องค์กรมันควรจะมีแบรนด์ขององค์กรด้วยตัวมันเอง โดยที่ไม่ต้องติดกับหน้าใคร คนอื่นเขาจะได้ไม่เจอเรานั่งขวางอยู่ ถ้าเปลี่ยนผ่านมีคนขึ้นมาทำแทน เราก็จะไปขี่จักรยาน อยากไปไหนก็ไปได้ อยากทำอะไรก็ได้ทำ ถ้าน้องๆ อยากได้คำแนะนำ เดี๋ยวเขาก็เรียกเองแหละ
เราเองก็เตรียมเกษียณ 50 กว่าแล้ว จะทำไปถึงไหน ถ้าเกษียณแล้วยังไม่รู้ใครจะมาทำต่อ ถ้าไม่ทำต่อก็ไม่ต้องทำ มันไม่ใช่ต้องแบกอะไรไว้ตลอดเวลา อีกปีสองปีเลิกทำ WAY ไปแล้ว ก็แสดงว่ามันอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่ได้ทำ มันรู้สึกว่าพอแล้ว แต่ไอ้คำว่าเกษียณ คนที่พูดบ่อยๆ ไม่ค่อยได้เกษียณหรอก (หัวเราะ)
ถ้าคนรุ่นใหม่อยากเข้ามาทำงานสายนี้ สิ่งที่คนรุ่นก่อนอยากบอกคืออะไร
เขาอยากให้เราสอนหรือเปล่า (หัวเราะ)
งานสื่อ โดยกระบวนการคิดของมันทั้งหมดเป็นอาชีพที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีฟังก์ชันที่รักษาประโยชน์บางอย่าง เป็นปากเป็นเสียงบางอย่างให้กับสังคมและผู้อื่น เพราะฉะนั้นถ้าจะทำอาชีพนี้ให้มีความสนุกและรักษาภูมิคุ้มกันในตัวเองให้ไม่เปราะบางแตกหักหรือบาดเจ็บง่ายๆ ก็ต้องคอยบอกตัวเองว่ามันคือการทำเพื่อผู้อื่น ไม่ใช่ตัวเรา
อาชีพสื่อโดยธรรมชาติเป็นอาชีพหนึ่งที่มีแรงกดดันสูง มีความเครียด แต่มันก็สอดคล้องกับฮอร์โมนบางอย่างของคนหนุ่มสาว เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่ามีคนแก่ไม่กี่คนหรอกที่จะทำงานสื่อได้อย่างมีชีวิตชีวา ส่วนใหญ่แล้ว พลังงานดีๆ หรือว่าเนื้อหาดีๆ สดใหม่มักจะมาจากคนหนุ่มสาว พวกเขามีความชำนาญในการใช้เครื่องมือเหล่านั้น เช่น เขียนหนังสือเป็น เล่าเรื่องรู้เรื่อง เล่าเรื่องสนุก จับประเด็นถูกต้อง หรือแม้กระทั่งการเล่าผ่านเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ ได้ ทำเป็นวิดีโอ ทำเป็นรูปภาพ มันมีคนเก่งๆ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้ได้เห็นเยอะแยะ
เราพูดกับน้องๆ ในกองฯ เสมอว่า ตอนพี่อายุเท่าเอ็ง พี่ไม่ได้เก่งขนาดนี้ ไม่ได้รู้มากขนาดนี้ เอ็งเก่งแล้ว เก่งกว่าพี่ตอนนี้อีก นี่พูดจริงๆ ไม่ได้แกล้งชม เพียงแต่ว่ามันก็แลกมาด้วยบางอย่างที่อาจไม่ได้เสถียร แค่เจออัลกอริทึมของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กดสักหน่อยก็ฝ่อแล้ว
สมัยก่อนเราถูกสอนมาว่าถ้างานดีจริง ต่อให้เป็นถุงกล้วยแขก คนก็ยังตามไปอ่าน เพราะงั้นอย่าฝ่อง่ายๆ อยู่ตรงไหนมันก็มีคนอ่าน มีคนเห็น หรือแม้กระทั่งงานบางชิ้นเรารู้อยู่ว่ายอดไม่สูงหรอก แต่ก็ต้องบันทึกไว้ เพราะมันเป็นหน้าที่ของเรา