แหวกม่านไม้ไผ่ ชำแหละการศึกษาจีน เรียนรู้สิ่งที่ดีที่สุดและเลวที่สุดจากแดนมังกร

573 views
8 mins
February 21, 2021

          ประเทศจีนขึ้นแท่นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจของโลก ด้วยการโค่นแชมป์เก่าสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำมาอย่างยาวนาน และขยับเป็นประเทศที่มีตลาดหุ้นขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก (รวมมูลค่าของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง) มิหนำซ้ำ จีน (เซี่ยงไฮ้) ยังทำสถิติครองอันดับหนึ่งในการสอบโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ทั้ง 3 วิชา คือคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ต่อเนื่อง 2 สมัยในปี 2009 และ 2012 ความสำเร็จทั้งด้านเศรษฐกิจและการศึกษาได้สร้างแรงกดดันไม่น้อยต่อชาติตะวันตก รวมทั้งก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของระบบการศึกษาอเมริกัน และมองหาบทเรียนแห่งความสำเร็จจากจีน

          แต่ใครเล่าจะรู้ลึกเรื่องการศึกษาจีนได้ดีไปกว่าคนจีนที่ผ่านระบบการเรียนในประเทศ และมีโอกาสไปศึกษาเล่าเรียนขยายพรมแดนแห่งความรู้ในโลกตะวันตก จนสามารถวิเคราะห์ปัญหาและสังเคราะห์บทเรียนของระบบการศึกษาในประเทศบ้านเกิดได้อย่างถึงรากและบาดลึกเฉียบคม เป็นแง่มุมชวนคิดให้กับผู้สนใจเรื่องการศึกษาทั้งที่อยู่ในดินแดนมังกรและประเทศอื่นทั่วโลก

           เขาผู้นั้นคือศาสตราจารย์ หย่ง เจ้า (Yong Zhao) ประธานบริหารสถาบัน The Institute for Global and Online Education in the College of Education แห่งมหาวิทยาลัยโอเรกอน สหรัฐอเมริกา* นักการศึกษาที่มีวาทะดุเด็ดเผ็ดมันจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ร็อคสตาร์ด้านการศึกษา” เขาได้กระเทาะมายาคติว่าด้วยความสำเร็จทางการศึกษาจีนซึ่งมีทั้งด้านที่ดีที่สุดและเลวที่สุดไว้ในหนังสือ 2 เล่ม คือ ผู้เรียนที่มีความเป็นสากล (World Class Learners: Educating Creative and Entrepreneurial Students) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2012 และ ใครกันจะกลัวมังกรร้ายตัวเบิ้ม (Who’s Afraid of the Big Bad Dragon?: Why China Has the Best (and Worst) Education System in the World) ตีพิมพ์เมื่อปี 2014

World Class Learners: Educating Creative and Entrepreneurial Students and Who's Afraid of the Big Bad Dragon?: Why China Has the Best (and Worst) Education System in the World

          ในหนังสือใครกันจะกลัวมังกรร้ายตัวเบิ้ม หย่ง เจ้า ระบุว่าการที่จีนมีผลสอบเป็นอันดับหนึ่งของโลก ต้องแลกมาด้วยการทำลายความสร้างสรรค์ และความเป็นตัวของตัวเองของเด็กๆ อารยธรรมแบบจีนที่หยั่งรากลึกนับพันปีทั้งลัทธิขงจื๊อหรือการสอบจอหงวนได้สร้างแบบแผนความรู้แบบอนุรักษ์นิยม เน้นการถ่ายทอดด้วยการท่องจำโดยปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งรากฐานทางความคิดเช่นนี้ล้วนแล้วแต่อยู่ห่างไกลจากวิธีวิทยาสมัยใหม่ ศาสตราจารย์เจิ้ง เย่อ ฟู จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ถึงกับวิจารณ์อย่างหมดหวังว่า เด็กนับพันล้านคนที่ผ่านระบบการศึกษาของจีน 12 ปีขึ้นไป ไม่เคยและไม่มีวันได้รางวัลโนเบล เว้นเสียแต่ว่าจะมีโอกาสไปเรียนที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของตะวันตก

          ผู้คนที่อิจฉาความสำเร็จของจีนยังไม่ได้วิเคราะห์ลึกลงไปว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันไม่ได้เป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและเสมอภาค แต่มาจากการอ้าแขนรับระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว ในขณะที่หนทางในการรักษาศักยภาพทางเศรษฐกิจไว้อย่างยั่งยืน จำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี และสิ่งสำคัญก็คือการปลูกฝังคุณลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมและวัฏจักรทางธุรกิจใหม่ๆ

          สังคมจีนปัจจุบันเต็มไปด้วยปัญหาชนชั้นและความไม่เท่าเทียม พ่อแม่ที่ร่ำรวยจะสนับสนุนทุกหนทางเพื่อให้ลูกของตนได้เปรียบคนอื่น ทั้งการเรียนพิเศษ จ้างครูที่ดี เข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง หรือแม้แต่การทุจริต ไม่น่าเชื่อว่าอุตสาหกรรมรับจ้างเขียนผลงานนักเรียนเพื่อยื่นประกอบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จะมีมูลค่าสูงนับพันล้านดอลลาร์ ระบบการศึกษาที่เต็มไปด้วยการแข่งขันทำให้เด็กไม่มีความสุข สุขภาพไม่ดี และยิ่งซ้ำเติมความอยุติธรรมที่มีอยู่ในสังคม

          หย่ง เจ้า คาดหวังจะเห็นระบบการศึกษาที่ทะนุถนอมและพัฒนาพรสวรรค์ซึ่งมีอยู่ในตัวเด็กทุกคน บรรยากาศการเรียนรู้ที่ไม่มีแรงกดดัน และการทำให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจจากภายใน โรงเรียนควรเห็นคุณค่าในการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ โดยสนับสนุนให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความอยากรู้อยากเห็น และมีความคิดสร้างสรรค์ ในหนังสือเรื่อง ผู้เรียนที่มีความเป็นสากล เขาจึงได้นำเสนอหัวใจแห่งความสำเร็จของการศึกษาไว้ว่า ความเป็นเลิศนั้นเกิดขึ้นจากปัจเจกชนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง คือ นักเรียนที่มีความเป็นตัวเอง ครูที่มีความเป็นตัวเอง โรงเรียนที่มีความเป็นตัวเอง และชุมชนที่มีความเป็นตัวเอง

          เขาชี้ให้เห็นปัจจัยบีบคั้นที่สำคัญของระบบการศึกษา โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยอำนาจของเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ มนุษย์ซึ่งมีตัวตนหลากหลายถูกคัดกรองด้วยระบบการศึกษาจนเหลือจำนวนเพียงน้อยนิดเพื่อกลายเป็นแรงงานในระบบการผลิต ซึ่งไม่แน่ด้วยซ้ำว่ากว่านักเรียนจะเรียนจบ อาชีพเหล่านั้นจะยังมีอยู่ในโลกหรือไม่ เราอาจจะพอคะเนได้เพียงว่าเทคโนโลยีน่าจะทำให้เกิดสินค้าและบริการสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม (niche) มากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่สำคัญสำหรับนักเรียนก็คือการได้ค้นพบเอกลักษณ์และพรสวรรค์ในตัวเอง ไม่ใช่การให้ทุกคนก้มหน้าก้มตาเรียนในสิ่งเดียวกัน

          ข้อต่อที่ยังขาดหายไปในระบบการศึกษาก็คือ การสร้าง จิตวิญญาณแห่งผู้ประกอบการ ให้กับนักเรียน ซึ่งจะต้องมีทั้งแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ การลงมือปฏิบัติ ความเชื่อมั่นในตนเอง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นมิตร กล้าเผชิญความเสี่ยง มีฉันทะ สร้างสรรค์ โอบอ้อมอารี และตื่นตัวต่อโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ฯลฯ เพื่อที่ในอนาคตพวกเขาจะเป็นผู้ที่สามารถสร้างงานให้กับตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดแรงงานแบบเก่าเพียงอย่างเดียว

          หย่ง เจ้า ได้เสนอโมเดลการศึกษาที่จะสามารถบ่มเพาะให้เด็กมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญสามส่วน คือ

          หนึ่ง การให้อิสระในการเรียนรู้แก่ผู้เรียน ให้นักเรียนได้เป็นผู้นำและมีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปในการเรียนรู้ เช่น ได้เรียนในสิ่งที่อยากจะเรียนโดยมีความรับผิดชอบตามที่ตกลงร่วมกัน ในสิ่งแวดล้อมที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบ กรณีศึกษาที่ดีมากในเรื่องนี้ก็คือ โรงเรียน Summerhill ของอังกฤษ สมัยเมื่อแรกก่อตั้งก่อนที่จะถูกการศึกษากระแสหลักดูดกลืนไป

          สอง การเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติเพื่อสร้างผลผลิต แนวคิดทางการศึกษาแบบเน้นการปฏิบัติมีมานานแล้ว อย่างเช่น Constructionism และ Project-Based Learning แต่ส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนที่นำแนวคิดนี้ไปใช้ก็ยังคงเน้นการป้อนเนื้อหาและทักษะที่จะตอบโจทย์การทำโครงงาน โดยมีครูเป็นผู้กำกับ สอน และประเมินผลอยู่ดี ทั้งนี้ โมเดลการเรียนรู้ที่จะก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และจิตวิญญาณแห่งผู้ประกอบการได้ ผู้เรียนจะต้องมีอำนาจในการควบคุมโครงงานทั้งหมด โดยครูมีบทบาทให้การสนับสนุนคล้ายกับเป็น “ผู้ร่วมลงทุน” เท่านั้น ตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของโรงเรียนซึ่งได้เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ไปแล้ว คือ High Tech High สหรัฐอเมริกา

          สาม การเปิดรับความเป็นสากล เทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์คือโอกาสของการสร้างงานและผู้ประกอบการระดับโลก ปัจจุบันมีตัวช่วยมากมายสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นประกอบกิจการ ไม่ว่าจะเป็นตลาดโลกที่ยังรอคอยสินค้าและบริการที่พัฒนาขึ้นจากความต้องการระดับท้องถิ่น การระดมทุนสาธารณะ (crowd funding) การร่วมสร้างสรรค์และแก้ไขปัญหาทางธุรกิจของสังคมออนไลน์ (crowd sourcing) กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือโรงเรียน Cherwell ประเทศอังกฤษ และโรงเรียน Oxford Community สหรัฐอเมริกา

โมเดลการศึกษาที่มุ่งเน้นการเป็นผู้ประกอบการ
โมเดลการศึกษาที่มุ่งเน้นการเป็นผู้ประกอบการ

          หย่ง เจ้า ขมวดความคิดไว้ในบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ว่า วาทกรรมการศึกษาที่โดดเด่นในปัจจุบันก็ยังคงเป็นเรื่องของมาตรฐานหลักสูตร ประสิทธิภาพของครู การวัดและประเมินผล การสอนที่มุ่งเน้นข้อมูลเนื้อหา ฯลฯ เงินนับพันล้านเหรียญ เวลาของบรรดาคุณครูนับล้านชั่วโมง ถูกผลาญไปเพื่อพัฒนาโรงเรียนให้ดีขึ้น แต่กลับยังไม่ใช่การศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก เมื่อใดก็ตามที่โรงเรียนหันมาเคารพความเป็นมนุษย์ในตัวเด็ก สนับสนุนพวกเขามากกว่าสร้างแรงกดดัน กระตุ้นให้เขาได้มีความกระหายใคร่รู้ และมีความคิดสร้างสรรค์ การศึกษาก็จะก้าวออกจากวังวนของความล้มเหลวเดิมๆ

          เมื่อเหลียวมองเรื่องราวของพี่จีนมังกรใหญ่ที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกและเลวที่สุดในโลกแล้วอย่าลืมกลับมาตั้งคำถามกับการศึกษาของประเทศไทยกันบ้าง เราส่งเสริมค่านิยมในการแข่งขันหรือรู้เท่าทันความสำเร็จที่ฉาบฉวยของคะแนนสอบ เราเห็นคุณค่าของการศึกษาในฐานะสิ่งที่ยกระดับคุณภาพชีวิตและจิตวิญญาณหรือเป็นแค่เพียงใบเบิกทางสู่อาชีพที่ร่ำรวย เราทะนุถนอมอัจริยภาพและรอยยิ้มของเด็กๆ หรือยัดเยียดให้พวกเขาเป็นในสิ่งที่เราอยากให้เขาเป็น เราเปิดโอกาสให้เด็กพัฒนาทักษะการคิดและสร้างสรรค์หรือศรัทธาในการท่องจำและเชื่อฟัง และอาจจะมีคำถามอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่จีนอาจยังไม่สามารถเฉลยคำตอบให้เราได้ทั้งหมด เพียงแต่เป็นกรณีศึกษาที่เตือนสติไว้ว่า จงเรียนรู้เพื่ออย่าเป็นแบบจีน !

* ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแคนซัส (University of Kansas)


ที่มา

เว็บไซต์ zhaolearning.com

The Myth of Chinese Super Schools By Diane Ravitch [Online]

Yong Zhao’s World Class Learners: A Mixed Review Posted by Jonathan Martin [Online]

Yong Zhao Interview: Will the Common Core Create World-Class Learners? By Anthony Cody [Online]


เผยแพร่ครั้งแรก กรกฎาคม 2558
เผยแพร่ซ้ำ พฤศจิกายน 2561

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก