เยลลามันดิ ห้องสมุดแห่งความทรงจำ ความหวัง และอนาคตของประเทศออสเตรเลีย

351 views
11 mins
October 21, 2024

          หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เราทราบกันดีว่าความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม ถือเป็นรากฐานการหลอมรวมประเทศเกิดใหม่ และเป็นเงื่อนไขของการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกัน บางประเทศก็ยังประสบกับปัญหาความไม่สงบ สงคราม และความไม่เท่าเทียมทางสังคมด้านอื่นๆ

          ออสเตรเลียเองก็มีความหลากหลายของผู้คนมากที่สุดประเทศหนึ่ง ผ่านทั้งประวัติศาสตร์ บาดแผล และความทรงจำแสนระทม เกี่ยวกับการบริหารจัดการผู้คนในพื้นที่ แต่ปัจจุบันกำลังมีแนวโน้มที่ดีในการนำความแตกต่างเหล่านั้นมาเป็นเรือธงเพื่อพัฒนาประเทศ

          ท่ามกลางสายตาของคนทั่วโลก หากออสเตรเลียประสบความสำเร็จ พวกเขาจะกลายเป็นต้นแบบให้อีกนานาประเทศ

          หลายพื้นที่เริ่มต้นที่สเกลเล็กๆ อย่าง ‘ห้องสมุด’ ซึ่งนำแนวคิดข้างต้นมาใช้และขับเคลื่อนนโยบาย ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของโลกที่กำลังหมุนไปอย่างรวดเร็ว นั่นคือ ห้องสมุดเยลลามันดิ (Yellamundie Library and Gallery) ห้องสมุดเมืองลิเวอร์พูล รัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็น 1 ใน 4 ผู้เข้าชิงรางวัลห้องสมุดประชาชนแห่งปี 2024 ของ สหพันธ์นานาชาติแห่งสถาบันและสมาคมห้องสมุด (IFLA) แต่ละปีจะมอบรางวัลแก่ห้องสมุดเปิดใหม่ทั่วโลก โดยมีเกณฑ์การพิจารณา 6 ข้อ ได้แก่ (1) ความกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น (2) คุณภาพด้านสถาปัตยกรรม (3) ความยืดหยุ่น (4) ความยั่งยืน (5) พื้นที่การเรียนรู้ และ (6) การพัฒนาด้านดิจิทัล

          เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ คือ หากออสการ์คือรางวัลใหญ่สำหรับวงการภาพยนตร์ บัลลงดอร์สำหรับวงการฟุตบอล รางวัลนี้ก็คือรางวัลใหญ่สำหรับวงการห้องสมุด

          ด้วยภูมิหลังของออสเตรเลีย และสภาพสังคมที่มีความซับซ้อนและแตกต่างหลากหลายกันในด้านวัฒนธรรม ภาษา นี่จึงเป็นความท้าทายของการดำรงอยู่และพันธกิจที่ห้องสมุด เยลลามันดิต้องตอบสนองต่อเมืองนี้ นอกจากเกณฑ์พิจารณาทั้ง 6 ข้อแล้ว บทความนี้จะพาไปถอดบทเรียนที่ทำให้ห้องสมุดของที่นี่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ และที่สำคัญคือ เพราะเหตุใดพวกเขาจึงเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นค่านิยมใหม่ของออสเตรเลียในช่วงสามทศวรรษนี้

Yellamundie ห้องสมุดแห่งความทรงจำ ความหวัง และอนาคตของประเทศออสเตรเลีย
Photo: Brett Boardman

ห้องสมุดที่โอบรับรากเหง้า บอกเล่าเรื่องราวของท้องถิ่น

          นิวเซาท์เวลส์ ถือเป็นรัฐหนึ่งที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาก ประชากร 29.3% (ประมาณ 2.3 ล้านคน) เกิดในประเทศที่แตกต่างกันถึง 251 ประเทศและมีชนเผ่าที่หลากหลายมากกว่า 310 ชนเผ่า พูดภาษามากกว่า 283 ภาษา และหากเจาะลงมาที่เมืองลิเวอร์พูล ข้อมูลจากสภาเมืองลิเวอร์พูล พบว่า ปี 2011 หลายครัวเรือนมาจากภูมิหลังที่แตกต่างกันทางด้านวัฒนธรรมและภาษา 40% ของประชากรเมืองลิเวอร์พูลไม่ได้เกิดที่นี่ แถม 50% ของประชากรเมืองนี้ก็ยังพูดภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษอีกด้วย

          จึงไม่แปลกเลยที่คำว่า ‘Yellamundie’ ซึ่งเป็นชื่อของห้องสมุดจะมาจากภาษาของชนเผ่าพื้นเมืองดารุก (Dharug) มีความหมายว่า ‘ผู้เล่าเรื่อง’ เพราะตามประวัติศาสตร์แล้ว พื้นที่เมืองลิเวอร์พูลเคยเป็นพื้นที่อยู่ของชนเผ่าอะบอริจิน 2 กลุ่ม นั่นคือ ชาวดารุก และชาวธาราวัล (Tharawal) ที่อพยพมาตั้งรกรากที่นี่กว่า 6 หมื่นปีก่อน

          เยลลามันดิยังเคยเป็นชื่อของหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวของชนพื้นเมืองกว่า 30 เรื่อง และเป็นชื่อของงานเทศกาลศิลปะนานาชาติที่มีชื่อเสียงอย่าง Yellamundie Festival ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่อง ชื่อนี้จึงเป็นที่รับรู้และยอมรับโดยทั่วไปของคนออสเตรเลีย

          fjcstudio ที่ออกแบบทั้งตึกสภาเมืองใหม่และห้องสมุดแห่งนี้ เผยว่าภายใต้งบประมาณกว่า 600 ล้านเหรียญบนเนื้อที่กว่า 5 พันตารางเมตร ห้องสมุดเยลลามันดิถูกสร้างขึ้นเพื่อทดแทนห้องสมุดหลังเดิมที่ถูกไฟไหม้ เมื่อคราวสภาเมืองลิเวอร์พูลและหน่วยงานท้องถิ่นของเมืองได้ริเริ่มแผนปรับปรุงฟื้นฟูที่ทำการสภาเมืองใหม่ และเปิดใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา และได้เข้าชิงรางวัล  IFLA ในปีถัดมาทันที

