เปิดเรียนได้ไง ไม่หวั่นโควิด? New Normal ในรั้วโรงเรียนของ 6 ประเทศ

354 views
ึ7 mins
January 12, 2021

          สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ในวงกว้าง รวมทั้งแวดวงการศึกษา องค์การยูเนสโกรายงานว่ามีนักเรียนทั่วโลกจำนวน 1.3 พันล้านคนได้รับผลกระทบ และกว่า 128 ประเทศยังไม่มีกำหนดวันเปิดเรียนที่แน่ชัด มีเพียง 71 ประเทศซึ่งประกาศว่าจะกลับมาเปิดโรงเรียน (รวมถึงประเทศไทย ที่กระทรวงศึกษาธิการแถลงเมื่อต้นเดือน พ.ค. ว่าจะมีการเลื่อนเปิดเทอมปี 2563 จากปกติคือกลางเดือน พ.ค. เป็นวันที่ 1 ก.ค.)

          อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี และได้เริ่มอนุญาตให้นักเรียนกลับเข้าเรียนอีกครั้ง โดยมีการใช้มาตรการป้องกันต่างๆ ที่น่าจะกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในสถานศึกษา ซึ่งเว็บไซต์ INSIDER ได้หยิบยกตัวอย่างของประเทศที่มีการนำร่องเปิดโรงเรียนและกลับมาดำเนินการเรียนการสอน ได้แก่ เดนมาร์ก ญี่ปุ่น นอร์เวย์ จีน อิสราเอล และไต้หวัน พร้อมสรุปแนวทางป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สำหรับเด็กนักเรียนใน 6 ประเทศไว้ดังนี้

          1. การเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะเรียน

          2. การตรวจวัดอุณหภูมิเมื่อนักเรียนมาถึงโรงเรียน

          3. จัดการเรียนการสอนนอกห้องเรียน และปิดใช้งานสนามเด็กเล่น

          4. กำชับให้เด็กนักเรียนล้างมือทุกชั่วโมง และสวมหน้ากากอนามัย

          5. การเว้นระยะห่างของที่นั่งในโรงอาหาร

          6. ลดขนาดชั้นเรียนหรือกลุ่มกิจกรรมให้เล็กลง

          7. มีห้องแยกกักตัวสำหรับเด็กนักเรียนที่มีไข้

          8. เปิดเรียนเหลื่อมเวลา แบ่งเฟสในการกลับเข้าเรียนตามระดับชั้น

          9. ให้พนักงานทำความสะอาดของเล่นและห้องเรียนวันละ 2 ครั้ง

          10. ขอความร่วมมือให้พนักงานที่มีปัญหาสุขภาพ หรือมีอายุเกิน 65 ปี ช่วยหยุดอยู่บ้าน

          11. ให้เด็กนักเรียนทำความสะอาดมือและรองเท้าก่อนเข้าอาคารเรียน

เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะเรียน และห้ามผู้ปกครองเข้ามาในอาคารเรียน

          – หลายประเทศตั้งโต๊ะนักเรียนให้อยู่ห่างกัน 2 เมตร ตามมาตรฐานสากล

          – โรงเรียนในเดนมาร์ก จะให้เด็กนักเรียนเดินเข้าโรงเรียนได้หลายช่องทาง เพื่อลดความแออัด และห้ามผู้ปกครองเข้ามาในโรงเรียนโดยเด็ดขาด

          – โรงเรียนในอิสราเอล ห้ามเด็กนักเรียนสัมผัสกับเพื่อนๆ หรือครูและพนักงาน

          – โรงเรียนประถมในจีน ให้เด็กนักเรียนสวมหมวก DIY ความกว้าง 1 เมตร ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับหมวกจอหงวน เพื่อตอกย้ำให้เด็กๆ ตระหนักถึงการเว้นระยะห่าง

บรรยากาศในห้องเรียนของนักเรียนอนุบาล Hangzhou ที่สวมหมวกจอหงวน DIY เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างกัน

นักเรียนจะต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิเมื่อมาถึงโรงเรียน

          – ในญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน จะมีพนักงานคอยตรวจวัดอุณหภูมิเด็กๆ ก่อนเข้าอาคารเรียน เด็กที่มีไข้จะถูกส่งตัวกลับบ้าน

          – โรงเรียนในกรุงปักกิ่ง ให้เด็กนักเรียนกรอกแบบสอบถามบนแอพเพื่อประเมินความเสี่ยงในการติดเชื้อ เฉพาะเด็กที่ผ่านการประเมินจึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าเรียน นอกจากนี้ยังมีการให้ปรอทวัดไข้ส่วนตัว ซึ่งเด็กๆ จะต้องคอยวัดอุณหภูมิของตัวเองวันละ 2 ครั้ง

          – ที่อิสราเอล ผู้ปกครองจะต้องเซ็นใบรับรองสุขภาพว่าบุตรของตนไม่ได้เป็นผู้ป่วยโควิด และถ้าสมาชิกครอบครัวคนใดมีประวัติติดเชื้อ เด็กนักเรียนคนนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียน

จัดการเรียนการสอนกลางแจ้ง และงดการใช้สนามเด็กเล่น

          – ในเดนมาร์กและนอร์เวย์ มีการจัดชั้นเรียนกลางแจ้งเป็นครั้งคราว ขณะที่สนามเด็กเล่นและห้องสมุดหลายแห่งปิดใช้งาน

กำชับให้เด็กนักเรียนล้างมือทุกๆ ชั่วโมง และใส่หน้ากากอนามัย

          – โรงเรียนในเดนมาร์ก มีการติดตั้งอ่างล้างมือไว้นอกอาคารเรียน และกำชับให้เด็กนักเรียนล้างมืออย่างน้อยชั่วโมงละครั้ง

          – โรงเรียนบางแห่งในไต้หวัน กำหนดให้เด็กนักเรียนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

          – เด็กนักเรียนชั้น ป.2–ป.3 ในอิสราเอล จะต้องสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในโรงเรียน แต่อนุญาตให้ถอดออกได้เมื่ออยู่ในห้องเรียน

การเว้นระยะห่างของที่นั่งในโรงอาหาร

          – โรงเรียนบางแห่งในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง มีการเว้นระยะห่างที่นั่งของเด็กนักเรียนในโรงอาหาร และโต๊ะแต่ละตัวจะตั้งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร

          – ในโรงเรียนอื่นๆ มีการปิดโรงอาหาร และให้เด็กนักเรียนทานอาหารในห้องเรียนแทน

ลดขนาดชั้นเรียนหรือกลุ่มกิจกรรมให้เล็กลง

          – โรงเรียนในเดนมาร์ก ซึ่งปกติแล้วชั้นเรียนหนึ่งๆ จะมีเด็กนักเรียนประมาณ 20 คน จะแบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย 2-3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีห้องเรียนส่วนตัวและครูประจำกลุ่ม และเด็กๆ จะได้รับอนุญาตให้พบปะพูดคุยเฉพาะกับเพื่อนๆ ในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น

          – ในนอร์เวย์ มีการแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยตามอายุ กลุ่มละ 3-6 คน

มีห้องแยกกักตัวสำหรับเด็กนักเรียนที่มีไข้

          – โรงเรียนบางแห่งในเมืองเซี่ยงไฮ้ มีห้องแยกกักตัวสำหรับเด็กนักเรียนที่มีอาการไข้

เปิดเรียนเหลื่อมเวลา แบ่งเฟสในการกลับเข้าเรียนตามระดับชั้น

          – ในเดนมาร์ก ให้เด็กนักเรียนชั้น ป.1–ป.5 กลับเข้าเรียนในเดือน พ.ค. ตามมาตรการผ่อนปรนเฟส 1 ของรัฐบาล

          – ในนอร์เวย์ ให้เด็กนักเรียนชั้นอนุบาลกลับเข้าเรียนเมื่อวันที่ 20 เม.ย. และนักเรียนชั้นประถมกลับเข้าเรียนในอีก 1 สัปดาห์ถัดไป

          – ในกรุงปักกิ่ง ให้นักเรียนชั้น ม.ปลาย กลับเข้าเรียนในช่วงปลายเดือน เม.ย. และชั้น ม.ต้น กลับเข้าเรียนในวันที่ 11 พ.ค.

          – ในอิสราเอล ให้เด็กนักเรียนชั้น ป.1-ป.3 กลับเข้าเรียนในวันที่ 3 พ.ค. ส่วนระดับชั้นอื่นๆ จะกลับเข้าเรียนในเดือนถัดไป

ให้พนักงานทำความสะอาดของเล่นและห้องเรียนวันละ 2 ครั้ง

          – ในนอร์เวย์ มอบหมายให้พนักงานโรงเรียนทำความสะอาดฆ่าเชื้อห้องเรียนและของเล่นวันละ 2 ครั้ง โรงเรียนยังไม่อนุญาตให้เด็กนักเรียนนำของเล่นมาจากที่บ้าน และห้ามเล่นของเล่นที่ทำความสะอาดยาก เช่น ตุ๊กตายัดไส้

          – ในอิสราเอล เด็กๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้ยืมหนังสือจากห้องสมุด ห้ามแบ่งของกิน หรือยืมดินสอปากกาจากเพื่อน และงดเว้นการละเล่นต่างๆ ที่มีการสัมผัสถูกเนื้อต้องตัว

ขอความร่วมมือให้พนักงานที่มีปัญหาสุขภาพ หรือมีอายุเกิน 65 ปี ช่วยหยุดอยู่บ้าน

          – ในอิสราเอล พนักงานของโรงเรียนที่มีอายุเกินกว่า 65 ปี หรือมีปัญหาสุขภาพ ได้รับคำขอร้องให้หยุดอยู่บ้าน อย่าเพิ่งกลับมาทำงาน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากโรคโควิด

ให้เด็กนักเรียนทำความสะอาดมือและรองเท้าก่อนเข้าอาคารเรียน

          – ในไต้หวันนักเรียนจะต้องล้างมือก่อนเข้าห้องเรียนทุกวิชา และให้นักเรียนทำความสะอาดรองเท้าเมื่อมาถึงโรงเรียนในตอนเช้า


ที่มา

UNESCO. (2020). Education ministers share plans for the reopening of schools after COVID-19 closures. [Online]

Emily Cavanagh. (2020). How 6 countries are opening up schools again, with temperature checks, outdoor classes, and spaced out desks. [Online]


เผยแพร่ครั้งแรก พฤษภาคม 2563

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก