ชื่อของทรงกลด บางยี่ขันเป็นที่รู้จักอย่างดีในแวดวงนักเขียนและคนทำสื่อ ทั้งผลงานการเขียนหนังสือหลายเล่ม หรือในฐานะอดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day และบทบาทปัจจุบันกับการเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บุกเบิก The Cloud นิตยสารบนโลกออนไลน์ ที่ชัดเจนในการเล่าเรื่องด้วยความ ‘คราฟต์’ ผ่านนิยามสามข้อ ได้แก่ Local, Creative Culture และ Better Living
ในโลกที่แทบทุกสื่อออนไลน์มุ่งนำเสนอเนื้อหาที่กระชับ ฉับไว อ่านแล้วเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว บรรยากาศของคอนเทนต์ที่ The Cloud สร้างสรรค์ กลับเลือกเล่าเรื่องผ่านงานเขียนที่ประณีต และทุกเรื่องที่นำเสนอล้วนส่งผลให้คนอ่านมีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตและมีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความเชื่อของทรงกลดว่า สื่อมี ‘พลัง’ ที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดคน และสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้
สำหรับทรงกลด การทำสื่อจึงต้องมีความหมายต่อสังคมและคนอ่าน
การเกิดขึ้นของ The Cloud จึงเสมือนเป็นทางเลือกในการอ่านของคนไทย ที่แม้เนื้อหาที่มีความคราฟต์ และต้องใช้เวลาในการอ่าน แต่ก็ยังคล่องตัวด้วยการนำเสนอบนโลกออนไลน์ ซึ่งทำให้ The Cloud กลายเป็น ‘ผู้นำประเด็น’ บางอย่างในสังคม ผ่านเรื่องราวที่นำเสนอ
ยังไม่นับความพยายามในการเป็นสื่อที่พยายามเชื่อมโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการอ่านและวงการนักเขียน เช่น อ่านเถิดหนา, Writer in Residence, Walk with The Cloud, Wish you were here และการจัดกิจกรรมร่วมกับพาร์ตเนอร์อื่นๆ ที่ทำให้นักอ่านกับชุมชนได้เชื่อมต่อกันมากยิ่งขึ้น
4 ปีครึ่งที่ผ่านมาของทรงกลดและ The Cloud จึงเป็นการเติบโตไปในทางที่เขาเชื่อว่าถูกต้อง และทำให้ The Cloud ไม่ได้มีแค่ยอดผู้ติดตาม แต่เป็นผู้อ่านที่เชื่อมั่นในแนวทางที่สื่อออนไลน์หัวนี้กำลังมุ่งไป
ก่อนจะมาทำ The Cloud คุณเป็น บ.ก. นิตยสาร a day มา 14 ปี มันช่วยสร้างความคิดความเชื่อในการทำคอนเทนต์ที่ดีต่อคนอ่านอย่างไรบ้าง
เราเป็นเอ็นจีโอที่ทำงานด้านสังคมมาก่อน พอได้มีโอกาสมาทำ a day ก็ต้องตั้งใจหัดทำนิตยสารในทุกทักษะ เพราะเราทำไม่เป็น พอทำมากขึ้นเราก็ทิ้งงานด้านสังคม และไม่ได้ไปเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมอีกเลย จนวันหนึ่งก็พบว่า ทำไมเราถึงรู้เรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม ที่เราถนัดน้อยขนาดนี้ ทำให้รู้สึกสูญเสียความมั่นใจ จึงกลับมาถามตัวเองว่ามันเป็นเพราะอะไร คำตอบที่ได้คือ เพราะเราเอาเวลาไปเพิ่มพูนทักษะด้านการสื่อสารจากการทำนิตยสาร