          แนวคิดในการก่อสร้างห้องสมุด fjcstudio อธิบายว่า ส่วนโค้งของตึกได้แรงบันดาลใจมาจากส่วนโค้งและการไหลของแม่น้ำจอร์จ หรือที่รู้จักในชื่อท้องถิ่นว่า ‘ทักเกอราห์’ (Tuggerah) สะท้อนถึงการไหลของแม่น้ำที่ทำให้เกิดพื้นที่ที่หลากหลายและน่าดึงดูดใจ พื้นผิวกระจกทรงกลมของตัวตึกมีหน้าที่รับแสงจากธรรมชาติและเปิดโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมมองเห็นวิวรอบเมือง ตัวตึกมีทั้งหมด 6 ชั้น เพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสวน ห้องทำงาน ห้องวิจัยมรดก (Heritage) และพื้นที่เงียบสงบอื่นๆ สำหรับทำงานและอ่านหนังสือ

Photo: Brett Boardman
Photo: Brett Boardman

Photo: Brett Boardman
Photo: Brett Boardman
Photo: Brett Boardman

          ตึกห้องสมุดเยลลามันดิ ถูกออกแบบร่วมกับตึกสภาเมืองใหม่ที่ตั้งอยู่ติดกัน มีพื้นที่ใช้สอยร่วมกันเพื่อการใช้งานที่สะดวกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังแก้ปัญหาความวุ่นวายของเมืองขนาดใหญ่ได้ด้วย เห็นได้จากการออกแบบระบบกริด (Grid System) หนึ่งในผังเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกับแผนผังทางเดินและถนนระหว่างห้องสมุดและตึกสภาเมือง

          พื้นที่ใช้สอยต่างๆ ถูกจัดสรรให้อยู่ในรูปของตารางหมากรุก ถนนตรงยาว ทำมุมเลี้ยว 90 องศาเป็นมุมฉากทำให้พื้นที่ดูมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ช่วยให้บริหารจัดการพื้นที่อย่างเป็นระเบียบ อีกทั้งยังลดความซับซ้อนและความหนาแน่นของเมือง ด้วยการออกแบบสภาพการจราจรที่เป็นมิตรกับการเดินเท้าของคนเมืองได้ดี

          ในแง่ของสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทุกปีออสเตรเลียเป็นประเทศที่ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน แต่ละมุมของพื้นที่จึงถูกโอบล้อมไปด้วยร่มเงาของต้นเครปไมร์เทิล (Crepe myrtle) หรือต้นยี่เข่ง ซึ่งเป็นไม้ทรงพุ่มสูงประมาณ 3-7 เมตร มีดอกบานในช่วงหน้าร้อน ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบเรื่อง ‘เกาะความร้อนในเมือง’ (Urban heat island) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมสูง เราต่างรู้ดีว่าการพัฒนาเมืองที่ขาดต้นไม้ไว้คอยดูดซับมลพิษและความร้อนนั้นเป็นไปได้ยากในโลกที่กำลังเดือดพล่าน

          อาจจะกล่าวได้ว่า แนวคิดการออกแบบห้องสมุดและพื้นที่โดยรอบนั้นเป็นแนวคิดที่ผสมผสานระหว่างการรักษารากเหง้าตัวตนของท้องถิ่น แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามตอบโจทย์เมืองแห่งอนาคตที่คาดการณ์ว่าจะมีประชากรหนาแน่นกว่าครึ่งล้านในอีก 20 ปีข้างหน้าเช่นกัน

          เนด แมนนูน (Ned Mannoun) นายกเทศมนตรีเมืองลิเวอร์พูล พูดถึงความสำคัญของการสร้างศูนย์กลางเมืองใหม่ที่มีทั้งสภาเมืองและห้องสมุดเยลลามันดิเป็นส่วนประกอบสำคัญว่า

          “พื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัว หรือเพิ่มขึ้นอีกกว่าครึ่งล้านในอีก 20 ปีข้างหน้า มันแสดงให้เห็นถึงโฉมหน้าใหม่ของออสเตรเลียที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยผู้อยู่อาศัยมากกว่า 40% ของเราเกิดในต่างประเทศ และครึ่งหนึ่งของประชากรของเราพูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ”

          โครงการก่อสร้างห้องสมุดเยลลามันดิและสภาเมืองใหม่แห่งนี้ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของสถาปัตยกรรมซึ่งคำนึงถึงรากเหง้าของผู้คนและพื้นที่ ไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่ยังคิดถึงการใช้งานของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

Photo: Brett Boardman

ประวัติศาสตร์สอนให้ขอโทษและชดใช้ ห้องสมุดที่ไม่ได้มีเด็กเป็นแค่จุดศูนย์กลาง แต่เป็นเป้าหมายสูงสุด

          สภาเมืองลิเวอร์พูลประกาศว่า เมืองลิเวอร์พูลเป็นเมืองแห่งเด็กและเยาวชน ประชาชนกว่า 41.7% อยู่ในครอบครัวที่มีสมาชิกตั้งแต่ 4 คนขึ้นไปเมื่อเทียบกับเมืองซิดนีย์ที่มีเพียง 29.5% นั่นทำให้เมืองลิเวอร์พูลเป็นเมืองที่มีประชากรเด็กและเยาวชนจำนวนมาก มีประชาชนที่อายุน้อยกว่า 24 ปี ถึง 40% เกือบ 3 ใน 4 ของครัวเรือนเมืองลิเวอร์พูลมีเด็กเป็นสมาชิกอยู่ด้วยถึง 74.95% (ซิดนีย์ 64.6%) 

          ‘เด็กและเยาวชน’ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของที่นี่

          ห้องสมุดเยลลามันดิถูกออกแบบให้มีพื้นที่สำหรับเด็กและเยาวชนอยู่ที่ชั้น 6 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของตึกครอบคลุมพื้นที่การใช้สอยทั้งชั้นโดยให้เหตุผลว่า มันเป็นสัญลักษณ์ของ ‘การปกป้องและสนับสนุนเด็กๆ’

          เรามักจะคุ้นกับแนวคิดที่ว่า เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ แต่แนวคิดของห้องสมุดแห่งนี้ดูจะเป็นการมองเด็กในมุมมองที่พิเศษขึ้นไปอีกระดับ เพราะสำหรับประเทศออสเตรเลีย พวกเขามีพันธกิจที่สำคัญอย่างมากในการดูแลลูกหลานของชาติ

          เพราะประวัติศาสตร์สอนให้พวกเขาชดใช้ให้กับสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วเหล่านี้

          ระหว่างปี 1910-1970 รัฐบาลออสเตรเลียเคยดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดต่อเยาวชนของชาติเป็นเวลายาวนานกว่า 60 ปี นับว่าเป็นช่วงประวัติศาสตร์แห่งการสร้างบาดแผลทางใจให้กับเด็ก ครอบครัว และประเทศมากที่สุดในเหตุการณ์ที่ถูกเรียกขานกันอย่างกว้างขวางว่า ‘Stolen Generetions’ นโยบายทางการเมืองที่ต้องการกลืนกลายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศด้วยการนำลูกของชนเผ่าอะบอริจินไปฝากเลี้ยงกับพ่อแม่บุญธรรมที่เป็นคนผิวขาว

          พวกเขาเชื่อว่า หากลูกๆ ของพวกเขาได้รับการเลี้ยงดูจากคนขาวคนที่เจริญแล้ว จะกลายเป็นคนที่สามารถใช้ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ได้ ส่วนคนรุ่นเก่าที่ไม่ยอมปรับตัวก็จะค่อยๆ ถูกกลืนหายไปเอง ในยุคนั้น ว่ากันว่ามีเด็กถูกพรากไปจากแม่ไม่น้อยกว่า 100,000 ชีวิต จากจำนวนชาวอะบิริจินทั้งหมดราว 300,000 คน ต้องเผชิญกับบาดแผลทางใจที่ต้องพลัดพรากจากพ่อแม่

          นี่คือการปฏิบัติที่ผิดพลาดต่อลูกหลานของชาวเมืองจนกลายเป็นตราบาปของประเทศ และเมื่อการแก้ไขตราบาปแห่งประวัติศาสตร์เหล่านั้นกลายมาเป็นภารกิจของคนทั้งชาติ สิ่งแรกที่พวกเขาทำคือ ‘ยอมรับความผิด’

P้hoto: Australianstogether

          ทุกความผิดพลาดในอดีตล้วนเป็นบทเรียนสำคัญ ประชาชนชาวออสเตรเลียต่อสู้เหตุการณ์ต่างๆ มาด้วยกันและตกผลึกได้ว่า ‘พวกเขาทำผิดพลาดไป’ รัฐบาลจึงออกมาขอโทษกับเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมกับกำหนดให้ ‘วันที่ 26 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันขอโทษ’ และในทุกๆ ปีก็จะมีการออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์นี้เสมอ

          ตั้งแต่นั้นมา ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการปกป้องดูแลลูกหลานของพวกเขา ผ่านนโยบายจากส่วนกลาง ท้องถิ่น และองค์กรต่างๆ เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ให้กับบุตรหลานของประชาชนทุกกลุ่มในออสเตรเลีย ซึ่งห้องสมุดประชาชนก็นับเป็นสถานที่หนึ่งที่ครอบครัวและเด็กๆ ต่างมาใช้เวลาร่วมกัน การออกแบบพื้นที่สำหรับเด็กและครอบครัว จึงเป็นสิ่งที่ห้องสมุดยุคใหม่ให้ความสำคัญ รวมถึงห้องสมุดเยลลามันดิแห่งนี้ด้วย

          ในระดับสภาเมืองลิเวอร์พูล ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่ดูแลเมืองลิเวอร์พูลรวมถึงห้องสมุดแห่งนี้จัดกิจกรรมและนโยบายที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปี 2017 พวกเขาจัดให้มีสภาเด็ก 2168 (2168 Children’s Parliament) ทำหน้าที่คล้ายสภาเมือง ประกอบไปด้วยสมาชิกเด็กและเยาวชนจากท้องถิ่น เพื่อศึกษา รับฟังปัญหาและตอบสนองต่อสิ่งที่พวกเขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการถูกบูลลี่ในโรงเรียน ความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม กีฬา

          ห้องสมุดเยลลามันดิตอบรับนโยบายเหล่านี้ โดยการยกให้การปกป้องและดูแลเด็กๆ เป็นเป้าหมายสำคัญ จำแนกได้เป็น 3 ประเด็น นั่นคือ ภาษา ครอบครัว และการสร้างพื้นที่การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะร่วมกันระหว่างเด็ก ครอบครัว และชุมชน

          ประเด็นแรกที่อยากยกมาเล่าคือ ภาษา เนื่องจากเมืองลิเวอร์พูลมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและภาษาค่อนข้างสูง พูดให้เห็นภาพคือ เมืองต้องรองรับประชากรราวสองแสนคนจาก 140 ประเทศ เกินครึ่งพูดภาษาอื่นมากกว่าภาษาอังกฤษ (แน่นอนว่าเราพูดถึงเด็กๆ ด้วย) ดังนั้นภารกิจสำคัญประการแรก จึงเป็นการผลักดันให้เด็กๆ สามารถพูดและสื่อสารภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลเพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้สื่อสารที่จำเป็นต่ออนาคตถือเป็นกระดุมเม็ดแรกในการพัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆ ของพวกเขา

          โปรแกรมและรูปแบบกิจกรรมของห้องสมุด จึงแบ่งการเรียนรู้ตามพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 18 ปี หนึ่งในโปรแกรมที่โดดเด่นและน่าสนใจมากในการพัฒนาทักษะภาษาของเด็กเล็ก คือโปรแกรม 1,000 หนังสือก่อนเข้าโรงเรียน ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะช่วยให้เด็กมีคลังคำตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน โดยเน้นไปที่เด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ

          พวกเขาต้องเก็บสะสมแต้มหนังสือให้ครบ 1,000 เล่ม ด้วยแอปพลิเคชัน Beanstack ซึ่งช่วยในการสะสมแต้มหนังสือ ยกตัวอย่างวิธีการคำนวณง่ายๆ เช่น หากเด็กอายุ 3 ขวบอ่านหนังสือวันละเล่ม พวกเขาก็จะอ่านครบในวัยก่อน 6 ขวบ และโปรแกรมนี้ไม่จำกัดแต่เฉพาะการอ่านหนังสือที่บ้านหรือที่ห้องสมุดเท่านั้น แต่เด็กสามารถอ่านหนังสือที่ไหนก็ได้ และกรอกข้อมูลลงไปเพื่อสะสมแต้ม

          แถมยังไม่ต้องเป็น 1,000 เล่มแบบไม่ซ้ำกันอีกต่างหาก พวกเขาสามารถอ่านหนังสือเล่มเดิมที่สนใจหลายๆ ครั้งได้ตามใจชอบ

          โปรแกรม 1,000 หนังสือก่อนเข้าเรียนยังสามารถเชื่อมโยงกับกิจกรรมอื่นๆ ของห้องสมุด เช่น กิจกรรมเล่านิทานให้เด็กฟังทุกๆ วันเสาร์ ซึ่งผู้เข้าร่วมสามารถเพิ่มหนังสือที่เด็กๆ ฟังลงไปในโปรแกรมได้อีกด้วย

          เนื่องจากไม่ใช่เด็กทุกคนที่ชอบอ่านหนังสือ โปรแกรมนี้จึงถูกออกแบบมาให้ยืดหยุ่น เด็กๆ อาจจะดูการ์ตูนหรือวิดีโอได้เช่นเดียวกัน โดยมีช่องทางให้ผู้ปกครองเลือกได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย

           ‘เนื้อหา’ ของสื่อต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ห้องสมุดให้ความสำคัญ จากสถิติที่แสดงบนเว็บไซต์ Storyboxhub.com หนึ่งในแหล่งรวบรวมสื่อสำหรับเด็กให้ข้อมูลไว้ว่า 10% ของหนังสือสำหรับเด็กมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของชนเผ่าพื้นเมือง และหนังสือจำนวนมาก ก็พยายามสอดแทรกเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้กับเด็กๆ เช่น หนังสือภาพ ‘Come and Stay for Dinner’ ซึ่งเป็นหนังสือภาพที่พยายามสอดแทรกเนื้อหาความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านเมนูอาหารบนโต๊ะ

Photo: Liverpool City Library

          ในแง่ของ ครอบครัว โปรแกรมของห้องสมุดส่วนหนึ่งถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่เด็ก การดูแลลูกตั้งแต่เกิดจนเติบโตเป็นวัยรุ่น มี 2 รูปแบบที่น่าสนใจคือ โครงการทีวีผู้ปกครอง สื่อวิดีโอช่วยแนะนำพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูก ตั้งแต่การดูแลครรภ์และพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย โดยทุกสื่อสามารถรองรับพ่อแม่ของเด็กที่ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ และรองรับภาษาที่ใช้สื่อสารในเมืองลิเวอร์พูลได้มากกว่า 5 ภาษา ทั้งภาษาอารบิก กวางตุ้ง จีนกลาง ฮินดี และสเปน

          ส่วนอีกโปรแกรมที่จะช่วยบรรดาแม่ๆ เรื่องการช่วยลูกทำการบ้านคือ โปรแกรม Kid Homework Help ออกแบบมาสำหรับเด็กอายุ 4-14 ขวบ เพื่อให้พ่อแม่มีช่องทางในการช่วยลูกๆ ของตัวเองทำการบ้าน โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์

          ประเด็นสุดท้ายคือ การสร้างพื้นที่การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะร่วมกันระหว่างเด็ก ครอบครัว และชุมชน จำเป็นมากที่สุดสำหรับห้องสมุดแห่งนี้ คือการมอบ 1 ชั้นเต็มๆ สำหรับเด็ก

          โปรแกรมที่ออกแบบมาสำหรับเด็กและเยาวชนในแต่ละกิจกรรมมีการแบ่งช่วงอายุชัดเจน ทั้งกิจกรรมที่จัดเป็นประจำและกิจกรรมเสริมซึ่งหมุนเวียนกันมา เช่น กิจกรรมเล่านิทานสำหรับเด็กเล็กอายุ 1-7 ขวบ,  Baby Rhymetime สำหรับเด็กเล็ก 0-2 ขวบ แค่ชวนกันมาขยับตัว ร้องเพลงเล่นกันเป็นประจำ

          หรือถ้าเด็กโตขึ้นมาหน่อยราว 5-12 ขวบ จะมีกิจกรรมทั้งในร่มและกลางแจ้ง เช่น โปรแกรม School Holiday ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นเวิร์กชอปเล็กๆ ฝึกให้เด็กๆ ปลูกต้นไม้ ต่อเลโก้ ทำอาหารง่ายๆ ส่วนวัยรุ่นก็สามารถมาเข้าชมรมหมากรุก (กีฬายอดนิยมอย่างหนึ่งของคนในออสเตรเลีย) ได้ ทั้งยังมีห้องเล่นเกมเรโทรคลาสสิก ห้องเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนที่จะมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสอนการบ้านวิชาต่างๆ ไปจนถึงชมรมเทคโนโลยีที่สอนวิธีการออกแบบด้วย 3D Print และเวิร์กชอปที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะด้านคอมพิวเตอร์ของเยาวชน

          ห้องสมุดแห่งนี้ยังรวบรวมช่องทางออนไลน์ที่สำคัญกับทักษะชีวิตของเยาวชน เช่น LinkedIn Learning คอร์สเรียนออนไลน์เกี่ยวกับธุรกิจ เทคโนโลยี และทักษะความคิดสร้างสรรค์, Transparent Language โปรแกรมเรียนภาษากว่า 100 ภาษาทั่วโลก, The Good University Guide ที่จะช่วยให้นักเรียนค้นหามหาวิทยาลัยที่เหมาะสมกับตัวเอง นอกจากนั้นยังมีโปรแกรมที่ช่วยในการหาสถานที่ฝึกงาน หางานเสริมระหว่างเรียนอีกด้วย

          หากมองในภาพรวม ห้องสมุดเยลลามันดิออกแบบกิจกรรมที่เกี่ยวกับเด็ก ครอบครัว และสร้างพื้นที่การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะร่วมกันได้อย่างหลากหลายและครอบคลุมความต้องการของแต่ละช่วงวัย แต่สิ่งที่สำคัญคือ การเป็นพื้นที่เชิงอัตลักษณ์ที่ทำให้ความหลากหลายทางเชื้อชาติและภาษาของพวกเขาเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตร่วมกันน้อยที่สุด ในแง่หนึ่งมันคือเครื่องมือในการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน และในท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นเครื่อข่ายที่ช่วยกันปกป้องและสนับสนุนลูกหลานของพวกเขาด้วยเช่นกัน

ห้องสมุดที่สนับสนุนทักษะแห่งอนาคต เทคโนโลยีและการบริการชุมชน

          Create Space เป็นพื้นที่ซึ่งมีมีการติดตั้งเทคโนโลยีต่างๆ มากมายเพื่อสนับสนุน STEM เป็นทั้งชั้นเรียนสำหรับทำหุ่นยนต์ของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีสิ่งอำนวยความสะดวก และอุปกรณ์สำคัญในการผลิตเนื้อหาประเภทวิดีโอ พอดแคสต์

          เนด แมนนูน กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการสร้างห้องสมุดนี้ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ทักษะแห่งอนาคตไว้ว่า

          “พื้นที่นี้ไม่ใช่เพียงพื้นที่อ่านหนังสือ แต่เปิดให้เข้าถึงคอร์สเรียนรู้การเขียนโปรแกรมของหุ่นยนต์และการสร้างโปรดักชันดิจิทัลด้วย เรากำลังเตรียมชุมชนของเราเพื่อรองรับทักษะแห่งอนาคต และมั่นใจว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงมันได้”

          แต่คำถามสำคัญก็คือ ทำไมห้องสมุดแห่งนี้จึงให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ทักษะแห่งอนาคต’ มันจะตอบโจทย์เมืองนี้ได้อย่างไร

          เรื่องนี้เราต้องทำความเข้าใจกับสภาวะของเมืองลิเวอร์พูล รัฐนิวเซาท์เวลส์ในฐานะพื้นที่เศรษฐกิจที่เติบโตและมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตเสียก่อน นายกเทศมนตรีเมืองลิเวอร์พูลได้พูดถึงการพัฒนาพื้นที่สภาเมืองใหม่ที่จะพัฒนาย่านนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจ เป็นทำเลสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของเมือง

          “ภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในเขตที่เติบโตเร็วที่สุดของซิดนีย์ และการเปิดสนามบินนานาชาติเวสเทิร์นซิดนีย์จนกลายเป็นเมืองศูนย์กลางการบิน (Aerotropolis) จะกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เน้นทักษะความรู้หลากหลาย ซึ่งจะสร้างการจ้างงานและโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ เมืองลิเวอร์พูลจะเป็นศูนย์กลางของการเติบโตนี้ ผู้เชื่อมโยงธุรกิจต่างๆ จากตะวันออกไปตะวันตกในเชิงยุทธศาสตร์” เขากล่าว

          นอกจากนี้ พื้นที่ดังกกล่าวยังกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่เชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนพื้นฐานสำคัญๆ ทำให้เกิดการลงทุนสร้างตึกพาณิชย์และโรงแรมที่พักสูง 9 ชั้น จูโน คอตตี (Juno Cottee) วิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างอาคารดังกล่าวพูดถึงโปรเจกต์การสร้างพื้นที่นี้ให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงขนส่งมวลชนว่า

          “Liverpool Civic Place จะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของมหานครซิดนีย์ โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 30 นาทีไปยังสนามบินซิดนีย์ และสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ เดินไม่ถึง 4 นาทีไปยังสถานีรถไฟลิเวอร์พูล ทางประตู M5, M7 และการเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์ M12 ใหม่ไปยังสนามบินแห่งใหม่” เขากล่าว

          ดังนั้นเราจึงได้เห็นบทบาทของห้องสมุดเยลลามันดิที่มีส่วนขับเคลื่อนและสนับสนุนทักษะแห่งอนาคต อย่าง STEM ดังที่กล่าวมาตอนต้น นอกจากนั้น ห้องสมุดยังมีโปรแกรมหลากหลายที่มุ่งสร้างพื้นที่พบปะพูดคุย การปฏิสัมพันธ์ การเรียน ธุรกิจ เช่น โปรแกรม Coffee Chat ที่จัดทุกช่วงเที่ยงวันถึงบ่าย เปิด session ให้มีการพูดคุยและซักถามกันอย่างอิสระในแต่ละหัวข้อที่ได้เลือกไว้ มีสมาคมอ่านหนังสือ การรวมกลุ่มเล่นบอร์ดเกม คอมพิวเตอร์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต บริการฝึกทักษะการพูดภาษาอังกฤษแบบฟรี หรือมีค่าบริการสำหรับประชาชนทั่วไป สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจและเทคโนโลยี

          นอกจากนั้น ยังมีส่วนงานบริการเพื่ออำนวยความสะดวกของประชาชน เช่น การมีพื้นที่รองรับผู้พิการด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ สำหรับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานระดับรัฐนิวเซาท์เวลส์ หรือมีบริการ Justices of the Peace ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายให้กับประชาชน เช่น ให้คำแนะนำในการทำหนังสือสัญญาและเอกสารราชการต่างๆ

          พื้นที่ Create Space เองจะมีตารางกิจกรรมมาให้เลือกอย่างต่อเนื่อง เช่น สอนการสร้างแอปพลิเคชัน สอนวิธีการสร้างโค้ดสำหรับทำแอปพลิเคชัน สอนทำภาพยนตร์แนวกังฟู หุ่นยนต์ ไปจนถึงสอนให้เขียนสคริปต์ ตัดต่อวิดีโอ และใช้งาน green screen

          โปรแกรมที่น่าสนใจห้องสมุดมีไว้บริการประชาชน ยังมีรายละเอียดไปถึงเรื่องราวในชีวิตประจำวันของพลเมือง เช่น โครงการ Haynes Manuals All Access งานบริการที่จะช่วยให้ประชาชนซ่อมและดูแลยานพาหนะของตัวเองได้เอง ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์แบบทีละขั้นตอน ซึ่งเป็นบริการฟรี

          แม้จะไม่ได้เป็นศูนย์กลางหลักทางธุรกิจหรือการค้า แต่ในฐานะห้องสมุดประชาชนที่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ห้องสมุดเยลลามันดิมีส่วนช่วยอย่างมากในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานที่จะเข้ามาจากหลากหลายประเทศ การสร้าง Create Space และงานบริการอื่นๆ ก็เป็นทั้งตัวช่วยและฐานรองรับการพัฒนาเมืองในอนาคต

ห้องสมุดที่สนับสนุน ‘พหุวัฒนธรรม’ คุณค่าและมูลค่าที่ส่งต่อสู่อนาคตใหม่

          หากเราทำความเข้าใจภูมิหลังประวัติศาสตร์ สภาพสังคมเศรษฐกิจปัจจุบันและมองไปที่อนาคตของออสเตรเลีย เราจะพบว่า รากฐานสำคัญของประเทศนี้คือความหลากหลายของผู้คนที่เป็นตัวกำหนดยุทธศาสตร์ของชาติ การพัฒนาในแทบจะทุกๆ ด้านของสังคมและวัฒนธรรมจึงมีเป้าหมายเดียวกันคือ การมุ่งสู่สังคมที่ทุกความแตกต่างจะสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยมีปัญหาน้อยที่สุด จึงกลายวาระกึ่งบังคับขององค์กรต่างๆ ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับประชาชนที่หลากหลายเหล่านั้นจะต้องขับเคลื่อนกิจกรรมของตนเองเพื่อตอบโจทย์ใหญ่ของประเทศ

          ประวัติศาสตร์การจัดการความหลากหลายของประเทศออสเตรเลียเอง ไม่ได้โรยไปด้วยกลีบดอกไม้ ในช่วงแรกของการก่อตั้งประเทศ รอยต่อระหว่างช่วงอาณานิคมอังกฤษถึงการเป็นรัฐเอกราช นโยบายส่วนใหญ่บังคับใช้โดยคนผิวขาวที่ไม่ได้ครอบคลุมถึงความหลากหลายของภาษาและชาติพันธุ์ ทั้งยังมีการกีดกันและเลือกปฏิบัติระหว่างชนชาติที่มาจากยุโรปและเอเชียจนหลอมรวมเป็นวัฒนธรรมของชาติ (แม้แต่ในปัจจุบัน การเลือกปฏิบัติต่อคนชาติเอเชียและอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวยุโรปในออสเตรเลียก็ยังคงอยู่)

          ในภาพกว้าง ภาคส่วนต่างๆ พยายามปรับปรุงและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มคนต่างๆ หรือเรียกร้องตามการเมืองวิถีประชาธิปไตยจนในช่วง 3 ทศวรรษหลังมานี้ แนวทางที่พวกเขาเลือกคือ ‘พหุวัฒนธรรมนิยม’ (Multiculturalism) ที่ถูกนำมาแทนที่พร้อมๆ กับการล่มสลายของนโยบายคนผิวขาวตั้งแต่ปี 1973

          ปี 1975 คือ จุดเปลี่ยนสำคัญ มีการระบุอย่างเป็นทางการว่า ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Multicultural Nation) จากนั้นมา ออสเตรเลียพยายามปลุกปั้นองค์กรหรือหน่วยงานด้านพหุวัฒนธรรมที่จะเข้าไปมีส่วนพัฒนาประเทศในสภา กระทั่งปี 2008 สภาที่ปรึกษาพหุวัฒนธรรมแห่งออสเตรเลีย Australian Multicultural Advisory Council (AMAC) ก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีบทบาทหน้าที่ศึกษาและให้คำปรึกษากับรัฐบาลส่วนกลาง

          ความพยายามนับสิบปีที่จะส่งเสริมค่านิยมใหม่ของประเทศมาประสบความสำเร็จเอาในปี 2017 เมื่อแนวคิดเรื่องพหุวัฒนธรรมกลายมาเป็นค่านิยมของประเทศนี้ มีการประกาศใช้คำขวัญว่า “Multicultural Australia: United, Strong, Successful” เพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์และเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ

          ทุกวันนี้ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เมื่อเราเข้าไปในเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานรัฐ แล้วจะไม่เจอคำว่า ‘Multicultural’ และจะไม่มีใครไม่รู้จักค่านิยมของคำๆ นี้ในประเทศออสเตรเลีย

          ตัดภาพมาที่ภาคส่วนของการอ่าน การส่งเสริมพหุวัฒนธรรมเห็นได้จากการจัดประกวดรางวัลวรรณกรรมสำหรับเด็กที่เกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมของออสเตรเลีย (The Australian Multicultural Children’s Literature Awards) ตั้งแต่ปี 1991-1995 ซึ่งแบ่งหมวดหมู่รางวัลไว้ 3 หมวด นั่นคือ หนังสือภาพ หนังสือเด็กเล็ก และหนังสือเด็กโต เมืองลิเวอร์พูล รัฐนิวเซาท์เวลส์ ก็มีรางวัล NSW Multicultural Award มาตั้งแต่ปี 1980 และมีรางวัล Multicultural Award สำหรับหน่วยงานท้องถิ่นและผู้นำชุมชนด้วย

          อย่างที่นำเสนอไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า นอกจากเกณฑ์การให้คะแนนห้องสมุดประชาชนทั้ง 6 ข้อจากคณะกรรมการ IFLA จะทำให้ห้องสมุดเยลลามันดิผ่านเข้ารอบชิง สิ่งที่น่าสนใจและเป็นบทบาทที่แตกต่างและโดดเด่นก็คือ การที่ห้องสมุดแห่งนี้เป็นห้องสมุดที่ ‘สนับสนุนพหุวัฒนธรรม’ ซึ่งอาจจะแบ่งได้เป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ ประการที่หนึ่ง ในฐานะผู้บอกเล่าเรื่องราวความหลากหลายที่มีทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประการที่สอง ในฐานะพื้นที่บริการที่สนับสนุนสังคมพหุวัฒนธรรม

          ในฐานะผู้บอกเล่าเรื่องราวความหลากหลาย เราได้เห็นการให้ความสำคัญกับเรื่องราวของชนเผ่าพื้นเมืองตั้งแต่การออกแบบตัวอาคารและชื่อของห้องสมุดแห่งนี้ที่แสดงตัวเป็นผู้เล่าเรื่องราวรากเหง้าของท้องถิ่นอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันในแง่ของเนื้อหาสาระอันเป็นแก่นของห้องสมุดเองก็อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวของกลุ่มคนที่เป็นรากเหง้าของพื้นที่

          เมื่อเราพิมพ์คำว่า ‘Aboriginal People’ ในช่องค้นหา ก็จะพบกับหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของชนเผ่าอะบอริจิน มากกว่า 1,900 เล่ม และมีมากกว่า 40 ชิ้นที่พูดถึงชนเผ่าดารุกโดยเฉพาะ

          ไม่ใช่แค่ชนเผ่าพื้นเมืองเท่านั้น ห้องสมุดแห่งนี้ยังให้ความสำคัญกับ ‘คนกลุ่มอื่น’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่น หากเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของห้องสมุดจะเห็นแผนกหนึ่งที่น่าสนใจมาก นั่นคือ  ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและครอบครัว (Local and Family History) บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองที่ไม่ใช่แค่ข้อมูลจากทางการเท่านั้น พวกเขายังเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่า (Oral History) จากความทรงจำของผู้คนในเมืองไว้อีกด้วย

          โปรแกรม Family History Center ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ชาวเมืองลิเวอร์พูลสามารถค้นคว้าประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวของตัวเองโดยมีการรวบรวมบรรดาเอกสารเก่าไว้อย่างเป็นระบบให้ง่ายต่อการสืบค้น เช่น บันทึก การเกิด การตาย การแต่งงาน เอกสารบันทึกการอพยพทางเรือและด่านตรวจคนเข้าเมืองในแต่ละยุค นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงกับเอกสารอื่นทั่วโลกได้ มีทั้งรูปแบบออนไลน์ให้สมาชิกทดลองค้นเองง่ายๆ  และหากไปที่ห้องสมุด ก็จะมีอาสาสมัครช่วยสืบค้นให้

ตัวอย่างรูปภาพครอบครัวหนึ่งที่ถูกถ่ายไว้ในปี 1915
Photo: Liverpool City Library

          ข้อมูลต่างๆ ถูกรวบรวมไว้ใน Family History Databases ฐานข้อมูลพื้นฐานประวัติศาสตร์ครอบครัว ซึ่งมีเครื่องมือในการช่วยสืบค้นมากกว่า 6 ชนิด เช่น Genealogist เว็บไซต์ข้อมูลพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับบประวัติศาสตร์ของอังกฤษตั้งแต่ปี 1127 จะเป็นฐานข้อมูลให้ลูกหลานของผู้อพยพยุคแรกที่เป็นชาวอังกฤษสืบค้นหาต้นตระกูลของตัวเอง และ Find My Past เป็นแหล่งรวบรวมบันทึกกว่าล้านรายการสำหรับชาวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไอร์แลนด์ แคนาดา ในการสืบค้นข้อมูลของครอบครัว

          นอกจากหลักฐานเอกสารข้อมูลทางการแล้ว พวกเขากำลังทำโปรเจ็คที่ท้าทายแนวคิดทางประวัติศาสตร์ด้วยการเก็บบันทึกประวัติศาสตร์บอกเล่า (Oral history) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่ไม่สามารถหาได้จากบันทึกที่เป็นภาพหรือลายลักษณ์อักษร แต่เป็นการเก็บบันทึกข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์จากบุคคลที่เกี่ยวข้องจริงๆ ในเหตุการณ์ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของเมือง และบันทึกไว้ในรูปแบบเครื่องบันทึกเสียง ซึ่งโปรเจกต์นี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐนิวเซาท์เวลส์ ที่ช่วยพัฒนาช่องทางที่ชื่อว่า Amplify เป็นเว็บไซต์ที่เก็บรวบรวมประวัติศาสตร์บันทึกคำสัมภาษณ์ที่สำคัญๆ มาให้อาสาสมัครช่วยลงเสียง รวบรวมจัดหมวดหมู่และเผยแพร่ให้ผู้คนได้เข้ามาฟังประวัติศาสตร์ผ่านการได้ยิน ได้ฟัง

          นอกจากประวัติศาสตร์ของ ‘คน’ แล้ว ประวัติศาสตร์ของ ‘เมือง’ ในฐานะวัตถุพยานแห่งการดำรงอยู่ของชุมชนก็ได้รับการอนุรักษ์ รักษา และบอกเล่าเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดแห่งนี้เช่นกันผ่านการจัดแสดงใน Liverpool Regional Museum พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงวัตถุของเมืองที่สะท้อนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม มรดกทางวัฒนธรรม และคนของเมือง โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นที่เก็บรักษาวัตถุทางประวัติศาสตร์กว่า 28,000 ชิ้นอยู่ในช่วงตั้งแต่ปี 1800 จนถึงปัจจุบัน

ภาพตัวอย่างการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
Photo: Liverpool City Library

          ห้องสมุดแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่บริการและสนับสนุนสังคมพหุวัฒนธรรมโดยมีแผนกบริการเฉพาะที่ชื่อว่า ‘Multicultural Services And Community Languages’ ไว้คอยบริการประชาชน

          การบริการในส่วนนี้ประกอบไปด้วย 7 งานบริการ นั่นคือ การเรียนภาษาอังกฤษที่รวบรวมหนังสือและสื่อต่างๆ เพื่อการสอบวัดระดับภาษา โปรแกรม Read in your Language ที่มีทั้งหนังสือ ดีวีดี หนังสือพิมพ์ แมกกาซีน และสื่อดิจิทัลสำหรับภาษาต่างๆ ถึง 19 ภาษา ส่วนใหญ่เป็นภาษาที่ประชากรในเมืองลิเวอร์พูลใช้ และยังมีช่องทางให้สืบค้นหนังสือได้ในภาษาของตนเองด้วย รองรับภาษากว่า 43 ภาษา โดยจะมีแบบฟอร์มให้กรอก และแนะนำเว็บไซต์ที่มีประโยชน์ด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ระดับสภาเมืองลิเวอร์พูลไปจนถึงหน่วยงานรัฐบาลกลาง

          นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนพหุวัฒนธรรมโดยเฉพาะ พบเจอได้ในหมวดหมู่ของ Multicultural Events ซึ่งมีอยู่สองกิจกรรมเด่นๆ ที่ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม คือ Conversation Café กับ Social Board Games กิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำในห้องสมุดแห่งนี้เพื่อให้ชาวเมืองมาพบปะ พูดคุย ทำกิจกรรม เล่นเกมด้วยกัน คล้ายลักษณะของกิจกรรมละลายพฤติกรรม แถมยังรองรับผู้ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ด้วย

Photo: Liverpool City Library

          ทางห้องสมุดยังร่วมกับ SEWA Australia องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1997 เพื่อทำงานช่วยเหลือชุมชนผู้อพยพหรือชุมชนที่มีความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรม ในการให้คำปรึกษาด้านต่างๆ อีกด้วย

          ความเป็นพหุวัฒนธรรมของออสเตรเลียไม่ได้ส่งเสียงแต่เพียงว่า นี่คือคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมเท่านั้น การที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ห้องสมุดประชาชนเข้ามาตอบรับนโยบายนี้เนื่องจากในแง่หนึ่ง ระบบเศรษฐกิจของประเทศนี้ต้องพึ่งพาแรงงานมีทักษะจากต่างประเทศอยู่เสมอ แนวคิดเรื่องพหุวัฒนธรรม จึงเปรียบเสมือนคำเชิญต้อนรับแรงงานและผู้อพยพ ผู้ซึ่งสุดท้ายจะกลายมาเป็นพลเมืองที่ช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า

          จึงไม่แปลกใจที่จะมีผลสำรวจออกมาว่า ประชาชนชาวออสเตรเลียกว่า 85% มองว่าพหุวัฒนธรรมส่งผลดีต่อประเทศ และมีงานวิจัยยืนยันตรงกันว่าความเป็นพหุวัฒนธรรมมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง

          รายงานจาก The McKell Institute ชี้ให้เห็นความสำคัญของเศรษฐกิจออสเตรเลียที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการอพยพเข้ามาของคนจากประเทศต่างๆ ในออสเตรเลียว่า จำนวนผู้อพยพที่เข้ามาในปี 2014-2015 จะมีส่วนช่วยเพิ่มงบประมาณให้ประเทศถึง 10 พันล้านดอลลาร์ในอีก 50 ปีข้างหน้า ผู้เสียภาษีที่เป็นผู้อพยพมีส่วนสนับสนุนรายได้ส่วนบุคคลรวมกันกว่า 84 พันล้านดอลลาร์ในปี 2014 และผู้อพยพดึงเงินทุนจากประเทศต้นทางเข้ามาในออสเตรเลียและมีผลกระทบทางการคลังที่เป็นบวก 12.4 พันล้านดอลลาร์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

          ห้องสมุดเยลลามันดิ อาจไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือเป็นหัวใจของนโยบายรัฐ ที่แห่งนี้อาจจะเป็นแค่ห้องสมุดแห่งหนึ่งในร้อยในพันของประเทศ แต่การได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลห้องสมุดประชาชนของ IFLA ก็ถือว่าได้รับหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องราวให้ทั่วโลกได้เห็นการพัฒนาของออสเตรเลียและความเข้มแข็งของประเทศที่ต้องบริหารประชากรที่มีความหลากหลาย

          และแน่นอนว่า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในสังคมประชาธิปไตยรัฐบาลต้องพร้อมจะยอมรับผิด ขอโทษประชาชน ปรับปรุงนโยบาย โอบรับความหลากหลาย และรับฟังเสียงของทุกคนในประเทศ

วิดีโอแนะนำห้องสมุดเยลลามัน


ที่มา

เว็บไซต์ Multicultural NSW (Online)

เว็บไซต์ Liverpool City Library (Online)

บทความ “LIVERPOOL CIVIC PLACE | FJCSTUDIO” จาก architecture.com.au (Online)

บทความ “Liverpool’s civic centre reaches milestone” จาก architectureau.com (Online)

บทความ “ข่าวสารความรู้ออสเตรเลียประกาศยุทธศาสตร์การศึกษาปฐมวัยเพื่อเด็กอะบอริจิน” จาก (Online)

บทความ “Sydney’s Yellamundie library among the world’s most beautiful as finalists for annual award revealed” จาก (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก