นิยายวาย เพิ่มจุดขายให้ห้องสมุด

1,013 views
7 mins
August 23, 2021

          คุณเคยรู้สึกมั้ยคะ ว่าสถิติการใช้หนังสือในห้องสมุดของคุณลดฮวบ ทั้งการยืมออกนอกห้องสมุดและการใช้อ่านภายในห้องสมุด นั่นอาจมาจากปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการหันไปให้ความสนใจทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ จำพวกหนังสือ วารสาร บทความอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น หรือเป็นเพราะหนังสือที่มีในห้องสมุดของคุณ แม้มีอยู่มากมายก็จริง แต่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ หรือจะด้วยทิศทางความสนใจของผู้ใช้บริการเปลี่ยนไปจนหนังสือในห้องสมุดไม่ตอบโจทย์พวกเขา

          วันนี้ จะมาแนะนำหนังสืออีกกลุ่มหนึ่งซึ่งสามารถเพิ่มจุดขายให้ห้องสมุดได้ค่อนข้างมากทีเดียวค่ะ นั่นคือ หนังสือในกลุ่มที่เราเรียกกันว่า ‘นิยายวาย’ หรือ ‘Yaoi’ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในยุคปัจจุบัน ทั้งรูปแบบของนวนิยายที่เป็นตัวเล่ม รวมถึงละครโทรทัศน์ที่เรียกกันด้วยศัพท์วัยรุ่นยุคนี้ว่า ซีรีส์

          นวนิยายประเภทนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักในอีกรูปแบบหนึ่ง ความรักที่ไม่มีคำว่าเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีรูปแบบชัดเจน ตายตัว ในเรื่องเราจะเรียกตัวละครนำฝ่ายชายว่า “พระเอก” เรียกตัวละครนำที่เป็นผู้ชายแต่แสดงออกว่าเป็นฝ่ายรับความรักเหมือนฝ่ายหญิงในนวนิยายทั่วไปว่า “นายเอก”

          เท่าที่สังเกตดูจากการให้บริการ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นนักศึกษาหญิง จะให้ความสนใจกับนิยายวายมากเป็นพิเศษ การจัดหานิยายวายส่วนใหญ่จะมาจากการ request ของผู้ใช้บริการที่เป็นนักศึกษา ซึ่งในช่วงแรกๆ เราตัดสินใจค่อนข้างลำบาก ด้วยความที่เรามองว่าเนื้อหาอาจไม่ค่อยเหมาะสม จนกระทั่งเราได้มีการพูดคุยกับน้องๆ ที่แนะนำหนังสือกลุ่มนี้เข้ามาถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ทั้งในแง่ของค่านิยม และเรื่องราวบางฉากที่กลุ่มนักอ่านเรียกกันว่า “เอ็น ซี (nc)” หรือฉากบรรยายบทอัศจรรย์ แสดงการร่วมรักของตัวละครในเรื่อง

          เราได้คำตอบจากเด็กๆ เจนแซดว่า “พวกหนูไปอ่านประสบการณ์เกย์ในเว็บไซต์ชาวสีม่วง ได้อารมณ์โจ๋งครึ่มกว่าในนิยายพวกนี้ตั้งเยอะค่ะ” ทำให้เราตัดสินใจทลายกรอบที่ใครไม่รู้ตั้งขึ้น แล้วซื้อนิยายวายเล่มแรกมาให้บริการในห้องสมุด นั่นคือเรื่อง “บังเอิญรัก” ซึ่งถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์ที่โด่งดังในยุคนั้น (พ.ศ. 2561) ปรากฏว่ายอดการยืมและการจองใช้ต่อ มีความต่อเนื่องยาวนานจนกระทั่งซีรีส์จบไปเป็นเดือน

          นั่นเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของห้องสมุดของเรา ไม่เคยมีหนังสือหรือนวนิยายเล่มใดที่สร้างปรากฏการณ์อย่างนี้มาก่อน หนังสือเรื่องนี้ไม่เคยกลับมาวางอยู่ในชั้นปกติตามหมวดหมู่นวนิยายที่ควรเป็นเลย เพราะเมื่อได้รับการคืนตัวเล่มแล้ว ระบบจะระบุว่า “หนังสือเล่มนี้ได้รับการจอง โดย…(ชื่อผู้จอง) กรุณาเก็บไว้ที่ชั้นหนังสือจองเพื่อรอให้ผู้ใช้บริการมารับ” และผู้ใช้บริการที่ยืมออกไป ต้องพยายามอ่านให้จบภายใน 7 วัน เพราะคุณจะไม่สามารถยืมหนังสือเล่มนี้ต่อได้อีกครั้ง เนื่องจากมีผู้จองใช้ต่อจากคุณที่รออยู่

          นี่แหละค่ะ นิยายวายเล่มแรกของห้องสมุดเรา ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ และทำให้มีกระแสการเสนอซื้อนิยายวายเรื่องต่อๆ มาเข้าสู่ห้องสมุดอยู่เรื่อยๆ เราจัดให้นิยายวายเหล่านี้อยู่ในหมวดหนังสือตามกระแส ที่มีกระแสความสนใจของผู้ใช้บริการค่อนข้างมาก

          นิยายวายเรื่องต่อมาที่เป็นกระแสสูงสุดของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คือ “เพราะเรา..คู่กัน” ซึ่งเป็นกระแสความนิยมมาตั้งแต่ก่อนนำไปสร้างเป็นซีรีส์ จนกระทั่งซีรีส์ออกอากาศทางช่อง GMM 25 ยิ่งทำให้กระแสของนิยายเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น มีสถิติการยืมและจองใช้ต่อเป็นเวลานาน หนังสือทั้ง 2 เล่มในชุดนี้ไม่ถูกจัดเก็บเข้าชั้นหนังสือเป็นระยะเวลายาวนานกว่าครึ่งปี แม้ว่าซีรีส์จะมีการรีรันเป็นรอบที่ 3 แล้ว

          กระแสของนิยายวายยังไม่ยอมลดลงง่ายๆ ประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง กับนิยายวายรักหวานละมุนของพระเอกมาดเก๊กกับนายเอกน่าแกล้ง ท่ามกลางบรรยากาศขุนเขา โรงเรียนบนดอย นักเรียนตัวน้อยน่ารัก อย่างเรื่อง “นิทานพันดาว” ที่เรียกเรตติ้งตั้งแต่นิยายยังไม่ลงจอ จนกระทั่งซีรีส์จบลงไป จนผู้แต่งทนกับกระแสความดังของนิยายและซีรีส์ไม่ไหว ต้องเขียนภาคพิเศษเพิ่ม

          นอกจากนี้ยังมีนิยายวายเรตติ้งดีอีกหลายเรื่องที่เราได้จัดหาเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น เดือนเกี้ยวเดือน, ปลาบนฟ้า, ดาวในน้ำ, เดือนอิงดอย, ด้ายแดง, TharnType The Series, Dark Blue Kiss, เขามาเช็งเม้งข้างหลุมศพผม, ฤดูร้อนในช้อนหวานเย็น, ฉลามไม่กินเนื้อสัตว์, นับสิบจะจูบ ฯลฯ

นิยายวาย เพิ่มจุดขายให้ห้องสมุด

          ทุกครั้งที่มีโอกาสจัดนิทรรศการหรือจัดแสดงหนังสือนวนิยายวายของห้องสำนักวิทยบริการ เมื่อนั้นมักจะได้รับความสนใจจากผู้ใช้บริการค่อนข้างมาก จะได้ยินเสียงตอบรับทำนองว่า มีเรื่องนี้แล้วเหรอ มีเรื่องนี้ด้วยหรือ โดยระหว่างการจัดแสดง ผู้ใช้บริการจะสนใจและหยิบหนังสือที่จัดแสดงมาใช้บริการยืม จนเจ้าหน้าที่ต้องคอยหาตัวเล่มหนังสือมาเติมไว้ตลอด เพื่อไม่ให้ชั้นแสดงหนังสือโล่งจนเกินไป แต่กระนั้นก็ยังไม่ทันต่อความต้องการอ่านของผู้ใช้บริการอยู่นั่นเอง ซึ่งโอกาสที่เราใช้ในการจัดนิทรรศการดังกล่าว ได้แก่ วันวาเลนไทน์ (14 กุมภาพันธ์) หรือในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ – LGBTQ Pride Month ในเดือนมิถุนายน

          อย่างไรก็ดี มีผู้ใช้บริการบางกลุ่มที่ยังปฏิเสธการอ่านนวนิยายประเภทนี้อยู่ อาจด้วยอายุ วัย หรือค่านิยมเดิมๆ ทำให้ยังไม่เปิดใจรับนิยายประเภทนี้ เรามีโอกาสถามผู้ใช้บริการประเภทบุคลากรหญิงวัยกลางคนท่านหนึ่ง ที่มักจะมาหยิบยืม ถามหา และติดตามนิยายวายทุกครั้งที่มีโอกาส ว่าทำไมท่านถึงได้ชื่นชอบและหลงใหลการอ่านนวนิยายประเภทนี้นัก

          คำตอบของท่านทำให้เราเลื่อมใสในความเป็นแม่ของท่านนัก ท่านตอบว่า พี่มีลูกชายอยู่สองคน กำลังจะเข้าสู่วัยรุ่น พี่รู้มาว่านิยายวายเป็นนิยายที่วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งนิยมอ่าน ลูกพี่กำลังจะเป็นวัยรุ่น พี่เลยอยากลองตามติดกระแสวัยรุ่นเจนนี้ มันทำให้พี่ได้เรียนรู้และตั้งคำถามขึ้นในใจของพี่ว่า ถ้าวันหนึ่งลูกชายเรามีความรัก มีแฟน แต่ว่าที่ลูกสะใภ้พี่อาจไม่ได้เป็นผู้หญิงเสมอไป พี่เลยต้องการรีเสิร์ชความรู้สึกของพ่อแม่ในนวนิยายประเภทนี้ ว่าแต่ละเรื่องเขารู้สึกและรับมือยังไงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

          จากคำตอบของผู้ใช้บริการท่านนี้ สะท้อนให้เราเห็นได้เป็นอย่างดีว่า หนังสือทุกประเภท ล้วนมีบางสิ่งให้เราเรียนรู้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจับแง่มุมใดในเนื้อหามาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตเรา ดังปรัชญาวิชาชีพบรรณารักษ์ที่ว่า หนังสือทุกเล่มมีประโยชน์ (ประคอง บุญทน, 2545)

          การจัดหาและให้บริการนิยายวาย นอกจากจะทำให้สถิติการใช้บริการทรัพยากรประเภทตัวเล่มเพิ่มมากขึ้น และการจัดหาหนังสือตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้น ยังทำให้เราได้พิสูจน์ปรัชญาวิชาชีพที่ไม่มีวันตายของบิดาแห่งห้องสมุด Ranganatan (ประคอง บุญทน,2545,น.5)  ในข้อที่ว่า หนังสือทุกเล่มมีคนอ่าน และคนทุกคนมีหนังสือที่ตัวเองอยากอ่าน การที่บรรณารักษ์อย่างเรา สามารถนำสองสิ่งมาแมตช์กันให้ได้ นับได้ว่าเป็น Passion อย่างหนึ่ง

          สำหรับข้าพเจ้าเอง นับเป็นความภูมิใจอย่างยิ่งเมื่อผู้ใช้บริการไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร หรือบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยที่เข้ามาใช้บริการ และต้องการค้นหาหนังสือที่เจ้าตัวต้องการอ่าน หากข้าพเจ้าได้มีส่วนช่วยในการค้นหาจนกระทั่งผู้ใช้บริการได้พบหนังสือที่ตัวเองต้องการ สีหน้าเวลาที่ผู้ใช้บริการได้พบกับหนังสือหรือทรัพยากรอื่นๆ ที่พวกเขาต้องการ สร้างความสุข ความภาคภูมิใจให้กับข้าพเจ้าอย่างยิ่ง อย่างที่วัยรุ่นสมัยนี้เค้าเรียกกันว่า “ฟิน” นั่นแหละค่ะ


อ้างอิง

ประคอง บุญทน (2545). ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์.อุบลราชธานี : มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก