ในความรู้จักของสังคม ซะการีย์ยา อมตยา คือกวีเจ้าของรางวัลซีไรต์ประจำปี 2553 สาขากวีนิพนธ์ จากผลงานรวมบทกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ ไม่มีหญิงสาวในบทกวี แต่หากสำรวจเส้นทางชีวิตของเขาตั้งแต่ต้นก่อนกลับมาปักหลักอย่างสงบเงียบที่บ้านเกิด ซะการีย์ยาคือนักเดินทางผู้เคลื่อนที่ราวบทกวีไร้ฉันทลักษณ์อย่างแท้จริง
ซะการีย์ยาเริ่มต้นชีวิตในหมู่บ้านอันสงบเงียบริมเชิงเขาบูโด จังหวัดนราธิวาส ก่อนไปเรียนมัธยมปลายที่กรุงเทพมหานคร เป็นนักศึกษาที่อินเดีย กลับมาปักหลักสร้างชื่อในแวดวงวรรณกรรมยุคแรกเริ่มด้วยสถานะนักแปลบทกวี ก่อนจะตีพิมพ์บทกวีของตนเองจนได้รับรางวัลซีไรต์ สร้างวิวาทะด้านสุนทรียศาสตร์แห่งบทกวีอย่างเผ็ดร้อนในห้วงเวลาหนึ่ง จากนั้นเป็นต้นมา ‘กลอนเปล่า’ หรือบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ก็กลายเป็นทางเลือกของการเล่าเรื่องอย่างมั่นคงและมีที่ทางชัดเจน ทั้งจากนักอ่านรวมถึงเวทีประกวดอื่นๆ ดั่งเช่นทุกวันนี้
ก่อนถึงบ้านของเขาอันเป็นปลายทาง เราต้องผ่านด่านตรวจความมั่นคงที่จัดวางตะแกรงเหล็กกับกรวยยางระเกะระกะ และรถหุ้มเกราะที่จอดนิ่งอยู่ข้างทาง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ด่านชูกระบองไฟกะพริบให้ชะลอรถแล้วสอดส่ายสายตาเข้ามาในรถยนต์อย่างระแวดระวัง ก่อนโบกกระบองไฟให้ผ่านไป ขับอีกชั่วอึดใจจึงเลี้ยวเข้าถนนลาดยางมะตอยสายเล็กๆ ที่ตัดผ่านเรือกสวนจนไปถึงเส้นทางตัดกับถนนอีกเส้น
นั่นไง… บ้านของชายหนุ่มวัยปลายสี่สิบ หลบอยู่ในความครึ้มของสวนผลไม้ตรงทางสามแพร่งพอดี
เขาก้าวออกมาจากห้องที่ต่อเติมเพิ่มจากตัวบ้านเป็นสตูดิโอทำงานที่อัดแน่นไปด้วยหนังสือ ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยชานมแบบอินเดียและกาแฟสดที่ปลูกเองในสวน เคล้าบทเพลงบลูส์แจ๊สในเพลย์ลิสต์ของสปอติฟาย บรรยากาศรอบบ้านช่างเป็นภาพตัดกับบนถนนสายหลักข้างนอก แต่ย้อนไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน ซะการีย์ยา อมตยา เคยใช้ชีวิตอยู่ในบรรยากาศแวดล้อมที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับบ้านเกิดยิ่งกว่านี้ในห้องเช่าฝั่งธนบุรีเมื่อเกือบสิบปีก่อน
สามสิบกว่าปีก่อนเด็กหนุ่มมุสลิมเชื้อสายมลายูผู้มีฝันเกินกว่ารอบรั้วบ้าน ตัดสินใจขึ้นรถไฟเดินทางไกลไปเรียนชั้นมัธยมปลายที่กรุงเทพฯ ก่อนไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีด้านอิสลามศาสตร์ ภาษาและวรรณคดีอาหรับ จากวิทยาลัยนัดวะตุล อุลามาอ์ (Darul Uloom Nadwatul Ulama) ประเทศอินเดีย เขาสะสมทักษะภาษาส่วนตัวถึง 4 ภาษา คือ มลายู ไทย อังกฤษ และภาษาอาหรับ ทำให้โลกอีกใบ
ที่เขาสนใจคืองานกวีและวรรณกรรมขยายกว้างขึ้น และกว้างขึ้นอีกเมื่อเขาเริ่มจับงานแปลบทกวีภาษาต่างประเทศหลังกลับจากอินเดีย ผ่านเซคชันจุดประกายวรรณกรรมของหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร ปาจารยสาร
“ก่อนหน้านั้นก็เริ่มเขียนบทกวีอยู่แล้ว แต่งานแปลยังไม่จับจริงจัง พอหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ เปิดเซคชันจุดประกายวรรณกรรม เปิดคอลัมน์บทกวีต่างแดน จริงๆ ตอนแรกมีคนแปลอยู่คนหนึ่ง ใช้นามปากกา ‘ภูมิช อิสรานนท์’ ก็คือ คุณไกรวรรณ สีดาฟอง มันเป็นสิ่งที่ผมสนใจอยู่ ตอนนั้นก็พยายามจะอ่านบทกวีต่างประเทศในหลายภาษาที่สามารถอ่านได้ ถ้าภาษาไหนอ่านไม่ได้ก็จะอ่านเล่มภาษาอังกฤษ ในกรณีภาษาอาหรับก็จะอ่านด้วยภาษาอาหรับ”
เขาไม่ได้รู้จักใครในนิตยสารต่างๆ จึงเริ่มต้นด้วยการลงมือแปลและส่งไปลุ้นคำตอบจากจดหมายของบรรณาธิการ สำหรับการแปลในยุคเริ่มต้น ซะการีย์ยาไม่ได้เจาะจงที่กวีภาษาอาหรับอย่างเดียว ความสนใจของเขาแพร่หลายไปสู่กวีหลากหลายสัญชาติ
“ปรากฏว่าเขาลงให้ แต่ว่าจะลงสลับกัน ถ้าสัปดาห์นี้ผมลง สัปดาห์หน้าจะเป็น ภูมิช อิสรานนท์ มันก็เลยเหมือนกับแรงจูงใจ เพราะว่าสิ่งที่เราสนใจอ่าน จากที่เคยอ่านเพื่อเติมความคิดของเรา อ่านเพื่อจะรู้ แต่ว่าเราแปลด้วย มันก็เลยเป็นการสร้างภาษาของเรา คือก่อนหน้านั้นก็เขียนบทกวีอยู่แล้ว กลอนเปล่าก็เขียนอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้แปลจริงจัง”
เขาทำให้นักอ่านไทยได้จับสุ้มเสียงบทกวีที่แปลกแปร่งไปจากความคุ้นชิน โดยเฉพาะบทกวีจากภูมิภาคอาหรับ เช่น ผลงานแปล ด้วยจิตวิญญาณอันเปี่ยมสุข ของ ซัยยิด กุฏุบ
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บทกวีภาษาอาหรับถูกแปลเป็นไทยมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่แปลผ่านภาษาอังกฤษอีกทอด เนื่องด้วยข้อจำกัดทางภาษา และแม้นักศึกษาไทยมุสลิมที่รู้ภาษาอาหรับจะมีจำนวนมาก แต่ที่สนใจแปลงานจากภาษาอาหรับโดยตรงไปสู่นักอ่านก็ยังอยู่ในวงแคบ
ซะการีย์ยาบอกว่า เขาได้ภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ก่อนไปเติมเต็มที่อินเดีย ส่วนภาษาอาหรับเขาไปเริ่มใหม่ที่อินเดีย ทั้งสองภาษานี้เป็นเสมือนการเปิดพรมแดนโลกวรรณกรรมสำหรับเขา
“การแปลทำให้เราต้องหาข้อมูลว่ากวีคนนี้คือใครแล้วมันก็ไปเจอแวดวงของเขา เขาได้รับอิทธิพลจากใครหรือว่าใครได้รับอิทธิพลจากเขา มีเพื่อนเป็นใครบ้าง คือพอเรารู้จักคนหนึ่งก็ทำให้เรารู้จักแวดวงเขาอีกหลายคน ปกติเราจะรู้จักเฉพาะกวีที่ถูกสปอตไลต์ แต่ว่าพอเราแปลงานของใครสักคน เราก็ไปเสิร์ชต่อมันก็ขยายต่อ
“ตอนนั้นประมาณปี 2000 ถ้าจำไม่ผิดอินเทอร์เน็ตมันก็มีแล้ว อีกด้านหนึ่งก็จะไปตลาดหนังสือมือสองคือตรอกข้าวสาร ก็จะไปดูชั้นกวี ไปแบบไม่มีเป้าหมายเลย พอไปเสิร์ชข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมันก็จะขยาย และในความแตกต่างนี้ก็จะมีกลุ่มตรงข้ามกับเขาด้วย แล้วมันก็เชื่อมกับกลุ่มกวีที่อื่น อย่างเช่น เราอ่านกวีเม็กซิโก อ่านไปอ่านมาก็จะรู้ว่าพวกเม็กซิโกมีความเกี่ยวโยงกับพวกกวีฝรั่งเศส มันทำให้เรารู้ว่า เออ กลุ่มพวกนักการทูตในกลุ่มลาตินอเมริกาพอไปอยู่ฝรั่งเศส มันรวมตัวกันทำกิจกรรมทางการเมือง กิจกรรมทางวรรณกรรม มันเหมือนกับว่าสมัยนั้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่ความคิดของโลกมันเหมือนกำลังจะเป็นฝ่ายซ้าย แล้วก็คนที่มีความคิดเอนเอียงทางฝ่ายซ้ายมันกำลังจะเชื่อมกันทั่วโลก”
ซะการีย์ยายอมรับว่า พอเริ่มแปลบทกวีต่างประเทศ สิ่งที่เขาเริ่มไม่รู้ตัวคือการสร้างภาษาการเขียนบทกวีเป็นของตัวเอง
“พอเราแปลไปคอนเทนต์เป็นของเขา แต่ภาษาเป็นของเรา ตอนที่เรา transfer สมมติว่าเป็นภาษาอาหรับ มันก็ต้องแปลเป็นภาษาไทย และระหว่างที่แปลมันเหมือนกับว่าเราสร้างภาษาการเขียนบทกวีเป็นของเราโดยไม่รู้ตัว พอเวลาเราไปเขียนเองมันก็ติดภาษาที่เราสร้างมา ถ้าใครอ่านก็จะรู้ว่านี่คือภาษาที่สร้างจากการแปลของเรา เราไม่รู้ตัวว่าเราสร้างชุดภาษาหรือชุดคำขึ้นมาโดยไม่ได้จงใจ มันคือประสบการณ์ส่วนตัว”
และการสร้างชุดภาษาของตัวเองขึ้นมาของซะการีย์ยานำมาสู่การค้นพบว่า การแปลบทกวีเป็นกลอนเปล่าคือคำตอบที่จะนำความในภาษาหนึ่งไปเผยแพร่เป็นอีกภาษาหนึ่งได้ตรงตัวที่สุด เพราะแม้ว่าต่อให้บทกวีสัมผัสในภาษาอื่น คนแปลก็ไม่อาจนำมันมาได้ เช่นเดียวกับการนำกลอนไทยแบบโคลงสี่สุภาพที่มีสัมผัสนอกสัมผัสในไปแปลภาษาอื่น
ในทศวรรษนั้นเทคโนโลยีการสื่อสารยังมีไม่มาก แต่มีเสียงตอบรับที่ดีจากนักอ่านจำนวนหนึ่งที่เขาได้พบ ซะการีย์ยาเรียกห้วงเวลานั้นว่า ทศวรรษที่กวีนิพนธ์ไทยเดินทางข้ามพรมแดนอย่างเชื่องช้ากว่าวรรณกรรมประเภทอื่น นักเขียนประเภทเรื่องสั้นและนวนิยายได้เสพงานแปลต่างประเทศก่อนสร้างผลงานของตัวเองได้มากกว่า แต่กวีกลับไม่ใช่
จึงทำให้นอกจากบทบาทนักแปลช่วงเวลานั้น ซะการีย์ยายังก่อตั้ง ‘thaipoetsociety.com’ ชุมชนออนไลน์ของคนรักกวีนิพนธ์ เขาสร้างเว็บบอร์ดให้คนรักการเขียนบทกวีนำข้อเขียนของตนเองไปโพสต์ เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคมวรรณกรรม และร่วมจัดกิจกรรมทางวรรณกรรมอย่าง ‘ลมหายใจกวีไร้ชีพ’ งานอ่านบทกวีฉลอง 20 ปีภาพยนตร์เรื่อง Dead Poets Society เป็นต้น
แม้จะสะสมต้นทุนทางภาษาจากงานแปลสู่การตีพิมพ์บทกวีไร้ฉันทลักษณ์ของตนเอง แต่
ซะการีย์ยาบอกว่า กลอนเปล่าเกิดมาก่อนหน้านั้นโดยเฉพาะในกลุ่มกวีรุ่นพี่อย่าง สมพงษ์ ทวี’ กวีร่วมสมัยผู้มีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น รวมถึง เสี้ยวจันทร์ แรมไพร ผู้เป็นทั้งกวี นักเขียน และบรรณาธิการชั้นยอดคนหนึ่งในวงการวรรณกรรมไทย เพียงแต่นักเขียนผู้มาก่อนกลุ่มนั้นไม่เคยถูกตีตราผลงานด้วยรางวัลใหญ่ อันเป็นเสมือนแรงส่งไปสู่การถกเถียงและการยอมรับในวงกว้างของกลุ่มนักอ่านและคนวรรณกรรม
ฉะนั้นเมื่อซะการีย์ยาคัดสรรบทกวีของตัวเองมารวมเล่มเป็น ไม่มีหญิงสาวในบทกวี และกลายเป็นกลอนเปล่าหรือกวีไร้ฉันทลักษณ์เล่มแรกที่ได้รับรางวัลซีไรต์ หนังสือเล่มนี้ก็พาเขาออกเดินทางไปไกลแสนไกล เพราะตัวหนังสือได้ก่อการถกเถียงในแวดวงนักอ่าน-กวีอย่างกว้างขวาง สร้างแรงกระเพื่อมในแวดวงนักวิจารณ์ เกิดแรงบันดาลใจสู่การสร้างผลงานบทกวีไร้ฉันทลักษณ์จากนักเขียน-กวีรุ่นใหม่จำนวนมาก เพราะสามารถปลดปล่อยความคิดผ่านบทกวีโดยไม่จำกัดกรอบด้วยฉันทลักษณ์อีกต่อไป
ส่วนตัวซะการีย์ยา ในปี 2554 ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Artist in Residence ของมูลนิธิ Doris Duke Foundation For Islamic Art ที่จัดร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาวาย เพื่อไปพำนักและเขียนบทกวียังรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมื่อกลับมาเมืองไทยเขาปรากฏตัวอยู่ในสารคดี ชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ ตอน ‘เขาเรียกผมว่าบทกวี’ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเมื่อปี 2556 ต่อมาเขาออกหนังสือรวมบทกวีไร้ฉันทลักษณ์เล่มที่สอง หากภายในเราลึกราวมหาสมุทร ก่อนเดินทางกลับมาพำนักถาวรที่หมู่บ้านเชิงเขาบูโด จังหวัดนราธิวาส บ้านเกิด หาทุนสนับสนุนเพื่อตีพิมพ์วารสารวรรณกรรม มลายูปริทัศน์ (The Melayu Review) รวมงานเขียนหลากประเภทว่าด้วยภูมิหลังปัญหาชายแดนภาคใต้
ปัจจุบัน ซะการีย์ยา อมตยา ยังเขียนและแปลบทกวีอย่างต่อเนื่องอยู่ในสตูดิโอใต้ร่มเงาของเรือกสวนที่ซ่อนตัวจากถนนที่มากด้วยด่านตะแกรงเหล็ก กับดวงตานับหลายร้อยคู่ที่จับจ้องผู้ผ่านทางอย่างระแวดระวังทุกวี่วัน