กระทั่งถึงจุดหนึ่งที่เราคิดว่ามีทักษะในการสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ได้แล้ว เลยคิดว่าทำไมเราถึงไม่เอาทักษะด้านการสื่อสารไปเล่าเรื่องด้านสังคมที่เคยถนัดมากๆ ผลลัพธ์จึงกลายมาเป็น a day ฉบับต้นไม้ กลายเป็นหนังสือชื่อ ต้นไม้ใต้โลก ที่เอาเรื่องสังคมมาเล่าในมุมใหม่ที่สร้างสรรค์และเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้
พอได้ทำสิ่งนั้นเราพบว่ามันส่งผลกับคน มีคนชอบเยอะมาก มีคนเขียนจดหมายมาขอบคุณ หรือขอสั่งซื้อหนังสือไปแจก เพราะเขาอยากเผยแพร่ เราเลยคิดว่าสื่อมีพลัง ถ้าเราทำสื่อดีมันจะไปเปลี่ยนแปลงความคิดผู้คนได้ ดังนั้นจากการที่เราเคยทำสื่อเพราะชอบ อยากทำ อยากเล่าเรื่อง ความคิดก็เลยเปลี่ยนเป็นว่า สื่อมีอิทธิพลต่อคน ถ้าเราใช้มันเล่าเรื่องที่ดี ก็จะเกิดผลที่ดี เราเลยพยายามใช้พื้นที่สื่อของเราเล่าเรื่องที่ดี สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความคิดเรื่อยมาว่า ถ้าเราต้องทำสื่อ ต้องเล่าเรื่อง ก็จงเล่าแต่เรื่องที่ดี มันจะได้สร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น
ความคิดเหล่านั้นเลยต่อยอดมาสู่การสร้าง The Cloud ด้วยใช่ไหม
ใช่ครับ พอถึงวันหนึ่งที่เราต้องเริ่มต้นสื่อของตัวเอง เปรียบเหมือนบ้านที่จะตอกเสาเข็มที่ไหนก็ได้ หรือจะออกแบบให้เป็นบ้านแบบไหนก็ได้ เลยกลับมาถามตัวเองว่า เราอยากเล่าเรื่องอะไรกันแน่ ตอนอยู่ a day มันเล่าเรื่องได้ค่อนข้างกว้าง แต่สุดท้ายมันก็เป็นการคุยกับวัยรุ่น เราเลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นเราอยากใช้พื้นที่สื่อใหม่เล่าสิ่งที่อยากเล่าอีกหลายๆ เรื่องที่ไม่เคยได้เล่า ขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้ The Cloud เป็นสื่อของเราคนเดียว แต่อยากให้เป็นสื่อของทุกคน จึงมีการคุยกันในทีมงานว่าพวกเราอยากเล่าอะไร ซึ่งได้ข้อสรุปเป็นสามคำ คือ Local / Creative Culture / Better Living นี่เป็นสามคำที่รวมทุกอย่างของ The Cloud ไว้
จากเคยทำสื่อออฟไลน์อย่างนิตยสารมาก่อน พอย้ายมาเป็นสื่อออนไลน์ มีสิ่งไหนที่คุณต้องคิดเป็นพิเศษไหม
พอเป็นสื่อออนไลน์ก็ต้องคิดว่า เราจะทำคอนเทนต์ประเภทไหนให้ไปถึงคนอ่านมากที่สุด หรือให้ได้รับฟีดแบ็กที่ดี ซึ่งหลายครั้งก็ทำให้ออกนอกเส้นทางของสิ่งที่เราอยากจะเล่า เราเลยต้องกลับมาถามตัวเองดีๆ ว่า เราอยากได้อะไรจากการทำสื่อออนไลน์กันแน่ ไม่ใช่ความป๊อปปูลาร์ แต่เราอยากได้สื่อที่มีความหมายกับสังคม อยากทำเนื้อหาที่มีความหมายต่อคนอ่าน อยากทำเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ดังนั้นหน้าที่ของ The Cloud คือ ทำคอนเทนต์พวกนั้นให้ป๊อปปูลาร์ ไม่ใช่เอาความป๊อปปูลาร์เป็นที่ตั้งแล้วทำอะไรก็ได้ที่ได้ยอด
ถ้าจะไม่มียอดไลก์มากมายนักก็เข้าใจได้ เพราะเราเลือกเดินทางที่ไม่ได้แมส แต่เป็นคอนเทนต์ทางเลือก ขณะเดียวกันถ้าเราทำให้แมสขึ้นมาได้ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะคอนเทนต์จะไปถึงคนกว้างขึ้น ขณะเดียวกันเราก็จะกลายเป็นผู้นำประเด็นบางอย่าง ซึ่งนั่นคือบทบาทที่ดีของสื่อ ในการจุดประเด็นบางอย่างให้เกิดขึ้นในสังคม
อีกครึ่งหนึ่งที่อยากเล่าคือ ทุกอย่างถูกคิดอย่างละเอียดบนพื้นฐานทางธุรกิจ เราทำงานเป็นบรรณาธิการมา 14 ปี ก็พอรู้ว่าคนอ่านอยู่ตรงไหน การสนับสนุนทั้งจากสปอนเซอร์ จากเพื่อนพ้องในวงการอยู่ตรงไหน ถ้าจะทำสื่อให้รอดต้องทำอย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำ ถึงแม้มันจะฟังดู niche หรืออินดี้ แต่มันก็ตั้งอยู่บนความปลอดภัยทางธุรกิจพอสมควร
คอนเทนต์ไหนที่ The Cloud ทำแล้วส่งอิทธิพลต่อคนอ่านมากๆ จนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
ย้อนไปในช่วงแรก หลายเรื่องที่ The Cloud ทำแล้วมันพาไปได้ไกลมากคือเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องอาคารเก่า เรื่องอาหาร เรื่องพื้นที่สาธารณะ หรือเรื่องเกี่ยวกับงานคราฟต์จากต่างจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่ง ณ วันนี้อาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุกสื่อก็พูดกัน แต่ ณ วันนั้นสื่อยังไม่ค่อยทำกัน สื่อที่ทำก็ไม่ค่อยมียอด แต่เราก็ตั้งใจปรุงมันจนสามารถแมสขึ้นมาได้
ส่วนตัวเราอยากพูดถึงคอลัมน์ที่พูดถึงแบรนด์ผ้าภูคราม เจ้าของเป็นสถาปนิกหญิงที่ทำงานในกรุงเทพฯ แล้วลาออกกลับไปอยู่บ้านที่สกลนคร ที่นั่นมีเทือกเขาภูพาน เธอเลยเอาลวดลายดอกไม้บนภูเขามาปักบนลายผ้า ย้อมคราม แล้วนำมาขาย สวยมาก เราก็อยากเขียนเรื่องนี้ เพราะนี่คือสิ่งที่เราเชื่อ มันเป็นเรื่องของคนที่กลับบ้านไปอยู่ต่างจังหวัดได้ และทำในสิ่งที่เป็นรากเหง้าของตัวเอง
พอบทความออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นมีอยู่สองสามเรื่อง อย่างแรกคือ ฟีดแบ็กในเฟซบุ๊กที่แชร์ออกไปดีมาก เราก็พอจะรู้ว่าเวลาเขียนถึงแบรนด์ a แล้ว แบรนด์ a จะขายได้ดี เจ้าของแบรนด์ a จะชอบ หรือเขียนถึงแบรนด์ a แล้วมีคนที่ไม่เกี่ยวข้องแต่ชอบเรื่องราวนี้อยากจะไปอุดหนุน แต่ว่าบทความนี้เป็นบทความแรก ที่คนแชร์กลายเป็นเพจทั้งหลายในสกลนคร แล้วเกือบทั้งหมดคอมเมนต์กันประมาณว่า ‘จังหวัดฉันมีของดี จังหวัดฉันได้อยู่ในสื่อ’
ในยุคนั้นการที่มีแบรนด์เล็กๆ สักแบรนด์ของต่างจังหวัดอยู่ในสื่อหลักเป็นเรื่องที่ยากมาก พอมันมี เราก็เห็นว่าเขาแชร์ด้วยความภูมิใจ แม้กระทั่งเพื่อนจังหวัดอื่นก็มาคอมเมนต์แท็กคนสกลนครว่าสวยจัง ฝากซื้อหน่อย ทำให้พบว่าคอนเทนต์หนึ่งมันสร้างความภูมิใจให้คนในจังหวัดได้ ทำให้คนต่างจังหวัดที่เขารู้สึกว่า ศูนย์กลางคอนเทนต์ต้องอยู่กรุงเทพฯ หรือทุกอย่างต้องเหมือนกรุงเทพฯ ถึงจะดี กลายเป็นว่าต่างจังหวัดก็มีของดี
สิ่งนี้ตอบเราว่า เรามาถูกทางแล้วในการเลือกทำคอนเทนต์แนวนี้ และตอกย้ำสิ่งที่เราเชื่อ ทั้งเรื่องการทำคอนเทนต์เพื่อคนทั่วประเทศ ทั้งเรื่องของพลังของสื่อที่เปลี่ยนแปลงแบรนด์บางแบรนด์ได้ ทั้งเรื่องการสร้างเรื่องราวของสินค้าบางอย่างให้แมสและคนรัก The Cloud จึงทำสิ่งนี้เรื่อยมา
สิ่งน่าสนใจอีกเรื่องสำหรับคอนเทนต์ของ The Cloud คือแทบทุกชิ้นมีความยาวมากกว่าคอนเทนต์จากสื่ออื่นๆ บนโลกออนไลน์
โดยส่วนตัวไม่ได้ตั้งใจให้มันยาว และไม่ได้คิดว่าคุณค่าของงานชิ้นหนึ่งอยู่ที่ความสั้นหรือยาว แต่คิดว่างานที่ดีก็คืองานที่ดี ขณะเดียวกัน ถ้ามันไม่ดี จะสั้นหรือยาวก็ไม่ดี แต่เราแค่คิดว่าทำไมคนอ่านหนังสือจึงถูกจำกัดว่าต้องสั้น เท่ากับว่าสั้นแปลว่าดี หรือที่เราถูกทำให้คิดไปเองว่ายอดไลก์เยอะ ยอดวิวเยอะ แปลว่าดี เราไม่คิดแบบนั้น เราคิดว่าสิ่งที่ดีก็คือสิ่งที่ดี แล้วเราก็แค่อยากจะเล่าเรื่องบางเรื่องที่มันยาว ตัวเรื่องมีรายละเอียด ซึ่งมันยาวกว่ามาตรฐานของสื่อออนไลน์
ถามว่ากลัวไหม เราก็ไม่ได้ถึงขั้นไม่แคร์คนอ่าน ก็กลัว แต่สิ่งที่เรามีคือ หนึ่ง พยายามเล่าให้สนุกที่สุด สอง สุดท้ายมันก็เจอที่ทางของมันเอง แปลว่าโลกไม่ได้มีแบบเดียว เราเชื่อเรื่องความหลากหลาย ทุกคนไม่ได้ต้องการแค่ไถอ่านคอนเทนต์ฆ่าเวลา The Cloud จึงไม่ใช่คอนเทนต์ที่อ่านได้ระหว่างรออาหาร ในเมื่อรู้ว่าธรรมชาติของคอนเทนต์เราเป็นแบบนั้น ก็อย่าเสิร์ฟตอนนั้น เรารู้ว่าความยาวขนาดนี้ควรจะอยู่กับพฤติกรรมการอ่านแบบไหน ทำให้เวลา The Cloud แชร์คอนเทนต์จะเป็นช่วงเช้าหรือเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่คนมีเวลามาก และพร้อมจะอ่านอะไรที่มีความยาวหน่อย
พูดแบบนี้คนอาจจะบอกว่า นี่ไง ยอดเลยไม่ได้เยอะ ถ้าคนกดอ่านได้ตลอดเวลายอดจะเยอะ ก็ใช่ แต่เป้าหมายเราไม่ได้ทำสื่อเพื่อมียอดเยอะที่สุด แต่เราทำสื่อเพื่อหวังว่ามันจะส่งอิมแพคต่อคนมากที่สุด ดังนั้นไม่ต้องอ่านเยอะก็ได้ แต่ว่าเมื่อคุณอ่านมันแล้ว ก็หวังว่าจะเกิดอิมแพคอะไรบางอย่าง
แล้วอะไรคือตัวชี้วัดความอิมแพคที่ว่านั้น
โลกนี้ไม่ได้มีขาวหรือดำ ไม่ได้แปลว่ายอดไลก์เยอะจะเป็นคอนเทนต์ที่ขายวิญญาณ หรือขณะเดียวกันคอนเทนต์ที่ยอดน้อยจะเป็นอะไรที่สูงส่งเหลือเกิน เพียงแค่ส่วนตัวคิดว่าเราควรจะตั้งต้นจากเรื่องที่เราอยากเล่า เพราะเราเป็นนักเล่าเรื่อง แล้วหาทางปรุงมัน ส่งมันออกไปให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้ามันไปได้ไกลที่สุดก็ยิ่งดี
ถ้าเราจะเหนื่อยเพื่องานหนึ่งชิ้น เราจะเหนื่อยเพื่อสิ่งที่เดือนหน้าเราก็ลืมหรือจะเหนื่อยเพื่อสิ่งที่จะอยู่กับเราทั้งชีวิต ก็เลยคิดว่า งั้นก็พยายามทำคอนเทนต์ที่มีความหมายกับผู้อ่าน แล้วถ้าจะมีสักหนึ่งข้อว่าคอนเทนต์ที่ดีเป็นอย่างไร สำหรับเราคือมันจะมีความหมายกับผู้อ่านในวันใดวันหนึ่ง
The Cloud มีวิธีคิดทำงานกับแบรนด์หรือลูกค้าอย่างไรให้เนื้อหา Advertorial ที่หลายคนมองว่าน่าเบื่อ ให้ออกมาสนุก
เราผ่านการทำ Advertorial มาตั้งแต่ยุคซื้อหน้าแอดในนิตยสารที่ไม่เกี่ยวกับคอนเทนต์ ซึ่งเป็นแอดที่ลูกค้าเข้ามาปรับแก้จนคนเขียนก็รู้สึกเกลียดงานตัวเอง และไม่อยากใส่ชื่อว่าเป็นคนเขียนงาน เราก็ตั้งคำถามว่า งานที่คนเขียนเกลียดงานตัวเองจะเป็นงานที่ดีได้อย่างไร ดังนั้นถ้า The Cloud จะหารายได้จากการทำงานคอนเทนต์ร่วมกับแบรนด์ เราต้องไม่ทำงานที่เราเกลียด
หลักในการทำคอนเทนต์โฆษณาของ The Cloud จึงมีสามข้อ หนึ่ง คนเขียนต้องภูมิใจกับงาน คือรู้ว่าจะเป็นงานเขียนที่ใช้ชื่อจริงได้ เราเองเขียนแอดมาเยอะมาก และใช้ชื่อจริงทุกชิ้น เพราะหลายครั้งเป็นโอกาสให้เราได้สัมภาษณ์คนดัง ผู้บริหาร ดารา มีคนให้เงินมาทำหลายอย่างที่เราทำเองไม่ได้ หน้าที่เราคือแค่ต้องปรุงให้ดี
สอง คนอ่านต้องชอบ เราทำสื่อ เรารู้อยู่แล้วว่าคอนเทนต์ประเภทไหนคนอ่านจะชอบหรือไม่ชอบ เวลาทำงานปกติ เราถกเถียงกันแทบตายว่าคอนเทนต์นี้จะทำหรือไม่ทำ ถ้าไม่ทำเพราะอะไร ถ้าเรารู้สิ่งนั้น แล้วกับงานลูกค้าทำไมไม่เอามาใช้ ถ้าคุณทำงานแย่ๆ ออกมาชิ้นหนึ่ง แล้วหวังว่ามันจะเข้าถึงคนโดยการบูสต์โพสต์ สิ่งที่ลูกค้าจะได้คือยอดตัวเลข แต่ไม่มีคนอ่าน ไม่มีคนรักมัน
สาม ต้องกลับไปตอบโจทย์แบรนด์ว่า เขาเอาเงินมาลงกับเรา เขาต้องการอะไรบางอย่าง แล้วมันตอบโจทย์แบรนด์หรือเปล่า
ดังนั้น ถ้าโจทย์ที่ลูกค้าให้มามีสามข้อนี้ประกอบกัน เราก็จะทำ แต่ถ้าไม่เข้าข่ายทั้งสามข้อ หรือไม่มีข้อใดข้อหนึ่ง เราก็จะปฏิเสธ The Cloud จึงขึ้นชื่อในวงการว่าเป็น ‘สื่อผู้เย่อหยิ่ง’ หรืออาจจะเป็นชื่อของเราด้วยว่า ทำไมหยิ่งขนาดนี้ เขาเอาเงินมาให้ไม่เอา เราก็กลับไปตอบเรื่องเดิมคืออยากได้เงิน แต่ทำไมเราต้องตั้งใจทำคอนเทนต์ปกติแทบตาย แล้วกลับมีข้อยกเว้นกับคอนเทนต์ที่เป็นโฆษณาที่จะให้เป็นอะไรก็ได้ เราคิดว่าถ้าเจ๋งจริงต้องดีทุกชิ้นสิ คอนเทนต์ที่เป็นโฆษณาก็ต้องดีได้ด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนก็มักจะถามว่า The Cloud อยู่ได้อย่างไร ไถดูบนฟีดไม่เห็นมีแอด เราจะบอกว่า วันหนึ่ง The Cloud มีสามบทความ บางวันทั้งสามชิ้นอาจเป็นแอดหมดเลยนะ แล้วหลายชิ้นคนแชร์มหาศาล หรือบทสัมภาษณ์บางคนที่ยอดไลก์ ยอดวิวมหาศาลมาก เป็นแอดทั้งนั้น ฉะนั้นอย่างที่บอก แค่ต้องหาวิธีการทำให้มันเป็นที่รักของทุกคน สุดท้ายก็จะวินกับทุกฝ่าย
อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นของ The Cloud คือการจัดกิจกรรมสนุกๆ ที่เชื่อมโยงสังคมนักอ่าน นักเขียน และชุมชนเข้าด้วยกัน มีวิธีคิดในการสร้างกิจกรรมเหล่านี้อย่างไร
ข้อแรก The Cloud อยากเป็นสื่อที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบใดๆ แปลว่า ในโลกที่บอกว่าสื่อคือตัวหนังสือ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเสียง และเต็มไปด้วยแพลตฟอร์มใหม่ๆ ซึ่งคนเกือบทั้งวงการเฮไปอยู่ตรงนั้น เรียนรู้อัลกอริทึม ทำมันเพื่อให้ถูกใจแพลตฟอร์ม แล้วบอกว่า ‘นี่ไง ฉันเป็นสื่อใหม่’ เราคิดว่าสื่อเหล่านั้นก็ดี แต่สื่อไม่ได้มีแค่นั้น
สิ่งที่เราอยากเป็นคือสื่อใหม่จริงๆ ที่ไม่ได้หมายความว่า ‘สื่อที่ใช้แพลตฟอร์มใหม่’ เราจึงเล่าเรื่องผ่านกิจกรรมมากมาย ทั้งกิจกรรม Walking tour ผ่านมื้ออาหาร ผ่านทริปต่างจังหวัด ผ่านคอร์สเรียน ผ่านสารพัด เราไม่คิดจะทำทัวร์แข่งกับบริษัททัวร์ และไม่คิดจะทำอาหารแข่งกับร้านอาหาร แต่เรากำลังเล่าเรื่องผ่านสิ่งพวกนี้ ทุกกิจกรรมเรามีเรื่องจะเล่า รวมถึงอยากสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้อ่าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้เจอคอมมูนิตี้ของเรา
ถ้าเราอยู่แต่ในโลกออนไลน์ ทุกอย่างก็จะถูกวัดด้วยตัวเลขคนติดตามในเพจ แต่เราไม่คิดว่าตัวเลขพวกนั้นจะมีความหมายนัก เราคิดว่าสื่อแต่ละสื่อเป็นผู้นำทางความคิดหรือเป็นผู้นำเผ่าได้หรือเปล่า นั่นต่างหากที่สำคัญกว่า ทุกเรื่องมันแมสไม่เท่ากันอยู่แล้ว ถ้าทำเรื่องแมสมากๆ ก็มีโอกาสที่คนจะตามมาก แต่ถ้าทำเรื่องแมสน้อยก็มีโอกาสที่คนตามน้อย เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งสำคัญคือคุณเป็นหัวหน้าเผ่าหรือเปล่า มีคนเชื่อคุณหรือเปล่า
การจัดกิจกรรมของ The Cloud ทำให้เห็นชัดว่า เราได้เจอคน เจอผู้อ่าน ได้พบว่าเขารักเรา อินกับเรา บางกิจกรรมเปิดรับสมัคร 1 ชั่วโมงก็เต็มแล้ว หรือบางกิจกรรมรับ 30 คน แต่มีคนสมัคร 1,000 คน มันทำให้เห็นพลัง เห็นว่าสิ่งที่เราทำไม่สูญเปล่า ได้เห็นว่ามีคนเชื่อเหมือนเรา
The Cloud มีวิธีต่อยอดกิจกรรมอย่างไร ไม่ให้จบแล้วจบเลย
มองได้หลายมิติ มิติที่หนึ่ง กิจกรรมจะถูกแปรกลับมากลายเป็นสื่อด้วย คือหนึ่งกิจกรรมที่เราจัดอาจเข้าถึงคนได้แค่ 10 หรือ 20 คน แต่ถ้าอยากให้เข้าถึงคนมากขึ้น ก็ต้องแปรเป็นสื่อ เช่น วิดีโอ บทความ อีกมิติหนึ่งที่เราว่าน่าสนใจมากกว่าคือ คนส่วนใหญ่ที่มาร่วมกิจกรรมจะมาจากการคัดเลือกของเรา ด้วยความที่เขาน่าสนใจ หลายครั้งเขาก็ไม่ใช่ผู้ร่วมทริป แต่กลายเป็นวิทยากรร่วม แชร์บางเรื่อง แชร์ประสบการณ์ แชร์สิ่งที่เขารู้ ทำให้ทริปนั้นกลมกล่อมขึ้น หลายครั้งพอทุกคนที่มามีเคมีเดียวกัน ทุกคนก็กลายเป็นเพื่อนกัน หลายครั้งเขาก็กลายเป็นเพื่อนของ The Cloud กลายเป็นคอลัมนิสต์ให้ The Cloud กลายเป็นวิทยากรให้ The Cloud กลายเป็นคนที่เราชวนมาทำงานอะไรกันต่อ ซึ่งเราว่านั่นคือการต่อยอดที่วิเศษสุด
มีคนชอบถามว่า The Cloud ไปหาคนมาจากไหน เราตอบได้ว่าก็จากทางเหล่านี้แหละ เมื่อเราทำกิจกรรมก็จะได้เจอผู้คนที่เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกับเรา เมื่อมันใช่ เราก็สามารถจะดึงดูดกันและกัน แล้วชวนกันมาทำอย่างอื่นต่อได้
หลายกิจกรรมที่ The Cloud ทำ เช่นการท่องเที่ยว บางประเทศภาครัฐอาจเป็นผู้สนับสนุน คุณอยากให้มีการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างไรบ้าง
ส่วนตัวไม่ได้รักหรือเกลียดรัฐบาล แต่เราเบื่อกับคำพูดที่ว่า ‘ให้ภาครัฐทำ’ คุณจะไม่ลงมือทำอะไรแล้วรอแบมือขอจากรัฐบาลอย่างเดียวเหรอ เราคิดว่าแบบนั้นไม่ยั่งยืน เพราะรัฐบาลเปลี่ยนครั้งหนึ่ง นโยบายก็เปลี่ยนตาม เราต้องตามด่ารัฐบาลทุกชุดเหรอ สำหรับเราสิ่งที่ควรจะเป็นคือ เมื่อคุณเห็นปัญหา คุณก็ควรจะถามตัวเองก่อนว่า ศักยภาพที่คุณมีสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ได้หรือเปล่า ถ้าพบว่ามีส่วนในการแก้ได้ ก็ลงมือทำ ถ้าทุกคนคิดแบบนี้จะยั่งยืน และทุกปัญหาก็จะถูกปัดเป่าไปโดยคนจำนวนมากที่ช่วยกันทำโดยที่ตัวเองไม่เดือดร้อน ส่วนรัฐบาลแน่นอนว่าถ้าเขาช่วยมันก็จะอิมแพคและมีพลังมากขึ้น