บางครั้งการพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างรวดเร็วโดยขาดความใส่ใจ อาจทำให้พื้นที่ทางจิตวิญญาณของผู้คนค่อยๆ สูญหายไป ดังเช่น วัดยอ ดัม แจ (Yeo Dam Jae) ในแขวงชังชิน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ครั้งหนึ่งเคยมีทางสัญจรเชื่อมระหว่างวัดกับชุมชน แต่เมื่อบริเวณโดยรอบพากันถมที่ดินสูงขึ้นเพื่อสร้างอาคารที่พักอาศัย เส้นทางหลักก็ถูกตัดขาด เหลือเพียงทางเดินที่ต้องอ้อมไปทางภูเขานักซาน
วัดถูกทิ้งร้างเป็นเวลาเกือบ 10 ปี จนปี 2012 เทศบาลได้ซื้อวัดและที่ดินดังกล่าวไว้ ด้วยงบประมาณ 4 พันล้านวอน หรือราว 107 ล้านบาท เดิมทีเทศบาลมีแผนบูรณะวัดร้างให้เป็นห้องสมุดสำหรับเด็ก แต่โครงการนี้ก็ถูกชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด ที่ดินซึ่งไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์จึงกลายเป็นสถานที่มั่วสุมและกระทำผิดของเยาวชน
ต่อมา เทศบาลได้นำโครงการดังกล่าวกลับมาปัดฝุ่น สร้างเป็นศูนย์วัฒนธรรมซึ่งขับเคลื่อนโดยพลเมืองสตรี เนื่องจากวัดแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพระนางชองซุน (ค.ศ.1745 –1805) พระมเหสีของพระเจ้ายองโจ สตรีผู้มีปฏิภาณไหวพริบและมีคารมเป็นเลิศ ดังที่ปรากฏลาน ‘หินเต่า’ ตามตำนานบริเวณรอบวัด
อาคารวัดร้างได้รับการบูรณะให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง โดยผนวกรวมห้องสมุดสำหรับเด็กและศูนย์วัฒนธรรมสตรีนิยมเข้าไว้ด้วยกัน ทีมงานผู้ออกแบบห้องสมุดกล่าวว่า “ครั้งแรกที่เข้าไปสำรวจพื้นที่ เราเห็นว่าภูมิประเทศของภูเขาได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างอพาร์ตเมนต์ขนาดใหญ่และวัดมีพื้นที่ปิดตาย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะฟื้นฟูภูมิประเทศแบบเดิม เพื่อให้ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นกลับมาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง” ทางออกก็คือการรื้อกำแพงดินที่กั้นระหว่างวัดกับสวนสาธารณะ และสร้างอาคารกระจกทรงสูงเพื่อเชื่อมระหว่างวัดกับถนนซึ่งมีระดับสูงกว่า
ผู้ใช้บริการซึ่งเดินเข้ามาในอาคารกระจก จะพบกับร้านกาแฟและโถงนิทรรศการเป็นอันดับแรก ชั้นถัดลงมาเป็นห้องสมุดสตรีนิยมและห้องสัมมนา ส่วนชั้นล่างสุดมีทางเดินไปยังอาคารวัดหลังเดิม ซึ่งถูกแปลงโฉมเป็นห้องสมุดสำหรับเด็กที่เน้นการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เหมาะสำหรับการเล่น การอ่านนิทาน และการทำกิจกรรมต่างๆ ภายในห้องสมุดมีการตกแต่งที่ดูทันสมัยน่าใช้งาน ในขณะเดียวกันโครงสร้างหลัก เช่น หลังคา เสา ขื่อ คาน ฯลฯ ก็ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่มีการบูรณะวัดและสร้างอาคารห้องสมุด เกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมทางศาสนา โดยเรียกร้องให้มีการรื้อถอนอาคารทั้งหมด แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็ลงเอยด้วยดี เมื่อมีการทำความเข้าใจร่วมกันถึงความแตกต่างระหว่างแนวคิดเก่า-ใหม่ เน้นย้ำถึงเจตนารมณ์ที่ไม่อยากให้วัดถูกตัดขาดจากย่านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่อยู่รายรอบ
การเลือกใช้วัสดุประเภทไม้ กระจก และคอนกรีต ช่วยสร้างความกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม และก่อให้เกิดทัศนียภาพที่มีชีวิตชีวาให้กับเมือง ผู้ใช้บริการสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของป่าและสวนสาธารณะที่อยู่ใกล้เคียง ที่นี่ถูกคาดหวังว่าจะเป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมด้านสตรีนิยมที่สำคัญของประเทศ พร้อมกับส่งเสริมจิตวิญญาณที่มีพลังให้กลับคืนมาสู่ชุมชน
ที่มา
บทความ “YEO DAM JAE Cheon Janghwan + Studio I” จาก vmspace.com (Online)
บทความ “Yeodamjae Library / Emer-sys” จาก archdaily.com (Online)