โลกหนังสือและการอ่าน สองปีใต้เงาโควิด

15 views
April 18, 2022

COVID-19 แพร่ระบาดต่อเนื่องยาวนานกว่าสองปี อุตสาหกรรมหนังสือได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งในแง่ของรายได้ ความอยู่รอดทางธุรกิจ รวมไปถึงอาชีพนักเขียนนักแปล ธุรกิจสายส่ง และร้านหนังสือ

ย้อนกลับไปดูข้อมูลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2020 อุตสาหกรรมหนังสือไทยหดตัวลง 30-40% มูลค่าตลาดลดเหลือ 12,000 ล้านบาท (จากตัวเลขคาดการณ์ 18,000 ล้านบาท) โดยส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ได้แก่ ช่องทางการจำหน่ายผ่านร้านหนังสือ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านหน้าร้าน และการจัดเทศกาลหนังสือ แต่การขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์มีการเติบโตสวนทาง คือเพิ่มขึ้นถึง 30% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงเหวี่ยงของหนังสือบางประเภทที่ได้รับความนิยมสูง เช่น นิยายวาย หนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง และกลุ่มประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ร้านหนังสือทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงล็อกดาวน์ ยอดขายหน้าร้านในยุโรปลดลง 70-90% ในสหรัฐอเมริกาลดลงเกือบ 30% แต่ร้านหนังสือหลายแห่งได้ปรับตัวตามสถานการณ์ทำให้ธุรกิจยังยืนอยู่ได้ มีการจำหน่ายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ หรือระบบ Click & Collect ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกซื้อหนังสือจากหน้าเว็บ แล้วไปรับตัวเล่มได้ที่ร้าน บางประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี ภาครัฐมีนโยบายอุดหนุนวงการหนังสือด้วยการทำแคมเปญ Cultural Bonus มอบเงิน 500 ยูโรให้แก่วัยรุ่นที่อายุครบ 18 ปี เพื่อนำไปใช้จ่ายกิจกรรมทางวัฒนธรรม รวมถึงการซื้อหนังสือ

อุตสาหกรรมหนังสือของประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่และยังมีตัวเลขยอดขายหนังสือเป็นบวก ได้แก่ ประเทศอังกฤษ มียอดขายเพิ่มขึ้น 7% สหรัฐอเมริกา 9.7% ญี่ปุ่น 4.8% ขณะที่ตลาดยุโรปนั้น มียอดขายรวมลดลงเพียง 2-5% (จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะลดลง 15-20%)

สถานการณ์โควิดเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้ทิศทางของตลาดหนังสือมุ่งสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ในอังกฤษ มียอดขายอีบุ๊กเพิ่มขึ้น 24% และหนังสือเสียงเพิ่มขึ้น 37% ในสหรัฐอเมริกา มียอดขายอีบุ๊กเพิ่มขึ้น 18% และหนังสือเสียงเพิ่มขึ้น 16.5% กิจกรรมต่างๆ เช่น เทศกาลหนังสือ หรืองานแจกลายเซ็นนักเขียน ซึ่งเคยจัดตามศูนย์ประชุมหรือร้านหนังสือ ก็หันไปจัดแบบ Virtual ผ่านแพลตฟอร์มยอดนิยมเช่น Zoom

ปี 2021 หนังสือกระดาษยังคงเป็นที่นิยมมากกว่า E-book การสำรวจพบว่านักอ่าน 66% ยังเชื่อว่าหนังสือกระดาษมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการเติมเต็มประสบการณ์การอ่านที่ดีกว่าอีบุ๊ก ข้อมูลระบุว่าตลาดหนังสือกระดาษมีมูลค่าราว 22.6 พันล้านดอลลาร์ ส่วนตลาด E-book มีมูลค่าประมาณ 2.04 พันล้านดอลลาร์ นับเป็นสัดส่วนตัวเลขที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ควรระลึกไว้ด้วยว่าสถานะของหนังสือเล่มหรือหนังสือกระดาษนั้นมักได้รับความนิยมไม่เสื่อมถอยในประเทศซึ่งมีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็ง เช่นประเทศในยุโรปเหนือ ยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ และ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ดังตัวอย่างสถิติในรายงานของสมาคมผู้จัดพิมพ์หนังสือแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (AAP) ซึ่งระบุว่าในปี 2020 หนังสือเล่มมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกินกว่า 60%

วรรณกรรมเยาวชนเป็นหนังสือประเภทหนึ่งซึ่งได้รับอานิสงส์จากการปิดโรงเรียนในช่วงล็อกดาวน์ เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองสรรหาหนังสือให้บุตรหลานอ่านนอกเหนือจากตำราเรียน ในอังกฤษ นิยายภาพเรื่อง ‘The Boy, the Mole, the Fox and the Horse’ ติดอันดับหนังสือขายดี ในญี่ปุ่น ความดังแบบถล่มทลายของมังงะเรื่อง ‘Demon Slayer’ ช่วยปลุกตลาดหนังสือให้กลับมาคึกคัก ส่วนที่ออสเตรเลีย หนังสือเด็กชุด ‘Bluey’ ที่สร้างชื่อมาจากการ์ตูนโทรทัศน์ ติดอันดับหนังสือขายดี 10 อันดับแรก

Global English Editing (GEE) ได้รวบรวมสถิติว่าด้วย ‘พฤติกรรมการอ่านทั่วโลกประจำปี 2021’ พบข้อมูลที่น่าสนใจระคนประหลาดใจ อาทิ ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศที่ใช้เวลาอ่านมากที่สุดต่อสัปดาห์ 3 อันดับแรกคือ อินเดีย ไทย และจีน แม้ว่าอัตราการเข้าถึงห้องสมุด หนังสือพิมพ์ และคอมพิวเตอร์ ของประเทศทั้งสามจะไม่ได้อยู่ในอันดับสูงเป็นลำดับต้นๆ ก็ตาม จีนเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรซึ่งอ่านหนังสือเป็นประจำทุกวันมากที่สุดถึง 36% ชาวเกาหลี 12% เชื่อว่าการอ่านหนังสือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้สามารถพัฒนาตนเองได้ พวกเขาจึงไม่ลังเลที่จะใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อหนังสือ

รายงานของ GEE ยังระบุว่า ชาวยุโรปใช้เวลาอ่านมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ประเทศที่มีสัดส่วนหนอนหนังสือมากที่สุดในยุโรป 3 ลำดับแรกคือ ฟินแลนด์ โปแลนด์ เอสโตเนีย ส่วนชาวอเมริกันมีอัตราการอ่านเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ก็มีคนที่ไม่อ่านหนังสือเลยตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาถึง 23% และคนรุ่นใหม่อ่านหนังสือเพียง 6.6 นาทีต่อวันเท่านั้น

มองในภาพรวมทั่วโลก คน Gen Y อ่านหนังสือมากกว่าช่วงวัยอื่น และ 53% นิยมใช้บริการห้องสมุด Gen Z ชอบเลือกอ่านหนังสือตามที่พบจากจากโซเชียลมีเดีย กลุ่ม Baby Boomers มักเลือกอ่านหนังสือที่เป็น Best Seller ในขณะที่ Gen X อ่านข่าวสารออนไลน์มากที่สุด ส่วนหนังสือที่คนทุกวัยนิยมอ่านมากที่สุดคือประเภทเรื่องแต่ง หรือ Fiction ทั้งที่เป็นนิยายและเรื่องสั้น

ผลสำรวจในหลายประเทศระบุว่าคนใช้เวลาอ่านหนังสือมากขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ เหตุผลหลักในการอ่านนอกจากเพื่อฆ่าเวลาหรือความเพลิดเพลินแล้ว ยังต้องการหาความรู้และพัฒนาทักษะตัวเองในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในยุคพลิกผันอีกด้วย อย่างไรก็ดี หากไม่พิจารณาแบบด้านเดียวจนเกินไป การล็อกดาวน์อาจเป็นเหตุให้คนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ก็ยังมีกิจกรรมอื่นอีกมากที่ดึงดูดความสนใจหรือทดแทนการอ่านได้ เช่น การดูหนัง ฟังเพลง ทำสวน ทำอาหาร และกิจกรรมการเรียนรู้อื่นๆ ดังนั้น คนที่อ่านหนังสือเพิ่มขึ้นอาจจะมีอยู่จริง เพียงแต่จะเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับกิจวัตรอื่น ยังไม่มีตัวเลขที่ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจน

แต่ที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนแน่นอนแล้วก็คือ COVID-19 ทำให้อัตราการรู้หนังสือในประเทศกำลังพัฒนาลดลง เด็กจำนวนมากมีคุณภาพการเรียนรู้ถดถอยเนื่องจากการปิดโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีฐานะยากจนและไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี โดยรวมแล้วเด็กทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านคนตกอยู่ในภาวะที่มีระดับความสามารถในการเรียนรู้ต่ำกว่าเกณฑ์

โลกหนังสือและการอ่าน สองปีใต้เงาโควิด


ที่มา

บทความ “สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯผุดไอเดีย “อ่านเท่” ปั้นเทรนด์รักการอ่าน ปลุกอุตฯหนังสือ” จาก bangkokbiznews.com (Online)

บทความ “Federation of European Publishers’ New COVID-19 Impact Report: Europe Closes 2020 Down 2 to 5 Percent” จาก publishingperspectives.com (Online)

บทความ “Italy urged to extend ‘cultural bonus’ payments to save bookshops” จาก thelocal.it (Online)

บทความ “AAP DECEMBER 2020 STATSHOT REPORT: PUBLISHING INDUSTRY DOWN 8.5% FOR MONTH; UP 0.1% FOR CALENDAR 2020” จาก publishers.org (Online)

บทความ “COVID-19: Why book sales have soared and what we’re reading” จาก weforum.org (Online)

บทความ “The impact of the pandemic on publishing in Europe” จาก aldusnet.eu (Online)

บทความ “Global Reading Habits In 2021” จาก princh.com (Online)

บทความ “World Reading Habits in 2021” จาก geediting.com (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก