ปลายศตวรรษที่ 20 ย่างเข้าศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่สถาปัตยกรรมห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้เริ่มก้าวข้ามไปจากขนบการออกแบบเดิมๆ มันจะไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้คนเดินเข้าไปรับความรู้อย่างเชื่องๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่เป็นยุคซึ่งพื้นที่ (space) ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้คนในสังคมอนาคต
เมื่อแหล่งเรียนรู้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลยที่วันนี้คนจำนวนหนึ่งไปที่พิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุดเพื่อจัดการแสดงทางวัฒนธรรม งานเทศกาล นัดเจรจาทางธุรกิจ สร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งจัดงานแต่งงาน ในขณะเดียวกันสถานที่เหล่านั้นก็ยังคงรักษาบทบาทในการให้บริการด้านการเรียนรู้และสารสนเทศไว้อย่างเหนียวแน่น
แหล่งเรียนรู้ยุคมิลเลนเนียมสามารถออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่และมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ส่วนหนึ่งก็เพราะวิทยาการด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น และส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือนักออกแบบซึ่งต้องตีโจทย์ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชน จนกระทั่งแปรจินตนาการที่กว้างไกลให้กลั่นตัวเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าจดจำ
ซีรีส์ชุด “เบื้องหลังความคิดและจินตนาการของนักออกแบบแหล่งเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21” จำนวน 6 ตอน นำเสนอเรื่องราวและผลงานเจ้าของไอเดียแหล่งเรียนรู้ที่โดดเด่น 7 ราย ได้แก่ เร็ม คูลฮาส (Rem Koolhaas) โจชัว ปรินซ์-รามุส (Joshua Prince-Ramus) อึน ยัง ยี (Eun Young Yi) แฟรงก์ โอเวน เกห์รี (Frank Owen Gehry) ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) และโตโย อิโตะ (Toyo Ito)

Photo: Dmitry Ternovoy, FAL, via Wikimedia Commons
ก่อนทศวรรษ 1990 สิ่งก่อสร้างเกือบทั้งหมดในโลกนี้ออกแบบโดยผู้ชาย อคติทางเพศทำให้ไม่มีใครเชื่อว่าผู้หญิงจะสร้างหรือออกแบบอาคารได้ เส้นทางสู่การเป็นสถาปนิกระดับแนวหน้าของ ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเธอเป็นทั้งผู้หญิง มุสลิม และคนกลุ่มน้อยในสังคม สมัยก่อนเธอแทบจะคว้างานอะไรไว้ในมือไม่ได้เลย แต่หลังยุคมิลเลนเนียมรูปแบบงานออกแบบของเธอกลับกลายเป็นที่นิยม จนกระทั่งเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัล Pritzker Prize และรางวัลเหรียญทองจาก Royal Institute of British Architects (RIBA) ปัจจุบันสถาปัตยกรรมที่อ่อนช้อยของเธอได้กลายเป็นไอคอนอันน่าจดจำในหลายเมืองทั่วโลก รวมแล้วกว่า 950 โครงการ ด้วยทีมงานออกแบบกว่า 400 คน
พ่อของฮาดิดเป็นนักลงทุนอุตสาหกรรมที่มั่งคั่งและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเสรีนิยมฝ่ายซ้ายและพรรคการเมืองที่สำคัญของอิรัก ส่วนแม่เป็นศิลปิน เธอเกิดที่อิรัก เมื่ออายุ 10 ขวบครอบครัวส่งเธอไปเรียนที่อังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์ ฮาดิดเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาคณิตศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา และต่อมาได้เปลี่ยนไปเรียนด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่อังกฤษ
เธอก่อตั้งบริษัทสถาปนิกเป็นของตัวเองเมื่อปี 1980 ทั้งยังสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยไปด้วย นอกจากความสามารถในการออกแบบสถาปัตยกรรมแล้ว ฮาดิดยังเชี่ยวชาญด้านการออกแบบตกแต่งภายใน และงานออกแบบผลิตภัณฑ์ ผลงานของเธอจึงมีความหลากหลายทั้งพิพิธภัณฑ์ ศูนย์วัฒนธรรม สถานศึกษา สถานีดับเพลิง ศูนย์การค้า รีสอร์ทหรู หอคอยปล่อยสกี โรงพยาบาล ลานจอดรถ สะพาน สนามกีฬา เรือยอร์ช โต๊ะเก้าอี้ หรือแม้กระทั่งรองเท้า!
เอกลักษณ์เฉพาะตัวของฮาดิดอยู่ที่เส้นสายและลายโค้ง ซึ่งเธอสามารถแปลงจินตนาการที่พลิ้วไหวออกมาเป็นงานสถาปัตกรรมได้จริงด้วยพื้นฐานความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่เธอถนัด จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชินีเส้นโค้ง” แตกต่างจากงานสถาปัยตกรรมแบบเดิม (ซึ่งผู้ออกแบบมักเป็นผู้ชาย) ที่มักติดกรอบอยู่ในรูปทรงสี่เหลี่ยมและให้ความรู้สึกไม่มีชีวิตชีวา กล่าวกันว่าผลงานของฮาดิดมีมูลค่าแพงระยับ เมื่อเศรษฐกิจประเทศฝั่งตะวันตกเริ่มฝืดเคือง บริษัทของเธอจึงบ่ายหน้าไปยังประเทศผู้ค้าน้ำมันและเอเชีย เช่น จีน รัสเซีย อาเซอร์ไบจัน ซาอุดิอาระเบีย ฯลฯ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้านศิลปะแห่งศตวรรษที่ 21 MAXXI – Museo nazionale delle arti del XXI secolo, อิตาลี
แม็กซี่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานมาสเตอร์พีชของฮาดิด เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2000 ในช่วงที่รัฐบาลอิตาลีให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางวัฒนธรรม กว่าจะแล้วเสร็จใช้เวลา 10 ปี ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลถึง 6 ชุด สถาปัตยกรรมแห่งนี้ได้รับรางวัลการออกแบบระดับนานาชาติ 2 รางวัล คือ Royal Institute of British Architects (RIBA) และ Stirling Prize for Architecture
รูปร่างอาคารดูเหมือนหลอดยาวที่พาดกันไปมา ให้ความรู้สึกเหมือนระบบขนส่งขนาดใหญ่ที่สลับซับซ้อน พิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะและพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรม นอกจากนี้ก็ยังมีห้องออดิทอเรียม ห้องสมุด ร้านหนังสือ ร้านอาหารและบาร์ แกลเลอรี นิทรรศการชั่วคราว ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เป็นลานสาธารณะสำหรับจัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม
ปิปโป้ ซิออร์ร่า ภัณฑารักษ์อาวุโสของแม็กซี่กล่าวถึงการออกแบบว่า “มันมีราคาแพงลิ่ว ทุกอย่างเหมือนจะมาผิดทาง แต่เราก็จำเป็นต้องมีความหวัง” ทั้งนี้ก็เพราะในขณะนั้นเศรษฐกิจของอิตาลีไม่สู้จะดีนัก แต่เมื่อพิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการกลับกลายเป็นว่า “แม็กซี่ได้สร้างพลวัตให้กับเมืองที่หลับใหล เป็นบารอกสมัยใหม่ในเมืองบารอกโบราณ ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาดื่มด่ำกับพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ มันคือความสำเร็จที่ยิ่งกว่าความสำเร็จ”
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นผลงานชิ้นแรกๆ ที่ประกาศความสามารถของฮาดิดให้ดังกึกก้อง มันเปี่ยมด้วยพลัง โดดเด่น และที่สำคัญคือมันได้บรรจุเอาแนวคิดว่าด้วยเรื่องเมืองและการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เธอได้หลอมรวมเมืองเก่ากับศิลปะแบบใหม่ ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการใหม่ๆ ที่กำลังปรากฏขึ้นในสังคม
พิพิธภัณฑ์การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งกลาสโกว์ Riverside Museum of Transport and Travel, สก็อตแลนด์
เมืองกลาสโกว์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำไคลด์ เป็นเมืองหน้าด่านของเรือขนส่งสินค้าจากมหาสมุทรแอตแลนติก เมืองเติบโตอยู่บนพื้นฐานของการค้าทางทะเลและอุตสาหกรรมต่อเรือ สภาเมืองและองค์กรภาคีจึงริเริ่มและร่วมกันลงขันเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ที่เชิดชูประวัติศาสตร์ด้านการขนส่งและเทคโนโลยี พิพิธภัณฑ์การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งกลาสโกว์ (Riverside Museum of Transport and Travel) แห่งนี้เป็นงานออกแบบอาคารด้านวัฒนธรรมแห่งแรกของ ซาฮา ฮาดิด ที่สร้างขึ้นในประเทศอังกฤษ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2007 เปิดให้บริการเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2013
ฮาดิด มีพรสวรรค์ในการตีความและสร้างความกลมกลืนระหว่างอาคารกับสิ่งแวดล้อม เธอออกแบบพิพิธภัณฑ์การขนส่งและการท่องเที่ยวให้มีรูปทรงอาคารคล้ายอุโมงค์คดโค้งที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองกับแม่น้ำ หลังคาแหลมเป็นเส้นซิกแซกคล้ายยอดคลื่น ผนังด้านนอกขึ้นรูปด้วยสังกะสีจนดูราวกับเป็นงานประติมากรรม ทางเข้าออกอาคารเป็นกระจกโปร่งใส มองเห็นสีเขียวใบไม้ภายในที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นความรู้สึกตรงกันข้ามกับวัตถุจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมทางอุตสาหกรรม
แนวอาคารที่คล้ายกับตัวอักษร Z ทำให้ผู้เข้าชมมองไม่เห็นส่วนอื่นของอาคารได้จากปากทางเข้าประหนึ่งเดินเข้าไปในเขาวงกต ให้ความรู้สึกมหัศจรรย์และมีมนต์ขลัง การตกแต่งภายในต้องใช้แสงไฟปริมาณมากเพราะอาคารปิดทึบไม่เปิดรับแสงสว่างจากภายนอก ด้านริมแม่น้ำเป็นร้านอาหารและบาร์ตกแต่งบรรยากาศแบบยุคโบราณ อาคารหลักจัดแสดงวัตถุด้านการคมนาคมขนส่งกว่า 3,000 ชิ้น ตั้งแต่สเก็ตบอร์ด หัวรถจักร เรือท้องแบน จักรยาน รถยนต์ และรถจักรยานยนต์แบบโบราณ ไฮไลท์ที่สำคัญที่สุดคือ “Glenlee” เรือเหล็กโบราณแบบ 3 กระโดงซึ่งเป็น 1 ใน 5 ลำที่ยังเหลืออยู่ในโลก จัดแสดงอยู่ในโถงสูงเปิดโล่งจากชั้น 1 ถึงชั้น 2 หลายสิ่งเป็นเทคโนโลยีที่ตายจากไปแล้วเมื่อถึงยุคสมัยปัจจุบัน แต่กลาสโกว์ได้เก็บรวบรวมความทรงจำเหล่านี้ไว้เสมือนเป็นลมหายใจที่หล่อเลี้ยงเมืองให้มีชีวิตอยู่
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับรางวัล European Museum Academy Micheletti Award 2012 และ European Museum of the Year 2013 ในฐานะที่ได้เติมเต็มคุณภาพชีวิตในพื้นที่สาธารณะในระดับสูงสุด ผู้บริหารเมืองกล่าวว่า “มันเป็นความสำเร็จที่โดดเด่น เป็นมงกุฎงามแห่งยุโรปซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่มาจากการทำงานหนัก แรงปรารถนา และความสร้างสรรค์ มันได้นำเอาเรื่องราววิศวกรรมและการขนส่งในอดีตมาปรากฏต่อสายตาคนรุ่นใหม่ มันคือความภาคภูมิใจของชาวกลาสโกว์” ปัจจุบันมีผู้เข้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 5 แสนคนต่อปี หลายคนเรียกพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วยความยกย่องว่า “กุกเกนไฮม์แห่งกลาสโกว์” (Glasgow Guggenheim) เนื่องจากลักษณะอาคารซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ตลอดจนรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมบางส่วนมีความคล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์บิลเบา ประเทศสเปน ทั้งที่เนื้อหาภายในแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม คนที่นี่ก็อยากจะให้คนจดจำพิพิธภัณฑ์นี้อย่างที่มันเป็นมากกว่า
ศูนย์วัฒนธรรม เฮย์ดา อาลิเยฟ Heydar Aliyev Cultural Center, อาเซอร์ไบจาน
ศูนย์วัฒนธรรมเฮย์ดา อาลิเยฟ Heydar Aliyev Cultural Center แห่งบากู เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองหลวงของอาเซอร์ไบจานไปสู่ “เมืองสำหรับการมีชีวิตที่เปี่ยมด้วยปัญญา” ตั้งอยู่ริมถนนหลักจากสนามบินแห่งชาติที่มุ่งหน้าเข้าสู่ใจกลางเมือง ศูนย์วัฒนธรรมจึงคล้ายกับเป็นทูตสันถวไมตรีที่ยืนต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเป็นมิตร
อาเซอร์ไบจานเป็นประเทศที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่แนบแน่นกับประเทศรัสเซีย คนทั่วไปมักมีภาพจำเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของประเทศในกลุ่มประเทศรัสเซียเก่าว่าน่าจะยึดแบบแผนการก่อสร้างอาคารใหญ่โตแบบทื่อๆ และมีอนุสาวรีย์ของผู้มีอำนาจตั้งอยู่ด้านหน้า ซาฮา ฮาดิดใช้การออกแบบศูนย์วัฒนธรรมแห่งบากูเป็นโอกาสในการนำเสนอภาพลักษณ์ที่อ่อนโยน ทันสมัย และโรแมนติกให้กับอาเซอร์ไบจาน สถาปัตยกรรมแห่งนี้ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นจุดสูงสุดของงานออกแบบของเธอ
ฮาดิดออกแบบรูปทรงสถาปัตยกรรมให้คดโค้งในแบบที่เธอถนัด หลังคามีด้านที่ชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้าและโน้มต่ำลงมาสู่ผืนดิน เป็นสิ่งก่อสร้างที่แสนจะแปลกประหลาดสำหรับสังคมมุสลิม ซึ่งคุ้นเคยกับการออกแบบตามรูปทรงเรขาคณิตแบบสมมาตรและประดับตกแต่งด้วยลายต้นไม้ดอกไม้ แต่ฮาดิดก็ได้นำเอาลวดลายพื้นถิ่นของชาวอาเซอรีมาประดับตกแต่งพื้น ผนัง และด้านในของโดม ด้วยวิถีของงานศิลปกรรมร่วมสมัย
ศูนย์วัฒนธรรมเฮย์ดา อาลิเยฟ เป็นจุดศูนย์รวมของแหล่งเรียนรู้ ประกอบไปด้วยพิพิธภัณฑ์ หอประชุม ห้องสมุด โถงแสดงคอนเสิร์ต และแกลเลอรี ซึ่งมีการวางระบบทางวิศวกรรมที่ “ก้าวล้ำแบบสุดขั้ว” ดังปรากฏในสารคดีช่องดิสคัฟเวอรี ตอน “การเปลี่ยนผ่านที่น่าอัศจรรย์ของอาเซอร์ไบจาน” ผลงานชิ้นนี้ทำให้ฮาดิดได้รับรางวัล Design Museum’s award 2014 โดยกวาดทุกประเภทรางวัลในการประกวดปีนั้น
ศูนย์วัฒนธรรมเฮย์ดา อาลิเยฟ อาจเป็นเหมือนโลกแห่งความฝันซึ่งสะท้อนอนาคตที่มีคุณภาพของเมืองบากู แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งมันแลกมาด้วยการเหยียบย่ำสิทธิมนุษยชนอย่างแสนสาหัส รัฐบาลเวนคืนพื้นที่ก่อสร้างอย่างไม่เป็นธรรม กว่า 250 ครัวเรือนถูกไล่ที่โดยการตัดน้ำตัดไฟและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ผู้ต่อต้านถูกจับกุม โครงการก่อสร้างเต็มไปด้วยปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานผู้อพยพจากบอสเนียและเซอร์เบีย คล้ายคลึงกับกรณีการก่อสร้างสนามฟุตบอลโลกปี 2022 ที่กาตาร์ซึ่งฮาดิดเป็นผู้ออกแบบเช่นกัน ที่นั่นมีแรงงานที่เสียชีวิตขณะทำงานถึง 500 คนภายในเวลาเพียง 2 ปี เธอให้สัมภาษณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า “มันเป็นเรื่องของรัฐบาล ถ้าคิดว่าเป็นปัญหาก็ควรจะแก้ไข แต่ไม่ใช่ธุระของสถาปนิกที่จะไปมองเรื่องเหล่านี้”
ซาฮา ฮาดิด เสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2016 ในวัย 65 ปี ด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ผลงานชิ้นโบว์แดงของเธอยังมีอยู่อีกมากมาย ทั้งที่สร้างแล้วเสร็จและอยู่ในระหว่างก่อสร้าง อาทิ ห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจแห่งเวียนนา ประเทศออสเตรีย ศูนย์กีฬาทางน้ำลอนดอน ประเทศอังกฤษซึ่งใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกปี 2012 ดูไบโอเปร่าเฮ้าส์ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ศูนย์ศิลปะร่วมสมัยเมืองเฉิงตู ประเทศจีน ศูนย์วิทยาศาสตร์ในเมืองวอล์ฟสบุร์ก ประเทศเยอรมนี สนามบินนานาชาติปักกิ่งต้าซิง ประเทศจีน ฯลฯ
ที่มา
For Muslims and women, Zaha Hadid was a shining torch [Online]
Zaha Hadid: queen of the curve [Online]
MAXXI [Online]
Riverside Museum of Transport and Travel, Glasgow – review [Online]
Wave of protest over Zaha Hadid’s Baku prizewinner [Online]
Cover Photo by Ismael Bashiri on Unsplash