‘ซาฮาโตโพล์ค’ ผู้ใหญ่ที่กลัวแสงสว่าง

1,576 views
3 mins
April 22, 2022

          “เขา (ซาฮาโตโพล์ค) ไม่ใช่เทพ ความงมงายในการเทิดทูนเขาเกิดมาจากความกลัว”

          นับจากดึกดำบรรพ์ ความกลัวถูกบันทึกลงในดีเอ็นเอ มันช่วยให้มนุษย์อยู่รอด สืบเผ่าพันธุ์ และยึดครองโลก ในแง่นี้ความกลัวจึงมีประโยชน์

          โทมัส ฮอบส์ นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษ ผู้มีชีวิตในยุคแห่งความปั่นป่วนของสงครามกลางเมืองในอังกฤษ สะท้อนออกมาเป็นแนวคิดว่าในสภาวะธรรมชาติ มนุษย์เห็นแก่ตัวและชั่วร้าย ทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอด ไขว่คว้าสิ่งที่ต้องการโดยไม่สนขื่อแป ผู้ที่แข็งแรงกว่าก็อาจพลาดท่าให้คนที่อ่อนแอกว่าได้ มนุษย์จึงมีชีวิตท่ามกลางความหวาดกลัว เป็นสภาวะที่ทุกคนต่างทำสงครามต่อกันและกัน

          ฮอบส์ขมวดปมและคลายปมไว้ใน Leviathan หนังสือลือลั่นของเขาว่า หนทางเดียวที่จะหลุดจากสภาวะป่าเถื่อนคือการมอบอำนาจสูงสุดเด็ดขาดให้แก่องค์อธิปัตย์หนึ่งเดียว เพื่อกำราบใครก็ตามที่ละเมิดข้อตกลงพื้นฐานของสังคม พูดให้ง่ายคือแปรเปลี่ยนความกลัวต่อทุกคนไปกลัวคนเพียงคนเดียวแล้วความวุ่นวายทุกสิ่งจะราบคาบ

          มนุษย์ใช้ความกลัวปกครองและครอบงำมาตลอด จวบจนเราเริ่มค้นหาแสงสว่างและเชื่อว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล มีสิทธิมีเสียง มีศักดิ์ศรี เพียงพอจะสร้างบทสนทนาและอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยมิต้องพึ่งพิงความกลัวจากอำนาจกดขี่ใดๆ ไม่ว่าของพระเจ้าหรือของมนุษย์ด้วยกัน

          เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษอีกคนหนึ่ง เขาเกิดหลังฮอบส์ประมาณ 4 ศตวรรษ เขียนนวนิยายขนาดสั้น ‘ซาฮาโตโพล์ค’ (Zahatopolk) เสียดสีและเย้ยหยันความมืดบอด การก้าวถอยหลัง ความหลงตนของมนุษย์

Zahatopolk

          ซาฮาโตโพล์คเล่าเรื่องราวในอนาคต ณ ประเทศเปรู เจ้าอาณานิคมผิวขาวและผิวเหลืองล่มสลายไปนานแล้ว นี่คือช่วงเวลาผงาดขึ้นครองโลกของคนผิวแดง คล้ายกับว่ามนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ ผู้ปกครองผิวแดงใช้วิธีกดปราบ กีดกัน และแบ่งแยกคนผิวสีอื่นลงเป็นทาส กำหนดให้ชนผิวแดงแต่งงานกันเองเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของสายเลือด สร้างข้อห้ามไร้สาระและวิปริตมากมาย เช่น ห้ามกินถั่ว การกินเนื้อทารก จำกัดเสรีภาพในการคิด ในเนื้อตัวร่างกาย ในการเลือกหนทางชีวิตของตน การบูชายัญหญิงบริสุทธิ์ ฯลฯ

          ความบ้าบอทั้งหมดทั้งมวลนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยตำนานปรัมปราและความหวาดกลัวต่อเทพเจ้าซาฮาโตโพล์ค พร้อมกับสถาปนามนุษย์คนหนึ่งเป็นเทพเจ้าโดยเรียกว่า กษัตริย์

          ช่างย้อนแย้ง การกดขี่ด้วยความกลัวกับกลัวการตั้งคำถาม เทพเจ้าซาฮาโตโพล์คผู้ยิ่งใหญ่เปราะบางต่อความสงสัยใคร่รู้ของดรุณีนาม ดิโอติมา พลันที่เธอ ‘ตาสว่าง’ แม้แต่พ่อแม่ ครู คนรัก เทพเจ้า หรือความตายก็ไม่สามารถปิดตาเธอได้อีกเป็นครั้งที่สอง

          ชนชั้นนำเปรูประหารดิโอติมาอย่างโหดเหี้ยมท่ามกลางสาธารณชน หวังใช้ความกลัวหยุดยั้งคำถาม หารู้ไม่ว่าความกล้าหาญของดิโอติมาจุดประกายให้อีกผู้หนึ่ง ณ ลานประหารสานต่อภารกิจ

          หลังจากอ่านจบ ผมเกิดคำถามว่าจริงๆ แล้วมนุษย์เข้มแข็งหรืออ่อนแอ?

          บ่อยครั้ง เราช่างเด็ดเดี่ยว ห้าวหาญ ถึงขั้นพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน บ่อยครั้งเช่นกันที่เราช่างอ่อนแอ หวาดกลัวการยืนด้วยแข้งขาของตน จนต้องเสกสร้างพระเจ้าองค์ใหม่ๆ เพื่อยึดเหนี่ยวทั้งที่เพิ่งทำลายพระเจ้าองค์ก่อนหน้าไป แล้วสร้างวงจรการกดขี่ใหม่

          คำนำสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เมื่อปี 2533 เขียนว่า ชื่อของรัสเซลล์ในฐานะนักปรัชญาควบนักเขียนอาจไม่โด่งดังเหมือนซาร์ตหรือกามูส์ แต่การดูเบานวนิยาย ‘ซาฮาโตโพล์ค’ ถือเป็นความผิดพลาด (ในแง่การการันตีด้วยรางวัล รัสเซลล์ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเช่นกัน)

           ผมเชื่อว่ารัสเซลล์ นักต่อต้านสงครามตัวยง ครุ่นคิดมาอย่างดีกับ ‘ซาฮาโตโพล์ค’ ทั้งการประชดประชันแนวคิดทางการเมืองต่างๆ และบอกใบ้ถึงความอ่อนแอของมนุษย์ในตอนท้ายของเรื่อง มันเป็นนวนิยายที่ไร้กาลเวลา

          จะน่าเศร้าสักเพียงไหน ถ้าในยุคนี้แล้ว มนุษย์ยังต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัวเทพเจ้าที่สร้างขึ้นเอง ยังต้องสร้างความกลัวเพื่อปิดปาก จับสาวน้อยเช่นดิโอติมาเข้าคุกและประหาร

          เรื่องที่น่าโศกเศร้าที่สุดคืออะไรหรือ?

          เพลโต เสาหลักแห่งปรัชญาตะวันตก ผู้เกิดก่อนฮอบส์ประมาณ 20 ศตวรรษ พูดไว้ว่า

          “We can easily forgive a child who is afraid of the dark; the real tragedy of life is when men are afraid of the light.”

          “เราสามารถให้อภัยเด็กที่กลัวความมืดได้อย่างง่ายดาย โศกนาฏกรรมในชีวิตจริงก็คือ เมื่อผู้ใหญ่กลัวแสงสว่างต่างหาก”

          สิ่งนี้ต่างหากคือโศกนาฏกรรมที่แท้จริง

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก