‘หนังสือการ์ตูนไม่มีทางตายไปจากโลก’ วรวุฒิ วรวิทยานนท์ แห่งวิบูลย์กิจ

561 views
7 mins
November 26, 2024

          ทันทีที่เสียงกริ่งเลิกเรียนดัง ระหว่างทางกลับบ้าน เด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งรีบเดินไปยังร้านเช่าหนังสือการ์ตูน ซึ่งมักจะตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน นักเรียนหญิงชายต่างจับจองที่ใดสักแห่งของมุมร้าน บางคนมาคืนการ์ตูนเล่มที่อ่านจบ บางคนเช่าเรื่องใหม่ที่เพิ่งออก บางคนนั่งพื้นเปิดอ่านการ์ตูนเล่มที่สนใจ

          สิ่งเหล่านี้เคยเป็นภาพชินตาในวันที่ยุคหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นรุ่งเรือง ร้านเช่าการ์ตูนเปรียบเหมือนร้านเวทมนตร์ที่พร้อมพาเด็กทุกคนไปเผชิญโลกอีกใบ ใบที่มี สำนักพิมพ์ วิบูลย์กิจ ร่วมเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อน โดยมี วุฒิ-วรวุฒิ วรวิทยานนท์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ยืนเคียงข้างวิบูลย์กิจมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม

          สำหรับแฟนการ์ตูนญี่ปุ่น วิบูลย์กิจ เป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้บุกเบิกการ์ตูนญี่ปุ่นแปลไทย โดยเฉพาะการ์ตูนแนวโชเน็น หรือการ์ตูนผู้ชาย ที่มีผลงานในตำนานอย่าง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน, คินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา, GTO คุณครูพันธุ์หายาก, The Fighting ก้าวแรกสู่สังเวียน, FAIRYTAIL แฟรี่เทล ศึกจอมเวทอภินิหาร และอีกมากมาย

          ในฐานะบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ วุฒิเห็นความเปลี่ยนแปลงรอบด้านที่วงการหนังสือการ์ตูนต้องเผชิญ ตั้งแต่การ์ตูนยังไม่มีลิขสิทธิ์ จนถึงวันที่สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย อะไรที่ทำให้เขาไม่เพียงยืนหยัดก้าวผ่านทุกวิกฤตมาได้ แต่ยังปูทางไว้ให้สำนักพิมพ์อื่นๆ เดินตามรอย และเหตุใดเขาจึงเชื่อว่า หนังสือการ์ตูนจะไม่มีทางตายไปจากโลกนี้

วรวุฒิ วรวิทยานนท์ แห่ง วิบูลย์กิจ

เส้นทางคนทำหนังสือ 

          ความสนใจในหนังสือการ์ตูนของวุฒิก่อร่างสร้างตัวในใจเขา ตั้งแต่ครั้งตัวเองยังเป็นนักเรียนชั้นประถม ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จากการที่มีแผงหนังสือเข้ามาตั้งอยู่บริเวณหน้าร้านที่พ่อและแม่ทำงานอยู่ วุฒิจึงได้คลุกคลีกับหนังสือเป็นเรื่องปกติ ประกอบกับยุคนั้นโรงเรียนมีนโยบายส่งเสริมการอ่าน ที่นำพาให้เขากลายเป็นแฟนหนังสือการ์ตูน วีรธรรม และเรียนรู้การฝึกวาดการ์ตูนด้วยตนเอง กระทั่งเมื่อย้ายเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ โลกการอ่านยิ่งเปิดกว้างขึ้น จากรู้จักเฉพาะการ์ตูนไทย ก็ขยับมารู้จักการ์ตูนญี่ปุ่นที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนั้น

          ขณะเดียวกันชีวิตในโรงเรียน เขาก็มักได้รับมอบหมายจากครูให้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวาดเขียน ซึ่งได้มารู้ในภายหลังว่า ทั้งหมดนั้นคือ ‘ทักษะในการทำสื่อ’ และเป็นจุดที่ทำให้เขารู้ตัวว่า ‘อยากจะเป็นคนทำหนังสือ’ วุฒิจึงเลือกเรียนต่อสาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์ การถ่ายภาพและการภาพยนตร์ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ*

          ไม่รู้ด้วยความบังเอิญหรือโชคชะตา รุ่นพี่คณะเดียวกันทำงานอยู่ที่สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ในฐานะนักแปลการ์ตูนญี่ปุ่น เมื่อได้พูดคุยจึงรู้สึกสนใจ จนสุดท้ายวุฒิก็มีโอกาสได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัววิบูลย์กิจ ตั้งแต่วันนั้นจวบจนปัจจุบัน

          เขาออกตัวตั้งแต่เริ่มการสนทนาว่า เขาไม่ใช่ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ หากเป็นหนึ่งในคณะทำงานรุ่นสอง ที่ช่วยเข้าไปเสริมทัพทีมรุ่นบุกเบิกการ์ตูนแปลญี่ปุ่น ที่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในวัยเรียน เดิมทีวิบูลย์กิจเป็นโรงพิมพ์ที่รับพิมพ์งานทั่วไป ก่อนจะมีการจัดทำนิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นขึ้นมาภายใต้ชื่อ ทีวีไลน์ โดยมีเนื้อหาหลักคือการ์ตูนฮีโร่ เช่น อุลตร้าแมน, ไอ้มดแดง และกันดั้ม 

          “เราเข้าไปทำงานกองบรรณาธิการหนังสือการ์ตูนที่วิบูลย์กิจตั้งแต่ยังเรียนอยู่ปี 1 เทอม 2 พอเรียนช่วงเช้าเสร็จ ช่วงบ่ายเลิกเรียนเราก็จะมาที่สำนักพิมพ์ ตอนนั้นสำนักพิมพ์ยังอยู่ที่สุขุมวิท 62 เป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ มีทีมงาน 4-5 คน แต่อบอุ่นและเต็มไปด้วยคนชอบการ์ตูนญี่ปุ่นเหมือนกัน 

          “ตัวเราเองก็มีพัฒนาการในการทำงานที่ได้ทั้งจากที่เรียนมาและได้เจอสิ่งอื่นๆ หน้างานด้วย อย่างการนำเอาภาพหรือต้นฉบับการ์ตูนญี่ปุ่นมาทำเป็นภาษาไทย ที่จะมีเรื่องของการลอกลายเส้นบ้าง มีเพื่อนที่ทำภาพสีบ้าง และก็มีแปลเป็นไทย เอาตัวหนังสือมาใส่ช่องคำพูด ทุกขั้นตอนทำด้วยมือหมดเลย ก็เป็นความสนุกของการทำงานที่เรียกได้ว่าเข้ามาสู่การเป็นคนทำหนังสือการ์ตูน” 

          หลังจากนั้น วุฒิได้รับมอบหมายให้ขยับไปดูแลงานที่ใหญ่ขึ้น ท่ามกลางการทำหนังสือการ์ตูนที่เปลี่ยนรูปแบบไปเช่นกัน จากทำขนาดใหญ่เท่า A4 ก็ปรับให้เล็กลงเป็น A5 ในรูปแบบพ็อกเกตบุ๊ก และได้รับความไว้วางใจให้ดูแล กิฟท์ แม็กกาซีน นิตยสารการ์ตูนผู้หญิงรายเดือน ซึ่งเป็นการนำเอาการ์ตูนหลายๆ เรื่องมารวมกัน

          “คนยุคนั้นน่าจะรู้จักเพราะว่าดังมาก รุ่นพี่ที่ทำงานเริ่มทำเอาไว้ก่อนแล้ว พอมีงานมากขึ้น เขาก็มอบหมายให้ผมไปเป็นบรรณาธิการคนที่ 2 ต่อจากเขา เราก็ดูตามแบบของญี่ปุ่นนั่นแหละว่าเขาทำอย่างไร

          “กิฟท์ แม็กกาซีน จะเป็นการ์ตูนที่สมัยนั้นเราเรียกกันว่า การ์ตูนตาหวาน ก็จะมีเรื่องดังๆ อย่าง อสูรน้อยกระซิบรัก หรือ Cipher ที่สาวๆ ชอบอ่านกัน ที่ออกมาต่อเนื่องทุกเดือน จนช่วงหนึ่งนิตยสารการ์ตูนมีการเติบโตมากขึ้น และมีพัฒนาการนำเอาการ์ตูนแนวโชเน็นมารวมเล่มอยู่ในนิตยสาร วิบูลย์กิจจึงมีนิตยสารการ์ตูนชื่อว่า The Zero ออกมา ก็มีเรื่องดังๆ อย่าง Dragon Ball และ City Hunter”

          แต่กว่าจะมาเป็นนิตยสารการ์ตูนสักเล่มหนึ่งนั้น ทีมงานวิบูลย์กิจจะต้องตระเวนไปยังสถานที่ต่างๆ ที่นำเอาการ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาขาย สมัยนั้นจะมีร้านหนังสือ ไทยบุนโด ย่านราชดำริ และแถวสนามหลวงที่จะมีนิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นมือสองมาขายบ้าง

          “สิ่งเหล่านั้นจะถูกไปค้นหามาและเอามาดูว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง เพราะเมื่อก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ตให้เสิร์ชดูเนอะ เราต้องดูจากนิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นนั่นแหละว่ามีอะไรในนั้น เรื่องไหนสนุก ไม่สนุก พี่คนที่เขาเชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่น จากการอ่านการ์ตูนเอง ไม่ได้ไปเรียนที่ไหน เขาก็ให้คำแนะนำว่าควรเอาเรื่องไหนมาทำเป็นภาษาไทยบ้าง” 

          ช่วงเวลาดังกล่าวอาจเรียกว่าเป็น ‘ยุคทอง’ ของการ์ตูนญี่ปุ่นก็ว่าได้ เพราะไม่เพียงแค่หาอ่านได้เฉพาะในรูปแบบหนังสือ แต่ยังมีให้รับชมผ่านรายการทีวี มีของเล่นออกมาให้สะสม สภาพแวดล้อมทั้งหมดต่างก็ช่วยส่งเสริมกันและกัน จนส่งให้การ์ตูนญี่ปุ่นเข้าไปครองใจผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ 

          “ตอนที่เราทำนิตยสาร The Zero นี่บูมมาก และไม่ได้มีแค่วิบูลย์กิจสำนักพิมพ์เดียวที่ทำ แต่มีสำนักพิมพ์อื่นอีก 4-5 เจ้าที่ทำด้วย เช่น มิตรไมตรี, หมึกจีน อะไรพวกนี้ ที่หมึกจีนไม่ดำเนินกิจการต่อก็เป็นช่วงที่คนในวงการเกิดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ก่อนหน้านั้นต่างคนต่างทำ ไม่รู้เรื่องลิขสิทธิ์หรอก”

วรวุฒิ วรวิทยานนท์ แห่ง วิบูลย์กิจ

ในวันที่กฎหมายลิขสิทธิ์รุกคืบ

          แม้หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นจะได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า การแปลและจัดพิมพ์หนังสือญี่ปุ่นยุคนั้น เป็นการจัดพิมพ์โดยไม่ได้รับการติดต่อขอลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง จนกระทั่งมีกระแสการตื่นตัวเรื่องลิขสิทธิ์เกิดขึ้นมา และกดดันให้สำนักพิมพ์หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 

          “ถ้าสังเกตจะเห็นได้ว่าเราทำงานมาตั้งแต่ยังเด็กๆ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ในยุคนั้นเรียกว่าไม่รู้จักรู้แค่ว่าเป็นผลงานของนักเขียนหรือเซนเซคนนี้เราชอบ เราศรัทธาในตัวเขา เลยอยากเอามาแปล ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไป สิ่งที่เราทำอยู่ก็เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เขาจริงๆ”

          วุฒิหวนรำลึกกลับไปในช่วงเวลานั้น ที่ในวงการเริ่มมีกระแสข่าวจากบรรดาร้านขายหนังสือว่ามีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าห้ามขายหนังสือการ์ตูน เพราะว่าเป็นของละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์

          “ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจแหละ เมื่อคนที่อยู่นอกวงการหรือว่าคนเห็นขุมทองนี้ เขามีโอกาสได้พูดคุยกับเอเจนซีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องซื้อขายลิขสิทธิ์ และมองว่าเป็นช่องทางที่สามารถทำได้ เขาก็เอาสิ่งเหล่านี้ไปพูดคุยเพื่อหาวิธีเจรจาเรื่องลิขสิทธิ์ จึงเกิดกระแสเหล่านี้ขึ้นมา และมีการประกาศเตือนออกไป”

          “พอเป็นอย่างนี้ เราก็มองว่าควรจะต้องปรับตัวให้ถูกต้องเพื่อจะให้อยู่ได้ เพราะตอนนั้นวิบูลย์กิจหลักๆ เราทำหนังสือการ์ตูนอย่างเดียวเลย แต่มีนิตยสารการ์ตูนไทยชื่อว่า ThaiComic ให้นักเขียนส่งผลงานตัวเองเข้ามา ใครได้รับเลือกก็จะได้ตีพิมพ์ต่อเนื่อง ซึ่งเราทำมานานแล้ว และค่อยมีนิตยสารเกมที่ชื่อว่า Mega ที่ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเกมตามมาทีหลัง”

          “นั่นหมายความว่า เราต้องศึกษาเรื่องลิขสิทธิ์ให้ถ่องแท้ และสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างยิ่งก็คือ เราต้องไปคุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะมันปิดบังไม่ได้แล้ว เรื่องเป็นที่รู้จักขนาดนี้ และไม่สามารถจะมาอ้างว่าเราหน้าใหม่ได้แล้ว ก็เลยเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อพูดคุยเจรจากับเขา

          “อารมณ์แบบไปสารภาพผิดว่า เราเป็นใคร ทำอะไรมา และก็ทำให้รู้ความจริงว่าเขายังไม่ได้ให้ลิขสิทธิ์อะไรกับเมืองไทยเลย ยังไม่มีการคุยอะไรทั้งสิ้น เราเป็นคนแรกที่ไปคุย เขาก็เลยรู้เรื่องในเมืองไทยชัดเจนมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เขาคิดว่าคนไทยอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นน้อย พอได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ยอมให้เขาติติงเรา เขาก็ขอให้เรายุติทุกอย่างที่ทำอยู่” 

          ด้วยความจำเป็น สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจต้องยุติทุกสิ่งที่กำลังได้รับความนิยมลงทั้งหมด โดยมีนิตยสาร ThaiComic และ Mega ที่เป็นตัวสื่อสารกับคนอ่านว่า วิบูลย์กิจยังไม่หายไปไหน เพียงแค่กำลังดำเนินการเรื่องลิขสิทธิ์อยู่ 

          “แน่นอนว่าสิ่งที่เราทำอยู่ต้องเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย เนื่องจากยุคนั้นคนที่ทำหนังสือการ์ตูน ต่างคนต่างก็เอาการ์ตูนที่ตนเองสนใจและก็มีชื่อเสียงมารวมอยู่ในหนังสือเล่มเดียวกัน หรือพูดง่ายๆ คือเอามาทำอะไรก็ได้ แต่ตอนนี้เขาเป็นคนเลือกว่าเขาจะให้อะไรเรา ถึงแม้เราจะเป็นคนขอไป ถึงเราจะบอกว่าเคยทำเรื่องนู้นเรื่องนี้นะ แต่เขาจะตัดสินว่าจะให้อะไรแก่เรา ก็ต้องรอเขา

          “รอไปได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มมีสัญญาณที่ดี ซึ่งเราก็เข้าใจว่าทางสำนักพิมพ์เขาเป็นเหมือนคนกลางที่จะต้องดูแลผลงานของเซนเซหรือนักเขียนต่างๆ ซึ่งการที่จะให้ลิขสิทธิ์ใครนั้น ไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนตัดสินใจให้ได้เลย เขาต้องเอาข้อมูลเหล่านี้ไปคุยกับทางเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริงอย่างเซนเซ พิจารณาก่อนว่าเขามีความเห็นว่าอยากให้ลิขสิทธิ์ตรงนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของรายละเอียดจากทางเขา มันจึงมีขั้นตอนต่างๆ ที่ใช้เวลาพอสมควร”

          หลังรออย่างใจจดใจจ่ออยู่ 3 เดือน ในที่สุดสำนักพิมพ์ อาคิตะ โชเต็น (Akita Shoten) ก็ยินยอมให้ลิขสิทธิ์หนังสือการ์ตูน จิ๋วพลังอึด วิบูลย์กิจจึงกลายเป็นผู้สร้างหน้าประวัติศาสตร์ไทย ด้วยการตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนถูกลิขสิทธิ์เป็นที่แรก 

          “เราเป็นเจ้าแรกที่ทำออกมา ซึ่งผมเชื่อว่าระหว่างนั้น แต่ละเจ้าที่อยากจะเข้าไปเจรจาแบบเดียวกับเรา เหมือนเรากรุยทางไว้หมดแล้วว่า ไม่ต้องไปคุยกับเขาเกี่ยวกับเมืองไทยแล้วแหละ ไปบอกเขาเลยว่า อยากทำ (หัวเราะ) หลังจากนั้นจึงทยอยมีลิขสิทธิ์การ์ตูนเรื่องอื่นๆ เพิ่มเข้ามา แต่การจะได้ลิขสิทธิ์การ์ตูนดังๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีเงื่อนไขว่า ทางสำนักพิมพ์จะต้องทำนิตยสารก่อน  และต้องทำออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการทำนิตยสารนั้น หมายถึงจุดเริ่มต้นของการได้มาซึ่งการ์ตูนเรื่องต่างๆ ที่อยู่ในเล่มนั้นๆ และเราสามารถต่อยอดออกมาเป็นพ็อกเกตบุ๊กของมันเองได้ เราก็เลยมีนิตยสารชื่อ FRIDAY (VIVA! FRIDAY) ขึ้นมา ออกจำหน่ายทุกวันศุกร์ จากนั้นก็มีนิตยสารรายสัปดาห์อย่าง KC. WEEKLY และค่อยๆ ขยับมีเล่มใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ พอมีแบบนั้นก็ทำให้เราได้ลิขสิทธิ์การ์ตูนที่อยู่ในนิตยสารมาทำเป็นหนังสือแบบรวมเล่มต่อ”

วรวุฒิ วรวิทยานนท์ แห่ง วิบูลย์กิจ
วรวุฒิ วรวิทยานนท์ แห่ง วิบูลย์กิจ

บรรณาธิการหนังสือการ์ตูน งานที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ 

          หากพูดถึงงานบรรณาธิการหนังสือ เราอาจจะทราบคร่าวๆ ว่า หน้าที่ของพวกเขาคือ การดูแลความเรียบร้อย ตั้งแต่จัดทำต้นฉบับ ตรวจแก้เนื้อหา ไปจนถึงทำรูปเล่ม เรียกว่าดูแลครบเบ็ดเสร็จจนหนังสือได้วางขาย แต่สำหรับหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นนั้น วุฒิเล่าว่ามีรายละเอียดเยอะกว่ามาก โดยเฉพาะในเรื่องของงานภาพ 

          “ถ้าเป็นพวกวรรณกรรม คุณไม่ต้องกังวลเรื่องการอ่านเพราะว่าคุณแปลมาอย่างไร ก็เป็นข้อความภาษาไทยอยู่ดี แต่ของเราต้องกลับภาพจากซ้ายไปขวา เนื่องจากพฤติกรรมคนอ่านของไทยกับญี่ปุ่นเปิดคนละด้าน (ไทยเปิดจากขวาไปซ้าย ญี่ปุ่นเปิดจากซ้ายไปขวา-ผู้เขียน) 

          “ช่วงแรกก็ต้องคุยกับทางญี่ปุ่นเหมือนกัน เพราะการกลับภาพมันขัดแย้งกับต้นฉบับแน่ๆ โชคดีที่เขามองในแง่พฤติกรรม หรือลักษณะธรรมชาติของคนไทยว่าเราอ่านหนังสือแบบไหน เขาก็เลยยอมให้เรากลับภาพได้ แต่หน้าที่ของบรรณาธิการไม่ได้มีแค่กลับภาพซ้ายไปขวาอย่างเดียว

          “ยกตัวอย่างเรื่อง ก้าวแรกสู่สังเวียน ที่เลือกเพราะมันเกี่ยวกับกีฬามวย ป้ายตัวเลขบนกางเกง ป้ายสปอนเซอร์บนเวที หรือพวกภาษาที่อ่านออก เราต้องกลับหมด นั่นคือหน้าที่ของฝั่งอาร์ตที่บรรณาธิการต้องไปกำกับด้วย จึงทำให้รายละเอียดของการผลิตหนังสือการ์ตูนแต่ละหน้ามีเยอะมาก ยิ่งถ้าเป็นการ์ตูนเเอ็กชันยิ่งเยอะ

          “พอเสร็จขั้นตอนกลับภาพ ก็จะมีเรื่องของตัวอักษรเสียงที่เราต้องใช้ภาษาไทยแทนที่ภาษาญี่ปุ่น และลักษณะอักษรของไทยกับญี่ปุ่นไม่เหมือนกัน เราต้องออกแบบใหม่เพื่อให้ยังอ่านรู้เรื่อง แต่ก็ไปแทนที่ภาษาญี่ปุ่นได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งมันก็ไม่สามารถแทนที่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรอก เราจึงต้องมีการแต่งภาพ เส้น หรือสกรีนโทนต่างๆ ที่อยู่ในภาพเพิ่มเติม จะต้องเติมให้เนียนที่สุด เพราะฉะนั้นบรรณาธิการและฝ่ายกราฟิกจึงต้องคุยกันเยอะมากเพื่อจะทำให้งานเหล่านั้นออกมาสมบูรณ์ ดังนั้น นอกจากดูสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในบอลลูนที่เป็นช่องคำพูดหรือบทบรรยายด้วยแล้ว ต้องดูภาพเป็นสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกัน” 

          วุฒิยังเท้าความกลับไปในยุคแรกเริ่มของการจัดทำหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นว่า สมัยนั้นแต่ละคนจะใช้กระดาษไขคัดลอกลายภาพขึ้นมาเพื่อนำไปทำเป็นแม่พิมพ์ แทบทุกขั้นตอนจึงต้องใช้มือในการทำเกือบทั้งหมด

          “เมื่อกี้เล่าให้ฟังว่าเราต้องมีการแต่งภาพ เอาอักษรเสียงไทยใส่เข้าไป พวก โครม ปึงปัง ตรงนั้นเราจะวาดด้วยมือทำเอาไว้ก่อน และก็ตัดออกมาติด ซึ่งก็อาจจะมีสกรีนโทนที่แหว่งไป (สกรีนโทนคือ แผ่นกระดาษที่มีลวดลายต่างๆ ไว้ติดตกแต่งประกอบกับการ์ตูน-ผู้เขียน) เราก็จะใช้สีโปสเตอร์สีขาวมาลบตัวหนังสือญี่ปุ่นออก เพื่อให้พื้นหลังตรงนั้นว่าง และเลือกเอาสกรีนโทนที่เรามีหลายเบอร์มาก เอาไปติดพื้นที่ที่ว่างตรงนั้นให้ใกล้เคียงที่สุด ในการทำงานเราจึงต้องทั้งวาด ทั้งตัดแปะ เรียกว่าสารพัดเลย สมัยนี้ก็ใช้คอมพิวเตอร์ง่ายๆ (หัวเราะ)”

วรวุฒิ วรวิทยานนท์ แห่ง วิบูลย์กิจ

อวสานสิ่งพิมพ์

          ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นตัวพลิกเกมที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนไปโดยสิ้นเชิง ร้านเช่าหนังสือการ์ตูนทยอยปิดตัว แผงหนังสือก็ล้มหายตายจากไปทีละน้อยไม่แพ้กัน วงการสิ่งพิมพ์เจอการดิสรัปชันครั้งใหญ่ บางแห่งสู้ไม่ไหวก็จำต้องโบกมือลากันไป ในเวลานั้นทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘หนังสือกำลังจะตาย’ สำหรับวิบูลย์กิจเองก็ถือเป็นช่วงที่หนักหนาเอาการ แต่วุฒิมองว่าคนทำหนังสือมักจะเจอวิกฤตเสมออยู่แล้ว 

          “อย่างหนึ่งที่เป็นวิกฤตแน่นอนคือ ราคากระดาษ ถ้าหากขึ้นราคาก็จะกระทบกับผู้อ่าน สำนักพิมพ์จึงต้องใช้วิธีอั้นราคาให้ได้มากที่สุดก่อน เรารู้อยู่แล้วว่าอย่างไรก็ต้องขึ้นราคา มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้นทุนขึ้นหมด ราคาน้ำมันขึ้น ขนส่งก็ขึ้น ราคากระดาษก็ขึ้นตาม นี่เป็นเรื่องที่บรรดาคนทำหนังสือจะเจอเสมอในการทำงาน 

          “อีกวิกฤตที่เราเจอตามมาก็คือ การมาของโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟน ตอนนั้นคนก็พูดกันเยอะว่า ‘หนังสือการ์ตูนจะตายแล้ว’ คนจะไม่มีเวลาอ่านหนังสือ จะไปดิจิทัลกันหมด แต่ด้วยความที่ผมเล่นเกมและสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้วย เราเลยรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก็เลยอาจจะมองไม่เหมือนคนอื่นเท่าไร เรากลับมองว่า ถ้าเอาการ์ตูนที่มีอยู่เข้าไปให้คนอ่านแบบดิจิทัลได้ ก็น่าจะเป็นอะไรที่สนุกดีเหมือนกัน”

          วิบูลย์กิจเริ่มหาหนทางว่า จะทำอย่างไรให้หนังสือการ์ตูนสามารถอ่านบนออนไลน์ได้ แต่เขาพบความไม่พร้อมในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการจ่ายเงิน ที่จำกัดอยู่แค่เฉพาะบัตรเครดิต ขณะที่กลุ่มลูกค้าของวิบูลย์กิจคือนักเรียน นักศึกษา ที่ยังไม่สามารถมีบัตรเครดิตได้ 

          “ช่องทางที่จะเก็บเงินกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่เป็นลูกค้าของเราได้ ยังมีแค่เกมอย่างเดียว ถ้าเป็นเกมพวกเขาสามารถเติมเงินเข้าไปได้ เราก็เลยไปคุยกับทางค่ายเกมที่เขาทำระบบแบบ payment gateway ว่าจะนำมาใช้กับกลุ่มเป้าหมายของเราได้ในรูปแบบไหน และก็เอาสิ่งนี้ไปคุยกับทางญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นเขายังไม่ค่อยมั่นใจ และสิ่งหนึ่งที่เขากังวลคือ เรื่องของความน่าเชื่อถือว่าจะสามารถเก็บเงินได้จริงไหม และเราจะจัดการอย่างไร” 

          การที่วิบูลย์กิจต้องไปคุยกับบริษัทญี่ปุ่นเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น เป็นเพราะลิขสิทธิ์มีผลเกี่ยวข้องกับหลายอย่าง ถึงวิบูลย์กิจจะได้ลิขสิทธิ์หนังสือการ์ตูนมา แต่ยังอยู่ภายใต้ขอบเขตให้แค่พิมพ์จำหน่ายในรูปแบบหนังสือหรือสิ่งพิมพ์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการขอลิขสิทธิ์เพื่อจัดทำอีบุ๊กแยกต่างหากวุฒิใช้เวลาอยู่หลายปีในการพยายามปลุกปั้นอีบุ๊กแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งมีแพลตฟอร์มจำหน่ายอีบุ๊กอย่าง Meb และ Ookbee ถือกำเนิดขึ้นมา

          “เราก็คุยกันว่าคราวนี้คงใช่แล้วแหละ เพราะพวกเขาตั้งใจทำมาเพื่อการนี้เลย เราเลยพาทางญี่ปุ่นไปพบกับ Meb และเจ้าอื่นๆ หลังจากนั้นไม่นานเขาก็อนุมัติให้ลิขสิทธิ์อีบุ๊กกับเรามาจำนวนหนึ่งเพื่อมาทดลองตลาด จากหนังสือที่เรามีอยู่แล้วจึงต่อยอดไปเป็นอีบุ๊กได้เพิ่มขึ้น” 

          “วิบูลย์กิจก็เลยเป็นเจ้าแรกที่ได้ลิขสิทธิ์อีบุ๊กมา และก็เป็นคนที่ไปกรุยทางให้คนอื่นเขาว่า คุณไม่ต้องไปเหนื่อยแล้ว เพราะญี่ปุ่นเขาเห็นแล้วว่าเราตั้งใจทำสิ่งนี้มาก และเราก็บอกว่าคุณต้องให้คนอื่นเขาด้วย ตอนนี้ลิขสิทธิ์มันแยกกันหมด ไม่มีใครได้ซ้ำกัน เราได้เรื่องนี้ คนอื่นเขาก็ไม่ได้เรื่องนี้ เพราะฉะนั้นถ้าต้องการให้ตลาดโต ก็ต้องทำให้ทุกสำนักพิมพ์ที่อยู่ในแวดวงนี้ เขามีเหมือนกัน ซึ่งสำนักพิมพ์ต่างๆ เราก็เป็นเพื่อนกันหมด”

          สำนักพิมพ์อื่นจึงทยอยได้ลิขสิทธิ์ทำอีบุ๊กเหมือนกัน แต่ในสองปีแรกสำหรับวิบูลย์กิจถือเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยพอสมควร เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ และคนก็ยังงุนงงว่าอีบุ๊กคืออะไร หรือซื้อมาแล้วจับต้องก็ไม่ได้ กระทั่งเข้าสู่ปีที่ 3 คนอ่านเริ่มเห็นภาพชัดขึ้น การเติบโตของยอดขายการ์ตูนผ่านช่องทางอีบุ๊กเริ่มขยับ และมาทดแทนส่วนที่หายไปจากหนังสือเล่ม

วรวุฒิ วรวิทยานนท์ แห่ง วิบูลย์กิจ

เราไม่ใช่คนทำหนังสือ แต่คือคนทำคอนเทนต์ 

          ช่วงเกิดกระแสเรื่องการทำอีบุ๊ก คนทำหนังสือบางส่วนไม่เห็นด้วย เพราะอยากคงเสน่ห์ของหนังสือเล่มเอาไว้ แต่วิบูลย์กิจกลับไม่ได้มองเช่นนั้น ทั้งยังเปลี่ยนแนวคิดในการทำงานของตนเองไปสิ้นเชิง 

          “เรามาคิดว่า เอ๊ะ สิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ใช่หนังสือนี่ แต่เราเป็นคนทำคอนเทนต์ เราซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากต่างประเทศมา และเราผลิตเป็นสื่อหลากหลายช่องทาง ในอนาคตจะมีกี่ช่องทางไม่รู้ แต่เราจะเข้าไปตรงนั้น เพราะฉะนั้นหมายความว่า เราไม่ได้ถูกฆ่า แต่ถ้าเราไม่คิดอย่างนี้เราจะฆ่าตัวตาย”  

          วุฒิยังเน้นย้ำด้วยว่าแม้อีบุ๊กจะเป็นกำลังเสริมที่ดี แต่เมื่อสำนักพิมพ์ยังคงทำหนังสือเล่มอยู่ พวกเขาก็จำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำหนังสือไปเช่นกัน 

          “สำนักพิมพ์ต้องเปลี่ยนวิธีการคิด ไม่สามารถทำง่ายๆ แบบเมื่อก่อนได้แล้ว ถ้าราคาเล่มละ 100 จากเมื่อก่อน 35 บาท คุณก็ต้องทำให้สวยมากกว่าเดิม ให้คนอยากเก็บสะสม ให้สื่อชิ้นนี้คนซื้อไปแล้วประทับใจ”

          “ส่วนอีบุ๊กเราก็ต้องทำให้ตอบโจทย์พฤติกรรมคนอ่าน ถ้าเขาอยากดูรายละเอียดความหล่อของพระเอก เขาก็สามารถขยายดูได้ชัดเจน มันจึงกลายเป็นว่าเราได้ลูกค้าที่ชอบอ่านหนังสือการ์ตูนเหมือนกัน แต่พฤติกรรมการอ่านของเขาต่างรูปแบบกัน โดยไม่เสียลูกค้าทั้งสองฝ่าย เช่น บางครั้งเราออกหนังสือที่ดูแล้วน่าสะสม มีเป็นบ็อกซ์เซ็ตพิเศษ เขาก็จะซื้อ และเขาไม่ได้ซื้อชุดเดียวด้วย ตัวหนังสือเล่มเก็บเอาไว้ไม่แกะซีลพลาสติกเลย และมาซื้ออ่านเอาในอีบุ๊กแทน

          “ทุกวันนี้หนังสือเริ่มกลับมาขายดีมากขึ้น ตัวดิจิทัลก็มียอดขายของมันประมาณหนึ่ง แต่ว่าสิ่งที่กลับมา ณ ปัจจุบัน ช่วง 2-3 ปีนี้ หนังสือฟื้นคืนกลับมา อาจจะไม่ได้มีจำนวนเล่มพิมพ์มากเหมือนในอดีต แต่ราคาสูงขึ้น มูลค่าต่อหน่วยก็จะสูงขึ้นไปด้วย และช่วยลดปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา อย่างเรื่องการสต็อกหนังสือ พวกนี้ก็ค่อยๆ คลี่คลายหายไป เมื่อก่อนเราต้องสต็อกไว้ และค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ตอนนี้พิมพ์ขั้นต่ำน้อยหน่อยนะ และไม่ต้องไปกังวลมาก เพราะเรายังมีอีบุ๊ก”

          ขณะเดียวกันกระแสโด่งดังของแอนิเมชัน หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า ‘อนิเมะ’ ยังเป็นตัวส่งเสริมให้ยอดขายหนังสือการ์ตูนพลอยได้รับผลประโยชน์ไปด้วย เหมือนกรณี Attack on Titan ผ่าพิภพไททัน การ์ตูนญี่ปุ่นที่ขึ้นแท่นตำนานแห่งยุคนี้ ซึ่งวิบูลย์กิจถือลิขสิทธิ์อยู่ หรือแอนิเมชันของสำนักพิมพ์อื่นอย่าง Spy x Family, Chainsaw Man, My Hero Academia และ Kimetsu No Yaiba ดาบพิฆาตอสูร ก็ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น จนคนดูอนิเมะต้องตามหาซื้อหนังสือมาอ่านด้วยความอยากรู้ว่าตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร 

          “เมื่อโฟกัสว่าเราเป็นคนทำคอนเทนต์ พอเรามีคอนเทนต์ในมือ ไม่ว่าคอนเทนต์จะเป็นอะไรก็ตามย่อมมีผลกระทบต่อทุกๆ อย่างที่อยู่ในแวดวงของมันแน่นอน Attack on Titan นี่เห็นได้ชัด เพราะว่าตอนที่เราซื้อลิขสิทธิ์มาแรกๆ บอกได้เลยว่า เรื่องนี้วาดไม่สวย สรีระก็ยังไงไม่รู้ เนื้อเรื่องก็เข้มๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่อ่านแล้วสนุกดี อาจมีกลุ่มคนหนึ่งที่ชอบ เราเลยเอาลิขสิทธิ์มาทำ ตีพิมพ์ออกไปได้ 6 เดือน ก็ยังขายได้ทั่วๆ ไป แต่พออนิเมะซีซันแรกออนแอร์ที่ญี่ปุ่น ทุกอย่างเปลี่ยนไปเลย กลายเป็นขายดีขึ้น เพราะว่าอนิเมะโด่งดังมาก ยิ่งเมื่อเข้าไทยยิ่งขายดี เพราะถ้าเขาอยากรู้ว่าต้นเรื่องในอนิเมะเป็นอย่างไร เขาก็ต้องกลับมาอ่านหนังสือการ์ตูน หนังสือก็เลยไม่ตาย (หัวเราะ)”

          นอกเหนือไปจากอนิเมะที่หล่อเลี้ยงระบบนิเวศของหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นให้เบ่งบาน วิบูลย์กิจยังเคยเป็นผู้ริเริ่มงานคอสเพลย์ในไทย ภายใต้ชื่อ ‘Vibulkij Comics Party’ ที่เปิดพื้นที่ให้คนรักการ์ตูนมาเจอกันต่อเนื่องยาวนานถึงสิบปี

          “เราแค่อยากจะทำกิจกรรมให้คนที่ชอบเหมือนกันมาร่วมสนุก ก็มีจัดประกวดคอสเพลย์ ตอนนั้นยังมีอยู่ไม่กี่กลุ่มหรอกที่ทำ ปรากฏว่าเราทำห้างเกือบแตก (หัวเราะ) มุมหนังสือที่เราวางแผงไว้มุมเล็กๆ 3×3 ก็ไม่พอ เราไม่รู้มาก่อนเลยว่าแฟนๆ เราเขาอยากจะมาสนุกแบบนี้ ก็เลยจัดต่อเนื่องมาเป็นสิบปี การประกวดคอสเพลย์ก็กลายเป็นที่สนใจ และเริ่มมีการจัดหลายๆ ที่มากขึ้น” 40 กว่าปี ในวงการได้เรียนรู้ว่า…

          บนเส้นทางคนทำหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นของวุฒิ ไม่ได้ราบเรียบนัก ต้องเผชิญคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงนับครั้งไม่ถ้วน ทว่าสิ่งที่วิบูลย์กิจพิสูจน์ให้เห็นว่าทำไมยังคงยืนระยะมาได้จนถึงวันนี้ อาจไม่ใช่แค่ความรักต่อการ์ตูน แต่คือความพร้อมเปลี่ยนตัวเองให้ลื่นไหลไปตามกระแสสังคมที่คลื่นไปข้างหน้าตลอดเวลา 

          “ถ้าเราย้อนกลับไปดู ผมว่ามันก็มีความท้าทายมาตลอด เพียงแต่ว่าพอเราปรับมุมมองใหม่ว่าเราเป็นคนทำคอนเทนต์ ความท้าทายก็กลายเป็นความสนุก ทีนี้อะไรก็ตามที่เข้ามา เราก็แค่เอาคอนเทนต์ไปคลุกคลีอยู่กับเขาไป ตอนนี้เป็นดิจิทัล ต่อไปก็จะมี AI, AR, multiverse หรืออะไรก็แล้วแต่ 

          “ดังนั้น สิ่งที่ท้าทายสำหรับเราจึงเป็นการทำอย่างไรให้เรามีความรู้เพื่อเข้าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น แล้วนำไปประยุกต์ให้อยู่กับเขาได้ เหมือนที่เราเคยเป็นมา โดยสิ่งที่เรามีอยู่ก็ไม่ได้หายไปไหน

          “ผมเชื่อว่าหนังสือไม่ได้หายไปไหนหรอก จะยังอยู่เหมือนเดิม แต่ว่าด้วยวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้หนังสือพัฒนาตัวเองโดยอัตโนมัติ ถ้าคุณไม่พัฒนาตนเองเลยก็อยู่ไม่ได้ ต้องล้มหายตายจากไป แต่ถามว่าทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์เลยไหม ก็คงไม่ 100 เปอร์เซ็นต์หรอก แต่ถ้าเราปิดประตูตั้งแต่แรก โอกาสมันก็จะหายไปเลย”

ในฐานะที่เขาเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของแวดวงหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นมาตลอด วุฒิมองว่าวงการนี้มีการเติบโตขึ้นแน่นอน แต่เป็นการเติบโตที่เต็มไปด้วยความผจญภัย เหมือนกับเรื่องราวในหนังสือการ์ตูนเล่มดังที่มีทั้งบทโศก บทเศร้า บทสนุก 

          “แต่ความรักในการอ่านการ์ตูน มันทำให้การสร้างสรรค์งานมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในญี่ปุ่นเองเขาก็จริงจังกับเรื่องนี้มาก เขาไม่ได้มีแค่ผู้เขียนคนเดียวและสำนักพิมพ์เอามาขายก็จบไป แต่เขาทำงานกันเป็นทีมเลย มีการรีเสิร์ชสารพัด มีการคิดด้วยว่าการวางช่องแต่ละช่องจะลำดับยังไงให้พลิกหน้ากระดาษอ่านแล้วคนตะลึง กว่าจะเสร็จออกมาสักเรื่องหนึ่ง เขาต้องทำการบ้านเยอะมาก 

          “งานที่ถูกถ่ายทอดออกมาผมไม่รู้จะเรียกว่าอะไร มันเป็นงานศิลปะ วรรณกรรรม หรือศาสตร์เฉพาะของการผลิตการ์ตูนที่ค่อยๆ เติบโตขึ้น เราจะเห็นว่าทุกวันนี้การ์ตูนมีสารพัดแนว มีทุกแชนแนลในหมวดหมู่ของการอ่านเลย

          “ผมคิดว่าการ์ตูนไม่มีทางตายไปจากโลก จากสิ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมันยังเติบโตไปเรื่อยๆ และก็พัฒนาไปสู่อะไรก็ตามที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเราอาจจะยังไม่รู้ว่าจะทันสมัยไปขนาดไหน แต่ผมเชื่อว่าหนังสือการ์ตูนไม่ตายแน่นอน”

          ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเองของบรรณาธิการคนนี้ จากเด็กที่หลงใหลการ์ตูนญี่ปุ่น มาสู่การเป็นคนเบื้องหลัง ผู้ทำหน้าที่ส่งมอบสิ่งที่ตัวเองรักไปให้คนที่รักในสิ่งเดียวกัน วุฒิเปรียบเปรยว่า เขาเหมือนอยู่ในภาพยนตร์ย้อนเวลา

          “ทุกวันนี้เรายังเข้าร้านหนังสือแล้วไปอยู่ในมุมการ์ตูนเหมือนที่เด็กๆ เขาชอบทำ เหมือนเราย้อนอดีตกลับไปเมื่อก่อนที่ตัวเองก็เป็นเด็กอยู่ในร้าน แต่วันนี้เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่สิ่งที่อยู่ในตัวเรายังเป็นเด็กอยู่ (หัวเราะ) 

          “เรายังตื่นตาตื่นใจกับหนังสือการ์ตูนเล่มนู้นเล่มนี้ เด็กรุ่นใหม่เขาก็เป็นเหมือนกับเรา ถ้าเราไม่รู้จักเขาก็อาจจะมองว่า แค่หนังสือเล่มหนึ่งเองจะกรี๊ดกร๊าดอะไรขนาดนั้น แต่เรารู้ว่ากว่าจะครีเอทสิ่งนี้มาได้มันไม่ใช่เรื่องง่าย และสมัยนี้เด็กๆ เขาสามารถมีอาชีพจากความชอบเหล่านี้ได้แล้ว อ่านการ์ตูนไม่จำเป็น ต้องเป็นนักเขียนการ์ตูน เป็นอะไรก็ได้ที่เขาอยากเป็น

          “น้องที่วาดการ์ตูนตอนสมัยผมทำ ThaiComic ตอนนี้เป็นหมอผ่าตัด พอมีเวลาว่างก็มาวาดการ์ตูนส่งผม บางคนอ่านการ์ตูนหมอแล้วไปเรียนหมอก็มี การ์ตูนที่คุณเห็นไม่ใช่การ์ตูน แต่คือนิยายภาพ ลองไปอ่านเรื่อง ซุปเปอร์ ด็อกเตอร์ K สิ ใครจะบ้าเขียนอวัยวะร่างกายขนาดนี้ ถ้าเขาไม่มีความรู้ ไม่มีข้อมูลจริงมาประกอบ โลกของมังงะหรือนิยายภาพเลยเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ คนไปสู่สิ่งที่ตัวเองอยากเป็น” 

          ไม่รู้ว่านับตั้งแต่วันที่การ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาสู่นักอ่านชาวไทย มีเด็กกี่คนได้แรงบันดาลใจจากเรื่องที่เขาอ่าน อาจจะเป็นหลักพัน หลักหมื่น ไปจนถึงหลักแสน แต่อย่างน้อยหนึ่งในนั้นย่อมมี บ.ก.วุฒิ แห่งวิบูลย์กิจ รวมถึงผู้ที่เขียนบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ด้วยเช่นกัน

วรวุฒิ วรวิทยานนท์ แห่ง วิบูลย์กิจ


* ปัจจุบันคือ สาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia 2 ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2567)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก