หากวงการภาพยนตร์มีรางวัลออสการ์ที่คนทั่วโลกเฝ้าจับตา วงการห้องสมุดเองก็มีการมอบรางวัลให้ห้องสมุดและบุคลากรที่มีความโดดเด่นในแต่ละปีเช่นกัน
หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของวงการห้องสมุดนานาชาติ คือการประกาศรางวัลห้องสมุดยอดเยี่ยมประจำปีของสมาคมต่างๆ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างความภาคภูมิใจแก่ห้องสมุดและบุคลากรที่ได้รับรางวัล แต่ผลงานที่โดดเด่นเหล่านี้ยังสามารถเป็นแบบอย่างที่ดี สร้างแรงบันดาลใจแก่เพื่อนร่วมวงการ ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน เพื่อพัฒนาตัวเองและวงการห้องสมุดให้ดียิ่งขึ้น
บทความนี้จะพาไปสำรวจรางวัลเด่นๆ จากทั่วโลก โดยฉายภาพให้เห็นว่ารางวัลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างไร มีเกณฑ์การคัดเลือกแบบไหน พร้อมตัวอย่างที่น่าสนใจของห้องสมุดและบุคลากรที่ได้รับรางวัลในแต่สาขา
จากการรวบรวมข้อมูลรางวัลห้องสมุดของสถาบันต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ สามารถจำแนกออกเป็น 5 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) วงการห้องสมุด 2) อาคาร 3) บรรณารักษ์ 4) นวัตกรรม 5) สื่อสร้างสรรค์ โดยจุดเด่นของรางวัลแต่ละประเภทมีดังต่อไปนี้
1. วงการห้องสมุด
หนึ่งในรางวัลทรงเกียรติที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้แก่ รางวัลห้องสมุดประชาชนยอดเยี่ยมประจำปี IFLA/Systematic Public Library of the Year จัดโดยสมาคม IFLA (The International Federation of Library Associations and Institutions)
รางวัลนี้ริเริ่มขึ้นในปี 2014 มอบรางวัลแก่ห้องสมุดทั่วโลกที่เปิดใหม่ในแต่ละปี โดยมีเกณฑ์การพิจารณา 6 ข้อ ได้แก่ 1. ความกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น 2. คุณภาพด้านสถาปัตยกรรม 3. ความยืดหยุ่น 4. ความยั่งยืน 5. พื้นที่การเรียนรู้ และ 6. การพัฒนาด้านดิจิทัล
ผู้ชนะรางวัล IFLA ครั้งล่าสุด ในปี 2019 ได้แก่ ห้องสมุดกลางเฮลซิงกิ โอดิ (Oodi Helsinki Central Library) ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งสามารถดึงดูดผู้ใช้งานได้กว่า 2 ล้านคนในปีแรก ถูกออกแบบให้เป็นห้องนั่งเล่นแห่งเมืองเฮลซิงกิ ที่ตอบโจทย์การใช้งานของประชาชนทุกเพศทุกวัย มีพื้นที่ใช้งานเอนกประสงค์ มีบริการหลากหลาย และมีกิจกรรมที่สร้างความประหลาดใจในทุกวัน
นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม ด้วยโครงสร้างอาคารที่เน้นงานไม้ และมีต้นไม้จริงๆ ตั้งอยู่ทั่วบริเวณห้องสมุด เพื่อล้อกับอัตลักษณ์ของฟินแลนด์ที่เป็นประเทศที่มีทรัพยากรป่าไม้อุดมสมบูรณ์
อีกหนึ่งรางวัลที่น่าสนใจของ IFLA ได้แก่ รางวัลห้องสมุดสีเขียว (IFLA Green Library Award) มอบให้ห้องสมุดที่มีบทบาทโดดเด่นในการสื่อสารพันธกิจของห้องสมุดในด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม จุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดห้องสมุดสีเขียว ทั้งในแง่ตัวอาคาร การบริหารทรัพยากรสารสนเทศ การอนุรักษ์ทรัพยากรและพลังงาน และมีการรณรงค์เผยแพร่กิจกรรมห้องสมุดสีเขียวไปสู่ประชาคมโลก
ผู้ชนะรางวัลห้องสมุดสีเขียวครั้งล่าสุด (2020) ได้แก่ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีความโดดเด่นในแง่ต่างๆ เช่น การรณรงค์เผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมีการตรวจสอบติดตามการใช้พลังงาน ทรัพยากรกระดาษ และการใช้น้ำ
2. อาคาร
สาขารางวัลที่เน้นด้านการออกแบบตัวอาคารห้องสมุด หลักเกณฑ์การพิจารณาโดยรวม มุ่งเน้นไปที่ห้องสมุดที่มีความโดดเด่นในเชิงสถาปัตยกรรม มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง มีดีไซน์ร่วมสมัย การออกแบบก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่การใช้งาน หรือช่วยตอบโจทย์ในด้านการบริการ
ผู้จัดรางวัลนี้อาจเป็นสมาคมที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดโดยตรง เช่น ALIA (ออสเตรเลีย) หรืออาจเป็นรางวัลที่สมาคมห้องสมุดจัดร่วมกับสมาคมสถาปนิก เช่น AIA/ALA Library Building Awards (สหรัฐอเมริกา) หรือรางวัลด้านสถาปัตยกรรม/การออกแบบโดยเฉพาะ ที่ห้องสมุดสามารถเสนอชื่อเข้าร่วมประกวดได้ เช่น INDE Awards (ออสเตรเลีย)
รางวัลแรกที่ขอหยิบยกมานำเสนอคือ AIA/ALA Library Building Awards ล่าสุดเมื่อปี 2020 ได้ประกาศรายชื่อห้องสมุด 4 แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่มีความโดดเด่นในด้านการออกแบบ และสะท้อนคุณค่าของห้องสมุดออกมาในมิติต่างๆ เช่น วัตถุประสงค์การใช้งาน สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และประวัติศาสตร์ ได้แก่
1. ห้องสมุดกลาง บิลลี จีน คิง (Billie Jean King Main Library) เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ออกแบบโดยบริษัท Skidmore, Owings & Merrill
2. ห้องสมุดสาธารณะ เอ็ดมันตัน (Edmonton Public Library – Capilano Branch) เมืองเอ็ดมันตัน รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ออกแบบโดยบริษัท Patkau Architects
3. ห้องสมุด Independence Library and Apartments เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ออกแบบโดยบริษัท John Ronan Architects
4. ห้องสมุด Northtown Branch Library and Apartments เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ออกแบบโดยบริษัท Perkins and Will
อีกรางวัลที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ Australian Library Design Awards เป็นรางวัลที่มอบแก่ห้องสมุดประเภทต่างๆ ในประเทศออสเตรเลีย ที่มีความโดดเด่นด้านการออกแบบที่คำนึงถึงอนาคต และมีความคิดสร้างสรรค์ ห้องสมุดที่ได้รับรางวัลในปีล่าสุด (2021) ได้แก่ ห้องสมุด Marrickville Library and Pavilion รัฐนิวเซาท์เวลส์
3. บรรณารักษ์
เป็นสาขารางวัลที่มีเจตนารมณ์ในการยกระดับวิชาชีพ ยกย่องเชิดชูบรรณารักษ์ที่ประสบความสำเร็จ หรือมีผลงานโดดเด่น เป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรที่ส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนห้องสมุด
เกณฑ์ที่เป็นจุดร่วมของรางวัลบรรณารักษ์ดีเด่นในเวทีต่างๆ คือการเป็นผู้ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศอย่างเสมอภาค กระตุ้นให้เกิดการใช้บริการและทรัพยากรของห้องสมุด มีผลงานโดดเด่นในด้านบริการชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ส่งเสริมบทบาทและสถานะของห้องสมุดในชุมชน ไปจนถึงการทำให้สาธารณชนตระหนักถึงคุณค่าของห้องสมุด
ตัวอย่างรางวัลบรรณารักษ์ที่น่าสนใจ ได้แก่
– รางวัล LIRT Librarian Recognition Award (สหรัฐอเมริกา) มอบแก่นักการศึกษาในสาขาบรรณารักษ์ศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลปีล่าสุด (2021) ได้แก่ ดร.เมแกน โอคลีฟ คณะสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ (University of Syracuse iSchool) ผู้คร่ำหวอดในวงการบรรณารักษ์ศาสตร์ มีผลงานตีพิมพ์และรายงานวิจัยจำนวนมาก ในหัวข้อคุณค่าและผลกระทบของห้องสมุด การจัดการเรียนรู้สารสนเทศ การวิเคราะห์และการประเมินผลการเรียนรู้
– รางวัล Lemony Snicket Prize (สหรัฐอเมริกา) มอบแก่บรรณารักษ์ที่มีบทบาทโดดเด่นในการฝ่าฟันวิกฤต ผู้ชนะในปี 2020 ได้แก่ ฮีทเธอร์ โอกิลวี บรรณารักษ์หญิงจากห้องสมุดประชาชน Bay County เธอเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยจากพายุเฮอริเคนเมื่อปี 2018 แต่ยังสามารถกอบกู้หนังสือและโสตทัศน์วัสดุต่างๆ ให้กับห้องสมุดชุมชน และช่วยจัดตั้งศูนย์อาสาสมัครฟื้นฟูชุมชน เมื่อห้องสมุดกลับมาเปิดให้บริการแล้ว เธอมีบทบาทในการสานต่อภารกิจของศูนย์ฟื้นฟูฯ จับคู่อาสาสมัครกับโครงการต่างๆ และให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
– รางวัล Aspire Award (อังกฤษ) เป็นรางวัลของสมาคมห้องสมุดและข้อมูลข่าวสาร ประเทศอังกฤษ (CILIP) เปิดโอกาสให้บรรณารักษ์รุ่นใหม่ที่เข้าร่วมสมาคม มีโอกาสเสนอชื่อชิงทุนเพื่อเข้าร่วมงานสัมมนาประจำปี CILIP Conference ในประเทศอังกฤษ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพ
4. นวัตกรรม
สาขารางวัลด้าน นวัตกรรมห้องสมุด สำหรับห้องสมุดที่นำเสนอแนวคิด บริการ หรือการจัดการ ที่มีความแปลกใหม่ สร้างสรรค์ และมีส่วนในการพัฒนาชุมชน หรือยกระดับวงการห้องสมุด
ตัวอย่างรางวัลประเภทนวัตกรรมที่โดดเด่น ได้แก่
– รางวัล นวัตกรรมห้องสมุดดีเด่น EIFL (Electronic Information for Libraries) ทุกๆ ปีจะมีการมอบรางวัลนี้แก่ห้องสมุดในประเทศกำลังพัฒนา โดยพิจารณาจากนวัตกรรมห้องสมุดที่มีความโดดเด่นในด้านการพัฒนาชุมชน หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ทุกปีจะมีการเปลี่ยนหัวข้อไปตามสถานการณ์โลก โจทย์ของรางวัลครั้งล่าสุด ได้แก่ นวัตกรรมจากการรับมือสถานการณ์โควิด-19 มีห้องสมุดจาก 4 ประเทศที่ได้รับรางวัลนี้
1. ลิทัวเนีย – ห้องสมุด Vincas Kudirka Public Library ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ ผลิตที่เปิดประตูแบบไม่ต้องใช้มือจับ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
2. เปรู – ห้องสมุดประชาชนเมืองลิมา (The Main Public Library of Lima in Peru) ให้บริการอ่านหนังสือให้ฟังทางโทรศัพท์ เพื่อสร้างความสุขให้แก่ผู้สูงอายุที่อยู่เพียงลำพังในช่วงล็อกดาวน์
3. แอฟริกาใต้ – เครือข่ายห้องสมุดนครโจฮันเนสเบิร์ก (City of Johannesburg Libraries) เผยแพร่ชุดวิดีทัศน์ผ่านทางแฟนเพจใน Facebook เพื่อทดแทนบริการต่างๆ ของห้องสมุดในช่วงล็อกดาวน์
4. ยูเครน – ห้องสมุดเด็ก เอ. ไกดาร์ (A. Gaidar’ Central City Children’s Library) เมืองเมลิโทพอล มีการจัดชั้นเรียนศิลปะออนไลน์ ชื่อว่า ‘children-teach-children’ ที่ให้เด็กมาเป็นผู้สอนเอง ผ่านสื่อวีดิทัศน์บนช่อง YouTube เพื่อให้พวกเขามีกิจกรรมทำในระหว่างการล็อกดาวน์
– รางวัล Library Change Lives Award มอบแก่ห้องสมุดในสหราชอาณาจักรที่ส่งเสริมความเท่าเทียม ความหลากหลาย และความยุติธรรมในสังคม ผู้ชนะในปี 2018 ได้แก่ ห้องสมุดเมืองกลาสโกว์ จากนวัตกรรมทางสังคมในการคลี่คลายปัญหาแก่ผู้ไร้บ้าน และการให้คำแนะนำทางกฎหมาย เพื่อช่วยปลดหนี้แก่คนชายขอบ
– รางวัล LIRT Innovation in Instruction Award ผู้ชนะในปี 2021 ได้แก่ ห้องสมุด Ingram Library มหาวิทยาลัยเวสต์จอร์เจีย ผู้พัฒนา LibraryDen หลักสูตรการรู้สารสนเทศ (Information Literacy) ที่สามารถให้บริการแก่นักศึกษาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แบบไม่ประสานเวลา เป็นวิธีการที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี เนื้อหาการเรียนรู้จะถูกแยกส่วนแบบพอเหมาะ มีระบบประเมินตนเองท้ายบทที่สามารถสลับชุดคำถามได้
5. สื่อสร้างสรรค์
ห้องสมุดกับหนังสือเป็นของคู่กัน ฉะนั้นจึงขาดรางวัลในสาขานี้ไปไม่ได้ รางวัลที่ปรากฏในเวทีต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นรางวัลสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน บางแห่งไม่จำกัดประเภทรางวัลแค่หนังสือ แต่ยังรวมไปถึงสื่อมัลติมีเดีย เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หนังสือเสียง วิดีโอ
ตัวอย่างรางวัลในประเภทสื่อสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ ได้แก่
– รางวัล ALSC Book & Media Awards ของสมาคมบริการห้องสมุดสำหรับเด็ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในรางวัลเก่าแก่ที่มีประวัติยาวนานนับร้อยปี ปัจจุบันมีการแบ่งหมวดรางวัลหนังสือสำหรับเด็กไว้กว่า 10 หมวด เช่น วรรณกรรมดีเด่นในประเทศ หนังสือภาพ วรรณกรรมภาษาต่างประเทศ สื่อดิจิทัลสำหรับเด็ก และหนังสือเสียงดีเด่น โดยทาง ALSC ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลหนังสือและสื่อดิจิทัลที่ได้รางวัลกว่า 2,000 รายการ เพื่อสนับสนุนบรรณารักษ์ ครู ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็ก ในการค้นหาหนังสือและสื่อดีๆ สำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงเด็กอายุ 14 ปี
– รางวัล สื่อเยาวชนสร้างสรรค์ของ ALA (American Library Association) มีรางวัลหลักชื่อว่า The John Newbery Medal มอบแก่วรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยม โดยผู้ชนะปีล่าสุด (2021) ได้แก่ผลงานเรื่อง ‘When You Trap a Tiger’ โดย เท เคลเลอร์ อีกรางวัลที่ประกาศพร้อมกันคือ Randolph Caldecott Medal มอบแก่หนังสือภาพสำหรับเยาวชยยอดเยี่ยม ได้แก่ผลงานเรื่อง ‘We Are Water Protectors’ โดย มิคาเอลา โกด และแคโรล ลินด์สตรอม
นอกจากรางวัลหลักทั้ง 5 ประเภทที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีรางวัลประเภทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น รางวัลนักการตลาดยอดเยี่ยม ของ Library Journal สำหรับห้องสมุดที่มีผลงานการตลาดสร้างสรรค์ เพื่อเผยแพร่บริการห้องสมุด, รางวัลทรัพยากรข้อมูลดีเด่น ของ CILIP สำหรับทรัพยากรสิ่งพิมพ์และดิจิทัล ที่เกี่ยวกับความรู้ การจัดการข้อมูล ห้องสมุดและสารสนเทศ, รางวัลงานวิจัยห้องสมุด ของ Duke University Libraries สำหรับงานเขียนหรืองานวิจัยของนักศึกษาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้แหล่งข้อมูลในห้องสมุด หรือกระตุ้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรและบริการของห้องสมุด ฯลฯ
ที่มา
American Libraries. 2020 ALA Award Winners. 2020. [Online]
ALIA. Australian Library Design Awards 2021. [Online]
alsc. Book & Media Awards. [Online]
Architect Magazine. AIA/ALA Name 2020 Library Building Award Winners. 2020. [Online]
CILIP. Awards. [Online]
Designing Library. Library design awards. [Online]
Duke University Libraries. Library Research Awards. [Online]
EIFL. ABOUT THE AWARDS. 2021. [Online]
IFLA. IFLA/Systematic Public Library of the Year. [Online]
Library Journal. Library Marketer of the Year Award Nomination Guidelines. [Online]
LIRT. Award Announcements. 2021. [Online]
Cover Photo: James Florio.